วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

ไทสันฟู้ดประกาศเลิกใช้ยาปฏิชีวนะ

ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของสหรัฐฯ ไทสันฟู้ด ประกาศความมุ่งมั่นในการเลิกใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์สำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อในสหรัฐฯ ภายในเดือนกันยายน 2560 นี้
               บริษัท ไทสัน จะรายงานความก้าวหน้าของโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ ไทสันได้หยุดใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิดในโรงฟักไข่ 35 แห่ง และกำลังลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์ สำหรับการรักษาไก่มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2554 ให้ได้
               ปัจจุบัน โรคติดเชื้อดื้อยากำลังเป็นที่น่าวิตกกังวลไปทั่วโลก ไทสันเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อของบริษัทมีความปลอดภัย แต่ก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งต่อความรับผิดชอบสุขภาพผู้บริโภคโดยการลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์ในฟาร์มเลี้ยงไก่ แต่การใช้ยาจะยังคงทำได้หากจำเป็นต้องรักษาไก่ป่วย
               ดังนั้น โครงการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในไก่เนื้อ มีเป้าหมายให้เป็นศูนย์ได้ในปลายปี 2560 โดยบริษัทจะไม่ละทิ้งประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์ บริษัทจะใช้วิธีการบำบัดที่ดีที่สุด เพื่อให้สุขภาพไก่ดีภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์   

แหล่งที่มา:          World Poultry (28/4/15)

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

การวิจัยตรวจซัลโมเนลลาในโรงเชือด

ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอาร์คันซอพัฒนาเทคนิคการตรวจหาเชื้อซัลโมเนลลาแบบรวดเร็วในโรงงานแปรรูปสัตว์ปีก
               โรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อซัลโมแนลลา มีความสำคัญทางสาธารณสุข โดยเนื้อสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์เป็นแหล่งสำคัญของการติดเชื้อ เชื้อซัลโมเนลลาสามารถปนเปื้อน และแพร่กระจายในซากไก่ระหว่างกระบวนการแปรรูปการผลิต แม้กระทั่ง เชื้อซัลโมเนลลาเพียงน้อยนิดในผลิตภัณฑ์ก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค
               วิธีการตรวจสอบที่พัฒนาโดย Dr. Steven Ricke และคณะ สามารถตรวจสอบซัลโมเนลลาทุกสายพันธุ์ รวมถึง การจำแนกเชื้อ ซัลโมเนลลา เอนเทอไรติดิน ซัลโมเนลลา ไฮเดลเบิร์ก และซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม โดยอาศัยเทคนิค Multiple PCR ในการเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอ และจำแนกสายพันธุ์ไปในเวลาเดียวกัน วิธีการนี้จะช่วยในสนับสนุนมาตรการป้องกันโรคในทุกขั้นตอนของการผลิต รวมถึง การตรวจวิเคราะห์เชิงปริมาณสำหรับเชื้อซัลโมเนลลาบางซีโรวาร์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมโรค   

แหล่งที่มา:          World Poultry (27/4/15)

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

การจัดการระบบระบายอากาศในฤดูร้อน

มูลนิธิสัตว์ปีกแห่งสหรัฐฯ ประกาศทุนวิจัยที่มหาวิทยาลัยจอร์เจียในเมืองเอเธนส์ รัฐจอร์เจีย โดยการศึกษาวิจัย มุ่งเน้นการทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความเร็วลมที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความร้อนในโรงเรือนที่มีการระบายอากาศแบบอุโมงค์ลม (Tunnel ventilated broiler houses)
               โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการวิจัยที่ครอบคลุมตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกทั้งเนื้อ และไข่ ตลอดจนกระบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์
               การประเมินการปลดปล่อยความร้อนจากโรงเรือนแบบอุโมงค์ลม วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เป็นการประเมินประสิทธิภาพในการกำจัดความร้อนออกจากโรงเรือนภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อแบบอุโมงค์ลม โดยจำลองโรงเรือนเลี้ยงไก่เป็นเสมือนแคลอริมิเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีไก่เป็นตัวสร้างความร้อนออกมา แล้วควบคุมโดยใช้อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และการระบายอากาศ ผลรวมความร้อนที่สร้างขึ้นมา และรู้สึกได้ ตรวจวัดจากโรงเรือนเลี้ยงไก่หลายๆโรงเรือนที่อายุจับ
การลดความเครียดจากความร้อนในฤดูร้อน
               การสูญเสียความร้อนที่รู้สึกได้ ส่งผลต่ออุณหภูมิในโรงเรือนที่สูงขึ้นเกิดขึ้นจากการปลดปล่อยความร้อนจากตัวไก่ไปยังอากาศรอบตัว ส่วนความร้อนแฝง (Latent heat) เป็นการสูญเสียความร้อนจากตัวไก่ผ่านการระเหยของความชื้นผ่านระบบทางเดินหายใจส่งผลต่อความชื้นภายในโรงเรือนที่สูงขึ้น ผู้วิจัยได้ศึกษาแนวโน้มของการสร้าง และสูญเสียความร้อนจากตัวไก่ ความรู้ดังกล่าว นักจัดการจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อลดความเครียดจากความร้อนในช่วงฤดูร้อนต่อไปได้
1.         ในช่วงฤดูร้อน ความร้อนจากตัวไก่เป็นสัดส่วน 97 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตความร้อนในโรงเรือนเลี้ยงไก่ ดังนั้น การเพิ่มฉนวนความร้อนภายในโรงเรือนจึงมีประโยชน์ไม่มาก
2.         การผลิตความร้อนรวมต่อไก่ 1 ตัว เพิ่มขึ้นแปรผันตรงต่อความเร็วลม สำหรับความเร็วลมระหว่าง 350-525 ฟุตต่อนาที คิดอย่างง่ายก็คือ การสร้างความร้อนเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์จากผลร่วมกันของน้ำหนักไก่ที่เพิ่มขึ้น และการกำจัดความร้อนที่เพิ่มขึ้นตามความเร็วลม  
3.         การสร้างความร้อนทั้งหมดโดยเฉลี่ยแบ่งได้เป็น ความร้อนที่รู้สึกได้ 40 เปอร์เซ็นต์ และความร้อนแฝง 60 เปอร์เซ็นต์ บ่งชี้ว่า แม้จะมีความเร็วลมระหว่าง 350-525 ฟุตต่อนาทีแล้ว ไก่ที่อายุจับก็ยังสูญเสียความร้อนที่สร้างขึ้นผ่านการระเหยเอาความชื้นออกจากระบบทางเดินหายใจ สิ่งที่สำคัญคือ อัตราส่วนของการสร้างความร้อน 40 ต่อ 60 เป็นปรกติสำหรับไก่ และไม่จำเป็นว่าไก่จะกำลังหอบหรือไม่ก็ตาม
4.         ที่ความเร็วลมสูง 450-550 ฟุตต่อนาที การสร้าง และการปล่อยความร้อนแฝงจะลดลงอย่างรวดเร็วระหว่าง 75-85 องศาฟาเรนไฮต์ ขณะที่ ความชื้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ผู้ผลิตต้องระมัดระวังไม่ให้ใช้การทำความเย็นด้วยความชื้นมากเกินไป แม้ว่า จะส่งผลให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนลดลงก็ตาม เนื่องจาก อาจส่งผลกระทบต่อการปล่อยความร้อนจากตัวไก่ได้
5.         สัดส่วนระหว่างความร้อนที่รู้สึกได้ และความร้อนแฝง อาจแปรผันไปตามขนาดตัวไก่ อุณฆภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความเร็วลม
6.         สำหรับไก่ที่มีน้ำหนัก 4 ปอนด์ และความเร็วลมเป็น 600 ฟุตต่อนาที อัตราส่วนระหว่างความร้อนแฝง และรู้สึกได้ที่ถูกสร้างขึ้นมาใกล้กับ 50 ต่อ 50 มากกว่า 40 ต่อ 60 (อุณหภูมิอากาศระหว่าง 75 ถึง 85 องศาฟาเรนไฮต์ สัดส่วนของความร้อนที่รู้สึกได้ และความร้อนแฝง บ่งชี้ว่า ผลร่วมกันของความเร็วลมที่สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย 600 และ 500 ฟุตต่อนาที และไก่ที่ตัวเล็ก อาจส่งผลทำให้ไก่รู้สึกหนาว เนื่องจาก อัตราส่วน 50 ต่อ 50 จะไม่มีโอกาสพบในโรงเรือนที่เลี้ยงไก่ตัวใหญ่ ดังนั้น ไก่ตัวใหญ่ (มากกว่า 6 ปอนด์) จะได้รับผลดีจากความเร็วลมที่สูง (สูงกว่า 525 ฟุตต่อนาที) มากกว่าไก่ตัวเล็ก
7.         อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 75 องศาฟาเรนไฮต์ร่วมกับความเร็วลม 600 ฟุตต่อนาทีส่งผลต่อการสร้างความร้อนจากไก่ที่ตัวเล็ก (4 ปอนด์) จนผลผลิตลดลงได้
8.          การสร้างความร้อนโดยรวมของไก่แปรผันไปตามช่วงกลางวันกลางคืน ความแปรปรวนของกลางวันกลางคืนได้รับอิทธิผลมาจากโปรแกรมการให้แสง และการทำงานของพัดลม
9.          ช่วงเวลากลางวันที่สั้นลงส่งผลให้การสร้างความร้อนในเวลากลางคืนน้อยลง และการสร้างความร้อนในช่วงกลางวันที่เพิ่มขึ้นสามารถส่งผลต่อความเครียดจากอากาศร้อนในไก่ได้
10.    การเพิ่มการระบายอากาศในช่วงกลางคืน ส่งผลต่อการสร้างความร้อนในช่วงกลางคืนเพิ่มขึ้น และการสร้างความร้อนในช่วงกลางวันลดลง เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอธิบายว่า ทำไมการศึกษาอื่นๆก่อนหน้านี้จึงพบว่า ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นระหว่างอากาศร้อนเป็นผลมาจากการใช้ความเร็วลมที่สูงระหว่างเวลากลางคืน

แหล่งที่มา:          World Poultry (27/4/15)

วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

ผลิตอกไก่บนจานเลี้ยงเซลล์



มหาวิทยาลัยเทลอาวิว ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยุคใหม่ ประเทศอิสราเอล เปิดเผยผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตอกไก่ในหลอดทดลอง
                เมื่อสองปีที่แล้ว มหาวิทยาลัย Maastricht ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงเนื้อวัวในจานเลี้ยงเซลล์ และผลิตเป็นแฮมเบอร์เกอร์เนื้อให้อาสาสมัครลองชิมเป็นการจุดประกายความหวังในการปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตอาหารในอนาคต เนื้อวัว ๑ ชิ้นน้ำหนัก ๑๔๐ กรัม ยังมีต้นทุนการผลิตเนื้อบนจานเลี้ยงเซลล์ที่สูงถึง ๘๗๕,๐๐ บาทโดยใช้ชิ้นส่วนเนื้อจากแม่วัวที่มีชีวิต ดังนั้น อิสราเอล จึงคิดผลิตเนื้อชนิดอื่นบ้าง การศึกษาครั้งนี้ จะเป็นการแสวงหาวิธีการเพาะเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อในจานเลี้ยงเซลล์จากสเต็มเซลล์ของสัตว์ และความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ต้นทุนของเทคโนโลยี และปัญหาที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคต  
                ศาสตราจารย์ Amit Gefen ภาควิชาวิศวกรรมด้านชีวการแพทย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมของเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิตเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยการผลิตเนื้อสัตว์ในจานเลี้ยงเซลล์ การผลิตเนื้อในจานเลี้ยงเซลล์อาศัยสเต็มเซลล์เพาะเลี้ยงในอาหารเซลล์ที่ประกอบด้วย ส่วนประกอบของ Fetal bovine serum ที่สกัดจากมดลูกของแม่โค และอุดมไปด้วยสารให้พลังงาน กรดอะมิโน เกลืออนินทรีย์ ที่ช่วยสนับสนุนกระบวนการเมตาโบลิซึมภายในเซลล์ ตลอดจนการเจริญเติบโตของเซลล์ เซลล์จะมีการแบ่งเพิ่มจำนวน เจริญเติบโต จนได้ชิ้นเนื้อสัตว์ออกมา การวิจัยครั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์ประชากรมนุษย์ที่กำลังทวีเพิ่มขึ้นในอนาคต มนุษย์จำเป็นต้องแสวงหากระบวนการผลิตอาหารที่มีความยั่งยืนขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ การผลิตเนื้อสัตว์บนจานเลี้ยงเซลล์เป็นทางออกที่ดีช่องทางหนึ่ง ผู้วิจัยมีเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาเนื้ออกไก่โดยอาศัยความรู้ด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อสัตว์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และหาช่องว่างทางด้านองค์ความรู้ และสิ่งทางท้ายในการผลิตเป็นเชิงพาณิชย์ให้ได้ โครงการวิจัยครั้งนี้คาดว่า จะใช้เวลาศึกษาเป็นเวลาหนึ่งปี
แหล่งที่มา:            World Poultry (1/4/15)

ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...