วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เทคโนโลยีตรวจสอบเนื้ออก วู้ดเด้นเบรสต์


การใช้ระบบตรวจสอบอัจฉริยะโดยใช้กล้องคัดคุณภาพเนื้อสันในไก่ กำลังเปิดตัวในตลาดไม่ช้า เพื่อช่วยให้โรงงานแปรรูปการผลิตสัตว์ปีกคัดแยกสันในไก่ที่มีลักษณะของอกแข็งเหมือนไม้ (Wooden breast syndrome) ออกจากสันในปรกติได้
               ดร. Seung-Chul Yoon วิศวกรด้านการวิจัยทางระบบอิเล็กโทรนิกส์ ของหน่วยวิจัยด้านการประเมินคุณภาพ และความปลอดภัย สังกัดฝ่ายบริการด้านการวิจัยทางการเกษตร กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA-ARS) และศูนย์วิจัยด้านสัตว์ปีกระดับชาติสหรัฐฯ  ในเอเธนส์ รัฐจอร์เจีย ได้พัฒนาระบบการใช้กล้องอัจฉริยะ เพื่อตรวจคัดแยกสันในไก่ที่มีลักษณะความผิดปรกติของกล้ามเนื้อ

เครื่องมือนี้ทำงานอย่างไร
                ลักษณะของอกแข็งเหมือนไม้เป็นความผิดปรกติของกล้ามเนื้อที่ทำให้เนื้ออกมีลักษณะแข็งกระด้าง แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พยาธิสภาพของกล้ามเนื้อชนิดนี้พบได้ในไก่เนื้อโตเร็วที่น้ำหนักมาก ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับอุบัติการณ์ยังค่อนข้างน้อย แต่เท่าที่พอจะมีข้อมูลรายงานก็ราวร้อยละ ๕ ถึง ๔๐ ในไก่เนื้อสายพันธุ์โตเร็ว ตามปรกติ ผู้ประกอบการก็จะอาศัยพนักงานช่วยคัดแยก ดังนั้น ผู้วิจัยจึงคิดค้นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการตรวจ และคัดแยกเนื้อที่ผิดปรกติดังกล่าวออกจากเนื้อปรกติระหว่างกระบวนการผลิต
               หลักการทำงานของเครื่องมือนี้อาศัยแนวความคิดพื้นฐานที่ว่า เนื้อที่เกิดปัญหาวู้ดเด้นเบรสต์จะมีลักษณะแข็งเหมือนไม้ตามชื่อ และงอได้ยาก ขณะที่ เนื้ออกปรกติจะยืดหยุ่นกว่า ด้วยหลักการดังกล่าว ผู้วิจัยจึงได้พัฒนาระบบที่ใช้เครื่องมือตรวจสอบภาพ และระบบอัลการิทึมทางคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจวัดว่า เนื้ออกจะสามารถงอได้มากเท่าไรเป็นเกณฑ์ตัดสินใจว่า เนื้อชิ้นดังกล่าวเกิดปัญหาวู้ดเด้นเบรสต์หรือไม่
               ระบบนี้ใช้กล้องจุลทรรศน์ตัวเดียววางไว้บนส่วนปลายของสายพานลำเลียง เพื่อจับภาพด้านข้างของเนื้ออกที่กำลังตกลงจากสายพาน แล้ววิเคราะห์ว่า ชิ้นเนื้อโค้งงอได้มากเพียงไรขณะที่กำลังเคลื่อนที่ตกลงจากสายพานลำเลียง หากการมุมการโค้งงอตามที่กำหนดก็แสดงว่า ชิ้นเนื้อนี้เป็นปรกติ แต่หากไม่มีการโค้งงอเลย แข็งเหมือนกระดานไม้ก็จำแนกเป็นเนื้อผิดปรกติที่เกิดวู้ดเด้นเบรสต์ทันที กล้องบันทึกภาพมีความเร็วในการบันทึกภาพได้ ๒๐๐ ภาพต่อวินาที รองรับความเร็วราวสูงที่สุด ๔๐ เมตรต่อนาที สอดคล้องกับไลน์การผลิตที่ใช้ในปัจจุบันของสหรัฐฯ

ความก้าวหน้าของโครงการวิจัย
               ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักวิจัยให้ข้อมูลว่าพร้อมสำหรับการทดสอบในโรงงานแปรรูปการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว ศูนย์วิจัยสัตว์ปีกระดับชาติสหรัฐฯ ประดิษฐ์เครื่องต้นแบบไว้เรียบร้อยแล้ว สามารถเชื่อมต่อกับระบบการบันทึกภาพ เพื่อจำแนกเนื้ออกปรกติ และเนื้ออกที่เกิดปัญหาวู้ดเด้นเบรสต์ได้
               ทั้งระบบสามารถทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัว แต่ต้องสมบุกสมบันเพียงพอต่อสิ่งแวดล้อมภายในโรงงานแปรรูปการผลิตที่มีกระบวนการผลิตตลอดเวลา และยังต้องทนทานต่อกระบวนการทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์การแปรรูปการผลิตเนื้อ ถึงเวลานี้ เครื่องต้นแบบยังออกแบบให้ใช้สำหรับงานวิจัยเท่านั้น ยังไม่ได้ยกระดับไปสู่เครื่องใช้งานเชิงพาณิชย์
               ความแม่นยำในการตรวจสอบเนื้อผิดปรกติ อย่างน้อยร้อยละ ๙๕ อย่างไรก็ตามก็ยังมีไม่สมบูรณ์แบบเลยทีเดียว เนื่องจาก กรณีที่ตั้งความเชื่อมั่นไว้ระดับสูง เนื้อที่มีปัญหารุนแรงถูกคัดแยกออกไปได้ แต่เนื้ออกชิ้นใหญ่มากๆที่ไม่แสดงความผิดปรกติของกล้ามเนื้อก็อาจถูกคัดไปด้วยเกิดเป็นผลบวกปลอม นักวิจัยกำลังพยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการตรวจสอบเนื้ออกชิ้นใหญ่ๆ

โอกาสในการทำตลาด
               การวิจัยเบื้องต้นด้านระบบการบันทึกภาพสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว และกำลังรอสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ และระหว่างประเทศ ขณะนี้กำลังมองหาพันธมิตรร่วมทางการค้าเพื่อขึ้นทะเบียนเทคโนโลยี คุณประโยชน์ของเครื่องมือนี้คือ การอำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหา ระบบนี้ใช้เพียงกล้องบันทึกภาพเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ที่ประสิทธิภาพเพียงพอต่อการทำงานของซอฟต์แวร์ คอยเฝ้าตรวจสอบติดตาม และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์การคัดแยกเนื้อ

เอกสารอ้างอิง
Alonzo A. 2019. A new device for detecting woody breast. [Internet]. [Cited 2019 Jul 29]. Available from:   https://www.wattagnet.com/articles/37317-a-new-device-for-detecting-woody-breast

ภาพที่ ๑   ระบบตรวจสอบอัจฉริยะโดยใช้กล้องบันทึกภาพ และซอฟต์แวร์ เพื่อตรวจคัดแยกเนื้ออกที่มีปัญหาวู้ดเด้นเบรสต์ (แหล่งภาพ Gerald Heitschmidt, U.S. Department of Agriculture)


วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

อินโดฯทำลายไก่เนื้อสามล้านตัว


กรมปศุสัตว์อินโดนีเซียบอกให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อทำลายไก่ราวสามล้านตัวเพื่อช่วยพยุงราคาเนื้อไก่
               มาตรการของกรมปศุสัตว์เกิดขึ้นภายหลังเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ร้องเรียนว่า ราคาไก่มีชีวิตตกต่ำลงกว่าราคาพื้นฐานที่รัฐบาลกำหนด และต้นทุนการผลิต ผู้เลี้ยงไก่เนื้อเพิ่มการผลิตเพื่อหวังได้เงินกลับคืนมาหลังเทศกาลอีดิลฟิฏรี (Eid-ul-Fitr) หรือวันเฉลิมฉลองการออกศีลอดของชาวมุสลิม แต่กระทรวงเกษตรอ้างว่า ความต้องการตลาดพลิกกลับลงต่ำกว่าที่คาดไว้มาก จนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ประท้วงด้วยการปล่อยไก่หลายพันตัวออกจากโรงเรือน ขณะที่ รัฐบาลพยายามขอให้ปลดไก่พันธุ์อายุมากกว่า ๖๘ สัปดาห์ตลอดสองสัปดาห์จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๙ กรกฏาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะเป็นการนำไก่ออกจากระบบราวสามล้านตัวเป็นการลดจำนวนลูกไก่เนื้อได้ราว ๑.๕ ล้านตัวต่อสัปดาห์
               กระทรวงเกษตรประกาศราคาเฉลี่ยไก่มีชีวิตในอินโดนีเซียไว้ราว ๔๔.๗๖ บาทต่อกิโลกรัม เปรียบเทียบกับราคาพื้นฐานที่รัฐบาลกำหนดไว้ ๓๙.๘๖ บาท (ราคาประกาศไก่เนื้อในประเทศไทย ๓๗ บาท) อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่กลับจำหน่ายไก่ได้ราคาเพียง ๑๕.๕๐ บาทเท่านั้น ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ในยอกยาการ์ตาร้องเรียนว่า ธุรกิจของตนเองกำลังล้มละลายได้ ผู้เลี้ยงบางรายกลัวการเลี้ยงไก่ต่อไป วิกฤติการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในอินโดนีเซีย เมื่อสี่ปีที่แล้ว อินโดนีเซียก็ทำลายไก่เนื้อหกล้านตัวเพื่อควบคุมการผลิตเกินความต้องการของตลาด ถึงเวลานี้ รัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้เตรียมรับมือสถานการณ์ในอนาคต หากราคาของไก่มีชีวิตยังไม่เป็นไปตามราคาที่กำหนดก็อาจต้องออกมาตรการทำลายไก่พันธุ์ที่อายุ ๖๐ สัปดาห์ต่อไป

เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2019. Indonesia to cull 3 million broilers. [Internet]. [Cited 2019 Jul 5]. Available from:  https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2019/7/Indonesia-to-cull-3-million-broilers-breeders-446734E/ 

ภาพที่ ๑ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่อินโดนีเซียปล่อยไก่จากฟาร์มระหว่างการประท้วงรัฐบาล กรณีราคาไก่เนื้อตกต่ำ ในยอกยาการ์ตา มีภาพถ่ายไว้เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ (แหล่งภาพ FreeImages.com)


เคล็ดลับ การควบคุมแมลงปีกแข็งในฟาร์ม


แนวทางการควบคุมแมลงปีกแข็งในฟาร์ม แมลงปีกแข็งสามารถพบได้ในโรงเรือนเลี้ยงไก่ทั่วโลก โดยพาหะนำโรคสำคัญ ได้แก่ เชื้อไวรัสกัมโบโร เชื้อไวรัสมาเร็กซ์ และรีโอไวรัส รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย เช่น อี. โคไล และ ซัลโมเนลลา สปป. และโปรโตซัว เช่น ฮิสโตโมนาส เมเลียไกรดิส
               แมลงปีกแข็งพบได้ภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีกทั่วโลก เป็นสัตว์พาหะสำหรับเชื้อไวรัสสำคัญ เช่น กัมโบโร มาเร็กซ์ และรีโอไวรัส รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย เช่น อี. โคไล และ ซัลโมเนลลา สปป. และโปรโตซัว เช่น ฮิสโตโมนาส เมเลียไกรดิส โรคนี้สามารถแพร่กระจายได้โดยแมลงปีกแข็งผ่านการสัมผัสโดยตรง การปนเปื้อนซ้ำของสิ่งแวดล้อมที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้วสำหรับวัสดุรองพื้นที่ผ่านการใช้งานแล้ว หรือโดยการกินของไก่โดยตรงเก็บไว้ในร่างกาย
วงจรชีวิต
               แมลงปีกแข็งมีวงจรชีวิตราว ๔๐ ถึง ๑๐๐ วันขึ้นกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ภายหลังการผสมพันธุ์ ๑๕ วัน ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ ๒๐๐ ถึง ๔๐๐ ฟองทุก ๑ ถึง ๕ วัน หลังจากนั้น ไข่ของแมลงปีกแข็งใช้เวลาไม่เกิน ๑ สัปดาห์ฟักเป็นตัวอ่อน ดังนั้น ประชากรของแมลงปีกแข็งสามารถเพิ่มจำนวนได้ทวีคูณหากไม่มีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ 
การควบคุม
               การควบคุม หรือกำจัดแมลงปีกแข็งเป็นไปได้ยาก แมลงเจริญเติบโตในสภาพโรงเรือนที่อุณหภูมิระหว่าง ๒๑ถึง ๓๕ องศาเซลเซียส ความชื้นอย่างน้อยร้อยละ ๑๐ แนวทางการควบคุมเบื้องต้นคือ การสำรวจหาแหล่งพักพังของแมลงภายในโรงเรือน แมลงปีกแข็งสามารถแอบแฝงภายในโรงเรือนได้หลายตำแหน่ง ได้แก่
๑.     วัสดุรองพื้น
๒.    ตามเสาโรงเรือง
๓.    ในผ้าม่าน
๔.    บนสแลต แพนอาหาร นิปเปิ้ล
๕.    ตามร่อง รู หรือรอยแตกตามผนังโรงเรือน
๖.     ในห้องเก็บของ และพื้นที่เก็บไข่      
               การใช้วิธีการกำจัดแมลงปีกแข็งทางเคมี และกายภาพเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยให้ยาฆ่าแมลงก่อนการทำความสะอาด และการฆ่าเชื้ออย่างเข้มงวด มาตรการควบคุมจะถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี หากประชากรแมลงปีกแข็งควบคุมไว้ได้ระหว่าง ๑ ถึง ๑๐ ตัวต่อตารางฟุต   
               ยาฆ่าแมลงควรฉีดพ่นทันทีภายหลังการจับไก่ และควรฉีดพ่นทั้งภายใน และภายนอกโรงเรือนเลี้ยงไก่ เมื่ออุณหภูมิโรงเรือนลดต่ำลง แมลงปีกแข็งจะเริ่มอพยพเข้ามายังพื้นที่อบอุ่น ดังนั้น ภายนอกโรงเรือนต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงด้วย เพื่อป้องกันการอพยพหนีไปยังโรงเรือนข้างเคียงในฟาร์ม การใช้ยาฆ่าแมลงควรใช้ก่อนที่ลูกไก่ลง และฉีดพ่นทุกเดือนระหว่างการผลิต แต่ต้องมั่นใจว่า ยาฆ่าแมลงได้รับการรับรองให้ได้ระหว่างที่ไก่มีชีวิตยังอยู่ภายในโรงเรือน
การใช้ยาฆ่าแมลง
               การควบคุมทางเคมี คำแนะนำในการใช้ยาฆ่าแมลงพึงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย และการผสมยาอย่างถูกต้อง และควรหมุนเวียนตามวงจรที่ผู้ผลิตแนะนำ
๑.     ตรวจสอบให้มั่นใจว่าน้ำที่ใช้สำหรับผสมยาฆ่าแมลงมีค่าพีเอชเป็นกลาง และปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตให้เตรียมน้ำให้เป็นกรดก่อนนำมาใช้ ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้ดีก่อนการใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อน
๒.    หมุนเวียนชนิดยาฆ่าแมลงอย่างน้อยทุก ๒ ถึง ๓ รุ่น เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงที่สุด ลดโอกาสของแมลงปีกแข็งพัฒนาภาวะดื้อยาฆ่าแมลง
ร่วมกับการควบคุมทางกายภาพ ได้แก่
๑.     แผนการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรงเรือนที่ดี ช่วยควบคุมประชากรแมลงปีกแข็งได้มาก
๒.    ควรกำจัดแมลงปีกแข็งที่มีชีวิตให้ได้มากที่สุด เมื่อเตรียมโรงเรือนสำหรับการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ ก่อนการล้าง และฆ่าเชื้อโรงเรือน
๓.    เมื่อนำอุปกรณ์ภายในโรงเรือนออก ตรวจสอบอุปกรณ์ทั้งที่ถอดออกได้ และไม่ได้ ตรวจสอบใต้แพนอาหาร และนิปเปิล ตามผนัง และผ้าม่าน บนสแลต และรังไข่ว่า มีร่องรอยของแมลงปีกแข็งเคยอาศัยอยู่หรือไม่
๔.    ปฏิบัติตามรายละเอียดขั้นตอนการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ เพื่อให้มั่นใจว่า เศษสกปรกจากแมลงปีกแข็ง และสิ่งปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียจะถูกกำจัดออกไปทั้งหมด
๕.    โรงเรือนปิดที่มีการระบายน้ำที่ดี และพื้นซีเมนต์เรียบ ปราศจากรอยแตก ช่วยลดประชากรแมลงปีกแข็งได้อย่างมาก

เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2019. Best Practice on Farm Guide: Darkling beetle control. [Internet]. [Cited 2019 Jul 15]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2019/7/Best-Practice-on-Farm-Guide-Darkling-beetle-control-450265E/    

ภาพที่ ๑  วงจรชีวิตของแมลงปีกแข็งระหว่ง ๔๐ ถึง ๑๐๐ วันขึ้นกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (แหล่งภาพ pixabay)


วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เอาท์ซอร์ซ งานสุขอนามัยในโรงงานผลิตอาหาร


ผู้ประกอบการแปรรูปการผลิตอาหารมักต้องเผชิญกับนานาข้ออ้างเหตุผลที่ฝ่ายสุขศาสตร์ทำงานบกพร่องจนประสบปัญหาเชื้อปนเปื้อนภายในโรงงานผลิตอาหาร หาเท่าไรก็หาแหล่งต้นตอไม่พบ ระดมสมองคิดแก้ไขอย่างไรก็ยังแก้ไม่ได้ การใช้บริการด้านสุขศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญภายนอกบริษัทอาจเป็นคำตอบ

               บริษัท แพคเคอร์ ซานิเตชัน เซอร์วิส (Packers Sanitation Services Inc., PSSI) ให้บริการด้านสุขศาสตร์ในโรงงานแปรรูปอาหาร เป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้ประกอบการขจัดปัญหานานาไม่ต้องแบกภาระหาแรงงานมาทำงานด้านสุขศาสตร์ให้ลำบากใจอีกต่อไป ขณะนี้เป็นเทรนด์ใหม่ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เพื่อหาพันธมิตรร่วมทำงานในหลากหลายมิติไม่ใช่เพียงแค่ด้านสุขศาสตร์เท่านั้น รายละเอียดสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเวบไซต์ https://www.pssi.com/

              บริษัท PSSI ประกอบด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญร่วมกันหลายทีมเพื่อตรวจติดตามด้านสุขศาสตร์ภายในโรงงานผลิตอาหาร มีเป้าหมายเพื่อให้สถานที่ผลิตอาหารมีความสะอาด ใช้นักจุลชีววิทยาร่วมทีมความปลอดภัยอาหาร เพื่อให้รู้ถ่องแท้เกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ภายใต้ความเชื่อมั่นว่า ความปลอดภัยอาหารไม่ใช่ความลับทางการค้าอีกต่อไป นอกจากนั้น ยังจัดกิจกรรมให้ความรู้ผ่านเวบบินาร์ และสิ่งตีพิมพ์เพื่อสร้างความเข้าใจด้านความปลอดภัยอาหารในสถานที่ผลิต เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโดยภาพรวม ไม่ใช่เพียงบริษัทที่เป็นผู้ใช้บริการ แต่ยังรวมถึงพันธมิตรคู่ค้าอื่นๆอีกด้วย

                 บริษัท PSSI ยังจัดสัมมนาด้านความปลอดภัยอาหารทุกปี โดยระดมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆภายนอกบริษัท ทั้งจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน ร่วมกับบุคลากรภายในบริษัท เพื่อร่วมกันระดมสมองขบคิดอย่างเข้มข้นสร้างเป็นแผนด้านความปลอดภัยอาหารที่เข้มแข็ง ล่าสุด บริษัทได้เปิดตัวแผนการจัดการอาร์พีเอ็ม หรือมาตรวัดความปลอดภัยอาหารแบบเรียลไทม์ (Realtime Performance Metrics, RPM) เป็นแผนการจัดการผ่านอุปกรณ์แทบเบล็ต คอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงข้อมูล และมาตรวัดสำคัญบ่งชี้ด้านสุขศาสตร์ได้แบบเรียลไทม์  

              บางครั้ง ผู้ประกอบการอาจลืมเปิดน้ำทิ้งไว้ในเวลากลางคืน บริษัทผู้ให้บริการสามารถตรวจสอบ แล้วแจ้งเตือนปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านแทบเบล็ตอย่างทันเหตุการณ์ และให้คำแนะนำแผนการป้องกันปัญหามิให้เกิดขึ้นอีก นับเป็นเครื่องมือใหม่ต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหาร

              นอกเหนือจากทีมสนับสนุนการตรวจติดตามภาคสนาม (Field Audit Support Team, FAST) เป็นบริการเพิ่มเติมนอกเหนือจากการใช้พนักงานสุขศาสตร์ของบริษัทเอง โดยจะให้ความสำคัญกับกฏระเบียบตามมาตรฐานต่างๆ ซึ่งบางครั้งเปลี่ยนแปลงเป็นประจำจนยากที่จะคอยติดตามให้ทันสมัยได้ ผู้ตรวจติดตามภาคสนามจะเก็บตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา แล้ววิเคราะห์ผล เพื่อกำหนดเป็นแนวทางให้พนักงานสุขศาสตร์ปฏิบัติตามได้



ปรับใช้ได้ตามสถานการณ์

              แต่ละโรงงานผลิตอาหารก็แตกต่างกันไป แม้กระทั่ง โรงงานที่อยู่ในบริษัทเดียวกัน ผลิตสินค้าแบบเดียวกันจากเนื้อสัตว์ชนิดเดียวกัน โดยใช้เครื่องมือเหมือนกันก็ยังมีความแตกต่างกันมาก อายุ และขนาดของอาคาร หรือปัจจัยด้านภูมิอากาศที่แตกต่างกัน อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างโรงงาน

              ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านจุลชีววิทยา หรือสุขศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน หรือความเป็นผู้นำ ทุกโรงงานก็จะมีความแตกต่างกันไป ตัวแปรต่างๆที่ต่างกันเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดแผนการปฏิบัติงานเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการผลิตอาหารแต่ละราย และแต่ละสถานการณ์ บางโรงงานอาจจะไม่สามารถผลิตน้ำร้อนได้เพียงพอ หรือไม่มีเลยด้วยซ้ำ บางโรงงานอาจจะไม่สามารถเพิ่มแรงดันน้ำให้เพียงพอต่อการล้างทำความสะอาด นอกจากนั้น ยังมีเงื่อนไขของกรอบเวลาที่ต้องจัดการให้เสร็จภายในหนึ่งวัน หรือคืนเดียวเท่านั้น ปัจจัยเหล่านี้ต้องนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อปรับใช้ได้กับสถานการณ์ให้เหมาะสมที่สุดได้



การออกแบบแผนปฏิบัติงาน

              ขั้นตอนการกำหนดกลยุทธ์ด้านสุขศาสตร์ที่ดีสำหรับลูกค้าแต่ละโรงงาน ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจความต้องการ และเป้าหมายของโรงงานที่แท้จริง โดยให้พนักงานภายในโรงงานร่วมคิดกลยุทธ์ ตั้งแต่กำหนดกรอบงาน เช่น พื้นที่ที่เกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต หลังจากนั้น บริษัทผู้ให้บริการก็จะประเมินจำนวนแรงงานที่ต้องใช้ จำนวนหัวหน้างานที่ต้องคอยกำกับงาน ชนิดของเครื่องมือ และสารเคมี เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความปลอดภัย ประสิทธิภาพสูง และถูกต้อง แล้วจึงให้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น นักวิชาการด้านการผลิตอาหาร จุลชีววิทยา และด้านความปลอดภัยในการทำงาน เป็นผู้ตรวจประเมินผลการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อก่อน ร่วมกับผู้แทนบริษัทสารทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ      



อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง

              บริษัท PSSI ผู้ให้บริการด้านสุขศาสตร์ในโรงงานแปรรูปอาหาร มีประสบการณ์สูงในการจัดการปัญหาต่างๆที่มักพบบ่อย เริ่มต้นธุรกิจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า ๕๐๐ โรงงานในสหรัฐฯ และคานาดา มีพนักงานจำนวนมากถึง ๑๗,๐๐๐ คน ค่อยๆพัฒนาทีมงานด้านสุขศาสตร์เป็นเวลานานหลายปีมาแล้ว โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง และยังผลิตน้ำยาล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อได้เองแล้ว และยังมีทีมวิศวกรออกแบบ และประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อให้เหมาะกับการทำงานดีขึ้นเรื่อยๆ หากการปฏิบัติงานต้องใช้น้ำแรงดันสูงก็สามารถนำอุปกรณ์ หรือประดิษฐ์อุปกรณ์ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาได้เลย  เมื่ออุปกรณ์สำหรับจ่ายน้ำยาเคมี ทีมวิศวกร เช่น หากมีปัญหาเกี่ยวกับร่องสำหรับระบายน้ำเสีย หรือระบายน้ำล้น หรือร่องระบายน้ำชำรุด ขั้นตอนแรกคือ การลดใช้น้ำ และหาวิธีลดการใช้น้ำชั่วคราวก่อน ต่อมาคือ ป้องกันมิให้น้ำเสียล้น หรือท่วมพื้นที่การผลิต โดยอาจใช้ปั๊มดูดน้ำเสียจากร่องระบายน้ำที่ใช้ไม่ได้ไปยังอีกท่อหนึ่ง นอกจากนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในโรงงานเก่าคือ อุปกรณ์ และเครื่องมือชำรุด จำเป็นต้องซ่อมแซม หรือสร้างขึ้นใหม่จากผู้ให้บริการในงานพิเศษ บริษัท PSSI ผู้ให้บริการด้านสุขศาสตร์ในโรงงานแปรรูปอาหารก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหา และภาระให้ผู้ประกอบการโรงงานได้



เอกสารอ้างอิง

Sims B. 2019. The benefits of outsourcing sanitation services. [Internet]. [Cited 2019 Mar 7]. Available from: https://www.meatpoultry.com/articles/21447-the-benefits-of-outsourcing-sanitation-services  



ภาพที่ ๑ ผู้ประกอบการโรงงานผลิตอาหารสามารถใช้ประโยชน์จากการเอาท์ซอร์สบริการด้านสุขอนามัย (แหล่งภาพ: PSSI)

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กลุ่มผู้เลี้ยงไก่สหรัฐฯ ฝันไกลถึงเปลี่ยนโลก

กลุ่มเกษตรกรในสหรัฐฯ คุก เวนเจอร์ เป็นการรวมกลุ่มร่วมกันของเกษตรกร พ่อครัว ผู้ประกอบการร้านอาหาร เนื่องจาก ไม่สามารถแสวงหาแหล่งวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหารอย่างที่ตัวเองต้องการได้ จึงร่วมกันสร้างความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีการเลี้ยงสัตว์ไปสู่เกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative agriculture)  
               เมื่อประสบปัญหาขาดแคลนระบบการสรรหาอาหารตามที่ตัวเองต้องการไม่ได้ กลุ่มเกษตรกรนี้จึงหันมาพึ่งพาตัวเองโดยการพัฒนาระบบการผลิตที่อาศัยการใช้ประโยชน์จากการสังเคราะห์แสง และจุลินทรีย์ในดินที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อดักจับแก๊สเรือนกระจกไว้ภายในดิน กลุ่มเกษตกรร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ ตรวจวัดคาร์บอนในดิน นักโภชนาการ และองค์ประกอบต่างๆทางชีววิทยาในพื้นที่กว่าสองพันไร่ในรัฐอาร์คันซอ และฟาร์มที่ปลูกพืชไร่สำหรับปศุสัตว์ หลังจากนั้น ติดตามผลปีต่อปี เพื่อประเมินผลต่อสุขภาพดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ และประชากรศัตรูพืช ความคิดริเริ่มนี้เป็นผลิตผลจากบริษัทจัดส่งอาหารชื่อว่า Blue Apron

พันธุ์ไก่ทนร้อน และโตช้า
               ตอนนี้เริ่มต้นจำหน่ายพันธุ์ไก่ที่เลี้ยงในทุ่งหญ้าในราคา ๒๗๑ บาทต่อกิโลกรัมใกล้เคียงกับราคาจำหน่ายไก่อินทรีย์ในปัจจุบัน บริษัทใช้ไก่พันธุ์ Naked Neck Free Ranger จากการผสมพันธุ์ไก่สามสาย เพื่อให้ทนร้อน
               ปัจจุบันมีโรงฟัก ๑ แห่ง โรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อ ๓๐ โรงเรือน และไก่พันธ์ ๒๗ โรงเรือน โดยมุ่งผลิตไก่เนื้อโตช้าที่ใช้เวลาเลี้ยง ๕๕ ถึง ๖๒ วัน โดยจับมือกับบริษัท Fresh Direct เพื่อวางแผนการผลิตไก่ ๒๐๐,๐๐๐ ตัวต่อสัปดาห์ภายในสิ้นปีนี้ หรือ ๑๐ ล้านตัวต่อปี เป็นสัดส่วนที่เล็กมากเทียบกับจำนวนไก่เนื้อในสหรัฐฯทั้งหมด ขณะนี้ กำลังมองแนวโน้มเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้บริโภคอยากกินเนื้อ แต่ยังช่วยรักษาโลกไว้ได้ ยังไงๆคนก็คงไม่หยุดกินไก่ หากเราสามารถลดปริมาณคาร์บอนโดยการสร้างระบบการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์จะเป็นการดีที่สุดที่เราสามารถตอบสนองความต้องการทั้งสองอย่างได้พร้อมกัน ผู้สนับสนุนหลายหนึ่งของกลุ่มเกษตรกร คุก เวนเจอร์ ได้แก่ ฟาร์ม Niman Ranch วางแผนจำหน่ายไก่งวงสายพันธุ์ดั้งเดิม
               เกษตรกรรมที่ยั่งยืนมิได้หมายถึงการรักษาสถานภาพปัจจุบัน นั่นยังไม่ดีพอ ยังต้องมุ่งเน้นไปที่สุขภาพ คิดถึงสิ่งที่อยู่ใต้พื้นดินลงไป นั่นคือ เกษตรกรรมฟื้นฟู กลุ่มเกษตรกร คุก เวนเจอร์ วางแผนที่จะซื้ออาหารสัตว์จากเกษตรกรผู้เพาะปลูกท้องถิ่น โดยจ่ายให้ในราคาพรีเมียม เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบฟื้นฟู โดยหวังว่าจะเพิ่มการเติมอินทรียวัตถุลงสู่ดิน และหมุนเวียนการเพาะปลูก เร่งรัดให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ โดยฟื้นฟูผืนดินชุ่มน้ำ ปลูกต้นไม้ และลดการใช้ยาฆ่าแมลง ผ่านการจัดการศัตรูพืชอย่างบูรณาการ ขณะนี้มีการเติบโตของการเกษตรกรรมอย่างหนาแน่นทำลายหน้าดินที่สามารถใช้สำหรับการเพาะปลูก แต่ยังเร็วไปที่จะตัดสินว่า การเกษตรกรรมแบบฟื้นฟูจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้จริงๆ ขณะที่ องค์กรไม่แสวงรายได้อย่างสถาบัน Rodale โต้แย้งว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศสามารถพลิกสถานการณ์โลกได้ หากทุกฟาร์มปฏิบัติตามเกษตรกรรมแบบฟื้นฟู และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2019. Chicken rearing that promises to change the world. [Internet]. [Cited 2019 Jun 12]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2019/6/Chicken-rearing-that-promises-to-change-the-world-437814E/?intcmp=related-content

ภาพที่ ๑ลุ่มเกษตรกรคุก เวนเจอร์ หวังต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีการเลี้ยงสัตว์ไปสู่เกษตรกรรมฟื้นฟู (แหล่งภาพ: https://pixabay.com/


วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

อากาศผันผวน เหตุหวัดนกชุกในไต้หวัน


รายงานการระบาดใหม่ไปแล้วอีกแปดครั้งในภาคการผลิตสัตว์ปีกไต้หวัน โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง เอช ๕ เอ็น ๒ เบ็ดเสร็จทั้งปีก็สูญเสียชีวิตกันไปแล้วเกือบครึ่งล้าน  สัปดาห์ที่ผ่านมา โรคไข้หวัดนกขาลงเหลือเพียงสองประเทศเท่านั้นที่ยังคงขยันรายงานโรคระบาดต่อโอไออี ไต้หวัน และเวียดนาม
               ไต้หวัน ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง ๕ ครั้งเกิดจากเชื้อเอช ๕ เอ็น ๒ วาเรียนต์ ในสัตว์ปีกมากกว่า ๗๒,๕๐๐ ตัว หนึ่งในนั้นเป็นเป็ดเนื้อ ส่วนที่เหลือเป็นไก่พื้นเมือง โดยปรากฏอาการทางคลินิก และตายทุกฟาร์ม อีกสามแห่งตั้งอยู่คนละเมืองกันในตำบลหยุนหลิน อีกสองแห่งอยู่ในชางฮัว ทำให้รวมแล้วเกิดการระบาดในตำบลนี้ไปแล้ว ๒๑ ครั้ง นับตั้งแต่มีรายงานอย่างเป็นทางการ สื่อท้องถิ่นได้รายงานเพิ่มขึ้นอีก ๓ รายในฟาร์มสัตว์ปีก ทำให้ตัดสินใจทำลายสัตว์ปีกในเมืองหยินหลินไปมากกว่า ๗,๕๐๐ ตัว รายงานล่าสุดนี้ทำให้จำนวนครั้งของการระบาดจากโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในประเทศไต้หวันรวมแล้วเป็น ๓๕ ครั้ง โดยมีการทำลายสัตว์ปีกไปแล้ว ๔๖๑,๐๐๐ ตัวในตำบลหยุนหลิน ชางฮัว และผิงตง การเปลี่ยนแปลงของอากาศในตอนกลาง และตอนใต้ของประเทศไต้หวันถูกอ้างว่าเป็นสาเหตุของการระบาดหนักของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงโดยสำนักงานตรวจสอบสุขภาพ และกักกันพืช และสัตว์ (Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine, BAPHIQ)
               เวียดนาม กระทรวงเกษตร และพัฒนาชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Development, MARD) เวียดนามรายงานต่อโอไออีว่า เชื้อไวรัสสับไทป์เอช ๕ เอ็น ๖ วาเรียนต์ตรวจพบอีกครั้งในสามเหลี่ยมแม่น้ำแดงในฝูงสัตว์ปีกชนบทที่มีไก่ราว ๑,๐๐๐ ตัวตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน เป็นต้นมา โดยมีไก่ตายไปแล้ว ๓๐ ตัว ที่เหลือถูกทำลาย หลังจากก่อนหน้านี้เคยตรวจพบในจังหวัดไทยบินฮ์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อ้างตาม MARD โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง เอช ๕ เอ็น ๑ ในสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของเวียดนามได้สิ้นสุดลงแล้ว ภายหลังการรายงานการระบาดเพียงครั้งเดียวในสัตว์ปีกบ้านในจังหวัดเหิ่วซางตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมมาแล้ว
               อินเดีย รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรอินเดียแจ้งต่อโอไออีว่า โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง สับไทป์เอช ๕ เอ็น ๑ ในรัฐพิหารได้สงบลงแล้ว การระบาดครั้งหลังสุดเกิดขึ้นนานมาแล้วตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว ๓ ครั้งในรัฐทางตะวันออกของประเทศ

เอกสารอ้างอิง

ภาพที่ ๑ การเปลี่ยนแปลงของอากาศในตอนกลาง และตอนใต้ของประเทศไต้หวันถูกอ้างว่าเป็นสาเหตุของการระบาดหนักของโรคไข้หวัดนก (แหล่งภาพ https://pixabay.com/)


วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

สุดยอดประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่

ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา  ตลาดส่งออกเนื้อไก่สดทั่วโลกมีมูลค่าราวสองแสนล้านบาท ขณะที่ เนื้อไก่แช่แข็งยังสูงกว่ามากมีมูลค่าราวห้าแสนล้านบาท โดยภาพรวม การส่งออกเนื้อไก่สดแต่ละประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๑๕ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ในเวลานั้น การส่งออกเนื้อไก่สดมีมูลค่าราวหนึ่งแสนแปดพันล้านบาทเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม การส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งลดลงร้อยละ ๑๓  
สิบสุดยอดประเทศผู้ส่งออก เนื้อไก่สด ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๑ โดยรวมทั้งยอดนำเข้าไก่ตัว หรือชิ้นส่วน คิดเป็นร้อยละ ๘๒ ของยอดการจำหน่ายเนื้อไก่สดทั่วโลกแล้ว
ลำดับ
ประเทศ
มูลค่า (ล้านบาท)
ร้อยละ
เนเธอร์แลนด์
๔๖,๑๘๐
๒๒
โปแลนด์
๔๐,๐๒๐
๒๐
เบลเยียม
๒๑,๘๘๗
๑๑
สหรัฐฯ
๑๖,๗๑๖
เยอรมัน
๑๓,๖๓๘
ฝรั่งเศส
๗,๓๘๘
จีน
๖,๙๘๘
เบลารุส
๕,๕๑๐
ออสเตรีย
๔,๖๑๘
๑๐
อิตาลี
๔,๖๑๗
ประเทศผู้นำส่งออกเนื้อไก่สดที่เติบโตเร็วที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ได้แก่ ยูเครน เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ร้อยละ ๕๑๐๖ โปแลนด์ ร้อยละ ๙๖ ออสเตรีย และจีน และประเทศที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ สหรัฐฯ ร้อยละ ๓๔ สหราชอาณาจักร ร้อยละ ๒๔ ฮังการี และเยอรมัน
ผู้นำด้านการส่งออกเนื้อไก่สดอย่างสหรัฐฯและเนเธอร์แลนด์ ยังติดชื่อในสุดยอดประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตกลงตามหลังบราซิลที่ครองแชมป์อันดับหนึ่งยอดส่งออกเนื้อไก่แช่แข็ง
สิบสุดยอดประเทศผู้ส่งออก เนื้อไก่แช่แข็ง ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๑ คิดเป็นร้อยละ ๘๔ ของยอดการจำหน่ายเนื้อไก่สดทั่วโลกแล้ว
ลำดับ
ประเทศ
มูลค่า (ล้านบาท)
ร้อยละ
บราซิล
๑๘๑,๖๓๐
๓๗
สหรัฐฯ
๘๓,๑๒๐
๑๖
เนเธอร์แลนด์
๓๖,๙๔๐
ฮ่องกง
๒๗,๕๙๒
โปแลนด์
๒๒,๕๐๓
ไทย
๒๐,๒๒๕
ตุรกี
๑๖,๘๓๙
ยูเครน
๑๑,๒๓๖
ฝรั่งเศส
๙,๒๐๕
๑๐
ชิลี
๘,๗๑๒
               หกประเทศแรกขยายการจำหน่ายเนื้อไก่แช่แข็งส่งออกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ได้แก่ ไทย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๘ โปแลนด์ ร้อยละ ๔๕ ชิลี ยูเครน และฮ่องกง
               ส่วนประเทศที่มียอดส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา ฝรั่งเศส เยอรมัน และสหรัฐฯ

เอกสารอ้างอิง

Workman D. 2019. Chicken Exports by Country. [Internet]. [Cited 2019 May 5]. Available from: http://www.worldstopexports.com/chicken-exports-by-country/


ภาพที่ ๑ สุดยอดประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่ (แหล่งภาพ https://pixabay.com/)



ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...