วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

รณรงค์ไม่ล้างไก่ดิบ

โรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ หรือแคมไพโลแบคเทอริโอซิส (Campylobacteriosis) เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ มากกว่า อี. โคไล ซัลโมเนลลา และ ลิสทีเรีย รวมพลังกันเสียอีก ยิ่งเป็นเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ที่ดื้อยา ฟลูออโรควิโนโลน จัดเป็นเชื้อซูเปอร์บั๊กที่ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นภัยต่อมนุษย์มากที่สุดโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง เราไม่สามารถเห็น ทดลองชิม หรือรู้สึกถึงเชื้อก่อโรคได้ แต่มันสามารถทำให้เราป่วย สาเหตุที่สำคัญที่สุดของโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์คือ การปนเปื้อนข้ามจากเนื้อไก่ดิบ แม้ว่า กรมปศุสัตว์จะพยายามอย่างแข็งขันร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมเชื้อตั้งแต่ในฟาร์มแล้วก็ตาม ยังต้องสร้างความเข้าใจให้มากขึ้นต่อผู้บริโภคที่จะป้องกันตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน
        โครงการรณรงค์ที่สำคัญอันหนึ่งทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปคือ ไม่ล้างไก่ดิบ ฟังดูเป็นเรื่องตลก แม้แต่รายการโทรทัศน์ยอดนิยมรายการหนึ่งในสหรัฐฯ แพทย์ผู้จัดรายการยังถกเถียงกันอย่างสนุกสนานว่า ด้วยประเด็นการรณรงค์ไม่ล้างไก่ดิบ ความจริงแล้ว การรณรงค์ไม่ล้างไก่ดิบมีสาเหตุว่า การล้างไก่สามารถแพร่กระจายเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์บนตัวไก่ไปทั่วห้องครัว การปรุงไก่ให้สุกอย่างทั่วถึงเป็นการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์สามารถแพร่กระจายได้ง่าย และแบคทีเรียเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้คนป่วยได้ โดยส่วนใหญ่มาจากไก่ดิบ หรือปรุงสุกไม่ทั่วถึง หรือจากการปนเปื้อนระหว่างการล้างไก่ดิบ วิธีการง่ายๆสำหรับปกป้องคนในครอบครัว และตัวท่านเองค์อ การปฏิบัติตามเคล็ดลับความปลอดภัยอาหารทุกครั้งที่ท่านประกอบอาหาร

เคล็ดลับความปลอดภัยอาหารในครัว
๑. เก็บเนื้อไก่ดิบในกล่องเก็บในตู้เย็นที่ชั้นล่างสุดของช่องแช่แข็ง เพื่อป้องกันน้ำที่ละลายจากเนื้อไก่ไปปนเปื้อนอาหารประเภคอื่นๆ ด้วยเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะ แคมไพโลแบคเตอร์
๒. ไม่ล้างไก่ดิบ การปรุงอาหารจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียทุกชนิด รวมถึง แคมไพโลแบคเตอร์ ขณะที่ การล้างไก่ดิบเป็นการแพร่กระจายเชื้อจากน้ำที่กระเซ็นไปทั่วอ่างล้างจาน และห้องครัว 
๓. ล้าง และทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องครัวอย่างทั่วถึง ทั้งถาดหั่นเนื้อ และพื้นที่ต่างๆที่ใช้ในการเตรียมเนื้อดิบ ล้างมือด้วยสบู่ และน้ำอุ่น ภายหลังการสัมผัสไก่ดิบ ช่วยหยุดการแพร่กระจายเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ โดยหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนข้าม
๔.  ปรุงไก่ให้สุกอย่างทั่วถึงด้วยความร้อน โดยสามารถตรวจสอบเนื้อไก่ก่อนรับประทานได้ โดยการตัดเนื้อส่วนที่หนาที่สุด แล้วตรวจสอบว่า ต้องไม่พบเนื้อดิบที่มีสีชมพูแดง และน้ำที่ซึมออกจากเนื้อไก่ใสต้องไม่มีสีผิดปรกติ 
การปนเปื้อนข้ามของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายคือ การแพร่กระจายระหว่างอาหาร บรรจุภัณฑ์ มือ พื้นผิว และอุปกรณ์ การหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนข้ามโดยพยายามแยกเก็บอาหารสุก และอาหารปรุงสุกจากกัน แล้วล้างอุปกรณ์เครื่องครัวที่ใช้กับเนื้อดิบ หรือผักที่ยังไม่ล้าง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียไปสู่อาหารประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะ อาหารพร้อมรับประทาน

อาการของโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์
อาการสำคัญคือ อาการปวดท้อง และท้องเสีย เป็นเวลา ๒ ถึง ๕ วัน หากโรคหยุดเพียงเท่านั้น คงไม่ต้องมีการรณรงค์กันมาก แต่อาการที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เช่น กลุ่มอาการกิลแลง บาร์เร (Guillain–Barré syndrome) เป็นโรคภูมิแพ้ต่อประสาทส่วนปลาย ในสหรัฐฯ มีรายงานว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการกิลแลง บาร์เรมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ ผู้ป่วยที่โชคร้ายจากกลุ่มอาการข้างเคียงนี้ อาจกลายเป็นผู้พิการอย่างถาวรชั่วชีวิต หรือร้ายแรงที่สุดถึงขั้นเสียชีวิต

ครัวไทยรับมืออย่างไร?
ในประเทศไทย การผลิตไก่เนื้อส่วนใหญ่มาจากโรงงานแปรรูปการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยอาหารระดับสูงเพื่อการส่งออก ดังนั้น ไก่ดิบ และผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนในบรรจุภัณฑ์ หรือจำหน่ายบนชั้นวางสินค้าอาหารมีความปลอดภัยอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลกับสิ่งปลอมปน เช่น เศษขน หรือมูลไก่ตกค้าง 
แต่เนื่องจาก เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้เป็นปรกติในตัวไก่ ทั้งนี้อุณหภูมิภายในร่างกายไก่ ๔๑ ถึง ๔๒ องศาเซลเซียส เป็นช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดนี้ เช่น ในสหรัฐอเมริกามีการสำรวจในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๔ พบว่า เนื้อไก่สดร้อยละ ๔๗ จากร้านค้าปลีกพบเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ ขณะที่ ในอังกฤษมีรายงานว่าไก่สดทั้งตัวแช่เย็นร้อยละ ๗๓ ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และในร้านค้าปลีกช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๘ สังเกตว่าอัตราการพบที่สูงกว่าในสหรัฐฯ เนื่องจาก ในสหภาพยุโรปมีข้อจำกัดในการใช้คลอรีนบำบัดน้ำในการแปรรูปเนื้อไก่ ปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรการใดที่ดีที่สุดสามารถกำจัดเชื้อให้ปลอดภัยมากที่สุดได้ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ดังนั้นจึงรณรงค์ให้ผู้บริโภคไม่ล้างไก่ดิบ แต่ให้นำมาปรุงสุกทันทีภายหลังจากแกะออกจากบรรจุภัณฑ์แล้ว ข้อยกเว้นคือ กรณีไก่บ้าน ที่ชาวบ้านเชือดกันเอง หรือแปรรูปในโรงงานที่ยังไม่ถูกสุขอนามัยแบบนี้อาจมีเศษขน ดิน หรือมูลสัตว์ติดตามตัว อย่างนี้ก็ต้องล้างกันหน่อย

เอกสารอ้างอิง
FSA. 2014. Don't wash raw chicken. [Internet]. [Cited 2017 Apr 27]. Available from: https://www.food.gov.uk/news-updates/campaigns/what-is-campylobacter

ภาพที่ ๑ อินโฟกราฟฟิก โครงการรณรงค์ไม่ล้างไก่ดิบ โดยองค์กรความปลอดภัยอาหาร (Food Safety Agency, 2014) 


วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

ความหวังเรืองรอง วัคซีนแคมไพโลแบคเตอร์

งานวิจัยใหม่พบว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของไก่เนื้อเร็วไม่เพียงพอต่อการต่อสู้กับเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ในลำไส้ 
ผลการศึกษาการทำหน้าที่ของภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ในไก่ นักวิจัยพบว่า แอนติบอดีมีปัจจัยสำคัญต่อการกำจัดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ แต่กลับพบว่าการสร้างแอนติบอดีในไก่เนื้อไม่ทันเวลาในช่วงอายุขัยของสัตว์ จึงไม่เพียงพอต่อการกำจัดเชื้อจากลำไส้ได้ทั้งหมด แต่ยังสามารถป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพสัตว์เองได้ การใช้วัคซีนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ


การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไม่ทันจับไก่

นักวิทยาศาสตร์ทดลองเหนี่ยวนำไม่ให้มีการสร้างเม็ดเลือดในลูกไก่เนื้อ ก่อนที่จะป้อนเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน ที่อายุ ๓ สัปดาห์ จากนั้นเฝ้าติดตามระดับของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้เป็นเวลา ๙ สัปดาห์ พบว่า ระดับของเชื้อแบคทีเรียถูกยับยั้งโดยแอนติบอดีที่พบได้ตั้งแต่อายุ ๗ สัปดาห์เป็นต้นไป แสดงว่า การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์ที่อายุประมาณ ๖ สัปดาห์ สายเกินไปสำหรับการผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลโดย Paul Wigley ปฏิบัติงานในสถาบันโรคติดเชื้อ และสุขภาพ พบว่า เป็นสิ่งท้าทายสำหรับการสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในไก่เนื้อก่อนเข้าโรงฆ่าที่อายุ ๖ สัปดาห์ วัคซีนที่มุ่งกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบพึ่งพาเซลล์ หรือทางเลือกอื่นๆน่าจะช่วยเร่งการสร้างแอนติบอดีในไก่เนื้อได้ และเป็นหนทางที่มีความเป็นไปได้มากกว่าสำหรับควบคุมเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ และลดปริมาณเนื้อไก่ที่ปนเปื้อนเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ในซูเปอร์มาร์เกต

ไก่ที่ปลอดแคมไพโลแบคเตอร์ไม่น่าจะเป็นไปได้
ศาสตราจารย์ Wigley เล่าว่า มีวัคซีนหลายชนิดกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาระยะสุดท้าย และบางชนิดมีการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่า ผลิตภัณฑ์จะมีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายใน ๕ ปีนี้ แม้ว่า วัคซีนเหล่านี้จะไม่ได้มีประสิทธิภาพเต็มที่ เพียงลดระดับการสร้างนิคมของเชื้อแบคทีเรียที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหาร  ศาสตราจารย์ Wigley มีความเห็นว่า ไก่ปลอดแคมไพโลแบคเตอร์ไม่น่าจะเป็นไปได้ นั่นคือ การกำจัดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่สามารถลดการปนเปื้อนเชื้อให้ต่ำกว่าแหล่งของการติดเชื้อสู่มนุษย์อื่นๆ เช่น เนื้อแดง สัตว์เลี้ยง หรือสิ่งแวดล้อม
การวิจัยครั้งนี้ได้รับทุนจากสภาเทคโนโลยีชีวภาพ และการวิจัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (BBSRC) โดยมีผลงานวิจัยชื่อว่า ลิมโฟไซต์ชนิดบีมีบทบาทที่จำกัดในการกำจัดเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน จากลำไส้ของไก่ ในวารสารวิจัยตีพิมพ์

เอกสารอ้างอิง
Davies J. 2017. Research reveals key challenge for Campylobacter vaccine. [Internet]. [Cited 2017 Apr 31]. Available from: http://www.poultryworld.net/Health/Articles/2017/3/Research-reveals-key-challenge-for-Campylobacter-vaccine-114004E/





เกราะเลเซอร์คุ้มครองแม่ไก่

ฟาร์มตัวอย่างขนาดเล็กๆ แต่ไม่ธรรมดา ฉลาดล้ำเทคโนโลยีจากอังกฤษก้าวพ้นขอบวิถีชนบท ไม่ยอมจำนนต่อโรคไข้หวัดนกเหมือนฟาร์มบางแห่ง นำเทคโนโลยีเลเซอร์เพื่อคุ้มครองแม่ไก่อินทรีย์ที่เลี้ยงปล่อยอิสระให้ปลอดจากโรคไข้หวัดนก
เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทั่วโลกพยายามป้องกันสัตว์ปีกจากโรคไข้หวัดนก ในหลายประเทศมีคำสั่งให้ต้อนสัตว์ปีกเลี้ยงภายในโรงเรือนทั้งหมด เพื่อยกระดับความเข้มข้นความปลอดภัยทางชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ก็กลายเป็นการจำกัดอิสรภาพของสัตว์ การกักขังสัตว์เป็นเวลานานยังเป็นการเพิ่มต้นทุนของเกษตรกร หากมีโอกาสให้สัตว์สามารถออกมานอกโรงเรือนได้ก็จะทำทันที แม้ว่าจะต้องวิตกกังวลกับการปนเปื้อนจากนกธรรมชาติ และนกอพยพก็ตาม ในอังกฤษ รัฐบาลก็พยายามผ่อนปรนมาตรการกักสัตว์ไว้ในโรงเรือนในบางพื้นที่ แต่ก็เตือนให้เกษตรกรระมัดระวังป้องกันสัตว์เลี้ยงของตน ตามปรกติ การออกนอกโรงเรือนก็จะถูกควบคุมโดยใช้ตะข่าย หรือเกษตรกรเอง 

ยกสตาร์เทร็กออกมานอกจอคุ้มครองแม่ไก่
ที่ฟาร์มไก่ไข่ Hoeberichts Orchard Eggs ในเมือง West Sussex เลี้ยงแม่ไก่อินทรีย์ ๔,๕๐๐ ตัวปล่อยเลี้ยงอิสระในพื้นที่ ๖๐ เอเคอร์ เมื่อรัฐบาลยกเลิกคำสั่งให้กักสัตว์เลี้ยงไว้ในโรงเรือน ผู้ประกอบการมีพื้นที่ ๒๔ เอเคอร์นอกโรงเรือน โรงเรือนสามารถเคลื่อนที่ได้โดยแม่ไก่สามารถเข้ามาได้ตามต้องการ ด้วยความใส่ใจในการป้องกันโรคไข้หวัดนก พื้นที่นอกโรงเรือนกว่า ๖๐ เอเคอร์ก็กลายเป็นฝันร้ายเช่นกัน ดังนั้น จึงใช้ประสบการณ์ที่ได้ชมภาพยนตร์สตาร์เทร็ก และแมดแม็กซ์ ตัดสินใจสร้างหอคอยติดตั้งปืนเลเซอร์บนยอดหอคอย เพื่อยิงลำแสงสีเขียวจากแก๊สโปรเปนเพื่อไล่นกป่า

มาตรการควบคุมโรคอื่นๆ
ฟาร์มไก่ไข่แห่งนี้ได้ประยุกต์เทคโนโลยีเลเซอร์จากบริษัทดัทช์ เพื่อกระตุ้นให้นกอพยพป่าตื่นกลัว และป้องกันไม่ให้ลงมาคลุกคลีกับไก่ในฟาร์มของตนเอง ขณะที่ รัฐบาลอังกฤษพึ่งขยายพื้นที่ป้องกันโรคไข้หวัดนกเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๑๗ ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการก็ได้ยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างใกล้ชิด ขณะที่ พวกเขาต้องการให้สัตว์อยู่นอกโรงเรือน แต่เมื่อเจ้าของฟาร์มแห่งนี้ได้ทราบเทคโนโลยีใหม่ของเลเซอร์จึงเริ่มคิดที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในมาตรการควบคุมโรคทางชีวภาพของตัวเองบ้าง หลักการของการไล่นกด้วยแสงเลเซอร์ได้แรงบันดาลใจมากจากธรรมชาติ นกจะคิดว่าลำแสงเลเซอร์ที่เข้ามาอาจทำร้ายร่างกายตัวเอง ดังนั้น จึงพยายามบินหนีเอาตัวรอด

แสงเลเซอร์ป้องกันแม่ไก่โดยไม่ทำร้ายนกป่า
ผู้ประกอบการพยายามทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไก่ในฟาร์มมิให้ติดเชื้อ เมื่อได้ยินเรื่องราวของบริษัทอะกริเลเซอร์ออโตโนมิก (Agrilaser Autonomic) เป็นเหมือนแสงสว่างส่องทางออกที่เติมเต็มมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ เครื่องส่องเลเซอร์อัตโนมัติเป็นนวัตกรรมสำหรับขับไล่นกที่ไม่ต้องการโดยมิได้ทำอันตรายต่อทั้งนกป่า ไก่ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ระบบนี้พัฒนาขึ้นโดยบริษัทสัญชาติดัทช์ กลุ่มควบคุมนก ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคนิคของ Delft ในประเทศเนเธอร์แลนด์ 

ประสิทธิภาพไล่นกป่า ๙๐ ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
แสงเลเซอร์ทำงานอย่างเงียบกริบ และไล่นกได้ ๙๐ ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นับเป็นทางเลือกใหม่ที่ราคาถูกกว่าการใช้ตาข่ายรอบทั้งฟาร์ม สามารถทดลองใช้ได้โดยการเช่าด้วยราคา ๒๖,๕๐๐ บาทต่อเดือน หากซื้อราคาเต็ม ๓๕๒,๐๐๐ บาท ตัวแทนจำหน่ายในสหราชอาณาจักรคือ บริษัท เพสต์ฟิกส์ (PestFix) พยายามแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสหราชอาณาจักร โดยย้อนไปเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๖ สร้างความกดดันให้กับภาคเกษตรกร และไข่ ตามแผนของ APHA (Animal &Plant Health Authority) อนุโลมให้เลี้ยงสัตว์ปีกปล่อยอิสระได้ หากเจ้าของฟาร์มสามารถกันนกป่าได้ ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยีเลเซอร์สำหรับไล่นกเป็นทางเลือกที่ดี และเป็นมิตรต่อสัตว์ในฟาร์ม       
สหราชอาณาจักรได้กำหนดพื้นที่ป้องกันโรคนับตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๖ เป็นต้นมา นั่นหมายความว่า ผู้เลี้ยงนก และสัตว์ปีกทั้งหมดต้องยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มงวด รวมถึง การเก็บสัตว์ปีกของตัวเองไว้ในโรงเรือน หากเป็นไปได้ต้องแยกให้ห่างออกจากนกป่า โดยมีการประกาศซ้ำเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ค.ศ.๒๐๑๗ และกำหนดไว้จนถึง ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๗ พื้นที่ป้องกันโรคเพิ่มเติมจะยังคงบังคับไว้จนกระทั่งปลายเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๑๗  

ความเสี่ยงที่สำคัญ
สมาคมผู้ผลิตไข่ปล่อยเลี้ยงอิสระแห่งสหราชอาณาจักร (British Free Range Egg Producers Association, BFREPA) ก็สนับสนุนให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้บริโภค และผู้บริโภคปัจจุบันก็พึงพอใจที่จะให้แม่ไก่สามารถออกไปเดินเล่นนอกโรงเรือนได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่สำคัญต่อฟาร์มสัตว์ปีกอิสระคือ โรคไข้หวัดนก ท่ามกลาง นกป่าในประเทศมีจำนวนมากมาย แต่ผู้บริโภคก็เข้าใจได้ว่า ไม่ต้องตื่นกลัวว่าอาหารจะไม่ปลอดภัย ไข่ยังคงเป็นแหล่งของสารอาหารที่สุดยอด และปลอดภัยต่อผู้บริโภค   
เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม Defra พบว่า บางส่วนของเกาะอังกฤษมีความเสี่ยงสูง สัตว์ปีกต้องอยู่เฉพาะในโรงเรือน หรือติดตะข่ายรอบฟาร์มอย่างสมบูรณ์ นอกเหนือจากนั้น ผู้ผลิตสัตว์ปีกอิสระอาจปล่อยสัตว์ออกได้โดยยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพของตัวเองโดยขึ้นกับผู้ประกอบการแต่ละราย รวมถึง คำแนะนำจากสัตวแพทย์ที่เข้าในพื้นที่ แล้วพิจารณาความเสี่ยงของฟาร์ม 
ผู้ประกอบการบางรายสามารถปล่อยสัตว์ของตัวเองออกจากโรงเรือน และตัดสินใจตามความเสี่ยง เพื่อคุ้มครองสุขภาพสัตว์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสัตว์ไว้ในโรงเรือนจนกระทั่งอันตรายจากการติดเชื้อเคลื่อนผ่านไป กล่องบรรจุภัณฑ์ของไข่จากแม่ไก่เลี้ยงปล่อยอิสระจะยังคงผนึกไว้เพื่อแจ้งให้กับผู้บริโภคทราบว่า ไข่อาจวางโดยแม่ไก่ที่เลี้ยงในโรงเรือนบ้างบางเวลา เพื่อป้องกันปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ หวังว่า มาตรการจะดำรงอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ปีกปล่อยอิสระได้มีโอกาสปล่อยสัตว์ของตัวเองออกไปภายนอก ผู้ประกอบการให้ความมั่นใจว่า สัตว์ที่เลี้ยงในโรงเรือนจะยังได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี โดยยังเป็นไปตามแผนความปลอดภัยทางชีวภาพตลอดเวลาได้
เอกสารอ้างอิง
McCullough C. 2017. Layers protected by lasers. [Internet]. [Cited 2017 Apr 12]. Available from: http://www.poultryworld.net/Health/Articles/2017/4/Layers-protected-by-lasers-119187E/  
https://www.youtube.com/watch?v=L5fkixXNDVQ 

ภาพที่ ๑ ปืนยิงลำแสงเลเซอร์อัตโนมัติเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับไล่นกป่า โดยไม่เป็นอันตรายต่อนก และไก่ รวมถึง สิ่งแวดล้อมโดยรอบ  (แหล่งภาพ: Chris McCullough)




วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

ไบโอตินสำหรับสัตว์ปีก สิ่งจำเป็นที่ราคาแพง

แม้ว่าจะใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อย ไบดอตินก็มีบทบาทสำคัญต่อเมตาโบลิซึม และเป็นปัจจัยสำคัญต่อต้นทุนของพรีมิกซ์วิตามิน
สำหรับวิตามินไบโอติน อัตราส่วนอย่างคร่าวๆประมาณ ๐.๑ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหารสัตว์ในอาหารไก่เนื้อ แต่ไบโอตินก็เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นมากในหลายด้านด้วยกัน ปริมาณอาจน้อยนิด คิดเป็นเพียง ๐.๑ กรัมต่ออาหาร ๑ ตันเท่านั้นในอาหารสำเร็จรูป ปริมาณเพียงเล็กน้อยขนาดนี้ต้องใช้เครื่องชั่งน้ำหนักที่มีความละเอียดสูง  
ทำไมต้องวิตกกังวลกับวิตามินที่ต้องใส่เป็นประจำอยู่แล้วในพรีมิกซ์วิตามิน เหตุผลก็คือ ต้นทุน ไบโอตินเป็นวิตามินที่มีราคาแพงที่สุดที่มีการใช้ในสูตรอาหารสัตว์ เมื่อพิจารณาอัตราการใช้ต่อกิโลกรัมอาหารสัตว์ ต้นทุนของวิตามินชนิดนี้จะไม่ใช่เรื่องตลกอีกต่อไปกับการเสียเวลาทำความรู้จักวิตามินชนิดนี้ให้มากขึ้น แต่เมื่อเราเริ่มต้นเตรียมพรีมิกซ์ และจำเป็นต้องซื้อไบโอตินทั้งกระสอบก็จะรู้สึกว่า มันแพงมาก ไบโอตินบริสุทธิ์ ดี-ไบโอติน (d-Biotin) เป็นรูปที่แอกทีฟของวิตามินมีต้นทุนสุงถึง ๓๑,๐๐๐ บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นกับปริมาณ แหล่งผลิต และความบริสุทธิ์ เมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินอี ซึ่งก็เป็นวิตามินราคาแพงเช่นกัน ต้นทุนของวิตามินอีแค่เพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของไบโอตินเท่านั้น ถึงเวลานี้คงต้องหันมาใส่ใจไบโอตินมากขึ้น

หลากหลายนามของไบโอติน
ไบโอตินถูกค้นพบมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่ระหว่างทศวรรษที่ ๑๙๒๐ ถึง ๑๙๔๐ โดยนักวิจัยหลายคณะจนทำให้ถูกตั้งชื่อไว้หลายชื่อเหลือเกิน เช่น วิตามิน บี ๗, โคเอนไซม์ อาร์ และวิตามิน เอช จนกระทั่ง นักวิจัยกลุ่มสุดท้าย ศึกษาโครงสร้างของวิตามินแล้ว ขนานนามใหม่เป็น ไบโอติน
ทุกวันนี้ ไบโอตินเป็นวิตามินละลายน้ำชนิดหนึ่งที่เป็นสมาชิกชนิดหนึ่งของกลุ่มวิตามินบีคอมเพล็กซ์ที่รู้จักกันดีว่าเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็น นั่นคือ สัตว์จำเป็นต้องได้รับวิตามินจากภายนอกผ่านอาหารสัตว์ ไม่ว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามธรรมชาติจะประกอบด้วยไบโอตินอย่างเพียงพอหรือไม่ก็ตาม

หน้าที่ของไบโอติน
ไบโอตินมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเมตาโบลิซึมของคาร์โบไฮเดรต ลิปิด และโปรตีน โดยเป็นวิตามินที่เป็นปัจจัยร่วมในการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายคาร์บอนไดออกไซด์จากโมเลกุลหนึ่งสู่อีกโมเลกุลหนึ่ง ว่ากันง่ายๆที่เซลล์ไหนๆก็ต้องใช้ไบโอติน โดยมีเอนไซม์ ๒ ชนิดที่สำคัญ ได้แก่ ไพรูเวต คาร์บอกไซเลส (Pyruvate carboxylase) และอะเซทิล-โคเอ-คาร์บอกไซเลส (Acetyl-CoA-carboxylase) เอนไซม์ที่สำคัญทั้งสองชนิดทำงานโดยอาศัยวิตามินที่จำเป็นต้องได้รับทุกวันในปริมาณที่ยากที่จะประเมินวัดได้

กลุ่มอาการขาดไบโอติน
เมื่ออาหารสัตว์ขาดไบโอตินจะส่งผลให้กระบวนการเมตาโบลิซึมพื้นฐานช้าลง แต่ในสัตว์ปีกมีกลุ่มอาการสำคัญ ๒ ประการที่ง่ายต่อการตรวจสอบกลุ่มอาการขาดไบโอติน
๑.  ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังหยาบ และตกสะเก็ด โดยเฉพาะรอบจอยปาก และพื้นผิวตอนบนของขา
๒. เอ็นเคลื่อน หรือเพอโรซิส (Perosis) มักเกิดร่วมกับการขาดกรดแพนโทธีนิก เอ็นเคลื่อนเป็นลักษณะภายนอกในฝ่าเท้าที่ขัดขวางการเคลื่อนที่
การทำความเข้าใจบทบาทของไบโอตินต่อสภาวะผิวหนังที่ดี อาจสังเกตได้จากสื่อโฆษณาสินค้าตามโทรทัศน์ หรืออินเตอร์เน็ต ได้แก่ สินค้าสุขภาพสำหรับบำรุงผม และเล็บ รวมถึง ฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ก็มีประสบการณ์มาแล้วสำหรับความแข็งแรงของกรงเล็บ หรือกีบ โดยเฉพาะ ปศุสัตว์ที่ต้องยืนบนพื้นเปียกบ่อยๆ

ไบโอติน และอะวิดิน ในไข่
ไบโอตินถูกค้นพบครั้งแรกในไข่ไก่ ที่อุดมไปด้วยวิตามินชนิดนี้ เนื่องจาก นักวิจัยสังเกตว่า การให้ไข่ขาวดิบกับสัตว์เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะขาดไบโอติน เรียกโรคนี้ว่า “ภัยจากไข่ขาว (White egg injury)” ขณะที่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ไข่ขาวก็ประกอบด้วย สารต่อต้านไบโอติน เรียกว่า อะวิดิน (Avidin) ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่จับกับไบโอตินในไข่แดง และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ปล่อยจากกันได้ภายใต้สภาวะปรกติ ทำไม ไข่ประกอบด้วยอะวิดินเป็นเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราพึงระลึกไว้เสมอก่อนจะให้ไข่ขาวดิบกับสัตว์ ความร้อนช่วยทำลายอะวิดิน และปลดปล่อยไบโอตินได้ ปริมาณของอะวิดินใกล้เคียงกันกับไบโอติน ดังนั้น ภาพจำลองที่เลวร้ายที่สุด อะวิดินในไข่จะไปหักล้างกับไบโอตินในไข่ โดยไม่ส่งผลต่อไบโอตินจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ หรือพรีมิกซ์

อาหารสัตว์แบบไหนที่ต้องเสริมไบโอติน
ธัญพืช เช่น ข้าวโพด และข้าวสาลี ประกอบด้วยไบโอติน ๐.๐๖ และ ๐.๑๑ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แหล่งโปรตีนที่สำคัญ เช่น กากถั่วเหลือง และเรพซีด ประกอบด้วยไบโอติน ๐.๒๖ และ ๐.๙๘ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ โดยทั่วไป ธัญพืชมีไบโอตินค่อนข้างต่ำเปรียบเทียบกับความต้องการของสัตว์ปีก แต่เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของอาหารสัตว์คิดเป็น ๖๕ เปอร์เซ็นต์ ในทางตรงกันข้าม แหล่งโปรตีนมีบทบาทน้อยกว่าโดยอัตราการเติมเพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่กลับเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินชนิดนี้ น่าเสียดายที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งหมดตามธรรมชาติมีสัดส่วนของไบโอตินค่อนข้างน้อย นั่นหมายความว่า มีเพียงครึ่งหนึ่งของไบโอตินตามธรรมชาติเท่านั้นที่สัตว์มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์
วัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วไป ได้แก่ ข้าวโพด และกากถั่วเหลือง ประกอบด้วย ไบโอตินประมาณ ๐.๐๙ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมนับว่าน้อยเปรียบเทียบกับความต้องการของสัตว์ ตามที่กำหนดไว้โดยสภาวิจัยแห่งชาติ (NRC, 1994) กำหนดไว้ระหว่าง ๐.๑๕ ถึง ๐.๓ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมสำหรับสัตว์ปีก ดังนั้น กล่าวได้ว่า วัตถุดิบอาหารสัตว์ตามธรรมชาติมีปริมาณของไบโอตินไม่เพียงพอสำหรับสัตว์ปีก ยิ่งถ้าเป็นสูตรอาหารสัตว์ที่ใช้ข้าวสาลีเป็นองค์ประกอบหลัก การขาดไบโอตินก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย
  นักวิจัยส่วนใหญ่ แนะนำให้ผสมดี-ไบโอตินที่บริสุทธิ์ในสูตรอาหารสัตว์ทุกชนิดโดยใช้ผสมในพรีมิกซ์ของวิตามินปรกติ ปริมาณของไบดอตินที่เติมเข้าไปเป็นสิ่งที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจาก ไบโอติน มีราคาแพงมาก การเติบไบโอติน ขนาด ๐.๑ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหารทั้งในสูตรอาหารที่ใช้ข้าวโพดเป็นองค์ประกอบหลักไก่เนื้อ และไก่ไข่ แต่หากใช้ข้าวสาลีก็ควรเพิ่มเป็นสองเท่า ทั้งนี้ก็เพราะว่า ปัญหาสิ่งรองพื้นเปียกเป็นปัญหาสำคัญในไก่เนื้อ และปัจจุบัน ยังเป็นปัญหาที่ใหญ่อีกประการหนึ่งของไก่ไข่ที่ไม่ได้เลี้ยงบนกรง

ไบโอตินเป็นวิตามินที่มีบทบาทสำคัญ
ไบโอตินเป็นวิตามินที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางในกระบวนการเมตาโบลิซึมของสารอาหาร แต่ความจำเป็นต้องเติมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น วัตถุดิบอาหารสัตว์ตามธรรมชาติส่วนใหญ่มีไบโอตินไม่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ โดยเฉพาะ ข้าวสาลี ดังนั้น ต้องมีการเสริมไบโอตินในพรีมิกซ์ แต่ราคาที่ค่อนข้างแพงมาก จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาให้ความเอาใจใส่อย่างรอบคอบ

เอกสารอ้างอิง
Mavromichalis I. 2017. Biotin for poultry: An essential but expensive vitamin. [Internet]. [Cited 2017 Apr 13]. Available from: http://www.wattagnet.com/articles/30419-biotin-for-poultry-an-essential-but-expensive-vitamin


วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560

เอนโดสโคปแยกเพศลูกไก่

การคัดเพศลูกไก่แรกเกิดเป็นกิจกรรมที่สำคัญมากสำหรับการผลิตสัตว์ปีก เพศเมียสามารถใช้สำหรับการผลิตไก่ไข่ หรือไก่พันธุ์ได้ แต่เพศผู้ก็เป็นที่โปรดปรานสำหรับผู้ผลิตไก่เนื้อ เนื่องจาก การเจริญเติบโตที่รวดเร็ว 
การปลิ้นก้นแยกเพศ
วิธีการแยกเพศลูกไก่มีการพัฒนาขึ้นมาหลายวิธี วิธีการที่นิยมมากที่สุดคือ การปลิ้นก้นแยกเพศ แล้วสังเกตการปรากฏ หรือไม่ปรากฏของอวัยวะเพศผู้ แม้ว่า วิธีการนี้จะมีความรวดเร็ว และแม่นยำ แต่จำเป็นต้องใช้พนักงานที่มีการฝึกอบรมเป็นอย่างดี และมีประสบการณ์
การดูขนปีก
วิธีการดูขนปีกโดยอาศัยคุณลักษณะของยีนส์ของขนไก่ที่มีความเชื่อมโยงกับเพศ แม้ว่าวิธีนี้จะค่อนข้างง่าย แต่ก็สามารถแยกเพศไก่ได้เฉพาะบางพันธุ์เท่านั้น
การใช้เทคโนโลยีเอนโดสโคปที่มีความแม่นยำสูง
เทคนิคการแยกเพศระดับโมเลกุลมีความแม่นยำสูง แต่ยากสำหรับการจัดการลูกไก่จำนวนมาก ระบบเอนโดสโคปประยุกต์สำหรับสัตว์ขนาดเล็กโดยอาศัยแท่งโพรบติดตามชนิด ชุดทดสอบลูกไก่ (Chick tester) สามารถสอดผ่านลำไส้ของลูกไก่ถูกใช้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ ถึง ๑๙๗๐ ล่าสุดนักวิจัยจากญี่ปุ่นนำมาพัฒนาขึ้นใหม่สำหรับตรวจเพศของลูกไก่ได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ โดยใช้โพรบเอนโดสโคปสอดผ่านทวารรวมเข้าสู่ลำไส้ของลูกไก่ แล้วสังเกตการปรากฏของอัณฑะ หรือรังไข่ผ่านผนังของลำไส้ การทดลองในไก่พันธุ์ไวท์เล็กฮอร์น และโรดไอซ์แลนด์เรดโดยใช้ระบบใหม่นี้ พบว่า ความแม่นยำในการแยกเพศสูง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ผลการทดลองยืนยันอีกครั้งโดยใช้เครื่องลาพาโรสโคป หรือลักษณะภายนอกของไก่ที่อายุ ๘๐ วัน ความแม่นยำในการคัดเพศผู้เป็น ๙๕ เปอร์เซ็นต์สูงกว่าเพศเมีย ๘๖ เปอร์เซ็นต์ ความแม่นยำน่าจะสูงขึ้นได้โดยอาศัยการฝึกใช้งานเครื่องเอนโดสโคปอย่างต่อเนื่อง  

เอกสารอ้างอิง
Otsuka et al. 2016. A novel method for sexing day-old chicks using endoscope system. Poultry Science. doi: 10.3382/ps/pew211.

ภาพที่ ๑ การคัดเพศลูกไก่แรกเกิดเป็นกิจกรรมที่สำคัญมากสำหรับการผลิตสัตว์ปีก (แหล่งภาพ: Poultry World)


















ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...