วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

โรคบิด และลดยาปฏิชีวนะ สุดยอดปัญหาหนักใจไก่เนื้อสหรัฐฯ


อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายใหม่ และเก่ามากมาย กลายเป็นโอกาสสำหรับนักวิจัย
               การเปลี่ยนแปลงวิถีไก่เนื้อกำลังเกิดขึ้น และนำสิ่งท้าทายใหม่ ปัญหาเก่าอย่างสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และกฎระเบียบใหม่การเลี้ยง ยังเป็นเรื่องเก่าๆที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
               โรคบิด และการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสองอันดับสุดยอดที่ท้าทายบริษัทผู้ผลิตไก่เนื้อในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ จากการสำรวจประจำปีของสัตวแพทย์อเมริกาผู้ผลิตไก่เนื้อ หรือเอวีบีพี สอบถามสมาชิกสัตวแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไก่เนื้อ แล้วจัดลำดับประเด็นที่เกี่ยวข้องโรค และไม่เกี่ยวกับโรคที่เป็นปัญหาที่กำลังเผชิญหน้า และระดับความสำคัญ  

โรคเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด
               โรคบิดเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดจากการสำรวจปีนี้ เนื่องจาก ความพยายามเปลี่ยนจากการใช้ยากลุ่มไอโอโนฟอร์สำหรับควบคุมโรคเป็นวิธีอื่นๆที่ยังไม่มีทางเลือกในเวลานี้ ลำดับต่อมาคือ โรคลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตายยังเป็นสิ่งท้าทายการผลิตไก่เนื้อ เนื่องจาก ไม่มีวิธีการควบคุมโรคบิดแล้ว ยังมีการถอดยาปฏิชีวนะอีกด้วย การเลิกใช้ยาปฏิชีวนะในโรงฟักเป็นเหตุให้มีปัญหาด้านคุณภาพลูกไก่ และอัตราการตายสัปดาห์แรก ซึ่งเป็นลำดับที่ ๓ ของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรคไก่ เมื่อผู้ผลิตต้องถอดผ้าปิดแผล แต่ยังไม่มีความพร้อม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเจ็บปวด เมื่อโรงฟัก และฟาร์มไก่พันธุ์ ยังไม่พร้อมสำหรับการยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะที่โรงฟัก ย่อมเป็นก้าวที่จะนำไปสู่ความเจ็บปวด 
               ลำดับที่ ๔ คือโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ จากปัญหาเชื้อแวเรียนต์ หรือวัคซีนที่แม้ว่าส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่ดี แต่ก็สามารถเป็นสาเหตุของปัญหาได้บ้าง ลำดับที่ ๕ คือ โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดสักปีละครั้ง ลำดับถัดมาคือ ผิวหนังอักเสบแบบมีเนื้อตาย รีโอไวรัสใหม่ และขาพิการ เนื่องจากกระดูก/ไขสันหลังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย สุดท้ายคือ โรคไข้หวัดนก ที่ล่วงลงมา หลังจากโรคสงบมาต่อเนื่องหลายปี อื่นๆก็คือ โรคฮิสโตโมเนียซิส เนื่องจาก ยังไม่มีวิธีป้องกันที่เชื่อถือได้ในปัจจุบัน

โรคสำคัญ และโอกาสสำหรับการแก้ไขปัญหา
               สัตวแพทย์ภาคการผลิต จัดให้โรคบิด และลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย เป็นโรคที่สำคัญที่สุดสำหรับบริษัทผู้ผลิตไก่เนื้อในสหรัฐฯ ภายหลังความพยายามลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาในตลาดที่มีประสิทธิภาพดีเพียงพอ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่าเดิม เพื่อให้การผลิตไก่เนื้อปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไปได้ คุณภาพลูกไก่เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดลำดับที่สอง ทิ้งโจทย์วิจัยสำหรับการสุขศาสตร์ไข่ฟัก และการปรับปรุงคุณภาพตั้งแต่ในไข่ฟัก
               โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อเป็นโรคที่มีความสำคัญลำดับที่ ๓ อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อสหรัฐฯ ยังคงต้องการทางเลือกวัคซีนที่ดีขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหา โรคหลอดลมอักเสบติดต่ออยู่ในลำดับที่ ๔ เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถป้องกันโรคข้ามได้หลายๆซีโรไทป์น่าจะเป็นทางออก โรครีโอ และผิวหนังอักเสบจัดอยู่ในลำดับที่ ๕ ขณะที่ โรคไข้หวัดนกยังเป็นสิ่งคุกคามที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อสหรัฐฯ เปิดประตูงานวิจัยที่มุ่งป้องกัน และกำจัดโรค

ปัญหาที่ไม่ใช่โรคสำหรับสัตวแพทย์ด้านสัตว์ปีก
               สุดยอดปัญหาที่ไม่ใช่โรคสำหรับการผลิตไก่เนื้อในปีนี้คือ การจำกัดการใช้ยาปฏชีวนะที่มาจากลูกค้า และสื่อ ลำดับถัดมาหายใจรดคอกันเลยทีเดียว เพราะคะแนนใกล้กันมาคือ กฏระเบียบด้านความปลอดภัยอาหารโดย USDA ติดตามด้วย สวัสดิภาพสัตว์ ขณะที่ วัคซีน หล่นมาเป็นลำดับ ๕ เนื่องจาก การขาดแคลนวัคซีน และการใช้เวลานานไปหน่อยสำหรับการเปิดวัคซีนให่ในตลาด ส่วนคุณภาพเนื้อไก่หล่นกราวรูดไปที่ลำดับที่ ๘ เนื่องจาก การจัดการที่ดีขึ้น และพบอุบัติการณ์ด้านความปลอดภัยอาหารลดลง
               หากจัดลำดับตามความสำคัญแล้ว กฎระเบียบด้านความปลอดภัยอาหารต่อเชื้อซัลโมเนลลาน่าจะเป็นสิ่งท้าทายที่ไม่ใช่โรคที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการผลิตไก่เนื้อ และทิ้งโจทย์วิจัยไว้ โดยนาโนเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถจัดการเชื้อซัลโมเนลลาให้ดีขึ้นในการผลิต รวมถึง เทคโนโลยีใหม่สำหรับการจำแนกซีโรไทป์ สำหรับความปลอดภัยทางชีวภาพ อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อสหรัฐฯยังต้องการแสวงหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ในการให้ความรู้กับพนักงานในภาคการผลิต ประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ ควรถอยหลังไปที่การฟังข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มากกว่าการใช้ความรู้สึกว่า รู้สึกว่าน่าจะดี หรือดูดี
               นอกจากนั้น ควรมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ หรือการผลิตเพื่อเปิดโอกาสให้วัคซีนใหม่ที่ดีขึ้น รวมถึง การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หรือการจัดการ เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพเนื้อไก่ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าที่คุณภาพดี
เอกสารอ้างอิง
Conway A. 2018. Disease, antibiotics top list of 2018 broiler industry concerns. [Internet]. [Cited 2018 Oct 10]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/35814-disease-antibiotics-top-list-of-2018-broiler-industry-concerns


วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

มาตรฐาน “เบทเทอร์ ไลฟ์” ทางเลือกสำหรับสุขภาพที่ดี


ตัวอย่างของผู้เลี้ยงไก่เนื้อที่เปลี่ยนจากการผลิตตามปรกติเป็นมาตรฐานใหม่ เบทเทอร์ ไลฟ์หรือ “Beter Leven” ๑ ดาว โดยสร้างโรงเรือนใหม่หลังที่สามสำหรับเลี้ยงลูกไก่ ๗๕,๐๐๐ ตัวบนพื้นที่ ๘ พันตารางเมตร โรงเรือนใหม่มีการระบายอากาศจากเพดาน
               ผู้ประกอบการรายนี้มีการลงทุนอย่างมากในธุรกิจการเลี้ยงไก่เนื้อ เริ่มตั้งแต่แผงโซลาร์เซลล์ ๑,๘๕๐ ชุด กำลังการผลิต ๕ แสนกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ขณะนี้ได้ผลกำไรจากการประหยัดพลังงาน นอกจากนั้น เกษตรกรรายนี้ยังมีการเพาะปลูกพืชไร่อีกด้วย ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาภัยแล้งจำเป็นต้องมีการรดน้ำในพื้นที่ ๓๗๕ ไร่ โดยใช้ป๊มน้ำไฟฟ้า และน้ำจากบ่อบาดาลของตัวเอง ปั๊มน้ำมีประสิทธิภาพในการทำงาน ๖๕ ตารางเมตรต่อชั่วโมง ความดันลม ๑๖ บาร์ แต่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์บนโรงเรือนเลี้ยงไก่ เกษตรกรสามารถรดน้ำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในระหว่างวัน ช่วยประหยัดเงินค่าน้ำมันดีเซลให้เกษตรกร ๙ พันบาทต่อวัน

มาตรฐานใหม่ เบทเทอร์ ไลฟ์
               ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่แห้งแล้ง และอุณหภูมิสูงมาก เป็นสิ่งที่ผิดปรกติสำหรับประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่เกษตรกรรายนี้ไม่ต้องการกังวลกับความเป็นอยู่ที่ดีของไก่เนื้อในช่วงเวลาดังกล่าว จึงตัดสินใจผลิตไก่ตามมาตรฐานใหม่ เบทเทอร์ ไลฟ์ ๑ ดาว ที่เป็นโปรแกรมของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ในเนเธอร์แลนด์ เริ่มตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี ๒๕๕๙ และเปลี่ยนอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว ความหนาแน่นการเลี้ยง ๙.๕ ตัวต่อตารางเมตร และสูงที่สุด ๒๕ กิโลกรัมของเนื้อต่อตารางเมตรที่อายุจับ ทำให้ความหนาแน่นการเลี้ยงลดลงอย่างมาก ไก่ไม่ได้รับผลกระทบจากความร้อนเลย หลายปีก่อนหน้านั้น เกษตรกรรายนี้เลี้ยงไก่ตามระบบปรกติ ประสบปัญหากับสภาพอากาศเป็นประจำ บางครั้งไก่ตายทีเดียวหลายพันตัวเมื่อห้าปีที่แล้ว ก่อนที่จะหันมาเลี้ยงด้วยมาตรฐานใหม่นี้ ความวิตกกังวลก็คลี่คลายลงเมื่อเปลี่ยนเป็นลูกไก่สายพันธุ์โตช้า การเลี้ยงไก่ง่ายขึ้น และต้องคอยควบคุมไม่ให้ลูกไก่น้ำหนักเกินกว่า ๒.๕ กิโลกรัม
               เมื่อปรึกษากับโรงงานแปรรูปการณ์ผลิต เกษตรกรรายนี้เปลี่ยนไปใช้มาตรฐานเบทเทอร์ ไลฟ์ ผลตอบแทนมากขึ้น แต่ทำงานน้อยลง แนวความคิดการผลิตเนื้อสำหรับการตลาดใหม่กำลังเติบโต และความต้องการมากขึ้นในเวลานั้น ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อแห่งนี้ได้เปลี่ยนแผนการผลิตจาก ๖.๕ สัปดาห์เพิ่มเป็น ๙ สัปดาห์ จำนวนไก่ลดลงโดยทันที จากที่เคยเลี้ยงไก่ ๘๔,๐๐๐ ตัวต่อ ๔,๒๐๐ ตารางเมตร ตอนนี้มีไก่ ๗๕,๐๐๐ ตัวต่อ ๘,๐๐๐ ตารางเมตร    
               หลังจากเปลี่ยนไปใช้มาตรฐานเบทเทอร์ ไลฟ์ แล้วก็ต้องมีการปรับปรุงโรงเรือนหลายอย่าง ตั้งแต่การเตรียมช่องกระจกรับแสงสว่างบนหลังคา การก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีกใหม่ ๙๕ ´ ๒๘ เมตรเป็นระบบโรงเรือนเลี้ยงไก่แบบใหม่เรียกว่า “Sunbro poultry house” ตามแนวความคิดของฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อเพื่อนบ้าน แต่มีการดัดแปลงเล็กน้อยจนได้โรงเรือนเลี้ยงไก่ที่สวยงามแบบหนึ่ง
การลงทุนราว ๔ ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากระบบการระบายอากาศจากเพดานโรงเรือน ช่วยตัดปัญหาระบบการระบายอากาศแบบเดิม อากาศบริสุทธิ์ถูกดูดเข้าสู่โรงเรือนเลี้ยงไก่จากหน้าโรงเรือน อากาศที่ดูดเข้ามาถูกปรับโดยอัตโนมัติในท่ออากาศ และเติมความร้อนโดยระบบการแลกเปลี่ยนอากาศร้อนภายในโรงเรือน ในสัปดาห์แรกของการเลี้ยง ระบบนี้ช่วยลดการใช้พัดลมลงน้อยที่สุด อากาศร้อนที่เข้ามาในโรงเรือผ่านท่อที่แขวนไว้ระดับต่ำ ๒ ท่อ การระบายอากาศทางเพดานโรงเรือน ผู้เลี้ยงสามารถระบายอากาศที่มีความดันเท่าๆกัน แต่ได้รับอากาศปริมาณมากเข้ามา เพื่อลดอิทธิพลของอากาศแห้งผ่านลิ้นปล่อยอากาศออกไป ลูกไก่จะได้รับอากาศที่สบาย และเหมาะสมกับสุขภาพมากกว่า เหมาะสำหรับการเลี้ยงลูกไก่ที่มีความหนาแน่นต่ำลง  

เอกสารอ้างอิง

ภาพที่ ๑ โรงเรือนเลี้ยงไก่แบบใหม่สำหรับมาตรฐาน เบทเทอร์ ไลฟ์ ด้านหน้าโรงเรือนที่อากาศผ่านเข้าสู่โรงเรือนถูกทำเป็นกรอบด้วยไม้อย่างสวยงาม (แหล่งภาพ: Broiler farmers Tienus and Alie Berkepies)


วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สหรัฐฯไฟเขียวใช้หนอนแมลงวันเลี้ยงไก่ได้แล้ว


การใช้หนอนแมลงวันทหารดำแห้งในอาหารสัตว์ สหรัฐฯ ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหาร และยาสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว
               อาหารสัตว์ในสหรัฐฯ สามารถใช้หนอนแมลงวันทหารดำเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทโปรตีนที่มีความยั่งยืน เบื้องหลังมาจากผลการวิจัยโดยบริษัท เอ็นวิโรไฟลท์ ในไก่เนื้อ ดำเนินการวิจัยโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ คิมเบอร์ลี ลิฟวิงตัน มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรลีน และในไก่ไข่โดยศาสตราจารย์พอล แพตเตอร์สัน มหาวิทยาลัยรัฐเพนน์ นักวิจัยอ้างว่า  หนอนแมลงวันทหารดำ ทั้งป่น น้ำมัน และหนอนทั้งตัวให้คุณค่าทางอาหารที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับไก่ไข่โดยมีพลังงาน โปรตีน กรดอะมิโนที่จำเป็น กรดไขมัน และแร่ธาตุ อย่างอุดมสมบูรณ์ช่วยส่งเสริมน้ำหนักตัว จำนวนและคุณภาพของไข่ไก่
               โลกมีความจำเป็นต้องใช้แหล่งโปรตีนที่มีความยั่งยืน เพื่อให้ทันต่อจำนวนประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มสูงเกินกว่า ๙ พันล้านคนในปี ค.ศ.๒๐๕๐ นี้ เชื่อว่า โรงานแห่งหนึ่งจะสามารถผลิตหนอนแมลงวันทหารดำแห้งได้ถึง ๓,๒๐๐ ตันต่อปี ทั้งนี้คำตัดสินขององค์การอาหาร และยาสหรัฐฯ เกิดขึ้นไม่กี่วันภายหลังการเผยแพร่ผลการวิจัยแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของหนอนแมลงวันทหารดำ และแบคทีเรียสำหรับผลิตตัวหนอนแมลงวันเป็นอาหารสัตว์ และปุ๋ยบำรุงพืช ไม่เพียงสามารถลดมูลไก่ แต่ยังสามารถเพิ่มวัตถุดิบโปรตีนในอาหรสัตว์ได้ปริมาณมาก  
               คณะนักวิจัยจากทั้งสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และจีน พบว่า อัตราการแลกเปลี่ยนอาหาร และอัตราการผลิตมูลไก่ดีขึ้นจากผลการใช้หนอนแมลงวันทหารดำ และเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส สับทิลลิส

เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2018. US: Black soldier fly larvae for poultry gets green light. [Internet]. [Cited 2018 Sep 17]. Available from: https://www.poultryworld.net/Nutrition/Articles/2018/9/US-Black-soldier-fly-larvae-for-poultry-gets-green-light-334581E/




วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ไก่งวงโตช้าสยายปีกทั่วยุโรป

ความต้องการผู้บริโภคต่อระบบการผลิตไก่งวงโตช้า ทำให้บริษัทผู้ผลิตไก่ชั้นนำของโลกเตรียมพร้อมผลิตภัณฑ์ใหม่
               ความสนใจต่อระบบการผลิตทางเลือกใหม่ในยุโรป เช่น การเข้าถึงระเบียบด้านข้างโรงเรือน และพื้นที่นอกชายคา การจัดการสิ่งแวดล้อมให้ไก่จิกคุ้ยเขี่ยเล่นตามธรรมชาติ การลดความหนาแน่นการเลี้ยง และการเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการ ทำให้บริษัทผู้ผลิตไก่ชั้นนำของโลกเตรียมพร้อมผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค 
               ผู้บริโภคต้องการเห็นพันธุ์ไก่ที่มีความแตกต่างจากเดิม ทั้งสภาพขน โครงสร้างร่างกาย และการเจริญเติบโตที่ช้าลง และที่สำคัญที่สุดคือ การเจริญเติบโตที่ช้าลง บริษัท อะเวียเจน เตรียมผลิตภัณฑ์พันธุ์ไก่ใหม่อีก ๓ สายพันธุ์ ได้แก่ Cheshire Bronze, Ayrshire Auburn และ Wycombe White ชื่อของสายพันธุ์สะท้อนถึงสายพันธุ์ในประวัติศาสตร์ของบริษัทตั้งแต่ B.U.T. และ Nicholas Select breeding

การรับรองสวัสดิภาพสัตว์ระบบมาตรฐาน Dutch Beter Leven
               อะเวียเจนอ้างว่า พันธุ์ไก่เหล่านี้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านอัตราการเจริญเติบโต และสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อการรับรองสวัสดิภาพสัตว์ตามมาตรฐาน Dutch Beter Leven
               ความจริงแล้ว ไก่งวงของอะเวียเจน ได้ออกผลิตภัณฑ์ไก่งวงสีขาว ๘ สายพันธุ์ และสีสัน ๗ สายพันธุ์ สำหรับการผลิตภัณฑ์ในฤดูกาลต่างๆเป็นทางเลือกใหม่อยู่แล้ว ไม่ใช่ครั้งแรกที่ อะเวียเจนจะเริ่มผลิตสายพันธุ์ไก่งวงโตช้า เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา บริษัทยังพัฒนาผลิตภัณฑ์สายพันธุ์ไก่ Rowan Range สำหรับตลาดเนื้อไก่งวง niche market ที่ยอมรับการใช้พันธุ์ไก่ภายใต้ข้อกำหนดตามระเบียบด้านสวัสดิภาพสัตว์ของยุโรป รวมถึง RSPCA
 เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2018. Slower growing turkey breeds showing expansion across Europe. [Internet]. [Cited 2018 Sep 24]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2018/9/Slower-growing-turkey-breeds-showing-expansion-across-Europe-337788E/

ภาพที่ ๑ อะเวียเจนเริ่มผลิตสายพันธุ์ไก่งวงโตช้ามาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นสายพันธุ์ไก่ Rowan Range สำหรับตลาดเนื้อไก่งวง (แหล่งภาพ: Hans Prinsen)


วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เทคโนโลยีวีอาร์ ๓๖๐ องศาชวนเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงไก่


สัญญาณการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีวีอาร์ หรือโลกเสมือนจริงเริ่มต้นขึ้นแล้ว และจะทำให้เห็นประสบการณ์เสมือนจริงต่อทั้งผู้บริโภค และผู้เลี้ยงสัตว์ปีก
               สภาไก่แห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอ็นซีซี ประกาศความสำเร็จเมื่อเดือนที่แล้วว่า ได้พัฒนาระบบวีดีโอเสมือนจริง ๓๖๐ องศาที่สามารถแสดงให้เห็นถึงชีวิตของไก่ในระยะต่างๆ ในระบบการผลิตเชิงพาณิชย์สมัยใหม่

ผู้บริโภคสามารถมองเห็นได้ว่าไก่เนื้อเลี้ยงมาอย่างไร
               ประสบการณ์ใหม่ตามแผนเชกอินฟาร์มเลี้ยงไก่ (Chicken Check In program) โดยสภาไก่แห่งชาติ จะเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่เนื้อ ภาพเหตุการณ์เสมือนจริงของช่วงชีวิตไก่ในระยะต่างๆสามารถดูได้โดยใช้โทรศัพท์มือถือ แทบเบล็ต หรือโน๊ตบุ๊ค และฟังเสียงด้วยหูฟังสวมศีรษะ ผู้ชมสามารถมองภาพเหตุการณ์ และปรับมุมมองได้เป็นสองมิติ และยังสามารถหมุนขึ้น ลง เดินไปข้างหน้า ถอยหลัง ขยับไปด้านข้าง ได้อีกด้วย ดังนั้น ตอนนี้ผู้บริโภคสามารถสัมผัสประสบการณ์จริงด้วยวีดีโอมุมมองรอบตัว ๓๖๐ องศาตั้งแต่ในโรงฟัก ฟาร์มไก่เนื้อ และโรงเชือด

สัมผัสประสบการณ์โลกเสมือนจริง
               สภาไก่แห่งชาติสหรัฐฯ เชื่อว่า ผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตไก่ โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเข้าไปเยี่ยมชมฟาร์มไก่จริง ดังนั้น เรากำลังนำฟาร์มไปให้ผู้บริโภคได้เยี่ยมชมถึงบ้าน ด้วยทัวร์เสมือนจริงนี้ ผู้บริโภคจะสามารถเห็นไก่ตั้งแต่ฟักเป็นตัว เลี้ยงจนโต แล้วเข้าสู่โรงเชือดในสหรัฐฯ เพื่อจะได้สัมผัสกับประสบการณ์โลกเสมือนจริงของฟาร์มเลี้ยงไก่      
               ตอนนี้ มหาวิทยาลัยไอโอวา ศาสตราจารย์ Austin Stewart กำลังพัฒนาเครื่องถ่ายภาพวีดีโอติดตั้งบนหัวของไก่ เพื่อให้ผู้ชมสามารถมีความสุขเสมือนกับชีวิตของไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และพฤติกรรมของไก่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และคุ้มครองการเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ไก่เหล่านี้มีอิสระที่จะเดินเตร็ดเตร่ สร้างสังคม และกินอาหารเสมือนจริง นอกจากนั้น เทคโนโลยีวีอาร์นี้ยังจะนำไปใช้ประโยชน์ในการฝึกอบรมให้กับคนงานในห้องผลิต คนงานในฟาร์มในการเดินตรวจไก่ไม่ให้ไก่ตื่นตกใจ     
               ผู้พัฒนาเทคโนโลยีวีอาร์นี้ยังจะเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ระบบนี้ช่วยในการมองลึกลงไปในสิ่งที่ตาเปล่าไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยนักวิจัยจากจอร์เจียเทคฯ ได้ออกแบบระบบ ๒ แบบ เพื่อให้แสดงภาพระบบการตรวจสอบคุณภาพไก่บนไลน์การผลิตอัตโนมัติ และสอนให้คนงานรู้จักการตัดแต่ง หรือปลดซากไก่ที่มีคุณภาพไม่ดีทิ้ง เชื่อว่า เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเนื้อไก่ และเข้าใจตลอดกระบวนการผลิตอาหารที่ตนบริโภคเข้าไปได้

เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2018. Virtual reality beginning to take off in the poultry house. [Internet]. [Cited 2018 Aug 15]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2018/8/Virtual-reality-beginning-to-take-off-in-the-poultry-house-321943E/

ภาพที่ ๑ วีดีโอเสมือนจริงชีวิตของไก่สามารถชมได้ทั้งด้วยโทรศัพท์มือถือ แทบเบล็ต หรือโน๊ตบุ๊ค (ที่มาของภาพ https://www.chickencheck.in/)


ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...