วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

เคล็ดลับการให้วัคซีนละลายน้ำอย่างถูกต้อง

 การป้องกันการติดเชื้อจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการนำเข้าโรคสู่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มาตรการป้องกันโรคทางชีวภาพเป็นด่านชั้นแรกของการป้องกันโรค แต่ก็ยังไม่สามารถรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ผู้เลี้ยงจะยังคงรักษาสุขภาพสัตว์ให้ดีไว้ได้ การป้องกันโรคผ่านระบบการป้องกันโรคจึงเป็นด่านชั้นที่สอง จึงเป็นความสำคัญของการให้วัคซีนในสัตว์

เมื่อระบบการป้องกันโรคบกพร่องแล้ว การให้วัคซีนเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ หากรอบกายสัตว์แวดล้อมไปด้วยเชื้อโรค การให้วัคซีนอย่างดีเลิศไร้ที่ติก็ยังไม่สามารถป้องกันโรคไว้ได้ การให้วัคซีนสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นกับชนิดของวัคซีน การให้วัคซีนด้วยวิธีการละลายน้ำดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ไม่ยาก แต่การปฏิบัติให้ถูกวิธีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่เพียงใส่วัคซีนลงไปในน้ำ

หกเคล็ดลับสำหรับการให้วัคซีนละลายน้ำอย่างถูกต้อง

๑. ขนาดวัคซีนที่ถูกต้อง ไม่ใช่วัคซีนเพียงครึ่งโด๊ส หรือย่อยเป็นหนึ่งในสี่ของโด๊ส และคัดลูกไก่ที่ไม่สามารถดื่มน้ำได้อย่างเพียงพอออกจากฝูง เช่น ลูกไก่ที่มีขนาดเล็ก และขนาดใหญ่เกินไป 

๒. ก่อนการให้วัคซีน ๒๔ ชั่วโมง ไม่เติมกรด ยาปฏิชีวนะ สารเพอร์ออกไซด์ หรือวิตามิน ลงในน้ำ ให้ใช้เพียงน้ำดื่มบริสุทธิ์ หากใช้ปั๊มสำหรับให้วัคซีนให้ชะล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างทั่วถึง

๓. อดน้ำลูกไก่สัก ๒ ชั่วโมงก่อนให้วัคซีนโดยการยกระดับรางน้ำขึ้น

๔. การเตรียมละลายวัคซีนเป็นไปตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต เติมหางนมผง หรือสารป้องกันสภาพของวัคซีนปริมาณที่ถูกต้อง ผสมให้เข้ากัน แล้วเติมสารละลายวัคซีนลงในน้ำ ผสมให้เข้ากันอีกครั้งอย่างทั่วถึง และสม่ำเสมอ

๕. เปิดท่อน้ำกินที่ท้ายโรงเรืองจนกระทั่งสารละลายวัคซีนที่เติมสีเดินทางมาถึง เพื่อให้ลูกไก่ท้ายโรงเรือนได้รับวัคซีนตามขนาดที่เหมาะสม และเพียงพอ แล้วลดระดับรางน้ำไว้ที่ระดับเดียวกับตัวลูกไก่ 

๖.  ระหว่างการให้วัคซีน เดินกระตุ้นให้ไก่ทุกตัวได้รับวัคซีน โดยเฉพาะ บริเวณข้างโรงเรือน เป็นตำแหน่งที่ไก่อ่อนแอชอบแอบหลบอยู่เสมอ 

เอกสารอ้างอิง

Brockotter F. 2020. How to get drinking water vaccination right?. [Internet]. [Cited 2020 Dec 2]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2020/12/How-to-get-drinking-water-vaccination-right-678581E/ 

ภาพที่ ๑ สีที่ผสมวัคซีนช่วยบ่งชี้ว่า ไก่ได้รับวัคซีนจริงๆ (แหล่งภาพ Marcel Berendsen)



วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564

เครื่องมือใหม่สำหรับสัตวแพทย์ฟาร์มสัตว์ปีก

เทคโนโลยีนี้พัฒนาโดยนักวิจัยเดนมาร์ก และแตกต่างจากวิธีการอื่นๆที่เคยมีการใช้กันมา เนื่องจาก อาศัยการวินิจฉัยโรคด้วยพีซีอาร์ การใช้เทคโนโลยีแอโรคอลเล็คท์ ผู้ผลิตสัตว์ปีกสามารถมองเห็นภาพรวมของสถานการณ์ด้านสุขภาพของสัตว์ปีกทั้งฝูง โดยใช้ตัวอย่างเพียง ๑ ตัวอย่างเท่านั้น ร่วมกับวิธีการที่นิยมใช้อื่นๆ เช่น การเก็บตัวอย่าง Sock samples สำลีป้ายเชื้อ และตัวอย่างเลือด ในบางกรณีอาจเก็บตัวอย่างอวัยวะร่วมด้วย   

เทคโนโลยีแอโรคอลเล็คท์เป็นวิธีการที่ใช้ง่ายสำหรับการตรวจติดตามสุขภาพสัตว์จากสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม สามารถวิเคราะห์เชิงปริมาณของเชื้อก่อโรคโดยใช้เก็บตัวอย่างเพียง ๑ ตัวอย่างเท่านั้น จึงเป็นวิธีการที่ราคาไม่แพงสำหรบตรวจติดตามสุขภาพจากโรคที่สำคัญต่างๆที่มีความเสี่ยงต่อผลผลิตในฟาร์มได้ ช่วยให้ผู้ผลิตสัตว์ปีกตรวจสอบโรคได้ก่อนที่อาการจะปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะ ก่อนที่เชื้อเหล่านี้จะติดต่อเข้าสู่ตัวสัตว์ทั้งฟาร์ม และส่งผลกระทบต่อการผลิตได้ 

กรณีตัวอย่าง ฟาร์มเลี้ยงไก่จำนวน ๒๕,๐๐๐ ตัว ช่วยให้เห็นภาพรวมของสุขภาพสัตว์ทั้งฟาร์ม สามารถมองเห็น และประเมินได้ว่า เชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียที่อยู่ในอากาศภายในฟาร์ม นอกเหนือจาก การตรวจเลือดจากตัวไก่โดยตรง


ผลวิจัยสนับสนุน

ผลงานนวัตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของ เทคโนโลยีแอโรคอลเล็คท์ ได้แก่ การดักจับเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสจากระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารได้ในเวลาเดียวกัน แม้กระทั่ง เชื้อโรคที่ตามปรกติไม่ได้แพร่กระจายตามอากาศก็ถูกดักจับได้โดยเทคโนโลยีแอโรคอลเล็คท์นี้ เนื่องจาก แบคทีเรีย และไวรัส เกาะอยู่ตามอนุภาคฝุ่น 

จากโรคทั้งหมด ๑๖ โรคที่ เทคโนโลยีแอโรคอลเล็คท์พิสูจน์แล้วว่าตรวจสอบได้แม่นยำทัดเทียมกับวิธีการทดสอบที่นิยมกันทั่วไป ได้รับการรับรอง EN ISO 16140-02:2016 และ Danish Accreditation Fund (DANAK) ภายใต้มาตรฐาน ISO17025


ตรวจพบโรคก่อนอาการจะปรากฏ

โรคที่ไม่แสดงอาการ เช่น โรคที่ไม่ปรากฏอาการชัดเจน หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อยจนสังเกตไม่พบ แต่โรคเหล่านี้มักจะเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อผู้ผลิตสัตว์ปีก เนื่องจาก เชื้อโรคเหล่านี้มักวนเวียนในตัวไก่ที่มีผลผลิตต่ำเพียงเล็กน้อย ก่อนที่จะพบว่าฝูงไก่ติดเชื้อไปแล้ว

ความจริงแล้ว ความเสียหายโดยภาพรวมจากโรคที่ไม่ปรากฏอาการมักสูงกว่าโรคที่รุนแรง และมีอัตราการตายสูง เนื่องจาก โรคที่ไม่ปรากฏอาการจะค่อยๆส่งผลต่อการผลิตน้อยๆแต่เป็นเวลานานก่อนที่จะตรวจพบโรค การใช้เทคโนโลยีแอโรคอลเล็คท์ช่วยให้ตรวจพบการปรากฏของเชื้อก่อโรคก่อนที่จะสังเกตเห็นอาการได้ การตรวจติดตามเป็นประจำช่วยให้ผู้ผลิตสัตว์ปีกสามารถตรวจพบเชื้อก่อโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก และควบคุมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตของตัวเองได้อย่างทันท่วงที

ในอุดมคติ ผู้ประกอบการควรตรวจสอบฝูงไก่ทุกฝูง เพื่อเฝ้าระวังโรคสำคัญที่สุด ๕ ถึง ๑๐โรค ดังนั้น จึงเป็นการตรวจจับตั้งแต่ระยะแรกของการติดเชื้อ จึงเป็นการช่วยลดความเสียหายจากโรคก่อนที่จะปรากฏขึ้นจริง นอกจากนั้น ยังสามารถนำความรู้ที่ได้จากเทคโนโลยีแอโรคอลเล็คท์เกี่ยวกับปริมาณของเชื้อก่อโรคในฟาร์มที่กำลังเลี้ยงอยู่ เพื่อปรับใช้โปรแกรมวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงรุ่นถัดไปได้


เครื่องมือสำหรับสัตวแพทย์ในอนาคต   

ตัวอย่างที่เก็บไว้สำหรับการทดสอบด้วยเทคโนโลยีแอโรคอลเล็คท์ สามารถรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการได้ เพื่อเก็บเป็นคลังห้องสมุดตัวอย่างและข้อมูลสำหรับฟาร์มไก่ทุกแห่ง เช่น ในเดนมาร์กจะเก็บตัวอย่างสำรองไว้หกเดือน หากผู้ผลิตสัตว์ปีกทุกฟาร์มส่งตัวอย่างเป็นประจำ ก็จะช่วยให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือสำหรับการสอบสวนโรคสำคัญ เช่น โรคไข้หวัดนก ในกรณีที่มีการระบาดเข้าสู่พื้นที่ 

โรคไข้หวัดนกเพิ่งตรวจพบในเดนมาร์ก และหากเทคโนโลยีแอโรคอลเล็คท์ได้นำมาใช้แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถตรวจสอบประชากรทุกฟาร์มในเดนมาร์กสำหรับโรคไข้หวัดนกภายในไม่กี่วันที่ประกาศพบโรคจากตัวอย่างที่เพิ่งได้รับมาทั้งหมด การตรวจติดตามโรคไข้หวัดนำอย่างต่อเนื่องในอีกสองเดือนถัดมา จนกระทั่ง โรคสงบ ด้วยวิธีการดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องมีการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม เพียงนำตัวอย่างที่มีอยู่แล้วในคลังห้องสมุดตัวอย่างมาใช้เท่านั้น

 เทคโนโลยีแอโรคอลเล็คท์ อาจเป็นเครื่องมือเชิงรุกสำคัญสำหรับสัตวแพทย์ในอนาคต เมื่อการวินิจฉัยโรคขยับไปสู่การเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ในระยะที่สัตว์ไม่แสดงอาการ รวมถึง ปัญหาเชื้อจุลินทรีย์ดื้อยาปฏิชีวนะที่กำลังได้รับการให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นทั้งในสัตว์ และมนุษย์ ยิ่งผู้ผลิตสัตว์ปีกจัดการได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งช่วยให้ยาปฏิชีวนะถูกใช้น้อยลงเท่านั้น เป็นการช่วยลดเชื้อดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เอกสารอ้างอิง

AeroCollect. 2020. Lower infection rates using a unique testing method. [Internet]. [Cited 2020 Dec 14]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Partner/2020/12/Lower-infection-rates-using-a-unique-testing-method-684641E/ 

ภาพที่ ๑ การใช้เทคโนโลยีแอโรคอลเล็คช่วยให้การเฝ้าระวังโรคในฟาร์มสัตว์รวดเร็ว และแม่นยำ (แหล่งภาพ AeroCollect)



วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

สวัสดิภาพสัตว์ในวิกฤติไข้หวัดนก

การดูแลสัตว์ปีกให้มีความสุข และแข็งแรงในโรงเรือน ระหว่างการสั่งห้ามปล่อยสัตว์ออกภายนอกโรงเรือนในสหราชอาณาจักร ระหว่างฤดูหนาวที่แวดล้อมด้วยโรคระบาดอย่างหนักทั่วไปในยุโรป เรียกได้ว่า ถูกกักตัวกันทั้งคนทั้งสัตว์ปีกแล้วในยุโรป

ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกท้องถิ่นในแลสเตอร์เชอร์ ในอีสต์ มิดแลนด์ เริ่มเลี้ยงสัตว์ปีกมาเป็นเวลามากกว่า ๕๐ ปีแล้ว ทั้งสัตว์ปีกปล่อยอิระ และแม่ไก่ไข่ แล้วบรรจุจำหน่ายเป็นไข่ไก่ของตัวเอง และรับมาจากผู้ผลิตสัตว์ปีกแห่งอื่นๆ ยังมีภาคบริการธุรกิจ จัดส่งสินค้าให้กับทั้งร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้านอาหาร และร้านค้าท้องถิ่น 

สวัสดิภาพสัตว์ปีกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการผลิต

 แม้ว่า ความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนกสร้างความวิตกกังวลต่อผู้ผลิตอย่างมาก แต่สวัสดิภาพสัตว์ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ละทิ้งไปไม่ได้ ดังนั้น ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกท้องถิ่นในสหราชอาณาจักรจึงต้องปรับการจัดการเพื่อให้มั่นใจว่า สัตว์ปีกจะยังมีความสุขดี และสุขภาพของสัตว์ปีกยังปลอดภัยจากโรคระบาดร้ายแรงจากมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่ภาครัฐกำหนดไว้อย่างเข้มงวด จึงมีการลงทุนจัดให้มีสิ่งสร้างความบันเทิงให้กับสัตว์เพิ่มขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งคือ การทดลองเสริมผลิตภัณฑ์ให้สัตว์ปีกจิกกินเล่น (Pecking blocks) จากผู้ผลิตสองราย แล้วสังเกตว่า สัตว์มีการตอบสนองต่อสิ่งสร้างความบันเทิงเริงใจเหล่านี้อย่างไหนดีกว่ากัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีระหว่างการกักตัวภายในโรงเรือน ไม่สามารถวิ่งร่าเริงออกไปภายนอกโรงเรือนได้เหมือนปรกติ  นอกเหนือจาก การใช้ลูกบอลลมพลาสติก ๔๐ ลูกใส่ไปในโรงเรือนให้สัตว์ปีกเล่น ผู้เลี้ยงสังเกตว่า สัตว์มักจะสนใจลูกบอลสีแดงเป็นพิเศษ แต่ดูจะไม่ค่อยชอบสีเขียว เหลือง และฟ้า 

คำสั่งกักตัวแม่ไก่ในโรงเรือน
นี่คงไม่ใช่คำสั่งจากภาครัฐที่ให้กักตัวแม่ไก่ไว้ในโรงเรือน ความจริงแล้ว สหราชอาณาจักร ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ไข้หวัดนกเช่นนี้มาหลายรอบแล้ว ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ถึง ๒๕๖๑ ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกบางรายกุลีกุจอใช้กรวยจราจรใส่ไปในโรงเรือน และพบว่า แม่ไก่ดูจะโปรดปรานแถบสะท้อนแสงที่แปะไว้รอบกรวยจราจร โดยจิกเล่นกันตลอดเวลา ผู้ผลิตบางรายยังลองแขวนถุงตะข่ายบรรจุฟาง ที่มีรูขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑ นิ้ว เพื่อให้แม่ไก่จิกเล่นได้ง่าย ก้อนฟางนำเข้ามาจากเมืองลูเซิร์น ความสูงของถุงตะข่ายสำคัญมาก หากแขวนไว้ต่ำเกินไป แม่ไก่ก็จิกเล่นหมดอย่างรวดเร็ว บางครั้ง จิกร่วงหล่นลงมากลายเป็นที่ใช้วางไข่ หากแขวนไว้สูงเกินไป แม่ไก่ก็จิกไม่ถึงอีก ต้องวางไว้ในระดับที่เหมาะสมให้แม่ไก่ได้ยืดตัว เป็นการยืดเส้นยืดสาย ร่างกายก็จะสดชื่น การเลือกก้อนฟางจากลูเซิร์นเป็นการเสริมไฟเบอร์ให้กับอาหารสัตว์
 
เสริมวัสดุรองพื้นเพิ่มเติมให้แม่ไก่คุ้ยเขี่ย
พื้นที่คุ้ยเขี่ยในโรงเรือนก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความสุขให้กับแม่ไก่ การเสริมวัสดุรองพื้นเข้าไปเป็นพิเศษช่วยให้แม่ไก่มีกิจกรรมให้เล่น ทั้งคุ้ยเขี่ย และคลุกฝุ่นเล่น และยังช่วยให้สิ่งแวดล้อมในโรงเรือนสะอาดมากขึ้น การโปรยก้อนกรวดตามพื้นก็ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมการคุ้ยเขี่ยตามธรรมชาติของสัตว์ปีก 
ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกจะเดินกระตุ้นสัตว์ภายในโรงเรือนบ่อยกว่าปรกติ เพื่ิอให้แม่ไก่เคลื่อนที่กระจายไปโดยรอบโรงเรือน โดยเฉพาะ ในช่วงเช้า ป้องกันไม่ให้นอนสุมกัน การเพิ่มจำนวนอุปกรณ์กระตุ้นให้สัตว์มีกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น อาจพบว่า ไข่พื้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น ดังนั้น การเดินกระตุ้นแม่ไก่ให้เคลื่อนที่เดินไปรอบโรงเรือน และต้อนไม่ให้เข้าไปสุมกันตามซอกมุมต่างๆภายในโรงเรือน แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว จะไม่เห็นไข่พื้นแล้ว การใช้เวลาเดินตรวจตราภายในโรงเรือนบ่อยๆก็ช่วยให้ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกได้มีโอกาสสังเกตเห็นความผิดปรกติของพฤติกรรม    

ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว
แต่ละโรงเรือนก็มีปัญหาแตกต่างกัน ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว การดูแลสุขภาพสัตว์ปีกให้ดี ครอบคลุมไปจนถึงสวัสดิภาพสัตว์ และการป้องกันโรคไข้หวัดนกด้วยมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง ไม่มีวิธีการเดียวที่ใช้ได้ทั้งหมดกับทุกสถานการณ์ แค่เพียงใช้ความคิดไตร่ตรองมากขึ้น และใช้เวลาเดินในโรงเรือนมากขึ้น ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกก็จะพบวิธีการที่ดีสุดสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกของตัวเอง
 
เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2020. Maintaining bird welfare during AI housing measures. [Internet]. [Cited 2021 Jan 4]. Available from: https://www.poultryworld.net/Eggs/Articles/2021/1/Maintaining-bird-welfare-during-AI-housing-measures-692060E/  

ภาพที่ ๑ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ให้สัตว์ปีกจิกกินเล่น (Pecking blocks) (แหล่งภาพ Dalton Engineering) 


วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2564

วิกฤติส่งออกเนื้อสัตว์ปีกโปแลนด์จากไข้หวัดนก

กรมปศุสัตว์โปแลนด์ได้รายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ Siedlce poviat ในฟาร์มไก่งวงจำนวนมากกว่า ๑๑๗,๐๐๐ ตัว ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

นับเป็นการรายงานการระบาดเป็นครั้งที่ ๓๔ ในโปแลนด์สำหรับปี พ.ศ.๒๕๖๓ นี้ แต่ก็เป็นครั้งที่สองในครึ่งปีหลังของปี จากรายงานการติดตามโรคระบาด กรมปศุสัตว์โปแลนด์เรียกร้องให้ฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์ทุกแห่งยกระดับมาตรการขั้นสูงที่สุด เพื่อรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มสัตว์ปีก เพื่อลดความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกแพร่กระจายสู่ฟาร์มจากสัตว์ป่า การระบาดของโรคไข้หวัดนกก่อนหน้านี้พบในหมู่บ้าน Wroniawyในทางตะวันตกของโปแลดน์ที่ฟาร์มไก่ไข่จำนวน ๙๓๐,๐๐๐ ตัว เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์โปแลนด์ได้สั่งทำลายสัตว์ปีกทั้งหมดที่ฟาร์ม

ครั้งสุดท้ายที่โรคไข้หวัดนกระบาดในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกโปแลนด์เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ แล้ว โดยรวมการระบาดทั้งหมด ๓๕ ครั้งใน ๙ จังหวัด โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นตั้งแต่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ความเสี่ยงต่อมนุษย์จากโรคพิจารณาว่าอยู่ในระดับต่ำ การศึกษาที่สถาบันสัตวแพทย์ Pulawy แสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสที่พบไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกโปแลนด์ แสดงความวิตกว่า การระบาดของโรคไข้หวัดนกระลอกใหม่อาจเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในประเทศ และจะเป็นการยากลำบากต่อการควบคุมโรค โปแลนด์ไม่ใช่ประเทศในยุโรปเพียงประเทศเดียวที่ได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดนก ในปัจจุบัน ยังพบโรคนี้ได้ในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน สหราชอาณาจักร เบลเยียม เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สวีเดน โครเอเชีย และสโลวาเนีย เป็นต้น


ปัญหาก่อตัวขึ้นแล้ว

เวลาที่ห่างกันมากระหว่างการระบาดครั้งแรก และครั้งที่ ๒ ของโรคไข้หวัดนกในโปแลนด์ในฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาวนี้ บ่งชี้ว่า น่าจะมีการรายงานโรค HPAI ต่อไปอีกในประเทศเร็วๆนี้ ภาคเอกชนโปแลนด์ได้แสดงความวิตกกังวลอย่างมากว่า การระบาดของโรคไข้หวัดนกรอบใหม่นี้จะส่งผลลบกับอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกในโปแลนด์ที่เลวร้ายอยู่แล้วจากการระบาดของโรคโควิด ๑๙ โดยเฉพาะ ภาคการส่งออกจะได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง บางประเทศได้หยุดการนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกจากโปแลนด์เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีการห้ามส่งออกเพิ่มเติมอีกในไม่ช้า  

หลายประเทศได้ระงับการนำเข้าสัตว์ปีกจากโปแลนด์เรียบร้อยแล้ว รวมถึง รัสเซีย และฮ่องกง ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นมา ยอดจำหน่ายสินค้าส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง ฟาร์มไก่พันธุ์ถูกบังคับให้จำหน่ายลูกไก่ในราคาที่ตกต่ำลงอย่างมาก 


เอกสารอ้างอิง

Vorotnikov V. 2020. AI worsens Polish poultry export crisis. [Internet]. [Cited 2020 Dec 17]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2020/12/AI-worsens-Polish-poultry-export-crisis-687317E/ 

ภาพที่ ๑ โควิด ๑๙ สร้างปัญหาต่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกโปแลนด์ (แหล่งภาพ FORCE Technology)




ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...