วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

จำชื่อไว้นะ!!! โรคใหม่ไก่แคระแกรนนามว่า “ลูกไก่ขาว”

โรคใหม่ในไก่ลงหน้าปกหราลงในวารสารวิชาการผู้ใหญ่ใจดี Avian Pathology ฉบับแรกของปี ดาวน์โหลดฟรีได้ทั้งฉบับ แต่ถ้าอยากรู้ข้อมูลต้องอ่านเอง โรคนี้เปิดเผยครั้งแรกในการประชุมวิชาการ World Veterinary Poultry Association ครั้งที่ ๑๙ เมื่อสามปีที่ผ่านมานี้เอง เจอแล้วในหลายประเทศทั้งโปแลนด์ และล่าสุดบราซิลคู่แข่งส่งออกของไทย เรียกโรคนี้ว่า ลูกไก่ขาว (White chicks)” มองแล้วแปลกตาดี เชื่อว่า ของจริงอาจปรากฏในเมืองไทยในไม่ช้านี้เตรียมไพร์เมอร์รอได้เลยครับ
               เชื้อแอสโตรไวรัส (CAstV) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ปีกที่เรียกว่า กลุ่มอาการแคระแกรน (Runting-Stunting Syndrome, RSS) ส่งผลกระทบต่อลูกไก่อายุน้อย เชื้อ CAstV เป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปรกติในลูกไก่ที่เรียกว่า ลูกไก่ขาว (White chicks) โรงฟักบางแห่งในบราซิส รายงาน ปัญหาการฟัก การตาย และลูกไก่มีขนขึ้นเป็นสีขาว ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นที่มาของการเรียกชื่อโรคนี้ว่า ลูกไก่ขาว
               การตรวจสอบ และจำแนกคุณลักษณะระดับโมเลกุลของเชื้อแอสโตรไวรัสในลูกไก่ที่มีลักษณะผิดปรกติที่เรียกว่า “ลูกไก่ขาว” ในบราซิล ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาลูกไก่จำนวน ๓๐ ตัว ที่มีสภาพผิดปรกติ ผลการผ่าวินิจฉัยโรค พบว่า ลูกไก่มีตับ และลำไส้ขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยของเหลว และแก๊ส (๓๐ ใน ๓๐) ตับอ่อน ไต และม้าม อวัยวะอื่นๆไม่พบรอยโรค เก็บตัวอย่างลำไส้ ตับอ่อน กระเพาะแท้ กึ๋น ตับ ม้าม เบอร์ซา ไต ไทมัส ปอด หัวใจ สมอง และไข่แดง จากลูกไก่แต่ละตัวนำมาทดสอบโรค CAstV, Chicken parvovirus (ChPV), Avian nephritis virus (ANV), Avian rotavirus (ARtV), Avian reovirus (AReoV), infectious bronchitis virus (IBV) และ Fowl adenovirus group I (FAdV01) อลังการงานสร้างแผงกลุ่มอาการแคระแกรนในไก่ครบชุด พบว่า ทุกอวัยวะ และถุงไข่แดงให้ผลเป็นบวกต่อ CAstV ในระดับไตเตอร์แตกต่างกันไป และให้ผลเป็นลบต่อทุกชนิดของเชื้อไวรัสที่นำมาทดสอบก็จะบอกว่า รายนี้มีผู้ร้ายฉายเดี่ยวไม่มีใครแจม ลักษณะทางพันธุกรรมบางส่วนของยีน ORF 1b โดยใช้ 28 sequences จากบราซิลพบว่า นิวคลีโอไทด์ และกรดอะมิโนมีความคล้ายคลึงกับเชื้อที่พบในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย อย่างไรก็ตาม CAstV ที่แยกพบจากบราซิลจัดอยู่ในกลุ่มที่มีเอกลักษณ์แยกออกมาจากกลุ่มอื่นๆ บ่งชี้ว่า เชื้อไวรัส  CAstV เป็นสาเหตุของโรคลูกไก่ขาวในบราซิลครั้งนี้ เชื้อไวรัสมีการพร่กระจายไปเกือบทุกอวัยวะ รวมถึง สมอง และไข่แดง บ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสสามารถถ่ายทอดผ่านจากแม่สู่ลูกได้ (Vertical transmission)       



แหล่งข้อมูล        Nuñez LFN, Santander Parra SH, Carranza C, Astolfi-Ferreira CS, Buim MR and Piantino Ferreira AJ. 2016. Detection and molecular characterization of chicken astrovirus associated with chicks that have an unusual condition known as “white chicks” in Brazil. Poultry Science. 95 (6): 1262-1270.
แหล่งที่มาภาพ Sajewicz-Krukowska et al. (2015)

โปรไบโอติกกับคุณภาพเนื้ออกไก่

ข่าวล่าสุด แหนมโปรไบโอติกของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังลดเสี่ยงมะเร็งลำไส้ก็ออกมาแล้ว ถ้าใช้โปรไบโอติกผสมตั้งแต่ในอาหารสัตว์ ยังจะเหลือจุลินทรีย์ดีๆไว้ในผลิตภัณฑ์ หรือไก่จะมีสุขภาพดี ภูมิคุ้มกันแข็งแรง ทำให้คุณภาพเนื้ออกไก่ ชิ้นส่วนสำคัญบนชั้นวางสินค้าดีขึ้นด้วยหรือไม่ ผลการวิจัยตีพิมพ์ลงในวารสาร Poultry Science ฉบับล่าสุดพึ่งตีพิมพ์เดือนนี้เป็นการศึกษาผลการเสริมโปรไบโอติกลงในอาหาร ต่อคุณภาพของสินค้าเนื้อหน้าอกที่วางจำหน่ายบนชั้นวางสินค้าร้านขายปลีกจะเนื้อแน่นนุ่ม เก็บได้นานขึ้นหรือไม่ 
ไก่ทดลองจำนวน ๓๕ ตัว แบ่งเป็น ๓ กลุ่มการทดลอง โดยกลุ่มควบคุมไม่เสริมโปรไบโอติก อีกสองกลุ่มการทดลองให้ สปอรูลิน ๒๕๐ พีพีเอ็ม และโพลทรีสตาร์ ๕๐๐ พีพีเอ็ม พบว่า กลุ่มทดลองที่เสริมโปรไบโอติกไม่มีผลต่อการแลกเปลี่ยนอาหาร และน้ำหนักตัวทั้งที่อายุ ๒๙ และ ๔๔ วัน (p>0.05)  ภายหลังเข้าโรงฆ่า นำตัวอย่างหน้าอกไก่ (กล้ามเนื้อ เพคโตราลิส เมเจอร์) เก็บเป็นเวลา ๑ หรือ ๕ วัน พบว่า เนื้อไก่จากไก่ที่เสริมโปรไบโอติกไม่ได้มีอิทธิพลต่ออัตราการลดของ pH ของเนื้อหน้าอกไก่ระหว่างการเก็บตั้งแต่ ๖ ชั่วโมง (p>0.05) ไม่พบความแตกต่างระหว่างคุณภาพของเนื้อระหว่างกลุ่มที่ให้ และไม่ให้โปรไบโอติก (p>0.05) ปัญหา Drip loss ภายหลังการเก็บรักษาลดลงจาก ๒๕.๓ เหลือ ๑๘.๐๕ เปอร์เซ็นต์ (p>0.05)   กลุ่มทดลองที่ให้โพลทรีสตาร์ มีดัชนีการแตกของเส้นใยกล้ามเนื้อมากกว่ากลุ่มควบคุม (p>0.05)   อย่างไรก็ตาม ค่าแรงฉีกไม่มีความแตกต่างกัน สี และความเสถียรของลิปิดในกล้ามเนื้อหน้าอกลดลงระหว่างการแสดงสินค้าบนชั้นวาง (p<0.05) แต่ไม่มีผลจากการใช้โปรไบโอติก (p>0.05) ผลการทดลองครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การเสริมโปรไบโอติกไม่มีผลต่อการย่อยสลายโปรตีน และ Oxidative changes ระหว่างการแสดงสินค้าไว้เป็นเวลา ๕ วัน    

แหล่งข้อมูล        Kim HW, Yan EF, Hu JY, Cheng HW and Kim YHB. 2016. Effects of probiotics feeding on meat quality of chicken breast during postmortem storage. Poultry Science. 95(6): 1457-1464.

สำเร็จแล้ว!!! การแยกเพศตั้งแต่ในไข่ฟัก

เทคโนโลยีการแยกเพศตั้งแต่ในไข่ฟักจะแพร่หลายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ภายหลังการตัดด้วยเลเซอร์ แล้วยกเปลือกไข่บางส่วนออกก่อนที่จะวิเคราะห์โดยสเปคโตรโฟโตมิเตอร์ที่ห้องปฏิบัติการ Carl gustav Carus คณะแพทยศาสตร์ของสถาบัน Dresden Institue of Technology (TU Dresden) แห่งเยอรมัน และมหาวิทยาลัย Leipzig ใช้สเปคโตรสโคปีเพื่อตรวเพศของลูกไก่ในไข่ฟัก หากประสบความสำเร็จก็จะเป็นก้าวสำคัญที่โรงฟักจะยกเลิกกิจวัตรประจำวันบางประการเพื่อทำลายลูกไก่เพศผู้อายุ ๑ วัน ที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญกระตุ้นกลุ่มผู้บริโภคขึ้นมาประท้วงต่อต้าน

พลังกดดันให้ผู้ผลิตแยกเพศตั้งแต่ในไข่
               พลังกดดันที่เข้มแข็งในเยอรมัน โดยกระทรวงเกษตรแห่งเยอรมันได้ให้เงินสนับสนุนกว่า ๑๒๐ ล้านบาท เพื่อสนับสนุนงานวิจัยการแยกเพศลูกไก่ในไข่ฟักผลักดันให้ไปสู่การพาณิชย์ให้ได้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาก กระทรวงเกษตรแห่งฝรั่งเศสก็ได้ประกาศทุนสนับสนุนกว่า ๑๒๐ ล้านบาทเช่นเดียวกัน
               โครงการวิจัยใช้ลำแสงเลเซอร์ตัดช่องกลมขนาดเล็กที่ส่วนยอดของฟองไข่ แล้วใช้กล้องสเปคโครสโคปีแบบใกล้คลื่นอินฟาเรดเพื่อตรวจหาเพศของลูกไก่โดยอาศัยปริมาณดีเอ็นเอ สำหรับไก่เพศผู้จะมีประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์ โดยการใช้ตาเปล่า มนุษย์ไม่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างเพศผู้ และเพศเมีย แต่ด้วยคอมพิวเตอร์สามารถช่วยได้ หากมีการออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้ทำงานได้สำเร็จ ปัจจุบัน คณะผู้วิจัยสามารถแยกเพศจากไข่ฟักได้โดยมีความแม่นยำสูงถึง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เวลาไม่ถึงนาที หากไข่ฟักมีลูกไก่เพศเมีย เลเซอร์ก็จะปิดรูที่ตัดไว้ แล้วนำกลับคืนเข้าสู่ตู้บ่ม เครื่องจักรสำหรับการแยกเพศอัตโนมัตินี้คาดว่าจะนำไปใช้งานจริงปีหน้า   
               ที่ปรึกษาโครงการฟาร์มของ NFU ในสหราชอาณาจักรนาม แกรี ฟอร์ด กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับงานวิจัยที่กำลังพัฒนาอยู่หลายแห่งทั่วโลกในการแสวงหาวิธีการแยกเพศของตัวอ่อนในไข่ฟัก ตอนนี้กำลังเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิดในวงการวิชาการ ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยชาวคานาดาสามารถตรวจสอบเพศตัวอ่อนได้โดยมีความแม่นยำสูงถึง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ โดยมีประสิทธิภาพการทำงานได้ ๓,๐๐๐ ถึง ๕,๐๐๐ ฟองต่อชั่วโมง

เทคโนโลยีที่น่าตื่นตาตื่นใจ
               เทคโนโลยีนี้คาดว่าจะมีการใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริงในอีก ๑๒ เดือนข้างหน้า โดยไม่มีต้นทุนสำหรับแรงงานอีกต่ไป เนื่องจาก ไข่ฟักจะถูกแยกจากกันโดยเครื่องจักร และสามารถตรวจสอบไข่ฟักที่ไม่มีเชื้อได้พร้อมกัน ดังนั้น เทคโนโลยีนี้จึงเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างแท้จริง นอกจากนั้น แกรี ฟอร์ด ยังเน้นว่า ไข่ฟักที่มีลูกไก่เพศผู้จะไม่ใช่ของเสียที่ทิ้งไปเฉยๆอีกต่อไป แต่จะนำมาใช้เป็นผลผลิตข้างเคียง โดยนำไปใช้เลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน และแรพเตอร์ในสวนสัตว์ อย่างไรก็ตาม องค์กรพิทักษ์สัตว์ได้กล่าวว่า ขณะที่ การสิ้นสุดคัดทิ้งลูกไก่เพศผู้กำลังก้าวหน้าต่อไป แต่ก็ไม่ใช่จะทำให้ไข่ฟักกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกจริยธรรมได้ การคัดทิ้งลูกไก่เพศผู้เป็นประเด็นที่อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกไม่สามารถละเลยได้
โดย McDougal T. 2016. Commercial poultry embryo sexing a step close.


ภาพที่ ๑ ไข่ฟักภายหลังการตัดด้วยลำแสงเลเซอร์ แล้วเปิดเปลือกไข่ที่ถูกตัดออกเพื่อนำมาวิเคราะห์โดยเครื่องสเปคโตรมิเตอร์ที่ห้องปฏิบัติการ Carl Gustav Carus คณะแพทยศาสตร์แห่งสถาบัน Dresen Institute of Technology (TU Dresden)/ AFP

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

การจัดการอาหารสัตว์ เพื่อลดการสูญเสียสังกะสี และทองแดง

สังกะสี และทองแดง เป็นแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของร่างกาย และมีความจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม แร่ธาตุเหล่านี้สามารถขับถ่ายลงในมูลไก่ และสะสมจนมีระดับสูงตกค้างในดิน เป็นปัญหาที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการด้านอาหารสัตว์สามารถช่วยลดผลกระทบเหล่านี้ได้
               วิธีการหนึ่งสำหรับลดปริมาณสังกะสี และทองแดงในอาหารสัตว์คือ การลดปริมาณของแร่ธาตุเหล่านี้ผสมในพรีมิกซ์ โดยเฉพาะ ในอาหารระยะสุดท้ายของไก่เนื้อ การหยุดการสะสมของสังกะสี และทองแดงในดินจำเป็นต้องกระทำ ๒ สิ่ง ได้แก่ ลดปริมาณมูลสัตว์ที่กระจายลงสู่พื้นดิน อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้อาจไม่เพียงพอ อีกวิธีหนึ่งคือ การลดปริมาณของสังกะสี และทองแดงในอาหารสัตว์ โดยทั่วไป ความต้องการสำหรับสังกะสี และทองแดงที่เติมลงในอาหารสัตว์มักเกินความจำเป็น ปริมาณแร่ธาตุที่มากเกินไปเหล่านี้จะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แต่จะผ่านทางเดินอาหาร แล้วขับถ่ายลงสู่มูลสัตว์
               สังกะสี และทองแดง มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และต่อแร่ธาตุอื่นๆ เพื่อลดระดับของสังกะสี และทองแดงในอาหารสัตว์เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทราบความต้องการของไก่ที่แท้จริง เอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความต้องการที่แท้จริงของสังกะสี และทองแดงแตกต่างกันค่อนข้างมาก บ่งชี้ว่า ความต้องการที่แท้จริงของแร่ธาตุทั้งสองยังไม่ทราบแน่ชัด การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแร่ธาตุที่ผสมในอาหารสัตว์มีน้อยมากเปรียบเทียบกับความต้องการพลังงาน และกรดอะมิโน เนื่องจาก การเติมแร่ธาตุในอดีตไม่ได้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญที่ต้องนำมาพิจารณามากนัก และมีช่วงความปลอดภัยที่กว้างมาก เพื่อให้ผลการเลี้ยงที่ดี นอกเหนือจากนั้น การกำหนดความต้องการยังขึ้นกับปัจจัยที่ผู้วิจัยเลือกศึกษา เช่น อัตราการแลกเปลี่ยนอาหาร การเจริญเติบโต หรือมวลของไข่ไก่ นอกจากนั้น ความต้องการของไก่ยังขึ้นกับอายุ สุขภาพ ความเครียด และสารอาหารประเภทอื่นๆ รวมถึง สิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า สังกะสี และทองแดงมีฤทธิ์ทำปฏิกิริยาต่อกัน และต่อแร่ธาตุอื่นๆที่รุนแรงมาก หากให้สังกะสีในอาหารสัตว์ระดับสูงก็จะเหนี่ยวนำให้ขาดทองแดง โดยแร่ธาตุทั้งสองมีฤทธิ์แย่งกันดูดซึมเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตามแม้ว่า ระดับความต้องการที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปริมาณของสังกะสี และทองแดงที่อนุญาตให้เติมในอาหารสัตว์ปีกภายในสหภาพยุโรปก็ค่อนข้างสูงกว่าความจำเป็นของไก่ ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปอนุญาตให้เติมได้ไม่เกินระดับความปลอดภัย (Safety margin) เพื่อให้มั่นใจว่าจะครอบคุมความต้องการของสัตว์อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น สังกะสีก็กำหนดไว้สูงกว่าความต้องการสองเท่ากล่าวได้ว่า ยังมีช่องว่างระหว่างระดับที่จำเป็น และที่อนุญาตไว้กว้างมาก การทำความเข้าใจระดับความต้องการที่แท้จริงของสัตว์จะเป็นประโยชน์มากต่อการลดระดับการเติมสังกะสี และทองแดงในอาหารสัตว์ลงได้

ตารางที่ ๑ ความต้องการสังกะสี และทองแดง โดยอาศัยการวิเคราะห์แบบ Meta-analysis และระดับที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้สำหรับสังกะสี และทองแดงในเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ
ชนิดสัตว์
ระดับความต้องการ
ระดับที่สหภาพยุโรปอนุญาต
สังกะสี
ทองแดง
สังกะสี
ทองแดง
ไก่เนื้อ (ppm)
74
6
150
25
ลูกสุกรแรกเกิดถึง 12 สัปดาห์ (ppm)
>67
4
150
170
สุกรโตเต็มวัย (ppm)
>67
4
150
25
ลูกโค (ppm)


200
15
โคโตเต็มวัย (ppm)
>25
21
150
35
หมายเหตุ             ระดับความต้องการใช้แร่ธาตุดัดแปลจาก Jongbloed และคณะ (๒๐๐๔) และระดับที่สหภาพยุโรปอนุญาตอ้างอิงมาจาก EFSA Jounal
               แนวทางการลดแร่ธาตุในอาหารสัตว์คือ การวิจัยหาความต้องการที่แท้จริงของสัตว์ แล้วลดปริมาณการเติมสังกะสี และทองแดงลงในพรีมิกซ์ โดยเฉพาะ ในอาหารไก่เนื้อระยะสุดท้าย เนื่องจาก ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บรักษาแร่ธาตุเหล่านี้ไว้ใช้ในระยะต่อไปอีกแล้ว โดยแนะนำให้ใช้ปริมาณสังกะสีลดเหลือเพียงครึ่งหนึ่งคือ จาก ๑๐๐ พีพีเอ็มเหลือ ๕๐ พีพีเอ็ม และทองแดงเหลือจาก ๑๕ พีพีเอ็มเหลือ ๗.๕ พีพีเอ็มเท่านั้น โดยไม่มีผลกระทบต่อการเลี้ยงไก่เนื้อตั้งแต่อายุ ๐ ถึง ๓๗ วัน  อีกวิธีการหนึ่งในการลดปริมาณทองแดง และสังกระสีในอาหารสัตว์คือ การเพิ่มความสามารถในการนำไปใช้ประโยชน์ได้จากคุณสมบัติของแร่ธาตุในรูปอินทรีย์ และอนินทรีย์ แร่ธาตุจากแหล่งอนินทรีย์ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของออกไซด์ ซัลเฟต คลอไรด์ และคาร์บอเนต แหล่งแร่ธาตุในรูปอนินทรีย์เรียกว่า คีเลต (Chelates)” สามารถจับกับไลแกนด์ที่เป็นอินทรีย์ ได้แก่ สารผสมของกรดอะมิโน หรือเปปไทด์ขนาดเล็ก การนำไปใช้ประโยชน์ของสังกะสีในรูปอินทรีย์ได้มากกว่าอนินทรีย์กว่า ๑๕๐ เปอร์เซ็นต์ในสัตว์ปีกจากการประเมินผลโดยอาศัยการตรวจวัดปริมาณสังกะสีจากกระดูกต้นขา ส่วนทองแดงในรูปอินทรีย์เปรียบเทียบกับอนินทรีย์อาจไม่เห็นผลชัดเจนเท่าสังกะสี การใช้ประโยชน์ของคีเลตทองแดงสูงกว่าคอปเปอร์ซัลเฟต ๑๑๒ เปอร์เซ็นต์โดยอาศัยการตรวจวัดปริมาณทองแดงในตับ ซึ่งสามารถเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นพิษของทองแดงได้ ขณะเดียวกัน การใช้สังกะสี และทองแดงร่วมกันจะไม่เกิดการแข่งขันกันในการดูดซึมเข้าสู่ทางเดินอาหาร ขณะที่ แร่ธาตุในรูปอนินทรีย์จะเกิดการแข่งขันกันดังกล่าวมาแล้ว
               ดังนั้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังกะสี และทองแดง ดังกล่าว สามารถพบได้ต่อเมื่อใช้แร่ธาตุทั้งสองในรูปอนินทรีย์ แต่ไม่พบเมื่อใช้แร่ธาตุชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นรูปอินทรีย์ การใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้นของสังกะสี และทองแดงในรูปอินทรีย์เป็นที่น่าสนใจมาก โดยช่วยลดการเติมแร่ธาตุทั้งสองลในอาหารสัตว์ จึงทำให้การขับออกลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อการผลิตก็อาจพบได้ แต่ไม่แน่นอน ในไก่เนื้อ ผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัว แต่ไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหาร เมื่อใช้แร่ธาตุในรูปอินทรีย์แทนที่อนินทรีย์  ในไก่ไข่ ความแข็งแรงของเปลือกไข่ และความหนาของเปลือกไข่จะดีขึ้นโดยการใช้แร่ธาตุในรูปอินทรีย์แทนที่อนินทรีย์ ทำให้เป็นที่น่าสนใจในการใช้ในไก่อายุมาก ในไก่พันธุ์ไข่ แร่ธาตุในรูปอนินทรีย์ช่วยเพิ่มผลผลิตไข่ประมาณ ๔.๑ เปอร์เซ็นต์ และอัตราการฟักได้เพิ่มขึ้นอีก ๔.๙ เปอร์เซ็นต์

การใช้เอนไซม์ไฟเตส
               วิธีที่สามที่ช่วยลดปริมาณสังกะสี และทองแดงในอาหารสัตว์คือ การใช้เอนไซม์ไฟเตสที่นิยมผสมในอาหรสัตว์ เพื่อช่วยให้การประโยชน์จากฟอสฟอรัสที่ถูกจับกับไฟเตต (Phytate-bound phosphorus) อย่างไรก็ตาม สารอาหารประเภทอื่นๆ ได้แก่ กรดอะมิโน กรดไขมัน และแร่ธาตุ เช่น สังกะสี และทองแดง ก็สามารถจับไฟเตตไว้ได้ การเติมไฟเตสในอาหารสัตว์จึงมิใช่เพียงช่วยให้การใช้ประโยชน์ฟอสฟอรัสได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยให้สารอาหารประเภทอื่นๆถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นอีกด้วย ผลการศึกษามากมาย แสดงให้เห็นว่า เมื่อผสมไฟเตสในอาหารไก่เนื้อแล้ว จะช่วยให้การเก็บรักษาสังกะสี ทองแดง และแร่ธาตุอื่นๆ ได้สูงขึ้น โดย EFSA ระบุไว้ว่า การใช้ไฟเตสในอาหารสุกรสามารถลดปริมาณสังกะสีสูงสุดในอาหารสำเร็จรูปได้ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่า ผลดีดังกล่าวก็จะพบในอาหารสัตว์ปีกด้วยเช่นเดียวกัน

บทสรุป
               ระดับของสังกะสี และทองแดงในอาหารสัตว์สามารถลดลงได้โดยการเพิ่มความสามารถในการใช้ประโยชน์ได้ ก่อนอื่นต้องระลึกไว้เสมอว่า สังกะสี และทองแดง เป็นสารอาหารที่จำเป็น และต้องเสริมลงในอาหารสัตว์ สหภาพยุโรปกำหนดให้ใช้สังกะสี และทองแดงในอาหารสัตว์ในระดับที่สูงกว่าความต้องการของสัตว์ ดังนั้น สังกะสี และทองแดงในอาหารสัตว์ สามารถลดลงได้โดยการเพิ่มความสามารถในการใช้ประโยชน์ได้ โดยการผสมเอนไซม์ไฟเตส เพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์ได้ของสังกะสี และทองแดงที่จับกับไฟเตต นอกเหนือจากนั้น ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นได้อีกโดยการใช้สังกะสี และทองแดงในรูปอินทรีย์แทนที่อนินทรีย์ แร่ธาตุในรูปอินทรีย์อาจมิได้เพิ่มผลผลิตได้เสมอไป แต่จะช่วยให้การใช้ประโยชน์ได้สูงขึ้น ส่งผลให้การเก็บรักษาสูงขึ้น และลดการขับแร่ธาตุออกจากร่างกาย

               ผลการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยที่นำเสนอระหว่างการประชุมวิชาการเฉพาะกลุ่มด้านโภชนาการสัตว์ปีกในสหภาพยุโรปที่จัดโดยบริษัทโนวัส ณ กรุงปราก เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘

แหล่งที่มาของภาพ Jan Willem Schouten


















 

ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...