วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562

วัคซีนจากพืชป้องกันโรคนิวคาสเซิล


การพัฒนานวัตกรรมวัคซีนจากพืช เพื่อป้องกันโรคนิวคาสเซิลใกล้ความเป็นจริงจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยในสหราชอาณาจักร
               โครงการวิจัยกรอบเวลาสี่ปีจากการจับมือกันระหว่างวิทยาลัยสัตวแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม และสถาบันวิจัย Rothamsted เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิลโดยใช้พืช
               โรคนิวคาสเซิลเป็นโรคระบาดร้ายแรงในสัตว์ปีกเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ สายลบ กลุ่มพารามิกโซไวรัสชนิดที่ ๑ อัตราการตายสูง และเป็นโรคระบาดที่ต้องรายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์โลก หรือโอไออี การระบาดของโรคยังเกิดขึ้นได้เป็นประจำ แม้ว่าจะมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย ส่งผลกระทบต่อการผลิตสัตว์ปีกทั่วโลก การป้องกันโรคจึงยังเป็นสิ่งท้าทายผู้ผลิต เนื่องจาก โรคนี้มีนกตามธรรมชาติเป็นพาหะนำโรค และสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสให้กลายพันธุ์ และหลบหลีกการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของสัตว์ภายหลังการให้วัคซีน
               นักวิจัยอ้างว่า การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้วัคซีนมีประสิทธิภาพดีขึ้น วัคซีนในอุดมคติควารช่วยป้องกันโรคได้กว้างขวางหลายสายพันธุ์ หรือเลือกใช้แอนติเจนที่ตรงกับสายพันธุ์ที่เกิดการระบาดให้ได้รวดเร็วที่สุด ต้นทุนต่ำ และให้กับสัตว์ได้ง่ายๆในอาหาร หรือน้ำ วัคซีนจากพืชน่าจะตอบโจทย์ได้ครบที่สุดแล้ว โครงการวิจัยนี้นำโดย Associate professor Stephen Dunham ที่มหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม และ Dr. Kostya Kanyuba จากสถาบันวิจัย Rothamsted
Ø  การพัฒนาโครงสร้างของเวกเตอร์สำหรับผลิตโปรตีนของเชื้อไวรัส เริ่มจากการเลือกสรรสายนิวคลีโอไทด์ และโปรตีนที่พื้นผิวไวรัสนิวคาสเซิล สำหรับให้พืชผลิต แล้วโคลนเข้าสู่เวกเตอร์ผลิตโปรตีนจากพืช
Ø  ปรับการทำงานให้เวกเตอร์จากพืชผลิตโปรตีนในใบยาสูบ (Nicotiana benthamiana) ภายหลังการใช้เทคนิค agroinfiltration ด้วยเชื้อแบคทีเรีย Agrobacterium tumefaciens แล้วนำโปรตีนที่ได้นำมาเตรียมให้บริสุทธิ์ และตรวจสอบคุณลักษณะก่อนการวิเคราะห์แอนติเจน แล้วนำมาให้กับไก่ต่อไป
Ø การตรวจสอบคุณลักษณะทางแอนติเจนของโปรตีนรีคอมบิแนนท์ อาศัยเทคนิคอีไลซา เพื่อทดสอบการจับกับแอนติบอดีโดยใช้ชุดของซีรัมจากไก่ที่ติดเชื้อ หรือให้วัตซีน
Ø การทดลองกระตุ้นภูมิคุ้มกันไก่ด้วยโปรตีนรีคอมบิแนนท์ ปฏิกิริยาของแอนติบอดีจากซีรัมกับชุดของเชื้อไวรัสอาศัยเทคนิคฮีแมกกลูติเนชัน อินฮิบิชัน หรือเอชไอ และการทดสอบนิวทรัลไลเซชัน หรือวีเอ็น เพื่อยืนยันความสามารถในการป้องกันโรค ก่อนการพัฒนาเป็นวัคซีนสัตว์ปีกต่อไป

เอกสารอ้างอิง

ภาพที่ ๑ หยิบภาพมาจากเวบไซต์หนึ่งที่อ้างว่า มาเลเซียกำลังพัฒนาวัคซีนจากพืช เมื่อเร็วๆนี้เช่นกัน (แหล่งภาพ https://today.mims.com/malaysia-to-attempt-creating-plant-based-vaccines-to-address-the--halal-vaccine--problem



วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562

สุดยอดประเทศผู้นำเข้าเนื้อไก่


ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ทั่วโลกนำเข้าเนื้อไก่สด แช่เย็น หรือแช่แข็ง คิดเป็นเงินไทยก็เกือบเจ็ดแสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเนื้อไก่แช่แข็งร้อยละ ๗๓ เกือบห้าแสนล้านบาท ขณะที่ เนื้อไก่สด หรือแช่เย็นพอๆกันร้อยละ ๒๗ ราวสองแสนล้านบาท

              หากพิจารณาตามทวีป เอเชียเป็นทวีปที่มีการนำเข้าเนื้อไก่แช่แข็งมากที่สุดร้อยละ ๕๖ แต่เนื้อไก่สด หรือแช่เย็นแค่ร้อยละ ๔ เท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ประเทศผู้นำเข้าในยุโรปซื้อเนื้อไก่สด หรือแช่เย็นร้อยละ ๘๔ แต่เนื้อไก่แช่แข็งร้อยละ ๒๒ เท่านั้น ทวีปอเมริกาเหนือ ผู้ซื้อบริโภคเนื้อไก่แช่แข็ง หรือแช่เย็น ร้อยละ ๑๑ และเนื้อไก่แช่เย็นร้อยละ ๔ ขณะที่ ประเทศผู้นำเข้าจากทวีปแอฟริกา ซื้อไก่แช่แช็งร้อยละ ๑๑ และแช่แข็ง หรือแช่เย็น ร้อยละ ๑ เท่านั้น

              สิบสุดยอดประเทศผู้นำเข้า เนื้อไก่สดหรือแช่เย็น โดยให้ราคาซื้อสูงที่สุดในช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๑ โดยรวมทั้งยอดนำเข้าไก่ตัว หรือชิ้นส่วน

ลำดับ
ประเทศ
มูลค่า (ล้านบาท)
ร้อยละ
เยอรมัน
๒๗,๖๖๐
๑๕
สหราชอาณาจักร
๒๕,๘๘๔
๑๔
ฝรั่งเศส
๒๑,๓๘๑
๑๒
เนเธอร์แลนด์
๑๘,๓๔๙
๑๐
เม็กซิโก
๑๑,๖๗๑
เบลเยียม
๘,๔๘๕
คานาดา
๖,๓๗๑
ไอร์แลนด์
๖,๒๕๐
รัสเซีย
๕,๒๖๙
๑๐
ฮ่องกง
๕,๒๐๗

    

              มูลค่าการนำเข้าไก่สดลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ ๕.๖ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ในเวลานั้น เนื้อไก่สดมีมูลค่าเกือบสองแสนล้านบาท ในรายชื่อดังกล่าวนี้ ประเทศผู้นำเข้าเนื้อไก่สด หรือแช่เย็นที่เติบโตเร็วที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ได้แก่ โปแลนด์ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ร้อยละ ๔๔๖ สโลวาเกีย ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์ และประเทศที่มีการซื้อลดลง ได้แก่ คานาดา เม็กซิโก สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์

              สิบสุดยอดประเทศผู้นำเข้า เนื้อไก่แช่แข็ง ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๑

ลำดับ
ประเทศ
มูลค่า (ล้านบาท)
ร้อยละ
ญี่ปุ่น
๓๖,๔๕๒
ฮ่องกง
๓๓,๓๘๘
ซาอุดิอาระเบีย
๓๑,๒๔๕
เวียดนาม
๒๐,๗๐๗
สหราชอาณาจักร
๑๙,๘๑๘
อาหรับเอมิเรตส์
๑๘,๑๖๕
อิรัก
๑๗,๐๖๒
แอฟริกาใต้
๑๓,๙๐๗
เนเธอร์แลนด์
๑๒,๘๐๔
๑๐
เยอรมัน
๑๒,๓๗๕



              มูลค่าการนำเข้าเนื้อไก่แช่แข็งลดลงเฉลี่ยร้อยละ ๕.๔ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ขณะนั้น เนื้อไก่แช่แข็งมีมูลค่าราวห้าแสนล้านบาท ประเทศผู้นำเข้าเนื้อไก่สด หรือแช่เย็นที่เติบโตเร็วที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ได้แก่ เวียดนาม เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ร้อยละ ๕๖๕ อิรัก ฟิลิปปินส์ และจีน และประเทศที่มีการซื้อลดลง ได้แก่ แองโกลา ซาอุดิอาระเบีย ฮ่องกง และอาหรับเอมิเรตส์



เอกสารอ้างอิง

Workman D. 2019. Top Fresh or Frozen Chicken Imports by Country. [Internet]. [Cited 2019 Apr 1]. Available from: http://www.worldstopexports.com/top-fresh-or-frozen-chicken-imports-by-country/



ภาพที่ ๑ สุดยอดประเทศผู้นำเข้าเนื้อไก่ (แหล่งภาพ https://pixabay.com/illustrations/atlas-earth-flags-flag-global-62742/

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ปฏิวัติสู่ยุคหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ปีก


โลกสมัยใหม่ หรือแม้แต่ในเมืองไทย การแสวงหาแรงงานท้องถิ่นที่อยากจะทำงานหนักในภาคเกษตรกรรมอย่างฟาร์มเลี้ยงไก่ช่างยากเย็นเหลือเกิน กลุ่มนักวิชาการด้านแรงงานอาจเถียงว่า ทางออกที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการก็ควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานในฟาร์มให้ดีขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการมีทางเลือกใหม่ในการใช้หุ่นยนต์เข้าแทนที่แรงงาน

              หุ่นยนต์ (Robotics) สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการหมดกังวลเรื่องปัญหาแรงงาน และเพิกเฉยต่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานได้ เพราะโรงเรือนเลี้ยงไก่ไม่ได้ตั้งใจสร้างขึ้นให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของไก่เป็นเป้าหมายหลัก อุปกรณ์อัตโนมัติที่ช่วยตรวจตราพฤติกรรมไก่ แล้วบันทึกข้อมูลเข้าถึงในระดับตัวไก่ได้มากขึ้นตลอดเวลา กำลังกลายเป็นเรื่องปรกติในฟาร์มเลี้ยงไก่ ตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ โรโบชิก (RoboChick) เป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย และอุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักร โครงการนี้กำลังอยู่ในขั้นทดลองในฟาร์มเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนากระบวนการเดินตรวจตราพฤติกรรมไก่ให้สอดคล้องกับราชวิทยาลัยสัตวแพทย์ (Royal Veterinary College, RVC) สำหรับโครงการวิจัยนี้จุดประกายมาจากวิธีการตรวจตราพฤติกรรมไก่ตามปรกติไม่สามารถมองเห็นไก่เป็นรายตัวได้ นอกจากนั้น ฟาร์มสมัยใหม่เพิ่งเริ่มใช้ระบบเซนเซอร์เล็กๆเพื่อตรวจตราไก่ หากเป็นยี่สิบปีที่แล้วก็นับได้ว่าทันสมัยมากแล้ว แต่วันนี้ ฟาร์มเลี้ยงไก่มีจำนวนไก่มากกว่าเดิมเยอะ การใช้เซนเซอร์คอยวัดอุณหภูมิสัก ๓ หรือ ๔ ตำแหน่งเป็นอย่างมาก อาจมีเพิ่มวัดความชื้นขึ้นได้อีกสัก ๒ ตำแหน่ง แต่ก็ยังไม่อาจวัดได้ถึงระดับตัวไก่ ความรู้สึกจริงๆที่ไก่รู้สึกได้



เริ่มจากทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ

                  แล้วทฤษฎีก็นำไปสู่การปฏิบัติจากโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบได้ที่ระดับตัวไก่จริง แถมตรวจสอบตลอดเวลาไม่มีการพักผ่อน และไม่ต้องรบกวนให้ไก่ต้องตื่นตกใจกลายเป็นความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต โครงการวิจัยนี้เริ่มจากความร่วมมือหลายภาคส่วนทั้งราชวิทยาลัยสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์เปอร์ อดัมส์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ และผู้ผลิตหุ่นยนต์จากบริษัท รอส โรโบติก (Ross Robotics) จนได้ผลการวิจัยได้เป็นนวัตกรรมใหม่ โรโบชิก ภายหลังการทดลองในฟาร์มขนาดเล็กเป็นการออกแบบอุปกรณ์พื้นฐานที่สามารถตรวจติดตามพฤติกรรมไก่ และสิ่งแวดล้อมโดยไม่ส่งผลรบกวนความเป็นอยู่ตามปรกติ  

              การทดสอบแรกเริ่มจากฟาร์มเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์โดยใช้เครื่องมือง่ายๆที่ใช้เป็นแผ่นการ์ดบอร์ดจะได้ปรับแต่งได้ง่าย สิ่งแรกที่ได้คือ ไก่แสดงอาการตื่นตกใจเมื่อเห็นหุ่นยนต์ผ่านไปมา แต่ผ่านเพียงหนึ่งวัน เมื่อหุ่นยนต์ทำงานตลอดเวลาภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่ ไก่ก็จะเริ่มคุ้นเคยเสมือนเป็นสมาชิกตัวหนึ่งในฝูง ไม่มีอาการตื่นตกใจอีกต่อไป ผู้วิวัยยังเพิ่มตัวอย่างซ้ำอีกเป็นการสร้างความมั่นใจ แล้วก็ได้สังเกตเห็นว่า ไก่แสดงอาการอยากรู้อยากเห็นสนใจหุ่นยนต์ แล้วยังชอบเหยียบย่ำปรากฏเป็นรอยเท้าบนหุ่ยนต์ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงต้องปรับการออกแบบเพิ่มเติมป้องกันไม่ให้ไก่กระโดดขึ้นลงเล่นบนหุ่นยนต์ แถมบางตัวยังชอบไปนั่งคร่อมอีกด้วย



การทดลองในฟาร์ม

              หลังจากผ่านรุ่นแรกของการเลี้ยงภายในฟาร์มทดลองของมหาวิทยาลัยแล้ว นักวิจัยก็เริ่มสนใจทดลองในฟาร์มเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์จริงๆบ้าง บริษัทฟาร์ม Applied Poultry อาสาให้ทดลองในฟาร์มตนเอง ๒ โรงเรือน โรงเรือนหนึ่งทดลองใช้หุ่นยนต์รุ่นล่าสุด จากโรโบชิกเปรียบเทียบกับอีกโรงเรือนเป็นกลุ่มควบคุม ตลอดการเลี้ยง โรโบชิก เดินสำรวจทั่วโรงเรือนวันละ ๒ รอบ เป็นเส้นทางวนไปวนมาเดินไปบนวัสดุรองพื้นใช้เวลา ๒ ชั่วโมงต่อรอบ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่า เมื่อสิ้นสุดการเลี้ยง ในโรงเรือนที่ใช้หุ่นยนต์ ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารดีขึ้นร้อยละ ๒.๙ และคัดไก่น้อยลงร้อยละ ๑๘.๗ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม นักวิจัยเชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่หุ่นยนต์ไปกระตุ้นให้ไก่มีการเคลื่อนไหว การที่ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารดีขึ้นเกิดจากควมสม่ำเสมอของตัวไก่ที่ดีขึ้น หุ่นยนต์กำลังสลายภาวะผู้นำฝูงที่เกเรข่มเพื่อนไก่ตัวอื่นๆ เพื่อนๆไก่ส่วนใหญ่จึงสามารถเข้าหาอาหาร และน้ำดีขึ้น ก่อนหน้านี้ อาจเชื่อกันว่า การกระตุ้นให้ไก่มีกิจกรรม และเคลื่อนที่มากขึ้นจะไม่เป็นผลดีต่อการแลกเปลี่ยนอาหาร แต่การทดลองครั้งนี้ใช้หุ่นยนต์ไปคอยกระตุ้นให้ไก่ตัวน้อยเดินไปกินอาหาร และน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนั้น ยังสังเกตเห็นว่า ฝูงไก่มีพฤติกรรมก้าวร้าวลดลง เมื่อปราศจากหัวหน้าแก๊งค์อันธพาล เพื่อนไก่ปรับตัวให้คุ้นเคยกับหุ่นยนต์ ปัจจุบัน โรโบชิกกำลังมองหาฟาร์มที่จะร่วมทดลองต่อไป เพื่อปรับปรุงออกแบบให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคตก่อนที่จะเปิดตัวจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป

  

บริษัทหุ่นยนต์

๑.     หมึกยนต์ (Octupus Robotics) ผลิตขึ้นโดยโรงงานผลิตหุ่นยนต์สัญญาติฝรั่งเศส Octupus Scarifier เป็นเครื่องยนต์อัตโนมัติที่ออกแบบให้สามารถระบายของเสียออกจากวัสดุรองพื้น และตรวจสอบสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรือนได้ตั้งแต่อุณหภูมิ ความชื้น ระดับแอมโมเนีย และความเข้มแสง บริษัทผู้ผลิตอ้างว่า การพรวนวัสดุรองพื้น หรือแกลบ ซึ่งความจริงในแถบตะวันตกใช้เป็นขี้กบนั้น สามารถลดปัญหาโรคสำคัญ เช่น โรคแอสเปอร์จิลโลซิส ฝ่าเท้าอักเสบ ข้าเข่าอักเสบ และอกเป็นหนอง เป็นต้น หมึกยนต์สามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุม และวิ่งทำงานได้เป็น ๒๔/๗ หรือยี่สิบสี่ชั่วโมง ตลอด ๗ วัน ไม่มีวันหยุด ไม่เรียกร้องความยุติธรรม แต่ต้องมีหน่วยชาร์จพลังงานไว้ในโรงเรือนสักหน่อย แต่หมึกยนต์จะเดินไปได้เอง ไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุมอีกแล้ว

๒.    สปุตนิค (Spoutnic) เป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กลงมาหน่อย เล็กกว่าตัวอื่นๆที่มีวางขายในตลาด และออกแบบไว้เพื่อกระตุ้นให้ไก่ตื่นตัวตลอดเวลาในโรงเรือนเลี้ยงไก่พันธุ์ (เนื้อ) เพื่อกระตุ้นหรือสอนให้แม่ไก่ขึ้นรังไข่ บริษัทผู้ผลิตอ้างว่า ขนาดตัวที่เล็กกะทัดรัดทำให้เคลื่อนตัวได้ง่ายไปทั่วโรงเรือน และยังสามารถเคลื่อนไปได้บนวัสดุรองพื้นที่ขรุขระไม่ได้เรียบอะไรเหมือนพื้นบ้าน นอกจากนั้น ยังสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่างๆได้อัตโนมัติ น้ำหนักอยู่ที่ ๑๐ กิโลกรัม มีแบตเตอรีใช้ได้นาน ๘ ชั่วโมง ปรับตั้งความเร็วได้เป็น ๖ ระดับจากช้าไปเร็ว เลือกใช้งานได้ตามความฉลาดของแม่ไก่ ผลิตโดยโรงงานฝรั่งเศสอีกราย Tibot

๓.    หุ่นเด็กเลี้ยงไก่ (ChickenBoy) คู่แข่งสำคัญมาแล้วจากสเปนบ้าง บริษัทผู้ผลิต Faromatics SL หุ่นเด็กเลี้ยงไก่อาจแตกต่างจากระบบอัตโนมัติเล็กน้อย เพราะเพิ่งยกเลิกระบบเดิมที่แขวนไว้บนเพดานโรงเรือน แล้วตรวจติดตามพฤติกรรมไก่จากข้างบน โดยใช้กล้องถ่ายภาพ และเซนเซอร์ เพื่อวิเคราะห์ภาพปรากฏ เช่น ไก่ตาย หรือวัสดุรองพื้นเสื่อมคุณภาพ ระดับเสียง และสิ่งแวดล้อม โดยการวัดอุณหภูมิ ความเร็วลม หรือคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น       



เอกสารอ้างอิง

Davies J. 2019. Robotics revolution happening now. [Internet]. [Cited 2019 May 8]. Available from: https://www.poultryworld.net/Home/General/2019/5/Robotics-revolution-happening-now-425378E/
              


ภาพที่ ๑ นอกเหนือจากตรวจตราไก่ในฟาร์ม หุ่นยนต์ยังช่วยกระตุ้นให้ไก่เล็กแกรนลุกขึ้นไปกินน้ำกินอาหาร ช่วยให้ความสม่ำเสมอของไก่ในฝูงดีขึ้นได้อีกด้วย (แหล่งภาพ Poultry World)


วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เนื้อไก่โตช้ายึดครองตลาดดัทช์สำเร็จ


ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่หลายชนิดที่มีการจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซูเปอร์มาร์เก็ตในเนเธอร์แลนด์ที่จำหน่ายเนื้อไก่โตเร็วที่เลี้ยงในฟาร์มเชิงพาณิชย์ทั่วไปยากที่จะหาซื้อได้อีกต่อไปแล้ว

              องค์กรซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อว่า Central bureau of foddstuffs (CBL) เคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. ๒๐๑๓ ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่อีกหลากหลายชนิดจะเข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตในเนเธอร์แลนด์การหารือระหว่างผู้ประกอบการผลิตเนื้อไก่ โรงเชือด ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในช่วงเวลานั้นได้ประกาศ ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคไก่ของวันพรุ่งนี้บนชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตยุโรปจะต้องเกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ เป็นอย่างช้า แสดงให้เห็นถึง ความต้องการของผู้บริโภคในมุมมองด้านสวัสดิภาพสัตว์ โดยการใช้พันธุ์ไก่โตช้า พื้นที่การเลี้ยงไก่ในโรงเรือนมากขึ้น การกำหนดเวลากลางวัน และกลางคืนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ และการจัดอุปกรณ์ของเล่นไว้ในโรงเรือน ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และการเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกใช้ถั่วเหลืองในอาหารสัตว์ การปลดปล่อยแอมโมเนีย และฝุ่น และวงจรการบริหารสารเคมีแบบปิด

              เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ภายหลังการเปิดวิสัยทัศน์ไว้ ซูเปอร์มาร์เก็ตเกือบทุกหนทุกแห่ง ยกเลิกการจำหน่ายเนื้อไก่ที่เลี้ยงแบบโตเร็วอย่างที่เคยปฏิบัติมาเนิ่นนาน ผู้ประกอบการร้านซูเปอร์มาร์เก็ตปรับเปลี่ยนพร้อมกันหมด เปลี่ยนแนวความคิดการผลิตไก่ใหม่ โดยใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปอย่าง Good Nest Chicken, New Standard Chicken, Slow Growing Chicken, Chicken with Plume Guarantee, Gildehoen, Aunt Door และ Comfort Chicken เป็นต้น นอกเหนือจาก สินค้าพรีเมียมสำหรับตลาดพิเศษที่ยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงที่สูงขึ้นไปเป็นแบบ extensive indoor โดยใช้มาตรฐาน Better Life 1 star และไก่อินทรีย์โดยใช้มาตรฐาน (Better Life 3 stars)

              เมื่อต้นปี ค.ศ. ๒๐๑๕ องค์กรต่อต้านการผูกขาดตลาด ตัดสินว่าข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และผู้ผลิตเนื้อไก่ว่า ด้วยการผลิตไก่ของวันพรุ่งนี้ ขัดแย้งกับข้อห้ามเรื่องการผูกขาดทางธุรกิจ เนื่องจาก ผู้บริโภคยินดีจ่ายสำหรับการผลิตเนื้อไก่อย่างยั่งยืน แต่ไม่ยอมจ่ายสำหรับการพัฒนาปรับปรุงด้านสวัสดิภาพสัตว์ ตามแนวความคิดการผลิตไก่ของวันพรุ่งนี้ยึดถืออยู่ กลุ่มองค์กรคุ้มครองสิทธิของสัตว์ เวกเกอร์ ไดเออร์ (Wakker Dier หรือ Awaken Animals) ชื่นชมกับคำตัดสินใจดังกล่าว เนื่องจาก ตั้งแต่เริ่มต้นมาแล้ว องค์กรฯนี้ เห็นว่าแนวความคิดไก่ของวันพรุ่งนี้ยังเป็นแผนปฏิบัติที่ยังไม่ดีเพียงพอที่จะไปทดแทนการเลี้ยงไก่โตเร็ว หรือไก่พลอฟคิป ไก่ระเบิดที่เป็นวาทกรรมรณรงค์ต่อต้านการเลี้ยงไก่โตเร็วอย่างต่อเนื่องตลอดมา ตามแนวความคิดดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมด้านสวัสดิภาพสัตว์ จนกระทั่งปี ค.ศ. ๒๐๑๖ ผู้ประกอบการร้านซูเปอร์มาร์เก็ตก็เปลี่ยนไปยอมรับแนวความคิดขององค์กรฯ ดังกล่าวในที่สุด

              ซูเปอร์มาร์เก็ตเกือบทุกแห่งปรับเปลี่ยนสินค้าพื้นฐานที่จัดวางบนชั้นแสดงสินค้าในร้าน โดยเริ่มจากการจำหน่ายสินค้าตามแนวความคิดของไก่ของอนาคตแบบดั้งเดิม ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๑๔ ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ Albert Heijin ได้สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับทุกคน เพื่อนำสินค้าใหม่ New AH Chicken นับเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรายแรกที่เริ่มต้นก่อนรายใดๆ จนกระทั่ง ซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่นๆพยายามทำตามบ้าง เนื่องจาก ความต้องการสินค้าลักษณะดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น การเลี้ยงไก่ตามแนวความคิดไก่ของอนาคตแบบดั้งเดิมจะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุด ๕๐ กรัมต่อวัน ความหนาแน่นการเลี้ยง ๓๘ กิโลกรัมต่อตารางเมตร และกำหนดให้ใช้ก้อนฟางเป็นของเล่นไว้ในโรงเรือน

              ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๑๔ ผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตรายต่อมา Jumbo เริ่มใช้มาตรฐานใหม่ New Standard Chicken ที่สูงกว่ามาตรฐานพื้นฐานของแนวความคิดการเลี้ยงไก่ของอนาคต โดยอัตราการเจริญเติบโตต่อวันราว ๔๕ กรัม ขณะที่ ไก่เนื้อโตเร็วตามปรกติเป็น ๖๐ ถึง ๖๕ กรัม ความหนาแน่น ๓๐ กิโลกรัมต่อตารางเมตร ขณที่ไก่เนื้อโตเร็วตามปรกติเป็น ๔๒ กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยมาตรฐาน New Standard Chicken กำหนดให้ต้องมีแสงแดงส่องถึงได้ในโรงเรือน และโปรยเมล็ดธัญพืชให้ไก่จิกกินเล่นได้

              นับตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. ๒๐๑๖ เป็นต้นมา เนื้อไก่โตเร็วตามปรกติก็ไม่มีจำหน่ายในร้านซูเปอร์มาร์เก็ตสองรายใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์อีกต่อไป การบริโภคไก่ในประเทศเนเธอร์แลนด์เกือบครั้งหนึ่งไม่ใช่ไก่โตเร็วข้ามคืนอีกต่อไป 

            ไก่โตเร็ว หรือไก่พลอฟคิป ไก่ระเบิด หรือไก่พองลม หมายถึง การเลี้ยงไก่เนื้อโตเร็วตามปรกติที่นิยมเลี้ยงกันทั่วโลก ปลายปี ค.ศ. ๒๐๑๗ เป็นต้นมา ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาสให้ผู้บริโภคได้เลือกอีกแล้วว่าจะซื้อไก่เนื้อโตเร็ว หรือไก่เนื้อที่มุ่งเน้นสวัสดิภาพสัตว์ จะมีแต่สินค้าเนื้อไก่ที่ผ่านมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์เท่านั้นที่วางจำหน่ายบนชั้นวางสินค้า



สินค้าเนื้อไก่ที่มีคุณภาพดีขึ้น และใช้ยาปฏิชีวนะลดลง

              นอกเหนือจาก สวัสดิภาพสัตว์ที่ดี การเลี้ยงไก่เนื้อให้มีความสุข ปราศจากความทุกข์ทรมานทั้ง ๕ ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ ได้แก่ ปราศจากความหิว/กระหาย ปราศจากความทุกข์กาย ปราศจากความเจ็บปวดหรือเจ็บป่วย อิสรภาพในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และปราศจากความกลัว สัตว์จึงไม่ต้องประสบความทุกข์ทรมานตลอดการเลี้ยงในฟาร์ม ผู้ประกอบการยังได้ประโยชน์จากคุณภาพของเนื้อไก่เป็นผลพลอยได้ ปัญหาคุณภาพเนื้อไก่พบได้เสมอในการเลี้ยงไก่โตเร็วตามปรกติ แต่การเลี้ยงไก่โตช้า ปัญหาคุณภาพเนื้อไก่แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นเลย ปัญหาโลกแตกที่แก้ไม่ตกมาหลายปี พยายามค้นหาวิธีแก้ไขอย่างกล้ามเนื้ออกแข็งเหมือนไม้ กล้ามเนื้อลายเป็นทางสีขาว หรือกล้ามเนื้อยุ่ยเป็นเส้นสปาเก๊ตตี้ เห็นเส้นใยกล้ามเนื้อฉีกเป็นชิ้นๆก็จะค่อยๆคลี่คลายหายไป โดยไม่ต้องเสียเวลาวิจัยอีกต่อไป ยิ่งปัญหาสำคัญของยาปฏิชีวนะตกค้าง สร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อทั้งในมนุษย์ และสัตว์ ความต้องการของตลาดเนื้อไก่ที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ฟาร์มเลี้ยงไก่โตช้าอาจเป็นทางออกที่ช่วยใช้ยาปฏิชีวนะถูกใช้ลดลง หรือไม่ต้องใช้อีกต่อไปเลย 



เนื้อไก่โตเร็วหายไปจากชั้นวางสินค้า

              องค์กรด้านสวัสดิภาพสัตว์อย่างเวกเกอร์ ไดเออร์ กระตือรือร้นมากให้ยกเลิกการวางสินค้าเนื้อไก่โตเร็ว หรือไก่ระเบิด หรือไก่พองลมจากชั้นจำหน่ายสินค้าอาหารสดในซูเปอร์มาร์เก็ต ต่อไปเนื้อไก่แปรรูปก็จะต้องคล้อยตามกันไป โดย Jumbo และ Albert Heijn นำร่องไปก่อนแล้ว แต่ก็ยังมีร้านจำหน่ายสินค้ารายย่อย เช่น Emté และ Jan Linders ยังไม่ได้เลิกขายเนื้อไก่โตเร็ว แต่เชื่อว่าในไม่ช้าร้านค้าเหล่านี้ก็ต้องถูกกระแสกดดันให้ต้องปฏิบัติตามต่อไป ตอนนี้ก็ประสบความสำเร็จไปได้ครึ่งทางแล้วสำหรับการรณรงค์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ อย่างการทำร้ายสัตว์ การทารุณสัตว์ ลดลงไปมาก



การเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็ว

              การเปลี่ยนผ่านของสินค้าเนื้อไก่จากไก่โตเร็วกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆหลายชนิดในตลาดไก่โตช้า ส่งผลต่อขั้นตอนการผลิตตลอดห่วงโซ่ รวมถึง สายพันธุ์ไก่ สายพันธุ์ฮับบาร์ดมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุมเกือบทุกมาตรฐานการผลิตไก่โตช้า ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตสายพันธุ์อื่นๆรายใหญ่ เช่น รอส และคอบบ์ ก็กำลังมองตลาดไก่โตช้านี้อยู่อย่างใกล้ชิด

              จำนวนไก่โตช้าที่เข้าเชือดในประเทศเนเธอร์แลนด์ราว ๒.๗ ล้านตัวต่อสัปดาห์ ครอบคลุมร้อยละ ๙๐ ของยอดจำหน่ายไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต สำหรับตลาดเนื้อสด ซูเปอร์มาร์เก็ตในเนเธอร์แลนด์ยังต้องการไก่เนื้อราว ๓ ล้านตัวต่อสัปดาห์ แสดงว่า แนวโน้มปริมาณความต้องการเริ่มทรงตัว หลังจากเพิ่มเป็นกราฟเส้นตรงมาต่อเน่องสองปี คาดว่าร้อยละ ๒๐ ของไก่เนื้อโตช้าจำนวน ๒.๗ ล้านตัวใช้มาตรฐานที่สูงกว่า Better Life 1 ดาว ที่เหลืออีกร้อยละ ๘๐ เป็นมาตรฐานใหม่ที่แต่ละซูเปอร์มาร์เก็ตกำหนดไว้เอง

              องค์กรด้านสวัสดิภาพสัตว์เวกเกอร์ ไดเออร์คิดว่า เนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมดจะได้นมาตรฐานที่สูงกว่า Better Life 1 ดาวในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ หนึ่งในสามจากฟาร์มทั้งหมด ๕๐๐ แห่งทั่วประเทศในเนเธอร์แลนด์หันมาเลี้ยงไก่โตช้าแล้ว นับตั้งแต่การนำกระแสไก่ของวันพรุ่งนี้ (Kip van Morgen, Chicken of Tomorrow) เข้ามา ผู้บริโภคคาดหวัง และพร้อมที่จะจ่ายให้กับเนื้อไก่ที่ได้รับมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างน้อยก็สักดาวหนึ่งก็ยังดี



แรงขับดันจากความต้องการตลาด

              ปัจจุบัน การผลิต และความต้องการของตลาดสำหรับเนื้อไก่โตช้าสำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตในเนเธอร์แลนด์ สอดรับกันเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการผลิตไก่เนื้อบางรายก็ยังคงลังเลใจ เพราะราคาของเนื้อไก่โตช้าสูงกว่าปรกติมาก การปรับเปลี่ยนการเลี้ยงใหม่ก็เป็นเรื่องใหญ่มากตั้งต้นตั้งแต่ฟาร์มไก่พันธุ์ไปจนถึงไก่เนื้อ  



ตลาดไก่เนื้อโตช้าประเทศอื่นๆ

              ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นหนึ่งเดียวที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆใดในโลกที่มีการหมุนกลับตัวจากเนื้อไก่โตเร็วตามปรกติเป็นเนื้อไก่โตช้าบนชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ในประเทศอื่นๆก็กำลังปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน แต่คงยังไม่รวดเร็วเท่าเนเธอร์แลนด์ได้อีกแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์เกิดจากแรงกดดันขององค์กรไม่แสวงหารายได้อย่างเวกเกอร์ ไดเออร์ที่หันไปรณรงค์กับผู้ประกอบการค้าปลีก และโรงเชือด เชื่อได้ว่าไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างในอังกฤษ ความต้องการเนื้อไก่ดังกล่าวเริ่มต้นมา ๑๕ ปีแล้ว แต่ยอดจำหน่ายในตลาดยังคงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้น อัตราการเติบโตยังคงนิ่งมากในเวลานี้ เช่นเดียวกับในฝรั่งเศส ร้อยละ ๔๐ ของตลาดเป็นเนื้อไก่โตช้า ยิ่งในประเทศอื่นๆผู้บริโภคยังยากที่จะจ่ายให้กับเนื้อไก่โตช้า ตลาดเนื้อไก่โตช้าจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพสัตว์ 

   

เอกสารอ้างอิง
Swormink BK. 2017. Chicken of Tomorrow is here today. [Internet]. [Cited 2017 Mar 13]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2017/3/Chicken-of-Tomorrow-is-here-today-103092E/ 

ภาพที่ ๑ ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ Albert Heijin ได้สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับทุกคนโดยวางสินค้ามาตรฐานใหม่ โดยใช้เนื้อไก่โตช้าวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก (แหล่งภาพ https://www.esmmagazine.com/private-label/more-albert-heijn-branded-foods-to-use-responsibly-produced-meats-39228


วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2562

จุดกำเนิดกระแสตลาดไก่เนื้อโตช้า


เนเธอร์แลนด์เป็นผู้นำในการพัฒนาการเลี้ยงไก่โตช้าจากแบรนด์ ไก่ของวันพรุ่งนี้ (Chicken of Tomoorrow)” สำหรับร้านค้าปลีก เช่นเดียวกับฝรั่งเศสก็เป็นหัวหอกหลักในการเลี้ยงสัตว์ปีกในชนบท 
             เหตุผลหลักที่ให้กำเนิดตลาดพรีเมียมในฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับฝรั่งเศสแล้วเป็นผู้นำในตลาดทางเลือกใหม่มานานกว่า ๖๐ ปีแล้วจากแบรนด์ ลาเบล รุช (Label Rouge)” และให้การรับรองฟาร์มที่สามารถผลิตได้ตามมาตรฐานนี้ พลังขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากครัวของฝรั่งเศสที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าด้านประเพณี คุณภาพ และรสชาติแบบอาหารฝรั่งเศส ขณะที่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พลังขับเคลื่อนกลับมาจากหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ถูกรณรงค์โดยรัฐบาลดัทช์เองในช่วงต้นสหัสวรรษใหม่ปี ๒๐๐๐ โดยการตั้งคำถามไปยังผู้ประกอบการให้พยายามหาไก่จากฟาร์มชาวบ้าน แล้วจึงเกิดความร่วมมือกันระหว่างบริษัทผู้ผลิตไก่สัญชาติฝรั่งเศสอย่างฮับบาร์ด มหาวิทยาลัยวานิงเก้น (Wageningen Univerisity) บริษัทด้านอาหารสัตว์คอพเพนส์ (Coppens Animal Nutrition) และผู้ประกอบการร้านค้าปลีกในเนเธอร์แลนด์อย่างเอเอช (AH) และจัมโบ้ (Jumbo) ร่วมกับสมาคมสวัสดิภาพสัตว์แห่งดัทช์ (Dutch Animal Welfare Association) จนกระทั่งกำเนิดเป็นมาตรฐาน ชีวิตที่ดีกว่าเดิม ๑ ดาว (Better Life 1 star, Beter Leven)” ที่ใช้ระบบการเลี้ยงไก่ภายในโรงเรือน โดยมีพื้นที่เพิ่มเติมภายนอกใต้หลังคาโรงเรือนเดียวกัน ตลาดเนื้อไก่โตช้าในเนเธอร์แลนด์คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ ๒๐ และแบรนด์ได้ติดตาเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว รายละเอียดของผู้ให้การรับรองมาตรฐานชีวิตที่ดีกว่าเดิมนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ https://beterleven.dierenbescherming.nl/ ในภาษาเนเธอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ เมื่อร้านค้าปลีกทุกร้านตัดสินใจเปลี่ยนจากการสั่งซื้อเนื้อไก่สดทั่วไปเป็นเนื้อไก่ที่เลี้ยงโตช้า สืบเนื่องจากการรณรงค์อย่างแข็งขันของกลุ่มนักเคลื่อนไหว เว้กเกอร์ ไดเออร์ (Wakker Dier) ชื่อไทยๆก็อาจเป็นทำนองว่า ปลุกระดมสัตว์ให้รุกขึ้นสู้ (awoken animal) โดยในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ กดดันร้านค้าปลีกให้ขอร้องผู้ซื้อเลิกซื้อ เนื้อไก่ระเบิด หรือพลอฟคิป (Plofkip)” คำศัพท์ภาษาเนเธอร์แลนด์ที่ถูกค้นหามากที่สุดในกูเกิ้ล คำว่าพลอฟคิป ถูกรณรงค์เป็นกระแสสาธารณะ และกลยุทธ์ทางการตลาดที่เข้มแข็ง รวมถึง การตัดสินใจร่วมกันของห้างร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหน้าการค้าปลีกเนื้อไก่ภายในระยะเวลาเพียงสามปี เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเอกลักษณ์ของชาวเนเธอร์แลนด์ และเชื่อได้ว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆในประเทศอื่นๆในโลก นับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๑๗ เป็นต้นมา เนื้อไก่สดที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตของเนเธอร์แลนด์ก็มาจากสายพันธุ์ไก่โตช้า  

ภาพที่ ๑ ตัวอย่างสินค้าเนื้อไก่ที่ประกาศขายในเว็บไซต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเครื่องหมายแสดงมาตรฐานทั้งลาเบล รุช ของฝรั่งเศส และมาตรฐาน ชีวิตที่ดีกว่าเดิม ของเนเธอร์แลนด์  

ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...