วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563

การลดความเสี่ยงของเชื้อซัลโมเนลลาปนเปื้อนซ้ำในอาหารสัตว์


การตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ลดความเสี่ยงของเชื้อซัลโมเนลลาตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์สู่อาหารมนุษย์ เพื่อช่วยให้มั่นใจทั้งอาหารสัตว์ และการเลี้ยงสัตว์ปีก อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตบางขั้นตอน เช่น การสร้างสภาวะที่แห้ง ทำให้เซลล์ของเชื้อ ซัลโมเนลลา แห้งไปเอง ก็สามารถช่วยสนับสนุนการทำความสะอาด และการฆ่าเชื้อได้ด้วย

ในบางช่วงของการผลิตอาหารสัตว์ เซลล์ของเชื้อซัลโมเนลลา สามารถจำศีลพักรักษาตัวก่อน รอคอยเวลาถูกปลุกให้ตื่นในระหว่างกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่สามารถตรวจสอบเซลล์ของเชื้อ ซัลโมเนลลา ที่ยังอยู่ในระยะจำศีลได้เลย ทำให้เข้าใจว่า อาหารสัตว์ที่ผลิตจำหน่ายยังปราศจากเชื้อปนเปื้อน กลายเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร ความเสี่ยงดังกล่าวนี้จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การฆ่าเชื้อด้วยเทคนิคการบำบัดด้วยไฮโดรเทอร์มัล ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์การถนอมคุณภาพอาหารสัตว์ ด้วยการใช้ส่วนผสมของบัฟเฟอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ร่วมกับกรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิว สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนอาหารสัตว์ระหว่างการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ

การปนเปื้อนอาหารสัตว์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการผลิต    

การปนเปื้อนอาหารสัตว์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการผลิต ได้แก่ วัตถุดิบอาหารสัตว์ การขนส่ง การจัดเก็บ กระบวนการผลิต หรือแม้กระทั่ง โรงเรือนเลี้ยงสัตว์

ในแต่ละขั้นตอนก็จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การลดความเสี่ยงด้านจุลชีววิทยามีความจำเป็นในระยะแรกของการผลิต ตามห่วงโซ่อาหารสัตว์สู่อาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนข้าม และสร้างความมั่นใจว่าอาหารปลอดภัยสำหรับการบริโภคของมนุษย์ ในกระบวนการถัดมา สุขอนามัยระหว่างการผลิต แผนการเก็บสินค้าวัตถุดิบ และการจัดการฟาร์มที่ดี ก็เป็นจุดวิกฤติที่การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์อาจเกิดขึ้นได้

 เมื่อสภาวะสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ปรากฏขึ้นในขั้นตอนใดของการผลิตอาหารสัตว์ เชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอริซีอี เช่น ซัลโมเนลลา สามารถเป็นภัยคุกคามต่อทั้งสัตว์ที่กินอาหารสัตว์ที่ปนเปื้อน และมนุษย์ผู้บริโภคเนื้อสัตว์นั้น หนึ่งในอันตรายคุกคามนั้นคือเชื้อ ซัลโมเนลลา ในระยะจำศีล เนื่องจากความแห้ง เชื้อ ซัลโมเนลลา ที่อยู่ในระยะแห้งทำให้ห้องปฏิบัติการไม่สามารถตรวจสอบเชื้อได้ด้วยวิธีตามปรกติได้ และทำให้สรุปผลกันผิดพลาดได้ว่า อาหารสัตว์ และระบบการผลิตอาหารสัตว์ยังคงปลอดเชื้อ ซัลโมเนลลา ปนเปื้อน

ความเสี่ยงจากการปนเปื้อนซ้ำ

อุณหภูมิ และความชื้นที่เพิ่มขึ้น สามารถปลุกเชื้อซัลโมเนลลา และเชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอริซีอี ที่จำศีลอยู่ การแปรผันของอุณหภูมิ และความชื้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ในทุกกระบวนการผลิต รวมถึง การเก็บรักษาวัตถุดิบอาหารสัตว์ การบด และการหยุดการผลิต เอื้ออำนวยให้ระบบเมตาโบลิซึมของเชื้อ ซัลโมเนลลา และเชื้อจุลชีพต่างๆ ที่หลับไหลอยู่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นใหม่ และเพิ่มจำนวน อุณหภูมิ และความชื้นที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้สารอาหารสำหรับเชื้อจุลชีพเข้าถึงได้ง่ายขึ้นระหว่างกระบวนการบด เปิดไปสู่ตำแหน่งที่เชื้อจุลชีพเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งเซลล์เพิ่มจำนวน และปนเปื้อนข้ามไปสู่กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ขึ้นตอนตางๆ ดังภาพที่ ๑ แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของระดับเชื้อกลุ่ม เอนเทอโรแบคเทอริอีซิอี เป็นหน่วยซีเอฟยู (Colony-forming unit) ในขั้นตอนก่อน และหลังการบด

ผลกระทบที่เป็นอันตราย

หากเชื้อจุลชีพสามารถเข้าถึงสารอาหารได้สำเร็จระหว่างกระบวนการบด ก็จะเกิดการเสื่อมคุณภาพของสารอาหาร และส่งผลกระทบต่อคุณภาพอาหารสัตว์ ขณะที่ สารอาหารเสื่อมคุณภาพลง เชื้อจุลชีพใช้สารอาหารต่างๆสำหรับการเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนจนกระทั่งไม่เหลือให้ใช้ประโยชน์ต่อไปได้ จึงส่งผลให้คุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์ลดลง

ตัวอย่างเช่น ข้าวโพด การสูญเสียสารอาหารจากเชื้อจุลชีพจากการเสื่อมคุณภาพอาหารสัตว์เกิดขึ้นราวร้อยละ ๗ ของน้ำหนักอาหารสัตว์รวมทั้งหมด ในเวลาเดียวกัน การเพิ่มอุณหภูมิ และความชื้นอาจโน้มนำให้เกิดเชื้อรา ยีสต์ และระดับเชื้อกลุ่ม เอนเทอโรแบคเทอริอีซิอี เพิ่มขึ้นสูงสุดทันที กลายเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหารต่อไปได้

เครื่องมือจัดการความเสี่ยงของการปนเปื้อนซ้ำ

วิธีการแก้ไขปัญหาที่อาจช่วยลดความเสี่ยง และการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพอย่าง ซัลโมเนลลา มีหลายวิธี วิธีที่นิยมมากที่สุดคือ เทคนิคการบำบัดด้วยไฮโดรเทอร์มัล ในกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน โดยให้ความร้อน และความชื้นลงในอาหารสัตว์ก่อนการอัดเม็ด ภาพที่ ๒ แสดงให้เห็นถึงผลของการเพิ่มความชื้นที่อุณหภูมิสูงกว่า ๑๐๐ องศาเซลเซียสต่อการลดระดับของเชื้อ ซัลโมเนลลา หน่วยเป็นซีเอฟยูต่อกรัม

เพื่อสร้างความมั่นใจว่า เชื้อ ซัลโมเนลลา และจุลชีพอื่นๆลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องให้อุณหภูมิที่ถูกต้อง และเวลาที่เหมาะสม ตารางที่ ๑ แสดงเวลาที่ลดลงเป็นหน่วยทศนิยม เรียกว่า "ค่าดี (D values)" ที่ใช้สำหรับกำจัดเชื้อ ซัลโมเนลลา เป็นหน่วยซีเอฟยูต่อกรัมได้ร้อยละ ๙๐ ในการผลิตอาหารไก่เนื้อระยะแรก หมายความว่า วิธีนี้มีประสิทธิภาพ อุณหภูมิในขั้นตอนการคอนดิชันนิ่งต้องสูงเพียงพอ และมีระยะเวลาที่นานเพียงพอด้วย

การเติมกรดอินทรีย์

 นอกเหนือจากข้อปฏิบัติที่ดีทั้งก่อน และระหว่างกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ผู้จัดการคุณภาพโรงงานอาหารสัตว์ และฟาร์ม ควรมีมาตรการควบคุมการปนเปื้อนซ้ำภายหลังใช้เทคนิคการบำบัดด้วยไฮโดรเทอร์มัล วิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยลดความเสี่ยงการปนเปื้อนซ้ำ ร่วมกับการใช้เทคนิคการบำบัดด้วยไฮโดรเทอร์มัล ได้แก่ การใช้กรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิว ที่ออกฤทธิ์ส่งเสริมกัน การใช้กลยุทธ์บูรณาการวิธีการเหล่านี้ สามารถช่วยลดการสูญเสียความชื้น ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร และยังเป็นวิธีการถนอมคุณภาพอาหารสัตว์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อรา ยีสต์ และเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม เอนเทอโรแบคเทอริซิอี ได้ด้วย

กรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิวที่ยังคงฤทธิ์อยู่ได้ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพเป็นเวลานาน เมื่อใช้กับวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง หรืออาหารสำเร็จรูป การผสมสารลดแรงตึงผิวได้ด้วยช่วยให้กรดอินทรีย์ออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยการลดแรงตึงผิว ช่วยให้การดูดซึม และการกระจายตัวในอาหารสัตว์ดีขึ้น

กลยุทธ์ดั้งเดิมที่นิยมใช้สำหรับป้องกันการปนเปื้อนซ้ำด้วยฟอร์มัลดีไฮด์ แม้ว่า ฟอร์มัลดีไฮด์ จะสามารถออกฤทธิ์ได้นาน และเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงมากสำหรับการกำจัดเชื้อจุลชีพปนเปื้อนในอาหารสัตว์ แต่ได้ถูกห้ามใช้ไปแล้ว เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ต่างจากกรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิวที่มีความปลอดภัย ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ด้วยเหตุนี้หลายประเทศจึงสั่งห้ามใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในอาหารสัตว์ นอกจากนั้น นักวิจัยยังแนะนำว่า ฟอร์มัลดีไฮด์ส่งผลกระทบทางลบต่อการผลิตไก่เนื้อได้อีกด้วย โดยเฉพาะ อัตราการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหาร

กลยุทธ์การบูรณาการใช้กรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิวรวมกัน ช่วยเพิ่มสุขอนามัยอาหารสัตว์ และเสริมความแข็งแกร่งตามธรรมชาติของระบบทางเดินอาหาร เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียแกรมลบในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น โดยสามารถป้องกันไม่ให้อาหารสัตว์ปนเปื้อนซ้ำอีกที่ฟาร์ม และช่วยถนอมคุณภาพทั้งวัตถุดิบ และอาหารสัตว์สำเร็จรูปได้เป็นเวลานานอีกด้วย โดยมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับฟอร์มัลดีไฮด์

ความปลอดภัยอาหารเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด

แม้ว่า การบำบัดด้วยความร้อน ร่วมกับการใช้กรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิวจะให้ผลดีกับการแก้ปัญหาความเสี่ยงต่อเชื้อจุลชีพ เช่น ซัลโมเนลลา  แต่ก็ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล จัดการได้เบ็ดเสร็จ การปนเปื้อนซ้ำของเชื้อจุลชีพสามารถเกิดได้ตลอดเวลา ทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการผลิตอาหารสัตว์ แผนด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพยังเป็นสิ่งจำเป็นในโรงงานอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และควรมีการประเมินด้านอื่นๆ เช่น คุณภาพของวัตถุดิบอาหารสัตว์ สำรวจหาชุดวิกฤติตลอดห่วงโซ่การผลิต เข้มงวดด้านสุขอนามัยในแต่ละขั้นตอนของการผลิตอาหารสัตว์ การบำบัดด้วยเทคนิคไฮโดรเทอร์มัล ร่วมกับการใช้กรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิว ที่ช่วยส่งเสริมฤทธิ์ทำงานร่วมกันได้ เป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนความปลอดภัยของอาหารสัตว์ โดยเฉพาะ ความเสี่ยงของเชื้อ ซัลโมเนลลา ที่อาจฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ได้ ทั้งนี้ก็มีเป้าหมายสุดท้ายก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของอาหารสำหรับผู้บริโภค



เอกสารอ้างอิง

van Houte G. 2010. Reducing the risk of salmonella re-contamination in feed. [Internet]. [Cited 2020 Apr 20]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2020/4/Reducing-the-risk-of-salmonella-re-contamination-in-feed-566977E/



ภาพที่ ๑ เมื่อสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพเกิดขึ้นที่ระยะใดของกระบวนการผลิตอาหาร เชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอริซิอี เช่น ซัลโมเนลลา สามารถเป็นอันตรายต่อทั้งสัตว์ที่กินอาหารปนเปื้อน และมนุษย์ที่บริโภคเนื้อสัตว์ปีกได้ (แหล่งภาพ Jan Willem van Vliet)  



วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ส่งออกยูเครนทรุดจากทั้งหวัดนก และโควิด ๑๙


บริษัทชั้นนำในยูเครน เอ็มเอชพี (MHP) ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอุปสรรคการส่งออก หลังวิกฤติการณ์โรคไข้หวัดนก และโควิด ๑๙ พร้อมกัน บริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีกที่ใหญ่ที่สุดในยูเครนมียอดการส่งออกลดลงในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เนื่องจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในเมือง Vinnitsa Oblast แม้ว่า ผลกระทบจากโรคต่อการส่งออกผ่อนคลายลงแล้วในปัจจุบัน หลังจากสถานการณ์ของโรคถูกควบคุมไว้ได้ แต่ก็ถูกโรคโควิด ๑๙ ส่งผลลบต่อการส่งออกในไตรมาสที่ ๒ ของปี พ.ศ. ๒๕๖๓

โรคไข้หวัดนกทำให้ยูเครนถูกจำกัดการจำหน่ายสินค้าโดยอียู และรัฐบาล MENA ทำให้บริษัทเอ็มเอชพีต้องหันไปจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศที่ยังคงเปิดโอกาสให้ส่งออกไปได้บ้าง นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของบริษัทมาก เอ็มเอชพียังคงดำเนินการไปตามกลยุทธ์สร้างความหลากหลายมากขึ้นสำหรับการส่งออกให้ได้มากที่สุด

การจำหน่ายสินค้าเนื้อสัตว์ปีกในไตรมาสแรกของปี

ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เอ็มเอชพีส่งออกได้ ๘๒,๐๔๘ ตัน ต่ำลงร้อยละ ๑๒ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับเป็นการตกต่ำลงอย่างมากสำหรับยอดการส่งออกของยูเครน ปริมาณการส่งออกเป็นสัดส่วนร้อยละ ๕๒ ของยอดการจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีกทั้งหมดในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เปรียบเทียบกับร้อยละ ๕๗ ในไตรมาสแรกของปีก่อนหน้านี้ พื้นที่ควบคุมโรคส่วนใหญ่ยกเลิกไปแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เอ็มเอชพีได้เพิ่มปริมาณการผลิตเต็มที่เหมือนเดิมแล้ว

โควิด ๑๙ ทำลายการส่งออกสินค้าเกษตรฯของยูเครน

แม้ว่า ความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดนกคลี่คลายลงแล้ว แต่ธุรกิจก็ไม่สามารถพลิกกลับไปดีได้เหมือนเดิม มาตรการกักกันโรคของยูเครนเพื่อรับมือกับโรคระบาดในมนุษย์ โควิด ๑๙ ได้ซ้ำเติมสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกยูเครนให้แย่ลงไปอีก เนื่องจาก การควบคุมการขนส่งสินค้าด้านการเกษตร และอาหาร   

ทั้งช่องทางการนำเข้า และส่งออกเป็นอุปสรรค เนื่องจาก มาตรการล็อกดาวน์ตามพรมแดน ปัญหาการขนส่งทำให้ไม่สามารถนำสินค้าออกสู่ตลาดได้ ยอดการส่งออกตกลงร้อยละ ๑๐ เนื่องจาก การระบาดของโควิด ๑๙ เจ้าของบริษัทด้านการเกษตรกรรมในยูเครนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากอย่างมากในการรักษาการผลิตตามปรกติ และส่งผลต่อทั้งคุณภาพของสินค้า และประสิทธิภาพการผลิต ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกอาจได้ประโยชน์จากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในตลาดอาหารภายในประเทศ สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจเลวร้ายเช่นนี้ ทำให้พลเมืองยูเครนเปลี่ยนแหล่งอาหารโปรตีนที่ราคาถูกลง หมายความว่า ผู้บริโภคในยูเครนจะเลือกซื้อเนื้อแดงลดลง และหันไปซื้อเนื้อสัตว์ปีกแทน บริษัทขนาดเล็กอาจจะไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกักกันโรค เนื่องจาก ตลาดจำหน่ายอาหาร และตลาดนัดต่างๆปิดลงทั่วประเทศ



เอกสารอ้างอิง

Vorotnikov V. 2020. MHP poultry exports hit by both AI and Covid-19. [Internet]. [Cited 2020 Apr 19]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2020/5/MHP-poultry-exports-hit-by-both-AI-and-Covid-19-585769E/

ภาพที่ ๑  การผลิตของบริษัทเอ็มเอชพีหวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกคลี่คลาย แต่ถูกโรคโควิด ๑๙ ดับความหวังลงในปัจจุบัน  (แหล่งภาพ MHP)

ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...