วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

พบหวัดนกครั้งแรกในบราซิล

 กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์บราซิล ยืนยันสัตว์ที่ติดเชื้อโรคไข้หวัดนกรายแรกในบราซิล โดยพบในนกป่าสองตัวที่ติดเชื้อไวรัสชนิดความรุนแรงสูงบริเวณชายหาดของรัฐ Espírito Santo

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม หน่วยงานปศุสัตว์รัฐได้เริ่มสอบสวนโรคไข้หวัดนกภายหลังการแจ้งรายงานไปยังสถาบันวิจัยและฟื้นฟูสัตว์ทะเลของเมือง Cariacica โดยนกทะเล ๒ ตัวอยู่ในสปีชีส์ Thalasseus acuflavidus อยู่ในตระกูลนกนางนวลแกลบ อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล Marataízes และตำบล Jardim Camburi ตัวอย่างได้พูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการรัฐ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงขององค์การสุขภาพสัตว์โลก ยืนยันสับไทป์เอช ๕ เอ็น ๑

นับเป็นสัตว์ป่วยรายแรกจากโรคไข้หวัดนกที่รายงานในบราซิลภายหลังเกิดการระบาดเกือบทุกประเทศรอบบราซิล และยังพบการระบาดใหญ่ทั่วโลก

บราซิลยังอยู่ในสถานะปลอดโรคไข้หวัดนก

               แม้ว่าจะตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในนกป่าก็ไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะปลอดโรคไข้หวัดนกของบราซิล ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการยืนยันโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ท่านั้น ดังนั้น ประเทศสมาชิกของโวอ้าจะยังไม่ห้ามการค้าขายระหว่างประเทศของผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากบราซิล หากพบการปรากฏของโรคไข้หวัดนกในฟาร์มเชิงพาณิชย์ในบราซิล ก็จะทำให้ถูกระงับการส่งออกไก่และไข่ไปยัง ๒๐ ประเทศ

               สหภาพผู้ตรวจประเมินภาษีทางการเกษตรกรรม (Union of Agricultural Federal Tax Auditors, ANFFA Sindical) ประเมินความเสียหายต่อบราซิลไว้สูงถึงเกือบเก้าหมื่นล้านบาทหากประสบกับปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกจากทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม

               กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ ประกาศเตือนให้ควบคุมการเคลื่อนย้ายของสัตว์ปีกกับภาคเอกชน และหน่วยงานสัตวแพทย์รัฐทั้งหมดให้เพิ่มการเตรียมรับมือระดับชาติ  

โรคอันตรายต่อสัตว์ปีก

               ปัจจุบัน โลกได้เผชิญกับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง โดยส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับการสัมผัสนกป่าอพยพทั้งที่เป็นแหล่งอาศัย ขยายพันธุ์ หรือประจำถิ่น ขณะนี้ สัตว์ปีกหลายร้อยล้านตัวได้ถูกทำลายไปแล้ว   ผลการสอบสวน และศึกษาด้านระบาดวิทยา เชื่อว่า มาตรการด้านสุขอนามัยใหม่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรค และคุ้มครองอุตสาหกรรมสัตว์ปีกบราซิลไว้ได้

               มาตรการสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการป้องกันโรคจะต้องเข้มข้นกว่าเดิม การประกาศเตือนกรณีสงสัยโรค และบังคับใช้มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพในการผลิตสัตว์ปีกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก รวมถึง คำแนะนำสำหรับภาคสังคมในระดับต่างๆทั้งเขตเมืองและชนบท

สมาคมโปรตีนจากสัตว์แห่งบราซิล

               สมาคมโปรตีนจากสัตว์แห่งบราซิล (Brazilian Association of Animal Protein, ABPA) เป็นตัวแทนของทั้งภาคการผลิตสัตว์ปีกและสุกร บราซิลเป็นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดของโลก สิ่งสำคัญคือ การย้ำถึงสถานการณ์ที่พบในนกทะเลอพยพแค่ ๒ ตัว และไม่ปรากฏในระบบอุตสาหกรรมบราซิล ซึ่งเป็นผลมาจากระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวด ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงของการผลิตภายในประเทศ หรือการส่งออกสินค้าสัตว์ปีกจากบราซิลตามข้อกำหนดขององค์การสุขภาพสัตว์โลก

เอกสารอ้างอิง

Azevedo D. 2023. Brazil confirms first cases of avian influenza. [Internet]. [Cited 2023 May 26]. Available from: https://www.poultryworld.net/uncategorized/brazil-confirms-first-cases-of-avian-influenza/

ภาพที่ ๑ นกคาบ๊อต ตระกูลนางนวลแกลบทะเลในบราซิลตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง (แหล่งภาพ Joshua J. Cotten)



วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

สถานการณ์หวัดนกในยุโรปดีขึ้น

 การระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในสัตว์ปีกทั่วยุโรปมีแนวโน้มลดลง ยกเว้น นกนางนวล ที่ยังคงได้รับผลกระทบหนัก อ้างอิงตามสำนักความปลอดภัยยุโรป หรืออีเอฟเอสเอ

รายงานล่าสุดของโรคไข้หวัดนกโดยอีเอฟเอสเอ อีซีดีซี และอียูอาร์แอล ยืนยันว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในยุโรปดีขึ้นแล้ว และเชื่อมั่นว่า ความเสี่ยงทางสาธารณสุขยังคงต่ำ ในช่วงวันที่ ๒ มีนาคมถึง ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๖ การระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงพบในฟาร์มสัตว์ปีก ๑๐๖ ครั้ง และนกป่า ๖๑๐ ครั้งใน ๒๔ ประเทศยุโรป การระบาดในฟาร์มมีความถี่น้อยลงเปรียบเทียบกับรายงานก่อนหน้านี้ และเปรียบเทียบกับฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว การระบาดส่วนใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ไม่แพร่ระบาดต่อไป บางรายมีลักษณะที่ผิดปรกติจากเดิม โดยเฉพาะ อัตราการตายต่ำ

ระบาดหนักในนกนางนวล

การระบาดอย่างหนักและต่อเนื่อง พบในนกนางนวลหัวดำ และนกป่าบางชนิด เช่น เหยี่ยวพีรีกริน ที่มีอัตราการตายเพิ่มขึ้น หากยังเกิดการระบาดในนกนางนวลหัวดำต่อไป จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม เมื่อนกนางนวลออกจากพื้นที่ผสมพันธุ์

แพร่กระจายไปยังสัตว์ชนิดอื่นๆ

               เชื้อไวรัสยังคงแพร่กระจายต่อไปในทวีปอเมริกา รวมถึง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และคาดว่าจะเดินทางไปถึงทวีปแอนตาร์กติกในอนาคตอันใกล้ ในสหรัฐฯ มีรายงานในแมว ๒ ราย และสุนัข ๑ รายในคานาดา การติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๖ ชนิด โดยเฉพาะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล และสัตว์ในกลุ่มเพียงพอน เป็นครั้งแรก ขณะที่ เชื้อไวรัสที่หมุนเวียนอยู่ในยุโรป ยังคงมีตัวรับของเซลล์แบบสัตว์ปีกอยู่เหมือนเดิม

การติดเชื้อในมนุษย์

               ระหว่างวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕ ถึง ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๖ พบผู้ติดเชื้อเอช ๕ เอ็น ๑ จำนวน ๒ ราย ในจีนและชิลี และเอช ๙ เอ็น ๒ จำนวน ๓ ราย และเอช ๓ เอ็น ๘ จำนวน ๑ รายในจีน ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่ระบาดในยุโรปยังคงต่ำสำหรับประชากรทั่วไปในยุโรป และเขตเศรษฐกิจยุโรป ขณะที่ ความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลางสำหรับคนงาน และผู้ที่ปฏิบัติงานสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ สัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตายจากโรค 

เอกสารอ้างอิง

Berkhout N. 2023. Europe: fewer cases of bird flu in poultry, except seagulls. [Internet]. [Cited 2023 May 22]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/health/europe-fewer-cases-of-bird-flu-in-poultry-except-seagulls/

ภาพที่ ๑ ในนกป่า นกนางนวลหัวดำยังคงได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง (แหล่งภาพ Matthew Cassidy)



วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ยุโรปพร้อมสนับสนุนข้อตกลงเบทเทอร์ชิกเก้น

 ร้านค้าปลีกและโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ข้อตกลงเบทเทอร์ชิกเก้น แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด และโรคไข้หวัดนก สงครามยูเครน และภาวะเงินเฟ้อ

บริษัทมากกว่า ๓๕๐ แห่งในยุโรปและสหราชอาณาจักรได้ลงนามในข้อตกลงเบทเทอร์ ชิกเก้น และชิกเก้น แทรคปี พ.ศ.๒๕๖๕ รวมแล้ว ๗๓ รายจาก ๖๐ บริษัท โดยข้อตกลง ๓๑ รายคิดเป็นร้อยละ ๔๒ จาก ๒๗ บริษัทมีความก้าวหน้าไปแล้ว ๑๒ ฉบับคิดเป็นร้อยละ ๑๖ รายงานว่าลงมือปฏิบัติแล้วอย่างน้อย ๑ เกณฑ์ อย่างไรก็ตามมากกว่าครึ่งหนึ่งของข้อตกลงจำนวน ๔๒ รายจาก ๓๗ บริษัทคิดเป็นร้อยละ ๕๘ ยังไม่มีรายงานความก้าวหน้า

ผู้ผลิตจากนอร์เวย์ นอร์สก์ คิลลิ่ง สามารถปฏิบัติตามได้ทั้งหมดตลอดระบบการผลิตไก่ และมีเพียง ๔ ฉบับคิดเป็นร้อยละ ๕ รายงานว่าปฏิบัติตามข้อตกลงเบทเทอร์ ชิกเก้นทั้งหมดแล้ว ได้แก่ เรมา ๑๐๐ ร้อยละ ๙๖ อีรอสกิร้อยละ ๓๙ เอลลิออร์ร้อยละ ๒๒ และอีเกียร้อยละ ๓

รายละเอียดของชิกเก้น แทรค ที่แสดงถึงการพัฒนาการผลิตภายใต้ข้อตกลงเบทเทอร์ ชิกเก้น ได้แก่

๑.     ความหนาแน่นการเลี้ยง หลักเกณฑ์ส่วนใหญ่สำหรับข้อตกลงทั้งหมด ๒๕ รายในปี พ.ศ.๒๕๖๕ ค่าเฉลี่ยของการปรับเปลี่ยนแล้วในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ ๓๐

๒.    การเปลี่ยนสายพันธุ์ รายงานจากข้อตกลง ๒๑ ราย ค่าเฉลี่ยของการปรับเปลี่ยนเป็นร้อยละ ๒๑

๓.    การใช้แสงธรรมชาติ รายงานจากข้อตกลง ๒๓ ราย ค่าเฉลี่ยการปรับเปลี่ยนเป็นร้อยละ ๔๓

๔.    เอนริชเม้นท์ รายงานจากข้อตกลง ๒๔ ราย ค่าเฉลี่ยปรับเปลี่ยนร้อยละ ๔๗

๕.    การทำให้สลบด้วยอากาศที่ควบคุมไว้ (Controlled atmospheric stunning, CAS) รายงานจากข้อตกลง ๑๙ ราย ค่าเฉลี่ยปรับเปลี่ยนร้อยละ ๕๔

ผลการตรวจประเมินตามข้อตกลงเบทเทอร์ชิกเก้นมีเพียงบริษัทเดียวคือ มาร์กแอนด์สเปนเซอร์เท่านั้นที่ผ่านตามข้อกำหนด ในสหราชอาณาจักรมีผู้ที่ยอมรับข้อตกลงนี้ทั้งหมด ๑๒๐ รายจากบริษัททั้งภายใน และต่างประเทศ ส่วนใหญ่มาจากร้านอาหาร และโรงอาหาร อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตในสหราชอาณาจักร ๒ ใน ๖ ราย บริษัท โรงฟัก พีดี ฮุ้ก จำกัด และกลุ่มบริษัทซิสเตอร์ฟู้ด ๒ รายให้สัญญาที่จะผลิตลูกไก่ให้เป็นไปตามมาตรฐานเบทเทอร์ชิกเก้น จนถึงทุกวันนี้ ผู้ค้าปลีกสหราชอาณาจักร ๒ รายเท่านั้นคือ มาร์กแอนด์สเปนเซอร์ และเวทร็อส ที่ลงนามไว้ ขณะที่ อัลดี้ และลิเดิล ลงนามกับประเทศยุโรปอื่นๆแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการในสหราชอาณาจักร

รายแรกในสหราชอาณาจักร

               มาร์กแอนด์สเปนเซอร์ มีแบรนด์ โอ้คแฮมโกลด์ เป็นรายแรกที่ผลิตเนื้อไก่สอดคล้องกับข้อตกลงเบทเทอร์ชิกเก้น โดยบริษัทตั้งใจยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ และปรับเปลี่ยนเป็นการใช้ไก่เนื้อโตช้า นับตั้งแต่ออกแบรนด์ โอ้คแฮมโกลด์ ก็มีเสียงตอบรับทางบวกจากผู้บริโภค

               ผู้ผลิตในสหราชอาณาจักรอื่นๆที่ผลิตเนื้อไก่สอดคล้องกับข้อตกลงเบทเทอร์ชิกเก้น ยังเริ่มทำเพียงบางส่วนของการผลิตเท่านั้น เทสโก้เริ่มต้นบางส่วนตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๓ และมอร์ริสสัน กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เซนส์บูรี ประกาศแผนลดความหนาแน่นการเลี้ยงไก่ของตัวเองเป็น ๓๐ กิโลกรัมต่อตารางเมตรในเดือนมีนาคม ๒๕๖๖ แต่ยังไม่ตอบตกลงเปลี่ยนสายพันธุ์ไก่ ไก่ที่ผลิตภายใต้สวัสดิภาพสัตว์ที่ดีจะเป็นองค์ประกอบหลักของบริษัทผู้ผลิตอาหารทั้งหมด

               องค์กรคอมพาสชั่นอินเวิล์ดฟาร์มมิ่ง เน้นย้ำความจำเป็นของข้อตกลงเบทเทอร์ชิกเก้นที่จะช่วยให้มีสินค้าปริมาณมากเพียงพอ ในฝรั่งเศส ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๖๔ ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ทั้งหมด ลงนาม ข้อตกลงเบทเทอร์ชิกเก้น กลายเป็นแรงกระตุ้นให้กับตลาดโดยภาพรวม ผู้ค้าปลีกรายหนึ่งของฝรั่งเศสที่ตัดสินใจเข้าร่วมตามข้อตกลงเบทเทอร์ชิกเก้นในปี ๒๕๖๒ ตามหลักเกณฑ์ของข้อตกลง เช่น สายพันธุ์ไก่โตช้า ลดความหนาแน่น และใช้แสงธรรมชาติ อย่างโปร่งใสภายในห่วงโซ่การผลิต ไก่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก และควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับมนุษย์ การใช้สายพันธุ์ไก่ที่เหมาะสม และเลี้ยงให้มีชีวิตที่ดีจะช่วยให้มีอายุนานขึ้น สุขภาพดีขึ้น และเติมเต็มชีวิตได้มากกว่าเดิม เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภค 

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2023. Support growing for Better Chicken Commitment across Europe. [Internet]. [Cited 2023 May 12]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/support-growing-for-better-chicken-commitment-across-europe/

ภาพที่ ๑ ๓๕๐ บริษัทในยุโรปและสหราชอาณาจักรลงนามข้อตกลงเบทเทอร์ชิ้กเก้น (แหล่งภาพ Ronald Hisink)


วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

การควบคุมแอมโมเนียในการเตรียมวัสดุรองพื้น

 ระดับแอมโมเนียที่สูงเป็นสิ่งท้าทายในการผลิตสัตว์ปีกทั่วโลก แก๊สพิษดังกล่าวได้คุกคามสุขภาพของสัตว์และมนุษย์ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และส่งผลร้ายทางสังคม หากไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม

               ไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ปีก จากการใช้โปรตีนหรือแหล่งสารอาหารอื่นๆ ไนโตรเจนบางส่วนถูกใช้ในกระบวนการเมตาโบลิซึมของสัตว์ และการสร้างเนื้อเยื่อหรือไข่ อย่างไรก็ตาม ไนโตรเจนส่วนอยู่ถูกขับออกมาผ่านปัสสาวะหรือมูลสัตว์ ในรูปของกรดยูริกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๘๐ แก๊สแอมโมเนียร้อยละ ๑๐ และยูเรียร้อยละ ๕ เมื่อกรดยูริกและยูเรียถูกขับออกจากร่างกายก็จะถูกเปลี่ยนเป็นแก๊สแอมโมเนีย โดยการย่อยสลายด้วยเชื้อจุลชีพ และเอนไซม์ ผ่านแบคทีเรียและเอนไซม์ที่พบในวัสดุรองพื้นโรงเรือนสัตว์ปีก ในระหว่างกระบวนการนี้ แอมโมเนียถูกปลดปล่อยออกมาปริมาณมากเข้าสู่อากาศในรูปของแก๊ส และทั้งสัตว์ปีกและคนเลี้ยงสัตว์ปีกในฟาร์มจะได้รับแก๊สดังกล่าว บทความทบทวนวรรณกรรม แนะนำระดับแอมโมเนียที่ยอมรับได้ไม่เกิน ๑๐ พีพีเอ็มในอากาศ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสำหรับฝูงสัตว์ปีกและผู้เลี้ยงสัตว์ การระเหยกลายเป็นไอของไนโตรเจนส่งผลให้แก๊สมลพิษสูงขึ้น โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางการเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความหลากหลายของระบบนิเวศ สุขภาพมนุษย์ และสัตว์อีกด้วย

โรค และความผิดปรกติอื่นๆ

               หากไม่มีการตรวจติดตามและควบคุมแอมโมเนียอย่างเพียงพอ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ ความผิดปรกติของสมอง การทำลายตับ และการบาดเจ็บของเส้นเลือดและกล้ามเนื้อในมนุษย์ สำหรับสัตว์ปีก หากปราศจากอากาศที่สะอาดหายใจจะส่งผลกระทบต่อการเป็นอยู่ที่ดี และผลผลิตลดลง และส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก จากความสม่ำเสมอของฝูง และคุณภาพซากที่โรงฆ่า ระดับแอมโมเนียที่สูงกว่า ๑๐ พีพีเอ็ม ส่งผลให้การกินอาหาร และการเจริญเติบโตลดลง ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารไม่ดี การระคายเคืองต่อตาและปอดของสัตว์จนอาจทำให้ตาบอด และปัญหาระบบทางเดินหายใจ อัตราการตายเพิ่มขึ้นในทุกระยะ แต่ส่วนใหญ่เป็นช่วงสัปดาห์ที่ ๑ และ ๒ นับเป็นผลกระทบที่เป็นอันตรายที่สุดจากการสัมผัสแอมโมเนีย

การจัดการปรกติ

               วิธีการควบคุมที่นิยมใช้กันมากที่สุดเป็นการพักโรงเรือนเป็นเวลา ๑๒ ถึง ๑๕ วันจนกว่าลูกไก่ชุดถัดมาจะลงเลี้ยง วัสดุรองพื้นถูกกลับไปมาภายหลังการหมักทิ้งไว้ แล้วเพิ่มการระบายอากาศภายในโรงเรือน ในบางแห่งใช้ปูนขาวโรยให้แห้งเร็วขึ้นในพื้นที่อากาศชื้น การระบายอากาศอย่างเพียงพอ ดูแลอุปกรณ์การให้น้ำ และระวังไม่ให้ความหนาแน่นของสัตว์สูง ซึ่งจะทำให้มีการสะสมของสิ่งขับถ่ายมากเกินกว่าจะสามารถควบคุมได้ การเปลี่ยนวัสดุรองพื้นทุก ๕ ถึง ๖ ฝูงหรืออย่างน้อยปีละครั้ง  อย่างไรก็ตาม การควบคุมระดับของแอมโมเนียอย่างมีประสิทธิภาพมีวิธีการที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของวัสดุรองพื้น ฤดูกาล จำนวนครั้งที่มีการใช้ซ้ำ โรงเรือนบางแห่งที่มีพัดลมระบายอากาศ และสามารถเปิดระยายอากาศได้หลายวัน ยังมีระดับแอมโมเนียสูงเกินกว่า ๙๐ พีพีเอ็ม นั่นคือ ด้วยวิธีการปรกติ การควบคุมระดับแอมโมเนียไม่สามารถรับประกันได้ว่า แอมโมเนียจะถูกกำจัดออกไปได้หมด แม้ว่า ระดับของแอมโมเนียจะลดลงได้เมื่อลงลูกไก่ จะดีกว่านี้หากใช้เวลามากกว่า ๑๕ วัน   

               สถานการณ์จะเลวร้ายในช่วงฤดูหนาว เนื่องจาก จำเป็นต้องปิดโรงเรือนตลอดเวลา เพื่อรักษาความอบอุ่นให้กับสัตว์ วิธีการจัดการหนึ่งคือ การเปลี่ยนวัสดุรองพื้นใหม่ทุกรุ่นการเลี้ยง เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการควบคุมแอมโมเนีย อย่างไรก็ตาม ก็เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น  

เอกสารอ้างอิง

Azevedo D. 2023. Ammonia control evolves to poulry litter preparation. [Internet]. [Cited 2023 May 11]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/health/ammonia-control-evolves-to-litter-preparation/

ภาพที่ ๑ แก๊สส่งผลกระทบต่อผลผลิต และสุขภาพมนุษย์ หากไม่ลดให้ต่ำกว่า ๑๐ พีพีเอ็ม (แหล่งภาพ Daniel Azevedo)



วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

อวสานโรงฟักในเยอรมัน

 อนาคตของอุตสาหกรรมไก่ไข่ในเยอรมันกำลังตกที่นั่งลำบากแล้ว นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๗ ลูกไก่ไข่เพศผู้ทั้งหมดต้องมีชีวิตต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องลงทุนก้อนใหญ่เพื่อซื้อเครื่องคัดเพศตัวอ่อนในไข่ฟัก นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๔ เป็นต้นมา จำนวนโรงฟักลดลงจาก ๒๐ โรงเหลือเพียง ๘ โรงแล้ว หากต้องการดำเนินธุรกิจต่อไปก็ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตใหม่ 

              องค์กรด้านการผลิตไก่ไข่ Bundesverband Ei ภูมิใจกับอุตสาหกรรมการผลิตไก่ไข่ แต่อนาคตของอุตสาหกรรมกำลังมืดมนลง ในด้านฟาร์มผลิตสัตว์ปีก ประเทศเยอรมันเปรียบเหมือนกับรถเฟอร์รารี เยอรมันมีนักพันธุกรรมชั้นนำของโลก และยังมีเทคนิคต่างๆด้านพันธุศาสตร์ก็มาจากเยอรมัน ต่อไปนี้จะไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป เยอรมันมีฟาร์มไก่ไข่ที่ทันสมัย และโรงฟักที่ดีที่สุด แทบไม่มีแม่ไก่ที่เลี้ยงในกรงตับอีกแล้ว ส่วนใหญ่ใช้ระบบกรงใหญ่ (aviary housing systems) บางส่วนก็ปล่อยอิสระ หรือระบบอินทรีย์ ทุกสิ่งทุกอย่างของเยอรมันเรียกได้ว่า เกินกว่าระบบมาตรฐานสูงสุดของโลกแล้ว แล้วยังทำมากไปกว่านั้นกับการคุ้มครองสัตว์ และสวัสดิภาพสัตว์ในเยอรมัน อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านี้แลกมาด้วยต้นทุนที่สูงมาก ผลผลิตไข่ปัจจุบันกำลังเน้นไปยังการส่งออกไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในประเทศที่ประเด็นต่างๆข้างต้นไม่ได้เป็นที่สนใจมากนัก กลายเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

การพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่เยอรมัน  

                เยอรมันเป็นผู้นำเข้าไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์จนทำสถิติโลก อัตราการผลิตเพื่อพึ่งพาตัวเองราวร้อยละ ๗๓ เท่านั้น ที่เหลือก็จะเป็นการนำเข้ามาบริโภคภายในประเทศ ซึ่งนับว่าลดลงแล้ว เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ อยู่ที่ร้อยละ ๕๕ เท่านั้น ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ แม่ไก่ในเยอรมันมีราว ๗๕ ล้านตัว แต่ตอนนี้เหลือ ๕๕ ล้านตัว เนื่องจาก การบังคับให้เปลี่ยนจากกรงตับเป็นระบบโรงเรือนทางเลือกอื่นๆ ในเยอรมันเริ่มก่อนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้วยุโรปจึงทำตามต่อในปี พ.ศ.๒๕๕๓ ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ เยอรมันสมัครใจหยุดการตัดจงอยปากเอง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โรงฟักเยอรมันก็ยกเลิกการตัดจงอยปาก ขณะนี้ เยอรมันกำลังยกเลิกฆ่าลูกเพศผู้

นโยบายคุ้มครองชีวิตลูกไก่เพศผู้

               ศาลสูงเยอรมัน กำหนดให้ปี พ.ศ.๒๕๖๒ หยุดการทำลายลูกไก่เพศผู้ หากมีทางเลือกทางวิชาการที่พร้อมแล้วสำหรับการตรวจเพศตัวอ่อนในระยะแรก ในเวลานั้น ยังไม่มี แต่ความรู้ด้านวิศวกรรมก็เริ่มต้นพัฒนานับตั้งแต่เวลานั้น กระทรวงเกษตรจึงสั่งแบนการฆ่าลูกไก่นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๕ เป็นต้นมา โดยกฏหมายฉบับนี้อาศัยวิธีการตรวจสอบไก่เพศผู้ ๒ วิธีทั้งสองวิธียังเป็นช่วงท้ายของการฟัก

               หลังจากนั้น กฏหมายก็เริ่มกระชับขึ้น นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นต้นไป ต้องคัดเพศในไข่ฟักก่อนอายุไข่ฟัก ๗ วัน แต่ยังไม่มีวิธีการใดที่พร้อมใช้ในทางพาณิชย์ได้ ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคมเป็นต้นไป ผู้ผลิตจะต้องเลี้ยงลูกไก่เพศผู่ทั้งหมด หากยังต้องการทำธุรกิจโรงฟักในเยอรมัน

ที่มาของการกำหนดอายุไข่ฟักไว้เป็นวันที่ ๗

               ทั้งหลายทั้งปวงมาจากความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาเทคโนโลยี นักวิจัยมีความหวังกับเทคโนโลยี รามัน สเปคโตรสโคปี สำหรับตรวจสอบเพศได้ตั้งแต่อายุตัวอ่อนได้ ๔ วัน และกำลังวางตลาดแล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าเมื่อกระบวนการทางกฏหมายบังคับใช้ไปแล้ว สเปคโตรสโคปีก็ยังไม่เข้าสู่ตลาดก่อนปี พ.ศ.๒๕๖๗ เนื่องจาก ยังให้ผลบวกปลอมจำนวนมาก

               กฏหมายคุ้มครองลูกไก่เพศผู้ได้กลายเป็นเงามืดวงการผลิตไก่ไข่เยอรมันไปเรียบร้อยแล้ว โรงฟักไก่ไข่ที่ยังเหลือผลิตอยู่ในปี พ.ศ.๒๕๖๔ เหลือเพียง ๘ แห่งเท่านั้น ดังนั้น ลูกไก่ไข่ที่จะเข้าฟักก็จะเหลือน้อยลงเพียง ๒๕ ล้านตัวเท่านั้นเมื่อปีที่ผ่านมา หมายความว่า เยอรมันฟักลูกไก่ไข่ออกมาเพียงครึ่งหนึ่งของ ๕๕ ล้านตัวที่เคยเลี้ยงกันมาเท่านั้น ที่เหลือมาจากการนำเข้า เชื่อว่า ส่วนแบ่งของลูกไก่ที่ฟักในเยอรมันจะลดลง หากกฏหมายยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แน่นอนไม่มีใครลงทุนกับโรงฟักอีกต่อไป หากกำหนดเส้นตายยังเป็นปี พ.ศ.๒๕๖๗ หากไม่แก้ไขกฏหมาย โรงฟักเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยังสามารถยืนอยู่ได้ โดยฟักทั้งลูกไก่เพศเมีย และเพศผู้ สถานการณ์ที่ยากลำบากกำลังรอคอยอยู่เบื้องต้น

โอกาสที่จะเลื่อนกำหนดออกไป

               กระทรวงอาหารและการเกษตรต้องส่งรายงานสถานการณ์ในฤดูใบไม้ผลิปี พ.ศ.๒๕๖๖ นี้ เพื่อรายงานว่า การคัดเลือกเพศสามารถทำงานได้จริงก่อนอายุการฟักวันที่ ๗ แล้ววันที่เท่าไรที่ตัวอ่อนรับรู้ถึงสิ่งกระตุ้นจากความเจ็บปวดได้ สภาฯสามารถตอบสนองต่อรายงานได้ แต่เลือกที่จะไม่ทำ  ผู้ผลิตไข่ไก่พยายามเปลี่ยนใจพรรคการเมือง และรัฐบาลท้องถิ่น ปี พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นไปได้ยาก เยอรมันจำเป็นต้องมีโรงฟักของตัวเอง หากยังต้องการรักษาธุรกิจให้ดำรงต่อไปได้ การผลิตไข่ไก่ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้หากปราศจากโรงฟัก ผู้ผลิตสัตว์ปีกไม่สามารถยอมรับเส้นตายไม่ว่าจะเป็นปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ๒๕๖๙ ๒๕๗๒ จนกว่านักวิจัยจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีคัดเพศที่ใช้ได้จริง ตลาดยุโรปมีเพียงหนี่งเดียว ปัญหาการทำลายลูกไก่ต้องแก้ไขในระดับยุโรปทั้งหมด องค์กรสวัสดิภาพสัตว์ยุโรปชื่นชมฝรั่งเศสที่สามารถวิเคราะห์ด้วยเทคนิคสเปคตรัลในวันที่ ๑๓ และยอมรับว่ามีการแก้ไขปัญหาลูกไก่ไข่เพศผู้ได้แล้ว แต่ในเยอรมันต้องการให้เป็นไปตามจริยธรรมสัตว์ตั้งแต่เริ่มต้นเลย

             การตัดสินใจในปี พ.ศ.๒๕๖๒ กำหนดให้ผู้ผลิตไก่ไข่ต้องยุติการฆ่าลูกไก่ แต่ไม่ได้ให้จัดการตั้งแต่กระบวนการฟักไข่ ไม่ว่าตัวอ่อนในไข่ฟักจะรู้สึกเจ็บปวดหรือไม่ หรือเวลาที่เหมาะสมสำหรับการทำลายตัวอ่อนลูกไก่ เน้นย้ำว่าให้ยุติการฆ่าลูกไก่วันแรกเท่านั้น และผู้ผลิตไก่ไข่ในเยอรมันก็ประสบความสำเร็จไปแล้ว และยังคงทำต่อไป

               เยอรมันเป็นผู้นำตลาดโลก หากเยอรมันสามารถเดินหน้าไปตามเส้นทางที่ทำ ไม่มีประเทศใดสามารถทำตามสิ่งที่เยอรมันสร้างขึ้นมาได้ มีเทคนิคสำหรับการตรวจเพศไข่ฟักในวันที่ ๙ ทำไมจึงไม่เดินหน้าด้วยเทคนิคนี้  แต่ยังมีแรงต่อต้านมากเกินไป จึงมีโอกาสเป็นไปได้น้อย องค์กรสวัสดิภาพสัตว์เยอรมัน และในอีกหลายประเทศ ไม่ได้คิดว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง และเห็นว่าเยอรมันควรขับเคลื่อนนำไปสู่การใช้ประโยชน์แม่ไก่ไข่ให้ได้สองวัตถุประสงค์พร้อมกัน ให้มีผลผลิตไข่ที่ดี โดยมองว่า เป็นการใช้แนวคิดด้านพันธุกรรมที่ผิดมากกว่า  แม่ไก่ไข่สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งเพศผู้และเพศเมียถูกนำเข้าสู่ตลาดเยอรมันแล้ว ฝูงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเลี้ยงแม่ไก่ ๗,๐๐๐ ตัว ปัญหาคือให้ไข่ได้เพียง ๒๒๐ ฟองต่อปีเท่านั้น คิดเป็นสองในสามของประสิทธิภาพการผลิตในปัจจุบัน ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ ขนาดฟองเล็กมาก ไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ขณะที่ เพศผู้โตเร็วกว่าพ่อไก่ไข่ปรกติทั่วไป แต่ยังต้องเลี้ยงเป็นเวลานาน และกินอาหารปริมาณมาก เนื้อแข็งมาก และมองดูแตกต่างจากปรกติ คำถามคือจะไปหาตลาดที่ไหนขายได้

สิ่งที่จะเกิดในอีกสามถึงห้าปีต่อไป

               ขนาดของตลาดไข่ไก่เยอรมันจะเปลี่ยนไปได้ยากลำบาก สวัสดิภาพสัตว์ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในเยอรมัน หลายสิ่งหลายอย่างได้ปรับตัวไปเหมือนกันในตลาดไข่ไก่เยอรมัน ฉลากและคำอธิบายอย่างละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ในซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งแหล่งที่มา พี่น้องของแม่ไก่ถูกฆ่าไปแล้วรึเปล่า เก็บรักษาไข่ไว้อย่างไร เป็นต้น ยังดีที่พาสตา หรือขนมปังเบเกอรี ยังไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับแหล่งที่มา แต่อยู่ในขั้นตอนของการผลักดันให้บังคับใช้เหมือนกัน หากผู้ผลิตไข่ไก่เยอรมันต้องลงทุนไปกับฟาร์มที่ต้นทุนสูงมาก ก็จะสะท้อนไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไข่ไก่ด้วย ผู้ค้าปลีกรายหนึ่งเลือกที่จะใช้แต่ไข่ไก่โอเคที (ohne kuken toten, OKT) ที่ผลิตจากแม่ไก่ที่ไม่มีการสังหารพี่น้องเพศผู้ของหล่อน สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายใต้ฉลากของผู้ค้าปลีกรายนี้ อย่างไรก็ตาม หากบังคับใช้ทั่วไปก็จะส่งผลต่อการค้าเสรี และตลาดเปิดภายในสหภาพยุโรป เยอรมันอาจบังคับใช้กฏหมายห้ามฆ่าลูกไก่ได้ และได้ทำไปแล้ว แต่ไม่สามารถห้ามการจำหน่ายไข่ หรือผลิตภัณฑ์จากไข่ที่เพศผู้ถูกฆ่าได้ อย่างไรก็ตาม เยอรมันสามารถควบคุมให้เกิดความโปร่งใสเกี่ยวกับวิธีการผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า หรือไม่ฆ่าลูกไก่เพศผู้ แล้วให้ผู้บริโภคตัดสินใจเอาเอง อย่างนี้จะเป็นธรรมมากกว่า

ผู้บริโภคจะยอมจ่ายหรือไม่?

                   ผู้บริโภคมีเงินสำหรับจ่ายได้ ประชากรบางกลุ่มก็ประหยัดใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ แต่ไข่โอเคทีมีต้นทุนที่สูงขึ้นกว่าไข่ปรกติ ๕๐ ถึง ๗๕ สตางค์ อัตราการบริโภคไข่ไก่ ๒๐๐ ฟองต่อปีรวมแล้วราว ๑๔๗ บาทเท่านั้น ส่วนต่างราคาไม่สามารถถกเถียงได้

               เยอรมันยังคงนำเข้าแม่ไก่ที่ไม่ใช่โอเคทีต่อไป เนื่องจาก จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฏหมายของยุโรปว่าด้วยการค้าเสรี แม่ไก่ที่ไม่ใช่โอเคทียังสามารถใช้ในการผลิตไข่ไก่ได้ ทั้งที่พี่ชายน้องชายของแม่ไก่เหล่านี้มีสัดส่วนร้อยละ ๓๐ ถึง ๔๐ ของแม่ไก่ทั้งหมด ๕๕ ล้านตัวในเยอรมันถูกทำลายตั้งแต่อายุวันแรก สัดส่วนของแม่ไก่ที่ไม่ใช่โอเคทียังคงสูงจากข้อมูลของโรงฟักและผู้จำหน่ายลูกไก่ นอกจากนั้น ก็ยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสวัสดิภาพสัตว์สุดโต่งนี้

เนเธอร์แลนด์ส่งออกไข่ไก่ และแม่ไก่จำนวนมากให้เยอรมัน

                บริษัทผู้ผลิตไข่ไก่เนเธอร์แลนด์ ๓ รายสำคัญได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดเยอรมัน โดยการผลิตไข่ไก่ภายใต้เคเอที โรงฟักปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเข้มขวด ข้อมูลทางสถิติ พบว่า ลูกไก่เพศผู้ร้อยละ ๙๐ ที่เข้าฟักในเนเธอร์แลนด์ ไม่ได้เลี้ยงในประเทศ แต่ส่งไปยังโปแลนด์ โดยส่งผ่านเยอรมัน  

               นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นต้นไป เยอรมันต้องเลี้ยงลูกไก่เพศผู้ภายใต้กฏเคเอที ซึ่งความจริงแล้วไม่เป็นที่ต้องการ เยอรมันไม่สามารถเลี้ยงลูกไก่เพศผู้ได้ จึงต้องให้โปแลนด์เลี้ยง คำสั่งห้ามจะทำให้มีการขนส่งสัตว์ผ่านเยอรมันมากขึ้น เพื่อให้สามารถฟักลูกไก่ไข่ได้ตามกฏระเบียบนี้ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักการสวัสดิภาพสัตว์    

เอกสารอ้างอิง

Bodde R. 2023. Germany: ‘Only a few hatcheries will survive’. [Internet]. [Cited 2023 Apr 27]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/germany-only-a-few-hatcheries-will-survive/

ภาพที่ ๑ ไข่ไก่โอเคทีต้นทุนที่สูงขึ้นกว่าไข่ปรกติ ๕๐ ถึง ๗๕ สตางค์ในตลาด (แหล่งภาพ Koos Groenewold)



วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ฮูเตือน เตรียมรับมือสถานการณ์หวัดนกที่เลวร้ายที่สุด

 เด็กหญิงกัมพูชาวัย ๑๑ ขวบเสียชีวิตจากไข้หวัดนก และบิดาก็ผลบวก เชื่อว่า โรคไข้หวัดนกไม่น่าจะกลายพันธุ์ และระบาดในมนุษย์  

               ช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๖๔ โลกต้องสัมผัสประสบการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เลวร้ายที่สุดทั่วโลก สัตว์ปีกหลายสิบล้านตัวถูกทำลาย และนกป่าจำนวนมากตาย และยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดโรคไข้หวัดนกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปลาโลมา หมี แมว สุนัขจิ้งจอก และนาก ทำให้โลกต้องวิตกว่า โรคไข้หวัดนกกำลังแพร่กระจายเข้าสู่มนุษย์แล้ว  

               การเสียชีวิตของเด็กหญิงชาวกัมพูชาจากหมู่บ้านทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดไพรแวง เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ไม่นานหลังผลการตรวจเป็นบวกต่อโรคไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ และเวลาต่อมา บิดาก็มีผลการตรวจเป็นบวกเช่นกัน ทำให้ต้องเตือนภัยทางสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา สอบสวนโรคทั้งบิดา และบุตรสาวติดเชื้อจากสัตว์ปีกในหมู่บ้าน โดยไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เกิดการติดต่อจากบิดาสู่บุตรสาว ทั้งนี้ข้อสรุปได้รับการสนับสนุนจากทั้งองค์การอนามัยโรค และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ   

               อีริก คาร์ลส์สัน สถาบันพาสเตอร์ในกัมพูชา เป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้ตรวจสอบตัวอย่างส่งตรวจเช้อไวรัสจากเด็กหญิง โดยบทสัมภาษณ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ เนเจอร์ แปลกใจว่า เด็กคนนี้เป็นรายแรกในประเทศที่ตรวจพบเอช ๕ เอ็น ๑ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๗ หรือในรอบเก้าปีมาแล้ว โดยอาจเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงโลกในการผลิตด้านเกษตรกรรม เนื่องจาก การระบาดของโรคโควิด ซึ่งอาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้ง่าย

แบบจำลองสถานการณ์

               หลายประเทศแบ่งปันประสบการณ์ในการวางแผนต่อสู้กับโรคไข้หวัดนก รวมถึง การสร้างแบบจำลองสถานการณ์ที่เชื้อไวรัสสามารถกลายพันธุ์ และก่อให้เกิดการระบาดในพลเมือง สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพสหราชอาณาจักร หรือยูเคเอชเอสเอ ไม่นิ่งนอนใจ เตรียมรับมือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แม้ว่า หลักฐานล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า เอช ๕ เอ็น ๑ ทั้งหมดไม่สามารถแพร่ระบาดในมนุษย์ได้ง่ายๆ แต่เชื้อไวรัสเกิดวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องระแวดระวังความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดในมนุษย์ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดร่วมกับพันธมิตรทางวิชาการ

               แบบจำลองสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจากการระบาดคนสู่คน กำลังเตรียมออกแบบเพื่อประเมินจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ป่วยที่แสดงอาการรุนแรง วิธีการทดสอบว่า ชุดทดสอบแบบรวดเร็วที่เรียกว่า แลทเทอรอลโฟลว์ และการตรวจเลือดอย่างไหนจะได้ผลดีกว่ากัน และการกลายพันธุ์อย่างไรจึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์เพิ่มขึ้นแล้ว

 

              

วัคซีนในมนุษย์

               ขณะนี้ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะใช้วัคซีนในสัตว์ปีกดีหรือไม่ สำหรับในมนุษย์มีเชื้อไวรัส ๒ สายพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเอช ๕ เอ็น ๑ ที่โรงงานผลิตวัคซีนสามารถใช้พัฒนาวัคซีนได้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัท ๓ แห่ง ทั้งจีเอสเค ซีเอสแอล-ซีคัยรัส และโมเดอร์นา กำลังพัฒนาวัคซีนที่ตรงกับซีโรไทป์ที่ระบาด และใกล้ระยะทดลองในมนุษย์แล้ว

ศาสตราจารย์ เซอร์ แอนดรูว์ โพลลาร์ด ซึ่งเป็นทีมวิจัยในการพัฒนาวัคซีนโควิดชนิดอ๊อกฟอร์ด แอสตราเซเนก้า มีความเห็นว่า โรคไข้หวัดนกมีโอกาสระบาดในมนุษย์ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค ประชากรมนุษย์ในเวลานี้ ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเอช ๕ เอ็น ๑ เนื่องจาก ไม่เคยระบาดในมนุษย์มาก่อนเลย จึงไม่มีภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันโรคได้เลย ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดการระบาดทั่วไปได้ ดังนั้น จึงมีความสำคัญที่จะต้องเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิด

   เซอร์ เจเรมี ฟาร์ราร์ นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก มีความเห็นที่สอดคล้องกัน การระบาดของเอช ๕ เอ็น ๑ ในสัตว์ปีกเวลานี้ เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจอย่างมาก ในประวัติศาสตร์ เคยทำให้คนเสียชีวิตในอัตราสูงถึงร้อยละ ๓๐ เราไม่ต้องการเห็นภาพเช่นนี้กลับมาอีก แต่หากปล่อยให้เชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกหมุนเวียนอยู่เรื่อยๆแล้วขยายวงไปยังมิ้งค์ หรือแมวน้ำ ก้าวข้ามสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จนเกิดการกลายพันธุ์ ก็จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นอย่างที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเลขได้ ถ้ายังไม่มีวัคซีนเอช ๕ เอ็น ๑ ก็ควรเดินหน้าต่อไปได้แล้ว

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

               องค์การอนามัยโลกเห็นว่า เมื่อไรก็ตามที่เชื้อไวรัสหมุนเวียนต่อไปในสัตว์ปีก ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้เป็นครั้งคราว และกลุ่มผู้ติดเชื้อเล็กๆเท่านั้นที่สัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ หรือสิ่งปนเปื้อนตามสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงที่เกิดการติดต่อสู่คนยกระดับขึ้น เนื่องจาก การแพร่กระจายของเชื้อวรัสในสัตว์ปีกมากขึ้น

               อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการระบาดอย่างกว้างขวางจากเอช ๕ ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกยังคงระแวดระวังต่อไป และพิจารณาวางแผนขั้นตอนลดโอกาสที่มนุษย์จะได้รับเชื้อจากสัตว์ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดต่อสู่มนุษย์เพิ่มเติม เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ยืนยันความเสี่ยงที่เอช ๕ ติดคนยังคงอยู่ในความสำคัญ และการติดต่อจากสัตว์ปีกสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศคานาดา เชื่อว่า กุญแจสำคัญที่ช่วยหยุดเชื้อไวรัสไม่ให้แพร่กระจายคือ การป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสมีโอกาสกลายพันธุ์ ผู้ที่พบสัตว์ปีกหรือสัตว์ป่าตาย ความเสี่ยงเกิดจากการไปสัมผัสสัตว์เหล่านี้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสก็จะเป็นการดีที่สุด

การรับมือของอุตสาหกรรมสัตว์ปีก

องค์กรสุขภาพสัตว์โลก หรือโวอ้า แนะนำให้อุตสาหกรรมสัตว์ปีกสร้างความร่วมมือเป็นเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงทั้งสัตว์และมนุษย์ ในฤดูใบไม้ผลินี้ ประเทศสมาชิกควรมีมาตรการ ดังนี้

·      เฝ้าระวังโรคทั้งในสัตว์ปีกในฟาร์ม และสัตว์ปีกป่า

·      ป้องกันโรคโดยใช้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มงวดในฟาร์ม โดยเฉพาะ รอบฟาร์มมิ้งค์ เพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อไวรัสเข้าฟาร์ม

·      ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงที่มีความไวรับต่อโรค และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค

·      ป้องกันไม่ให้มนุษย์สัมผัส หรือจับสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ป่าป่วย หากจำเป็นต้องสวมอุปกรณ์ป้องกัน โดยเฉพาะ ขณะที่กำลังสอบสวนการตาย หรือการระบาดของโรค

·      ตรวจติดตามสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่าที่ไวรับต่อโรค สอบสวนโรคทุกครั้งที่สัตว์ตายเพิ่มขึ้นผิดปรกติ

·      รายงานโรคไข้หวัดนกต่อองค์กรสุขภาพสัตว์โลกผ่านระบบวาฮิส ตามมาตรฐานการจัดการระหว่างประเทศ การรายงานให้ทันเหตุการณ์และโปร่งใสเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ของโรค และป้องกันไม่ให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด

·      แบ่งปันลำดับสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในฐานข้อมูลต่อสาธารณะ

องค์กรสุขภาพสัตว์โลก พร้อมสนับสนุนประเทศสมาชิกที่จะลดความเสี่ยงจากผลกระทบของโรคไข้หวัดนก และกระชับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างพันธมิตรสุขภาพหนึ่งเดียว และเครือข่ายพรมแดนโรคสัตว์ทั่วโลก ให้ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ตลอดเวลา 

กฏระเบียบ

               การระบาดของโรคโควิด ส่งผลให้การทำฟาร์มสัตว์ปีกหลังบ้านจำนวนเพิ่มขึ้นจนน่าวิตก รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลัง พยายามผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสัตว์ปีกสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์มากขึ้น ให้ครอบคลุมรายย่อยที่มีสัตว์ปีกไว้ในครอบครัว ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมโรคไข้หวัดนก ปัจจุบันนี้ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ปีกมากกว่า ๕๐ ตัวเท่านั้นที่กำหนดไว้ตามกฏหมายที่จะต้องขึ้นทะเบียนไว้ และต้องแจ้งข้อมูลปัจจุบันเป็นประจำทุกปี การขึ้นทะเบียนสัตว์ปีกกับสำนักสุขภาพพืชและสัตว์ (เอพีเอชเอ) เกษตรกรจะได้รับข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการระบาดของโรคในพื้นที่ต่างๆ และกฏระเบียบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อช่วยป้องกันสัตว์ของตัวเองจากโรคไข้หวัดนก

การให้วัคซีนสัตว์ปีก

                 ปัจจุบัน ผู้ผลิตสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดในโลกส่วนใหญ่ไม่ใช้วัคซีน เนื่องจาก กลัวว่าการฉีดวัคซีนจะเป็นอุปสรรคทางการค้า และบดบังการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส บางรายเชื่อว่า การเลือกใช้นโยบายการให้วัคซีนเท่ากับยอมรับว่า โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว หรืออาจนำไปสู่การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ดังนั้น การทำลายสัตว์ปีกจึงยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่า การให้วัคซีนไข้หวัดนกได้ถูกยกเป็นประเด็นเรียกร้องทั่วโลกแล้ว ฝรั่งเศสเริ่มให้วัคซีนในฟาร์มตั้งแต่เดือนกันยายน ขณะนี้ เอกวาดอร์วางแผนให้วัคซีนอย่างน้อย ๒ เดือน ทางการในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ กำลังพิจารณาแผนให้วัคซีนไข้หวัดนก และสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงในการกำหนดกลยุทธ์การให้วัคซีน โดยต้องเพิ่มการเฝ้าระวัง และความปลอดภัยทางชีวภาพ

              ผู้อำนวยการด้านสุขภาพสำหรับสัตว์เห็นว่า ประเทศส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการทำลายสัตว์ป่วย แต่เวลานี้สถานการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงไป กลยุทธ์นี้อาจใช้ได้ดีในอดีต แต่อาจใช้ไม่ได้อีกแล้ว หากพิจารณาจากความรุนแรงของการระบาด และทางเลือกอื่นๆนอกเหนือจากการทำลายสัตว์ป่วย หรือเก็บสัตว์ไว้ภายในโรงเรือนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคก็มีแต่การให้วัคซีน ประเทศใหญ่ๆที่กำลังเสียหายจากโรคไข้หวัดนก กำลังเปลี่ยนใจอย่างเงียบๆไปแล้วในเวลานี้

               ประเทศอื่นๆในตะวันออกไกลได้ให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกแล้ว โดยประสบความสำเร็จแตกต่างกันไป อินโดนีเซียถูกโจมตีว่า การใช้วัคซีนไม่มีเป้าหมาย แต่ใช้วัคซีนที่ผลิตขึ้นเอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดในประเทศ นับตั้งแต่นั้น จำนวนสัตว์ป่วยลดลง และจำนวนผู้ติดเชื้อก็ต่ำลงอีกด้วย

               จีนให้วัคซีนไข้หวัดนกมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว อ้างว่าช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ จากการให้วัคซีนเชื้อตายเอช ๗ เอ็น ๙ ช่วยให้การระบาดลดลงมากกว่าร้อยละ ๙๐ และลดจำนวนผู้ติดเชื้ออีกด้วย บ่งชี้ว่า การให้วัคซีนสัตว์ปีกเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพต่อการลดการติดเชื้อในมนุษย์

               สุดท้ายแล้ว วัคซีนช่วยควบคุมเชื้อไวรัส และลดปริมาณเชื้อไวรัสลงได้ แต่ไม่สามารถหยุดการระบาดได้ ความปลอดภัยทางชีวภาพยังเป็นทางเดียวในการป้องกันโรค

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2023. Avian influenza: Health officials are preparing for the worst. [Internet]. [Cited 2023 Apr 20]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/health/health-officials-are-preparing-for-the-worst/

ภาพที่ ๑ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกรักษาความเข้มงวดลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ (แหล่งภาพ ANP)



ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...