วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ฮูเตือน เตรียมรับมือสถานการณ์หวัดนกที่เลวร้ายที่สุด

 เด็กหญิงกัมพูชาวัย ๑๑ ขวบเสียชีวิตจากไข้หวัดนก และบิดาก็ผลบวก เชื่อว่า โรคไข้หวัดนกไม่น่าจะกลายพันธุ์ และระบาดในมนุษย์  

               ช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๖๔ โลกต้องสัมผัสประสบการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เลวร้ายที่สุดทั่วโลก สัตว์ปีกหลายสิบล้านตัวถูกทำลาย และนกป่าจำนวนมากตาย และยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดโรคไข้หวัดนกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปลาโลมา หมี แมว สุนัขจิ้งจอก และนาก ทำให้โลกต้องวิตกว่า โรคไข้หวัดนกกำลังแพร่กระจายเข้าสู่มนุษย์แล้ว  

               การเสียชีวิตของเด็กหญิงชาวกัมพูชาจากหมู่บ้านทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดไพรแวง เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ไม่นานหลังผลการตรวจเป็นบวกต่อโรคไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ และเวลาต่อมา บิดาก็มีผลการตรวจเป็นบวกเช่นกัน ทำให้ต้องเตือนภัยทางสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา สอบสวนโรคทั้งบิดา และบุตรสาวติดเชื้อจากสัตว์ปีกในหมู่บ้าน โดยไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เกิดการติดต่อจากบิดาสู่บุตรสาว ทั้งนี้ข้อสรุปได้รับการสนับสนุนจากทั้งองค์การอนามัยโรค และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ   

               อีริก คาร์ลส์สัน สถาบันพาสเตอร์ในกัมพูชา เป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้ตรวจสอบตัวอย่างส่งตรวจเช้อไวรัสจากเด็กหญิง โดยบทสัมภาษณ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ เนเจอร์ แปลกใจว่า เด็กคนนี้เป็นรายแรกในประเทศที่ตรวจพบเอช ๕ เอ็น ๑ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๗ หรือในรอบเก้าปีมาแล้ว โดยอาจเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงโลกในการผลิตด้านเกษตรกรรม เนื่องจาก การระบาดของโรคโควิด ซึ่งอาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้ง่าย

แบบจำลองสถานการณ์

               หลายประเทศแบ่งปันประสบการณ์ในการวางแผนต่อสู้กับโรคไข้หวัดนก รวมถึง การสร้างแบบจำลองสถานการณ์ที่เชื้อไวรัสสามารถกลายพันธุ์ และก่อให้เกิดการระบาดในพลเมือง สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพสหราชอาณาจักร หรือยูเคเอชเอสเอ ไม่นิ่งนอนใจ เตรียมรับมือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แม้ว่า หลักฐานล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า เอช ๕ เอ็น ๑ ทั้งหมดไม่สามารถแพร่ระบาดในมนุษย์ได้ง่ายๆ แต่เชื้อไวรัสเกิดวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องระแวดระวังความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดในมนุษย์ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดร่วมกับพันธมิตรทางวิชาการ

               แบบจำลองสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจากการระบาดคนสู่คน กำลังเตรียมออกแบบเพื่อประเมินจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ป่วยที่แสดงอาการรุนแรง วิธีการทดสอบว่า ชุดทดสอบแบบรวดเร็วที่เรียกว่า แลทเทอรอลโฟลว์ และการตรวจเลือดอย่างไหนจะได้ผลดีกว่ากัน และการกลายพันธุ์อย่างไรจึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์เพิ่มขึ้นแล้ว

 

              

วัคซีนในมนุษย์

               ขณะนี้ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะใช้วัคซีนในสัตว์ปีกดีหรือไม่ สำหรับในมนุษย์มีเชื้อไวรัส ๒ สายพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเอช ๕ เอ็น ๑ ที่โรงงานผลิตวัคซีนสามารถใช้พัฒนาวัคซีนได้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัท ๓ แห่ง ทั้งจีเอสเค ซีเอสแอล-ซีคัยรัส และโมเดอร์นา กำลังพัฒนาวัคซีนที่ตรงกับซีโรไทป์ที่ระบาด และใกล้ระยะทดลองในมนุษย์แล้ว

ศาสตราจารย์ เซอร์ แอนดรูว์ โพลลาร์ด ซึ่งเป็นทีมวิจัยในการพัฒนาวัคซีนโควิดชนิดอ๊อกฟอร์ด แอสตราเซเนก้า มีความเห็นว่า โรคไข้หวัดนกมีโอกาสระบาดในมนุษย์ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค ประชากรมนุษย์ในเวลานี้ ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเอช ๕ เอ็น ๑ เนื่องจาก ไม่เคยระบาดในมนุษย์มาก่อนเลย จึงไม่มีภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันโรคได้เลย ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดการระบาดทั่วไปได้ ดังนั้น จึงมีความสำคัญที่จะต้องเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิด

   เซอร์ เจเรมี ฟาร์ราร์ นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก มีความเห็นที่สอดคล้องกัน การระบาดของเอช ๕ เอ็น ๑ ในสัตว์ปีกเวลานี้ เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจอย่างมาก ในประวัติศาสตร์ เคยทำให้คนเสียชีวิตในอัตราสูงถึงร้อยละ ๓๐ เราไม่ต้องการเห็นภาพเช่นนี้กลับมาอีก แต่หากปล่อยให้เชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกหมุนเวียนอยู่เรื่อยๆแล้วขยายวงไปยังมิ้งค์ หรือแมวน้ำ ก้าวข้ามสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จนเกิดการกลายพันธุ์ ก็จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นอย่างที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเลขได้ ถ้ายังไม่มีวัคซีนเอช ๕ เอ็น ๑ ก็ควรเดินหน้าต่อไปได้แล้ว

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

               องค์การอนามัยโลกเห็นว่า เมื่อไรก็ตามที่เชื้อไวรัสหมุนเวียนต่อไปในสัตว์ปีก ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้เป็นครั้งคราว และกลุ่มผู้ติดเชื้อเล็กๆเท่านั้นที่สัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ หรือสิ่งปนเปื้อนตามสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงที่เกิดการติดต่อสู่คนยกระดับขึ้น เนื่องจาก การแพร่กระจายของเชื้อวรัสในสัตว์ปีกมากขึ้น

               อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการระบาดอย่างกว้างขวางจากเอช ๕ ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกยังคงระแวดระวังต่อไป และพิจารณาวางแผนขั้นตอนลดโอกาสที่มนุษย์จะได้รับเชื้อจากสัตว์ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดต่อสู่มนุษย์เพิ่มเติม เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ยืนยันความเสี่ยงที่เอช ๕ ติดคนยังคงอยู่ในความสำคัญ และการติดต่อจากสัตว์ปีกสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศคานาดา เชื่อว่า กุญแจสำคัญที่ช่วยหยุดเชื้อไวรัสไม่ให้แพร่กระจายคือ การป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสมีโอกาสกลายพันธุ์ ผู้ที่พบสัตว์ปีกหรือสัตว์ป่าตาย ความเสี่ยงเกิดจากการไปสัมผัสสัตว์เหล่านี้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสก็จะเป็นการดีที่สุด

การรับมือของอุตสาหกรรมสัตว์ปีก

องค์กรสุขภาพสัตว์โลก หรือโวอ้า แนะนำให้อุตสาหกรรมสัตว์ปีกสร้างความร่วมมือเป็นเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงทั้งสัตว์และมนุษย์ ในฤดูใบไม้ผลินี้ ประเทศสมาชิกควรมีมาตรการ ดังนี้

·      เฝ้าระวังโรคทั้งในสัตว์ปีกในฟาร์ม และสัตว์ปีกป่า

·      ป้องกันโรคโดยใช้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มงวดในฟาร์ม โดยเฉพาะ รอบฟาร์มมิ้งค์ เพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อไวรัสเข้าฟาร์ม

·      ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงที่มีความไวรับต่อโรค และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค

·      ป้องกันไม่ให้มนุษย์สัมผัส หรือจับสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ป่าป่วย หากจำเป็นต้องสวมอุปกรณ์ป้องกัน โดยเฉพาะ ขณะที่กำลังสอบสวนการตาย หรือการระบาดของโรค

·      ตรวจติดตามสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่าที่ไวรับต่อโรค สอบสวนโรคทุกครั้งที่สัตว์ตายเพิ่มขึ้นผิดปรกติ

·      รายงานโรคไข้หวัดนกต่อองค์กรสุขภาพสัตว์โลกผ่านระบบวาฮิส ตามมาตรฐานการจัดการระหว่างประเทศ การรายงานให้ทันเหตุการณ์และโปร่งใสเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ของโรค และป้องกันไม่ให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด

·      แบ่งปันลำดับสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในฐานข้อมูลต่อสาธารณะ

องค์กรสุขภาพสัตว์โลก พร้อมสนับสนุนประเทศสมาชิกที่จะลดความเสี่ยงจากผลกระทบของโรคไข้หวัดนก และกระชับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างพันธมิตรสุขภาพหนึ่งเดียว และเครือข่ายพรมแดนโรคสัตว์ทั่วโลก ให้ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ตลอดเวลา 

กฏระเบียบ

               การระบาดของโรคโควิด ส่งผลให้การทำฟาร์มสัตว์ปีกหลังบ้านจำนวนเพิ่มขึ้นจนน่าวิตก รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลัง พยายามผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสัตว์ปีกสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์มากขึ้น ให้ครอบคลุมรายย่อยที่มีสัตว์ปีกไว้ในครอบครัว ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมโรคไข้หวัดนก ปัจจุบันนี้ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ปีกมากกว่า ๕๐ ตัวเท่านั้นที่กำหนดไว้ตามกฏหมายที่จะต้องขึ้นทะเบียนไว้ และต้องแจ้งข้อมูลปัจจุบันเป็นประจำทุกปี การขึ้นทะเบียนสัตว์ปีกกับสำนักสุขภาพพืชและสัตว์ (เอพีเอชเอ) เกษตรกรจะได้รับข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการระบาดของโรคในพื้นที่ต่างๆ และกฏระเบียบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อช่วยป้องกันสัตว์ของตัวเองจากโรคไข้หวัดนก

การให้วัคซีนสัตว์ปีก

                 ปัจจุบัน ผู้ผลิตสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดในโลกส่วนใหญ่ไม่ใช้วัคซีน เนื่องจาก กลัวว่าการฉีดวัคซีนจะเป็นอุปสรรคทางการค้า และบดบังการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส บางรายเชื่อว่า การเลือกใช้นโยบายการให้วัคซีนเท่ากับยอมรับว่า โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว หรืออาจนำไปสู่การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ดังนั้น การทำลายสัตว์ปีกจึงยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่า การให้วัคซีนไข้หวัดนกได้ถูกยกเป็นประเด็นเรียกร้องทั่วโลกแล้ว ฝรั่งเศสเริ่มให้วัคซีนในฟาร์มตั้งแต่เดือนกันยายน ขณะนี้ เอกวาดอร์วางแผนให้วัคซีนอย่างน้อย ๒ เดือน ทางการในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ กำลังพิจารณาแผนให้วัคซีนไข้หวัดนก และสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงในการกำหนดกลยุทธ์การให้วัคซีน โดยต้องเพิ่มการเฝ้าระวัง และความปลอดภัยทางชีวภาพ

              ผู้อำนวยการด้านสุขภาพสำหรับสัตว์เห็นว่า ประเทศส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการทำลายสัตว์ป่วย แต่เวลานี้สถานการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงไป กลยุทธ์นี้อาจใช้ได้ดีในอดีต แต่อาจใช้ไม่ได้อีกแล้ว หากพิจารณาจากความรุนแรงของการระบาด และทางเลือกอื่นๆนอกเหนือจากการทำลายสัตว์ป่วย หรือเก็บสัตว์ไว้ภายในโรงเรือนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคก็มีแต่การให้วัคซีน ประเทศใหญ่ๆที่กำลังเสียหายจากโรคไข้หวัดนก กำลังเปลี่ยนใจอย่างเงียบๆไปแล้วในเวลานี้

               ประเทศอื่นๆในตะวันออกไกลได้ให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกแล้ว โดยประสบความสำเร็จแตกต่างกันไป อินโดนีเซียถูกโจมตีว่า การใช้วัคซีนไม่มีเป้าหมาย แต่ใช้วัคซีนที่ผลิตขึ้นเอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดในประเทศ นับตั้งแต่นั้น จำนวนสัตว์ป่วยลดลง และจำนวนผู้ติดเชื้อก็ต่ำลงอีกด้วย

               จีนให้วัคซีนไข้หวัดนกมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว อ้างว่าช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ จากการให้วัคซีนเชื้อตายเอช ๗ เอ็น ๙ ช่วยให้การระบาดลดลงมากกว่าร้อยละ ๙๐ และลดจำนวนผู้ติดเชื้ออีกด้วย บ่งชี้ว่า การให้วัคซีนสัตว์ปีกเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพต่อการลดการติดเชื้อในมนุษย์

               สุดท้ายแล้ว วัคซีนช่วยควบคุมเชื้อไวรัส และลดปริมาณเชื้อไวรัสลงได้ แต่ไม่สามารถหยุดการระบาดได้ ความปลอดภัยทางชีวภาพยังเป็นทางเดียวในการป้องกันโรค

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2023. Avian influenza: Health officials are preparing for the worst. [Internet]. [Cited 2023 Apr 20]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/health/health-officials-are-preparing-for-the-worst/

ภาพที่ ๑ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกรักษาความเข้มงวดลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ (แหล่งภาพ ANP)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...