ผู้ผลิตสัตว์ปีกรายใหญ่ของโลกกำลังผันตัวสู่ไก่โตช้า
เป็นนิมิตหมายที่ดีสู่การหยุดใช้ยาปฏิชีวนะ และยกระดับสวัสดิภาพสัตว์
ไก่เหี่ยวๆบนถาดสไตโรโฟม
ทอดกรอบเคียงคู่กับบิสกิต หรือทำเป็นไส้กรอกไก่ ทั้งหลายทั้งปวงมาจากแห่งต้นตอเดียวกันจากไก่เลือดผสมคอร์นิช
ขนสีขาว อกอวบอ้วน เชื่อง และเฉื่อยชา เลี้ยงไว้ ๓๕
วันก็ได้น้ำหนักเกือบสองกิโลครึ่ง ไก่เนื้อเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งยวด
ชาวอเมริกันบริโภคเนื้อไก่มากกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่นใด ในแต่ละปี
บริโภคกันโดยเฉลี่ย ๔๒ กิโลกรัมต่อคน โดยเฉพาะปีก นักเก๊ต และอกไร้กระดูก ไร้หนัง
ทำให้ผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีกได้รับแรงกดดันเร่งให้เลี้ยงไก่โตเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
โดยการปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่องกันหลายทศวรรษแล้ว
ยิ่งเลี้ยงให้โตเร็วเท่าไรก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหานานานัปการตั้งแต่ขาพิการ
และสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้ผลผลิตเป็นไปได้โดยสะดวก
และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค
การเลี้ยงไก่จึงจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะสำหรับเร่งการเจริญเติบโตสักหน่อย
โดยเริ่มมีการใช้ตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๕๐ เป็นต้นมา แม้ว่าจะดูเหมือนเติมลงไปนิดเดียว
แต่รวมๆกันแล้วใช้กันมากกว่าสองล้านกิโลกรัมต่อปีสำหรับเลี้ยงไก่ ๙ พันล้านตัวในปี
ค.ศ.๒๐๑๖ มากกว่าไทยราว ๖ เท่าตัว
แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว
ข้อวิตกกังวลเรื่องแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะเป็นประเด็นสำคัญที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าการผลิตไก่เนื้อทั่วโลก
ยาปฏิชีวนะทั่วไปไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อีกแล้ว
เป็นอันตรายคุกคามต่อทั้งชีวิตสัตว์ และมนุษย์
เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสความต้องการโลก
ผู้ผลิตเนื้อสัตว์จำเป็นต้องตระเตรียมตัวหยุดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่ออย่างที่เคยปฏิบัติกันมา
ถึงเวลานี้ ผู้ผลิตพันธุ์ไก่กำลังย้อนกลับไปใช้สายพันธุกรรมดั้งเดิม
หวนคืนไปยังสายพันธุ์ไก่ในอดีตอย่างพันธุ์ red-feathered Freedrom Ranger Color Yield ขนสีแดง ซึ่งตามธรรมชาติโตช้าลงมาก อายุที่โตเต็มที่เป็นอย่างน้อย ๘
สัปดาห์ โครงสร้างร่างกายสมดุล
กระดูกแข็งแกร่ง และระบบภูมิคุ้มกันดีเยี่ยม โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาปฏิชีวนะอีกต่อไป
พันธุ์ไก่เหล่านี้ต้องการชีวิตที่แตกต่างจากในกล่องโรงเรือนสี่เหลี่ยม
มีอิสระ เลี้ยงบนทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ หรือจะเป็นโรงเรือนนั่นแหละ
แต่ยังเที่ยวเตร่ได้อย่างอิสระจิกกันหญ้าได้บ้าง
ผู้ประกอบการขาใหญ่ได้ขยับตัวเคลื่อนไหวแรงๆแล้ว หนึ่งในนั้นคือ เพอร์ดูฟาร์ม เบอร์สี่ไก่เนื้อในสหรัฐฯ
ความจริงแล้ว ผู้ผลิตสินค้าเนื้อไก่ในสหรัฐฯมีมากกว่า ๙๐ ราย
ทั้งในสถานะผู้ให้บริการอาหาร ฟาสต์ฟู้ด และซูเปอร์มาร์เก็ต
จับมือกันเป็นผู้บุกเบิกที่มีหัวหอกเป็นพันธมิตรผู้ผลิตสัตว์โลก
เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลี้ยงไก่โตช้าให้ได้ในปี ค.ศ. ๒๐๒๔
ถึงเวลานี้ก็นับได้ร้อยละ ๑๐ ของตลาดแล้ว แม้จะยังเป็นสัดส่วนที่น้อย
แต่ก็นับได้เป็นไก่หลายร้อยล้านตัว โดยมีขาใหญ่อย่างเพอร์ดูฟาร์มร่วมขันลงด้วย
เป็นตัวแทนของยุคการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อในอนาคต
สินค้าเนื้อไก่ดังกล่าวนี้วางตลาดเรียบร้อยแล้ว
แต่เนื่องจากว่า
การเลี้ยงไก่บนทุ่งหญ้ายังไม่เหมาะกับการผลิตเชิงอุตสาหกรรมชนาดใหญ่ที่มีการแปรรูปไก่เนื้อหลายล้านตัวต่อสัปดาห์
ผู้ผลิตพันธุ์ไก่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตสอดคล้องกับการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้
แต่อย่างน้อยก็ต้องมีพื้นที่อิสระเพียงพอให้วิ่งเล่น กระพือปีก
แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้
เพื่อเตรียมความพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตเนื้อไก่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ
บริษัทเพอร์ดูกำลังประเมินสายพันธุ์ไก่ ๑๑ สาย
โดยใช้เกณฑ์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ตามมาตรฐานที่บริษัทตั้งไว้จากเดิมที่เคยเลี้ยงไก่โดยใช้ยาปฏิชีวนะตามปรกติ
นับเป็นก้าวที่กล้าหาญสำหรับการเปลี่ยนผ่านระบบการเลี้ยงไก่เนื้อ โชคร้ายที่สายพันธุ์ไก่เนื้ออย่างสาย
Color
Yield แทบไม่หลงเหลือแล้ว แต่ความต้องการตลาดปูทางไว้เรียบร้อยแล้ว
ในบรู๊คคลิน บริษัทผู้ค้าส่งเนื้อสัตว์ปีก Watkins ขายสินค้าให้กับตลาดค้าปลีก
และภัตตาคาร จำหน่ายไก่มากกว่า ๖,๐๐๐ ตัวต่อสัปดาห์
และบริษัททางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย Pasture-bird จำหน่ายไก่เนื้อโตช้า
๕,๐๐๐ ตัวต่อสัปดาห์สำหรับร้านค้าส่ง และภัตตาคาร
เนื้อที่มาจากไก่เนื้อสายพันธุ์โบราณ มีลักษณะ
และรสชาติต่างจากเนื้อไก่โตเร็วรุ่นลูกรุ่นหลาน
ไม่มีปัญหาคุณภาพกล้ามเนื้ออย่างกล้ามเนื้อแข็งเหมือนไม้ (Wooden breast, WB) หรือกล้ามเนื้อเป็นลายทางสีขาว (White striping, WS) อีกต่อไป เนื้อไก่สายพันธุ์โบราณนี้มีอกเล็ก และเนื่องจาก ขยันทำกิจกรรมประจำวันมาก
ก็จะมีกล้ามเนื้อน่องที่แข็งแรง ลักษณะเนื้อสดสีชมพูเข้ม
เมื่อลอมชิมดูแล้วจะรสชาติเข้มข้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทรงคุณค่าต่อทั้งไก่
มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม
เอกสารอ้างอิง
McKenna
M. 2019. Dawn of the slow chicken?. [Internet]. [Cited 2019 Jan 214]. Available
from: https://thefern.org/2019/01/dawn-of-the-slow-chicken/
ภาพที่ ๑ เนื้อที่มาจากไก่เนื้อสายพันธุ์โบราณ มีลักษณะ และรสชาติต่างจากเนื้อไก่โตเร็วรุ่นลูกรุ่นหลาน (แหล่งภาพ Farmers Weekly)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น