วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2565

สถานการณ์ไข้หวัดนก พฤศจิกายน ๒๕๖๕

 เกาหลีใต้เตรียมรับมือการระบาดโรคไข้หวัดนก และการระบาดได้แพร่กระจายไปในอินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และทางตะวันออกของรัสเซีย

แม้ว่าจะกำหนดมาตรการควบคุมภายหลังสงสัยการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง เกาหลีใต้ยังรายงานการระบาดใหม่ของโรคที่สัมพันธ์กับเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ แวเรียนต์ นับตั้งแต่การอุบัติใหม่เกิดขึ้นในฝูงสัตว์ปีกภายในประเทศในช่วงกลางเดือนตุลาคม รายงานยืนยันโรคต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organisation for Animal Health, WOAH) ยังเพิ่มขึ้นอีก ๓ ครั้งแล้ว  อ้างอิงรายงานของกระทรวงเกษตร ยอดรวมการระบาดทั้งหมดภายในประเทศเป็น ๑๓ ครั้งใน ๕ จังหวัดในฟาร์มเป็ดเนื้อ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ ไก่พันธุ์ และนกกระทา

               เกาหลีใต้จึงอยู่ภายใต้วิกฤติการระบาดของโรคไข้หวัดนก กระทรวงเกษตรได้ประกาศมาตรการเพิ่มการป้องกันโรคโดยการกำจัดสัตว์ปีกที่ได้รับการยืนยันโรคแล้ว ในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อโรค สัตว์ปีกทั้งหมดภายในรัศมี ๕๐๐ เมตรจากพื้นที่ระบาดจะถูกทำลายทั้งหมด รวมถึง สัตว์ปีกที่เลี้ยงในฟาร์มทั้งหมด นอกเหนือจากไก่เนื้อเป็นรัศมี ๕๐๐ เมตรถึง ๑ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดทางตอนกลางถึงใต้ของเมืองช็องจู ที่พึ่งเกิดการระบาดไปหลายครั้ง และพื้นที่ใกล้เคียงกับนกอพยพ พื้นที่ทั้งหมดของเกาหลีใต้ สัตว์ปีกทั้งหมดภายใน ๕๐๐ เมตรที่ยืนยันการระบาดโรคแล้วจะถูกทำลาย ขณะที่ เป็ดทั้งหมดถูกฆ่าภายในรัศมี ๑ กิโลเมตรรอบพื้นที่ระบาด นอกจากนั้น ยังเร่งตรวจสอบสัตว์ปีก และสิ่งสงสัยจากฟาร์มสัตว์ปีก เพื่อให้มั่นใจในมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเข้มงวด

ญี่ปุ่นยืนยันโรคห้าฟาร์ม

               ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นรายงานโรคเป็นครั้งแรกในรอบฤดูปี ๒๕๖๕ ถึง ๒๕๖๖ กระทรวงเกษตรได้รายงานอย่างเป็นทางการต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลกแล้ว ๕ ครั้ง จำนวนสัตว์ปีกทั้งหมด ๑.๙๔ ล้านตัว สี่ฟาร์มเป็นไก่ไข่ และอีกหนึ่งฟาร์มเป็นไก่เนื้อ การระบาดไม่ได้จำกัดเพียงพื้นที่เดียว แต่ยังพบในจังหวัดต่างๆตั้งแต่เกาะทางตอนเหนือสุดของประเทศ ฮอกไกโดไปจนถึงชิโกกุ ตามชายฝั่งตอนใต้ของเมืองฮอนชู

               นับตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายนเป็นต้นมา ยังมีการระบาดของโรคต่อเนื่อง โดยล่าสุดเป็นไก่เนื้อในฮอกไกโดจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ ตัว และไก่ไข่ ๓๔,๐๐๐ ตัวในจังหวัดโอกายามา และสัตว์ปีกอีกหลายชนิดในทางภาคกลางทางตอนใต้ของฮอนชู การระบาดครั้งล่าสุดยืนยันแล้วในฟาร์มไก่ไข่ ๔๔,๐๐๐ ตัวในเมืองเฮียวโงะ การระบาดครั้งที่ ๙ นี้ ทำให้รวมแล้วมี ๖ จังหวัดของญี่ปุ่นที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกมากกว่าหนึ่งครั้งตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  

อินเดียรายงานโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในรัฐทางตอนใต้

ในเมืองอลัปปูชาของรัฐเกรละ พบเป็ด ๒,๐๐๐ ตัวจาก ๑๘,๐๐๐ ตัวในสองฝูงตาย ก่อนหน้านี้ โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง เอช ๕ เอ็น ๑ พบเป็นครั้งสุดท้ายตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๖๓ ผ่านมาแล้วสองปี อย่างไรก็ตาม รายงานการระบาดทั้งหมด ๒๐ ครั้งครอบคลุมสัตว์ปีกของรัฐมากกว่า ๑๖๙,๐๐๐ ตัว ตามรายงานต่อองค์กรสุขภาพสัตว์โลกในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมปีที่แล้ว 

               ล่าสุดยังเกิดระบาดในเมือง Onmanorama ในฟาร์มเป็ด ๘,๐๐๐ ตัว นับเป็นหมู่บ้านที่สามแล้วของเมืองอลัปปูชา ที่มีการทำลายสัตว์ โดยมีที่ตั้งอยู่ในรัศมี ๑ กิโลเมตรรอบพื้นที่สัตว์ปีกตายที่ให้ผลบวกต่อโรคไข้หวัดนก นับตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม มีรายงานแล้วว่า สัตว์ปีกเกือบ ๒๐,๕๐๐ ตัว ถูกทำลายในอีกสองหมู่บ้าน

โรคไข้หวัดนกกลับสู่ภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย

               หลังจากห่างหายไปสองเดือน โรคไข้หวัดนกตรวจพบอีกครั้งในดินแดนฮาบารอฟสค์ รัฐทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สัตว์ปีกตายมากกว่า ๖๖,๐๐๐ ตัวจาก ๕๒๓,๐๐๐ ตัวในฟาร์ม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ สัตว์ปีก ๒๒๗,๐๐๐ ตัวในฟาร์มแถวซาคาลินให้ผลเป็นบวกต่อเชื้อไวรัสแวเรียนต์ชนิดเดียวกัน โดยมีสัตว์ปีกตาย ๑๙,๐๐๐ ตัว และทำลายไป ๔๑,๐๐๐ ตัว

               ชายฝั่งทางตะวันออกของรัสเซีย ซาคาลินเป็นเกาะที่อยู่ทางตอนเหนือของหมู่เกาะญี่ปุ่น

เวียดนามสูญเสียจากโรคไข้หวัดนก

               ตลอดปีนี้ สัตว์ปีกมากกว่า ๙๓,๐๐๐ ตัวในเวียดนามถูกทำลายเนื่องจากโรคไข้หวัดนก อ้างอิงตามสำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่า ๒๑ จังหวัดของเวียดนาม เกิดการระบาดด้วยโรคไข้หวัดนกแล้ว ๔๑ ครั้ง จากเชื้อไวรัสแวเรียนต์ สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๑ เอช ๕ เอ็น ๖ และ เอช ๕ เอ็น ๘ ในปีนี้

               ต่อจากนี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในเวียดนามเตือนความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนกในระดับสูง ทั้งนี้เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการรอดชีวิต และแพร่กระจายของเชื้อไวรัส รวมถึง การให้วัคซีนสัตว์ปีกที่น้อยลง

               หน่วยงานสุขภาพสัตว์เวียดนามรายงานต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) ถึงการระบาดใหม่ของโรคไข้หวัดนก ๑๓ ครั้งที่เชื่อมโยงกับซีโรไทป์เอช ๕ เอ็น ๑

สถานการณ์โรคในอาฟกานิสถาน และเนปาลคลี่คลาย

               ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน หน่วยงานสัตวแพทย์แจ้งปิดรายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ดังนี้

               ในอาฟกานิสถาน พบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๑ เป็นครั้งแรกตั้งแต่มกราคม ๒๕๖๑ ในฟาร์มที่มีสัตว์ปีกจำนวน ๕๔,๐๐๐ ตัว โดยไม่มีรายงานเพิ่มเติม จึงรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้วในเดือนกันยายนปีถัดมา

ในเนปาล หน่วยงานสัตวแพทย์รายงานโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง ๓๔ ครั้งจากสับไทป์เอช ๕ เอ็น ๑ ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ๒๕๖๕ ส่งผลให้สัตว์ตาย หรือทำลายรวมแล้ว ๒๗๕,๐๐๐ ตัวในสี่ภูมิภาคทั้งตะวันออก กลาง กลางตอนตะวันตก และตะวันตก อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสัตวแพทย์ได้แจ้งปิดรายงานการระบาดแล้ว

สถานการณ์ในนกป่าเอเชีย

               นับเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบซีโรไทป์ เอช ๕ เอ็น ๒ ในญี่ปุ่น ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อีกาป่าให้ผลบวกต่อเชื้อไวรัสนี้ในซัปโปโร เกาะทางตอนเหนือของฮอกไกโด ขณะเดียวกัน ในเกาะญี่ปุ่น ฮอนชู ยังพบนกป่ามากกว่า ๓ ตัวในพื้นที่ต่างกันให้ผลบวกต่อเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑

               ในทางตะวันตกของเอเชีย รายงานการระบาดก่อนหน้านี้ได้แจ้งปิดแล้วในอาฟกานิสถาน และคาซัคสถาน จากการรายงานต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลกก่อนหน้านี้ ฝูงกาในอาฟกานิสถานให้ผลบวกต่อเชื้อไวรัสเอช ๕ ช่วงปลายปี ๒๕๖๐ และกันยายน ๒๕๖๒ ก็ได้แก้ไขปัญหาการระบาดเรียบร้อยแล้ว

               ในเดือนมิถุนายนปีนี้ นกป่า ๒ ตัวที่ตายในทะเลแคสเปียนให้ผลบวกต่อเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกัน ตามรายงานของหน่วยงานสัตวแพทย์คาซัคสถาน หลังจากนั้นไม่มีรายงานเพิ่มเติมจึงปิดการรายงาน  

เอกสารอ้างอิง

Linden J. 2022. South Korea steps up avian flu countermeasures. [Internet]. [Cited 2022 Nov 17]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/46198-south-korea-steps-up-hpai-control-measures

ภาพที่ ๑ เกาหลีใต้เตรียมรับมือการระบาดโรคไข้หวัดนก และการระบาดได้แพร่กระจายไปในอินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และทางตะวันออกของรัสเซีย (แหล่งที่มาของภาพ Badboo | Bigstock)



วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2565

บันได ๕ ขั้นควบคุมซัลโมในฟาร์ม

 กลยุทธ์การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องที่นิยมใช้กัน “Plan-Do-Chcck-Act” ยังคงเป็นพื้นฐานที่สำคัญ

กลยุทธ์การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องสามารถช่วยให้ผู้ผลิตสามารถจัดการความเสี่ยงต่อเชื้อ ซัลโมเนลลา ในการผลิตสัตว์ปีกได้ดีขึ้น เริ่มต้นจากการตรวจติดตามเชื้อแบคทีเรียในฝูงสัตว์ปีกเพิ่มขึ้น และใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนเพื่อตรวจวัด และควบคุมปริมาณเชื้อ ซัลโมเนลลา ในฟาร์ม โดยใช้กลยุทธ์พื้นฐาน “Plan-Do-Chcck-Act” เชื้อ ซัลโมเนลลา ในสัตว์ปีกกำลังถูกควบคุมอย่างเข้มข้น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หน่วยตรวจสอบและความปลอดภัยอาหาร หรือเอฟซิส เพิ่งเปิดเผยร่างโครงการรควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา ในผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก

เชื้อ ซัลโมเนลลา ในสัตว์ปีก มักจะไม่แสดงอาการเป็นส่วนใหญ่ โครงการนี้เป็นเสมือนเคราะห์ซ้ำ กรรมซัดสำหรับการผลิตสัตว์ปีก เมื่อพิจารณาจากธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต สัตว์ปีกเป็นโฮสต์ที่ดีของเชื้อ แต่มนุษย์ไม่ใช่โฮสต์ที่ดีของเชื้อ ซัลโมเนลลา กลยุทธ์การพัฒนาอย่างต่อเนื่องสำหรับการควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา สามารถแยกย่อยได้เป็นบันได ๕ ขั้น

๑.     เก็บตัวอย่าง และทดสอบเชื้อ ซัลโมเนลลา ในเชิงปริมาณ ยิ่งทราบถึงระดับซีโรไทป์ของเชื้อ ซัลโมเนลลา ที่พบในการผลิตสัตว์ปีกก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการควบคุมเชื้อในฟาร์ม เทคโนโลยีใหม่ เช่น พีซีอาร์เชิงปริมาณ เอ็มพีเอ็น และมินิ เอ็มพีเอ็น ช่วยให้ง่ายต่อการตรวจวัดเชิงปริมาณเชื้อ ซัลโมเนลลา ในฝูงสัตว์ปีก การทดสอบ และเก็บตัวอย่างควรดำเนินการที่ฟาร์ม ได้แก่ บู๊ทสวอบ (boot covers) สวอบจากสิ่งแวดล้อม หรือที่โรงงาน ได้แก่ น้ำล้างซากก่อนการลวก หรือไส้ตัน เป็นต้น

๒.    ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลพื้นฐาน ขั้นตอนถัดมาสำหรับกลยุทธ์การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทีมการจัดการควรทบทวนมาตรฐานข้อมูลพื้นฐานที่สามารถยอมรับได้สำหรับเชื้อ ซัลโมเนลลา ในกระบวนการผลิต เพื่อให้กำหนดข้อมูลที่ผิดปรกติร่วมกัน และเป็นที่ยอมรับภายในทีม

๓.    กำหนดเกณฑ์การยอมรับ เมื่อผู้ผลิตรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่เกิดขึ้นภายในระบบเรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวสำหรับกำหนดเกณฑ์การยอมรับ และเฝ้าระวังเชื้อหากผลการตรวจเกินกว่าเกณฑ์ดังกล่าว ข้อมูลที่ดีต้องมาจากการเก็บตัวอย่างจำนวนมากเพียงพอ โดยกำหนดแผนสำหรับการทดสอบเชื้อ ซัลโมเนลลา อย่างสม่ำเสมอ

๔.    ค้นหาสาเหตุของการพบเชื้อ เมื่อพบว่าผลการตรวจเชื้อเกินกว่าเกณฑ์ สิ่งสำคัญคือ ค้นหาสาเหตุ และต้นตอของปัญหาให้ได้ การตรวจประเมินตามหลักการจัดการที่ดี เพื่อป้องกัน หรือลดเชื้อ ซัลโมเนลลา ในฟาร์มเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยเตรียมเช็กลิสต์ ควรครอบคลุมถึง มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ การจัดการสัตว์พาหะ การจัดการวัสดุรองพื้น และน้ำ และสุขภาพสัตว์

๕.    ปฏิบัติตามแผน และติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อพบแหล่งต้นตอของปัญหาแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะควบคุมเชื้อให้ได้ เช่น กำหนดมาตรการลดความชื้นวัสดุรองพื้น การกำจัดสัตว์พาหะ และการให้วัคซีนป้องกันเชื้อ ซัลโมเนลลา    

เอกสารอ้างอิง

Doughman E. 2022. 5 steps to data-driven preharvest Salmonella control. [Internet]. [Cited 2022 Nov 18]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/46222-5-steps-to-data-driven-preharvest-salmonella-control#:~:text=A%20continuous%20improvement%20strategy%20for%20Salmonella%20control%20can,5%205.%20Implement%20a%20plan%20and%20follow%20through

ภาพที่ ๑ บันได ๕ ขั้นควบคุมซัลโมในฟาร์ม (แหล่งที่มาของภาพ y Festa I Shutterstock.com)



วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ระบบตรวจสอบไก่ขาพิการโดยใช้สมาร์ทฟาร์ม

 ปัญหาขาพิการเป็นโรคสำคัญที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพสัตว์ และผลกำไรของผู้ผลิตสัตว์ปีก แม้ว่า ปัญหาขาพิการจะพบได้บ่อยในระบบการผลิตไก่เนื้อ แต่การตรวจสอบที่ยังไม่น่าเชื่อถือ และความผิดปรกติของท่าทาง และเกณฑ์การประเมินด้านมาตรฐาน การตรวจสอบไก่ขาพิการแบบอัตโนมัติ เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการสำรวจสภาพของสัตว์ภายในโรงเรือน  

เพื่อป้องกันความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ การตรวจสอบไก่ขาพิการ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และมีความแม่นยำ เพื่อการจัดการอย่างเหมาะสมต่อไปมีความจำเป็นอย่างมาก วิธีการประเมินปัญหาขาพิการที่นิยมมากที่สุดเป็นการให้คะแนนด้วยสายตา เป็นวิธีการที่ง่าย และราคาถูกที่สุด แต่ก็มีข้อเสียคือ ต้องใช้เวลา และสูญเสียแรงงานอย่างมาก รวมถึง ยังมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ เนื่องจาก ข้อจำกัดเกี่ยวกับการประเมินด้วยสายตาของมนุษย์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น วิธีการตรวจสอบปัญหาขาพิการแบบอัตโนมัติ ซึ่งไม่ได้พึ่งพาแค่สายตามนุษย์ที่มีประสบการณ์และความคิดเห็นแตกต่างกัน อาจจะช่วยให้การตรวจสอบไก่ขาพิการมีความแม่นยำเพิ่มขึ้น

ปัญหาขาพิการในไก่เนื้อ      

               ปัญหาขาพิการ หมายถึง ท่าทางการเดินและยืนที่เบี่ยงเบนจากปรกติ มีสาเหตุมาจากรอยโรค โรค และปัจจัยอื่นๆ เช่น พันธุกรรม โภชนาการ ระบบโรงเรือนและการจัดการ อย่างไรก็ตาม ปัญหาขาพิการยังถูกใช้ครอบคลุมสภาวะความผิดปรกติอื่นๆด้วย เช่น ปัญหาที่เท้า และขาของไก่ ความผิดปรกติของโครงสร้าง ขาพิการ ไม่ตอบสนอง บาดเจ็บ และฝีหนองตามปีกและขา ปัญหาขาพิการ อาจปรากฏขึ้น เนื่องจาก ข้อต่อหลายแห่งได้รับผลกระทบ และส่งผลให้สัตว์เกิดความเจ็บปวด ไม่สบาย การเคลื่อนที่ลดลง และลดความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ปัญหาขาพิการยังเป็นสิ่งบ่งชี้ถึง สวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่ดี ความชุกของปัญหาขาพิการอาจพบได้ระหว่างร้อยละ ๑๔.๑ ถึง ๕๗ ผลกระทบโดยตรง ได้แก่ เพิ่มแรงงาน การให้ยา ผลต่อประสิทธิภาพการผลิตและระบบสืบพันธุ์ ความเสียหายจากปัญหาขาพิการในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกสหรัฐฯ ราว ๕.๓ พันล้านบาทต่อปี     

ระบบตรวจสอบไก่ขาพิการด้วยสมาร์ทฟาร์ม

               การใช้เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มในการเลี้ยงไก่เนื้อ (Smart broiler farming) ด้วยระบบการผลิตปศุสัตว์สมัยใหม่ ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้ และใช้ได้จริงสำหรับการปฏิบัติงานประจำวันให้มีความแม่นยำ และตรวจสอบสัตว์รายตัวได้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพ สวัสดิภาพสัตว์ และการจัดการได้อย่างทันเหตุการณ์  ด้วยแอพลิเคชันสำหรับเทคนิคด้านวิศวกรรมในการเลี้ยงไก่เนื้อ เพื่อประมวลข้อมูลจำนวนมากโดยใช้เวลาอันสั้นจนสามารถใช้พยากรณ์ปัญหาขาพิการได้อย่างแม่นยำ

การประเมินปัญหาขาพิการด้วยตา

               ระบบการให้คะแนนไก่พิการด้วยตาในไก่เนื้อนิยมกำหนดเป็นคะแนน ๕ ระดับ ตั้งแต่ ๐ หมายถึง เดินได้เป็นปรกติ ๑ หมายถึง สังเกตเห็นได้ แต่ไม่พบความผิดปรกติของท่าเดิน ๒ หมายถึง พบท่าเดินที่ผิดปรกติ แต่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนที่โดยภาพรวมเล็กน้อย ๓ หมายถึง พบท่าเดินผิดปรกติที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนที่ ๔ หมายถึง การเคลื่อนที่บกพร่องอย่างร้ายแรง แต่ยังคงสามารถเดินได้ ๕ หมายถึง ขาพิการอย่างสมบูรณ์

ความจำเป็นสำหรับการตรวจสอบไก่พิการแบบอัตโนมัติ

การตรวจสอบไก่ที่มีขาพิการแบบอัตโนมัติจากผลการวิจัยและพัฒนาระบบการตรวจสอบไก่ที่มีขาพิการอย่างต่อเนื่องและอัตโนมัติ โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลศาสตร์ (Kinematic analysis) และการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยใช้เซนเซอร์ ข้อมูล และการวิเคราะห์ภาพถ่าย การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลศาสตร์ เป็นการวัดการเคลื่อนที่ของสัตว์ด้วยวิธีทางเรขาคณิต แล้วคำนวณท่าทางการเดินที่แตกต่างกัน เช่น ระยะก้าว ท่ายืน และช่วงการแกว่ง เนื่องจาก ปัญหาขาพิการสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมสัตว์ที่บาดเจ็บ พารามิเตอร์ต่างๆ เช่น การกระจายน้ำหนักตัวระหว่างขาที่ไม่สมดุล การรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นขณะยืน ระยะเวลาการนั่งและลุกเพิ่มขึ้น เดินช้าลง รวมถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหาร และการทำกิจกรรมต่างๆ สามารถหยิบยกมาใช้เป็นตัวบ่งชี้ไก่ขาพิการได้ การใช้เซนเซอร์ เช่น กล้อง และอุปกรณ์ทดสอบแรงกระทบ (Force platform) ในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการบาดเจ็บจากขาพิการ เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล และภาพถ่าย นำมาใช้ประเมิน ประมวล และคัดเลือกข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากทั้งรูปภาพ และเพิ่มคุณภาพของภาพ ขณะเดียวกันก็ลดสิ่งที่ไม่ต้องการ เช่น สัญญาณรบกวน และความไม่ชัดเจนของภาพโดยเพิ่มความคมชัดให้ดีขึ้น ข้อมูลที่ได้รับจากภาพถ่ายโดยการใช้ทั้งข้อมูล และภาพถ่าย อาจรวมถึง คุณลักษณะทางเรขาคณิต เช่น ความกว้างยาว มุม รูปร่าง ความหนาแน่น ความชมชัด เช่น บริเวณมืดหรือสว่าง รวมถึง คุณลักษณะของวัสดุ เช่น ความหยาบ หรือความเรียบของพื้นผิว

การใช้ระบบเซนเซอร์

ระบบเซนเซอร์ที่นำมาใช้มีความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เมื่อคณะผู้วิจัยกลุ่มของ Nass ทดลองประเมินความผิดปรกติของการเคลื่อนที่ในไก่เนื้อจากการวิเคราะห์แรงกดตามแนวดิ่งบนเท้าทั้งสองข้าง ขณะที่เดินบนอุปกรณ์ทดสอบแรงกระทบ สังเกตเห็นแรงกระทบที่ไม่สมดุลกันบนเท้าแต่ละข้าง ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์กับอายุ หรือคะแนนท่าเดิน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นักวิจัยอีกคณะหนึ่งนำโดย Aydin และ Silvera ใช้กล้องสามมิติร่วมกับเซนเซอร์ตามความลึก เป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินปัญหาขาพิการในไก่เนื้อแบบอัตโนมัติได้ โดยสัตว์ไม่เจ็บปวด ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งการนอน การเดิน ความถี่ของการก้าว ความยาวของก้าว การแกว่งของร่างกายตามแนวระนาบ รวมถึง พฤติกรรมประจำวัน เป็นตัวบ่งชี้ปัญหาขาพิการ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะผู้วิจัยกลุ่มของ Nass จึงได้พัฒนาอัลกอริทึม และซอฟต์แวร์เพื่อวิเคราะห์วีดีโอของคะแนนท่าเดินไก่เนื้อ เมื่อทดลองใช้ซอฟต์แวร์แล้ว ก็สามารถตรวจสอบไก่เนื้อที่แสดงอาการขาพิการได้ภายใต้การเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ คณะผู้วิจัยกลุ่มของ Van Hartem แสดงให้เห็นว่า เครื่องมือตรวจติดตามท่าเดินโดยใช้กล้อง สำหรับวิเคราะห์พฤติกรรมของฝูงไก่ สามารถใช้เตือนผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้ทราบถึงปัญหาท่าเดินของสัตว์ในฟาร์มเชิงพาณิชย์ได้

เครื่องมือที่ทรงคุณค่า

ระบบสมาร์ทฟาร์มสำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อ ช่วยให้ผู้เลี้ยงติดตามไก่ละตัวได้อย่างใกล้ชิด แม้ว่า การผลิตไก่เนื้อจะมีจำนวนประชากรจำนวนมากในปัจจุบัน การใช้ข้อมูลจำนวนมากนำมาวิเคราะห์ภายในเวลาอันรวดเร็ว สามารถช่วยพยากรณ์ปัญหาขาพิการได้อย่างแม่นยำ เครื่องมือตรวจติดตามด้วยกล้องดิจิตอลมีความแม่นยำ ราคาถูก และเชื่อถือได้ แต่ยังต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายให้เป็นข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการประมวลผลต่อไปได้  อุปกรณ์ทดสอบแรงกระทบน่าจะช่วยสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาขาพิการในอนาคตได้ แต่อาจมีความจำเพาะต่อผลการทดสอบต่ำอยู่   

เอกสารอ้างอิง

Azarpajouh S. 2022. Automatic lameness detection using smart broiler farming. [Internet]. [Cited 2022 Sep 19]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/health/automatic-lameness-detection-using-smart-broiler-farming/

ภาพที่ ๑ การใช้เทคนิคทางวิศวกรรมในฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ เพื่อตรวจสอบ สร้างแบบจำลอง และการจัดการผลิตสัตว์ เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้เลี้ยงในการติดตามสัตว์รายตัวในการเลี้ยงไก่เนื้อที่มีระบบการผลิตอย่างเข้มข้น (แหล่งภาพ Hans Prinsen)




วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2565

แร่ธาตุในอาหารไก่พันธุ์ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และการพัฒนากระดูกไก่เนื้อ

 แหล่งของแร่ธาตุที่ใช้เติมอาหารสัตว์มีหลายแหล่งด้วยกัน อาหารสัตว์ปีกส่วนใหญ่นิยมใช้แร่ธาตุอนินทรีย์ เช่น โมโนแคลเซียม ฟอสเฟต หรือชอล์ก อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่จะใช้แร่ธาตุอินทรีย์ที่จับกับกรดอะมิโน หรือโปรตีน เพื่อเป็นการเพิ่มการดูดซึมสารอาหารในลำไส้ และช่วยให้แร่ธาตุสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นในร่างกายสัตว์

ถ้าแร่ธาตุชนิดอินทรีย์ใช้ได้ดีสำหรับไก่นี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับไก่พ่อแม่พันธุ์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีแร่ธาตุเพิ่มขึ้นสำหรับไข่ฟักที่จะให้ตัวอ่อนสามารถใช้ประโยชน์ได้ หากมีแร่ธาตุที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเพียงพอในไข่ฟัก จะช่วยให้การพัฒนากระดูกของตัวอ่อนดีขึ้น และลดปัญหาขาพิการในไก่เนื้อได้ ผลของแหล่งแร่ธาตุชนิดต่างๆในอาหารไก่พ่อแม่พันธุ์ต่อการพัฒนาของกระดูกในไก่เนื้อ ยังศึกษากันค่อนข้างน้อย และมีแต่ในไก่เนื้อสายพันธุ์ปรกติ ไม่ใช่ไก่เนื้อโตช้า นั่นจึงเป็นสาเหตุที่มหาวิทยาลัยวาเคอนิงเงิน เริ่มศึกษาผลของแหล่งแร่ธาตุทั้งชนิดอินทรีย์ หรืออนินทรีย์ในอาหารไก่พันธุ์ มีความสัมพันธ์กับการพัฒนากระดูกและการเจริญเติบโตในไก่เนื้อสายพันธุ์ปรกติ และสายพันธุ์โตช้าอย่างไรบ้าง  ลูกไก่จากไก่พ่อแม่พันธุ์ที่ให้แร่ธาตุชนิดอินทรีย์น่าจะมีกระดูกที่แข็งแรงขึ้น เนื่องจาก ความหนาแน่นของแร่ธาตุเพิ่มสูงขึ้น

การทดลอง

               ในการศึกษาครั้งนี้ ไก่แม่พันธุ์สายพันธุ์รอส ๓๐๘ และฮับบาร์ด เจเอ ๖๗ จำนวน ๑๒๐ ตัวต่อสายพันธุ์ โดยใช้ไก่พ่อพันธุ์ ๑๒ ตัวต่อสายพันธุ์ ให้อาหารไก่พันธุ์เป็นเป็นเวลา ๑๐ สัปดาห์ ที่ประกอบด้วยแร่ธาตุ แคลเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี แมงกานีส ทองแดง เหล็ก และซีลีเนียม ในรูปแบบอนินทรีย์ หรืออินทรีย์ ตามกลุ่มการทดลองที่ประกอบด้วย รอสให้แร่ธาตุอนินทรีย์ รอสให้แร่ธาตุอินทรีย์ ฮับบาร์ดให้แร่ธาตุอนินทรีย์ และฮับบาร์ดให้แร่ธาตุอินทรีย์

               ภายหลังจากให้อาหารไก่พันธุ์ตามกลุ่มต่างๆเป็นเวลา ๑๐ สัปดาห์ เก็บไข่ฟัก แล้ววิเคราะห์ความเข้มข้นของแร่ธาตุ ไข่ฟักบางส่วนนำมาฟักเป็นลูกไก่ เพื่อวิเคราะห์ความเข้มข้นของแร่ธาตุในร่างกาย  ลูกไก่เพศผู้จำนวน ๓๘๔ ตัว จัดแบ่งเลี้ยงเป็น ๓๒ กรงในพื้นที่ ๑.๒๕ × ๒.๐๐ เมตร แต่ละกรงมีลูกไก่ ๑๒ ตัว อุณหภูมิ ๓๒ องศาเซลเซียสลดลงเป็น ๒๒ องศาเซลเซียสในวันที่ ๒๕ เป็นต้นไป การใช้โปรแกรมแสง ๒๔ ชั่วโมงต่อวันสำหรับลูกไก่อายุ ๓ วันแรก หลังจากนั้น จึงปรับเป็น ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน ลูกไก่รอสถูกเลี้ยงจนถึงอายุ ๔๓ วัน และฮับบาร์ด ๔๙ วัน โดยได้รับอาหารแบบไม่จำกัดเป็น ๓ ระยะตามปตกิ ลูกไก่แรกเกิดได้รับวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ แล้วให้วัคซีนนิวคาสเซิลที่อายุ ๑๑ วัน

การประเมินผลการทดลอง

               ลูกไก่ชั่งน้ำหนักเป็นรายตัวที่อายุ ๑๐ ๑๔ ๒๑ ๒๘ ๓๕ ๔๒ และ ๔๙ วัน การกินอาหารระหว่างอายุ ๑ ถึง ๑๔ วัน ๑๔ ถึง ๓๕ วัน ๓๕ ถึง ๔๙ วัน และตลอดช่วงการเลี้ยง ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารนำมาคำนวณในระยะดังกล่าวด้วย

               เมื่อน้ำหนักได้ ๒,๖๐๐ กรัม ที่อายุ ๓๘ วันสำหรับรอส และ ๔๙ วันสำหรับฮับบาร์ด คัดไก่จำนวน ๓ ตัวต่อกรง แล้วประเมินขาข้างซ้าย ให้คะแนนโดยสัตวแพทย์สำหรับปัญหาขา แล้วดึงกระดูกแข้งข้างขวาสำหรับการตรวจประเมินต่อไป

               น้ำหนัก ความยาว ปริมาตร ปริมาณแร่ธาตุ และความหนาแน่นแร่ธาตุของกระดูกต้นขา นำมาประเมิน สุดท้าย กระดูกต้นขาเดียวกันนี้ก็นำมาหัก เพื่อประเมินความแข็งแรงของกระดูก กระดูกที่แข็งแรงที่มีแร่ธาตุสะสมมากก็จะใช้แรงหักมากกว่า จึงสามารถค้ำจุนน้ำหนักตัวไก่ได้ดีกว่า

ผลการทดลอง

               โดยเฉลี่ยแล้ว อัตราการฟักอยู่ที่ร้อยละ ๘๖ ของไข่มีเชื้อทั้งหมด พบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มการทดลองที่ให้อาหารสูตรต่างๆ ไม่มีผลกระทบของแหล่งแร่ธาตุในอาหารไก่พันธุ์ต่อคุณภาพลูกไก่แรกเกิดเช่นกัน อิทธิพลของแหล่งแร่ธาตุที่ให้กับไก่พ่อแม่พันธุ์ต่อความเข้มข้นแร่ธาตุในไข่ฟัก และในลูกไก่วันแรกมีค่อนข้างน้อย ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม แหล่งของแร่ธาตุในอาหารไก่พ่อแม่พันธุ์มีผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของไก่เนื้อสายพันธุ์ฮับบาร์ด ขณะที่ยังไม่ชัดเจนสำหรับไก่เนื้อสายพันธุ์รอส

               ในลูกไก่สายพันธุ์ฮับบาร์ด ความแตกต่างระหว่างน้ำหนักตัวที่อายุ ๔๙ วัน ระหว่างอาหารไก่พันธุ์ชนิดอินทรีย์ และอนินทรีย์เป็น ๑๓๒ กรัม การกินอาหาร และประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารไม่ได้รับอิทธิพลจากแหล่งของแร่ธาตุของไก่พันธุ์ ผลของแหล่งแร่ธาตุในอาหารไก่พันธุ์ต่อกระดูกแข็งชัดเจนมาก ลูกไก่จากอาหารไก่พันธุ์ที่ให้อาหารสัตว์ที่ใช้แร่ธาตุอินทรีย์มีการพัฒนาที่ดีกว่า สำหรับลักษณะของกระดูกแข้งพบได้ในลูกไก่ฮับบาร์ดเท่านั้น และไม่พบในลูกไก่รอส ขณะที่ ลักษณะของกระดูกแข้งอื่นๆ พบได้ทั้งฮับบาร์ด และรอส

               การพัฒนากระดูกเป็นผลดีสำหรับการรับน้ำหนักของสัตว์ และทำให้ปัญหาขาน้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ไม่พบความสัมพันธ์กับปัญหาขาที่น้อยลง สัดส่วนของลูกไก่ที่มีปัญหาขาพบน้อยมากในการทดลองนี้ และไม่พบความแตกต่างระหว่างแหล่งแร่ธาตุทั้งสองชนิดในอาหารไก่พันธุ์

ผลการทดลองที่ชัดเจน

               แร่ธาตุชนิดอินทรีย์ในอาหารไก่พันธุ์มีผลบวกต่อคุณภาพของกระดูกแข้งของไก่เนื้อ สำหรับสายพันธุ์รอส และฮับบาร์ด โดยเห็นได้ชัดเจนอย่างมากในลูกไก่สายพันธุ์โตช้า นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะ ลูกไก่ฮับบาร์ด เนื่องจาก การกินอาหารของไก่พันธุ์ที่ลดลง แต่เป็นไปได้ว่า ผู้วิจัยยังไม่ได้คิดถึงระดับที่เหมาะสมของแร่ธาตุในอาหารไก่พันธุ์สายพันธุ์โตช้า ปริมาณของแร่ธาตุทั้งในไข่ฟัก และลูกไก่วันแรกแทบไม่แตกต่างกัน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ผลของแร่ธาตุชนิดอินทรีย์ในอาหารสัตว์ส่งผลอย่างไรต่อไก่เนื้อ

เอกสารอ้างอิง

Henry van den Brand, Bahadir Can Güz, Roos Molenaar and Ingrid de Jong, 2022. Mineral source in parent feed affects broiler growth and bone development. [Internet]. [Cited 2022 Nov 4]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/nutrition/mineral-source-in-broiler-parent-feed-affects-broiler-growth-and-bone-development/

ภาพที่ ๑ แร่ธาตุในอาหารไก่พันธุ์ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และกระดูกไก่เนื้อ (แหล่งภาพ Henk Riswick)



วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ศาลอังกฤษให้ทบทวนการเลี้ยงไก่เนื้อโตเร็ว

 กลุ่มผู้รณรงค์ด้านสวัสดิภาพสัตว์เฉลิมฉลองให้กับคำตัดสินของศาลสูงสหราชอาณาจักร อนุญาตให้ภาครัฐบาลรับฟังข้อเสนอทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับกฏระเบียบการเลี้ยงไก่เนื้อโตเร็ว

คำตัดสินจากศาลอุทรณ์ให้ภาครัฐบาลสหราชอาณาจักรรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไก่เนื้อโตเร็ว กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนทั้งหมด

การละเมิดกฎระเบียบ

               ฮิวแมนลีก ยูเค โต้แย้งว่า การใช้สายพันธุ์ไก่เนื้อทั่วไปเป็นการละเมินกฏระเบียบว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ของสัตว์เลี้ยงในฟาร์มปี พ.ศ. ๒๕๕๐ (Welfare of Farmed Animals (England) Regulations 2007) โดยกฎระเบียบนี้อ้างว่า สัตว์เลี้ยงในฟาร์มได้ ต้องพิจารณาพื้นฐานด้านจีโนไทป์ และฟีโนไทป์ ที่สามารถเลี้ยงได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และสวัสดิภาพสัตว์ กลุ่มนักเคลื่อนไหวผู้รณรงค์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ อ้างว่า ไก่เนื้อถูกคัดเลือกทางพันธุกรรมเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว เพื่อให้เน้นการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว และผลิตเนื้อได้ในเวลาที่สั้นที่สุด นำไปสู่ประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์ เช่น ข้อเข่าอักเสบ ขาพิการ และการทำหน้าที่ของอวัยวะล้มเหลว ในปัจจุบัน ไก่เนื้อ สัดส่วนร้อยละ ๙๐ จากจำนวน ๑ พันล้านตัวต่อปีมาจากสายพันธุ์ไก่เนื้อโตเร็ว คำตัดสินนี้เป็นหลักไมล์สำคัญ และเป็นความหวังสำหรับการสร้างสรรค์สวัสดิภาพสัตว์ทั่วทั้งประเทศ ภายหลังจากการฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อนำเสนอให้เห็นถึงชีวิตที่โหดร้ายของไก่เนื้อโตเร็วต่อศาลสูง และแสดงให้เห็นว่า การเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ผิดกฎหมาย สัตว์เหล่านี้ได้รับความทุกข์ทรมานตั้งแต่ระดับดีเอ็นเอ และกลุ่มผู้รณรงค์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ หวังว่า ระบบความยุติธรรมจะช่วยยุติสิ่งเหล่านี้ลงได้  

ทนายความของกลุ่มผู้รณรงค์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ ยังสนับสนุนคำตัดสินของศาลให้ทบทวนการเลี้ยงไก่เนื้อโตเร็ว แสดงให้เห็นว่า กฎหมายห้ามการเลี้ยงสัตว์ที่มีแนวโน้มว่าจะทำให้สัตว์เกิดความทุกข์ทรมาน รวมถึง ระบบการตรวจติดตามที่ไม่เพียงพอต่อการป้องกันสัตว์จากความทุกข์ทรมานอย่างยิ่งยวด และสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันผิดกฎหมายอย่างแน่นอน ระบบดังกล่าวนี้ช่วยให้ผู้ผลิตที่ไม่เคารพกฎหมายเอาเปรียบผู้ผลิตที่เคารพกฏหมาย โดยการจำหน่ายสินค้าในราคาที่ถูกกว่า

การเลี้ยงไก่เนื้อแบบปัจจุบันมีปัญหาสวัสดิภาพสัตว์

               ระบบการตรวจติดตามสวัสดิภาพสัตว์ของดีฟรา มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจประเมินปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์ในการเลี้ยงไก่เนื้อทั่วไปในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์ไก่เนื้อโตเร็ว โดยใช้ระบบ “Trigger system” ที่โรงเชือด เพื่อรายงานปัญหาโดยสัตวแพทย์ แต่กลุ่มผู้รณรงค์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ ฮิวแมนลีก โต้แย้งว่า ต้องพบประเด็นปัญหาสูงกว่าระดับที่กำหนดไว้ แต่ตั้งไว้สูงเกินไป และยังแตกต่างกันอย่างมากระหว่างผู้ผลิตสัตว์ปีกแต่ละราย ระบบ trigger system ที่กำหนดขึ้นมาไม่เพียงพอต่อการตรวจประเมินข้อบกพร่องตามกฏหมาย หมายความว่า ผู้เลี้ยงไก่เนื้อสายพันธุ์โตเร็วเอาเปรียบรายอื่นๆจากต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า และยังไม่ถูกลงโทษอีกด้วย เบื้องหลังพันธสัญญา เบทเทอร์ ชิกเก้น กลุ่มผู้รณรงค์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ เรียกร้องให้บริษัทต่างๆลงนามในพันธสัญญา เบทเทอร์ ชิกเก้น กำหนดให้เลี้ยงไก่เนื้อสายพันธุ์โตช้า ภายใต้แสงธรรมชาติ และเอนริชเมนท์ ใช้วิธีการฆ่าที่ไม่เจ็บปวด และต้องผ่านการตรวจประเมินโดยหน่วยงานตรวจสอบภายนอก บริษัทที่ได้ลงนามไปแล้ว ได้แก่ เวททรอส มาร์กแอนด์สเปนเซอร์ เกรกซ์ แนนโด และเคเอฟซี

               ความหนาแน่นการเลี้ยงที่ลดลง ต้องชั่งน้ำหนักกับความต้องการอาหารที่ราคาย่อมเยา และการเลี้ยงไก่เนื้อโตช้ายังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าด้วย จำเป็นต้องใช้ฟาร์มเลี้ยงไก่จำนวนมากขึ้น พื้นที่กว้างขวางออกไป ต้องใช้อาหารและน้ำมากกว่าเดิมอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลกระทบทั้งทางการเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ดีฟรา ภูมิใจที่จะมีมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่ระดับสูงที่สุดในโลก สัตว์ทุกตัวต้องถูกคุ้มครองโดยกฏหมายด้านสุขภาพสัตว์ และสวัสดิภาพสัตว์อย่างเข้มข้น และเข้มงวด ตามกฎหมายด้านสวัสดิภาพสัตว์ ๒๕๔๙ (Animal Welfare Act 2006)   

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2022. Judicial review challenging the use of fast-growing broilers granted. [Internet]. [Cited 2022 Oct 5]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/broilers/judicial-review-challenging-the-use-of-fast-growing-broilers-granted/

ภาพที่ ๑ องค์กร ฮิวแมนลีก แห่งสหราชอาณาจักร เรียกร้องว่า การเลี้ยงไก่เนื้อที่นิยมกันทั่วไปในปัจจุบัน ผิดกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มของอังกฤษปี พ.ศ. ๒๕๕๐ (แหล่งภาพ Wirestock)



วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ลูกไก่เข้าถึงอาหารเร็วช่วยให้โตดี

 นักวิจัย ภาควิชาโภชนาการสัตว์และการจัดการ มหาวิทยาลัยอุปซอลา จากสวีเดน ให้ความสำคัญกับการให้ลูกไก่เข้าถึงอาหารได้เร็วในระยะแรก

นักวิจัยพบว่า การให้ลูกไก่เข้าถึงอาหารได้เร็วช่วยให้การเจริญเติบโตได้ดีขึ้นในไก่เนื้อ แนวความคิดด้านการฟักลูกไก่ เช่น การฟักลูกไก่ในฟาร์ม (on-farm hatching) เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกไก่แรกเกิดได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโต และการพัฒนาลำไส้ที่แข็งแรง การเสริมสาหร่ายสีน้ำตาลในสูตรอาหารสัตว์ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโต การพัฒนาอวัยวะ ไมโครไบโอตาในลำไส้ และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เหนี่ยวนำจากวัคซีน ไม่สามารถให้ผลลัพธ์อย่างที่คาดหวังไว้

ผลการวิจัย แสดงให้เห็นว่า แม้ว่า สารสกัดจากสาหร่ายจะไม่สามารถส่งผลต่อไมโครไบโอตาในลำไส้ หรือการตอบสนองของแอนติบอดีที่เหนี่ยวนำจากวัคซีนในช่วง ๓๘ ชั่วโมงแรก ลูกไก่ที่ได้รับอาหารเร็ว กินอาหารโดยเฉลี่ย ๑๙.๖ กรัม และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๗ ขณะที่ ลูกไก่ที่ให้อาหารช้า น้ำหนักหายไปร้อยละ ๙.๑ โดยที่น้ำหนักลดลง และกินอาหารลดลงตลอดการวิจัย   

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2022. The bigger picture: Early feed access to improve growth. [Internet]. [Cited 2022 Nov 7]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/nutrition/the-bigger-picture-early-feed-access-to-improve-growth/

ภาพที่ ๑ ลูกไก่เข้าถึงอาหารเร็วช่วยให้โตดี (แหล่งภาพ Photo: Van Assendelft Fotografie)




วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

นักวิจัยพยายามใช้ข้าวฟ่างเลี้ยงสัตว์ปีก

 ข้าวฟ่างเป็นวัตถุดิบอาหารที่อยู่ในรูปเมล็ดธัญพืชที่เป็นประโยชน์สำหรับปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยง และมนุษย์ แต่องค์ประกอบบางชนิดที่มีความจำเพาะในเมล็ดข้าวฟ่าง เช่น แทนนิน และโพลีฟีนอล ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพสัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงได้

เมล็ดข้าวฟ่างบางชนิดมีระดับแทนนินสูง จึงยังไม่นิยมใช้ผสมในอาหารสัตว์ปีก แต่ข้าวฟ่างชนิดที่มีระดับแทนนินต่ำ สามารถใช้ทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทข้าวสาลี และข้าวโพดได้ นักวิจัย แนะนำให้ใช้ข้าวฟ่างที่มีระดับของแทนนินไม่เกินร้อยละ ๑ ในสูตรอาหารสัตว์ปีก หากมีระดับสูงถึงร้อยละ ๒ ถึง ๓ ให้หลีกเลี่ยง ยกเว้น ผ่านการแปรรูปเพื่อทำให้สารแทนนินหมดฤทธิ์ลงแล้ว

การใช้ประโยชน์จากข้าวฟ่าง

               มูลนิธิวิจัยด้านอาหารและเกษตรกรรม (Foundation for Food and Agriculture Research, FFAR) โดยจัดทุนวิจัยราว ๓๐ ล้านบาทเป็นทุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยเคลมสัน เพื่อศึกษาคุณสมบัติของข้าวฟ่างสำหรับเพิ่มคุณค่าทางพาณิชย์ และใช้สำหรับเป็นอาหารสัตว์   

ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือเพื่ออนาคตของมูลนิธิวิจัยด้านอาหารและเกษตรกรรม มองว่า ข้าวฟ่างเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพอากาศ การนำมาใช้ประโยชน์เป็นการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์พืช สร้างความแข็งแกร่งให้กับแหล่งทรัพยากรอาหารโลก การเพิ่มการบริโภคข้าวฟ่างยังช่วยให้สหรัฐฯสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกได้

ข้าวฟ่างสามารถเพาะปลูกให้ผลผลิตสูง และยังมีศักยภาพทางพันธุกรรมในการผลิตวัตถุดิบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การเพาะปลูกมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไม่ต้องบำรุงรักษามาก ช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนลงได้อีก การลงทุนศึกษาครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในการใช้ข้าวฟ่างมากขึ้นต่อไปได้

ประโยชน์สำหรับมนุษย์ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์   

               นักปรับปรุงพันธุ์พืชจากมหาวิทยาลัยเคลมสัน อ้างว่า คณะนักวิจัยกำลังศึกษาสารที่เป็นองค์ประกอบในเมล็ดข้าวฟ่างที่มีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์

               เมื่อพบสารดังกล่าวแล้ว นักวิจัยจะใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์โดยไม่ใช้เทคนิคการตัดแต่งทางพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ เพื่อพัฒนาลูกผสมของเมล็ดข้าวฟ่างสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติดีขึ้นกว่าเดิม ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการประเมินผลของลูกผสมของเมล็ดข้าวฟ่างสายพันธุ์ใหม่ต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ปีก และความสามารถในการลดโรคสำคัญที่เป็นอันตรายภายในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ปีก

การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช และพันธุกรรม เพื่อการผลิตสัตว์ตามโครงการนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ และการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จะเป็นการก่อให้เกิดความยั่งยืนในการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดธัญพืช และตลาดโปรตีนในสหรัฐฯ เมื่อมีความเข้าใจว่า เมตาโบไลต์จากพืชชนิดใด และจะทำให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้อย่างไรแล้ว จะช่วยให้นักวิจัยกำหนดทิศทางมุ่งสู่การปรับปรุงพันธุ์โดยอาศัยเทคโนโลยีระดับโมเลกุล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวฟ่าง เพาะปลูกได้ง่าย และทนทานต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนตอบโจทย์ความต้องการด้านโภชนาการที่มีราคาย่อมเยา เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหาร และอาหารสัตว์ได้       

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2022. Researchers aim to make sorghum more palatable for poultry. [Internet]. [Cited 2022 Sep 30]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/nutrition/researchers-aim-to-make-sorghum-more-palatable-for-poultry-diets/

ภาพที่ ๑ ข้าวฟ่างเป็นพืชไร่ที่สำคัญ (แหล่งภาพ gawchar555)



วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

บริษัทรัสเซียเรียกร้องให้แบนฟาร์มสัตว์ปีกหลังบ้าน

 สหภาพผู้เลี้ยงสัตว์ปีกรัสเซีย เรียกร้องรัฐบาลแบนการเลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้าน เนื่องจาก อาจเป็นแหล่งแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกในประเทศ   

นักกฎหมายรัสเซียเพิ่งผ่านผ่านกฎหมายไฟเขียวให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้านเมื่อเดือนกรกฏาคม พ.ศ.๒๕๖๕ มานี้เอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมราคาอาหารภายในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นมา ตามปรกติ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้านในรัสเซียเป็นธุรกิจเล็กๆภายในครอบครัว เพื่อผลิตอาหารสำหรับการบริโภคภายในสมาชิกครอบครัวเท่านั้น จนกระทั่ง เกษตกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้าน อยากจะขึ้นทะเบียนฟาร์มของตัวเองให้เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์ขึ้นมาบ้าง เพื่อให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ของรัฐ

ในรัสเซียเชื่อว่ามีฟาร์มสัตว์ปีกหลังบ้านจำนวนหลายล้านตัว โดยเฉพาะในเขตชนบท แม้ว่า ส่วนใหญ่ของผู้เลี้ยงก็มุ่งเน้นไปที่การปลูกผัก และมันฝรั่ง เป็นหลักมากกว่า ในช่วงที่มีการพิจารณากฎหมาย ระหว่างการพิจาราณากฎหมาย ผู้ผลิตสัตว์ปีกรายสำคัญในรัสเซีย แสดงความสงสัยต่อพฤติกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อเป็นไก่บ้านจำนวนมากของชาวรัสเซีย เพื่อให้เนื้อไก่ราคาถูกลงในตลาดภายในประเทศ

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

               ผู้ผลิตสัตว์ปีกรายใหญ่ในอุตสาหกรรมรัสเซีย Rosptitsesoyuz กังวลว่า กฏหมายฉบับใหม่นี้จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีก โดยเร่งให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก และส่งผลต่อการผลิต เนื่องจาก เชื้อไวรัสจากฟาร์มสัตว์ปีกหลังบ้านมีโอกาสระบาดไปสู่ฟาร์มขนาดใหญ่ได้ ในจำนวนการระบาดทั้งหมด ๕๓ ครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น ๔๖ ครั้งเป็นฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยอ้างอิงตามหน่วยงานสัตวแพทย์รัฐ

               สมาคมผู้ผลิตไก่งวงแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นถึงกรณีนี้ว่า สัตวแพทย์ไม่สามารถเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มสัตว์ปีกหลังบ้านทั้งหมดได้จริง การตรวจเยี่ยมของสัตวแพทย์จะเป็นการตรวจสอบว่า การเลี้ยงการจัดการเป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ผลิตสายพันธุ์สัตว์ปีกจริงๆ ผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย Cherkizovo อ้างว่า ผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ ลงทุนไปมหาศาลไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ต่อระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันโรคในฟาร์มตัวเองได้เลย หากฟาร์มรายย่อยเกิดป่วยด้วยโรคระบาดใกล้กับพื้นที่การผลิตของตนเอง ผู้ผลิตเนื้อรายใหญ่บางรายซื้อสัตว์ปีกทั้งหมดจากฟาร์มรายย่อยที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ผลิตของตัวเองเป็นประจำทุกปี กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ราคาของสัตว์ปีกเหล่านี้สูงขึ้น ภายใต้กฏระเบียบด้านสุขภาพสัตว์รัสเซียที่ใช้ในปัจจุบัน การระบาดของโรคไข้หวัดนกในฟาร์มขนาดเล็กที่มีสัตว์ปีกเพียงไม่กี่ตัว ก็จะต้องกำหนดเขตกักกันสัตว์ภายในโซน ๕ กิโลเมตร ฟาร์มสัตว์ปีกทุกแห่งต้องหยุดการเลี้ยงทันที ภายใต้กฎหมายใหม่ มิจฉาชีพสามารถซื้อสัตว์ปีกแล้วเลี้ยงไว้ใกล้กับพื้นที่การผลิตสัตว์ปีก เพื่อหวังจำหน่ายที่ราคาแพงกว่าตลาดได้   

เอกสารอ้างอิง

Vorotnikov V. 2022. Russian agri giants call to ban backyard poultry farming. [Internet]. [Cited 2022 Sep 23]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/broilers/russian-agri-giants-call-to-ban-backyard-poultry-farming/

ภาพที่ ๑ ฟาร์มสัตว์ปีกหลังบ้านในรัสเซียนิยมเลี้ยงภายในครอบครัว เพื่อผลิตอาหารสำหรับการบริโภคกันเอง (แหล่งภาพ Zoe Schaeffer)



วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

หวัดนกระบาดหนักในสหรัฐฯ

 ในปีนี้ โรคไข้หวัดนกระบาดหนักในสหรัฐฯแล้วกว่าครึ่งประเทศในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ โดยเกิดการระบาดตั้งแต่ ๑ ถึง ๗๗ ครั้ง    

โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง ได้สร้างความเสียหายไปแล้วเกือบครึ่งประเทศของสหรัฐฯ โดยฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างน้อย ๑ แห่งต่อรัฐที่พบการระบาดในปี พ.ศ.๒๕๖๕ นี้ แต่ในบางรัฐก็เกิดการระบาดอย่างหนักมาก และทำลายสัตว์ไปจำนวนมาก จากข้อมูลของหน่วยบริการตรวจสอบสุขภาพพืชและสัตว์ กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐฯ โดยเป็นข้อมูลที่รายงานยืนยันโรคแล้วตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายนเป็นต้นมา

๑.     มินเนโซตา เป็นรัฐที่เกิดการระบาดหนักที่สุด รายงานการตรวจพบโรคแล้ว ๗๗ ครั้ง เกือบทั้งหมดเป็นฟาร์มไก่งวง (เนื้อ) หรือฟาร์มไก่งวงพันธุ์ รวมถึง ฟาร์มไก่ไข่ โดยสองแห่งแรกยืนยันโรคไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม และรายล่าสุดในวันที่ ๑ พฤศจิกายน

๒.    เซาท์ ดาโกตา รายงานการระบาดรวมแล้ว ๔๔ ครั้ง ส่วนใหญ่พบในไก่งวง แต่ก็ยังพบได้ในสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้สำหรับเกมส์กีฬา และฟาร์มไก่ไข่ ๑ แห่ง และยังมีฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์ที่ไม่บ่งชี้ชนิดของสัตว์อีก ๑ แห่ง เซาท์ ดาโกตา ยืนยันการพบโรคครั้งแรกตั้งแต่วันที่ ๕ มีนาคม และรายล่าสุดพบในวันที่ ๑ พฤศจิกายน

๓.    เพนน์ซิลวาเนีย จนถึงปัจจุบัน เพนน์ซิลวาเนียพบโรคแล้ว ๒๓ ครั้ง ในฟาร์มหลากหลายชนิดสัตว์ ทั้งไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่งวง และเป็ด สองรายล่าสุดยืนยันโรคไว้ตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน โดยมีการรายงานครั้งแรกในวันที่ ๑๕ เมษายน

๔.    ยูทาห์ พบโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงแล้วทั้งหมด ๑๙ ครั้ง เกือบทั้งหมดเป็นฟาร์มไก่งวง (เนื้อ) และอีกหนึ่งรายเป็นฟาร์มไก่ไข่ ยูทาห์พบโรคครั้งแรกในวันที่ ๒๕ เมษายน ขณะที่ รายล่าสุดพบในวันที่ ๒๕ ตุลาคม

๕.    ไอโอวา  รายงานยืนยันโรคไปแล้ว ๑๗ ครั้ง พบทั้งในฟาร์มไก่งวง และไก่ไข่ รายงานครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ขณะที่ รายล่าสุดพบในวันที่ ๖ พฤศจิกายน

๖.     แคลิฟอร์เนีย ยืนยันโรคไปแล้ว ๑๔ ครั้ง โดยพบในฟาร์มสัตว์ปีกหลากหลายชนิดสัตว์ทั้งฟาร์มไก่เนื้อ ไก่งวง ไก่ไข่ และเป็ด รายงานครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม และล่าสุดวันที่ ๑๓ ตุลาคม

๗.    วิสคอนซิน ฟาร์ม ๑๑ แห่งพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง ทั้งฟาร์มไก่งวง ไก่ไข่ เป็ด และสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้สำหรับเกมส์กีฬา ทุกรายยืนยันโรคในช่วงระหว่างวันที่ ๑๔ มีนาคมถึง ๗ พฤศจิกายน

๘.    อินเดียนา และนอร์ธ แคโรไลนา จนถึงวันนี้ ฟาร์ม ๙ แห่งในรัฐอินเดียนาพบโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง  โดยเป็นฟาร์มไก่งวง (เนื้อ) เป็ด (เนื้อ) หรือเป็ดพันธุ์ โดยรัฐอินเดียนาเป็นรัฐแรกในสหรัฐฯที่ยืนยันโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในสหรัฐฯ โดยพบในฟาร์มไก่งวงตั้งแต่วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ นับตั้งแต่วันที่ ๒๐ เมษายนก็ไม่มีรายงานเพิ่มเติม

๙.     รัฐมิสซูรี และเนบราสกา รัฐมิสซูริพบโรคไปแล้ว ๖ ฟาร์ม สี่ฟาร์มเป็นฟาร์มไก่งวง (เนื้อ) หนึ่งฟาร์มเป็นฟาร์มไก่งวงพันธุ์ทดแทน และอีกฟาร์มเป็นไก่เนื้อ โดยยืนยันโรคระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม ถึง ๖ เมษายนที่ผ่านมา รัฐเนบราสกาก็พบการระบาด ๖ ฟาร์ม ทั้งไก่เนื้อ ไก่ไข่ และเกมเบิร์ด โดยยืนยันโรคระหว่างวันที่ ๒๒ มีนาคมถึง ๑๘ ตุลาคม

๑๐.   รัฐโคโลราโด และนอร์ธดาโกต้า พบโรคระบาดในฟาร์ม ๕ แห่งในรัฐโคโลราโด โดยสามแห่งเป็นฟาร์มไก่ไข่ หนึ่งแห่งเป็นไก่รุ่นทดแทน และอีกหนึ่งแห่งเป็นไก่พันธุ์ (เนื้อ) รัฐโคโลราโดยืนยันโรคครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน และล่าสุดยืนยันแล้วเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายนนี้ เช่นเดียวกับรัฐนอร์ธดาโกต้าก็พบโรค ๕ ฟาร์ม ทั้งหมดเป็นฟาร์มไก่งวง (เนื้อ) โดยครั้งแรกรายงานไว้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ขณะที่ รายล่าสุดเกิดขึ้นในวันที่ ๒๗ กันยายนที่ผ่านมา

๑๑.  รัฐแมรี่แลนด์ เกิดโรคระบาดขึ้น ๔ ฟาร์ม สองฟาร์มเป็นไก่ไข่ หนึ่งฟาร์มเป็นไก่ไข่ระยะไก่รุ่น และอีกฟาร์มเป็นไก่เนื้อ ทั้งหมรายงานโรคตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม

๑๒.   รัฐเดลาแวร์ เป็นรัฐที่ ๑๕ ของสหรัฐฯที่พบการระบาดของโรค โดยพบในฟาร์ม ๓ แห่งเป็นฟาร์มไก่ไข่ระยะไก่รุ่น และระยะให้ไข่ และฟาร์มไก่เนื้อ ตามลำดับ ทั้งหมดเกิดโรคในเดือนมีนาคม

๑๓.   รัฐเคนทักกี พบโรคยืนยันแล้ว ๒ แห่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์     

รัฐอื่นๆที่ได้รับการยืนยันโรคอย่างน้อย ๑ ครั้งในฟาร์มสัตว์ปีก ได้แก่ รัฐอาร์คันซอ มิสซิสซิปปี โอไฮโอ คาซอ มิชิแกน ไอดาโฮ นิวยอร์ก และเท็กซัส   

เอกสารอ้างอิง

Graber R. 2022 Which states have had most flocks hit by avian flu?. [Internet]. [Cited 2022 Nov 10]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/46169-which-states-have-had-most-flocks-hit-by-avian-flu

ภาพที่ ๑ โรคไข้หวัดนกระบาดหนักในสหรัฐฯ (แหล่งภาพ Kimmer | Bigstock)



วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษจำหน่ายเฉพาะเนื้อไก่โตช้า

 รีเทลเลอร์ มาร์กส์แอนด์สเปนเซอร์ กลายเป็นซูเปอร์มาร์เก๊ตแห่งแรกของสหราชอาณาจักรที่จำหน่ายเนื้อไก่สดภายใต้มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ระดับสูง และใช้สายพันธุ์ไก่เนื้อโตช้าจาก Oakham Gold range

ความเคลื่อนไหวภายหลังผลสำรวจโดย ยูกอฟ พบว่า ผู้ใหญ่ชาวสหราชอาณาจักรร้อยละ ๘๑ คิดว่า รีเทลเลอร์ผู้จำหน่ายอาหารควรให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มให้ดีขึ้น

เนื้อไก่ที่เป็นธรรมชาติ และรสชาติดีขึ้นสำหรับผู้บริโภค

              สอดคล้องกับพันธสัญญา  เบทเทอร์ ชิ้กเก้น ผู้ค้าปลีกได้เปลี่ยนไปใช้สายพันธุ์ฮับบาร์ด ที่สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึง การใช้สูตรอาหารสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบหลายชนิดร่วมกัน ที่ออกแบบสำหรับส่งเสริมการเติบโตตามธรรมชาติที่ช้าลง และการพัฒนากล้ามเนื้อ และยังมีฤทธิ์ชาติที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค  เมื่อไก่ถูกเลี้ยงให้โตช้าลง ก็จะแข็งแรง ปรับตัวได้ง่าวขึ้น โดยเฉพาะในอากาศร้อน  ไก่จะมีพื้นที่การเลี้ยงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมร้อยละ ๒๐ และมีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเลี้ยง โดยมีอุปกรณ์ให้จิกเล่น และเกาะคอน ซึ่งเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมตามธรรมชาติ

มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่สูงขึ้นกว่าเดิม

การลงทุนด้านมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ ผู้ค้าปลีกเรียกร้องผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองจากอาร์เอสพีซีเอ (RSPCA Assured) และลงนามในพันธสัญญาเบทเทอร์ ชิกเก้น ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ Compassion in World Farming ที่กำหนดไว้ตาม Farm Animal Welfare ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นมา ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกจากฟาร์มโอคแฮมโกล์ด ส่งให้กับมาร์กแอนด์สเปนเซอร์ มีความสุขกับการเลี้ยงสัตว์ของตัวเอง สัตว์มีความอยากรู้อยากเห็นมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ มีพื้นที่อาบฝุ่น เกาะคอน และจิกของเล่น แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างแท้จริง ผู้เลี้ยงสัตว์ก็รู้สึกภาคภูมิใจในงานของตัวเอง และเนื้อจากสัตว์เหล่านี้ก็จะมีรสชาติที่ดีขึ้นอีกด้วย

ผู้บริหารมาร์กแอนด์สเปนเซอร์ เปิดเผยถึงเป้าหมายของบริษัทในการใช้เนื้อสัตว์ปีกที่มีมาตรฐานการผลิตสอดคล้องกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ ตามความต้องการของผู้บริโภค การยกระดับสวัสดิภาพสัตว์เป็นองค์ประกอบสำคัญของคำมั่นสัญญาในการเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เริ่มจากสายพันธุ์ไก่ที่เป็นไปตามมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ เลี้ยงให้เจริญเติบโตช้าลง ทำให้เนื้อสัตว์มีคุณภาพที่ดีขึ้น และรสชาติดีกว่าเดิมให้กับผู้บริโภค

ผู้บริหาร องค์กรอาร์เอสพีซีเอ แสดงความยินดีต่อบริษัทที่พัฒนาไปสู่การผลิตเนื้อไก่สดที่ได้รับการรับรองอาร์เอสพีซีเอ และเลี้ยงให้โตช้าลงกว่าปรกติทั้งหมด นับเป็นการเคลื่อนไหวในทางที่ดีที่สุดสำหรับการเลี้ยงไก่ในอนาคต ถือเป็นความสำเร็จสำหรับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความหวังและเป็นตัวอย่างให้กับผู้ค้าปลีกรายอื่นๆ

ผู้อำนวยการโลกด้านธุรกิจอาหารขององค์กร Compassion in World Farming แสดงความยินดีกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว ก้าวแรกของไก่สด Oakham Gold เป็นคำมั่นสัญญาว่าผู้ผลิตอาหารจะปรับปรุงการเลี้ยงไก่ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้สายพันธุ์ไก่ที่แข็งแรง เพื่อให้มีสุขภาพดี และมีความเป็นอยู่ที่ดี สร้างมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้นเป็นไปตามมาตรฐานสำหรับผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้ค้าปลีกรายอื่นๆคล้อยตามไปด้วย  

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2022. UK supermarket to only stock slower-reared, higher-welfare fresh chicken. [Internet]. [Cited 2022 Sep 29]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/broilers/uk-supermarket-to-only-stock-slower-reared-higher-welfare-fresh-chicken/

ภาพที่ ๑ องค์กร ฮิวแมนลีก แห่งสหราชอาณาจักร เรียกร้องว่า การเลี้ยงไก่เนื้อที่นิยมกันทั่วไปในปัจจุบัน ผิดกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มของอังกฤษปี พ.ศ. ๒๕๕๐ (แหล่งภาพ Marks and Spencer)



ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...