วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สำรวจกลยุทธ์การต่อสู้โรคบิด

โรคบิดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในการเลี้ยงไก่เนื้อ การควบคุมปัญหาเป็นคำตอบที่ซับซ้อน เนื่องจาก ทางเลือกสำหรับการบำบัดโรคที่จำกัด
               โรคบิดในไก่เนื้อถูกทิ้งไว้เป็นภาระของนักโภชนาการ ขณะที่ นักโภชนาการส่วนใหญ่จะพิจารณาจะคิดว่าความจริงแล้วเป็นงานของสัตวแพทย์ ความจริงแล้ว เราต้องอาศัยความชำนาญ และประสบการณ์จากทั้งสองคนนั่นแหละในการช่วยป้องกัน และรักษาโรคนี้ เนื่องจาก โรคบิดเป็นโรคส่งผลกระทบต่อสุขภาพไก่อย่างมาก โดยเฉพาะผลต่อกระบวนการเมตาโบลิซึม การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยากันบิดในอาหารไก่เนื้อควรเกิดจากการตัดสินใจร่วมกัน เช่น หากฟาร์มมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคบิด การตัดสินใจใช้ยากันบิดก็จะรบกวนประสิทธิภาพการให้วัคซีน
ไก่อายุน้อยมีความไวรับต่อโรคบิดที่มีหลายชนิดในจีนัส ไอเมอเรีย ตั้งแต่ อะเซอร์วูลินา แมกซิมา และเทเนลลา เป็นเชื้อบิดที่พบได้บ่อยที่สุด ความต้านทานต่อโรคบิดจากภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์แบบเป็นไปไม่ได้ แม้ว่า ไก่จะมีอายุมากแล้วก็ตาม แต่ภูมิคุ้มกันบางส่วนสามารถเกิดขึ้นได้โดยการใช้วัคซีน และการใช้โปรแกรมยากันบิดที่มีให้เลือกใช้หลายชนิดในอาหารสัตว์
               การไม่ใช้ยากันบิดเป็นทางเลือกที่ไม่เหมาะสม เนื่องจาก เชื้อบิด เป็นโปรโตซัวก่อโรคที่พบได้ประจำถิ่นในการเลี้ยงสัตว์ปีกเกือบทุกชนิด เนื่องจาก เชื้อบิดสามารถอาศัยในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานมา และสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วได้หลายวิธี จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุมโรคได้ แม้ว่า ฟาร์มที่ไม่ใช้ยากันบิดส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากโรคบิดแบบอ่อน หรือไม่แสดงอาการ ส่งผลให้ไก่โตช้า เนื่องจาก เชื้อบิดไปเพิ่มจำนวน และทำลายชั้นเยื่อเมือกบนลำไส้ การย่อยอาหาร และการดูดซึมเกิดความบกพร่อง ขณะที่ โรคบิดแบบแสดงอาการทำให้อัตราการป่วย และอัตราการตายสูง และจำเป็นต้องรักษาอย่างมาก และเป็นระยะเวลานานจนกว่าจะควบคุมโรคได้สำเร็จ ดังนั้น การป้องกันโรคจึงเป็นวิธีการที่นิยมกันมากที่สุดทั่วโลก

ทางเลือกสำหรับการควบคุมโรคบิด
               การเลือกใช้ยากันบิดที่ถูกต้องไม่ใช่เรื่องง่าย ประการแรก เชื้อบิดมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว บางชนิดพัฒนาภาวะดื้อต่อผลิตภัณฑ์ยากันบิดส่วนใหญ่ที่มีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ดังนั้น โปรแกรมต่างๆจึงมีการนำเสนอ ขณะที่ ผลิตภัณฑ์ยากันบิดบางชนิดมีการหมุนเวียน หรือเปลี่ยนตามเวลา ประการที่สอง ยากันบิดส่วนใหญ่ผสมอาหารต่ำกว่าระดับที่เป็นพิษสำหรับสัตว์ปีก และเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใต้ระบบเมตาโบลิซึมของโฮสต์ ประการที่สาม กระแสการเปลี่ยนแปลงการผลิตไก่เนื้อปราศจากยาปฏิชีวนะได้รุกคืบเข้าหายากันบิดที่ในสหรัฐฯจัดเป็นกลุ่มของยาปฏิชีวนะเช่นกัน ทำให้คงเหลือทางเลือกสำหรับการป้องกันบิดน้อยลงทุกที จนถึงตอนนี้ ยากันบิดจากธรรมชาติเชื่อว่า จะเข้ามาแทนที่เคมี และไอโอโนฟอร์ แต่ประสิทธิภาพก็ยังไม่ได้ดีไปกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายจริง ข้อเท็จจริงที่ ยากันบิดที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ยิ่งทำให้ยากันบิดจากธรรมชาติมีความเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
               ๑. ยากันบิดกลุ่มเคมี (Chemicals)  เป็นยาสังเคราะห์ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของเชื้อบิดที่ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายไก่ การออกฤทธิ์ของยาเปิดโอกาสสำหรับการพัฒนาภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะระหว่างช่วงเวลาการหยุดยา การออกฤทธิ์ของยาที่ช้าอาจเป็นสาเหตุหลักของการดื้อยาของเชื้อบิดอย่างรวดเร็ว นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดความสามารถในการออกฤทธิ์ของยากันบิดชนิดเคมีมากกว่าที่ยาจะไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้เปลี่ยนยากันบิดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆทุก ๓ เดือน และไม่นำผลิตภัณฑ์เดียวกันมาใช้อีกก่อนช่วงสลับยาเป็นเวลา ๙ ถึง ๑๒ เดือน สัตวแพทย์บางคนชอบใช้ผลิตภัณฑ์มากกว่าหนึ่งชนิดร่วมกันภายในรอบเดียวกัน เพื่อชลอการพัฒนาภาวะดื้อยากันบิด
               ๒. ยากันบิดกลุ่มไอโอโนฟอร์ (Ionophores) ผลิตภัณฑ์นี้เตรียมจากการหมักเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์ทำลายเมตาโบลิซึมแร่ธาตุ (Mineral metabolism) ของเชื้อบิด และส่งผลตั้งแต่ระยะแรกของเชื้อโปรโตซัวในช่องทางเดินอาหาร แต่ก็ส่งผลต่อการพัฒนาเชื้อบิดในการติดเชื้อเข้าสู่สัตว์ แม้ว่า ยากลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่ากลุ่มเคมี แต่ไม่เหนี่ยวนำให้เชื้อดื้อยา (Resistance) แต่มีความทนทานต่อยา (Tolerance) มากขึ้น การเพิ่มขนาดของยากลุ่มไอโอโนฟอร์ยังสามารถแก้ปัญหาความทนทานต่อยาได้ แต่หากใช้ในระดับสูงก็อาจเป็นพิษต่อไก่ ยากลุ่มไอโนฟอร์ไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันนานกว่า ๖ เดือน ยืดออกไปได้ไม่เกิน ๖ ถึง ๙ เดือน โปรแกรมยากันบิดตามปรกติจึงนิยมใช้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อยืดเวลาให้ยากันบิดออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้นานที่สุด แต่ไม่ใช่ยาทุกชนิดในกลุ่มไอโนฟอร์ออกฤทธิ์ต่อเมตาโบลิซึมของแร่ธาตุเหมือนๆกัน
               ๓. สารประกอบจากธรรมชาติ (Natural compounds) การใช้สารเติมอาหารสัตว์ได้ผ่านการทดสอบเป็นทางเลือกใหม่ทดแทนยากันบิดกลุ่มเคมี และไอโอโนฟอร์ สารประกอบจากพืช (Phytogenic compounds) ถูกจับตาอย่างมากในงานวิจัย โดยการฆ่า หรือหยุดการพัฒนาของเชื้อบิด อีกวิธีหนึ่งคือ การใช้โปรไบโอติค (Probiotics) ที่ทำให้การสร้างนิคมตามทางเดินอาหารของเชื้อบิดยากขึ้น และยังช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันของสัตว์โดยภาพรวมโดยอาศัยสารประกอบที่มีฤทธิ์ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน นับเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการควบคุมโรคบิด แต่ปัจจุบัน ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์เดียวที่สามารถใช้ทดแทนยากันบิดกลุ่มเคมี และไอโอโนฟอร์ โดยมีประสิทธิภาพได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้เริ่มมีผู้สนใจการใช้วัคซีนกันบิดมากขึ้น

ผลข้างเคียงของยากันบิดต่อสุขภาพไก่
               ยากันบิดมิได้ปราศจากอันตรายต่อไก่ โดยเฉพาะการใช้ยาเกินขนาด ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ
               ๑. ยากันบิดกลุ่มเคมี แอมโพรเลียม (Amprolium) แม้ว่า ไก่เนื้อส่วนใหญ่นิยมใช้ยากลุ่มไอโนฟอร์ โดยยากลุ่มเคมีก็มักนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมร่วม โดยเฉพาะ เมื่อมีการระบาดรุนแรง ยาแอมโพรเลียมเป็นที่รู้จักกันดีว่า ออกฤทธิ์ขัดขวางการใช้วิตามินไทอะมีน (Thiamine antagonist) วิตามินชนิดนี้ ตามปรกติเป็นองค์ประกอบชนิดหนึ่งในพรีมิกซ์ของวิตามิน และผสมอยู่ปริมาณมากในอาหารไก่เนื้อ เอนไซม์ที่ออกฤทธิ์ทำลายไทอะมีน เรียกว่า ไทมิเนส (Thiaminase) มักปรากฏในปลาป่นที่ไม่มีคุณภาพ การบรรจบกันของยาแอมโพรเลียม และปลาป่นคุณภาพต่ำ สามารถสร้างปัญหาต่อสุขภาพไก่เนื้อได้ ยากันบิดอีกกลุ่มคือ ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) เป็นตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อเมตาโบลิซึมของวิตามินชนิดกรดโฟลิก (Folic acid metabolism)
               ๒. ยากันบิดกลุ่มไอโอโนฟอร์ชนิดโมเนนซิน (Monensin) และไอโอโนฟอร์ ยากันบิดชนิดโมเนนซินมีคุณสมบัติคล้ายกับไอโนฟอร์ส่วนใหญ่คือ ส่งผลต่อเมตาโบลิซึมของแร่ธาตุ โดยส่งผลให้วัสดุรองพื้นแห้งขึ้นในไก่เนื้อ ในทางตรงกันข้าม ยาลาโซลาซิด ส่งผลต่อต่อเมตาโบลิซึมของแร่ธาตุ และส่งผลให้วัสดุรองพื้นเปียกขึ้นกว่าปรกติ มิใช่ว่ายาไอโอโนฟอร์ทุกชนิดออกฤทธิ์ต่อเมตาโบลิซึมของแร่ธาตุวิธีเดียวกัน ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิดในสภาวะที่เกิดความเครียดจากความร้อน เนื่องจาก เมตาโบลิซึมของแร่ธาตุมีบทบาทสำคัญโดยตรงต่อภาวะช็อกจากความร้อนในไก่           

บทสรุป
           สัตวแพทย์ควรเป็นผู้ออกแบบโปรแกรมการใช้ยากันบิดที่เฉพาะสำหรับแต่ละฟาร์ม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และผลการเลี้ยงก่อนหน้านี้ การจำแนกสายพันธุ์ของเชื้อบิดมีความจำเป็นต่อการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม การต้านยา และทนทานต่อยาควรพิจารณา นักโภชนาการอาหารสัตว์ควรระมัดรวังเลือกใช้ยาต้านบิดที่ถูกต้อง โดยมิให้รบกวนระบบเมตาโบลิซึมของสารอาหาร

เอกสารอ้างอิง

   Mavromichali I. 2016. Exploring limited options against broiler coccidiosis. [Internet]. [Cited 2016 Sep 30]. Available from: http://www.wattagnet.com/articles/28363-exploring-limited-options-against-broiler-coccidiosis


ภาพที่ ๑ ไก่เนื้อที่เกิดโรคบิดแบบไม่แสดงอาการ เนื่องจาก เชื้อบิด อาศัยอยู่ตามสิ่งแวดล้อม



วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การฝังซากไก่สามารถกำจัดซัลโมฯได้

การฝังซากสัตว์ปีกเป็นวิธีปฏิบัติทั่วไปที่นิยมกันระหว่างการตายตามปรกติ และซากไก่ทั้งตัวถูกทิ้ง รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับการย่อยสลายซากไก่อธิบายการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และความชื้นที่จำเป็นสำหรับการย่อยสลายซากสัตว์ปีก การรอดชีวิตของเชื้อจุลชีพก่อโรค หรือติดต่อสู่มนุษย์ ภายใต้สภาวะการย่อยสลายยังมีการศึกษาน้อย เนื่องจาก จำเป็นต้องมีการควบคุมปัจจัยต่างๆหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลาย ได้แก่ อุณหภูมิแวดล้อม น้ำ พีเอช ความเข้มข้นของแอมโมเนีย วิธีการนำซากสัตว์มารวมกัน และนิเวศวิทยาของจุลชีพ ดังนั้น การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลดลงของเชื้อโรคระหว่างการเน่าสลายของซากสัตว์ปีก จึงมีความจำเป็นเพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานวิธีการปฏิบัติงานสำหรับการฝังซากสัตว์ปีก 
เมื่อถึงเวลาปลดไก่พันธุ์เนื้อ และไก่ไข่ การฝังซากสัตว์ปีกเป็นวิธีที่คุ้มค่าทางเศรฐกิจ และสะดวกที่สุดสำหรับการปลดสัตว์ปีก และเป็นการเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของซากสัตว์ปีกตายกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยหมัก การลดปริมาณเชื้อซัลโมเนลลาจากซากสัตว์ปีกสามารถจัดการได้โดยการเรนเดอริง หรือการทำให้ซากสัตว์ปีกเน่าสลาย ขณะที่ การเรนเดอริงโดยใช้อุณหภูมิ และความดันให้ผลดีสำหรับการทำให้เชื้อโรคหมดฤทธิ์ได้ในซากสัตว์ปีก ปัจจัยอื่นๆสำหรับการย่อยสลายซากสัตว์ปีกยังมีการศึกษากันน้อย เนื่องจาก กระบวนการนี้ ผู้ประกอบการแต่ละรายก็ใช้สภาวะ และขั้นตอนที่แตกต่างกัน ดังนั้น องค์ความรู้ที่มีอยู่จึงค่อนข้างจำกัด สำหรับการอธิบายผลกระทบของอุณหภูมิ และวิธีการต่อการย่อยสลายซากสัตว์ปีก เพื่อฆ่าเชื้อซัลโมเนลลาในซากสัตว์ปีก
ผลการใช้อุณหภูมิการย่อยสลายซากตั้งแต่ ๕๕ ถึง ๖๒.๕ องศาเซลเซียส และการเรนเดอริงระดับต่ำ เช่น การพาสเจอไรเซชันที่อุณหภูมิระหว่าง ๗๐ ถึง ๗๘ องศาเซลเซียสต่อเชื้อ ซ. ไทฟิมูเรียม วิธีการทดลองเริ่มจากการนำซากสัตว์ปีกบด และสัตว์ปีกทั้งตัว ภายใต้สภาวะของการผสม และการไม่ผสมที่แตกต่างกัน ผลการทดลองพบว่า  เนื้อสัตว์ปีกบด และสัตว์ปีกทั้งตัวที่บำบัดด้วยความร้อนจำลองจากการเน่าสลาย พบว่า ไม่พบเชื้อ ซัลโมเนลลา ภายหลังผ่านไปแล้ว ๑๑๐ ชั่วโมง โดยสามารถตรวจพบเชื้อเพียว ๑ ซีเอฟยูต่อมิลลิลิตรของเนื้อสัตว์ปีกบด และ ๑ ซีเอฟยูต่อกรัมของซากสัตว์ปีกทั้งตัว นอกจากนั้น การบดซากสัตว์ปีกช่วยให้การฆ่าเชื้อ ซัลโมเนลลา ด้วยความร้อนได้ดีขึ้น นอกเหนือจากนั้น ผลการศึกษา แสดงให้เห็นว่า การผสมซากสัตว์ปีกที่สม่ำเสมอ ช่วยลดระยะเวลาสำหรับการกำจัดเชื้อซัลโมเนลลาภายใต้อุณหภูมิสำหรับการเน่าสลายซากสัตว์ปีก และการเรนเดอร์ระดับต่ำ    

เอกสารอ้างอิง 
Mulder R 2016. Assessing Salmonella typhimurium persistence. [Internet]. [Cited 2016 Nov 15]. Available from: http://www.worldpoultry.net/Health/Articles/2016/10/Assessing-Salmonella-typhimurium-persistence-2898164W/?cmpid=NLC|worldpoultry|2016-10-31|Assessing_Salmonella_typhimurium_persistence 

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การจัดการแบบนาโนในการแปรรูปเนื้อสัตว์ปีก

ความรู้ความเข้าใจ ของเสียจากการผลิต และการตรวจติดตามอย่างระมัดระวังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานแปรรูปการผลิตสัตว์ปีก คอนเซพใหม่ของการจัดการแบบนาโนโดยเป็นวิธีเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มคุณภาพ ความปลอดภัย และปริมาณของผลผลิตเนื้อไก่แปรรูป โดยเฉพาะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถทวงคืนรายจ่ายแฝงของการผลิตกลับคืนสู่กระเป๋าเงินได้
การจัดการตามปรกติสำหรับบริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีก เพื่อให้มั่นใจว่า การปฏิบัติงานในขั้นตอนต่างๆตลอดไลน์การผลิตมีการดำเนินการอย่างถูกต้อง และผู้จัดการโรงงานหลายแห่ง หรือเจ้าของบริษัทใช้สำหรับการตรวจติดตาม หรือตรวจคัดกรองข้อมูลตามตำแหน่งวิกฤติที่มีความสำคัญตลอดกระบวนการผลิต ได้แก่
๑. การแขวนไก่บนแชคเกิล (Hanging on the shackles) ตรวจสอบให้มั่นใจว่า แชคเกิลทุกอันถูกใช้ทั้งหมด ความเร็วไลน์เหมาะสมหรือไม่
๒. ภายหลังออกจากเครื่องถอนขน (Exit from the pluckers) ตรวจสอบให้มั่นใจว่า ไก่ทุกตัวถูกถอนขนทั้งหมดอย่างเหมาะสม
๓. ห้องล้วงเครื่องใน (Evisceration) ภาพรวมของพนักงานที่กำลังปฏิบัติงาน
๔. ซากไก่หลังผ่านถังชิลเลอร์ (Chiller output) แสดงให้เห็นว่า ไก่ที่ออกมาจากถังชิลเลอร์
๕. ห้องเย็น (Cold rooms) เพื่อตรวจดูไก่ที่บรรจุกล่อง หรือลังเข้าสู่ห้องเย็นโดยไม่มีปัญหา
๖. ลานขนส่งสินค้า (Dispathc) เพื่อตรวจดูว่า รถบรรทุกรับสินค้าตรงตามเวลา

ความท้าทายที่สำคัญที่ผู้จัดการโรงงานเผชิญคือ สร้างความมั่นใจให้พนักงาน และเตรียมความพร้อมเครื่องมือ เพื่อให้ผลการดำเนินงานของโรงงานประสบความสำเร็จ หากพิจารณาความสำเร็จสูงสุดในการผลิตยานพาหนะ สิ่งพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีการตรวจติดตามเสมอคือ มูดา (Muda) คือการควบคุมของเสียโดยรวม และ เจมบา (Gemba) คือสถานที่จริง เครื่องมือการจัดการเหล่านี้ ช่วยให้โรงงานแปรรูปการผลิตสัตว์ปีกประสบความสำเร็จได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน

มูดา (Muda)
    ของเสีย ๗ กลุ่มในกระบวนการผลิตตามที่ Taiichi Ohno ผู้ออกแบบระบบการผลิตของโตโยตากำหนดไว้ก็คล้ายกับกลุ่มของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตไก่เนื้อ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนเข้าเชือด (Pre-slauhter) การจับ (Catching) การขนส่ง (Transportation) ในช่วงเวลารอเชือด (In waiting time) ระหว่างการแปรรูป (During processing) จนถึงขั้นตอนการผลิต (Overproduction) การแปรรูปซ้ำ (Reprocessing) และการเก็บสินค้า (Storage)
รายชื่อของเสีย (Waste list) ต้องมีการปรับปรุง และทบทวนให้ทันสมัยทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ยังสามารถสังเกตเห็นได้ในธุรกิจสัตว์ปีก
ความสูญเสียเวลา เนื่องจาก ความล่าช้าโดยไม่จำเป็น มักเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานโดยไม่มีการวางแผน
การเคลื่อนที่โดยไม่จำเป็นอันเป็นผลมาจากโรงงานแปรรูปการผลิตที่ออกแบบได้ไม่ดี
สภาวะการทำงาน และวิธีการทำงานการยศาสตร์ที่ไม่เหมาะสม (Unergonomic working conditions and methods) ส่งผลให้พนักงานทำงานได้ไม่ดี เนื่องจาก ปราศจากปัจจัยสนับสนุน
ประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ผิดพลาด หากสิ่งที่ผลิตไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องผลิตก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับห้องเย็น รวมถึง พลังงาน และค่าใช้จ่ายสำหรับการบำรุงรักษาอุปกรณ์ และเครื่องมือ ในที่สุดต้นทุนต่อกิโลกรัมของเนื้อไก่แปรรูปก็จะเพิ่มขึ้นในที่สุด
ความล้มเหลวในการปิดวงจรการผลิต เช่น หากประหยัดเวลาในบริเวณหนึ่ง ไม่สามารถนำมาใช้กับอีกบริเวณหนึ่งได้ก็เรียกได้ว่า ยังไม่มีประสิทธิภาพ
ความรู้เรื่องของเสีย และทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจาก ปราศจากโครงสร้างองค์กรที่ดี สำหรับกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ องค์กรก็จะเกิดความสูญเสียความสามารถที่ทรงคุณค่าจากบุคลากรไปได้
ความล้มเหลวขององค์กรที่ไม่สามารถใช้ศักยภาพของมนุษย์ได้ ผลการศึกษา แสดงให้เห็นว่า ความล้มเหลวขององค์กรเหล่านี้อาจเป็นเพียงเรื่องเล็ก แต่สามารถสร้างความแตกต่างระหว่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวได้
  
เจมบา (Gemba)
  ภาษาญี่ปุ่นคำนี้ หมายถึง การจัดลำดับความสำคัญเพื่อตรวจติดตามปัญหาให้ได้อย่างทันเหตุการณ์ ความรับผิดชอบสำหรับภารกิจนี้ต้องเกิดจากการปรากฏทางกายภาพที่สามารถสังเกตเห็นได้ ประเมิน และตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว
แนวความคิดการทำงานนี้ สามารถใช้ได้กับการแปรรูปการผลิตสัตว์ปีก เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ก่อนที่ เจมบา จะสามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม “วงจรการควบคุม (Control circles)” จำเป็นต้องดำเนินการ วงจรการควบคุมคือ ตำแหน่งในไลน์แปรรูปการผลิตแต่ละวัน จำเป็นต้องมีการตรวจติตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่
การสตันเนอร์ ทั้งทางเข้า และทางออก
ขั้นตอนการถอนขนสุดท้ายที่ทางออก
ซากที่ผ่านการล้วงเครื่องในก่อนเข้าสู่ถังชิลเลอร์
การแปรรูปเครื่องใน
การทำความเย็นซาก ทั้งก่อน และขณะทำความเย็นซาก

การสตันเนอร์ (The stunner)
การตรวจติดตามไก่ที่เข้าสู่อ่างสตันเนอร์ ปัญหาก่อนการสตันเนอร์ (Pre-stunner problems) สามารถบ่งชี้ และแก้ไขปัญหา ปัญหาที่ตำแหน่งนี้สามารถส่งผลกระทบที่ร้ายแรงสำหรับการฆ่าแบบอัตโนมัติ และคุณภาพซาก หากไก่ออกจากอ่างสตันเนอร์แล้ว ยังรู้สึกตัว ทั้งยก หรือหดคอ ก็จะถือว่า ไม่ผ่าน ตามคำแนะนำสำหรับการฆ่าไก่
เมื่อออกจากอ่างสตันเนอร์แล้ว ความสำเร็จของการทำงานก็สามารถประเมินผลได้ ไก่ต้องไม่มีสติ ไม่รู้สึกตัว มีม่านตาขยาย คอเป็นทรงโค้งเล็กน้อย และปีกหุบอยู่กับตัว และสงบอย่างสมบูรณ์

ทางออกจากการถอนขนขั้นตอนสุดท้าย (Exit from the final plucker)
หลังจากออกจากการถอนขน เส้นเลือดดำที่ปีกมักขยายขนาด รวมถึง การขยายขนาดของเส้นเลือดดำใกล้ข้อต่อสะโพก มักจะเกิดรอยช้ำเลือด
ปลายปีกไม่ควรมีการสะสมของเลือด การบาดเจ็บใดๆก่อนการฆ่าจะปรากฏเป็นก้อนเลือด (Hematomas) ที่จะมีสีเข้มข้น ไม่ควรมีขน แต่ผิวหนังยังคงอยู่อย่างสมบูรณ์ ไม่มีรอยข่วน หรือรอยแตกของผิวหนัง โดยเฉพาะ รอบปีก ขณะตรวจสอบให้เลือกไก่ แล้วกรีดผิวหนังตรวจบริเวณอก ควรมีสีของกล้ามเนื้อตามธรรมชาติ และไขมันใต้ผิวหนังควรเกาะกับผิวหนัง


การล้วงเครื่องในก่อนเข้าสู่ถังชิลเลอร์ (Eviscerated carcasses prior to chiller entry)
ควรระลึกไว้เสมอว่า ที่จุดควบคุมนี้ น้ำหนักซากแห้ง รวมคอ แต่ไม่ควรหัว ควรมีสัดส่วนอย่างน้อย ๗๖ เปอร์เซ็นต์ ในบางโรงงานฯ อาจสูงถึง ๗๘ เปอร์เซ็นต์ ที่จุดนี้ ควรทบทวนสิ่งสำคัญ ดังนี้
ยังมีไขมันที่ท้องหรือไม่? น้ำหนักไขมันควรประมาณ ๔๐ กรัม
คอถูกตัดยาวเพียงพอหรือไม่?
ตำแหน่งที่ตัดหัวอยู่ที่ดูกสันหลังท่อนแรกหรือไม่?

การแปรรูปเครื่องใน (Giblet processing)
ไม่ว่าโรงงานจะใช้ระบบการล้วงเครื่องในแบบอัตโนมัติหรือไม่ การจัดการเครื่องในโดยการแยกออกจากซาไก่ ควรตรวจติดตามสิ่งสำคัญ ดังนี้
การจัดการกึ๋น ระบบการตัดแบบอัตโนมัติ การลาง และทำความสะอาด ได้ดึงเอาชั้นคิวติเคิลออกทั้งหมดหรือไม่?
ทราบสัดส่วนของเนื้อที่สูญเสียไปหรือไม่? ควรเก็บตัวอย่างตรวจ
จำเป็นต้องแปรรูปซ้ำอีกเป็นสัดส่วนเท่าไร? เพื่อให้ดึงเอาชั้นคิวติเคิลออกได้ทั้งหมด
ขั้นตอนการทำความเย็นซากไก่: ทั้งก่อนลงถังชิลเลอร์ และเมื่ออยู่ในถังชิลเลอร์
ที่ขั้นตอนการลงถังชิลเลอร์ และอยุ่ในถังชิลเลอร์แล้ว จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านี้ ได้แก่ ซากไก่จุ่มน้ำทั้งตัว และสม่ำเสมอหรือไม่? มีโฟม ไขมันใต้ผิวหนังบนน้ำหรือไม่? ลองประมาณด้วยสายตาว่า มีโฟมมากเท่าไร น้อยเกินไปหรือไม่ มากเกินไปหรือไม่?
โดยสรุป ตามปรัชญาของเจมบา จะช่วยให้การปฏิบัติงานในขั้นตอนต่างๆระหว่างการแปรรูปการผลิตไก่อยู่ภายใต้การควบคุม

เอกสารอ้างอิง 
López EC 2014. Nano management: New concepts in poultry processing.WATTAgNet.com. [Internet]. [Cited 2016 Oct 29]. Available from: http: http://www.wattagnet.com/articles/18051-nano-management-new-concepts-in-poultry-processing


ภาพที่ ๑ การตรวจติดตามการปฏิบัติงานทั่วไปโดยอาศัยกล้องวงจรปิดตามเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันเหตุการณ์



















วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559

๑๐ กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพอ่างสตันเนอร์

ทุกกระบวนการผลิต การเอาใจใส่ และสนใจอย่างพิถีพิพัน ทั้งการปรับแต่ง และการตรวจติดตามการทำงานอย่างสม่ำเสมอช่วยลดจำนวนสัตว์ปีกที่ถูกปลดซาก และเพิ่มผลผลิตได้ แม้ว่าจะมีวิธีการทำให้ไก่สลบได้หลายวิธี แต่การสตันเนอร์ด้วยไฟฟ้ายังคงเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดในโรงงานแปรรูปการผลิตสัตว์ปีกเพื่อให้สัตว์ปีกหมดสติไม่รู้สึกตัว แม้ว่า จะมีการใช้กันอย่างแพร่หลายก็ตาม ผู้ผลิตก็จำเป็นต้องพิจารณาอ่างสตันด้วยไฟฟ้าให้มีการใช้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานที่ผิดพลาด และการปรับแต่งเครื่องมืออย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาติดตามมา
       เมื่อการสตันไม่ถูกต้อง คุณภาพของไก่ที่ผ่านการแปรรูปจะลดลง และจำนวนของไก่ที่ถูกปลดทิ้งก็จะเพิ่มขึ้น มาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นต่อการสตันเนอร์อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องมักถูกมองข้ามไป นับเป็นสิ่งที่น่าวิตก หากผู้จัดการโรงงานละเลยความใส่ใจ หรือเข้าใจว่า การจัดการเหล่านี้ยากลำบาก หรือจำเป็นต้องใช้งบประมาณลงทุนสูงสำหรับการจัดการอ่างสตันเนอร์
สิ่งสำคัญ ๑๐ ประการสำหรับการจัดการกระบวนการสตันเนอร์ด้วยไฟฟ้าที่สามารถตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่า จำนวนสัตว์ปีกที่ถูกปลดทิ้งน้อยที่สุด 
๑. การทำให้พื้นที่ทำงานมืด (Darkening the hanging area) เมื่อไก่เข้าสู่โรงงานแปรรูปการผลิต แล้วแขวนขึ้นแชคเกิล ต้องแขวนไก่อย่างถูกต้อง และลดระดับความเครียดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ พื้นที่รับไก่ควรมีระดับแสงลดลง
โรงงานแปรรูปการผลิตหลายแห่งใช้แสงสีฟ้า แม้ว่า แสงสีแดง และเขียวก็สามารถใช้ได้ในบางโรงงานฯ ไก่ไม่สามารถเห็นแสงได้จากช่วงแสงอัลตราไวโอเล็ต และเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มืดก็จะผ่อนคลาด และบางตัวถึงกับนอนหลับสบาย  
๒. เติมแชคเกิลให้เต็ม (Fill all the shackles) สิ่งสำคัญคือ ต้องมั่นใจว่า แต่ละ และทุกแชคเกิลบนสายพาน (Overhead conveyor) ใช้แขวนไก่โดยไม่มีการว่างเว้น 
หากมีอันใดว่างเว้นมีไก่จำนวนตัวเข้าสู่อ่างสตันเนอร์น้อยกว่าที่กำหนดไว้ นั่นหมายความว่า ไก่เหล่านั้นจะได้รับกระแสไฟฟ้าสูงเกินไป ส่งผลต่อความเสียหายของซาก มิใช่เพียงปัญหาแชคเกิลที่ว่างเปล่าเพียงอย่างเดียว ไก่แต่ละตัวต้องถูกแขวนอย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นก็จะเกิดความเสียหายได้เช่นเดียวกัน นอกเหนือจากความเสียหายต่อคุณภาพซากแล้ว พึงระลึกไว้เสมอว่า แชคเกิลที่ว่างเปล่ายังไปเพิ่มระยะเวลาการทำงานสำหรับแต่ละชุดการผลิตอีกด้วย ในบางกรณีก็อาจต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานเข้าไปอีก ต้องมีค่าล่วงเวลาให้กับพนักงานมากขึ้น 
๓. การใช้อุปกรณ์รองอกไก่ (Breast comforter) เพื่อให้ไก่สงบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ตลอดกระบวนการทำให้ไก่สลบ หรือสตันเนอร์ ส่วนอกของไก่ ประกอบด้วย ปลายเส้นประสาทมาเลี้ยงจำนวนมาก และการสัมผัสทางภายภาพด้วยส่วนนี้ของไก่กับอุปกรณ์รองอกไก่ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และยืดคอออกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์รองอกไก่ ไม่ควรทำจากวัสดุที่เป็นโลหะ เนื่องจาก การกระพรือปีกตามทางลงสู่อ่างสตันเนอร์อาจไปตีกับอุปกรณ์รองอกไก่ได้จนทำให้เกิดเลือดออก (Hematomas)
ไก่ที่ตื่นตกใจจะกระเสือกกระสน และตีปีกจนทำให้เลือดเข้าสู่กล้ามเนื้ออก และปีกมากขึ้น เมื่อซากไก่ถูกเชือดนำเลือดออก ก็จะไม่สามารถระบายเลือดที่เติมเข้ามามากขึ้นนี้ได้จนส่งผลต่อคุณภาพซากของไก่   
๔. นับตั้งแต่การแขวนครั้งสุดท้ายไปจนถึงทางเข้าอ่างสตันเนอร์ (From the last hanger to the stunner entrance) การผ่านจากการแขวนครั้งสุดท้ายไปจนถึงทางเข้าอ่างสตันเนอร์ควารใช้เวลาไม่เกิน ๒๐ วินาที เพื่อป้องกันกันมิให้เลือดออกจากปีก และคอมากเกินไปภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลก หากเลือดมีการสะสมในบริเวณนี้จะไม่สามารถระบายออกได้ระหว่างขั้นตอนการทำให้เลือดออก (Bleeding)
๕. การช๊อกก่อนเวลา (Pre-shock) หากมาตรการข้างต้นมีการดำเนินการอย่างถูกต้อง และกระแสไฟฟ้าในอ่างสตันเนอร์มีการปรับค่าอย่างถูกต้อง ไก่ควรเข้าสู่อ่างสตันเนอร์ด้วยสถานะที่ถูกต้อง 
วิธีการ ๒ วิธีที่นิยมปฏิบัติกันสำหรับสัตว์ปีกที่เข้าสู่อ่างสตันเนอร์ 
๑.) วิธีการแรกคล้ายกับวิธีที่นำสัตว์ปีกเข้าสู่อ่างน้ำร้อน วิธีการนี้แนะนำกันมากที่สุด เนื่องจาก สัตว์ปีกเข้าสู่อ่างน้ำร้อนในระยะที่ผ่อนคลาย และหัวอยู่ในมุมที่ถูกต้องกับน้ำ
๒.) วิธีการที่สองคือ การสไลด์ตัวลงตามทางลาด อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ ทางลาดมักจะเปียกชื้น เนื่องจาก เมื่อไก่เข้าสู่อ่างสตันเนอร์ จะตีปีกให้น้ำกระเซ็นกลับไปบนทางลาด ภายหลังการกระพือปีก แล้วสัมผัสกับทางลาดที่เปียกชื้นจนได้รับกระแสไฟฟ้า สามารถทำให้เกิดการหดตัวของคอ และยังกระพือปีกต่อไปอีก ไก่เหล่านี้อาจผงกตัวขึ้นเหนืออ่างสตันเนอร์แทนที่จะผ่านลงไปในน้ำ ดังนั้น ไก่กลุ่มนี้จะยังคงมีสติรู้สึกตัว หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อการฆ่า และการนำเลือดออก และเพิ่มรอยเลือดออกในซาก (Hematomas) อันเป็นผลมาจากไก่ดิ้นอย่างรุนแรงบนแชคเกิล เพื่อแก้ปัญหานี้ บางโรงงานจึงเพิ่มทางลาดชุดที่สองขึ้นมาด้วย
๖. ความลึกของระดับน้ำภายในอ่างสตันเนอร์ (Depth of stun bath water level) การเริ่มต้นขั้นตอนการทำให้ไก่สลบ (Stunning) คือ หัวไก่สัมผัสกับตะแกรงโลหะที่วางอยู่ใต้ระดับน้ำในอ่างสตันเนอร์ลงไปราว ๒ นิ้ว กระแสไฟฟ้าที่เข้าสู่กระโหลกจะเดินทางเข้าสู่สมอง แล้วผ่านกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม จนกระทั่งผ่านลงไปที่ขา   
อย่างไรก็ตาม หากตะแกรงวางอยู่ลึกกว่า ๒ นิ้วใต้ผิวน้ำ น้ำจะท่วมบางส่วนของคอ และบางกรณีสูงขึ้นไปถึงระดับยอดอก ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว และส่งผลต่อคุณภาพเนื้อไก่ได้
๗. การปรับกระแสไฟอัตโนมัติ (Automatic current adjustment) เมื่อแชคเกิลบางอันไม่มีไก่แขวน ไก่ที่เข้าสู่อ่างสตันเนอร์จะได้รับกระแสไฟฟ้ามากเกินไป วิธีการแก้ไขปัญหานี้คือ อาจพิจารณาเลือกใช้อุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบจำนวนไก่ในน้ำ แล้วปรับค่าแอมแปร์ได้อัตโนมัติ 
๘. ทางลาดพิเศษ (Special ramp) ในโรงงานแปรรูปการผลิตที่ไม่สามารถดัดแปลงทางเข้า และทางออกสู่อ่างสตันเนอร์ได้ สามารถติดตั้งทางลาดพลาสติกแยกต่างหากออกมาโดยมีความยาว และทางลาดที่สามารถป้องกันมิให้เปียกชื้นได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการถูกช๊อกก่อนเวลา (Pre-shock)   
  ๙. ท่อพลาสติกที่ทางออกอ่างสตันเนอร์ (Plastic pipe at the stunner exit) ในบางกรณี เมื่อกระบวนการสตันมิได้ถูกควบคุมอย่างถูกต้อง ไก่จะออกจากอ่างสตันเนอร์โดยมีการสั่นกระตุก อาจติดตั้งท่อพลาสติกยาวที่ความสูงระดับอก เมื่อไก่ออกจากอ่างสตันเนอร์จะช่วยลดการสั่นกระตุก และเข้าสู่อุปกรณ์การฆ่าแบบอัตโนมัติ (Automatic killer)
๑๐. ตรวจสอบกระแสไฟฟ้า (Monitor the current) ผลของการได้รับกระแสไฟฟ้าสูงเกินไปอาจทำให้เส้นเลือดดำที่ปีกของไก่ขยายตัว เช่นเดียวกับ เส้นเลือดดำที่โคนขาจนปรากฏเป็นรอยช้ำเลือด หากกระแสไฟฟ้าที่ตั้งไว้ไม่ถูกต้อง 
เพื่อให้กระบวนการสตันเนอร์เป็นไปอย่างถูกต้อง จำเป็นต้องมีการควบคุม และตรวจติดตามปัจจัยต่างๆเหล่านี้ให้ถูกต้อง ให้ความเอาใจใส่ทุกขั้นตอนจะช่วยให้ลดจำนวนไก่ที่ถูกปลดทิ้ง และได้ผลผลิตสูงที่สุด 

เอกสารอ้างอิง 

López EC 2013. Steps to increase stunning bath efficiency at the poultry processing plant. WATTAgNet.com. [Internet]. [Cited 2016 Oct 29]. Available from: http://www.wattagnet.com/articles/12666-poultry-processing-condemnations-a-guide-to-identification-and-causes




















ไก่ต้องสงบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เมื่อถูกแขวนบนแชคเกิล ให้ใช้แสงไฟที่ไก่จะไม่ตื่นตกใจ เช่น แสงสีฟ้า (Blue light) 




วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ลดซัลโมฯ กดปัญหาซากได้อีก ด้วยกฏ ๕ ขั้นตอนสำหรับการถอนขน

การปรับปรุงกระบวนการถอนขนในการแปรรูปการผลิต ให้เพิ่มความเอาใจใส่ในขั้นตอนผลิตบางอย่างสามารถช่วยให้การถอนขนได้ดีขึ้น ส่วนหนึ่งของกระบวนการแปรรูปการผลิต ไก่ต้องถูกถอนขนอย่างทั่วถึง โดยขนทั้งหมดต้องถูกกำจัดออกทั้งหมด โดยเฉพาะ ตำแหน่งที่เกาะยึดกับร่างกายของไก่อย่างแน่นหนา วิธีการปฏิบัติที่นิยมกันมากที่สุดคือ การลวกน้ำร้อนเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการ เพื่อให้ขนบริเวณหัว และปีกคลายตัว การลวกด้วยน้ำร้อนยังทำให้องค์ประกอบของคิวติเคิล (Cuticle) (ส่วนที่เคลือบผิวนอกของชั้นหนังกำพร้า) บริเวณขาหลวมขึ้นอีกด้วย กระบวนการนี้มีการดำเนินการตามราวแขวนไก่ (Overhead conveyor) พึงระลึกไว้ว่า การถอนขนที่ดีมีข้อพิจารณาหลายประการ ได้แก่
๑.     ระยะเวลารอการเข้าเชือดที่โรงงานแปรรูปการผลิต พื้นที่จอดรถขนส่งไก่เป็น (Reception area) ควรรออยู่บริเวณที่อากาศเย็นสบาย ในสภาวะอากาศร้อน ความเครียดจากอากาศร้อนจำเป็นต้องแก้ไขทันที เมื่อไก่รู้สึกร้อน (Overheat) ก็จะแสดงอาการหอบจนมีการสะสมของเลือดตามขา และปีก   
๒.    การแขวนไก่บนราวแขวนไก่ ต้องจับไก่อย่างเหมาะสม โดยใช้เพียง ๓ นิ้วเท่านั้น ได้แก่ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วนาง เมื่อจับไก่แขวนขึ้นแชคเกิล ให้จับที่ขา ไม่ใช่น่อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดรอยชร้ำ และการสะสมของเลือด ขณะนำไก่ออกจากกรงขึ้นแชคเกิล ระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระพือปีก แนะนำให้ติดตั้งเบาะรองอก (Breast comforter) การกระพรือปีกอย่างรุนแรงที่ขั้นตอนนี้ของกระบวนการแปรรูปการผลิตสามารถส่งผลให้เกิดการสะสมเลือดในปีกที่ไม่สามารถระบายออกได้ระหว่างการนำเลือดออก ส่งผลทำลายทั้งภายใน และภายนอกตัวไก่
๓.    การทำให้ไก่สลบ เพื่อช่วยให้ไก่สงบมากที่สุดขณะเคลื่อนที่จากพื้นที่แขวนไก่ไปยังทางเข้าสตันเนอร์ อุโมงค์ที่เตรียมไว้ต้องคลุมด้วยแผ่นพลาสติก ตลอดทางลอดอุโมงค์จะช่วยให้ไก่สงบ อย่างไรก็ตาม ข้อพึงระวังหลายประการที่จำเป็นต้องป้องกันปัญหาระหว่างขั้นตอนก่อนการสตันเนอร์ (Pre-stun) ยกตัวอย่างเช่น การกระพือปีกจนไปตีกับวัสดุโครงสร้างที่แข็ง หรือตีกับไก่ตัวข้างๆ จนทำให้เกิดรอยช้ำที่อาจลุกลามไปทั่วทั้งปีก เมื่อไก่กระพือปีกอย่างรุนแรง มักจะพยายามยืดคอขึ้น หมายความว่า หัวจะไม่จุ่มลงในอ่างสตันเนอร์ และยังคงมีรู้สึกตัว 
๔.     การฆ่า และการนำเลือดออก ขั้นตอนการสตันเหนี่ยวนำให้ไก่สูญเสียความรู้สึก และมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำลงเป็น ๓๕๐ ครั้งต่อนาที การเต้นของหัวใจที่ต่ำลงเหลือเพียง ๑๐ ถึง ๑๒ วินาที สิ่งสำคัญที่ต้องจดจำคือ พารามิเตอร์หลายอย่างในอ่างสตันเนอร์ที่ต้องมีการปรับให้เหมาะกับน้ำหนักไก่ เช่น ความถี่ ความต่างศักย์ และความสูงของอ่างสตันเนอร์ ไก่บางตัว อาจได้รับกระแสไฟฟ้ามากเกินไป และบางตัว ปีกหลุดออกจากข้อได้
๕.    การลวกน้ำด้วยน้ำร้อน ก็เช่นเดียวกับขั้นตอนการสตัน โดยการลวกน้ำร้อนมีปัจจัยหลายประการที่จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เช่น เวลา อุณหภูมิ การเปียกน้ำร้อนทั่วทั้งตัว และการกระจายตัวของน้ำร้อน หากซากไก่ไม่จุ่มลงในน้ำทั้งตัว ระหว่างการเคลื่อนที่ผ่านเครื่องลวกน้ำร้อน ขนที่มีการเกาะยึดกันแน่นมากที่สุด เช่น หาง และคอ จะไม่โดนน้ำร้อน ผลก็คือ รูขุมขนจะไม่ขยายตัวเพียงพอ และขนจะไม่คลายตัวออก นอกเหนือจากนั้น หากระดับน้ำในอ่างไม่สามารถทำให้แชคเกิลจุ่มลงไปถึงระดับความลึกอย่างน้อย ๓ นิ้ว จะทำให้ขนบริเวณข้อต่อขา และคิวติเคิลไม่หลุดออกมา และเป็นการดีที่จะระลึกไว้ในใจว่า ความสำเร็จเหล่านี้ น้ำจำเป็นต้องมีความร้อนอย่างเพียงพอ น้ำร้อนจะทำให้อุณหภูมิซากสูงขึ้น และจะเป็นการดีหากสามารถรักษาอุณหภูมินี้ไว้ระหว่างผ่านจากเครื่องลวกน้ำร้อน (Scalder) ไปถึงเครื่องถอนขน (Plucker)   
กระบวนการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ควรมีการทบทวนรายละเอียด เนื่องจาก มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของขั้นตอนการถอนขน การถอนขนจะต้องกำจัดขนออก โดยไม่ไปฉีกผิวหนัง หรือทำให้มีการสะสมของเลือดปริมาณมาก เนื่องจาก การใช้แรงตีมากจนเกินไป

ความท้าทายของขั้นตอนการถอนขน
               ตามที่บรรยายมาข้างต้นจะเป็นการดีมากหากผู้ผลิตทบทวนกระบวนการถอนขนเป็นประจำทุกวัน รวมถึง การถอนขนจากชั้นหนังกำพร้า หรือผิวหนัง ขึ้นกับว่า ไก่มีขนสีเหลือง หรือสีขาว ตามลำดับ นอกเหนือจากนั้น ควรระลึกไว้ว่า การถอนขนขึ้นกับน้ำหนักซากไก่เฉลี่ย ดังนั้น การกำจัดขนแต่ละเส้นทุกๆเส้นจากไก่ทุกตัวโดยใช้เครื่องถอนขนอัตโนมัติจึงเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีพนักงานอย่างน้อย ๑ คน ช่วยเก็บขนที่ยังถอนไม่หมด ยกตัวอย่างเช่น ที่หัว และที่หาง  อุณหภูมิสำหรับการลวกน้ำร้อนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในบางบริเวณ เช่น ขนบริเวณหัว ทั้งนี้เพื่อเลี่ยงปัญหาน้ำร้อนเกินไปลวกกล้ามเนื้ออกที่ส่งผลต่อคุณภาพ และปริมาณของไก่ที่ผ่านการแปรรูปการผลิต และกลายเป็นประเด็นปัญหว่า เป็นไปได้ไหมที่จะถอนขนไก่ โดยต้นทุนต่ำ และได้ทั้งคุณภาพ และปริมาณของสินค้าที่สูง ขณะที่ ไก่ยังอยู่บนราวแขวนไก่ (Overhead conveyer)  

ความร้อน และน้ำ
               ซากต้องอุ่นตลอดเวลา น้ำอุ่นมีอุณหภูมิระหว่าง ๓๔ ถึง ๓๖ องศาเซลเซียส ระหว่างการถอนขน และความร้อนที่ดูดซับจากเครื่องลวกน้ำร้อนต้องคงไว้ตลอดกระบวนการถอนขน เพื่อให้ประสบความสำเร็จได้ต้องมีโครงสร้างที่ช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนระหว่างการผ่านเครื่องลวกน้ำร้อนไปยังเครื่องถอนขน
               กลยุทธ์หนึ่งคือ การติดตั้งสเปรย์น้ำร้อน (Hot water sprayers) ที่อุณหภูมิ ๗๐ ถึง ๗๕ องศาเซลเซียสตลอดเวลาที่ผ่านกระบวนการถอนขน โดยเฉพาะ สปรย์ควรฉีดเข้าโดยตรงที่หัว และต้นขา และสเปรย์น้ำร้อนเป็นเวลาประมาณ ๖ วินาที  

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการถอนขน (Plucking technology)
               ความก้าวหน้าเทคโนโลยีเครื่องจักรสำหรับขั้นตอนการถอนขน ใช้เครื่องจักรหลายชนิดที่สามารถใช้ร่วมกัน เช่น อุปกรณ์ที่สามารถปรับได้อัตโนมัติตามกายวิภาคของสัตว์ปีก อุปกรณ์ที่สามารถหมุนทวนเข็มนาฬิกา อุปกรณ์ที่สามารถวางไว้ภายในตู้ที่กำลังเคลื่อนที่ เช่น หากตู้ หรือโครงสร้างเคลื่อนที่แล้ว ชุดอุปกรณ์สำหรับการถอนขนก็จะเคลื่อนที่ไปด้วย จดจำไว้ว่า การเลือกนิ้วยางสำหรับการถอนขน (Plucking fingers) มี ๓ ชนิดที่ควรใช้ ได้แก่ ชนิดนิ่ม (Soft) ชนิดกึ่งแข็ง (Semi-hard) และชนิดแข็ง (Hard) ต้องติดตั้งนิ้วยางสำหรับการถอนขนเหล่านี้อย่างระมัดระวัง เพื่อให้มั่นใจว่า สามารถถอนขนทั้งหมดได้โดยไม่ทำลายผิวหนัง ประสิทธิภาพของการถอนขนต้องไม่ทำให้ปีกหัก หรือเคลื่อน ไม่ทำให้เกิดรอยข่วนตามผิวหนัง และกล้ามเนื้ออก การสะสมของเลือดที่ปลายปีก และบริเวณอื่นๆของปีก หากสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ได้ก็จะช่วยลดการทำลายซากไก่ระหว่างการถอนขน และลดต้นทุนการผลิตได้


เอกสารอ้างอิง

López EC. 2014. Improving plucking during poultry processing. WATTAgNet.com. [Internet]. [Cited 2016 Oct 2]. Available from: http://www.wattagnet.com/articles/19463-improving-appearance-minimizing-bruising-at-poultry-processing.




















ภาพที่ ๑ การเลือกใช้นิ้วยาง (Rubber fingers) อย่างเหมาะสมมีความสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพซาก

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รอยช้ำเลือดที่เกิดขึ้นในโรงงานฯ

ปัจจัยหลายประการที่สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพ และผลผลิตของไก่เนื้อที่โรงงานแปรรูปการผลิต บางสิ่งสามารถจัดการได้ทันทีโดยผู้จัดการโรงงาน แต่ไม่ได้หมายถึงการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องทั้งหมด
               ข้อคำนึงด้านภูมิประเทศ ตัวอย่างเช่น ความดันบรรยากาศจะลดลงหากพื้นที่ตั้งฟาร์มอยู่ห่างจากระดับน้ำทะเล ยิ่งพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลเท่าใด จำนวนของเม็ดเลือดแดงที่จำเป็นต้องนำส่งออกซิเจนให้กับเนื้อเยื่อก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น จำนวนของเม็ดเลือดแดงที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหนืดของเลือด อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงอื่นๆก็สามารถเกิดขึ้นไปพร้อมกัน เมื่อเลือดถูกสูบฉีดเข้าสู่เส้นเลือดแดง เส้นผ่านศูนย์กลางก็จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก ผนังสี่ชั้นยังคงแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับปริมาณเม็ดเลือดแดงที่เพิ่มเติมเข้ามาได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับเส้นเลือดดำ แม้ว่า จะมีจำนวนชั้นของผนังหลอดเลือดเท่ากัน แต่ผนังสองชั้นมีความบางกว่าอย่างมาก ผลลัพธ์ก็คือ ปริมาตรของเลือดที่ผ่านเส้นเลือดดำเพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดการขยายขนาดของหลอดเลือด พึงระลึกไว้ในใจเสมอว่า เมื่อพยายามแก้ไขปัญหาที่ยากเย็นบางประการที่มักเกิดขึ้นที่โรงงานแปรรูปการผลิต โดยเฉพาะ กล้ามเนื้อบริเวณปีก และอก เมื่อไก่เลี้ยง และผลิตในภูมิอากาศหนาวเย็น ฤดูหนาว หรือที่ภูมิประเทศสูง หลอดเลือดแบกภาระเก็บกักเลือดไว้ถึง ๘๔ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ อวัยวะรับเลือดไว้เพียง ๑๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การกระจายของเลือดภายในหลอดเลือด แบ่งเป็น เส้นเลือดดำ ๖๔ เปอร์เซ็นต์ เส้นเลือดแดง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ และหลอดเลือดฝอย ๕ เปอร์เซ็นต์ สรุปได้ว่า เลือดส่วนใหญ่อยู่ในเส้นเลือดดำ และพึงระลึกไว้เสมอว่า เส้นเลือดที่ปีกมีมวลกล้ามเนื้อน้อย เพราะเหตุว่า มีการสะสมของเลือดจากเส้นเลือดดำไว้มาก จึงสังเกตเห็นได้ง่ายส่งผลให้ไก่ถูกปลดทิ้งในขั้นตอนการควบคุมคุณภาพสินค้าได้บ่อยที่สุด อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงไก่ในสภาวะอากาศเย็น เส้นเลือดก็จะพยายามหดตัว เพื่อรักษาความร้อนไว้ภายในร่างกายของไก่ และเป็นสาเหตุให้ระยะเวลาการไหลของเลือดเพิ่มขึ้น (Bleeding time) ตามปรกตินานออกไปมากกว่า ๓ นาที ๓๐ วินาที ในบางสภาวะอาจนานกว่า ๔ นาทีเลยทีเดียว สำหรับการปล่อยให้เลือดออก สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการตอบสนองต่อภาวะการหดตัวของหลอดเลือด  
               ยังคงมีกระบวนการอื่นๆที่สามารถส่งผลกระทบต่อการปลดซากทิ้ง รวมถึง ระยะเวลาระหว่างการแขวนไก่บนแชคเกิล (Shackles) และเข้าสู่เครื่องสตันเนอร์ ระดับของไก่ที่กระพือปีก (Wing flapping) เมื่อแขวนบนแชคเกิล และปัจจัยที่มีผลต่อการหุบปีก ยกตัวอย่างเช่น หากไก่แขวนด้วยขา ไก่ก็จะพยายามกระพือปีกลงเพื่อให้ตัวเองเป็นอิสระ เช่นเดียวกับ การแขวนโดยคอ การสะสมของเลือดในปีก และอกที่ปรากฏในระยะนี้ของการแปรรูปการผลิต และเข้าถึงระดับวิกฤติ เป็นช่วงเวลาที่จำเป็นต้องมีการทบทวน  


ปฏิบัติการอย่างนุ่มนวล และรวดเร็ว
               การแขวนไก่บนแชคเกิลเป็นเวลานานกว่า ๓๐ วินาทีจะส่งผลให้มีการสะสมของเลือดในปีก เนื่องจาก แรงโน้มถ่วงของโลก ดังนั้น แนะนำให้ระยะเวลาจนถึงเข้าสู่เครื่องสตันเนอร์ไม่ควรเกินกว่า ๒๐ ถึง ๓๐ วินาที
               พื้นที่การแขวนไก่ที่ยังไม่มืดเพียงพอ อุปกรณ์นวดอกไก่ (Breast massager) ไม่ได้ปรับตั้งอย่างเหมาะสม และวิธีการแขวนไก่ยังไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ การกระพือปีกก็จะเพิ่มขึ้น ความเข้มข้นของการเคลื่อนที่ส่งผลให้การปั๊มเลือดจากหัวใจมีปริมาตรของเลือดสู่อก และปีกมากขึ้น เพื่อนำส่งออกซิเจนสู่กล้ามเนื้อ หมายความว่า ปริมาตรของเลือดที่เพิ่มขึ้นก็จะปรากฏตามบริเวณเหล่านี้ และเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อระยะเวลาการเลือดออก (Bleed time) พึงระลึกไว้เสมอว่า ไก่จะกระพือปีกอย่างมากระหว่างการจับส่งผลให้มีเลือดสูบฉีดเติมเข้าไปสู่ปีกเพิ่มขึ้น หากระยะเวลาการเลือดออกอยู่ระหว่าง ๓ นาที ๓๐ วินาที ไปจนถึง ๔ นาทีก็จะส่งผลให้มีเลือดถูกระบายจากอก และปีกได้มากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับอุณหภูมิ สภาวะอากาศ ความสูง ระดับของการกระพือปีก หากการเลี้ยงไก่ และแปรรูปการผลิตในสภาวะอากาศอบอุ่น เลือดจะมีความหนืดต่ำ และหลอดเลือดไม่หดตัว ช่วยให้ลักษณะปรากฏของซากไก่ดีขึ้น พึงระลึกไว้เสมอว่า เลือดมีปริมาณ ๓ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักไก่มีชีวิต 

จับตามองการเปลี่ยนแปลง
               วิธีการง่ายๆสำหรับการตรวจติดตามระยะเวลาการเลือดออก (Bleeding time) ว่า เพียงพอในสภาวะอากาศเย็นหรือไม่ ให้ตรวจติดตามไก่ระหว่างที่ออกจากเครื่องถอนขน (Plucker) และเข้าสู่ขั้นตอนแรกของกระบวนการล้วงเครื่องใน (Evisceration process) หากพบว่ามีเลือดออกมาปริมาณมากตามเครื่องมือ รางระบายน้ำ หรือพื้น ให้พิจารณาเพิ่มระยะเวลาการเลือดออก
               เมื่อพิจารณาตัดสินลักษณะของปีก จุดเลือดออกสีแดงขนาดเล็กสามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ปัญหาของกระบวนการก่อนการทำให้ไก่สลบ (Pre-stunning)
               จุดแดง อาจเกิดขึ้นระหว่างการผ่านอ่างสตันเนอร์ มีการสัมผัสกับทางลาด แล้วตัวเริ่มเปียกจนกระทั่ง สามารถนำกระแสไฟฟ้าได้ ไก่ก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยการยกคอ และกระพือปีกอย่างรุนแรงจนกระทั่งออกจากพื้นที่การสตันเนอร์ แล้วออกจากอ่างสตันเนอร์โดยที่ยังมีสติรู้ตัวอยู่ และเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญสำหรับขั้นตอนการฆ่าไก่ สิ่งที่ควรจำไว้เสมอคือ มีระยะห่างที่สั้นมากระหว่างแต่ละแชคเคิล ดังนั้น ปีกของไก่ตัวหนึ่งก็มักสัมผัสกับอีกตัวหนึ่ง บางครั้ง ยังสามารถเกยซ้อนกันได้อีกด้วย นอกเหนือจากนั้น ไก่อาจกระพือปีกภายในตู้สตันเนอร์ สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดเลือดออก (Hematomas) ตามปีกได้   
               เพื่อให้มั่นใจว่าได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ การกระพือปีกจะต้องเกิดขึ้นน้อยที่สุด หากไก่กระพือปีกไปข้างหน้า ปีกอาจตีกับตู้สตันเนอร์ หากกระพือปีกไปข้างหลังก็อาจตีกับตัวเอง ราวรองอกไก่ (Breast comforter) และแม้กระทั่งตู้สตันเนอร์ ตามธรรมชาติ ปีกมีมวลกล้ามเนื้อเพียงเล็กน้อย ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดนี้จึงสังเกตเห็นได้ชัด หากปัญหานี้ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็อาจทำให้ต้องคัดทิ้งชิ้นส่วนปีกจำนวนมาก และมีผลกระทบต่อมูลค่าการตลาดอย่างมีนัยสำคัญ และการป้องกันคือ การทำทางลง (Slopes) เช่นเดียวกับในขั้นตอนการลวกน้ำร้อนทั้งก่อน และหลังเข้าสู่อ่างสตันเนอร์ (Stunning bath) แต่เพื่อความมั่นใจคุณภาพสินค้าก็จะเป็นการดีหากได้ทบทวนกระบวนการถอนขนไก่ ความแข็งของลูกยาง (Fingers) และมุมที่ซากเข้ามาสัมผัสกับลูกยาง รวมถึง ความดันที่กดลงบนตัวซาก ล้วนมีผลต่อการเกิดรอยช้ำเลือด ควรระลึกไว้เสมอว่า การใช้น้ำอุ่นที่ระยะนี้จะช่วยลดปัญหาลงได้ ขนบางส่วนยากต่อการดึงออก ดังนั้น ควรใช้ลูกยางที่มีความแข็งหลายๆระดับ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ด้านบน อาจใช้ลูกยางที่แข็งกว่าบริเวณอื่นๆ บริเวณตอนกลางก็ให้ใช้ลูกยางนิ่มลง และสำหรับบริเวณปีกก็เลือกใช้ลูกยางที่แข็งปานกลาง เป็นต้น  
               เมื่อปรับแต่งเครื่องถอนขน ให้มอมงจากด้านบนควรจะดูคล้ายกับรูปทรงกรวย เริ่มจากกว้างตอนที่ไก่ยังมีขนปกคลุมเต็มตัว แล้วค่อยๆแคบลงตรงทางออกเมื่อขนส่วนใหญ่ถูกถอนออกไปหมดแล้ว

เอกสารอ้างอิง
López EC. 2016. Improving appearance, minimizing bruising at poultry processing. WATTAgNet.com. [Internet]. [Cited 2016 Oct 2]. Available from: http://www.wattagnet.com/articles/19463-improving-appearance-minimizing-bruising-at-poultry-processing


















ภาพที่ 1 การสะสมของเลือดเนื่องจากความหนืดเลือดเพิ่มขึ้น

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

รอยช้ำเลือดที่ทีมจับไก่ และสตันเนอร์ไม่ได้ทำ

ความจริงแล้ว รอยช้ำเลือดอาจมิใช่มีสาเหตุจากทีมจับไก่ และสตันเนอร์ เท่านั้น แนะนำให้ลองหันกลับไปวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตย้อนหลังที่มีการเก็บไว้เป็นอย่างดี เพื่อการตรวจรับรองมาตรฐาน ความจริงแล้วข้อมูลที่เก็บไว้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการผลิตจริงๆ แล้วลองสอบถามผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็อาจพบประสบการณ์อย่างเดียวกันอย่างที่ผู้ผลิตทั่วโลกเผชิญปัญหาเดียวกัน แทนที่จะโทษแต่ทีมจับไก่ หรือการทำให้ไก่สลบอย่างเดียว หันกลับมาแก้ปัญหาจากรากแก่นของปัญหาน่าจะเป็นการทำงานที่ดีกว่า
  
สารพิษ
สมมติฐานอีกประการเชื่อว่า สารพิษอาจเป็นสาเหตุให้เส้นเลือดเปราะแตกง่าย และเกิดเป็นรอยช้ำเลือด หากโรงงานอาหารสัตว์ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ กระบวนการผลิตที่ดี ตรวจติดตามระดับสารพิษจากเชื้อราเป็นประจำ สารพิษจากเชื้อราอาจตัดออกไปได้ แต่สารพิษจากแบคทีเรียที่เรียกว่า ชีวพิษภายใน หรือเอนโดท็อกซิน (Endotoxin) จากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบอาจเป็นเสมือนควันจากปลายกระบอกปืน ความจริงแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้คล้ายกับปัญหาที่พบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผลการวิจัยทางการแพทย์ แสดงให้เห็นว่า โรคเบาหวานกำลังมีเป็นโรคนิยมทั่วโลก แต่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากน้ำหนักเกิน เพราะไขมันไม่อิ่มตัว แต่เป็นผลมาจากกินน้ำตาล ทั้งแบบโมเลกุลเดี่ยว และหลายโมเลกุลมากเกินไป ปัญหาที่พบในผู้ป่วยโรคเบาหวานคือ จุดเลือดออกขนาดเล็กตามผิวหนัง และฟกช้ำง่าย เนื่องจาก หลอดเลือดเปราะแตกเหมือนกันเลย เส้นเลือดขนาดเล็กอ่อนแอ และปัญหาของหลอดเลือดตามอวัยวะต่างๆทั่วไป เช่น พยาธิสภาพของจอประสาทตา (Retinopathies) พยาธิสภาพของไต (Nephropathies) รวมถึง ปัญหาหลอดเลือดหัวใจ และสมอง เช่น สโตรค (Stroke) เป็นต้น 
  อัตราการเผาผลาญพลังงานของไก่เนื้อ และความรู้ด้านอาหารสัตว์ได้พัฒนาขึ้นอย่างมาก เราบดอาหารอย่างละเอียดมาก ตีแผ่ทุกสิ่งทุกอย่าง และทำทุกวิถีทางเพื่อให้สารอาหารถูกใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เสมือนว่า เราได้ให้ไก่กินอาหารฟาส์ฟู้ดตลอด ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันดีว่า การกินน้ำตาลมากเกินไปไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย สูตรอาหารสัตว์ที่ใช้ข้าวสาลีเป็นองค์ประกอบสำคัญ สร้างปัญหารุนแรงกว่าข้าวโพด หากน้ำตาลเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการสร้าง Oxidative stress เช่นกัน อนุมูลอิสระที่ผลิตจากไมโตครอนเดรียภายในเซลล์ สามารถทำลายเซลล์ได้ เช่นเดียวกับ เซลล์ตับอ่อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ปัญหาไขมันพอกตับในไก่อายุ ๔๐ วัน
ผู้ผลิตมักสังเกตเห็นปัญหาไขมันพอกตับ (Fatty liver) ในไก่เนื้ออายุ ๔๐ วัน บางครั้งก็สร้างความตื่นตระหนกไปเลย อนุมูลอิสระที่เหนี่ยวนำขึ้นโดยน้ำตาลกลูโคสเกินได้จู่โจมทำลาย “เวลโคร (Velcro)” ที่ทำหน้าที่เสมือนแถบกาวยึดเซลล์ลำไส้ไว้ด้วยกัน บางครั้งก็เรียกว่า “รอยต่อยึดแน่น (Tight junctions)” เมื่อการผ่านเข้าออกผ่านผนังลำไส้ผิดปรกติ สารชีวพิษภายในจากลำไส้ก็จะแทรกผ่านเข้ามาระหว่างเซลล์ลำไส้ ตรงเข้าไปผ่านเส้นเลือดดำ Portal vein เข้าสู่ตับ ภายในตับเกิดปฏิกิริยาการอักเสบในเซลล์คัพฟ์เฟอร์ (Kupffer cells) และในเซลล์ตับ ทำให้เกิดการทำลาย และแทนที่ด้วยไขมัน และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทั้งนี้มิได้หมายความว่า น้ำตาลกลูโคส และฟรุกโตส เป็นสารอันตราย แต่ต้องการสื่อความหมายให้เห็นว่า ยิ่งมีอาหารสัตว์ถูกแปรรูปไปมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสพบเลือดมากเท่านั้น



แนวทางการแก้ปัญหา
วิธีการแก้ปัญหาด้วยการคิดแบบตรรกศาสตร์คือ การลดผลกระทบของน้ำตาล โดยการเปลี่ยนเป็นอาหารสัตว์ที่ปล่อยพลังงานช้าลง ผู้ผลิตบางรายได้เริ่มเปลี่ยนอาหารสัตว์แบบเม็ดที่นิยมใช้กันทั่วไปกลับไปเป็นอาหารป่น เพื่อลดรอยโรคของซากไก่ได้เล็กน้อย การย่อยอาหารช้าลงก็เป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของมนุษย์เช่นกัน แต่ในไก่เนื้ออาจเป็นการถอยหลังก้าวใหญ่จนเกินไป เราต้องมองหาโอกาสที่จะบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้อาหารเม็ดมาตรฐาน กุญแจสำคัญในการป้องกันการสร้างอนุมูลอิสระมากเกินไปจากการทำลายเซลล์ประการหนึ่งคือ การใช้สังกะสี กระตุ้นการทำงานของ Transcription factor เช่น “Nrf2” ที่ควบคุมการสร้างอนุมูลอิสระตัวสำคัญคือ Superoxide dismutase (SOD) เพิ่มมากขึ้น แล้วไปส่งผลต่อการกระตุ้นกระบวนการ Dismutaion ของ Superoxide radicals ระหว่างกระบวนการออกซิเดชัน และความเครียดจากสิ่งแวดล้อมระดับเซลล์ ในทางการแพทย์ มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับสังกะสีมีผลแทรกซ้อนจากโรคลดลง ล่าสุด ผลการใช้สังกะสีอินทรีย์ในอาหารไก่เนื้อจากการทดลองในฟาร์มสามารถลดปัญหารอยฟกช้ำลงได้ ๑๕ ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ยิ่งเห็นผลได้ชัดเจนในรายที่ประสบปัญหาอย่างรุนแรงจากผลการศึกษาที่วิทยาลัย Scottish Agricultural College       
แหล่งข้อมูล Fabian Brockotte September 30, 2015
















ภาพที่ ๑ รอยช้ำเลือด (Bruise, Contusion) ที่บริเวณอกถึงท้อง สังเกตเห็นรอยโรคแบบนี้ จำเลยสำคัญต้องเป็นทีมจับไก่ หรือเครื่องสตันเนอร์แน่นอน หากท่านยังคิดเช่นนั้น อาจต้องทบทวนกันใหม่กันแล้ว ทั้งที่ความจริงแล้ว วิธีการทำให้ไก่สลบก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยเป็นสิบปีมาแล้ว แต่จำนวนไก่ที่มีปัญหาช้ำเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิธีการจับไก่ก็พัฒนาขึ้นจากในอดีตอย่างมาก ลองหันกลับไปวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตย้อนหลัง อาจทำให้ท่านเปลี่ยนความคิด    

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

รอยช้ำเลือดที่โรงงานฯ เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ผู้จัดการโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกทั่วโลกกำลังเผชิญกับอุบัติการณ์ของรอยโรคบนซากไก่เนื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราว ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของไก่เกิดรอยช้ำ (Bruises, Contusion) ก้อนเลือดตามกล้ามเนื้อ (Muscle hematomas) และความเสียหายของหลอดเลือด (Vascular damage) ส่งผลให้สินค้าไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค 
โรงงานแปรรูปการผลิต จำเป็นต้องจัดแรงงานเพิ่มเติมเข้าไปตัดแต่งชิ้นส่วนของไก่ที่เกิดปัญหา นั่นคือ ต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หากพบเลือดออก หรือก้อนเลือดในขา และปีกก็คงไม่ได้เกิดเพียงเท่านั้น แต่มักเกิดทั้งตัวซาก ปัญหาอีกประการของการเลือดออกทั้งตัวคือ รอยช้ำเลือดส่วนใหญ่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากภายนอก แต่ผู้บริโภคจะมาเห็นอีกครั้งภายหลังการเตรียมอาหารในห้องครัว แล้วก็ไปร้องเรียนต่อซูเปอร์มาร์เกต และร้านขายปลีก

จำนวนไก่ที่มีปัญหาช้ำเลือดเพิ่มขึ้น
ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในสเปน บราซิล ประเทศในกลุ่มยุโรปตอนเหนือ สมมติฐานแรกของรอยโรคเชื่อว่าเป็นผลมาจากการหดตัวของกล้ามเนื้อระหว่างการสตันเนอร์ ทั้งที่ความจริงแล้ว วิธีการทำให้ไก่สลบก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยเป็นสิบปีมาแล้ว แต่จำนวนไก่ที่มีปัญหาช้ำเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่ง ไก่ที่พึ่งนำออกจากกล่องก่อนขึ้นแขวน (Before shackling) ก็พบรอยโรคแล้ว ปัญหาในประเทศสเปนรุนแรงมากจนกระทั่งผู้จัดการโรงงานต้องลุกขึ้นไปดูที่ฟาร์ม คอยติดตามทุกขั้นตอนตั้งแต่จับไก่ ขนส่ง จนกระทั่ง จับขึ้นแขวน แต่ก็ยังหาสาเหตุแหล่งต้นตอของปัญหาไม่ได้เหมือนกันเช่นนี้ทั่วโลก ส่วนใหญ่ รอยโรคเหล่านี้ก็มักถูกตัดสินให้เป็นความบกพร่องของทีมจับไก่ หรือการทำให้ไก่สลบเสมอ ทั้งที่ความจริงแล้ว ปัญหานี้อาจเป็นผลมาจาก หลอดเลือดเปราะแตก (Vascular fragility) ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ดังนั้น ลองหันกลับไปวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตย้อนหลังที่มีการเก็บไว้เป็นอย่างดีเพื่อการตรวจรับรองมาตรฐาน ประกอบกับสารสนเทศจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็อาจพบปรากฏการณ์อย่างที่ผู้ผลิตทั่วโลกเผชิญปัญหาเดียวกัน แทนที่จะโทษแต่ทีมจับไก่ หรือการทำให้ไก่สลบอย่างเดียว หันกลับมาแก้ปัญหาจากรากแก่นของปัญหาน่าจะเป็นการทำงานที่ดีกว่า
 















ภาพที่ ๑ รอยช้ำเลือด (Bruise, Contusion) ที่บริเวณเนื้ออก (Fillet) ชิ้นส่วนราคาแพงสำหรับโรงงานแปรรูปการผลิต สังเกตรอยเลือดออกแทรกไปตามเส้นใยกล้ามเนื้อ


แหล่งข้อมูล        Fabian Brockotte September 30, 2015


วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

รู้จักไก่พลอฟกิพที่แรงมากในยุโรป

“ไก่พลอฟกิพ (Plofkip chicken)” หมายถึง ไก่เนื้อปัจจุบันที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วผิดปรกติเพื่อเร่งการผลิตเนื้อ  เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อ ไก่พลอฟกิพมาจากภาษาดัทช์หมายถึง "ไก่ระเบิด" การรณรงค์ตามสื่อโฆษณาโดยนักเคลื่อนไหวด้านสวัสดิภาพสัตว์ชื่อว่า Wakker Dier ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ 
   ภาพโฆษณารณรงค์มีบทบาทต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ให้เห็นภาพของไก่เนื้อที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนระเบิด เมื่อเปรียบเทียบกับไก่อินทรีย์ที่มีน้ำหนักเพียง ๙๓๐ กรัม กับไก่เนื้อที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ ๒,๓๕๐ กรัม นักเคลื่อนไหวโจมตีการเลี้ยงไก่เนื้อเชิงพาณิชย์ว่า ไก่เนื้อในฟาร์มไม่สามารถเดินได้ตามปรกติ และเรียกร้องให้ผู้บริโภคหยุดซื้อไก่พลอฟกิพ แล้วหันมาซื้อไก่เนื้อโตช้าทดแทน แผนการรณรงค์เคลื่อนไหวดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
 วิธีการสื่อสารกับผู้บริโภคได้มุ่งเน้นให้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างการกินของคน โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตของไก่ คำว่า ไก่พลอฟกิพ หรือไก่ระเบิดกลายเป็นคำที่ได้รับการจดจำในประเทศเนเธอร์แลนด์เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และถูกเลือกให้เป็นคำใหม่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในภาษาเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นั่นเอง  

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559

ลาเบล รุช มาตรฐานใหม่ในตลาดอียู

ไก่เนื้อสายพันธุ์โตช้า ลาเบล รุช (Label Rouge) กำลังยึดฝั่งฝรั่งเศส และฟาร์มที่ได้รับการรับรองด้านสวัสดุภาพสัตว์ในสหราชอาณาจักรกำลังเพิ่มสัดส่วนการตลาด แต่ไก่สายพันธุ์โตช้าในเนเธอร์แลนด์ได้ครองตลาดค้าปลีกเนื้อไก่สดเรียบร้อยแล้ว และจะมีการเปลี่ยนจากไก่เนื้อที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ที่นิยมเลี้ยงกันไปเป็นไก่เนื้อโตช้า ภายในไม่เกิน ๓ ปีนี้
               ลาเบล รุช (Label Rouge) เป็นมาตรฐานใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับลาเบล รุช เป็นสินค้าประเภทอาหาร รวมถึง อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ไม่มีการแปรรูป และไม่ใช่อาหาร เช่น ดอกไม้ อ้างตามกระทรวงเกษตรฝรั่งเศส กำหนดให้ “การใช้เครื่องหมายสีแดงไว้เพื่อรับรองว่า ผลิตภัณฑ์เป็นไปตามข้อกำหนดตามระดับสูงกว่าผลิตภัณฑ์คล้ายกันที่มีการจำหน่ายในปัจจุบัน”  
ไก่เนื้อโตช้า จะครองคลาดค้าปลีกเนื้อไก่สด ๙๐ เปอร์เซ็นต์ในเนเธอร์แลนด์ภายในปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๙ นี้ และจะมีการเปลี่ยนจากไก่เนื้อที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ที่นิยมเลี้ยงกันไปเป็นไก่เนื้อโตช้า ภายในไม่เกิน ๓ ปีนี้ นาย Claude Toudic ผู้จัดการด้านเทคนิคของฮับบาร์ด ฝรั่งเศส กล่าวไว้ในการประชุมสภาไก่ระดับชาติปีนี้เองว่า เนื้อไก่ทั้งหมดที่วางจำหน่ายในร้านขายปลีกในเนเธอร์แลนด์จะมาจากการผลิตไก่เนื้อสายพันธุ์โตช้า

               ปัจจุบันนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ การผลิตไก่เนื้อทั้งหมดในเนเธอร์แลนด์ พบว่า ๒๕ ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์เป็นไก่สายพันธุ์โตช้า ส่วนแบ่งทั้งหมดถูกชดเชยบางระดับ เนื่องจาก สัดส่วนของการผลิตไก่เนื้อในประเทศถูกส่งออก ประเทศเนเธอร์แลน์เป็นประเทศที่สามารถผลิตไก่เนื้อพึ่งพาตัวเองได้เกือบ ๒๐๐ เปอร์เซ็นต์ 

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

สหรัฐฯเร่งวิจัยยีนส์โรค Wooden breast

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์เร่งวิเคราะห์ยีนส์ที่เกี่ยวข้องโรค Wooden breast disease และวิจัยหาเครื่องหมายทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับความผิดปรกตินี้ ผลการวิจัยครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้สามารถวินิจฉัย และรักษาโรคนี้ได้
               กลุ่มอาการของโรค Wooden breast ในไก่เนื้อ ทำให้เนื้อแข็ง และเคี้ยวยาก ทำให้สินค้าเนื้อไก่ไม่สามารถวางจำหน่ายได้ ผลการวิจัยโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ Behnam Abasht ภาควิชาวิทยาศาสตร์อาหาร (Department of Animal and Food Sciecnes) กำลังวิจัยค้นหาเอกลักษณ์ทางชีวเคมีของเนื้อเยื่ออกไก่ที่มีความแข็งผิดปรกติ
               โรคนี้ก็เหมือนกันกับชื่อโรคคือ อกไก่จะแข็งอย่างสุดขั้วจนรู้สึกเหมือนไม้ โรคนี้ยังเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆ เช่น เนื้ออกลายเป็นเส้นสีขาว (White striping) โดยเห็นเป็นลายทางสีขาวตามแนวเส้นใยกล้ามเนื้อ และลดคุณค่าทางโภชนาการ ด้วยการปรับปรุงการผลิตสัตว์ปีกตลอด ๕๐ ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ปริมาณเนื้อ และอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นอย่างมากในไก่ ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มปัญหาใหม่เป็นความผิดปรกติของกล้ามเนื้อได้
               เจาะหายีนส์ (Pinpointing genes) โดยคณะผู้วิจัยของ Abasht มองที่ปัญหาโดยการศึกษายีนส์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่ออกของไก่ เพื่อทำความเข้าใจกลไกทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ โดยการสร้างฐานข้อมูลดีเอ็นเอคู่สมจากตัวอย่างกล้ามเนื้ออกไก่ที่เกิดโรค ๕ ตัวอย่าง และไม่เกิดโรค ๖ ตัวอย่างจากไก่เนื้อที่มีการเลี้ยงเชิงพาณิชย์สายพันธุ์หนึ่ง คณะผู้วิจัยเปรียบเทียบรายการยีนที่มีการตีพิมพ์ในวารสารด้านเนื้อเยื่อวิทยา เพื่อค้นหาความผิดปรกติ จากยีนส์มากกว่า ๑๑,๐๐๐ ยีนส์ที่มีการแสดงออกในระดับที่สามารถตรวจสอบได้ในเนื้อเยื่อ ผู้วิจัยพบว่า ประมาณ ๑,๕๐๐ ยีนส์มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มยีนส์ทั้งสองกลุ่มคือ เนื้อไก่ที่ปรกติ และเกิดโรค หลังจากได้รายการยีนส์ที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้วิจัยจึงวิเคราะห์การทำงาน เพื่อค้นหาว่ายีนส์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ หรือวิถีการทำงานระดับเซลล์อย่างไร   

ยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการขาดอากาศเฉพาะแห่ง (Localised hypoxia)
               ผู้วิจัยกำลังให้ความสนใจกับยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการขาดอากาศเฉพาะแห่ง ความเข้มข้นของออกซิเจนต่ำผิดปรกติในเนื้อเยื่อที่เกิดโรค นอกเหนือจากนั้น ผลการวิจัยพบว่า
๑. มีการปรากฏของ Oxidative stress
๒. เมื่อมีการสร้างอนุมูลอิสระขึ้นมา ไม่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระเพียงพอที่จะทำให้สารดังกล่าวหมดฤทธิ์ลง
๓. การเพิ่มขึ้นของแคลเซียมในเนื้อเยื่อ 

               การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การตรวจหาลำดับอาร์เอ็นเอ (RNA sequencing) ช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาคุณลักษณะทั่วไปของโรคนี้ เป็นกุญแจสำคัญในกระบวนการวิจัย

ค้นหาเครื่องหมายทางพันธุกรรม
               เมื่อข้อมูลการแสดงออกของยีนส์ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คณะผู้วิจัยก็ได้เสาะหาเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับอุบัติการณ์โรค WB และความรุนแรง โดยการใช้ชุดของยีนส์ที่พบในการศึกษษก่าอนหน้านี้ นักวิจัยได้ตรวจวัดระดับการแสดงออกของยีนส์จำนวน ๒๐๔ ยีนส์ในไก่เนื้อ ๙๖ ตัว
               จากรายการทั้งหมด ๓๐ ยีนส์ ที่มีความสำคัญที่สุดในไก่นำมาจัดกลุ่มเป็นกลุ่มที่มีเนื้ออกเป็นปรกติ ปานกลาง และรุนแรง คณะผู้วิจัย ได้ตรวจพบยีนส์ ๖ ยีนส์ที่มีการทำงานเพิ่มขึ้นในไก่ที่มีปัญหาเนื้ออกปานกลางถึงรุนแรงเปรียบเทียบกับไก่ปรกติ เครื่องหมายทางพันธุกรรมเหล่านี้ สามารถใช้ในการจัดกลุ่มไก่ที่มีการเลี้ยงเชิงพาณิชย์โดยมีหรือไม่มีโรคได้ นั่นคือ สามารถใช้พยากรณ์ความรุนแรงของโรคได้ งานนี้ พยาธิวิทยารับบทเป็นพระเอกได้ หลังจากหวั่นไหวว่าจะเป็นศาสตร์ที่สาบสูญ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ Erin Brannick ผู้อำนวยการ CANR Compartive Pathology Laboratory ในภาควิชาวิทยาศาสตร์อาหาร และยังเป็นพยาธิสัตวแพทย์ของสถาบันอีกด้วย ชื่นชมการวิจัยครั้งนี้ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อไก่เนื้อมากกว่า ๕๐๐ ล้านตัวต่อปีในเมืองเดล์มาร์วา เพื่อขับดันให้การวิจัยก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐฯได้ทุ่มทุนวิจัยกว่า ๑๗ ล้านบาทเป็นค่าขนมสำหรับนักวิจัยทั้งที่มหาวิทยาลัยเดวาแวร์ ถิ่นกำเนิดของโรคกัมโบโร มหาวิทยาลัยไอโอวา และมหาวิทยาลัยโอไฮโอ เพื่อศึกษาพื้นฐานด้านพันธุกรรมของโรค WB นี้     

แหล่งข้อมูล        Rosie Burgin August 19, 2016

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

ไข่ไก่เสริม EPA จากสาหร่ายกำลังฮอตในจีน

เมืองจีนไม่ได้มีแต่ชื่อเสียอย่างไข่ปลอมอย่างเดียว ด้านดีก็มีมากมายตอนนี้ไข่ไก่อุดมด้วย EPA (EPA, Eicosapentaenoic acid) เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชั้นสูง และชั้นกลางเป็นอย่างมากในประเทศจีนตามเมืองใหญ่ เช่น ปังกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉินเจิ้น ต่างแย่งกันวางขายไข่ไก่ที่มีราคาแพงกว่าปรกติถึง 10 เท่านี้แล้ว
               ในทางการแพทย์ แสดงให้เห็นว่า EPA สามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด และลดการสร้างลิ่มเลือด นอกเหนือจาก คุณประโยชน์ทางโภชนาการอีกมากมาย ไข่แดงคุณภาพสูงจากการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกใช้สารแนนโนคลอรอพซิส (Nannochloropsis) เสริมลงในอาหารแม่ไก่ เพื่อให้ส่ง EPA จากสาหร่ายตัวจิ๋วสู่ไข่แดง ผลการทดสอบ PONY organization test พบว่า กระบวนการนี้ช่วยเพิ่ม EPA วิตามินเอ และกรดไขมันไม่อิ่มตัวในไข่ไก่อุดมสารอาหารนี้ นอกเหนือจาก คุณประโยชน์ภายในแล้ว ยังพบว่า ไข่แดงมีคุณภาพดีขึ้นอีกด้วย   
               ไข่แดงอุดมสารอาหาร Aiyowe พัฒนาโดย ENN Science and Technology Development Co., Ltd. และนำเสนออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 โดยศูนย์ Microalgae Center ใน ENN Enery Research Institute เป็นหน่วยงานวิจัยสาหร่ายชั้นนำที่มีโรงงานแปรรูป และพัฒนาในประเทศจีน เทคโนโลยีสาหร่ายนี้ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการทั้งต้นสาย และปลายของของการผลิต รวมถึง การคัดเลือกสายพันธุ์ การออกแบบ PBR ใหม่ การเพาะเพิ่มจำนวนด้วยต้นทุนต่ำ การแปรรูป และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีสิทธิบัตรแล้วมากกว่า 100 ฉบับ การทดลองทั้งหมดในการพัฒนาไข่นวัตกรรมใหม่นี้ดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย และโรงงานสาธิต
               ภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นสำหรับสัตว์ แผนกสาหร่ายจิ๋วสายพันธุ์จีน (Sino-Microalgae) ของกลุ่ม ENN เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 และกลายเป็นผู้ผลิตชั้นนำ และทำการตลาดด้านสาหร่ายจิ๋ว และสารสกัดจากธรรมชาติ และผลิตเป็นผงแป้งของสาร Nannochlorophis ที่มีระดับ EPA แตกต่างกัน โดยผงแป้งจากสารหร่ายตามธรรมชาติของ ENN ประกอบด้วยโปรตีนมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และน้ำมันที่มีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ การให้อาหารสัตว์ที่ผสมผลิตภัณฑ์ ENN microalgae เป็นส่วนประกอบสำหรับสัตว์ปศุสัตว์ ปลา และหอย ช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต การรอดชีวิต และภูมิคุ้มกัน นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ DHA และ EPA ยังสามารถสะสมในร่างกายของสัตว์ และนำส่งไปยังผู้บริโภคบนโต๊ะอาหารได้                
               บริษัท Sino-Microalgae ได้ดำเนินธุรกิจฟาร์มเพาะสาหร่าย 3 แห่ง มีพื้นที่ประมาณ 1.2 ล้านตารางเมตร ผลผลิตต่อปีของสาหร่ายสไปรูไลนาประมาณ 1,200 ตัน ฮีมาโตคอคคัส พลูเวียลิส (Haematococcus pluvialis) 200 ตัน และคลอเรลลา (Chlorella) 600 ตัน นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เป็นผงแป้งของสาหร่ายจิ๋วตามธรรมชาติ รวมถึง สารแนนโนคลอรอพซิส (Nannochloropsis) คลอเรลลา (Chlorella) สไปรูไลนา (Spirulina) ดูนาเลียลา ซาลินา (Dunaliella salina) ฮีมาโตคอคคัส พลูเวียลิส (Haematococcus pluvialis) และชิโซชัยเทรียม (Schizochytrium) ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึง DHA, EPA, ARA, Astaxanthin, Beta-carotene, Phycocyanin, Fucoidan และ Xanthan gum
               การพัฒนาระยะแรก ไข่ EPA นับเป็นระยะแรกของกระบวนการพัฒนาสำหรับ Sino-Microalgae และ ENN เพื่อแสดงให้เห็นว่า EPA และ DHA จากสาหร่ายตามธรรมชาติสามารถนำส่งเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารอย่างปลอดภัยในรูปแง เม็ด และน้ำมัน ความสำเร็จของไข่ Aiyowe EPA egg พิสูจน์ให้เห็นถึง ความเป็นไปได้ในการผลิตไข่หลากหลายรูปแบบเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงไก่โดยใช้สาหร่ายจิ๋วที่ประกอบด้วยสารโภชนะหลายชนิด ช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของไข่  ดังนั้น นักวิจัย สามารถเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของไข่ได้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น ไข่สำหรับเด็กที่ประกอบด้วย DHA มากกว่าปรกติ เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเซลล์สมอง และเส้นประสาทตา ขณะที่ ไข่สำหรับผู้สูงวัยก็ควรประกอบด้วย EPA เพื่อช่วยลดไขมันในเลือด

 แหล่งข้อมูล       Algae Industry Magazine (Aug 23, 2016)

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

OMG!!! หลอดลมอักเสบระบาดในอัลจีเรีย

ประเทศอัลจีเรียพบโรคหลอดลมอักเสบติดต่อครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 แล้วไม่พบอีกเลยจนกระทั่งครั้งล่าสุด สร้างความเสียหายให้ฟาร์มไก่ไข่สามแห่งไก่ตายไปกว่า 15,000 ตัว
       กรมปศุสัตว์อัลจีเรียรายงานต่อ OIE เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ตรวจพบเชื้อไวรัสใน 3 ฟาร์มทางตอนเหนือ และกลางของประเทศ เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ฟาร์มไก่ไข่แสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ และอัตราการตายสูงขึ้น เกษตรกรจึงส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการกลางทางสัตวแพทย์แห่งประเทศอัลจีเรีย และพบว่า ผลเป็นบวกต่อโรค AIB (Avian infectious bronchitis) อ้างตามข้อมูลจาก OIE นับว่า เป็นครั้งแรกที่เกิดโรค AIB ระบาดในอัลจีเรียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา
        ฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พบว่า แม่ไก่ตายไป 3,059 ตัวจากโรค AIB ที่เหลือ 2,341 ตัวจึงตัดสินใจทำลาย อีกสองฟาร์มมีแม่ไก่ตาย 1,300 และ 2,378 ตัว ที่เหลืออีก 3,500 และ 2,422 ตัวถูกทำลาย พร้อมไปกับมาตรการฆ่าเชื้อบริเวณฟาร์มทั้งสามแห่งตามสูตรสำเร็จลอกต่อกันมา จากนั้นก็แสวงหาแหล่งต้นตอของโรค เมื่อแจ้งปัญหาเรียบร้อยแล้ว OIE ก็ช่วยส่งเสริมให้ส่งรายงานประจำสัปดาห์อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ของโรคภายในประเทศจะถูกแก้ไขเรียบร้อยแล้ว     

แหล่งข้อมูล        Andrea Gantz August 12, 2016 By Roy Graber


ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...