วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ผลการวิจัย กัมโบโรในเดนมาร์ก


วารสารวิชาการพยาธิวิทยาสัตว์ปีก รายงานการวิจัยภาคสนาม และภาคห้องปฏิบัติการหลังใช้วัคซีนกัมโบโรชนิดปานกลางในเดนมาร์ก ยืนยันว่า การใช้เทคนิคเทคนิค อาร์ที-พีซีอาร์ แล้วตรวจลำดับสารพันธุกรรมยังเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจคัดกรองการระบาดของโรคกัมโบโรชนิดความรุนแรงสูงในฟาร์ม
               ประเทศเดนมาร์กยังคงมีการระบาดของโรคกัมโบโรชนิดความรุนแรงสูง หรือวีวีไอบีดีมาหลายปีติดต่อกัน รายงานการระบาดครั้งแรกๆ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ มีรายงานการระบาดของโรคกัมโบโรชนิดรุนแรงสูง หรือวีวีไอบีดี ในเดนมาร์กทั้งหมด ๔๓ ราย คิดเป็นสัดส่วนราว ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของฟาร์มไก่เนื้อในประเทศ โดยหนึ่งในสามของฟาร์มที่เกิดโรคระบาด ให้วัคซีนเชื้อเป็นชนิดปานกลาง ๒ ครั้งคิดเป็น ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ๑ ครั้งคิดเป็น ๔๐ เปอร์เซ็นต์ การระบาดครั้งนี้เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากระดับภูมิคุ้มกันจากแม่ที่สูงมากในวันที่ให้วัคซีนจนรบกวนการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจากการให้วัคซีน หรือเทคนิคการให้วัคซีนที่ไม่เหมาะสมจนส่งผลต่อการให้วัคซีนได้ไม่ทั่วถึง หรือเชื้อกลายพันธุ์ใหม่อุบัติขึ้น
รายงานการวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ในวารสารพยาธิวิทยาสัตว์ปีกฉบับล่าสุด ประเทศเดนมาร์กมีการระบาดของโรคกัมโบโรชนิดรุนแรงสูง การใช้คะแนนรอยโรคที่ต่อมเบอร์ซาทางจุลพยาธิวิทยา (HBLS) ใช้เป็นเกณฑ์การคัดกรองสำหรับจำแนกฟาร์มที่ให้วัคซีนกัมโบโรแล้วเกิดการติดเชื้อจากพื้นที่ สังเกตพบว่า รอยโรครอยโรคสูงในสัดส่วนที่สูงในฟาร์มที่สุขภาพดี ผลการเลี้ยงดี โดยไม่มีสัญญาณใดบ่งชี้ว่า เกิดโรคกัมโบโรชนิดรุนแรงมาก ผลการตรวจสอบด้วยเทคนิค อาร์ที-พีซีอาร์ แล้วตรวจลำดับสารพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์ของเชื้อกัมโบโรที่พบได้บ่อย ได้แก่ เอช ๒๕๓ คิว และเอช ๒๕๓ เอ็น มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมใกล้ชิดกับลำดับของสารพันธุกรรมจากวัคซีนกัมโบโรชนิดปานกลางโดยมีอัตราความเสี่ยงสัมพัทธ์เป็น ๑๓.๐ (p<0.0001) ในฟาร์มที่ให้วัคซีนชนิดปานกลาง เอ หรือบีเปรียบเทียบกับฟาร์มที่ไม่ให้วัคซีน
               ความสัมพันธ์ของสายพันธุ์เอช ๒๕๓ คิว และเอช ๒๕๓ เอ็น ถูกนำมาประเมินภายใต้สภาวะการทดลองโดยใช้แผนการทดลองที่ประยุกต์มาจากยูโรเปียน ฟาร์มาโคเปีย เพื่อทดสอบความปลอดภัยของวัคซีนกัมโบโรเชื้อเป็น ผลการทดลองยืนยันว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวก่อโรคได้รุนแรงกว่าวัคซีนชนิดปานกลาง และส่งผลลบต่อการตอบสนองของแอนติบอดีต่อการให้วัคซีนนิวคาสเซิลในกลุ่มที่ต่อมเบอร์ซาถูกทำลายมากที่สุด  ประสิทธิภาพของการให้วัคซีนนิวคาสเซิลยังเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์เอช ๒๕๓ คิว และเอช ๒๕๓ เอ็น อาจใช้พัฒนาเป็นเชื้อไวรัสวัคซีนที่มีความปลอดภัย
               โดยสรุป การใช้คะแนนรอยโรคที่ต่อมเบอร์ซาทางจุลพยาธิวิทยาเพื่อตรวจคัดกรองฟาร์มไก่เนื้อเชิงพาณิชน์ที่ให้วัคซีนกัมโบโรชนิดปานกลาง สำหรับการปรากฏของเชื้อไวรัสกัมโบโรชนิดรุนแรงสูง ไม่น่าจะเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือได้ เนื่องจาก การปรากฏของว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์เอช ๒๕๓ คิว และเอช ๒๕๓ เอ็น ในฟาร์ม สำหรับการตรวจคัดกรองฟาร์มที่ให้วัคซีนกัมโบโรว่า มีการปรากฏของเชื้อไวรัสกัมโบโรชนิดรุนแรงสูง การใช้เทคนิคเทคนิค อาร์ที-พีซีอาร์ แล้วตรวจลำดับสารพันธุกรรมยังเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด

เอกสารอ้างอิง
Olesen et al. 2018. Field and laboratory findings following the large-scale use of intermediate type infectious bursal disease vaccines in Denmark. Avian Pathol. 47(6): 595-606.    


วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

วัคซีนบีซีโอ พยายามแล้วแต่ไม่สำเร็จ


ผลการวิจัยพยายามพัฒนาวัคซีนเชื้อตายชนิดโพลีวาเลนท์สำหรับป้องกันโรคจากเชื้อ เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม ไม่สามารถป้องกันโรคในลูกไก่ได้จากปัญหาไขสันหลังอักเสบจากการติดเชื้อเอนเทอโรคอคคัสได้
               เชื้อก่อโรค เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม เป็นสาเหตุของอาการอัมพาตในไก่เนื้อ เนื่องจากการติดเชื้อที่กระดูกสันหลังส่วนอกที่เคลื่อนที่ได้เป็นอิสระเป็นจุดอ่อนทางวิวัฒนาการตั้งแต่สมัยยุคสมัยบรรพกาล ดรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อ อี. ซีโครัม รู้จักกันดีกันในวงการวิชาการว่า ไขสันหลังอักเสบจากการติดเชื้อเอนเทอโรคอคคัส (Enterococcal spondylitis)” หรือ คิงกี้-แบค์ (Kinky back)” ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของความเสียหายในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อทั่วโลก การเกิดโรคนี้มีเหตุมาจากเชื้อ อี. ซีโครัม เริ่มจากการสร้างนิคมในทางเดินอาหาร และติดเชื้อในกระแสเลือดปรากฏขึ้นในช่วงสามสัปดาห์แรกของชีวิต ในเวลานี้ ภูมิคุ้มกันจากแม่จากการให้วัคซีนในไก่พันธุ์ชนิดโพลีวาเลนท์ ควรจะป้องกันลูกไก่ได้จากการให้เชื้อพิษทับ
               คณะผู้วิจัยจึงนำเชื้อ อี. ซีโครัม ก่อโรคจาก ๗ จีโนไทป์ที่มีการระบาดในสหรัฐฯ เพื่อผลิตเป็นวัคซีนเชื้อตาย หรือแบคเทอริน ฉีดให้กับแม่ไก่พันธุ์ พบว่า การใช้สายพันธุ์เดี่ยวไม่สามารถกระตุ้นแอนติบอดีระดับสูงต่อสายพันธุ์อื่นๆได้ อย่างไรก็ตาม การเตรียมวัคซีนโดยใช้เชื้อหลายสายพันธุ์ร่วมกันตั้งชื่อเป็น เอสเอ ๓ และเอสเอ ๗ สามารถต้านทานต่อเชื้อทุกจีโนไทป์ได้ การให้วัคซีนกับแม่ไก่พันธุ์เนื้อโดยใช้แบคเทอรินที่ประกอบด้วยเชื้อเอสเอ ๓ และเอสเอ ๗ ไม่มีผลข้างเคียง แม่ไก่ที่ให้วัคซีนสามารถพัฒนาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อ อี. ซีโครัม ได้ ไม่พบความแตกต่างของอัตราการรอดชีวิตในลูกไก่ที่ติดเชื้อจากแม่ไก่ที่ให้วัคซีน หรือกลุ่มควบคุมที่ใช้แอดจูแวนท์ฉีดเข้าไปแทน ลูกไก่จากแม่ไก่ที่ให้วัคซีนไม่สามารถต้านทานโรคจากการป้อนเชื้อพิษทับด้วยสายพันธุ์เดียวกัน หรือต่างสายพันธุ์ระหว่างการทดลอง ในการทดสอบการฆ่าเชื้อด้วยมาโครฝาจ (Macrophage killing assay) พบว่า เชื้อ อี. ซีโครัม สามารถหลบหลีกกระบวนการเก็บกิน และแอนติบอดีที่สูงขึ้นได้ ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า เชื้อ อี. ซีโครัม มีกลไกก่อความรุนแรงของโรคได้ โดยการต่อต้านกระบวนการเก็บกินที่อาศัยแอนติบอดีจนทำให้การพัฒนาวัคซีนต่อเชื้อนี้ในไก่เนื้อ ยังไม่ประสบความสำเร็จ      
 เอกสารอ้างอิง
Borst et al. 2018. Vaccination of breeder hens with a polyvalent killed vaccine for pathogenic Enterococcus cecorum does not protect offspring from Enterococcal spondylitis. Avian Pathol.  

ภาพที่ ๑ ไขสันหลังอักเสบจากการติดเชื้อเอนเทอโรคอคคัสเป็นโรคอุบัติใหม่ในการเลี้ยงไก่เนื้อที่กำลังเป็นที่สนใจในวงการวิชาการอย่างกว้างขวาง (แหล่งภาพ Talebi et al. 2016)



วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

วิจัยหวัดนกเอช ๙ เอ็น ๒ กลายพันธุ์ติดมนุษย์


นักวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกเอช ๙ เอ็น ๒ สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และกลายพันธุ์ให้ติดเชื้อสู่มนุษย์ได้
               นักวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกเอช ๙ เอ็น ๒ ที่แยกได้จากปากีสถานสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการให้วัคซีนได้ และเพิ่มโอกาสในการติดต่อสู่มนุษย์ง่ายขึ้น นักวิจัยจากสถาบันเพอร์ไบร์ต สหราชอาณาจักรวิจัยการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดนก พบว่า การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่โปรตีนบริเวณผิวอนุภาคเชื้อไวรัสที่เรียกว่า ฮีแมกกลูตินินของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เอช ๙ เอ็น ๒ ทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ และเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้
               ศาสตราจารย์ มูเนอร์ อิคบัล หัวหน้ากลุ่มโรคไข้หวัดนกที่เพอร์ไบรต์ พบว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนก สับไทป์เอช ๙ เอ็น ๒ มีอัตราการป่วย และตายปานหลางในฟาร์มสัตว์ปีก และไม่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงในมนุษย์ แต่ความสามารถของเชื้อไวรัสสับไทป์นี้ในการจับกับตัวรับของเซลล์ที่คล้ายกับมนุษย์ทำให้เกิดข้อวิตกกังวลต่อการติดต่อสู่มนุษย์ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ติดต่อสู่มนุษย์ และไก่จะใช้ตัวรับของเซลล์โฮสต์ต่างชนิดกันในระยะแรกของขั้นตอนการเข้าสู่เซลล์ การศึกษาครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสกลายพันธุ์สามารถจับกับตัวรับของเซลล์มนุษย์ได้ แม้ว่า จะชอบตัวรับของเซลล์คล้ายสัตว์ปีกมากกว่าก็ตาม โปรตีนที่ผิวไวรัสชนิดฮีแมกกลูตินินใช้สำหรับการเข้าสู่เซลล์โฮสต์ เพื่อเริ่มกระบวนการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสทำให้เป็นเป้าหมายหลักสำหรับระบบภูมิคุ้มกัน นักวิจัยยังพบอีกว่า การกลายพันธุ์ที่เกิดจากการแทนที่กรดอะมิโนเพียงตำแหน่งเดียว สามารถทำให้การป้องกันโรคต่ำลงในไก่ที่ให้วัคซีนเอช ๙ เอ็น ๒ การกลายพันธุ์ส่งเสริมให้การจับกับฮีแมกกลูตินินของเชื้อไวรัสเอช ๙ เอ็น ๒ กับตัวรับของเซลล์เหนี่ยวแน่นยิ่งขึ้น เป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสถูกทำให้หมดฤทธิ์ลงได้จากแอนติบอดี อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ย่อมแลกด้วยค่าใช้จ่ายของเชื้อไวรัส นักวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสกลายพันธุ์สับไทป์เอช ๙ เอ็น ๒ จะไม่เพิ่มจำนวนในเซลล์เพาะเลี้ยงอย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม แสดงให้เห็นถึง สมดุลของธรรมชาติ ที่เชื้อไวรัสต้องรักษาไว้ เมื่อการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้เชื้อไวรัสหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกัน และติดเชื้อเข้าสู่โฮสต์ที่แตกต่างออกไป การกลายพันธุ์หลายครั้งจะทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
               นักวิจัยกลุ่มนี้ กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้เข้าใจเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสับไทป์ เอช ๙ เอ็น ๒ กลายพันธุ์ สามารถกลายพันธุ์จนเกิดความสมดุลที่ถูกต้อง และยังคงสามารถจับกับตัวรับของเซลล์คล้ายมนุษย์ได้ เพื่อให้การคัดกรองเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่สามารถติดเชื้อสู่มนุษย์ได้ และสามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ต่อไป     
เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2018. Avian flu has potential to adapt. [Internet]. [Cited 2018 Nov 21]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2018/11/Avian-flu-has-potential-to-adapt-362317E/ 
ภาพที่ ๑ เชื้อไวรัสไข้หวัดนกเอช ๙ เอ็น ๒ กำลังกลายพันธุ์ติดสู่มนุษย์ (แหล่งภาพ: Mark Pasveer)



วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ค้นพบโครงสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองสัตว์ปีก


นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ค้นพบโครงสร้างใหม่ของเซลล์ประสาทในสมองสัตว์ปีกที่เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการส่งสัญญาณตอบสนองต่อความเครียด
               นิวรอนที่มีตำแหน่งในรอยต่อของฮิปโปแคมปัส โครงสร้างที่อยู่ในส่วนกั้นสมอง เป็นบริเวณที่อยู่เหนือฮิปโปแคมปัส คณะผู้วิจัยโดยศาสตราจารย์ เวยน์ คูเอนเซล นักวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์ปีกจากมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ กำลังศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฮิปโปแคมปัส ต่อมใต้สมอง และต่อมหมวกไต (HPA axis) เป็นหนึ่งในสี่ของการทำงานสัมพันธ์ระหว่างระบบประสาท และต่อมไร้ท่อที่ควบคุมสรีรวิทยา และพฤติกรรมของสัตว์มีกระดูกสันหลัง
               ระบบ HPA axis เป็นวิถีการสื่อประสาทที่มีความซับซ้อนจากสมองไปยังต่อมหมวกไต เพื่อควบคุมการตอบสนองต่อความเครียดของไก่ เส้นทางการสื่อสารมีทั้งการตอบสนองทางบวก และทางลบ

ความเครียดระหว่างการขนส่ง
               หนึ่งในตัวอย่างของความเครียดในสัตว์ปีกคือ การขนส่ง ไก่ถูกเคลื่อนย้ายจากโรงฟักไปยังโรงเรือนเลี้ยงไก่ และโรงงานแปรรูปการผลิต ความเครียดระหว่างขั้นตอนดังกล่าวมีผลกระทบทางลบต่อคุณภาพเนื้อ ความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อการตอบสนองต่อความเครียดจะช่วยให้นักวิชาการค้นพบวิธีการบรรเทาความเครียดทางสรีวิทยา และช่วยให้สวัสดิภาพสัตว์ สุขภาพสัตว์ และคุณภาพเนื้อดีขึ้น
                ความเข้าใจเกี่ยวกับการตอบสนองต่อความเครียดคือ ทั้งหมดเริ่มต้นในไฮโปธาลามัส มีที่ตั้งบริเวณฐานของสมอง สั่งงานเหนือต่อมใต้สมอง ไฮโปธาลามัสประกอบด้วย กลุ่มเซลล์ประสารทขนาดเล็ก เรียกว่า นิวรัล นิวคลีไอ (Neural nueclei) ที่มีหน้าที่มากมาย หนึ่งในหน้าที่สำคัญที่สุดคือ การเชื่อมโยงระบบประสาทกับระบบต่อมไร้ท่อผ่านต่อมใต้สมอง ระบบนี้ออกแบบมาเพื่อรักษาสมดุลของระบบร่างกาย เพื่อตอบสนองต่อความเครียด ไฮโปธาลามัสจะปล่อยฮอร์โมน Corticotropin-releasing hormone (CRH) ที่กระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้หลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า ACTH ผ่านระบบหมุนเวียนเลือดไปยังต่อมหมวกไตที่ตั้งอยู่เหนือไตแล้วกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรน เป็นฮอร์โมนความเครียดที่สำคัญสำหรับสัตว์ปีก ที่มีส่วนสำคัญต่อการปรับระบบเมตาโบลิซึมเพื่อตอบสนองต่อความเครียด คณะผู้จับพบว่า บริเวณนิวเคลียสของ Hippocampus commissure (NHpC) จะถูกกระตุ้น และสร้างฮอร์โมน CRH ในไก่เกิดความเครียดแบบระยะสั้นๆ จากการจำกัดอาหาร เซลล์ประสาทเหล่านี้มีการตอบสนองก่อนเซลล์ประสาทหลักของ CRH neuron ในระบบ HPA axis โดยนักวิจัยเชื่อว่า กลุ่มเซลล์ประสาทที่พึ่งค้นพบนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ระบบ HPA axis ในการทำงานเพื่อกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดของสัตว์ปีก     
เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2018. New structure of neurons in the poultry brain identified. [Internet]. [Cited 2018 Nov 2]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2018/11/New-structure-of-neurons-in-the-poultry-brain-identified-354628E/


วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

วิธีป้องกันความเสียหายของกระดูกอกแม่ไก่


ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วยุโรป เชื่อว่า ความเสียหายของกระดูกอกแม่ไก่เกิดจากหลายปัจจัย ปัญหานี้สามารถลดลงได้อย่างมาก ผลการวิจัยเผยสาเหตุของปัญหา และทางแก้ไข
               การฝึกอบรมเกี่ยวกับ ความเสียหายของกระดูกอกไก่ในแม่ไก่ที่ศูนย์วิจัยการทดลองสัตว์ปีกในเบลเยี่ยม มีการแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการล่าสุด ศ. จอห์น ทาร์ลตัน มหาวิทยาลัยบริสตอลมีความชำนาญด้านโรคกระดูก กระดูกของสัตว์ปีกมีวิวัฒนาการสำหรับการให้ไข่ร่วมกันกับไดโนเสาร์ เรียกว่า กระดูกเมดูลาร์ (Medullary bone) กระดูกที่ปราศจากโครงสร้างที่สร้างขึ้นในโพรงไขกระดูกของกระดูกยาว เป็นแหล่งของแคลเซียมที่ใช้ในการสร้างเปลือกไข่ บรรพบุรุษของไก่คือ ไก่ป่าสีแดง สามารถไข่ได้ปีละ ๑๒ ถึง ๒๐ ฟองเท่านั้น ขณะที่ แม่ไก่ไข่ที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ปัจจุบันให้ไข่ราว ๓๕๐ ฟองต่อปี ดังนั้น แม่ไก่ที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์จึงต้องการแคลเซียมมากกว่า ๘๐๐ กรัมต่อปี คิดเป็น ๓๐ เท่าของแคลเซียมจากกระดูกทั้งหมด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ไก่ไข่ที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ แลกเปลี่ยน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณทั้งหมดของแคลเซียมเพื่อสร้างเป็นไข่ไก่ ทั้งนี้ต้องขอบคุณกระดูกเมดูลาร์ที่เป็นแหล่งพักพิงของแคลเซียม แหล่งของแคลเซียมนี้เกิดขึ้นก่อนเริ่มไข่ไม่นานเท่านั้น เรียกได้ว่า ก่อนที่แม่ไก่จะสมบูรณ์เพศ
               แคลเซียมในอาหารจะถูกใช้เท่าไร และแคลเซียมจะถูกเคลื่อนย้ายจากกระดูกเมดูลาร์เท่าไร เพื่อสร้างเปลือกไข่ขึ้นกับปริมาณของแคลเซียมที่มีอยู่ในกระดูกในเวลาที่เปลือกไข่ถูกสร้างขึ้น แม่ไก่สามารถสำรองแคลเซียมไว้ในกระดูกได้จำกัด จำเป็นต้องได้รับอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละวัน ขณะที่ แม่ไก่ดึงแคลเซียมมาจากแหล่งสำรองแคลเซียในกระดูกในเวลากลางคืน ปราศจากแคลเซียมในอาหาร จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายมาจากกระดูกโครงสร้าง รวมถึง กระดูกเมดูลาร์ การเสียสละแคลเซียมของกระดูกแคลเซียมเพื่อให้ไข่จึงทำให้กระดูกอ่อนแอลง โดยเฉพาะ แหล่งสำรองนี้ไม่สามารถชดเชยได้จากกระดูกเมดูลาร์
               ดังนั้น การเพิ่มแคลเซียมที่ใช้ประโยชน์ได้ในอาหารสัตว์อาจช่วยลดการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูกได้ เช่น อัตราส่วนของแคลเซียม ๗๕ เปอร์เซ็นต์จากอาหาร และ ๒๕ เปอร์เซ็นต์จากกระดูกเมดูลาร์ย่อมดีกว่าอัตราส่วน ๖๐ และ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ การให้ก้อนกรวดปูนขาว หรือเกล็ดเปลือกหอย ที่เป็นแหล่งแคลเซียมจากธรรมชาติจึงมีความสำคัญ จากงานวิจัยโดย Robert Pottgüter ของบริษัทลอห์มัน อาหารสัตว์ของแม่ไก่ต้องประกอบด้วยแคลเซียมสัก ๒ ถึง ๒.๕ เปอร์เซ็นต์ ขนาดของเม็ดแคลเซียมก็มีความสำคัญ เม็ดแคลเซียมที่มีขนาด ๐.๘ มิลลิเมตรจะดูดซึมดีกว่าเม็ดที่ละเอียดมากๆ   

การทำงานของโอเมกา ๓
               กลไกการทำหน้าที่ของกระดูก แบ่งได้เป็น ๓ ระยะ ได้แก่
๑.     ระดับการรับน้ำหนักต่ำ ส่งผลให้มีแรงเพียงเล็กน้อยต่อกระดูก
๒.    ระดับการรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เรียกว่า ระยะอีลาสติก (Elastic phase)” สร้างแรงกดต่อกระดูก แต่กระดูกสามารถฟื้นฟูได้อย่างสมบูรณ์
๓.    ระดับการรับน้ำหนักมาก เรียกว่า ระยะพลาสติก (Plastic phase)” กระดูกเกิดความเสียหายแบบกลับคืนไม่ได้ จำเป็นต้องมีการซ่อมแซม และอาจส่งผลต่อการหักของกระดูกได้
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า กระดูกของสัตว์ปีกในระบบการเลี้ยงแบบไม่ขังกรง ช่วยให้กระดูกค่อยๆแข็งแรงขึ้นตลอดการวางไข่ แต่ไม่เพียงพอต่อความทนทานกับอันตรายต่อแม่ไก่ในสิ่งแวดล้อมระหว่างการวางไข่ วิธีการแก้ไขคือ การเติมกรดไขมันโอเมกา ๓ ลงในอาหาร โอเมกา ๓ สามารถเติมลงได้อย่างง่ายๆในรูปของเมล็ดของต้นแฟลคซ์ หรือปลาป่น เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการสูญเสียกระดูก โดยการให้โอเมกา ๓ ช่วยลดอุบัติการณ์กระดูกหักจาก ๖๕ เปอร์เซ็นต์เหลือ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ที่อายุ ๕๐ สัปดาห์ และ ๗๐ เปอร์เซ็นต์เหลือ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ที่อายุ ๗๐ สัปดาห์
กระดูกแข็งแรงมากขึ้นเพื่อรับน้ำหนักในระยะอีลาสติก ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยกระดูกมีความแข็งแรงมากขึ้นเมื่อรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เช่น การออกกำลัง และกระดูกอ่อนแอลงเมื่อรับน้ำหนักลดลง เช่น แม่ไก่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จำกัดการเคลื่อนไหว เช่น กรงตับ เป็นต้น กลไกการควบคุมเฉพาะแห่ง และตามระบบที่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของเซลล์กระดูก และเมตาโบลิซึมของแคลเซียม รวมถึง โกรธฮอร์โมน ฮอร์โมนไทรอยด์ เอสโตรเจน ระดับแคลเซียม และวิตามินดี เพื่อรักษาสุขภาพกระดูกที่ดี วิตามินดีเป็นศูนย์กลางที่มีหน้าที่ควบคุมการทำหน้าที่ของเซลล์กระดูก การดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ และการขับแคลเซียมในไต

ความสำคัญของการปรับระบบ
   ถึงเวลานี้ต้องยอมรับว่าเป็นความจริงที่ว่า การออกกำลัง และการฝึกให้แม่ไก่ออกกำลังช่วยให้กระดูแข็งแรงขึ้น แต่ก็มีสิ่งที่เรียกว่า ความย้อนแย้งของอันตราย (Hazard paradox)” ของศาสตราจารย์ชาวดัทช์ บาส โรเดนเบิร์ก ภาควิชาสัตวศาสตร์ และสังคม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอูเทร็คท์ ระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกที่แม่ไก่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระมีความซับซ้อนมากกว่าระบบการเลี้ยงในกรง ความเสี่ยงต่อกระดูกหักมีมากกว่าอย่างมาก เช่น แม่ไก่ที่มีโอกาสบินได้ตามธรรมชาติก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุตกลงมาได้ง่าย ความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักโดยอุบัติเหตุจะน้อยลงในระบบการเลี้ยงแบบกรงจำลองธรรมชาติ (Aviary system) ระบบการเลี้ยงแบบ Portal system มีความปลอดภัยต่อแม่ไก่มากกว่าแบบเดิม Row system เช่น ระบบ Portal system จะมีอุบัติการณ์กระดูกหักส่วนกลางของกระดูกอกต่ำกว่าระบบ Row system ราว ๑๓ เปอร์เซ็นต์ และการติดตั้งระบบ Row system พบว่า ระยะห่างระหว่างแถวมีผลต่อการบาดเจ็บของแม่ไก่ แม่ไก่สีขาวมีน้ำหนักน้อยกว่าแม่ไก่สีน้ำตาล กระโดดได้ไกลกว่า ความชุกของการบาดเจ็บที่กระดูกอกในระบบ Aviary system ที่ใช้พื้นพลาสติกต่ำกว่าลวดตะข่ายราว ๙ เปอร์เซ็นต์
การเพิ่มทางลาดที่ส่วนบนของระบบ Aviary system ช่วยลดกระดูกหักลงได้ ทางลาดพิเศษที่ส่วนบนของระบบช่วยลดการร่วงตกลงมาของแม่ไก่ได้ ๔๕ เปอร์เซ็นต์ ลดการปะทะกันลง ๕๙ เปอร์เซ็นต์ และลดกระดูกหักลงได้ไม่เกิน ๒๓ เปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบกับระบบที่ไม่มีทางลาดพิเศษ ระบบ Vencomatic ได้พัฒนาระบบนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว มุมของทางลาดชัดต้องน้อยกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ชั้นบันไดที่ประกอบด้วยตะข่ายโลหะถูกใช้ดีกว่าโดยการเลี้ยงแม่ไก่ดีกว่าพื้นที่หยาบเหมือนกระดาษทราย ผลการวิจัยก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า มุมระหว่างขอนเกาะต่างๆมีความสำคัญ เมื่อมุมที่ใช้ในระบบนี้มากกว่า ๓๐ องศา แม่ไก่จะไม่ค่อยอยากกระโดดลงมา และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเป็น ๒๒ เปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบกับการเลี้ยงบนกรง ๕ เปอร์เซ็นต์ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งที่แม่ไก่กระโดดลงมา มุมต้องน้อยกว่า ๔๕ องศา การกระโดดขึ้นของแม่ไก่มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าการกระโดดลง

ความสำคัญของการเลี้ยงไก่รุ่นที่ดี
               ระยะการเลี้ยงไก่รุ่นมีความสำคัญมากต่อการป้องกันความเสียหายของกระดูกอก งานวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ แสดงให้เห็นว่า แม่ไก่รุ่นที่เลี้ยงในระบบ Aviary system มีพัฒนาการที่ดีกว่าในแง่ของทักษะการเคลื่อนที่ และดีกว่าการเลี้ยงในกรง โดยเฉพาะ กระดูกหักน้อยกว่า ไม่ส่งผลต่อการผิดรูปของกระดูก พันธุกรรมก็มีบทบาทสำคัญมาก พันธุ์ลูกผสมสีขาวมีการเคลื่อนที่ในระบบ Aviary system ได้ดีกว่าพันธุ์ลูกผสมสีน้ำตาล แม้ว่า พันธุ์ลูกผสมสีขาวจะมีความเสี่ยงต่อกระดูกหักโดยทฤษฏีมากว่าพันธุ์ลูกผสมสีน้ำตาล เนื่องจาก มีระบบกระดูกที่เบากว่า มีโอกาสกระดูกหักน้อยกว่าแม่ไก่สีน้ำตาล เนื่องจาก พันธุ์ลูกผสมสีขาวเบากว่า จึงกระตือรือร้นมากกว่า และบินได้ง่ายกว่า พันธุ์ลูกผสมสีน้ำตาลจึงมีความเสียหายของกระดูกอกมากกว่าพันธุ์ลูกผสมสีขาว โดยเฉพาะที่ส่วนยอดของกระดูกอก ความสัมพันธ์ระหว่างความแข็งแรงของกระดูก และความเสี่ยงของกระดูกหัก พบว่า ปัญหากระดูกหักในสายพันธุ์สีขาวที่คัดเลือกให้ความแข็งแรงของกระดูกสูงจะมีน้อยกว่าสายพันธุ์ที่คัดเลือกให้ความแข็งแรงของกระดูกต่ำ บ่งชี้ถึง ความสำคัญของการคัดเลือกทางพันธุกรรมต่อความเสียหายของกระดูกอก   
  
การออกแบบขอนเกาะ
               เป็นที่ยอมรับกันดีว่า ในระบบที่ไม่เลี้ยงขังกรง ความเสียหายจากกระดูกหักมีมากกว่าระบบการเลี้ยงขังกรง กระดูกหักยังรุนแรงกว่าในระบบที่ไม่เลี้ยงขังกรง การวิจัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมาใน ๔๗ ฟาร์มจากเบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ที่เลี้ยงในระบบ Aviary system ชนิดต่างๆ พบว่า การบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ส่วนกลางของกระดูกอก ความชุกของปัญหาในแม่ไก่ที่พบปัญหากระดูอกอกหักเฉลี่ยเป็น ๘๒.๕ เปอร์เซ็นต์ โดยเกิดจากสาเหตุต่างๆ รวมถึง พันธุกรรม พฤติกรรม สรีรวิทยา และการออกแบบระบบ Aviary system อีกด้วย และยังขึ้นกับจำนวนของทางลาด และพื้น และวัสดุที่ใช้ผลิตอีกด้วย  
ขอนเกาะมีความสำคัญสำหรับการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของแม่ไก่ และเพิ่มแรงกดต่อกระดูกอก เนื่องจาก การนั่งเป็นเวลานาน ขอนเกาะโลหะแข็งกระด้างกว่าไม้ แต่ไม้ก็มีโอกาสพบไรแดงมากกว่า ขอนเกาะที่ใช้โฟมพียูหุ้มไว้ช่วยลดแรงกระแทกได้ ในกรณีแม่ไก่บินไปชน นอกจากนั้น โฟมพียูยังช่วยให้เกาะได้แน่นขึ้นจึงลดการตกจากขอนเกาะได้ เนื่องจาก เส้นผ่านศูนย์กลางที่ใหญ่มากขึ้น แรงกดต่อกระดูกอกจึงกระจายน้ำหนักไปได้มากกว่าเดิม ช่วยลดปัญหาการคด และหักของกระดูกได้ อย่างไรก็ตาม โฟมพียูมีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขอนามัย และ/หรือไรแดง การเลี้ยงแม่ไก่ระยะรุ่นไม่เพียงมีความสำคัญต่อการสร้างกล้ามเนื้อ และกระดูกให้แข็งแรง แต่ยังช่วยสร้างความสมดุลของโครงสร้างร่างกาย การใช้ทางลาดก็เป็นประโยชน์ต่อการลดความเสียหายของกระดูกอก ประโยชน์น่าจะมีมากกว่าผลเสียอย่างมาก
เอกสารอ้างอิง
van Doorn D. 2018. Preventing keel bone damage. [Internet]. [Cited 2018 Oct 22]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2018/10/Preventing-keel-bone-damage-349301E/
ภาพที่ ๑ การคลำที่บริเวณอกไก่เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจสอบความเสียหายของกระดูกอก




วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

โรคบิด และลดยาปฏิชีวนะ สุดยอดปัญหาหนักใจไก่เนื้อสหรัฐฯ


อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายใหม่ และเก่ามากมาย กลายเป็นโอกาสสำหรับนักวิจัย
               การเปลี่ยนแปลงวิถีไก่เนื้อกำลังเกิดขึ้น และนำสิ่งท้าทายใหม่ ปัญหาเก่าอย่างสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และกฎระเบียบใหม่การเลี้ยง ยังเป็นเรื่องเก่าๆที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
               โรคบิด และการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสองอันดับสุดยอดที่ท้าทายบริษัทผู้ผลิตไก่เนื้อในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ จากการสำรวจประจำปีของสัตวแพทย์อเมริกาผู้ผลิตไก่เนื้อ หรือเอวีบีพี สอบถามสมาชิกสัตวแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไก่เนื้อ แล้วจัดลำดับประเด็นที่เกี่ยวข้องโรค และไม่เกี่ยวกับโรคที่เป็นปัญหาที่กำลังเผชิญหน้า และระดับความสำคัญ  

โรคเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด
               โรคบิดเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดจากการสำรวจปีนี้ เนื่องจาก ความพยายามเปลี่ยนจากการใช้ยากลุ่มไอโอโนฟอร์สำหรับควบคุมโรคเป็นวิธีอื่นๆที่ยังไม่มีทางเลือกในเวลานี้ ลำดับต่อมาคือ โรคลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตายยังเป็นสิ่งท้าทายการผลิตไก่เนื้อ เนื่องจาก ไม่มีวิธีการควบคุมโรคบิดแล้ว ยังมีการถอดยาปฏิชีวนะอีกด้วย การเลิกใช้ยาปฏิชีวนะในโรงฟักเป็นเหตุให้มีปัญหาด้านคุณภาพลูกไก่ และอัตราการตายสัปดาห์แรก ซึ่งเป็นลำดับที่ ๓ ของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรคไก่ เมื่อผู้ผลิตต้องถอดผ้าปิดแผล แต่ยังไม่มีความพร้อม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเจ็บปวด เมื่อโรงฟัก และฟาร์มไก่พันธุ์ ยังไม่พร้อมสำหรับการยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะที่โรงฟัก ย่อมเป็นก้าวที่จะนำไปสู่ความเจ็บปวด 
               ลำดับที่ ๔ คือโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ จากปัญหาเชื้อแวเรียนต์ หรือวัคซีนที่แม้ว่าส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่ดี แต่ก็สามารถเป็นสาเหตุของปัญหาได้บ้าง ลำดับที่ ๕ คือ โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดสักปีละครั้ง ลำดับถัดมาคือ ผิวหนังอักเสบแบบมีเนื้อตาย รีโอไวรัสใหม่ และขาพิการ เนื่องจากกระดูก/ไขสันหลังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย สุดท้ายคือ โรคไข้หวัดนก ที่ล่วงลงมา หลังจากโรคสงบมาต่อเนื่องหลายปี อื่นๆก็คือ โรคฮิสโตโมเนียซิส เนื่องจาก ยังไม่มีวิธีป้องกันที่เชื่อถือได้ในปัจจุบัน

โรคสำคัญ และโอกาสสำหรับการแก้ไขปัญหา
               สัตวแพทย์ภาคการผลิต จัดให้โรคบิด และลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย เป็นโรคที่สำคัญที่สุดสำหรับบริษัทผู้ผลิตไก่เนื้อในสหรัฐฯ ภายหลังความพยายามลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาในตลาดที่มีประสิทธิภาพดีเพียงพอ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่าเดิม เพื่อให้การผลิตไก่เนื้อปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไปได้ คุณภาพลูกไก่เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดลำดับที่สอง ทิ้งโจทย์วิจัยสำหรับการสุขศาสตร์ไข่ฟัก และการปรับปรุงคุณภาพตั้งแต่ในไข่ฟัก
               โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อเป็นโรคที่มีความสำคัญลำดับที่ ๓ อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อสหรัฐฯ ยังคงต้องการทางเลือกวัคซีนที่ดีขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหา โรคหลอดลมอักเสบติดต่ออยู่ในลำดับที่ ๔ เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถป้องกันโรคข้ามได้หลายๆซีโรไทป์น่าจะเป็นทางออก โรครีโอ และผิวหนังอักเสบจัดอยู่ในลำดับที่ ๕ ขณะที่ โรคไข้หวัดนกยังเป็นสิ่งคุกคามที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อสหรัฐฯ เปิดประตูงานวิจัยที่มุ่งป้องกัน และกำจัดโรค

ปัญหาที่ไม่ใช่โรคสำหรับสัตวแพทย์ด้านสัตว์ปีก
               สุดยอดปัญหาที่ไม่ใช่โรคสำหรับการผลิตไก่เนื้อในปีนี้คือ การจำกัดการใช้ยาปฏชีวนะที่มาจากลูกค้า และสื่อ ลำดับถัดมาหายใจรดคอกันเลยทีเดียว เพราะคะแนนใกล้กันมาคือ กฏระเบียบด้านความปลอดภัยอาหารโดย USDA ติดตามด้วย สวัสดิภาพสัตว์ ขณะที่ วัคซีน หล่นมาเป็นลำดับ ๕ เนื่องจาก การขาดแคลนวัคซีน และการใช้เวลานานไปหน่อยสำหรับการเปิดวัคซีนให่ในตลาด ส่วนคุณภาพเนื้อไก่หล่นกราวรูดไปที่ลำดับที่ ๘ เนื่องจาก การจัดการที่ดีขึ้น และพบอุบัติการณ์ด้านความปลอดภัยอาหารลดลง
               หากจัดลำดับตามความสำคัญแล้ว กฎระเบียบด้านความปลอดภัยอาหารต่อเชื้อซัลโมเนลลาน่าจะเป็นสิ่งท้าทายที่ไม่ใช่โรคที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการผลิตไก่เนื้อ และทิ้งโจทย์วิจัยไว้ โดยนาโนเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถจัดการเชื้อซัลโมเนลลาให้ดีขึ้นในการผลิต รวมถึง เทคโนโลยีใหม่สำหรับการจำแนกซีโรไทป์ สำหรับความปลอดภัยทางชีวภาพ อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อสหรัฐฯยังต้องการแสวงหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ในการให้ความรู้กับพนักงานในภาคการผลิต ประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ ควรถอยหลังไปที่การฟังข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มากกว่าการใช้ความรู้สึกว่า รู้สึกว่าน่าจะดี หรือดูดี
               นอกจากนั้น ควรมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ หรือการผลิตเพื่อเปิดโอกาสให้วัคซีนใหม่ที่ดีขึ้น รวมถึง การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หรือการจัดการ เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพเนื้อไก่ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าที่คุณภาพดี
เอกสารอ้างอิง
Conway A. 2018. Disease, antibiotics top list of 2018 broiler industry concerns. [Internet]. [Cited 2018 Oct 10]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/35814-disease-antibiotics-top-list-of-2018-broiler-industry-concerns


วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

มาตรฐาน “เบทเทอร์ ไลฟ์” ทางเลือกสำหรับสุขภาพที่ดี


ตัวอย่างของผู้เลี้ยงไก่เนื้อที่เปลี่ยนจากการผลิตตามปรกติเป็นมาตรฐานใหม่ เบทเทอร์ ไลฟ์หรือ “Beter Leven” ๑ ดาว โดยสร้างโรงเรือนใหม่หลังที่สามสำหรับเลี้ยงลูกไก่ ๗๕,๐๐๐ ตัวบนพื้นที่ ๘ พันตารางเมตร โรงเรือนใหม่มีการระบายอากาศจากเพดาน
               ผู้ประกอบการรายนี้มีการลงทุนอย่างมากในธุรกิจการเลี้ยงไก่เนื้อ เริ่มตั้งแต่แผงโซลาร์เซลล์ ๑,๘๕๐ ชุด กำลังการผลิต ๕ แสนกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ขณะนี้ได้ผลกำไรจากการประหยัดพลังงาน นอกจากนั้น เกษตรกรรายนี้ยังมีการเพาะปลูกพืชไร่อีกด้วย ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาภัยแล้งจำเป็นต้องมีการรดน้ำในพื้นที่ ๓๗๕ ไร่ โดยใช้ป๊มน้ำไฟฟ้า และน้ำจากบ่อบาดาลของตัวเอง ปั๊มน้ำมีประสิทธิภาพในการทำงาน ๖๕ ตารางเมตรต่อชั่วโมง ความดันลม ๑๖ บาร์ แต่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์บนโรงเรือนเลี้ยงไก่ เกษตรกรสามารถรดน้ำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในระหว่างวัน ช่วยประหยัดเงินค่าน้ำมันดีเซลให้เกษตรกร ๙ พันบาทต่อวัน

มาตรฐานใหม่ เบทเทอร์ ไลฟ์
               ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่แห้งแล้ง และอุณหภูมิสูงมาก เป็นสิ่งที่ผิดปรกติสำหรับประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่เกษตรกรรายนี้ไม่ต้องการกังวลกับความเป็นอยู่ที่ดีของไก่เนื้อในช่วงเวลาดังกล่าว จึงตัดสินใจผลิตไก่ตามมาตรฐานใหม่ เบทเทอร์ ไลฟ์ ๑ ดาว ที่เป็นโปรแกรมของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ในเนเธอร์แลนด์ เริ่มตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี ๒๕๕๙ และเปลี่ยนอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว ความหนาแน่นการเลี้ยง ๙.๕ ตัวต่อตารางเมตร และสูงที่สุด ๒๕ กิโลกรัมของเนื้อต่อตารางเมตรที่อายุจับ ทำให้ความหนาแน่นการเลี้ยงลดลงอย่างมาก ไก่ไม่ได้รับผลกระทบจากความร้อนเลย หลายปีก่อนหน้านั้น เกษตรกรรายนี้เลี้ยงไก่ตามระบบปรกติ ประสบปัญหากับสภาพอากาศเป็นประจำ บางครั้งไก่ตายทีเดียวหลายพันตัวเมื่อห้าปีที่แล้ว ก่อนที่จะหันมาเลี้ยงด้วยมาตรฐานใหม่นี้ ความวิตกกังวลก็คลี่คลายลงเมื่อเปลี่ยนเป็นลูกไก่สายพันธุ์โตช้า การเลี้ยงไก่ง่ายขึ้น และต้องคอยควบคุมไม่ให้ลูกไก่น้ำหนักเกินกว่า ๒.๕ กิโลกรัม
               เมื่อปรึกษากับโรงงานแปรรูปการณ์ผลิต เกษตรกรรายนี้เปลี่ยนไปใช้มาตรฐานเบทเทอร์ ไลฟ์ ผลตอบแทนมากขึ้น แต่ทำงานน้อยลง แนวความคิดการผลิตเนื้อสำหรับการตลาดใหม่กำลังเติบโต และความต้องการมากขึ้นในเวลานั้น ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อแห่งนี้ได้เปลี่ยนแผนการผลิตจาก ๖.๕ สัปดาห์เพิ่มเป็น ๙ สัปดาห์ จำนวนไก่ลดลงโดยทันที จากที่เคยเลี้ยงไก่ ๘๔,๐๐๐ ตัวต่อ ๔,๒๐๐ ตารางเมตร ตอนนี้มีไก่ ๗๕,๐๐๐ ตัวต่อ ๘,๐๐๐ ตารางเมตร    
               หลังจากเปลี่ยนไปใช้มาตรฐานเบทเทอร์ ไลฟ์ แล้วก็ต้องมีการปรับปรุงโรงเรือนหลายอย่าง ตั้งแต่การเตรียมช่องกระจกรับแสงสว่างบนหลังคา การก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีกใหม่ ๙๕ ´ ๒๘ เมตรเป็นระบบโรงเรือนเลี้ยงไก่แบบใหม่เรียกว่า “Sunbro poultry house” ตามแนวความคิดของฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อเพื่อนบ้าน แต่มีการดัดแปลงเล็กน้อยจนได้โรงเรือนเลี้ยงไก่ที่สวยงามแบบหนึ่ง
การลงทุนราว ๔ ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากระบบการระบายอากาศจากเพดานโรงเรือน ช่วยตัดปัญหาระบบการระบายอากาศแบบเดิม อากาศบริสุทธิ์ถูกดูดเข้าสู่โรงเรือนเลี้ยงไก่จากหน้าโรงเรือน อากาศที่ดูดเข้ามาถูกปรับโดยอัตโนมัติในท่ออากาศ และเติมความร้อนโดยระบบการแลกเปลี่ยนอากาศร้อนภายในโรงเรือน ในสัปดาห์แรกของการเลี้ยง ระบบนี้ช่วยลดการใช้พัดลมลงน้อยที่สุด อากาศร้อนที่เข้ามาในโรงเรือผ่านท่อที่แขวนไว้ระดับต่ำ ๒ ท่อ การระบายอากาศทางเพดานโรงเรือน ผู้เลี้ยงสามารถระบายอากาศที่มีความดันเท่าๆกัน แต่ได้รับอากาศปริมาณมากเข้ามา เพื่อลดอิทธิพลของอากาศแห้งผ่านลิ้นปล่อยอากาศออกไป ลูกไก่จะได้รับอากาศที่สบาย และเหมาะสมกับสุขภาพมากกว่า เหมาะสำหรับการเลี้ยงลูกไก่ที่มีความหนาแน่นต่ำลง  

เอกสารอ้างอิง

ภาพที่ ๑ โรงเรือนเลี้ยงไก่แบบใหม่สำหรับมาตรฐาน เบทเทอร์ ไลฟ์ ด้านหน้าโรงเรือนที่อากาศผ่านเข้าสู่โรงเรือนถูกทำเป็นกรอบด้วยไม้อย่างสวยงาม (แหล่งภาพ: Broiler farmers Tienus and Alie Berkepies)


วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สหรัฐฯไฟเขียวใช้หนอนแมลงวันเลี้ยงไก่ได้แล้ว


การใช้หนอนแมลงวันทหารดำแห้งในอาหารสัตว์ สหรัฐฯ ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหาร และยาสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว
               อาหารสัตว์ในสหรัฐฯ สามารถใช้หนอนแมลงวันทหารดำเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทโปรตีนที่มีความยั่งยืน เบื้องหลังมาจากผลการวิจัยโดยบริษัท เอ็นวิโรไฟลท์ ในไก่เนื้อ ดำเนินการวิจัยโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ คิมเบอร์ลี ลิฟวิงตัน มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรลีน และในไก่ไข่โดยศาสตราจารย์พอล แพตเตอร์สัน มหาวิทยาลัยรัฐเพนน์ นักวิจัยอ้างว่า  หนอนแมลงวันทหารดำ ทั้งป่น น้ำมัน และหนอนทั้งตัวให้คุณค่าทางอาหารที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับไก่ไข่โดยมีพลังงาน โปรตีน กรดอะมิโนที่จำเป็น กรดไขมัน และแร่ธาตุ อย่างอุดมสมบูรณ์ช่วยส่งเสริมน้ำหนักตัว จำนวนและคุณภาพของไข่ไก่
               โลกมีความจำเป็นต้องใช้แหล่งโปรตีนที่มีความยั่งยืน เพื่อให้ทันต่อจำนวนประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มสูงเกินกว่า ๙ พันล้านคนในปี ค.ศ.๒๐๕๐ นี้ เชื่อว่า โรงานแห่งหนึ่งจะสามารถผลิตหนอนแมลงวันทหารดำแห้งได้ถึง ๓,๒๐๐ ตันต่อปี ทั้งนี้คำตัดสินขององค์การอาหาร และยาสหรัฐฯ เกิดขึ้นไม่กี่วันภายหลังการเผยแพร่ผลการวิจัยแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของหนอนแมลงวันทหารดำ และแบคทีเรียสำหรับผลิตตัวหนอนแมลงวันเป็นอาหารสัตว์ และปุ๋ยบำรุงพืช ไม่เพียงสามารถลดมูลไก่ แต่ยังสามารถเพิ่มวัตถุดิบโปรตีนในอาหรสัตว์ได้ปริมาณมาก  
               คณะนักวิจัยจากทั้งสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และจีน พบว่า อัตราการแลกเปลี่ยนอาหาร และอัตราการผลิตมูลไก่ดีขึ้นจากผลการใช้หนอนแมลงวันทหารดำ และเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส สับทิลลิส

เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2018. US: Black soldier fly larvae for poultry gets green light. [Internet]. [Cited 2018 Sep 17]. Available from: https://www.poultryworld.net/Nutrition/Articles/2018/9/US-Black-soldier-fly-larvae-for-poultry-gets-green-light-334581E/




วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ไก่งวงโตช้าสยายปีกทั่วยุโรป

ความต้องการผู้บริโภคต่อระบบการผลิตไก่งวงโตช้า ทำให้บริษัทผู้ผลิตไก่ชั้นนำของโลกเตรียมพร้อมผลิตภัณฑ์ใหม่
               ความสนใจต่อระบบการผลิตทางเลือกใหม่ในยุโรป เช่น การเข้าถึงระเบียบด้านข้างโรงเรือน และพื้นที่นอกชายคา การจัดการสิ่งแวดล้อมให้ไก่จิกคุ้ยเขี่ยเล่นตามธรรมชาติ การลดความหนาแน่นการเลี้ยง และการเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการ ทำให้บริษัทผู้ผลิตไก่ชั้นนำของโลกเตรียมพร้อมผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค 
               ผู้บริโภคต้องการเห็นพันธุ์ไก่ที่มีความแตกต่างจากเดิม ทั้งสภาพขน โครงสร้างร่างกาย และการเจริญเติบโตที่ช้าลง และที่สำคัญที่สุดคือ การเจริญเติบโตที่ช้าลง บริษัท อะเวียเจน เตรียมผลิตภัณฑ์พันธุ์ไก่ใหม่อีก ๓ สายพันธุ์ ได้แก่ Cheshire Bronze, Ayrshire Auburn และ Wycombe White ชื่อของสายพันธุ์สะท้อนถึงสายพันธุ์ในประวัติศาสตร์ของบริษัทตั้งแต่ B.U.T. และ Nicholas Select breeding

การรับรองสวัสดิภาพสัตว์ระบบมาตรฐาน Dutch Beter Leven
               อะเวียเจนอ้างว่า พันธุ์ไก่เหล่านี้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านอัตราการเจริญเติบโต และสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อการรับรองสวัสดิภาพสัตว์ตามมาตรฐาน Dutch Beter Leven
               ความจริงแล้ว ไก่งวงของอะเวียเจน ได้ออกผลิตภัณฑ์ไก่งวงสีขาว ๘ สายพันธุ์ และสีสัน ๗ สายพันธุ์ สำหรับการผลิตภัณฑ์ในฤดูกาลต่างๆเป็นทางเลือกใหม่อยู่แล้ว ไม่ใช่ครั้งแรกที่ อะเวียเจนจะเริ่มผลิตสายพันธุ์ไก่งวงโตช้า เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา บริษัทยังพัฒนาผลิตภัณฑ์สายพันธุ์ไก่ Rowan Range สำหรับตลาดเนื้อไก่งวง niche market ที่ยอมรับการใช้พันธุ์ไก่ภายใต้ข้อกำหนดตามระเบียบด้านสวัสดิภาพสัตว์ของยุโรป รวมถึง RSPCA
 เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2018. Slower growing turkey breeds showing expansion across Europe. [Internet]. [Cited 2018 Sep 24]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2018/9/Slower-growing-turkey-breeds-showing-expansion-across-Europe-337788E/

ภาพที่ ๑ อะเวียเจนเริ่มผลิตสายพันธุ์ไก่งวงโตช้ามาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นสายพันธุ์ไก่ Rowan Range สำหรับตลาดเนื้อไก่งวง (แหล่งภาพ: Hans Prinsen)


วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เทคโนโลยีวีอาร์ ๓๖๐ องศาชวนเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงไก่


สัญญาณการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีวีอาร์ หรือโลกเสมือนจริงเริ่มต้นขึ้นแล้ว และจะทำให้เห็นประสบการณ์เสมือนจริงต่อทั้งผู้บริโภค และผู้เลี้ยงสัตว์ปีก
               สภาไก่แห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอ็นซีซี ประกาศความสำเร็จเมื่อเดือนที่แล้วว่า ได้พัฒนาระบบวีดีโอเสมือนจริง ๓๖๐ องศาที่สามารถแสดงให้เห็นถึงชีวิตของไก่ในระยะต่างๆ ในระบบการผลิตเชิงพาณิชย์สมัยใหม่

ผู้บริโภคสามารถมองเห็นได้ว่าไก่เนื้อเลี้ยงมาอย่างไร
               ประสบการณ์ใหม่ตามแผนเชกอินฟาร์มเลี้ยงไก่ (Chicken Check In program) โดยสภาไก่แห่งชาติ จะเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่เนื้อ ภาพเหตุการณ์เสมือนจริงของช่วงชีวิตไก่ในระยะต่างๆสามารถดูได้โดยใช้โทรศัพท์มือถือ แทบเบล็ต หรือโน๊ตบุ๊ค และฟังเสียงด้วยหูฟังสวมศีรษะ ผู้ชมสามารถมองภาพเหตุการณ์ และปรับมุมมองได้เป็นสองมิติ และยังสามารถหมุนขึ้น ลง เดินไปข้างหน้า ถอยหลัง ขยับไปด้านข้าง ได้อีกด้วย ดังนั้น ตอนนี้ผู้บริโภคสามารถสัมผัสประสบการณ์จริงด้วยวีดีโอมุมมองรอบตัว ๓๖๐ องศาตั้งแต่ในโรงฟัก ฟาร์มไก่เนื้อ และโรงเชือด

สัมผัสประสบการณ์โลกเสมือนจริง
               สภาไก่แห่งชาติสหรัฐฯ เชื่อว่า ผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตไก่ โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเข้าไปเยี่ยมชมฟาร์มไก่จริง ดังนั้น เรากำลังนำฟาร์มไปให้ผู้บริโภคได้เยี่ยมชมถึงบ้าน ด้วยทัวร์เสมือนจริงนี้ ผู้บริโภคจะสามารถเห็นไก่ตั้งแต่ฟักเป็นตัว เลี้ยงจนโต แล้วเข้าสู่โรงเชือดในสหรัฐฯ เพื่อจะได้สัมผัสกับประสบการณ์โลกเสมือนจริงของฟาร์มเลี้ยงไก่      
               ตอนนี้ มหาวิทยาลัยไอโอวา ศาสตราจารย์ Austin Stewart กำลังพัฒนาเครื่องถ่ายภาพวีดีโอติดตั้งบนหัวของไก่ เพื่อให้ผู้ชมสามารถมีความสุขเสมือนกับชีวิตของไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และพฤติกรรมของไก่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และคุ้มครองการเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ไก่เหล่านี้มีอิสระที่จะเดินเตร็ดเตร่ สร้างสังคม และกินอาหารเสมือนจริง นอกจากนั้น เทคโนโลยีวีอาร์นี้ยังจะนำไปใช้ประโยชน์ในการฝึกอบรมให้กับคนงานในห้องผลิต คนงานในฟาร์มในการเดินตรวจไก่ไม่ให้ไก่ตื่นตกใจ     
               ผู้พัฒนาเทคโนโลยีวีอาร์นี้ยังจะเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ระบบนี้ช่วยในการมองลึกลงไปในสิ่งที่ตาเปล่าไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยนักวิจัยจากจอร์เจียเทคฯ ได้ออกแบบระบบ ๒ แบบ เพื่อให้แสดงภาพระบบการตรวจสอบคุณภาพไก่บนไลน์การผลิตอัตโนมัติ และสอนให้คนงานรู้จักการตัดแต่ง หรือปลดซากไก่ที่มีคุณภาพไม่ดีทิ้ง เชื่อว่า เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเนื้อไก่ และเข้าใจตลอดกระบวนการผลิตอาหารที่ตนบริโภคเข้าไปได้

เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2018. Virtual reality beginning to take off in the poultry house. [Internet]. [Cited 2018 Aug 15]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2018/8/Virtual-reality-beginning-to-take-off-in-the-poultry-house-321943E/

ภาพที่ ๑ วีดีโอเสมือนจริงชีวิตของไก่สามารถชมได้ทั้งด้วยโทรศัพท์มือถือ แทบเบล็ต หรือโน๊ตบุ๊ค (ที่มาของภาพ https://www.chickencheck.in/)


วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

มาเลย์เผยหวัดนก ๓ ทศวรรษ ๑๓ สับไทป์

เรื่องเล่าทางวิชาการของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงสับไทป์เอช ๕ เอ็น ๑ ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรา ไม่ใช่ปัญญาประดิษฐ์ ระบาดมากกว่า ๓ ทศวรรษแล้ว แบ่งเป็น ๔ รอบปี ๒๕๔๘ ๒๕๕๐ ๒๕๕๑ และล่าสุด ๒๕๖๐
               การระบาดครั้งแรกเกิดขึ้นในรัฐกลันตัน และเปรัคในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ในเวลานั้นเชื้อไวรัสก็แยกเป็น ๓ เคลส์แล้วเป็น ๑ ๒.๓ และ ๒.๓.๔ การวิเคราะห์ระดับโมเลกุลของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่ยีน HA พบว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์เอช ๕ เอ็น ๑ มีลักษณะเหมือนกัน และจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ Vietnam/Thailand/Malaysia (VTM) sublineage ที่แยกได้จากสัตว์ปีกอพยพ และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกในประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา และฮ่องกงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ถึง ๒๕๔๘ ความแตกต่างทางพันธุกรรมของเคลดเหล่านี้กับเคลดที่ ๒.๑ จากอินโดนีเซีย บ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสยังคงอยู่ในสัตว์ปีกมากกว่าจะมีการนำเชื้อไวรัสใหม่มาจากภายนอก ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ ตรวจพบในกัวลาลัมเปอร์ รัฐเปรัค และปีนัง การระบาดครั้งนั้นพบว่า มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายกับเชื้อไวรัสที่เคยมีการระบาดก่อนหน้านี้สายพันธุ์ Fujian-like sub-lineage เคลด ๒.๓.๔ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔๘ เชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ ยังถูกตรวจพบในรัฐเซลังงอ กลันตัน และกัวลาลัมเปอร์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ และเฉพาะในรัฐกลันตันในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ถึง ๒๕๖๐ มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงต่ำ ได้แก่ เอช ๔ เอ็น ๓ เอช ๔ เอ็น ๖ เอช ๓ เอ็น ๖ เอช ๕ เอ็น ๖ เอช ๒ เอ็น ๙ เอช ๔ เอ็น ๑ เอช ๗ เอ็น ๑ เอช ๒ เอ็น ๙ เอช ๓ เอ็น ๘ เอช ๙ เอ็น ๒ เอช ๑๐ เอ็น ๕ เอช ๕ เอ็น ๒ การระบาดของโรคไข้หวัดนกในมาเลเซีย บ่งชี้ว่า การทำลายไก่ป่วยมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อในสัตว์ปีก ลดปริมาณเชื้อไวรัสในสิ่งแวดล้อม และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรรัสจากสัตว์ปีกสู่มนุษย์
เอกสารอ้างอิง

Adibah et al. 2018. Avian influenza outbreaks in Malaysia, 1980-2017. Asia Pacific and Environ Jol. 2017: 3(2), 1-14; http://www.apeohjournal.org/index.php/v/article/download/46/58.
ภาพที่ ๑ การระบาดของโรคไข้หวัดนกในมาเลเซีย บ่งชี้ว่า การทำลายไก่ป่วยมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อในสัตว์ปีก ลดปริมาณเชื้อไวรัสในสิ่งแวดล้อม และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรรัสจากสัตว์ปีกสู่มนุษย์

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ภัยแล้งยุโรป เกษตรกรร้องขึ้นราคาสินค้า

ต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงอย่างรุนแรงจากภัยแรงส่งผลทั่วไปทั้งทวีปยุโรปจนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในเยอรมันเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตขึ้นราคาสินค้า
               ข้าวสาลีในเยอรมันคาดว่าจะราคาเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว ๒๕ เปอร์เซ็นต์ กดดันให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกในเยอรมันตกที่นั่งลำบาก ต้นทุนของข้าวสาลีถือเป็นองค์ประกอบหลักของอาหารไก่ และไก่งวง ถึงเวลานี้สูงกว่าปีที่แล้วไปแล้ว ๒๕ เปอร์เซ็นต์ และเป็นแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง   
               ดังนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ในเยอรมันจึงเรียกร้องให้ห้างร้านค้าปลีกขึ้นราคาสินค้าได้แล้ว และผู้บริโภคควรต้องจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับซื้อเนื้อสัตว์ปีก เยอรมันมีซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ที่พยายามจำหน่ายสินค้าราคาถูกที่สุดเพื่อรักษายอดขายในตลาดค้าปลีก  
               ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ยังรายงานต่อไปว่า นักวิเคราะห์ราคาวัตถุดิบเห็นว่าการเก็บเกี่ยววัตถุดิบทั่วยุโรปเหนือมีผลผลิตต่ำมาก สถานการณ์เวลานี้เสมือนหายนะสำหรับภาคการเกษตรในยุโรปเหนือ ยอดการผลิตที่ได้ต่ำที่สุดในรอบ ๖ ปีเลยทีเดียว ยิ่งในสวีเดน และฝรั่งเศส นักวิเคราะห์อ้างว่ามียอดการผลิตต่ำกว่าปีที่แล้ว ๒.๖ ล้านตัน ขณะที่สวีเดนตกลงกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ การพยากรณ์ในสหราชอาณาจักร ราคาต่ำที่สุดในรอบ ๕ ปี   
เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2018. German egg producers: prices must rise because of drought. [Internet]. [Cited 2018 Aug 6]. Available from: https://www.poultryworld.net/Eggs/Articles/2018/8/German-egg-producers-prices-must-rise-because-of-drought-318026E/


ภาพที่ ๑ นักวิเคราะห์เยอรมันอ้างว่า การขึ้นราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกในเยอรมันตกที่นั่งลำบาก (แหล่งภาพ Photo: Jan Willem Schouten)

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

นักวิจัยยืนยันไข่เป็นอาหารที่ดีต่อทารก

บทความวิชาการใหม่ฉายไฟให้กับไข่เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ เหมาะสำหรับการเจริญวัยของเด็กทารก
               รายงานวิจัยด้านโภชนาการ พบว่า ไข่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก และยังมีแคลอรีน้อยอีกด้วย เด็กทารกในเอกวาดอร์ ๔๗ เปอร์เซ็นต์ประสบปัญหาแคระแกรน และ ๗๔ เปอร์เซ็นต์มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ นักวิจัยจึงเพิ่มไข่ให้วันละ ๑ ฟอง แม้ว่า ไข่จะให้พลังงานเพียง ๗๐ แคลอรี แต่คุณภาพโปรตีนสูงมาก นั่นหมายความว่า ไข่ให้กรดอะมิโนที่จำเป็นทุกชนิดที่เหมาะสำหรับเสริมสร้างการเจริญเติบโต และพัฒนาการของร่างกายมนุษย์ ไข่เป็นเมนูอาหารที่เตรียมได้ง่าย ใช้เวลาน้อย และยังเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการทั้งในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ สำหรับวัยดเก โภชนาการจำเป็นต้องมีความอุดมสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้ แต่ต้องระวังไม่ให้ได้รับพลังงานมากเกินจากทั้งไขมัน และน้ำตาล โดยเฉพาะ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนตามมา อาหารเมนูไข่อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินบี วิตามินดี และเกลือแร่ จึงเป็นทางเลือกที่มหัศจรรย์สำหรับเด็ก ทั้งยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง เช่น การเก็บรักษา และประกอบอาหารได้ง่าย สารอาหารที่อุดมสมบูรณ์อยู่ในไข่ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ และพัฒนาการของเด็ก ได้แก่
๑.     วิตามินบี สำหรับการปลดปล่อยพลังงาน
๒.    วิตามินดี สำหรับสุขภาพกระดูก และภูมิคุ้มกันที่ดี
๓.     โคลีน สิ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาการ และการทำงานของสมอง
๔.    ไอโอดีน สำหรับการพัฒนาสมอง   
ไข่จึงเป็นแหล่งโปรตีนชนิดแรกที่ดีที่สุด ในอดีต พ่อแม่มักไม่แน่ใจในการนำไข่ใส่ลงในอาหารของเด็ก ยิ่งช่วงหย่านมจะเป็นเวลาที่น่าสับสนจากคำแนะนำมากมายจากสมาชิกในครอบครัว และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ แต่ไข่มักถูกลืมไป ไข่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนชนิดแรกที่ดีที่สุดหากจะให้กับเด็กทารกเมื่ออายุ ๖ เดือน นอกเหนือจากอุดมไปด้วยสารโภชนะแล้ว ไข่ยังย่อยง่าย และประกอบอาหารได้ง่ายอีกด้วย นอกจากนั้น ยังช่วยให้เด็กทารกไม่เกิดภาวะภูมิแพ้อาหารบางชนิด เชื่อว่า เป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันเริ่มปรับตัวคุ้นเคยกับโปรตีนที่หลากหลายมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง

Davies J. 2018. Gut health problems a constant feature of modern poultry. [Internet]. [Cited 2018 Jul 23]. Available from: https://www.poultryworld.net/Eggs/Articles/2018/7/Eggs-confirmed-as-crucial-tool-for-infant-development-312320E/
ภาพที่ ๑ ไข่เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ เหมาะสำหรับการเจริญวัยของเด็กทารก (แหล่งภาพ Photo: Shutterstock)

ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...