วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562

การผลิตสัตว์ปีกเอเชียโตอย่างเข้มแข็งในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้


การผลิตสัตว์ปีกในเอเชียยังมีผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในปีนี้ 

ความหวังเรืองรองสำหรับผู้ผลิตสัตว์ปีกเอเชียสำหรับปีหมูทอง โดยภาพรวมสดใสในปีนี้

การเติบโตเศรษฐกิจของภูมิภาคในปีนี้เชื่อว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕ รวดเร็วที่สุดในโลกสำหรับปีนี้

สำหรับอุตสาหกรรมสัตว์ปีก ด้วยรายได้ และความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้น ราคาอาหารสัตว์โดยทั่วไปค่อนข้างดีในหลายประเทศ และโรคไข้หวัดนกก็สงบลง ดังนั้นภาพรวมของตลาดในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จึงค่อนข้างสดใส แม้จะดูเหมือนเริ่มมีเมฆหมอกปรากฏที่ปลายขอบฟ้า

จีน ราคาทุบสถิติ

ภาคการผลิตสุกรในจีนประสบปัญหา เกิดผลบวกสำหรับผู้ผลิตไก่ภายในประเทศ เมื่อผู้บริโภคต้องเลือกเนื้อไก่บริโภคแทน ก่อนการระบาดของโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกาจะเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และภายหลังความต้องการเนื้อไก่ที่อ่อนแรงลง กระทรวงเกษตรสหรัฐฯก็ได้พยากรณ์ไว้ว่า การผลิตเนื้อไก่ในจีนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ เป็น ๑๒ ล้านเมตริกตัน

ถึงเวลานี้ดูเหมือนจะพยากรณ์ไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง ราคาเนื้อไก่พุ่งสูงขึ้นเป็นสถิติใหม่จนถึงปลายปี ขณะที่ ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก ภาวะขาดแคลนเนื้อสุกร และผู้เลี้ยงสุกรลดการผลิตสุกรลง

ความต้องการเนื้อไก่ที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการ แต่ยังได้ประโยชน์จากราคาต้นทุนอาหารสัตว์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ก็มีอุปสรรคเกี่ยวกับจำนวนสัตว์ปีกพันธุ์ที่ลดลง อันเป็นผลมาจากอุปสรรคทางการค้าต่างๆ

ผลประกอบการทางเศรษฐกิจ การบริโภค และการนำเข้าทั้งหมดคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ และหากอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศไม่สามารถตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของความต้องการของผู้บริโภคได้ การนำเข้าก็จะต้องมีมากขึ้น

ท่ามกลางความยากลำบากข้างต้น บราซิลเป็นผู้ผลิตสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดของจีน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จีนเพิ่มการนำเข้าจากไทย และยุโรปตะวันออก

ผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นปัจจัยที่จะสามารถกำหนดได้ว่าจีนจะกลับมานำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯหรือไม่ สินค้าเนื้อไก่จากสหรัฐฯถูกตัดออกจากตลาดจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เนื่องจาก โรคไข้หวัดนก ในห้วงเวลาที่ตลาดสดใส การส่งออกเนื้อสัตว์ปีกจากสหรัฐฯไปยังจีนเคยมีมูลค่าสูงที่สุดถึง ๒๑,๘๒๗ ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากผลการเจรจาทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ เป็นลบ ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และประเทศอื่นๆในภูมิภาค

ภาพที่ ๑ นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ภาคการผลิตสุกรในจีนประสบความยากลำบาก ทำให้ความต้องการเนื้อไก่เพิ่มขึ้น และราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (แหล่งภาพ Booshengrulai | Dreamstime) 











สถานการณ์ตลาดในอินโดนีเซีย

ปลายปีที่แล้ว อินโดนีเซียประสบปัญหาราคาไก่เนื้อตกต่ำ และผู้ประกอบการรายงานผลประกอบการที่ลดลง ขณะที่ ความต้องการของผู้บริโภคในระยะยาวคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การเติบโตสำหรับปีนี้ยังคาดว่าคงที่อยู่

จำนวนลูกไก่เนื้อคาดว่ายังคงที่ในครึ่งแรกของปีนี้ แม้ว่าครึ่งปีหลังคาดว่าจะดีขึ้น

ภาคการผลิตไก่พันธุ์ มีผลประกอบการสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังประสบปัญหาในบางภาคส่วน เช่น ราคาอาหารสัตว์ที่สูง 

สถานการณ์ตลาดในญี่ปุ่น

การผลิตไก่ในญี่ปุ่นยังเติบโตอย่างสม่ำเสมอในปีนี้โดยรักษาอัตราการเติบโตได้ที่ร้อยละ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เมื่อจบปีแล้ว คาดว่า ปริมาณการผลิตจะยืนอยู่ที่ ๑.๗๓ ล้านเมตริกตัน

ภาพรวมอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในญี่ปุ่นมีการแข่งชันสูง และมีแนวโน้มว่า ผู้ประกอบการขนาดเล็กกำลังออกจากตลาดอย่างต่อเนื่อง

ภาคการผลิตสัตว์ปีกในญี่ปุ่นเพิ่มสินค้ามากขึ้น แต่กลับมาจากผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย และผลกำไรมาจากปริมาณสินค้ามากๆเข้าว่า ทำให้ยอดการผลิตสูงขึ้น จึงเป็นสิ่งกำหนดทิศทางให้ใช้พันธุ์ไก่ที่ประสิทธิภาพสูงเป็นหลัก

การบริโภคยังคาดว่าสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีสัญญาชลอตัวลงกว่าปีที่แล้ว โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๕ เป็น๒.๗๓๕ ล้านเมตริกตัน ได้รับพลังขับเคลื่อนมาจากความต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และการนำเสนอสินค้าชนิดใหม่ที่เป็นที่นิยม

นอกจากนั้น USDA ยังเน้นให้เห็นว่า ประชากรสูงวัย (aging population) และการขยายตัวของเมือง (urbanization) คาดว่าจะยิ่งกระตุ้นให้ความต้องการอาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทานเพิ่มสูงขึ้น ชาวญี่ปุ่นหันมาบริโภคเนื้ออกเพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากน่องที่เป็นที่โปรดปรานอยู่แล้ว

ในปีนี้ เชื่อว่า ญี่ปุ่นจะนำเข้าเนื้อไก่มากขึ้น และคาดว่าจะโตขึ้นร้อยละ ๓

ท่ามกลางภาพบวก โรโบแบงค์ก็ชี้ให้เห็นว่า ราคาเนื้อไก่ในประเทศตั้งแต่ต้นปีได้รับแรงกดดันอย่างมากทั้งส่วนน่อง และอกไก่ ทำให้ระดับของการสต๊อกสินค้าสูงเป็นประวัติการณ์

โดยสรุปภาพรวมตลาดญี่ปุ่นยังคงมีการแข่งขันสูง

สถานการณ์ตลาดในไทย

การผลิตเนื้อไก่ไทยคาดว่าจะโตขึ้นร้อยละ ๔ เป็น ๓ ล้านเมตริกตันโดยได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากทั้งตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ

ภาพรวมตลาดเป็นบวก แม้ว่า จะเผชิญกับราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น และราคาต้นทุนการผลิตไก่เนื้อ

การบริโภคเนื้อไก่ในประเทศคาดว่าโตขึ้นร้อยละ ๓ ถึง ๔ ปีที่แล้ว และจะโตต่อไปในปีนี้ แม้ว่าอัตราการเติบโตชะลอตัวลง เนื่องจากราคาไก่เนื้อมีชีวิต และราคาเนื้อไก่ที่สูงขึ้น

การเติบโตอย่างเข้มแข็งในภูมิภาคร้อยละ ๕ ถึง ๖ คาดว่ามาจากอาหารพร้อมรับประทาน และภาคบริการฟาสต์ฟู้ด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจำไว้คือ ร้อยละ ๖๐ ถึง ๗๐ ของผู้ซื้อชาวไทยยังคงนิยมซื้อเนื้อไก่จากตลาดสด

การส่งออกเนื้อไก่ไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๘ ในปีที่แล้วจะยังคงโตต่อไปร้อยละ ๖ ในปีนี้จนถึง ๘๗๐,๐๐๐ เมตริกตัน

โรโบแบงค์ชี้ว่า ภาพรวมตลาดสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตไก่ในไทยยังคงท้าทาย การจัดการที่ดี และประสิทธิภาพการผลิตที่ดีจะช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าเกินในปีที่แล้ว และสร้างผลกำไรได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ง่ายที่โรงเชือดจะขยายตัวทันผลิตได้ในปีนี้



ภาพที่ ๒ การบริโภคเนื้อสัตว์ปีกในเอเชียเติบโตอย่างชัดเจน ตั้งแต่เริ่มทศวรรษ ๒๐๑๐ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม การบริโภคเนื้อสัตว์ต่อหัวในบางประเทศยังค่อนข้างต่ำ จึงยังมีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปได้ (แหล่งภาพ OCED-FAO)












เอกสารอ้างอิง

Clements M. 2019. Asia's poultry producers expect strong results in 2019. Poultry International. April 2019. 6-9.

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2562

การป้องกัน ซัลโมเนลลา ต้องอาศัยแนวคิดเชิงบูรณาการ


ปัญหาเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษชนิด ซัลโมเนลลา อาจเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ในระบบการผลิตจากฟาร์มไก่พันธุ์ไปจนถึงโรงงานแปรรูปการผลิต
การลดการปรากฏของเชื้อ ซัลโมเนลลา บนการผลิตสัตว์ปีก ไม่ได้เป็นภาระความรับผิดชอบของโรงงานแปรรูปการณ์ผลิตเท่านั้น แต่จำเป็นต้องใช้ความเอาใจใส่จากบุคลากรในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตไก่เนื้อ โรงงานแปรรูปการผลิตไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด สำหรับบริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีกตามมาตรฐานของสำนักงานบริการด้านความปลอดภัยอาหาร และการตรวจสอบ แห่งกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (FSIS-USDA) อย่างเข้มงวดนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญ และบูรณาการแนวความคิดแบบองค์รวมเพื่อลดการปรากฏของเชื้อ ซัลโมเนลลา ให้ได้ตลอดระบบการผลิต

การให้วัคซีนเป็นสิ่งจำเป็น
ไก่เนื้อจากแม่ไก่ที่ให้วัคซีนพบเชื้อน้อยลงในโรงงานเปรียบเทียบกับไก่เนื้อจากแม่ไก่ที่ไม่ได้รับวัคซีน อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกตระหนักดีแล้ว ดังนั้น ส่วนใหญ่ของผู้ผลิตได้ให้วัคซีนกับแม่ไก่พันธุ์เพื่อควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา
ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ไก่พันธุ์ (เนื้อ) ร้อยละ ๗๐ ให้วัคซีนป้องกันซัลโมเนลลาอย่างน้อย ๒ ครั้ง เปรียบเทียบกับปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มากกว่าร้อยละ ๓๕ ของผู้ผลิตให้วัคซีน สี่ หรือห้าครั้งในปี ๒๕๖๐ เปรียบเทียบกับร้อยละ ๒๐ ในปี พ.ซ. ๒๕๕๓  
การควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา ให้ผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลยสำหรับผู้ผลิตไก่เนื้อ ดังนั้น ผู้จัดการฝ่ายผลิตฟาร์มจึงพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะไปเพิ่มต้นทุนการผลิต โดยไม่เห็นผลตอบแทนที่วัดเป็นตัวเงินได้

มองข้ามไปให้เหนือกว่าแค่การให้วัคซีน
เนื่องจาก เชื้อซัลโมเนลลา ปรากฏขึ้นได้ตลอดวงจรการเลี้ยง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องค้นหาแหล่งต้นตอของปัญหา เพื่อบ่งชี้สาเหตุ ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีกระสุนวิเศษสำหรับควบคุมเชื้อซัลโมเนลลาได้
อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำสำหรับการควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา ในฟาร์ม ได้แก่
๑. การใช้มาตรการลดเชื้อ ซัลโมเนลลา ตั้งแต่ฟาร์มไก่พันธุ์ ระยะไก่รุ่น
๒. สุขอนามัยในโรงฟัก เน้นให้ความสำคัญกับการฆ่าเชื้อ และการทำความสะอาดในทุกระยะการผลิต อย่ามองข้ามระบบการระบายอากาศ เครื่องปรับอากาศสามารถดึงอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อเข้ามาภายในโรงฟักได้
๓. ทบทวนกระบวนการผลิตในโรงงานอาหารสัตว์ให้มั่นใจว่าทุกขั้นตอนสามารถป้องกันวัตถุดิบจากฝุ่น ที่อาจเป็นแหล่งต้นตอของเชื้อซัลโมเนลลา อาหารสัตว์ควรผ่านความร้อน ๘๕ องศาเซลเซียส และกระบวนการให้ความร้อนไม่สามารถเร่งรัดเวลาได้
๔. เข้มงวดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ และควบคุมการสัญจรในฟาร์ม และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์
๕. ปรับปรุงการควบคุมสัตว์พาหะ เช่น นกธรรมชาติ หนู และแมลงปีกแข็ง
๖. ควบคุมความหนาแน่นการเลี้ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า วัสดุรองพื้นสะอาด และแห้งดี
๗. กำหนดระยะพักโรงเรือนระหว่างฝูงอย่างน้อย ๑๘ วัน ยิ่งดีขึ้นหากพักได้ถึง ๒๑ วัน
๘. ปรับน้ำไก่กินให้เป็นกรด อย่างน้อย ๗๒ ชั่วโมงก่อนเข้าโรงเชือด แต่ต้องไม่ต่ำเกินไปจนไก่ปฏิเสธการกินน้ำ
๙. ควบคุมโรคอื่นๆด้วย

การสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็น
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ฝ่ายผลิตฟาร์มไม่ค่อยได้คุยแลกเปลี่ยนกับฝ่ายโรงเชือด แต่ถึงเวลานี้มีความจำเป็นที่ทั้งสองฝ่ายต้องหันหน้าเข้าคุยกัน เพื่อเป้าหมายในการควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา และแคมไพโลแบคเตอร์ ให้สำเร็จ
ในโรงเชือด นวัตกรรมจำนวนมากที่สามารถควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา ได้ แต่ก็ยังจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับฝ่ายผลิตฟาร์ม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี
ฝ่ายผลิตฟาร์มต้องพยายามทุกสรรพสิ่งเพื่อลดปริมาณเชื้อ ซัลโมเนลลา ที่จะเข้าสู่โรงเชือด ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหันหน้าเข้าคุยกันอย่างใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจ และรับทราบถึงสถานการณ์ภาพรวมของมาตรการควบคุมโรค
เอกสารอ้างอิง
Graber R. 2019. Salmonella prevention requires integrated approach. WATT Poultry USA. May 2019. 20-21.



วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ซัลโมเนลลาระบาดในคานาดาพบผู้ป่วย ๑๑๐ ราย


การป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษที่มีสาเหตุจากเชื้อซัลโมเนลลาครั้งนี้เชื่อมโยงกับการสัมผัสเนื้อไก่และเนื้อไก่ดิบที่ปนเปื้อนเชื้อ ซัลโมเนลลา รีดดิ้ง ในประเทศคานาดา เป็นสาเหตุให้มีผู้ป่วย ๑๑๐ รายจนถึงวันที่ ๑ ตุลาคมที่ผ่านมาตามรางานจากสำนักงานด้านสาธารณสุขแห่งคานาดา (PHAC) ในจำนวนนี้ ๓๒ รายต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และเสียชีวิต ๑ ราย 

 ปัจจุบัน PHAC ได้ทำงานประสานกับสาธารณสุขจังหวัด และท้องถิ่น รวมถึง สำนักงานตรวจสอบความปลอดภัยอาหารแห่งคานาดา (CFIA) กำลังสอบสวนการระบาดอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยจำนวนมากรายงานว่า กินผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ และเนื้อไก่งวงหลายประเภทก่อนเกิดอาการ

ผู้ป่วย ๓๖ รายมาจากรัฐอัลเบอร์ตา ๒๖ รายมาจากบริติชโคลัมเบีย ๒๔ รายมาจากมานิโทบา ๘ รายมาจากรัฐซัสแคตเชวัน ๗ รายมาจากรัฐออนตาริโอ ๖ รายมาจากรัฐนูวาวัต และ ๑ รายจากรัฐควีเบค นิวบรันซ์วิค และแถบตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ จำนวนผู้ป่วยชาย และหญิงพอๆกัน ขณะที่ ผู้ป่วยมีอายุตั้งแต่ทารกจนถึงคนแก่วัย ๙๖ ปี

การใช้เทคนิค Whole geneome sequencing พบว่า เชื้อซัลโมเนลลาบางตัวอย่างย้อนกลับไปได้ถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีคุณลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันกับผู้ป่วยในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกำลังตรวจสอบโดยละเอียดติดเชื้อระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้เอง

เชื่อได้ว่ายังมีผู้ป่วยเพิ่มเติมรายต่อไปที่อยู่ระหว่างการรอการรายงานอย่างเป็นทางการ เนื่องจาก ยังมีช่วงเวลาระหว่างที่ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการป่วย และการรายงานการป่วยต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เรียกช่วงเวลานี้ว่า รอการรายงาน (reporting delay) โดยทั่วไปในคานาดาอยู่ระหว่าง ๕ ถึง ๖ สัปดาห์

ก่อนหน้านี้ กรมควบคุม และป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐฯ ก็เพิ่งสอบสวนการระบาดของเชื้อซัลโมเนลลาในหลายรัฐ โดยเชื่อมโยงกับการสัมผัสกับเนื้อไก่งวงดิบ และมีการเรียกสินค้าเนื้อไก่งวงคืนในสหรัฐฯภายหลังการระบาด ผลิตภัณฑ์เหล่านี้บางส่วนถูกนำเข้า และจำหน่ายในตลาดคานาดา อย่างไรก็ตาม การสอบสวนของสหรัฐฯ ปิดลงแล้วในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมานี้เอง

เอกสารอ้างอิง

WATTAg.Net. 2019. 110 people stricken by Canadian Salmonella outbreak. [Internet]. [Cited 2019 Oct 4]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/38873-people-stricken-by-canadian-salmonella-outbreak

ภาพที่ ๑ ซัลโมเนลลาระบาดพบผู้ป่วย ๑๑๐ รายในคานาดา (แหล่งภาพ Jennifer Marr | Freeimages.com)

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2562

การลดซัลโมเนลลาในโรงเชือดต้องทำงานเป็นทีม


ผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีกรายสำคัญในสหรัฐฯ หวังผลิตไก่เนื้อ และไก่งวงให้มีซัลโมเนลลาน้อยลง แต่อัตราการพบผลบวกต่อเชื้อซัลโมเนลลา และปริมาณเชื้อซัลโมเนลลาในตัวไก่แตกต่างกันมากระหว่างฝูงต่อฝูง โรงเชือดต้องมีระบบเตรียมพร้อมสำหรับการจัดการที่มีประสิทธิภาพรองรับฝูงไก่เหล่านี้ไม่ว่าจะเข้ามาในสถานะใดก็ตาม เพื่อลดอุบัติการณ์ของเชื้อซัลโมเนลลาบนซาก และชิ้นส่วนให้ต่ำที่สุดแบบวันต่อวัน ไม่ว่าจะมีปริมาณเชื้อซัลโมเนลลามากน้อยเพียงไรก็ตาม
หากผู้บริหารโรงเชือดเริ่มต้นด้วยฟาร์มที่จับไก่โดยให้ผลบวกต่อซัลโมเนลลาร้อยละ ๑๐๐ และพยายามทุกวิถีทางในการลดอุบัติการณ์ลงให้ได้เหลือสักร้อยละ ๕๐ มีคำแนะนำจากผู้บริหารด้านวิชาการ และคุณภาพจาก George's Inc. ผู้ผลิตไก่เนื้อรายหนึ่งจากสหรัฐฯ มีคำแนะนำเชิงกลยุทธ ๗ ข้อที่จะช่วยลดอุบัติการณ์ซัลโมเนลลาให้เหลือเพียงร้อยละ ๑
๑. ทำงานร่วมกันเป็นทีมด้วยโครงการลดเชื้อซัลโมเนลลา
ในสหรัฐฯ มีโครงการลดเชื้อซัลโมเนลลาจากรัฐ เรียกว่า "Salmonella Initiative Program, SIP" โดยกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐฯ โดยร่วมกับโรงเชือดทั้งผู้บริหาร นักวิชาการ หัวหน้างาน และทีมการจัดการ ขั้นตอนแรกก็จะเริ่มต้นด้วยการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน (baseline study) เพื่อพัฒนาเป็นประวัติเบื้องต้น ตั้งแต่ซากหลังขั้นตอนการชิลล์ ชิ้นส่วน และเนื้อบด นั่นคือ สำรวจหาขั้นตอนที่มีความเสี่ยง และวิเคราะห์หาแนวทางการควบคุม หลังจากนั้น หากมีโรงเชือดหลายแห่งจะยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น หากมีการแบ่งปันข้อมูลแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน
๒. เริ่มด้วยการสำรวจแผนที่ไบโอแมป
การลดจำนวนเชื้อซัลโมเนลลาสำหรับสินค้าเนื้อไก่พร้อมรับประทานต้องเริ่มด้วยการทำความเข้าใจกระบวนการผลิตทั้งหมด แล้ววิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อเชื้อซัลโมเนลลา การทำแผนที่ไบโอแมป โดยการเก็บตัวอย่างทางจุลชีววิทยาจากตัวไก่ หรือชิ้นส่วน ก่อน และหลังกระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอน ร่วมกับการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นเพียงใด
จำนวนเชื้อซัลโมเนลลาในไก่มีชีวิตค่อนข้างต่ำ การใช้ aerobic plate count (APC) สำหรับการสำรวจแผนที่ไบโอแมปจะให้ผลดีกว่า การทดสอบ APC ทำได้ง่าย และได้จำนวนเชื้อสูง ช่วยให้การประเมินผลการจัดการได้ดีกว่า
๓. ลองใช้เทคนิคใหม่ๆควบคุมซัลโมเนลลา
ลองหาเทคนิคใหม่ๆสำหรับการควบคุมปริมาณเชื้อซัลโมเนลลาบนตัวไก่ และชิ้นส่วน อาจเป็นวิธีทางกายภาพ เคมี หรือการใช้ความร้อน แปรง (brushes) สำหรับการทำความสะอาดตัวไก่ก่อนเข้าสู่เครื่องลวกน้ำร้อน (scalder) และการใช้น้ำล้าง หรือรดตัวไก่ก็เป็นเทคนิคการลดเชื้อได้ทางกายภาพ การใช้แปรงก่อนเข้าสู่เครื่องน้ำร้อนเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์มาก โรงเชือดไก่เนื้อร้อยละ ๗๐ ใช้เทคนิคนี้กันแล้ว
อุณหภูมิของเครื่องลวกน้ำร้อนก็เป็นเทคนิคการใช้ความร้อนเพื่อลดเชื้อซัลโมเนลลา บริษัทบางแห่งใช้สารเคมีช่วยควบคุมเชื้อซัลโมเนลลาเพิ่มเติม พบว่า มีประสิทธิภาพที่ดี หากปริมาณอินทรียสารในชิลเลอร์ไม่สูงมากเกินไป
๔. การจัดการด้านเคมี
ยาฆ่าเชื้อหลายชนิดได้ผลดีสำหรับการใช้ในโรงเชือดทั้งในรูปแบบของการจุ่ม การล้าง และการสเปรย์ที่ตำแหน่งต่างๆในห้องถอนขน ห้องล้วงเครื่องใน และในห้องคัตอัพหลังผ่านถังชิลเลอร์แล้ว รวมถึง กระบวนการถอนขน ผู้ประกอบการต้องตัดสินใจสร้างความสมดุลระหว่างการลดเชื้อซัลโมเนลลา และแคมไพโลแบคเตอร์ และต้นทุนที่ต้องจ่ายค่ายาฆ่าเชื้อ รวมถึง ผลกระทบของยาฆ่าเชื้อต่อคุณภาพของสินค้า
 การเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงาน ประสิทธิภาพ ต้นทุน พื้นที่ในโรงงาน ผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์สุดท้าย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสี กลิ่น และรสชาติ น้ำเสีย และคุณภาพน้ำก็จำเป็นต้องคำนึงถึงอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นก็ต้องคิดต่อไปว่า ผู้จำหน่ายยาฆ่าเชื้อสามารถผลิต จัดส่งสินค้าได้สม่ำเสมอ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ 
 โรงเชือดหลายแห่งในสหรัฐฯจะใช้คลอรีน แอซิดิไฟด์คลอรีน กรดซิตริก แคลเซียมไฮโปคลอไรต์ กรดเปอร์อะซิติก และโซเดียมไฮโปคลอไรต์ ในห้องล้วงเครื่องใน ในบางพื้นที่ หรือทั้งหมดในโรงงาน การเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อของแต่ละโรงงานอาจเกิดจากคุณสมบัติทางเคมีของน้ำในแต่ละโรงงาน ความชื่นชอบของโรงงานเอง ขนาดตัวสัตว์ปีกที่แตกต่างกัน และการวิจัยเป็นข้อมูลพื้นฐานของโรงงาน
โรงงานบางแห่งใช้การสเปรย์ที่โต๊ะแขวนไก่กลับ ตู้แปรงซากไก่ และเครื่องล้างภายใน และภายนอกซาก โดยเน้นให้ความสำคัญกับการประเมินผลแต่ละมาตรการที่ให้ผลดีที่สุด โดยเฉพาะในระบบชิลเลอร์ด้วยน้ำ โรงเชือดหลายแห่งในสหรัฐฯนิยมใช้กรดเปอร์อะซิติกในระบบชิลเลอร์ และการเปลี่ยนมาใช้กรดเปอร์อะซิติกก็ช่วยให้โรงงานสามารถลดเชื้อซัลโมเนลลาได้อย่างมาก
กรดเปอร์อะซิติกยังมีบทบาทสำคัญในโปรแกรมสุขอนามัยในระบบชิลเลอร์ที่โรงเชือดบางแห่งที่ต้องเก็บน้ำไว้ในระบบชิลเลอร์เป็นเวลาถึง ๕ วัน โดยโปแกรมนี้ น้ำในระบบชิลเลอร์จะถูกทำให้เย็นลงตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อควบคุมเชื้อไว้
๕. การป้องกันปนเปื้อนข้าม
 การควบคุมซัลโมเนลลาไม่ได้ใช้แค่ยาฆ่าเชื้อ ขั้นตอนการตัดแต่งชิ้นส่วนไก่ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพื่อลดการปนเปื้อนข้าม การทำงานร่วมกันเป็นทีมช่วยกันสำรวจหาสาเหตุของการปนเปื้อนข้าม เครื่องถอนขน ชนิด และการออกแบบพิคเกอร์ ฟิงเกอร์ (picker finger) โต๊ะแขวนไก่กลับ (rehang tables) สุขอนามัยอุปกรณ์ล้วงเครื่องใน การปรับแต่ง และการบำรุงรักษา การล้างมือ โดยเฉพาะ พนักงานที่ตัดแต่งชิ้นส่วน สุขอนามัยการล้างเครื่องมือก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญ และให้ความรู้พนักงานอย่างสม่ำเสมอ
๖. ภายหลังออกจากระบบชิลเลอร์
ผู้ประกอบการผลิตไก่เนื้อในสหรัฐฯ ร้อยละ ๗๕ ถึง ๘๐ ใช้ยาฆ่าเชื้อภายหลังออกจากระบบชิลเลอร์ อาจเป็นวิธีการจุ่มไก่ทั้งตัว หรือการเสปรย์
บางรายใช้การสเปรย์เฉพาะบางตำแหน่ง น่อง อก ปีก ผิวหนัง และชิ้นส่วนที่จะใช้ผลิตเป็นเนื้อไก่งวงบด และชำแหละเป็นชิ้นส่วนไก่งวง (mechanical separated turkey, MST) โดยยาฆ่าเชื้อหลายชนิดที่นิยมนำมาใช้สำหรับการสเปรย์ภายหลังออกจากระบบชิลเลอร์ เช่น โบรมีน กรดเปอร์อะซีติก หรือไตรโซเดียมฟอสเฟต เป็นต้น
๗.ประเมินผลสำเร็จลดซัลโมเนลลา
 ผลจากความพยายามด้วยกลยุทธหลายอย่างพร้อมกันช่วยให้ลดจำนวนซัลโมเนลลาลงได้ทั้งในฟาร์ม และโรงเชือดอย่างน่าประทับใจ อุบัติการณ์ของซากไก่ที่ให้ผลบวกต่อซัลโมเนลลาในการทดสอบจากตัวอย่างภายหลังออกจากระบบชิลเลอร์แล้ว พบว่า ลดเชื้อลงได้มากกว่าร้อยละ ๙๐ สอดคล้องกับผลการทดสอบโดย USDA ตัวอย่างความสำเร็จจากบิษัทไทสันในโรงเชือด โดยทำแผนที่ไบโอแมปวิเคราะห์กระบวนการต่างๆภายในโรงงาน ไทสันสามารถลดอุบัติการณ์ของเชื้อซัลโมเนลลาจากซากไก่ภายหลังออกจากระบบชิลเลอร์ได้ตลอดเวลา ๕ ถึง ๑๐ ปีต่อเนื่องกัน
มาตรฐานสำหรับควบคุมซัลโมเนลลาค่อนข้างยากมากที่จะประสบความสำเร็จ ยังต้องใช้กลยุทธใหม่ๆเพิ่มเติมต่อไป ผู้ประกอบการโรงเชือดต้องพร้อมสำหรับการปรับปรุงกระบวนการในการผลิต การจัดการต่างๆควรได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะ ค่าใช้จ่ายสำหรับการเก็บตัวอย่าง และการทดสอบ เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าเป็นต้นทุนสำหรับการทำธุรกิจการผลิตไก่เนื้อ
เคล็ดลับการใช้ยาฆ่าเชื้อของไทสัน
๑. ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อขึ้นกับปริมาตรของยาฆ่าเชื้อ ต้องครอบคลุมพื้นที่การผลิต กฎทั่วไป การจุ่มให้ผลดีกว่าการสเปรย์ และดีกว่าการพ่นเป็นหมอก
๒. หากเป็นไปได้ให้ใช้เครื่องมือแบบอัตโนมัติสำหรับกระบวนการฆ่าเชื้อแทนที่การใช้แรงงานคน
๓. ยอมลงทุนสำหรับการทำไบโอแมปภายในโรงเชือด
๔. ตั้งทีมงานเฉพาะสำหรับการควบคุมเชื้อซัลโมเนลลา
๕. อย่าต่อรองกับมาตรการควบคุมเชื้อซัลโมเนลลา
๖. ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร
เอกสารอ้างอิง
O'Keefe T. 2013. Salmonella reduction in poultry plants requires a team approach. [Internet]. [Cited 2013 Sep 9]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/21910-salmonella-reduction-in-poultry-plants-requires-a-team-approach

ภาพที่ ๑ ผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีกใช้ทั้งเทคนิคทางกายภาพ ความร้อน และเคมี ระหว่างกระบวนการผลิต เพื่อกำจัด และ/หรือฆ่าเชื้อซับโมเนลลาที่อยู่บนซากสัตว์ปีก และชิ้นส่วน (แหล่งภาพ iStockphoto.com I iLexx)


วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2562

การระบาดของซัลโมเนลลากดดันให้ลดยาปฏิชีวนะในในสหรัฐฯ


แรงสนับสนับสนุนให้ลด หรือแม้กระทั่งเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และการผลิตสัตว์ปีกดูเหมือนเข้มข้นขึ้นได้อีกภายหลังการระบาดของเชื้อซัลโมเนลลาสองครั้งล่าสุด

ขณะที่ อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีก มีหลักการปฏิบัติสำหรับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรอบคอบอยู่แล้ว เนื่องจาก ความวิตกกังวลต่อการเชื่อมโยงระหว่างเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ และการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เลี้ยงสำหรับการผลิตเป็นอาหาร จำนวนไก่ และไก่งวงที่เลี้ยงในสหรัฐฯ โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะที่เรียกว่า ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลย (No antibiotic ever) กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แต่อาจยังไม่ดีเพียงพอสำหรับผู้บริโภคที่ถูกป้อนด้วยข่าวสารเป็นประจำ และส่วนใหญ่เป็นข่าวสารที่ไม่ผ่านการตรวจทานความถูกต้องก็เชื่อไปแล้ว ผู้บริโภคเชื่อว่า ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์เลย



กรณีศึกษาเนื้อไก่ดิบ

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) เพิ่งรายงานผู้ป่วย ๙๒ ราย ใน ๒๙ รัฐ จากการระบาดของเชื้อ ซัลโมเนลลา อินแฟนทิส ที่เชื่อมโยงกับสินค้าเนื้อไก่ดิบ โดยยังไม่สามารถสอบย้อนกลับไปยังบริษัทผู้ผลิตได้

ศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคสหรัฐฯ ยังพบว่า เชื้อ ซ. อินแฟนทิส ที่แยกได้จากผู้ป่วย ดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิดพร้อมกัน การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงไก่เชื่อได้ว่า มีอิทธิพลต่อการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อดังกล่าว



กรณีศึกษาเนื้อโคดิบ

ก่อนรายงานการตรวจพบเชื้อในเนื้อไก่ดิบข้างต้นเล็กน้อย บริษัท เจบีเอส เพิ่งเรียกคืนเนื้อโคกว่าสามล้านกิโลกรัม เนื่องจาก พบความเชื่อมโยงกับการติดเชื้อซัลโมเนลลาในผู้ป่วย ๕๗ ราย

ประกาศการเรียกคืนสินค้านี้โดยหน่วยงานบริการด้านการตรวจสอบ และความปลอดภัยอาหาร (FSIS) กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ไม่ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงกับการดื้อยาปฏิชีวนะ แต่มีบล็อกจาก ลีนา บรู๊ค สภาคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (NRDC) กล่าวถึง สายพันธุ์ของเชื้อ ซัลโมเนลลา ที่พบในการระบาดเป็น ซ. นิวพอร์ต ก่อนหน้านั้นพิสูจน์แล้วว่าดื้อยาปฏิชีวนะ



สิ่งบอกเหตุ

สังคมมองศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคสหรัฐฯเป็นเจ้าพนักงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และเชื่อว่า หลายคนมองสภาคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติเป็นผู้ให้ข้อมูลที่เป็นความรู้

แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังเชื่อใจผู้ผลิตว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้องสำหรับสัตว์ของพวกเขา และหลายคนอีกเช่นกันที่เชื่อว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรอบคอบกระทำไปอย่างถูกต้องแล้ว เสียงกลองประโคมขึ้นหลายครั้งแล้วก่อนหน้านี้ แต่เกิดขึ้นจากการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อสร้างความมั่นใจต่อสุขภาพสัตว์ จำเป็นต้องให้ความรู้กับผู้ที่ยังไม่มีความรู้ กรณีการระบาดของเชื้อ ซัลโมเนลลา ครั้งล่าสุดนี้อาจเป็นการตัวเร่งให้ต้องเคร่งครัดต่อการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรอบคอบ 



เอกสารอ้างอิง

Graber R. 2018. Salmonella outbreaks could fuel push to cut antibiotics. WATT Poultry USA. December 2018. 6-8.

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ไต้หวันพบหวัดนกเพิ่มใหม่อีกสองครั้ง


ผลยืนยันการติดเชื้อไข้หวัดนก รวม ฝูงไก่หลังบ้าน ๑ ราย และไก่พื้นเมืองขนาดพันตัวอีก ๑ ราย ทำให้จำนวนสถิติการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงชนิดเอช ๕ เอ็น ๒ ของไต้หวันเพิ่มเป็น ๒ รายแล้วในเดือนนี้

รายงานล่าสุดของโรคไข้หวัดนกจากไต้หวัน ตรวจพบเชื้อในไก่หลังบ้านจำนวน ๑๘ ตัวในเมือง Changhua ภายหลังพบไก่ตายในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาตามรายงานของสภาการเกษตกรรมต่อโอไออี

สำหรับการระบาดรายต่อมายืนยันในไก่พื้นเมืองจำนวน ๑,๐๐๐ ตัว ตายในฟาร์มเมือง Yunlin ทำให้จำนวนไก่ที่เหลืออยู่ในฟาร์มทั้งสองแห่งถูกทำลายทั้งหมด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ทำให้สถิติจำนวนสัตว์ปีกที่สูญเสียรวมแล้ว ๒๒,๑๐๐ ตัวจากการตาย หรือคัดทิ้งในการระบาดครั้งล่าสุด

รายงานครั้งล่าสุดในสื่อท้องถิ่น สภาการเกษตรกรรมแห่งไต้หวันยืนยันต่อโอไออีเกี่ยวกับรายละเอียดเพิ่มเติมของการระบาดโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงนี้มีความสัมพันธ์กับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่เอช ๕ เอ็น ๕ แวเรียนต์ เป็นครั้งแรกที่ตรวจพบสับไทป์นี้ในไต้หวัน และเชื้อไวรัสยังตรวจพบในสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์จากแผนการเฝ้าระวังเชิงรุก สัตว์ปีกที่ตรวจพบเป็นเป็ดเนื้อจำนวน ๓,๕๘๓ ตัวในตำบล Cishan เมือง Kaohsiung โดยไม่ปรากฏอาการ หรือสัตว์ตาย แต่สัตว์ที่ถูกตรวจพบเชื้อไวรัสทั้งหมดถูกทำลายภายหลังการตรวจพบเชื้อแล้ว

ผลการตรวจสอบสัตว์ปีกจากทั้งหมด ๕ ฟาร์ม ภายในรัศมี ๓ กิโลเมตร ยังไม่พบเชื้อไวรัส และสัตว์ยังคงมีสุขภาพดี สภาการเกษตรกรรมแห่งไต้หวันอ้างว่า ฟาร์มเหล่านี้จะถูกตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดอีก ๓ เดือน

ไนจีเรีย นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๑ และเอช ๕ เอ็น ๘ ถูกตรวจพบครั้งแรกในไนจีเรียต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นมา กระทรวงเกษตร ได้รายงานต่อโอไออีเป็นระยะ ตามรายงานครั้งล่าสุด ไม่พบเชื้อไวรัสในสัตว์ปีกในทางตะวันตกของประเทศเป็นเวลานนานแล้ว โดยรายล่าสุดเป็นสับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๘ ถูกตรวจพบในรัฐ Edo เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา



เอกสารอ้างอิง

Linden J. 2019.

Two new avian flu outbreaks in Taiwanese poultry. [Internet]. [Cited 2019 Sep 30]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/38840-two-new-avian-flu-outbreaks-in-taiwanese-poultry

ภาพที่ ๑ ไต้หวันพบหวัดนกเพิ่มใหม่อีกสองครั้ง (แหล่งภาพ Gabriela Pernecka, Freeimages.com) 


ผลของวู้ดเด้นเบรสต์ต่ออายุการเก็บรักษาสินค้า


การศึกษาจำนวนมากว่าด้วยกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของเนื้อ เนื่องจาก พยาธิสภาพของกล้ามเนื้อ ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ มุ่งไปที่พยาธิสภาพของกล้ามเนื้ออกที่ส่งผลต่ออายุการเก็บรักษาสินค้า คุณภาพ และจำนวนแบคทีเรีย น่าประหลาดใจมากที่เนื้อที่ผิดปรกติเหล่านี้กลับสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้นกว่าปรกติถึง ๑๑ วัน

การยอมรับเนื้อสัตว์ปีกของผู้บริโภคเป็นที่นิยมสูงขึ้น เนื่องจาก คุณค่าทางโภชนาการ และผลดีต่อสุขภาพ ใช้ทักษะทางการคหกรรมเพียงเล็กน้อยสำหรับการประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ปีก และยังเหมาะต่อการนำไปแปรรูปต่อเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคที่หลากหลาย และไม่จำเจ จึงทำให้ความต้องการเนื้อสัตว์ปีกเพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นให้ห่วงโซ่การผลิตสัตว์ปีกปรับกระบวนการจัดการในฟาร์มให้เหมาะสม และเพิ่มเทคนิคการผลิตโดยใช้เวลาสั้นลง แต่ยังคงรักษามาตรฐานการผลิตสูงด้านความปลอดภัยอาหาร และคุณภาพเนื้อสัตว์

ความผิดปรกติของเนื้อเพิ่มสูงขึ้น

 ในช่วงปลายปีที่แล้ว อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญจากการปรากฏของความผิดปรกติเนื้อเป็นพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อ ทำให้เนื้อสัตว์ปีกไม่เหมาะกับการบริโภค

พันธุกรรม โภชนาการ การจัดการ และการแปรรูปอาหาร มีอิทธิพลต่อความผิดปรกติดังกล่าว ความผิดปรกติบางลักษณะยังพบได้ในสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น เนื้อสุกรที่มีลักษณะซีด นิ่ม และชุ่มน้ำ (PSE)

พยาธิสภาพของกล้ามเนื้ออก 

กรณีเนื้อสัตว์ปีก พยาธิสภาพของกล้ามเนื้อเรียกว่า กล้ามเนื้อแข็งเหมือนไม้ (wooden breast) และกล้ามเนื้อเป็นลายทางสีขาว (white striping) ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้ออกใหญ่ (pectoralis major) ของกล้ามเนื้ออกไก่เนื้อ ความผิดปรกติดังกล่าวนี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อการปรากฏเห็นได้ด้วยสายตาเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี และเนื้อเยื่อวิทยาของกล้ามเนื้อ ทั้งกล้ามเนื้อแข็งเหมือนไม้ และกล้ามเนื้อเป็นลายทางสีขาว จะพบการแทรกเข้ามของไขมันภายในกล้ามเนื้อ และสัดส่วนของโปรตีนที่ลดลง พยาธิสภาพของกล้ามเนื้อดังกล่าวอาจส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค เนื่องจาก ความแข็ง ความชุ่มน้ำ ความนุ่มสี และรสชาติ รวมถึง คุณสมบัติอื่นๆ เช่น pH การอุ้มน้ำ และความแน่นของเนื้อ เป็นต้น

อายุการเก็บรักษาเนื้อที่ผิดปรกติ

ผลการศึกษาจำนวนมากว่าด้วยกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อเนื่องจากความผิดปรกติทางพยาธิวิทยา แต่ยังไม่ทราบชัดเจนว่า ส่งผลกระทบต่อการเก็บรักษาเนื้อได้อย่างไร นอกจากนั้น การปรากฏของเชื้อก่อโรค และเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารบูดเสียในกล้ามเนื้อที่ผิดปรกติ ยังไม่ค่อยมีการศึกษากันมากนัก ทั้งที่ปัญหานี้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมสัตว์ปีก เนื่องจาก ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยอาหาร และอายุการเก็บรักษาสินค้าของเนื้อทั้งที่จำหน่ายเป็นเนื้อสดและเนื้อแปรรูป

ผลการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการเปรียบเทียบคุณลักษณะด้านเทคนิค เคมี และจุลชีววิทยา รวมถึง อายุการเก็บรักษา ภายหลังการเก็บสินค้าเป็นเวลา ๑๑ วันที่อุณหภูมิ ๔ องศาเซลเซียส ในเนื้อไก่ปรกติ เนื้อไก่ที่แข็งเหมือนไม้ และเนื้อไก่ที่เป็นลายทางสีขาว พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงของกลไกทางเมตาโบลิซึม เนื้ออกปรกติจะมีอัตราการเกิดกรดไขมันอิ่มตัวระดับสูงกว่า และอัตราการเกิดกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่น้อยกว่าเนื้อไก่ที่แข็งเหมือนไม้ และเนื้อไก่ที่เป็นลายทางสีขาว  ความแตกต่างโดยหลักเกิดจากกรดไขมันไม่อิ่มตัว เนื้ออกปรกติมีดัชนีการปรากฏสีแดงที่ต่ำกว่า และอัตราการสูญเสียหลังการปรุงต่ำกว่า ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในเนื้ออกปรกติสูงกว่าเนื้อไก่ที่แข็งเหมือนไม้ และเนื้อไก่ที่เป็นลายทางสีขาว  ดังนั้น อายุการเก็บรักษาสินค้าจึงสั้นกว่าเนื้ออกปรกติ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างนี้หายไปภายหลังการเก็บสินค้าเป็นระยะเวลานานกว่า ๑๑ วันไปแล้ว

ผลการวิจัยครั้งนี้ัยังคาดหวังให้ต่อยอดการศึกษาเชิงลึกต่อไปถึงปัจจัยด้านเมตาโบลิซึม และกลไกที่จะช่วยอธิบายองค์ประกอบทางเคมีที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ระหว่างการเก็บรักษาสินค้าเนื้ออกไก่ที่เกิดพยาธิสภาพ



เอกสารอ้างอิง

McDougal T. 2019. Effect of breast myopathies on shelf life. [Internet]. [Cited 2019 Sep 27]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2019/9/Effect-of-breast-myopathies-on-shelf-life-477899E/  



ภาพที่ ๑ อายุการเก็บรักษาสินค้าทั้งเนื้อปรกติ และผิดปรกติเป็นปัจจัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมสัตว์ปีก เนื่องจาก เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยอาหาร (แหล่งภาพ Joris Telders)

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562

จุลินทรีย์ตัวจิ๋วพลิกอุตสาหกรรมสัตว์ปีกโลก


นักวิจัยยุโรปกำลังศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อจุลินทรีย์ และสุขภาพสัตว์ โดยหวังว่า เชื้อจุลินทรีย์จะช่วยภาคสัตว์ปีกยกระดับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่ดีขึ้น
แม้ว่า โปรไบโอติกประกอบด้วยเชื้อจุลินทรีย์ และพรีไบโอติกส่งเสริมการโตของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของสัตว์นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก เพื่อปรับสุขภาพ และการเจริญเติบโตของสัตว์ แต่ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด
การพัฒนาสารเติมอาหารสัตว์ก่อนหน้านี้ ยังไม่เคยศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารเติมอาหารสัตว์แต่ละชนิดต่อไมโครไบโอม และร่างกายของสัตว์ ดังนั้น
  • ผลการวิจัยมักไม่คงเส้นคงวาจากการทดลองในสัตว์ที่มีสายพันธุ์ และเลี้ยงภายใต้สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน
  • การพัฒนาสารเติมอาหารสัตว์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และต้นทุนสูง
  • หนทางออกที่เหมาะสมจึงยากที่จะพบได้ หากไม่มีการวิจัยแบบองค์รวม
จุลินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ 
 นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนเปิดเผยโครงการเรียกว่า "HoloFood" มีวัตถุประสงค์เพื่อพิสูจน์หาหลักฐานที่เชื่อถือได้จากร่องรอยของการทำงานของจุลินทรีย์ในร่างกายสัตว์ เพื่อช่วยให้บริษัทต่างๆสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
โครงการนี้ใช้เวลาทำงานสี่ปี ได้รับทุนสนับสนุนร่วมสามร้อยแปดสิบล้านบาทจากสหภาพยุโรปให้กับสถานบันวิจัยในสเปน นอร์เวย์ เยอรมัน และโปแลนด์
ดร. Antton Alberdi ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการวิจัย HoloFood ให้เหตุผลว่า จุลินทรีย์สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ต้องการผลิตไก่ให้มีสุขภาพดี และมีประสิทธิภาพดีขึ้น
วิธีการค้นพบพรีไบโอติกส์ และโพรไบโอติกส์ เกิดจากการทดลองแล้วล้มเหลวๆหลายครั้ง บางคนเข้าใจว่า เชื้อจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งดูเหมือนว่าจะดี ลองให้กับไก่สักหมื่นตัวดู ตามปรกติเราก็ไม่มีทางทราบได้เลยว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างภายในร่างกายสัตว์
โครงการวิจัย HoloFood เป็นการจัดการแบบองค์รวมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตอาหาร โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านอณูชีววิทยา และสรีรวิทยาจากการใช้สารเติมอาหารสัตว์กับสัตว์ที่มีพื้นฐานด้านพันธุกรรมแตกต่างกัน และเติบโตภายใต้สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไป
นักวิจัยได้ใช้ระบบการเลี้ยงสัตว์ ๒ รูปแบบ ได้แก่ ไก่ และปลาซาลมอน และจะไม่เพียงศึกษาคุณลักษณะของจีโนม ทรานส์คริปโตม และเมตาโบโลมของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น แต่ยังศึกษาต่อไปถึงปฏิสัมพันธ์ภายในนิเวศวิทยาของจุลินทรีย์อีกด้วย
ความรู้ที่ได้จะช่วยปรับกลยุทธการใช้สารเติมอาหารสัตว์ โดยการปรับแต่งให้เหมาะสมกับพื้นฐานด้านพันธุกรรม และระยะการพัฒนาการของสัตว์ รวมถึง สิ่งแวดล้อมสำหรับการผลิต เพื่อพัฒนาการผลิตอาหารทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ และความปลอดภัย รวมถึง ความยั่งยืนของการผลิตอาหาร และสวัสดิภาพสัตว์
บริษัทจะสามารถผลิตสินค้าได้ตามเป้าหมายสำหรับฟาร์มปศุสัตว์โดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถเพิ่มสัดส่วนของกล้ามเนื้อต่อไขมัน ลดความเครียดต่อสัตว์ และหยุดการติดเชื้อ
สิ่งเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญสำหรับโครงการวิจัย HoloFood หัวหน้าโครงการ และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเก้น Tom Gilbert อ้างว่า หากสัตว์ในฟาร์มใช้อาหารและยาปฏิชีวนะน้อยลง ก็จะมีของเสียที่เกิดจากโรคน้อยลง เป็นการช่วยลดภาระให้สิ่งแวดล้อม
การวิจัยทั้งหมดก็เพื่อให้ได้โปรตีนราคาถูก โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหาร เพื่อลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
ทุนวิจัยมาจากคณะกรรมการสหภาพยุโรปตามโครงการ Horizon 2020 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้
เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2019. How microbes can boost the poultry industry. [Internet]. [Cited 2019 Sep 9]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2019/9/How-microbes-can-boost-the-poultry-industry-470297E/     




ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...