วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ภูมิอากาศโลกมีอิทธิพลต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก


รายงานใหม่ โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง ในฟาร์มสัตว์ปีก ประเทศไนจีเรีย และไต้หวัน ขณะที่ เชื้อไวรัสใหม่ยังตรวจพบได้ที่ตลาดค้าสัตว์ปีกเป็นครั้งแรกในประเทศบังคลาเทศ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกเพิ่มขึ้นในเนปาล และตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนก

              การต่อสู้เพื่อควบคุมโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๒ ในไต้หวัน ยังยืดเยื้อต่อไป ขณะนี้ยืนยันการระบาดไปแล้ว ๕ ครั้ง สูญเสียสัตว์ปีกไปเกือบ ๔๓,๐๐๐ ตัวจากการตาย หรือคัดทิ้ง ระหว่างวันที่ ๑๔ ถึง ๒๑ พฤษภาคม ที่ผ่านมา รายงานอย่างเป็นทางการจากสภาเกษตรกรรมต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลก หรือโอไออี ยืนยันการตรวจพบเชื้อไวรัสในไก่พื้นเมือง ๓ ฝูง และฟาร์มเป็ดเนื้อ และเป็ดไข่ อย่างละ ๑ ฝูง ฟาร์มสามแห่งอยู่ในตำบล Yunlin และที่เหลืออยู่ในตำบล Pingtung และ Changhua



ระบาดใหม่ที่ไนจีเรีย

                 โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๘ แบบเวเรียนต์ ตรวจพบในไก่ เป็ด และไก่งวง ที่ตลาดปศุสัตว์ในรัฐ Edo เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตามรายงานอย่างเป็นทางการจากกระทรวงเกษตรฯต่อโอไออี การสำรวจทางระบาดวิทยาที่ตลาดปศุสัตว์แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงไปยังการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงที่ฟาร์มในรัฐเดียวกันก่อนหน้านี้



 เอช ๖ เอ็น ๖ ในบังคลาเทศ

              โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๖ ถูกตรวจพบในนกน้ำในประเทศบังคลาเทศในปี ค.ศ. ๒๐๑๖ และ ๒๐๑๗ ตามรายงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Virology แล้วยังมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงอีกหลายระลอกทั้งในสัตว์ปีก และมนุษย์จากโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๑ แบบแวเรียนต์ในเอเชียใต้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๗ เป็นต้นมา แต่ผลการวิจัยล่าสุด เป็นหลักฐานครั้งแรกของการปรากฏสับไทป์เอช ๕ เอ็น ๖ 

              การสำรวจทางระบาดวิทยาในตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต เพื่อเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงต่อทั้งมนุษย์ และสัตว์ปีก แต่ยังไม่ยืนยันการตรวจพบการติดเชื้อไวรัสแบบแวเรียนต์ในบังคลาเทศ



 การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกส่งผลต่อโรคไข้หวัดนก

              นักวิจัยในสหรัฐฯ พบว่า ปัจจัยบางประการสามารถเชื่อมโยงได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกสามารถส่งผลต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้ กุญแจสำคัญสำหรับการขนส่งเชื้อไวรัสข้ามระหว่างทวีปเป็นที่ทราบกันดีว่า จุดนัดพบคือ นกอพยพ อ้างอิงจากการศึกษาของ Matthew Scotch มหาวิทยาลัยอริโซนา การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศปรากฏขึ้นในเอเชียตะวันออก และเบอริงเจีย เป็นพื้นที่แถบไซบีเรีย และอะลาสก้าฝั่งตะวันตกที่นกอพยพชอบไปพักอาศัย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นมีอิทธิพลต่อรูปแบบการอพยพของนกน้ำ ชนิดของนก การขับเชื้อไวรัส และการรีแอสซอร์ตเมนต์ ปัจจัยเดียวกันนี้ยังสามารถร่วมกันส่งผลกระทบต่อการขนส่งเชื้อไวรัสข้ามทวีปที่แตกต่างกันได้ รวมถึง การแพร่กระจายเชื้อในเฉพาะถิ่นจากนกป่าไปสู่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก รายงานการวิจัยครั้งนี้ยังตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Environment International ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๑๘ อีกด้วย



พบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเพิ่มขึ้นอีกในเนปาล

              ได้มีการยืนยันแล้วเมื่อต้นเดือนว่า พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๑ รายแรกในเดือนมีนาคมนี้ ผู้ป่วยเป็นชายหนุ่มจากกาฏมัณฑุ เสียชีวิตเมื่อปลายเดือนเดียวกัน อ้างตามรายงานของหัวหน้าโรงพยาบาลโรคติดเชื้อ และโรคประถิ่นในประเทศ เชื่อว่า น่าจะมีรายอื่นๆเพิ่มเติม แต่ขาดแคลนห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจสอบยืนยัน ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Himalayan Times แพทย์รายงานผู้ป่วย ๓ รายที่มีอาการสำคัญของโรคระบบทางเดินหายใจ และมีไข้ โดยมีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกป่วย หรือตายก่อนแสดงอาการป่วย

              เมื่อเร็วๆนี้มีการทำลายอีกาตายจำนวนมากในเมืองหลวง กาฏมัณฑุ เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัสสับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๑ และเรียกร้องให้มีการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสทั่วประเทศทั้งผู้เลี้ยงไก่ สัตวแพทย์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสัตว์ปีกทั้งหมด รวมถึง บุคลากรทางการแพทย์



เอกสารอ้างอิง
Linden J. 2019. What the US poultry industry needs to know about ASF. [Internet]. [Cited 2019 May 31]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/37855-avian-flu-studies-reveal-climate-change-impacts-unknown-virus-presence 
ภาพที่ ๑ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนก (แหล่งภาพ Wol Wol | Freeimages.com) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มิชิแกนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหวัดนก

  โรคไข้หวัดนกยังคงระบาดในสหรัฐฯ สองปีที่ผ่านมา สหรัฐฯมีไก่มากกว่า ๙๐ ล้านตัว และนกป่า ๙,๐๐๐ ตัวที่ติดเชื้อด้วยเอช ๕ เอ็น ๑    ในรอบเดือนท...