วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564

หวัดนกครั้งแรกในฤดูกาลที่บัลกาเรีย และโปรตุเกส

 อิตาลีตกที่นั่งลำบากจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกเกือบ ๗ ล้านตัว

บัลการเรีย และโปรตุเกสกลายเป็นประเทศล่าสุดในยุโรปที่มีรายงานของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในฤดูหนาวนี้ ขณะเดียวกัน จำนวนสัตว์ปีกที่เกิดการระบาดของไข้หวัดนกในอิตาลีเพิ่มขึ้นเป็น ๖.๘๖ ล้านตัวแล้ว และการติดเชื้อยังลุกลามต่อไป

นับตั้งแต่รายงานการระบาดรายแรกที่มีรายงานในโปรตุเกสมาแล้ว โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงยังแพร่กระจายต่อไปจากทิศตะวันออกไปสู่ตะวันตกตลอดทวีปยุโรป

ถึงเวลานี้ ๒๒ ประเทศแล้วที่มีรายงานการระบาดของโรคในสัตว์ปีกปี พ.ศ.๒๕๖๔ นี้ อ้างอิงตามคณะกรรมาธิการยุโรป (European commission, EC) เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคมที่ผ่านมา จากการตรวจติดตามสุขภาพสัตว์ปีกในสหภาพยุโรป หากรวมการระบาดในรัสเซีย และสหราชอาณาจักรแล้ว จำนวนประเทศที่กำลังพยายามหยุดยั้งการระบาดของโรครวมแล้ว ๒๔ ประเทศ

ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ข่าวจากโปรตุเกสอ้างว่า โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงถูกพบในฟาร์มสัตว์ปีกใน Setubal ยังไม่มีรายละเอียดของฟาร์มที่เกิดโรค แต่ยังไม่พบในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์ ฟาร์มที่เกิดโรคอยู่ใกล้กับกรุงลิสบอน ทางชายฝั่งด้านตะวันตกของโปรตุเกส โดยอัตราการตายสูงขึ้นอย่างชัดเจน และยืนยันการตรวจพบเอช ๕ เอ็น ๑

ภายหลังการยืนยันโรคแล้ว หน่วยงานสัตวแพทย์ได้ออกแผนฉุกเฉินสำหรับควบคุมโรคทันที    

รายแรกต้อนรับฤดูหนาวในบัลกาเรีย

               อ้างอิงตามรายงานการตรวจพบโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงเป็นครั้งแรกของฤดูหนาวนี้ในบัลกาเรียต่อองค์กรสุขภาพสัตว์โลก นับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรายงานการระบาดไปแล้ว ๕ ครั้งในสัตว์ปีก แต่ยังไม่ทราบซีโรไทป์ของเชื้อไวรัส ฟาร์มที่เกิดโรคเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์สองแห่ง ฟาร์มนกยูง และฝูงสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านอีกสองฝูง ในจำนวนนี้สี่แห่งตั้งอยู่ในจังหวัดทางตอนใต้ของ Plovdiv และหนึ่งแห่งใกล้กับ Pazardzhik โดยรวมแล้วมีสัตว์ปีกเกิดโรคโดยตรงแล้ว ๑๒๐,๐๐๐ ตัว

อิตาลีระบาดมากกว่า ๑๓๐ ครั้งในฝูงสัตว์ปีก

                 จนถึงวันที่ ๒ ธันวาคม สัตว์ปีก ๑๓๕ ฝูงในอิตาลีให้ผลบวกต่อโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนรแงสูงตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นมา

              ทั้งนี้เป็นไปตามองค์การวิจัย และสุขภาพแห่งชาติสำหรับสุขภาพสัตว์ และความปลอดภัยอาหาร (IZSVe) ยืนยันซีโรไทป์เอช ๕ เอ็น ๑ เป็นส่วนใหญ่ และเป็นเอช ๕ ในทุกพื้นที่

              ทำให้การระบาดเพิ่มขึ้น ๓๓ ครั้งตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมถึง การระบาดครั้งแรกในบริเวณ Friuli-Venezia Giulia และเป็นการระบาดครั้งเดียวที่กว้างขวางมากที่สุด ไก่ไข่เกือบ ๘๖๖,๐๐๐ ตัวในจังหวัด Verona การระบาดยังลุกลามไปยังจังหวัดอื่นๆ รวมถึง Lombardy และ Lazio

              ความเสียหายโดยตรงจากโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในอิตาลีในฤดูหนาวนี้ ๖.๘๖ ล้านตัว ถึงเวลานี้สถานการณ์ก็ยังไม่คลี่คลาย รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคมที่ผ่านมา IZSVe แจ้งจำนวนครั้งการระบาดไว้ถึง ๑๔๕ ครั้ง

โรคไข้หวัดนกกลับเยอรมัน

              หน่วยงานด้านสุขภาพสัตว์ในบาวาเรีย และ Thuringia รายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงเป็นครั้งแรกของฤดูกาลนี้

              ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ แวเรียนต์ถูกตรวจพบในฝูงไก่หลังบ้านทางตะวันออกเฉียงใต้ของบาวาเรีย มีจำนวนไก่ ๔๕ ตัว

              ในเวลาต่อมา สัตว์ปีกหลายชนิดจำนวน ๓๓๐ ตัวให้ผลเป็นบวกต่อเชื้อไวรัสซีโรไทป์เดียวกันใน Thuringia ที่มีพื้นที่ติดกับบาวาเรียทางตอนเหนือ

              ในทางตะวันตก North Rhine-Westphalia รายงานการระบาดเพิ่มเติมอีก ๕ ครั้ง ในจำนวนนี้ ๔ ครั้งเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ ทำให้รวมแล้วมีการระบาดทั้งหมด ๘ ครั้งแล้ว  

              รัฐทางเหนือ และตะวันออก Lower Saxony การระบาดรวมแล้ว ๙ ครั้ง เป็นฝูงห่านพันธุ์จำนวน ๑,๒๘๐ ตัว ให้ผลเป็นบวกสำหรับโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงสับไทป์เอช ๕ เอ็น ๑ ในปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

การระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในยุโรปตอนเหนือ

              ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๑ พบในฝูงสัตว์ปีกอีก ๙ ฝูงในสหราชอาณาจักร

              อ้างอิงตามหน่วยงานด้านการเกษตรกรรมหรือ Defra มีการรายงานแห่งละ ๑ ครั้งในสก๊อตแลนด์ และเวลส์ และอีก ๙ ครั้งในฝูงสัตว์ปีกอังกฤษ เมืองใน North Yorkshire เกิดการระบาดขึ้น ๗ ครั้งจากทั้งหมด ๒๘ ครั้งที่มีการระบาดในอังกฤษในฤดูหนาวนี้ โดยรวมทั้งสก๊อตแลนด์ และเวลส์เป็น ๒ และ ๓ ครั้งตามลำดับ 

              ช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ หน่วยงานด้านเกษตรกรรมในไอแลนด์เหนือ DAERA รายงานสงสัยโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงเป็นครั้งแรกในฤดูหนาวนี้ สังเกตอาการได้เป็นครั้งแรกในฟาร์มเป็ดเชิงพาณิชย์ในเมือง Tyrone และฝูงสัตว์ปีกหลังบ้านขนาดเล็กในเมือง Antrim

              ในสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ยังสงสัยโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในฝูงสัตว์ปีกในเมือง Monaghan รายงานจากรัฐบาลไอร์แลนด์ บ่งชี้ว่า มาตรการควบคุมโรคต่อเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ ที่ตรวจพบในฟาร์มไก่ไข่เชิงพาณิชย์ใกล้กับ Castleblayney อ้างอิงตามรายงานต่อ OIE การระบาดก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในไก่งวงเนื้อในพื้นที่เดียวกัน และฟาร์มไก่พันธุ์ (เนื้อ) ใกล้กับ Latton

              ในฝรั่งเศส จำนวนฝูงสัตว์ปีกที่ให้ผลบวกต่อโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงพบแล้ว ๕ ครั้ง

              เป็นฝูงสัตว์ปีกที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ ๒ ใน ๕ ครั้งข้างต้น อ้างอิงตามกระทรวงเกษตร และยังพบในฝูงสัตว์ปีกหลังบ้านอีกด้วย โดยสองแห่งอยู่ใน Ardennes และหนึ่งแห่งใน Aisne พื้นที่เหล่านี้อยู่ในทางตอนเหนือของฝรั่งเศส และมีพรมแดนติดกับเบลเยียม

              ในทางตอนใต้ของสวีเดน ยังตรวจพบเชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๑ ในฝูงสัตว์ปีกเลี้ยงเล่นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ภาพรวมสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกยุโรป

              ตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายนเป็นต้นมา มีรายงาน ๑๓ ประเทศแล้วที่เกิดการระบาดใหม่ ตามระบบข้อมูลโรคสัตว์ของอีซี จนถึงวันที่ ๕ ธันวาคม รวมแล้วมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในสัตว์ปีก จำนวน ๑,๔๔๓ ครั้งในสัตว์ปีกจาก ๒๒ ประเทศสมาชิกในยุโรปในปีนี้

              เมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดโดยภาพรวมของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในสัตว์ปีก ทั้งหมด ๔๔๒ ครั้งที่มีการรายงานในระบบของอีซีในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ในปีนั้น มีจำนวนรายงานจาก ๑๖ ประเทศ และฮังการีประสบกับการระบาดของโรคร้ายแรงที่สุด ๒๗๓ ครั้ง      

              ปลายเดือนพฤศจิกายน โครเอเชียรายงานการระบาดครั้งแรกของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในสัตว์ปีกของฤดูกาลนี้ต่ออีซี

              อ้างอิงตามรายงานของอีซี โปแลนด์เกิดการระบาดรวมแล้วสำหรับปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น ๓๗๑ ครั้ง ในสาธารณรัฐเช็ก ๔๓ ครั้ง และฮังการีอีก ๓๗ ครั้ง

โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในนกป่ายุโรปสูงถึง ๒,๒๐๐ ครั้งแล้ว

              ในปีนี้ ประเทศในยุโรป ๓๑ ประเทศรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงทั้งหมด ๒,๑๘๖ ครั้งในนกป่าต่ออีซี จนถึงวันที่ ๕ ธันวาคมที่ผ่นมา เปรียบเทียบกับยอดรวมการระบาด ๗๕๖ ครั้งตลอดปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จำนวนครั้งของการระบาดยังคงทะยานสูง นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน โดยมี ๑๓ ประเทศที่ยืนยันการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงอย่างน้อย ๑ ครั้งในนกป่า

ยังไม่รวมข้อมูลตามระบบอีซีที่มีรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในนกป่าในลักเซมเบิร์ก โรมาเนีย และสวีเดน นกป่ามีผลบวกหลายครั้งสำหรับโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง สับไทป์เอช ๕ เอ็น ๑ ในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นมา

เอกสารอ้างอิง

Linden J. 2021. First HPAI cases of the season in Bulgaria, Portugal. [Internet]. [Cited 2021 Dec 6]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/44096-first-hpai-cases-of-the-season-in-bulgaria-portugal

ภาพที่ ๑ โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงกลับมาระบาดเป็นครั้งแรกในบัลกาเรีย และโปรตุเกส (แหล่งภาพ bangoland | Bigstock)



วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564

จีนลดการใช้ถั่วเหลืองในอาหารสัตว์

 ในฤดูใบไม้ผลิตนี้ จีนเริ่มลดระดับกากถั่วเหลืองในอาหารสัตว์

ปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าทั้งถั่วเหลือง และข้าวโพดสำหรับผลิตอาหารสัตว์ปริมาณสูงเป็นสถิติใหม่ ส่งผลให้จีนจำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศอย่างมาก และต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้เป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯกับจีน และคานาดากับจีน ขณะที่ จีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นหลัก สร้างความวิตกกังวลต่อจีนเป็นอย่างมาก ทั้งที่ราคาข้าวโพด และถั่วเหลืองก็สูงมาก

สื่อ Global Times รายงานไว้ในเดือนพฤษภาคมว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ การระบาดของโรคโควิด ๑๙ และภัยพิบัติทางธรรมชาติในหลายประเทศได้ทำให้ราคาข้าวโพดพุ่งสูงที่สุดในรอบ ๕ ปี ราคากากถั่วเหลืองก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่เดือน

ข้อแนะนำจากรัฐบาลจีน

เพื่อบรรเทาปัญหานี้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตร และชนบทจีน เรียกร้องให้บริษัทต่างๆลดการใช้ถั่วเหลือง และข้าวโพดในอาหารสัตว์ แม้ข้อเรียกร้องนี้จะเฉพาะเจาะจง แต่ก็เป็นข้อเสนออย่างสมัครใจ และเป็นแนวทางเท่านั้น อ้างตาม Zhu Xi’an หัวหน้ากลุ่มการเกษตรใน Mysteel.com บริษัทผู้ติดตามตลาดสินค้าเหล็ก และการเกษตร เห็นว่า อุตสาหกรรมได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว และกำลังพยายามลด และใช้วัตถุดิบอื่นๆทดแทน  

สื่อ Global Times รายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมาว่า บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ New Hope Liuhe ได้ลดกากถั่วเหลืองในอาหารสัตว์แล้วเหลือร้อยละ ๒ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ ๑๒.๕ และปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ร้อยละ ๑๓.๒ แต่ผู้ผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุด Muyuan Foods ได้ลดปริมาณโปรตีนในอาหารสัตว์ของตัวเอง โดยการลดกากถั่วเหลืองลงแล้วเช่นกัน การใช้เหลือเพียงร้อยละ ๙.๘ อ้างตาม Nasdaq.com เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมร้อยละ ๑๘ Muyuan Foods มีการผลิตสุกร ๑๘ ล้านตัวในปี พ.ศ. ๒๕๖๓

การใช้กฏหมายบังคับให้ลดถั่วเหลือง

ในเดือนพฤษภาคม Qin Yinglin ประธาน Muyuan อ้างว่า ผู้ผลิตส่วนใหญ่ใช้โปรตีนในอาหารสุกรมากเกินไป และเน้นย้ำว่า หากทั้งอุตสาหกรรมลดการใช้กากถั่วเหลืองในอาหารสุกรลงร้อยละ ๙.๘ ซึ่งลดการใช้ปริมาณกากถั่วเหลืองต่อสุกร ๑ ตัวลงได้ราว ๓๑ กิโลกรัม ทั้งประเทศก็จะใช้กากถั่วเหลืองลงได้ ๒๐ ล้านตัน จีนนำเข้าถั่วเหลืองราว ๑๐๐ ล้านตันต่อปี และนำไปเตรียมเป็นกากถั่วเหลืองสำหรับผลิตปศุสัตว์ และเรียกร้องให้รัฐบาลจีนกำหนดเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทต่างๆจะลดปริมาณโปรตีนในอาหารสัตว์ของตนเอง

วัตถุดิบทดแทนข้าวโพด และถั่วเหลือง

              กระทรวงเกษตรจีน แนะนำให้ใช้ข้าว มันสำปะหลัง รำข้าว ข้าวบาร์เรย์ และซอร์กัม เป็นวัตถุดิบทดแทนข้าวโพด กากถั่วเหลืองสามารถทดแทนด้วยกากเรพซีด กากเมล็ดนุ่น กากถั่วลิง กากเมล็ดทานตะวัน กากปาล์ม กากเฟล็กซ์ กากงา และผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากการแปรรูปข้าวโพด

              รัฐบาลจีนแนะนำให้ลดการใช้ข้าวโพด และถั่วเหลืองลงตามระดับท้องถิ่น ข้าวโพดสามารถลดลงได้ร้อยละ ๑๕ ในอาหารสุกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เช่น โดยการใช้ข้าว และรำข้าว หรือซอร์กัม แป้งมันสำประหลัง กากรำข้าว และข้าวบาร์เลย์ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนของวัตถุดิบทดแทนก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก

วิเคราะห์ต้นทุน

              ต้นทุน และปริมาณวัตถุดิบเป็นปัจจัยสำคัญที่สำคัญสำหรับการเลือกใช้ทดแทนกากถั่วเหลือง เนื่องจาก ราคาข้าวโพดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ข้าวสาลีที่มีราคาย่อมเยาว์กว่าจึงน่าสนใจที่จะเลือกใช้ ความจริงแล้วยังมีอาหารสัตว์หลายชนิดที่ใช้ข้าวสาลีทดแทนข้าวโพด แต่เป็นแรงขับที่มาจากราคาเป็นหลัก ยังคงมีโควตาจำกัดการนำเข้าสาลี ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงเป็นข้าวสาลีจากภายในประเทศ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลกระทบต่อการใช้กากถั่วเหลือง อ้างอิงตามนักวิเคราะห์อาวุโสจาก StoneX คาดว่า ข้าวสาลีภายในประเทศที่ใช้สำหรับปศุสัตว์ภายในประเทศจีน เพิ่มขึ้นไปแล้วราว ๓๐ ล้านตันในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ การใช้ข้าวสาลีในอาหารสัตว์เป็นผลมาจากการลดการใช้กากถั่วเหลือง ข้าวสาลีมีราคาถูกกว่าข้าวโพดได้สักพักแล้ว นอกจากนั้น ปีนี้ยังมีสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกข้าวสาลี ดังนั้น คุณภาพจึงลดลง จึงทำให้ยิ่งถูกนำไปใช้เลี้ยงสัตว์เป็นหลัก

              กลยุทธ์ของ Muyuan Foods ในการลดกากถั่วเหลืองในอาหารสุกรเป็นการใช้กรดอะมิโนสังเคราะห์ ขณะที่ บริษัทเองก็พยายามใช้กลยุทธ์นี้ แต่ไม่มีการตอบสนอง ทั้งนี้เข้าใจว่า การใช้กรดอะมิโนส่วนใหญ่มาจากข้าวโพด ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้เชื่อว่ามีแรงจูงใจที่จะแสดงให้เห็นถึงความพยายามตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของภาครัฐบาลให้เปลี่ยนสูตรอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อน เนื่องจาก อุตสาหกรรมการแปรรูปข้าวโพดในจีนที่ผลิดกรดอะมิโนได้ขยายไปเรียบร้อยแล้วเมื่อไม่กี่ปีที่ผานมา การใช้ข้าวโพดของอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นหมายความว่า ความต้องการที่สูงขึ้นในจีนด้วยเช่นเดียวกัน และนำไปสู่การขาดแคลน ก็จะต้องมีการนำเข้าในปริมาณที่สูงขึ้น ดังนั้น ขณะที่ภาครัฐพยายามส่งเสริมให้สูตรอาหารสัตว์ลดการใช้กากถั่วเหลือง ไม่ได้ทำให้ลดการนำเข้าวัตถุดิบลงได้

พัฒนาการที่ช้ามาก

              อุตสาหกรรมการผลิตสุกรในประเทศจีน พยายามลดการใช้กากถั่วเหลืองในเวลานี้ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก บางครั้ง กากเรพซีด และกากทานตะวันก็หาได้ง่ายในราคาที่ดีทีเดียว แต่ขณะนี้ ผลิตสุกรตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับต้นทุนการผลิต และจะเลือกใช้อะไรก็ได้ที่ราคาถูกที่สุด ในเวลาเดียวกัน ยังพบว่าวัตถุดิบทางเลือกที่จะทดแทนกากถั่วเหลือง เช่น กากเรพซีด กากเมล็ดนุ่น กากถั่วลิสง ยังใช้กันน้อยมาก อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากปัจจัยด้านราคา ปริมาณของวัตถุดิบโลกก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจเลือกใช้วัตถุดิบทางเลือก คอนเทนเนอร์ที่จะใช้ขนส่งก็ยังหาพื้นที่ได้ยากมาก จึงเป็นการยากที่วัตถุดิบทางเลือกจะสามารถลดความต้องการถั่วเหลืองได้จริงๆ ความพยายามของรัฐบาลจีนทีจะลดการนำเข้าถั่วเหลือง และสร้างทางเลือกของวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้หลากหลายมากขึ้น ควรเป็นการสร้างฐานข้อมูลด้านอาหารสัตว์ เพื่อรายงานให้กับผู้ผลิตเกี่ยวกับสูตรอาหารสัตว์ต่างๆ ยังเป็นการยากอย่างมากที่จะไปเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน จากนโยบายปัจจุบัน ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มาก เกษตรกรจะยังคงเลือกใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ราคาถูกที่สุด และสิ่งนั้นก็ยังคงเป็นถั่วเหลืองอยู่นั่นเอง        

เอกสารอ้างอิง

All About Feed. 2021. China to reduce soy in animal diets. [Internet]. [Cited 2021 Dec 9]. Available from: https://www.allaboutfeed.net/market/market-trends/china-to-reduce-soy-in-animal-diets/

ภาพที่ ๑ จีนลดการใช้ถั่วเหลืองในอาหารสัตว์ (แหล่งภาพ Wikipedia)



วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

USDA ตั้งเป้าลดผู้ป่วยซัลโมฯจากสัตว์ปีก

 หน่วยบริการด้านการตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ตั้งเป้าเพิ่มความเข้มงวด และความเข้มข้นในการควบคุมการป่วยจากเชื้อ ซัลโมเนลลา ที่มาเกิดจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก

              กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ กำหนดแผนในการลดการปนเปื้อนเชื้อ ซัลโมเนลลา ตลอดห่วงโซ่การลิตสัตว์ปีก และระบบการผลิตทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงด้านสาธารณสุข โดยกำหนดลดการป่วยจากเชื้อ ซัลโมเนลลา ลงให้ได้ร้อยละ ๒๕

              แม้ว่าจะปรากฏเชื้อ ซัลโมเนลลา ในผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกลดลงอย่างต่อเนื่องหลายปี สัตว์ปีกก็ยังมีความเชื่อมโยงกับการติดเชื้อ ซัลโมเนลลา ร้อยละ ๒๓ ของการติดเชื้อทั้งหมด ๑.๓๕ ล้านรายต่อปีในสหรัฐฯ ทำให้มีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล ๒๖,๕๐๐ ราย และเสียชีวิต ๔๒๐ ราย

              กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ กำลังมองหาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะแนะนำกลยุทธ์สำหรับการควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา และการประเมินผล รวมถึง โครงการนำร่อง ในโรงเชือดสัตว์ปีก และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก

การลดเชื้อ ซัลโมเนลลา ไม่ให้เข้าสู่โรงฆ่า

              กุญแจสำคัญของเป็นการลดการปนเปื้อนเชื้อ ซัลโมเนลลา ไม่ให้เข้าสู่ฟาร์ม โครงการนำร่องหนึ่งจะเป็นการเพิ่มการทดสอบเชื้อแบคทีเรียเชิงปริมาณ และทดสอบเชื้อ ซัลโมเนลลา บางสายพันธุ์ ที่ทำให้คนป่วยได้ นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรใช้วัคซีนเพิ่มขึ้น รวมถึง การใช้โปรไบโอติกในอาหารสัตว์ เพื่อให้มั่นใจว่า วัสดุรองพื้น อาหาร และน้ำ ยังคงสะอาด เพื่อลดเชื้อแบคทีเรียในตัวไก่ลงให้ได้

การปฏิรูปความปลอดภัยสำหรับการผลิตสัตว์ปีก

              ระบบการผลิตในปัจจุบัน ยังมีรอยรั่วให้เชื้อ ซัลโมเนลลา เข้าสู่ระบบการผลิตได้ อัตราการป่วยจากการติดเชื้อ ซัลโมเนลลา และ แคมไพโลแบคเตอร์ ในสหรัฐฯ ยังคงสูงตลอดเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามบังคับกฏระเบียบของภาครัฐ เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียในผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแล้วก็ตาม จึงเห็นว่า ควรยกระดับกฎระเบียบที่ใช้ในปัจจุบันขึ้นมาอีก  

              กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ต้องค้นหานวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ความปลอดภัยอาหารต้องขยายพื้นที่ต่อไปจากวัตถุดิบไปจนถึงบรรจุภัณฑ์สุดท้าย โดยเฉพาะ แคมไพโลแบคเตอร์ จำเป็นต้องรวมไว้ด้วย และจำเป็นต้องมีการลงทุนในด้านการวิจัยเพิ่มขึ้น

สภาไก่แห่งชาติ ความจำเป็นต่อการให้ความรู้ผู้บริโภค

 สภาไก่แห่งชาติ (National Chicken Council, NCC) เน้นย้ำว่า แม้ว่าระดับเชื้อจะต่ำอย่างมาก แต่ก็ยังคงมีโอกาสที่ผลิตภัณฑ์ดิบจะถูกจัดการ หรือปรุงสุกอย่างไม่เหมาะสม การสร้างความรู้ให้กับผู้บริโภคในการจัดการ และปรุงสุกเนื้อดิบเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป เพิ่มเติมไปยังเชื้อแบคทีเรียทุกชนิดที่พบในไก่ดิบ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด ก็สามารถทำลาย โดยการจัดการ และปรุงสุกอย่างเหมาะสม  

ขณะที่ บริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีก ปรับปรุงให้ทันสมัย ทำการวิจัย สร้างนวัตกรรม และเทคโนโลยี รวมแล้วนับพันล้านบาทต่อปี เพื่อยกระดับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ไก่ การตรวจสอบ และทดสอบอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จระยะยาวของการจัดการเหล่านี้ในการช่วยสร้างความปลอดภัยเพื่อผลิตโปรตีนที่มีคุณค่าทางอาหาร และราคาย่อมเยาสำหรับผู้บริโภค

สหพันธ์ไก่งวงแห่งชาติ เห็นว่า ไม่มีหนทางที่ง่าย

              ไม่มีหนทางที่ง่ายสำหรับการเพิ่มความปลอดภัยอาหาร กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ต้องเป็นคนกลางสร้างความร่วมมือ ประเทศนิวซีแลนด์ ได้เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา แล้ว โดยบังคับใช้กฏระเบียบในประเทศบังคับใช้สำหรับภาคการผลิตไก่ และเชื่อมโยงชนิดของเชื้อ ซัลโมเนลลา กับข้อมูลการป่วยของคน เพื่อวางแผนจัดการเชื้อ ซัลโมเนลลา ทั้งฟาร์มไก่พันธุ์ โรงฟัก ไก่เนื้อ และไก่ไข่    

เอกสารอ้างอิง

Berkhout N. 2021. USDA aims to reduce salmonella illnesses linked to poultry. [Internet]. [Cited 2021 Nov 11]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2021/11/USDA-aims-to-reduce-salmonella-illnesses-linked-to-poultry-815596E/

ภาพที่ ๑ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ใกล้เป้าหมายแล้วในการลดการป่วยจากเชื้อ ซัลโมเนลลา ลงร้อยละ ๒๕  (แหล่งภาพ Manfred Richter)



วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เกมมิฟิเคชัน ช่วยลดการเทิร์นโอเวอร์แรงงานในโรงเชือด

 ระบบการตรวจประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นมาตรวัดที่สามารถแสดงเป็นคะแนนของแรงงานภายในโรงงานแปรรูปการผลิตสัตว์ปีก สามารถแสดงผลงาน และเป้าหมายให้เห็นได้ง่าย

  การเก็บมาตรวัดผลงานผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์จะช่วยจูงใจพนักงานในโรงงานแปรรูปการผลิต จัดการประสิทธิภาพการทำงานได้แบบเรียลไทม์ ช่วยรักษาพนักงานไว้ให้ทำงานกับสถานประกอบการได้เป็นเวลานาน การเชื่อมกิจกรรมการทำงานให้เป็นคะแนน เพื่อใช้สำหรับการประเมินเพื่อให้รางวัล การปรับตำแหน่ง และสร้างบรรยากาศการแข่งขันในสถานประกอบการอิเทอเรต แลบส์ (Iterate labs) ได้ใส่กลศาสตร์สำหรับการเล่นเกมส์เข้าสู่สภาพแวดล้อมการทำงานภายในโรงงานแปรรูปการผลิต เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการปฏิบัติงาน เป้าหมายของเกมมิฟิเคชันคือ การสร้างความผูกพันให้กับพนักงานให้มีแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างสนุกสนาน และร่วมกันทำงานเป็นทีมนวัตกรรมใหม่นี้เป็นสิ่งที่นักวิจัย และผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีกจะช่วยกันเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีก  

ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

               ผู้ประกอบการโรงเชือดสัตว์ปีกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาก เนื่องจาก การระบาดของโรคโควิด ๑๙ ทั่วโลก ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดปัญหาแรงงาน และเพิ่มความปลอดภัยของแรงงานจึงได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกประสบปัญหาวิกฤติการขาดแคลนแรงงาน สถานประกอบการแต่ละแห่งไม่สามารถจัดหาแรงงานได้อย่างเพียงพอต่อการรักษาผลผลิตของตนเองได้ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียด้านการผลิตอย่างมาก การเพิ่มค่าจ้าง และเพิ่มจำนวนวันหยุดก็ยังไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ความต้องการของแรงงานได้ ผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีกจึงพยายามหาเทคโนโลยีใหม่ และใช้กลยุทธ์การจัดการให้เกิดความผูกพันต่อสถานประกอบการ    

กลยุทธ์การใช้มาตรวัดผลการปฏิบัติงาน แสดงเป็นคะแนนส่วนบุคคล

               เทคโนโลยีสมาร์ตวอทช์ และระบบการแสดงผลด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อแปลงเป็นข้อมูลดิจิตอล และประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานให้รู้สึกท้าทายเหมือนการเล่นเกมส์ มาตรวัดผลงานของพนักงานแต่ละคนจะถูกแปลงเป็นคะแนนเพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน และเป้าหมายได้แบบเรียลไทม์ เช่น การเคลื่อนไหวของพนักงานจะถูกแปลงให้เป็นค่าการเผาผลาญพลังงานเป็นแคลอรี และการได้รับอาหาร ให้พนักงานได้ติดตามผลกิจกรรมการปฏิบัติงานในโลกจริง วิธีการนี้เป็นวิธีอย่างง่ายที่จะแปลงเป้าหมายสำหรับการเติบโตในการทำงาน และการปรับตำแหน่งหน้าที่ ประเมินผู้ที่มีผลงานยอดเยี่ยมดีที่สุด และสนุกกับการทำงานเพื่อให้ได้รับรางวัล เช่น บัตรของขวัญ เงิน เวลาหยุดพักเพิ่ม การหยุดงาน เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

Doughman E. 2021. Gamification could reduce poultry processing labor turnover. [Internet]. [Cited 2021 Sep 10]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/43552-gamification-could-reduce-poultry-processing-labor-turnover  

ภาพที่ ๑ วีอาร์ กับปัญหาแรงงานในการผลิตสัตว์ปีก (แหล่งภาพ franz12 | BigStock.com)



วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

การจัดการปัญหาแรงงานในโรงเชือดด้วยสมาร์ตวอช

 การสร้างเป้าหมายการทำงานให้กับพนักงานให้เสมือนการเล่นเกมส์จะช่วยให้พนักงานเกิดความผูกพันต่อสถานที่ทำงาน และรักษาพนักงานไว้ช่วยทำงานได้นานขึ้น

การใช้สมาร์ตวอทช์ หรือนาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ ช่วยลดปัญหาการลาออกของพนักงาน และพนักงานเกิดความผูกพันอยากทำงานในโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกได้นานขึ้น

การระบาดของโรคโควิด ๑๙ ไปทั่วโลก ทำให้สถานที่ทำงานสำหรับแรงงานภาคการผลิตสัตว์ปีกเลวร้ายลงอย่างมาก ยิ่งมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเป็นเวลาหลายปีต่อเนื่อง นับเป็นสิ่งท้าทายสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ ผู้บริหารสูงสุดของอิเทอเรต แลบส์ (Iterate labs) อธิบายที่ถึงที่มาของนวัตกรรมนี้เริ่มต้นจากการวิคราะห์ข้อมูล และการวิจัย จนสังเกตเห็นว่า การขาดความผูกผันต่อสถานที่ทำงาน เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่ส่งผลต่อการลาออกของพนักงาน และปฏิบัติงานได้ไม่นานก็ลาออกไป   

พนักงานไม่มีวัตถุประสงค์ และเป้าหมายสำหรับการทำงาน ไม่มีการตอบกลับถึงผลการปฏิบัติงานของตันเอง ไม่มีวัฒนธรรมการทำงาน หรือน่าเบื่อ ทรัพยาการการบริหารงานไม่เอื้ออำนวยให้มีการตอบกลับถึงผลการปฏิบัติงานของพนักงาน หรือไม่มีแนวทางให้พนักงานได้เจริญเติบโตในการทำงานในอาชีพ  

มาตรวัดผลการปฏิบัติงานให้คล้ายการเล่นเกมส์

              แพลตฟอร์มสมาตร์ตวอทช์ ที่ช่วยเก็บ และตรวจสอบย้อนกลับผลการทำงานของตัวเองด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ข้อมูลที่เก็บรวบรวมด้วยอุปกรณ์สวมใส่ขณะปฏิบัติงาน แล้วเก็บรวบรวมข้อมูลจัดเก็บไว้ในคลาวด์ จึงสามารถเข้าถึงได้โดยผู้บริหาร โดยแสดงผลเป็นแดชบอร์ดคอยติดตามผลการปฏิบัติงานได้แบบเรียลไทม์ พนักงานจึงสามารถประเมินตัวเองได้ตลอดเวลา รู้สึกได้ถึงความท้าทาย และแข่งขันให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน

              การสร้างสถานการณ์จำลองการปฏิบัติงานให้เหมือนการเล่นเกมส์ ช่วยลดการบาดเจ็บ ความเหนื่อยล้า และการลาออกของพนักงาน รวมถึง ยังมีระบบการฝึกอบรม ข้อมูลภายในระบบยังสามารถแสดงให้ผู้บริหารที่โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุดที่เป็นสาเหตุให้พนักงานลาออก และหาวิธีการสร้างความผูกพันต่อสถานที่ทำงาน และยืดอายุงานให้นานขึ้นได้

สู่โลกแห่งความเป็นจริง

              การทดสอบกับพนักงาน ๕๐ คนที่โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีก พบว่า อุปกรณ์ใหม่นี้ช่วยเพิ่มโอกาสการพบปะระหว่างพนักงาน และผู้บริหารทุกวันอย่างน้อย ๑๐ นาที และยังช่วยให้พนักงาน ๒ คน เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นจากผลการปฏิบัติงาน และคะแนนที่ปรากฏบนแดชบอร์ด เป็นการช่วยลดพนักงานลาออกจากงานลงได้ร้อยละ ๖๕ รวมถึง ยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ร้อยละ ๕ และความปลอดภัยในการทำงาน ลดการเข้าห้องพยาบาลลงได้ร้อยละ ๗๕ ยิ่งไปกว่านั้นคือ การตอบรับจากผู้บริหารเป็นอย่างดี เนื่องจาก ช่วยลดการลาออก และการลาหยุดของพนักงานลงได้อย่างมาก ลูกค้ารายหนึ่งอ้างว่า แทบไม่มีใครลาออกอีกเมื่อใช้แพลตฟอร์มนี้ที่ใช้สมาร์ตวอทช์ที่ประมวลผลด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์               

เอกสารอ้างอิง

Doughman E. 2021. Could smartwatches solve poultry processing’s labor problem?. [Internet]. [Cited 2021 Nov 4]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/43910-could-smartwatches-solve-poultry-processings-labor-problem

ภาพที่ ๑ วีอาร์ กับปัญหาแรงงานในการผลิตสัตว์ปีก (แหล่งภาพ franz12 | BigStock.com)



วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สัตว์ปีกโปแลนด์ฟื้นตัวท่ามกลางตลาดที่ยากลำบาก

 ผู้ผลิตสัตว์ปีกโปแลนด์ฟื้นตัว แต่ตลาดยังคงยากลำบาก

ผู้ผลิตสัตว์ปีกโปแลนด์ตระเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตไก่พันธุ์โดยใช้เวลาไม่ถึง ๒ เดือนตั้งแต่การระบาดของโรคไข้หวัดนกสิ้นสุดลง สภาสัตว์ปีกและผู้ผลิตอาหารสัตว์แห่งชาติ อ้างว่า โปแลนด์สูญเสียไก่พันธุ์ (เนื้อ) มากถึง ๑.๘ ล้านตัว เนื่องจาก การระบาดของโรคไข้หวัดนกในปีนี้ ในช่วงที่การระบาดสูงที่สุด การทำลายสัตว์ปีกจากโรคไข้หวัดนกส่งผลให้นักวิเคราะห์เตือนว่า เป็นการสูญเสียฐานการผลิตสัตว์ปีกพันธุ์ขนาดใหญ่ที่จะส่งผลต่อความยากลำบากในการผลิตสัตว์ปีกต่อไป โดยคาดการณ์ว่าราคาไข่ฟักจะทะยานสูงขึ้น แต่ในเวลานี้ จำนวนไก่พันธุ์ (เนื้อ) กลับมาเลี้ยงได้ถึง ๒๒.๘ ล้านตัวใกล้เคียงกับระดับก่อนการเกิดโรคระบาด

นั่นหมายความว่า โรคไข้หวัดนกที่คาดว่าจะทำส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตไข่ฟักเป็นเวลาหลายเดือน หรือหลายปี แต่ส่งผลเพียง ๒ เดือนเท่านั้น จนถึงปัจจุบัน การระบาดของโรคไข้หวัดนกครั้งล่าสุดได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคมมีแม่ไก่จำนวน ๕๗๐,๐๐๐ ตัว เกิดขึ้นในฟาร์มบริเวณย่าน Zuromin ในปีนี้เมือง Masovia และ Great Poland เป็นพื้นที่ที่เกิดการระบาดร้ายแรงที่สุด โดยภาพรวมแล้ว เกิดการระบาดทั้งหมด ๓๓๙ ครั้งในปีนี้ เทียบปับ ๕๔ ครั้งในปีที่แล้ว โดยมีสัตว์ปีกถูกทำลายรวมแล้ว ๑๒ ล้านตัว

ปัญหาในการผลิตสัตว์ปีกยังคงมีต่อไป

                 การผลิตสัตว์ปีกในโปแลนด์ยังคงผันผวน และผลกำไรค่อนข้างต่ำ เนื่องจาก โปแลนด์พึ่งพาการส่งออกไปหลัก ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกโปแลนด์ยังคงถูกห้ามส่งออกในหลายประเทศที่สำคัญ ดังนั้น ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกจึงจำหน่ายให้กับตลาดภายในประเทศ ราคาเนื้อสัตว์ปีกตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าเป็นผลมาจากการขาดแผนการผลิต

การวางแผนการผลิตสัตว์ปีก

              การวางแผนการผลิตสัตว์ปีกเป็นไปได้ยาก เนื่องจากร้อยละ ๓๐ ของตลาดเนื้อสัตว์ปีกไม่มีการทำข้อตกลงกับห่วงโซ่ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต นั่นหมายความว่า การผลิตไก่พันธุ์ที่ขาดข้อมูลดังกล่าวในการตัดสินใจ การผลิตไก่จึงเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบว่าใครจะซื้อ หากตลาดมีความต้องการสูง ผู้ประกอบการก็จะกอบโกยกำไรไว้ได้ แต่หากไก่ล้นตลาด ราคาก็จะตกต่ำลงมากทั้งตลาด  

เอกสารอ้างอิง

Vorotnikov V. 2021. Polish poultry industry recovers, but market remains rough. [Internet]. [Cited 2021 Oct 7]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2021/10/Polish-poultry-industry-recovers-but-market-remains-rough-801891E/

ภาพที่ ๑ โปแลนด์สูญเสียไก่พันธุ์ (เนื้อ) ไปกว่า ๑.๘ ล้านตัวเนื่องจากโรคไข้หวัดนก (แหล่งภาพ Koos Groenewold)



วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2564

“Better life” สำหรับซูปเปอร์มาร์เก็ตดัทช์

 ภายในปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๖ นี้ เนื้อไก่สดที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ของประเทศเนเธอร์แลนด์ จะต้องมีเครื่องหมายเป็นจำนวนดาวสำหรับเบทเทอร์ เลเวน หรือเบทเทอร์ ไลฟ์ อย่างน้อย ๑ ดวง

รายชื่อซูเปอร์มาร์เก็ตครบถ้วนแล้วในปัจจุบันเป็นหลักไมล์ที่ยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรกในโลก องค์กรด้านสวัสดิภาพสัตว์ในเนเธอร์แลนด์ แวคเกอร์ ไดเออร์ (Wakker Dier) แสดงความภาคภูมิใจต่อซูเปอร์มาร์เก็ต และภาคการผลิตไก่ในเนเธอร์แลนด์ และคาดหวังจะได้เห็นฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสัตว์มากขึ้น

              เชนซูเปอร์มาร์เก็ตในเนเธอร์แลนด์ บอนี่ เป็นร้านสุดท้ายที่ตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้เนื้อไก่เบทเทอร์ไลฟ์ ๑ ดาวเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดสำหรับสินค้าไก่สด ก่อนหน้านี้ ร้านเชนซูเปอร์มาร์เก็ตในดัทช์รายอื่นๆได้ประกาศว่า ลูกค้าจะซื้อเนื้อไก่สดที่มีเครื่องหมายคุณภาพเบทเทอร์ไลฟ์อย่างน้อย ๑ ดาวไปเรียบร้อยแล้ว โดยห้างอัลเบิร์ต เฮนจ์ ได้ประกาศเป็นรายแรกตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม

 ดาวเบทเทอร์ไลฟ์

              เนื้อไก่ภายใต้เครื่องหมายดาวเบทเทอร์ไลฟ์เป็นไปตามที่กำหนดไว้โดยแวคเกอร์ ไดเออร์ เริ่มตั้งแต่พันธุ์ไก่ที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดี เป็นสายพันธุ์ไก่โตช้า เลี้ยงภายใต้สภาวะที่ดี สัตว์มีโอกาสได้มีความสุขกับแสงแดด มีพื้นที่การเลี้ยงเพิ่มขึ้น และสามารถเดินออกไปภายนอกโรงเรือนได้ เครื่องหมายคุณภาพเบทเทอร์ไลฟ์เป็นเครื่องหมายคุณภาพที่บ่งชี้ถึงการปกป้องสัตว์

ผลกระทบต่อภูมิอากาศโลก

              สำหรับห้างบอนี่ เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรายสุดท้ายที่เปลี่ยนมาใช้เนื้อไก่ภายใต้เครื่องหมายคุณภาพเบทเทอร์ไลฟ์ ๑ ดาว แม้ว่า เครื่องหมายคุณภาพนี้จะบ่งชี้ถึงสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีขึ้น แต่ยังหมายถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย หากไก่ต้องเลี้ยงต่อไปอีก ๒ สัปดาห์ ก็จะกิน ดื่มน้ำ และขับถ่ายเพิ่มขึ้นอีก ๒ สัปดาห์ และส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศโลกได้เช่นกัน

การลงทุนเลี้ยงไก่เบทเทอร์ไลฟ์

              เพื่อผลิตเนื้อไก่ภายใต้เครื่องหมายคุณภาพเบเทอร์ไลฟ์ ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อต้องมีพื้นที่ภายนอกโรงเรือนให้ไก่ออกไปภายนอกได้ จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม องค์การเกษตรกรเชื่อว่า ผู้เลี้ยงจะสามารถคืนทุนได้ในอนาคตอันใกล้จากราคาจำหน่ายสินค้าพิเศษนี้

เอกสารอ้างอิง

Berkhout N. 2021. A ‘better life’ for all Dutch supermarket chickens. [Internet]. [Cited 2021 Aug 26]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2021/8/A-better-life-for-all-Dutch-supermarket-chickens-784610E/  

ภาพที่ ๑ การผลิตไก่ภายใต้เครื่องหมายคุณภาพเบทเทอร์ไลฟ์ ผู้เลี้ยงไก่เนื้อต้องจัดให้มีพื้นที่ภายนอกโรงเรือนเพิ่มขึ้น (แหล่งภาพ fotobility)




อียูอนุญาตใช้โปรตีนที่ผลิตจากสัตว์ในอาหารสัตว์

 ร่างกฎระเบียบที่จะพลิกกลับการห้ามใช้โปรตีนจากสัตว์กับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในยุโรปกำลังผ่านการรับรอง

ร่างกฎระเบียบของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วย การให้อาหารสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง ครอบคลุมทั้งสุกร และสัตว์ปีก โดยใช้โปรตีนจากสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป กำลังได้ไฟเขียวภายหลังการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเป็นระยะเวลา ๔ เดือน การใช้โปรตีนจากสัตว์ในการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เคี้ยวเอื้องถูกห้ามตั้งแต่การระบาดของโรควัวบ้า ที่เริ่มต้นขึ้นในสหราชอาณาจักรช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ และเชื่อว่ามีสาเหตุโดยการให้อาหารสัตว์ที่ผลิตจากเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และกระดูกป่น โรควัวบ้าได้รับการยืนยันในผู้ป่วยสหราชอาณาจักรระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๙ จนถึง พ.ศ. ๒๕๕๘ โคจำนวนมากกว่า ๔ ล้านตัวถูกทำลาย และไม่มีรายงานมานานกว่า ๔ ปีแล้ว เชื่อว่า โรคนี้ได้ถูกกำจัดไปเรียบร้อยแล้ว

การส่งเสริมอาหารสัตว์ท้องถิ่น

              นับตั้งแต่การสั่งห้ามใช้โปรตีนจากสัตว์ การนำเข้าถั่วเหลืองจากทวีปอเมริกาเหนือ และใต้กลายเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญในอาหารสัตว์ ซึ่งอียูมองว่าไม่มีความยั่งยืน ดังนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปจึงเห็นว่าควรส่งเสริมการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์จากท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภายในภูมิภาค  ตามกฎระเบียบใหม่นี้จะอนุญาตให้ใช้โปรตีนจากสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป (processed animal protein, PAP) ที่ผลิตจากสุกร สามารถผสมในอาหารสัตว์ปีก และที่ผลิตจากสัตว์ปีก สามารถผสมในอาหารสุกรได้ ภายใต้ข้อกำหนดที่เข้มงวด โดยต้องมีการแสดงผลการตรวจสอบด้านดีเอ็นเอในเชิงคุณภาพ เป็นข้อกำหนดที่เข้มงวดสำหรับโรงฆ่าสัตว์ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และยังต้องมีข้อกำหนดเพิ่มเติมด้านระบบ HACCP การติดฉลากระบุโปรตีนจากสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป การใช้โปรตีนจากสัตว์ที่ผลิตจากโคยังไม่ได้รับอนุญาต  

โปรตีนจากสัตว์ที่ผ่านการแปรรูปที่เตรียมจากแมลง

              คณะกรรมาธิการยุโรปยังทบทวนการอนุญาตให้มีการใช้ PAPs ที่เตรียมจากแมลง สำหรับอาหารสุกร และสัตว์ปีก จนถึงปัจจุบัน น้ำมันจากแมลงเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหารสัตว์ และการใช้โปรตีนจากแมลงในปลาป่น การเคลื่อนไหวนี้ได้รับการต้อนรับโดย Copa-Cogeca สหภาพเกษตรกรชั้นนำในอียู โดยอ้างว่าการใช้ PAPs เป็นแหล่งสำคัญของสารอาหารที่อุดมไปด้วยฟอสฟอรัส และเป็นโปรตีนที่ย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมาก ผู้เลี้ยงสุกร และสัตว์ปีกในอียูกำลังคอยการกลับมาของโปรตีนจากสัตว์อีกครั้ง  

            อย่างไรก็ตาม อิตาลีที่เป็นประเทศสมาชิกสภายุโรป พยายามล็อบบี้อย่างหนักในช่วงต้นปีไม่ให้คณะกรรมาธิการยุโรปยกเลิกการสั่งห้ามใช้โปรตีนจากสัตว์ เนื่องจาก เห็นว่าไม่มีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมนุษย์ หรือสัตว์ที่ดีสำหรับการยกเลิกคำสั่งห้ามใช้โปรตีนจากสัตว์ ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่า เจ้าพนักงานรัฐ และผู้ผลิตจะสามารถรับประกันได้ว่าสามารถแยกไลน์การผลิต และสร้างความเชื่อมั่นต่อการควบคุมได้อย่างแม่นยำ

มาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ และระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ  

              สหราชอาณาจักรให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษามาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ และความปลอดภัยทางชีวภาพให้อยู่ในระดับสูงที่สุด ภายหลังออกจากสหภาพยุโรปแล้ว และไม่มีข้อผูกมัดทางกฏหมายให้ต้องปฏิบัติ และเปลี่ยนแปลง ดีฟรา (DEFRA, Department of Environment, Food and Rural Affairs กล่าวถึงทางเลือกสำหรับการทบทวนกฏระเบียบว่าด้วยโรค TSE (Transmissible Spongiform Encephalopahy) ในอนาคตจะยังคงรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหาร และสุขภาพของมนุษย์ และสัตว์ไว้ในระดับสูง โดยพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

เอกสารอ้างอิง

McDougal T. 2021. EU set to allow feeding of animal protein to non-ruminants. [Internet]. [Cited 2021 Aug 27]. Available from: https://www.poultryworld.net/Nutrition/Articles/2021/8/EU-set-to-allow-feeding-of-animal-protein-to-non-ruminants-784605E/

ภาพที่ ๑ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป จะกลับมาอนุญาตให้ใช้โปรตีนจากสัตว์ที่แปรรูปจากแมลงสำหรับอาหารสุกร และสัตว์ปีก จนถึงปัจจุบันมีเพียงน้ำมันจากแมลงเท่านั้นที่อนุญาตให้ผสมในอาหารสัตว์ และโปรตีนจากแมลงในปลาป่น (แหล่งภาพ Bert Janse)



วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564

การผลิต และส่งออกเนื้อสัตว์ปีกรัสเซียลดลงในปีนี้

 ครึ่งแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๔ นี้ การผลิตสัตว์ปีกในรัสเซียลดลงร้อยละ ๒.๔๔ เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศ ตั้งแต่ต้นปี

ช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๔ การผลิตสัตว์ปีกรัสเซียลดลงร้อยละ ๖.๒ ถือว่าเป็นการลดลงมากที่สุดตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา การผลิตที่ลดลงมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย รวมถึง การระบาดของโรคไข้หวัดนก และต้นทุนการผลิตที่พุ่งทะยานสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม กำลังติดตามสัญญาณบวกที่เห็นได้ถึงการฟื้นตัวในช่วงปลายปี และการผลิตภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น

การส่งออกที่ลดลง

              ครึ่งแรกของปีนี้ การส่งออกรัสเซียรวมแล้ว ๑๓๒,๐๐๐ ตัน ลดลงร้อยละ ๖.๖ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นตัวเงินแล้ว รายได้จากการส่งออกลงลงร้อยละ ๗.๒ เป็น ๖.๖ พันล้านบาท ปัจจัยหลักที่กดดันให้การส่งออกลดลงเป็นผลมาจากการส่งออกไปยังจีนที่ลดลงร้อยละ ๒๒ เป็น ๓.๓ พันล้านบาทในครึ่งแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๔    

              หกเดือนแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ราคาเนื้อสุกรในจีนลดลงมาก ส่งผลต่อราคาเนื้อสัตว์ปีกตกต่ำลงไปด้วย ปัจจัยนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกจากรัสเซียให้จีนด้วย การส่งออกจึงลดลงไปด้วย ในบราซิลที่เป็นคู่แข่งสำคัญของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกไกลราคาก็ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐ ทำให้สินค้าจากรัสเซียแข่งขันได้เพิ่มขึ้น และกลายเป็นเป้าหมายที่สร้างความหวังสำหรับบริษัทผู้ผลิตต่างๆในรัสเซีย   

ราคากำลังเพิ่มขึ้นต่อไป

              ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นกดดันให้ราคาเนื้อสัตว์ปีกในรัสเซียสูงขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ราคาพุ่งทะยานขึ้นร้อยละ ๒๐ ถึง ๒๒ จากเมื่อปีที่แล้ว แม้ว่า ราคาที่สูงขึ้นจะไม่เหมือนกันในภูมิภาคต่างๆของรัสเซีย ราคาเนื้อสัตว์ปีกโลกที่เพิ่มขึ้นมีความเชื่อมโยงกับความต้องการที่กำลังเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกรัสเซียต้องปรับราคาป้ายสินค้า เนื่องจาก การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต นอกเหนือจากต้นทุนอาหารสัตว์ ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าขนส่งก็กำลังเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน 

เอกสารอ้างอิง

Vorotnikov V. 2021. Russian poultry production and exports are down in 2021. [Internet]. [Cited 2021 Aug 4]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2021/8/Russian-poultry-production-and-exports-are-down-in-2021-784604E/

ภาพที่ ๑ ราคาต้นทุนอาหารสัตว์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสัตว์ปีกในรัสเซีย (แหล่งภาพ Hans Banus) 



วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564

ไก่พันธุ์ (เนื้อ) ชอบรังวางไข่ไม้

 จำนวนไข่ฟัก การผสมติด และอัตราการฟักเป็นตัว ในไก่พันธุ์ (เนื้อ) เป็นตัววัดประสิทธิภาพการเลี้ยง แต่สิ่งที่น่าปวดหัวมากเป็นพิเศษคือ จำนวนไข่พื้น เนื่องจาก ต้องใช้แรงงานเก็บเป็นพิเศษ  

การเลี้ยงสัตว์อย่างเหมาะสม ให้สัตว์ปีกตื่นตัว และจัดพื้นที่สแลตช่วยป้องกันไข่พื้นได้ แต่งานวิจัยล่าสุด แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการวางไข่ในรังชนิดต่างๆที่ให้ผลแตกต่างกัน

โรงเรือนเลี้ยงไก่พันธุ์ (เนื้อ) ประกอบด้วยอุปกรณ์ และรังสำหรับวางไข่ฟัก การตัดสินใจเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุด แล้วควักเงินซื้อใหม่เป็นต้นทุนการผลิตไม่น้อย อย่างไรก็ตาม การสร้างฟาร์มใหม่ หรือเพิ่มจำนวนโรงเรือน ผู้ผลิตก็สามารถทบทวนพื้นฐานการเลี้ยงสัตว์ ใช้บทเรียน และประสบการณ์ความบกพร่องในอดีต แล้วคิดหาโอกาสที่จะลงทุนด้วยเทคโนโลยีล่าสุดด้วยการมองการณ์ไกลในอนาคต

พฤติกรรมไก่พันธุ์ (เนื้อ)

                 แนวคิดอันบรรเจิดใหม่มาจากนักวิจัย Anne van den Oever นักศึกษาปริญญาเอกชาวดัทช์ที่มหาวิทยาลัยวาเคอนิงเงิน และคณะนักวิจัยกลุ่มเวนโคมาติก ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเบิร์น สวิสเซอร์แลนด์ โดยมองเข้าไปในรายละเอียดของพฤติกรรมไก่พันธุ์ (เนื้อ) ก่อนหน้านี้ได้ลงมือวิจัยด้านพฤติกรรมของไก่ไข่ แต่ยังคงเกิดคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างไก่พันธุ์ และการออกแบบโรงเรือน โดยเฉพาะ ความชื่นชอบรังสำหรับวางไข่แบบต่างๆ ในบางโรงเรือนมักพบปัญหารังไข่ที่แม่ไก่ชอบสุมรวมกัน ทำให้ประสบปัญหาไข่พื้น สายพานส่งไข่ฟักเต็ม และการบาดเจ็บของสัตว์ แม้ว่า รังไข่แบบต่างๆก็เหมือนกัน ไก่ก็มักปีนป่ายกันเนื่องจากปัจจัยด้านพันธุกรรม จากประเด็นหนึ่งก็แตกไปสู่อีกประเด็นหนึ่ง นักวิจัยจึงพยายามออกแบบการทดลองใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่ความชื่นชอบรังวางไข่ชนิดต่างๆ

สภาวะในอุดมคติสำหรับสัตว์      

              แนวความคิดการวิจัยของ Van den Oever เป็นการมองหาชนิดของรังสำหรับวางไข่ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดทุกประการ ยังไม่มีมาตรฐานเกี่ยวกับการออกแบบรังสำหรับวางไข่ แต่เกณฑ์ที่สำคัญของสัตว์ ผู้วิจัยเริ่มจากความเห็นของผู้ใช้งานของอุปกรณ์จากแวนโคมาติกมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี เมื่อพยายามปรับปรุงสภาพโรงเรือนที่เหมาะสมสำหรับไก่พันธุ์ (เนื้อ) ที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ คำถามสำคัญคือ แม่ไก่ชอบแบบไหน การจัดรังสำหรับวางไข่ที่ได้รับการออกแบบอย่างดีจะเป็นประโยชน์สำหรับแม่ไก่ และผู้เลี้ยงสัตว์ รวมถึง สวัสดิภาพของสัตว์ก็จะดีขึ้นไปด้วย โดยสอดคล้องกับความต้องการพื้นฐาน และยังช่วยเพิ่มจำนวนไข่ฟักที่วางบนรังสำหรับวางไข่อย่างถูกต้อง   

              ความน่าดึงดูดสนใจของรังไข่สำหรับแม่ไก่มีหลายปัจจัย เช่น ความสงบ ชนิดวัสดุ และบรรยากาศภายในที่สบาย จากประสบการณ์แล้ว นักวิจัยเล็งเห็นว่า รังไข่ที่ไม่เหมาะสมนำไปสู่ปัญหาไข่พื้น ไม่ใช่เพียงจำนวนครั้งต่อรังไข่บ่อยครั้งขึ้น และระยะเวลานั่งวางไข่ก็สั้นลงอีกด้วย โดยสรุปอย่างง่ายก็คือ แม่ไก่ไม่รู้สึกว่าปลอดภัย และมีความสุขขณะวางไข่

การศึกษารังไข่ที่แม่ไก่ชอบเข้า

              นักวิจัยพยายามศึกษาลักษณะรังไข่ที่แม่ไก่ชอบใช้งาน โดยออกแบบลักษณะกล่องรังไข่ ๔ แบบ เพื่อทดสอบความชื่นชอบของแม่ไก่ โดยใช้รังวางไข่ควบคุมเป็นพลาสติก โดยกั้นแบ่งเป็น ๒ ห้อง กล่องพลาสติกที่ติดตั้งระบบระบายอากาศไว้ข้างล่างให้อากาศหมุนเวียนภายในรังไข่ให้รู้สึกเหมือนมีลมพัดสบายในรังไข่ และรังไข่ไม้ ที่มีพื้นที่สัมผัสให้แม่ไก่รู้สึกเหมือนอยู่ในธรรมชาติ

              จำนวนกลุ่มทั้งหมด ๖ กลุ่ม ประกอบด้วยแม่ไก่ ๑๐๐ ตัว และพ่อไก่ เข้าถึงรังไข่ทั้ง ๔ แบบได้แบบสุ่มที่อายุ ๒๐ ถึ ๓๔ สัปดาห์ โดยตรวจพฤติกรรมแม่ไก่ภายในโรงเรือนตลอดเวลาภายในรังไข่ ระหว่างอายุ ๒๔ ถึง ๒๕ สัปดาห์ และ ๒๖ ถึง ๒๗ สัปดาห์ วิเคราะห์พฤติกรรม รวมถึง กิจกรรมของแม่ไก่ ตรวจสอบสภาพรังวางไข่ การเข้ารังวางไข่ และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

แม่ไก่ชื่นชอบรังวางไข่แบบไม้อย่างชัดเจน       

              จากสมมติฐานที่ว่า หากแม่ไก่ไม่ชื่นชอบรังวางไข่ การออกแบบรังวางไข่ทุกแบบในการศึกษาครั้งนี้ควรมีสัดส่วนร้อยละ ๒๕ ของการวางไข่ พบว่า รังวางไข่ที่มีการระบายอากาศด้วยไม่เป็นที่ดึงดูดใจแล้ว คาดว่าจะมีสัดส่วนร้อยละ ๓๓ ต่อชนิดของรังวางไข่ แต่ค่าเฉลี่ยทางสถิติสามารถใช้วิเคราะห์ด็ต่อเมื่อมองว่าแม่ไก่เป็นเครื่องจักรที่ผลิตไข่เท่านั้น ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า แม่ไก่พันธุ์เนื้อมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความชื่นชอบเป็นพิเศษกับรังวางไข่ที่ทำด้วยไม้มากกว่ารังวางไข่พลาสติก

ทางเลือกรองลงมา

               แม่ไก่เพียงร้อยละ ๑๕ เท่านั้นที่ยังเลือกรังวางไข่ที่ทำด้วยพลาสติก โดยร้อยละ ๑๐ เลือกรังวางไข่ที่มีแผ่นกั้นห้อง และเพียงร้อยละ ๕ เท่านั้นที่เลือกรังวางไข่ที่ติดตั้งระบบระบายอากาศ เนื่องจาก มีรังวางไข่ที่ทำด้วยไม้เพียง ๑ ใน ๔ ของทั้งหมดเท่านั้น แม่ไก่แสดงพฤติกรรมออรวมกันใช้งาน ปีนป่าย และมีพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อแก่งแย่งกันใช้รังวางไข่ชนิดนี้ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นชัดเจนว่า แม่ไก่เลือกที่ใช้งานรังวางไข่ชนิดนี้ โดยสังเกตเห็นพฤติกรรมกลับมาใช้รังเดิมวันแล้ววันเล่า

              เพื่อทดลองหาทางเลือกรองลงมา นักวิจัยจึงปิดรังวางไข่ไม้ เพื่อดูว่าแบบของรังวางไข่ และตำแหน่งการวางใกล้กับรังไม้ พบว่า รังวางไข่ควบคุมยังเป็นที่ชื่นชอบมากกว่ารังพลาสติก โดยการจัดรังวางไข่ให้ใกล้กับรังไม้ แม่ไก่ก็จะเข้าไปใช้มากกว่า   

              ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า แม่ไก่มีพฤติกรรมชื่นชอบรังวางไข่ที่ทำด้วยไม้อย่างชัดเจน วัสดุสำหรับการทำรังวางไข่จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญ ดังนั้น การออกแบบรังวางไข่ควรพิจารณาปัจจัยนี้ด้วย การวิจัยครั้งนี้ออกแบบรังวางไข่ตามมาตรฐานโรงเรือนของยุโรป แต่คณะผู้วิจัยก็คาดหวังว่าจะสามารถประยุกต์ใช้กับภูมิภาคอื่นๆด้วยเช่นกัน

เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฟาร์ม

              โดยสรุปแล้ว ผลการทดลอง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม่ไก่ชื่นชอบรังวางไข่ที่ทำด้วยไม้ ผู้สนับสนุนการวิจัยอย่างเวนโคแมนติก มีพลาสติกคุณภาพสูง และให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ในการผลิต จากผลการศึกษาครั้งนี้ บริษัทจึงได้ซื้อกิจการของ Van Gent ที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตรังไม้ในระดับโลก โดยหวังว่าจะสามารถผลิตอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับทุกฟาร์มได้ ร่วมกับการจัดการ และการเลี้ยงอย่างเหมาะสม รังไม้สามารถลดปัญหาไข่พื้นได้อย่างดีอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

Brockotter F. 2021. Broiler breeders prefer wooden. [Internet]. [Cited 2021 Aug 4]. Available from: https://www.poultryworld.net/Eggs/Articles/2021/8/Broiler-breeders-prefer-wooden-nests-777162E/

ภาพที่ ๑ ไก่พันธุ์ (เนื้อ) ชอบรังวางไข่ไม้ (แหล่งภาพ Anne van den Oever)



 

ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...