วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

รอยช้ำเลือดที่ทีมจับไก่ และสตันเนอร์ไม่ได้ทำ

ความจริงแล้ว รอยช้ำเลือดอาจมิใช่มีสาเหตุจากทีมจับไก่ และสตันเนอร์ เท่านั้น แนะนำให้ลองหันกลับไปวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตย้อนหลังที่มีการเก็บไว้เป็นอย่างดี เพื่อการตรวจรับรองมาตรฐาน ความจริงแล้วข้อมูลที่เก็บไว้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการผลิตจริงๆ แล้วลองสอบถามผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็อาจพบประสบการณ์อย่างเดียวกันอย่างที่ผู้ผลิตทั่วโลกเผชิญปัญหาเดียวกัน แทนที่จะโทษแต่ทีมจับไก่ หรือการทำให้ไก่สลบอย่างเดียว หันกลับมาแก้ปัญหาจากรากแก่นของปัญหาน่าจะเป็นการทำงานที่ดีกว่า
  
สารพิษ
สมมติฐานอีกประการเชื่อว่า สารพิษอาจเป็นสาเหตุให้เส้นเลือดเปราะแตกง่าย และเกิดเป็นรอยช้ำเลือด หากโรงงานอาหารสัตว์ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ กระบวนการผลิตที่ดี ตรวจติดตามระดับสารพิษจากเชื้อราเป็นประจำ สารพิษจากเชื้อราอาจตัดออกไปได้ แต่สารพิษจากแบคทีเรียที่เรียกว่า ชีวพิษภายใน หรือเอนโดท็อกซิน (Endotoxin) จากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบอาจเป็นเสมือนควันจากปลายกระบอกปืน ความจริงแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้คล้ายกับปัญหาที่พบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผลการวิจัยทางการแพทย์ แสดงให้เห็นว่า โรคเบาหวานกำลังมีเป็นโรคนิยมทั่วโลก แต่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากน้ำหนักเกิน เพราะไขมันไม่อิ่มตัว แต่เป็นผลมาจากกินน้ำตาล ทั้งแบบโมเลกุลเดี่ยว และหลายโมเลกุลมากเกินไป ปัญหาที่พบในผู้ป่วยโรคเบาหวานคือ จุดเลือดออกขนาดเล็กตามผิวหนัง และฟกช้ำง่าย เนื่องจาก หลอดเลือดเปราะแตกเหมือนกันเลย เส้นเลือดขนาดเล็กอ่อนแอ และปัญหาของหลอดเลือดตามอวัยวะต่างๆทั่วไป เช่น พยาธิสภาพของจอประสาทตา (Retinopathies) พยาธิสภาพของไต (Nephropathies) รวมถึง ปัญหาหลอดเลือดหัวใจ และสมอง เช่น สโตรค (Stroke) เป็นต้น 
  อัตราการเผาผลาญพลังงานของไก่เนื้อ และความรู้ด้านอาหารสัตว์ได้พัฒนาขึ้นอย่างมาก เราบดอาหารอย่างละเอียดมาก ตีแผ่ทุกสิ่งทุกอย่าง และทำทุกวิถีทางเพื่อให้สารอาหารถูกใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เสมือนว่า เราได้ให้ไก่กินอาหารฟาส์ฟู้ดตลอด ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันดีว่า การกินน้ำตาลมากเกินไปไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย สูตรอาหารสัตว์ที่ใช้ข้าวสาลีเป็นองค์ประกอบสำคัญ สร้างปัญหารุนแรงกว่าข้าวโพด หากน้ำตาลเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการสร้าง Oxidative stress เช่นกัน อนุมูลอิสระที่ผลิตจากไมโตครอนเดรียภายในเซลล์ สามารถทำลายเซลล์ได้ เช่นเดียวกับ เซลล์ตับอ่อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ปัญหาไขมันพอกตับในไก่อายุ ๔๐ วัน
ผู้ผลิตมักสังเกตเห็นปัญหาไขมันพอกตับ (Fatty liver) ในไก่เนื้ออายุ ๔๐ วัน บางครั้งก็สร้างความตื่นตระหนกไปเลย อนุมูลอิสระที่เหนี่ยวนำขึ้นโดยน้ำตาลกลูโคสเกินได้จู่โจมทำลาย “เวลโคร (Velcro)” ที่ทำหน้าที่เสมือนแถบกาวยึดเซลล์ลำไส้ไว้ด้วยกัน บางครั้งก็เรียกว่า “รอยต่อยึดแน่น (Tight junctions)” เมื่อการผ่านเข้าออกผ่านผนังลำไส้ผิดปรกติ สารชีวพิษภายในจากลำไส้ก็จะแทรกผ่านเข้ามาระหว่างเซลล์ลำไส้ ตรงเข้าไปผ่านเส้นเลือดดำ Portal vein เข้าสู่ตับ ภายในตับเกิดปฏิกิริยาการอักเสบในเซลล์คัพฟ์เฟอร์ (Kupffer cells) และในเซลล์ตับ ทำให้เกิดการทำลาย และแทนที่ด้วยไขมัน และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทั้งนี้มิได้หมายความว่า น้ำตาลกลูโคส และฟรุกโตส เป็นสารอันตราย แต่ต้องการสื่อความหมายให้เห็นว่า ยิ่งมีอาหารสัตว์ถูกแปรรูปไปมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสพบเลือดมากเท่านั้น



แนวทางการแก้ปัญหา
วิธีการแก้ปัญหาด้วยการคิดแบบตรรกศาสตร์คือ การลดผลกระทบของน้ำตาล โดยการเปลี่ยนเป็นอาหารสัตว์ที่ปล่อยพลังงานช้าลง ผู้ผลิตบางรายได้เริ่มเปลี่ยนอาหารสัตว์แบบเม็ดที่นิยมใช้กันทั่วไปกลับไปเป็นอาหารป่น เพื่อลดรอยโรคของซากไก่ได้เล็กน้อย การย่อยอาหารช้าลงก็เป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของมนุษย์เช่นกัน แต่ในไก่เนื้ออาจเป็นการถอยหลังก้าวใหญ่จนเกินไป เราต้องมองหาโอกาสที่จะบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้อาหารเม็ดมาตรฐาน กุญแจสำคัญในการป้องกันการสร้างอนุมูลอิสระมากเกินไปจากการทำลายเซลล์ประการหนึ่งคือ การใช้สังกะสี กระตุ้นการทำงานของ Transcription factor เช่น “Nrf2” ที่ควบคุมการสร้างอนุมูลอิสระตัวสำคัญคือ Superoxide dismutase (SOD) เพิ่มมากขึ้น แล้วไปส่งผลต่อการกระตุ้นกระบวนการ Dismutaion ของ Superoxide radicals ระหว่างกระบวนการออกซิเดชัน และความเครียดจากสิ่งแวดล้อมระดับเซลล์ ในทางการแพทย์ มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับสังกะสีมีผลแทรกซ้อนจากโรคลดลง ล่าสุด ผลการใช้สังกะสีอินทรีย์ในอาหารไก่เนื้อจากการทดลองในฟาร์มสามารถลดปัญหารอยฟกช้ำลงได้ ๑๕ ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ยิ่งเห็นผลได้ชัดเจนในรายที่ประสบปัญหาอย่างรุนแรงจากผลการศึกษาที่วิทยาลัย Scottish Agricultural College       
แหล่งข้อมูล Fabian Brockotte September 30, 2015
















ภาพที่ ๑ รอยช้ำเลือด (Bruise, Contusion) ที่บริเวณอกถึงท้อง สังเกตเห็นรอยโรคแบบนี้ จำเลยสำคัญต้องเป็นทีมจับไก่ หรือเครื่องสตันเนอร์แน่นอน หากท่านยังคิดเช่นนั้น อาจต้องทบทวนกันใหม่กันแล้ว ทั้งที่ความจริงแล้ว วิธีการทำให้ไก่สลบก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยเป็นสิบปีมาแล้ว แต่จำนวนไก่ที่มีปัญหาช้ำเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิธีการจับไก่ก็พัฒนาขึ้นจากในอดีตอย่างมาก ลองหันกลับไปวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตย้อนหลัง อาจทำให้ท่านเปลี่ยนความคิด    

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

รอยช้ำเลือดที่โรงงานฯ เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ผู้จัดการโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกทั่วโลกกำลังเผชิญกับอุบัติการณ์ของรอยโรคบนซากไก่เนื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราว ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของไก่เกิดรอยช้ำ (Bruises, Contusion) ก้อนเลือดตามกล้ามเนื้อ (Muscle hematomas) และความเสียหายของหลอดเลือด (Vascular damage) ส่งผลให้สินค้าไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค 
โรงงานแปรรูปการผลิต จำเป็นต้องจัดแรงงานเพิ่มเติมเข้าไปตัดแต่งชิ้นส่วนของไก่ที่เกิดปัญหา นั่นคือ ต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หากพบเลือดออก หรือก้อนเลือดในขา และปีกก็คงไม่ได้เกิดเพียงเท่านั้น แต่มักเกิดทั้งตัวซาก ปัญหาอีกประการของการเลือดออกทั้งตัวคือ รอยช้ำเลือดส่วนใหญ่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากภายนอก แต่ผู้บริโภคจะมาเห็นอีกครั้งภายหลังการเตรียมอาหารในห้องครัว แล้วก็ไปร้องเรียนต่อซูเปอร์มาร์เกต และร้านขายปลีก

จำนวนไก่ที่มีปัญหาช้ำเลือดเพิ่มขึ้น
ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในสเปน บราซิล ประเทศในกลุ่มยุโรปตอนเหนือ สมมติฐานแรกของรอยโรคเชื่อว่าเป็นผลมาจากการหดตัวของกล้ามเนื้อระหว่างการสตันเนอร์ ทั้งที่ความจริงแล้ว วิธีการทำให้ไก่สลบก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยเป็นสิบปีมาแล้ว แต่จำนวนไก่ที่มีปัญหาช้ำเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่ง ไก่ที่พึ่งนำออกจากกล่องก่อนขึ้นแขวน (Before shackling) ก็พบรอยโรคแล้ว ปัญหาในประเทศสเปนรุนแรงมากจนกระทั่งผู้จัดการโรงงานต้องลุกขึ้นไปดูที่ฟาร์ม คอยติดตามทุกขั้นตอนตั้งแต่จับไก่ ขนส่ง จนกระทั่ง จับขึ้นแขวน แต่ก็ยังหาสาเหตุแหล่งต้นตอของปัญหาไม่ได้เหมือนกันเช่นนี้ทั่วโลก ส่วนใหญ่ รอยโรคเหล่านี้ก็มักถูกตัดสินให้เป็นความบกพร่องของทีมจับไก่ หรือการทำให้ไก่สลบเสมอ ทั้งที่ความจริงแล้ว ปัญหานี้อาจเป็นผลมาจาก หลอดเลือดเปราะแตก (Vascular fragility) ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ดังนั้น ลองหันกลับไปวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตย้อนหลังที่มีการเก็บไว้เป็นอย่างดีเพื่อการตรวจรับรองมาตรฐาน ประกอบกับสารสนเทศจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็อาจพบปรากฏการณ์อย่างที่ผู้ผลิตทั่วโลกเผชิญปัญหาเดียวกัน แทนที่จะโทษแต่ทีมจับไก่ หรือการทำให้ไก่สลบอย่างเดียว หันกลับมาแก้ปัญหาจากรากแก่นของปัญหาน่าจะเป็นการทำงานที่ดีกว่า
 















ภาพที่ ๑ รอยช้ำเลือด (Bruise, Contusion) ที่บริเวณเนื้ออก (Fillet) ชิ้นส่วนราคาแพงสำหรับโรงงานแปรรูปการผลิต สังเกตรอยเลือดออกแทรกไปตามเส้นใยกล้ามเนื้อ


แหล่งข้อมูล        Fabian Brockotte September 30, 2015


วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

รู้จักไก่พลอฟกิพที่แรงมากในยุโรป

“ไก่พลอฟกิพ (Plofkip chicken)” หมายถึง ไก่เนื้อปัจจุบันที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วผิดปรกติเพื่อเร่งการผลิตเนื้อ  เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อ ไก่พลอฟกิพมาจากภาษาดัทช์หมายถึง "ไก่ระเบิด" การรณรงค์ตามสื่อโฆษณาโดยนักเคลื่อนไหวด้านสวัสดิภาพสัตว์ชื่อว่า Wakker Dier ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ 
   ภาพโฆษณารณรงค์มีบทบาทต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ให้เห็นภาพของไก่เนื้อที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนระเบิด เมื่อเปรียบเทียบกับไก่อินทรีย์ที่มีน้ำหนักเพียง ๙๓๐ กรัม กับไก่เนื้อที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ ๒,๓๕๐ กรัม นักเคลื่อนไหวโจมตีการเลี้ยงไก่เนื้อเชิงพาณิชย์ว่า ไก่เนื้อในฟาร์มไม่สามารถเดินได้ตามปรกติ และเรียกร้องให้ผู้บริโภคหยุดซื้อไก่พลอฟกิพ แล้วหันมาซื้อไก่เนื้อโตช้าทดแทน แผนการรณรงค์เคลื่อนไหวดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
 วิธีการสื่อสารกับผู้บริโภคได้มุ่งเน้นให้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างการกินของคน โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตของไก่ คำว่า ไก่พลอฟกิพ หรือไก่ระเบิดกลายเป็นคำที่ได้รับการจดจำในประเทศเนเธอร์แลนด์เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และถูกเลือกให้เป็นคำใหม่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในภาษาเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นั่นเอง  

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559

ลาเบล รุช มาตรฐานใหม่ในตลาดอียู

ไก่เนื้อสายพันธุ์โตช้า ลาเบล รุช (Label Rouge) กำลังยึดฝั่งฝรั่งเศส และฟาร์มที่ได้รับการรับรองด้านสวัสดุภาพสัตว์ในสหราชอาณาจักรกำลังเพิ่มสัดส่วนการตลาด แต่ไก่สายพันธุ์โตช้าในเนเธอร์แลนด์ได้ครองตลาดค้าปลีกเนื้อไก่สดเรียบร้อยแล้ว และจะมีการเปลี่ยนจากไก่เนื้อที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ที่นิยมเลี้ยงกันไปเป็นไก่เนื้อโตช้า ภายในไม่เกิน ๓ ปีนี้
               ลาเบล รุช (Label Rouge) เป็นมาตรฐานใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับลาเบล รุช เป็นสินค้าประเภทอาหาร รวมถึง อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ไม่มีการแปรรูป และไม่ใช่อาหาร เช่น ดอกไม้ อ้างตามกระทรวงเกษตรฝรั่งเศส กำหนดให้ “การใช้เครื่องหมายสีแดงไว้เพื่อรับรองว่า ผลิตภัณฑ์เป็นไปตามข้อกำหนดตามระดับสูงกว่าผลิตภัณฑ์คล้ายกันที่มีการจำหน่ายในปัจจุบัน”  
ไก่เนื้อโตช้า จะครองคลาดค้าปลีกเนื้อไก่สด ๙๐ เปอร์เซ็นต์ในเนเธอร์แลนด์ภายในปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๙ นี้ และจะมีการเปลี่ยนจากไก่เนื้อที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ที่นิยมเลี้ยงกันไปเป็นไก่เนื้อโตช้า ภายในไม่เกิน ๓ ปีนี้ นาย Claude Toudic ผู้จัดการด้านเทคนิคของฮับบาร์ด ฝรั่งเศส กล่าวไว้ในการประชุมสภาไก่ระดับชาติปีนี้เองว่า เนื้อไก่ทั้งหมดที่วางจำหน่ายในร้านขายปลีกในเนเธอร์แลนด์จะมาจากการผลิตไก่เนื้อสายพันธุ์โตช้า

               ปัจจุบันนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ การผลิตไก่เนื้อทั้งหมดในเนเธอร์แลนด์ พบว่า ๒๕ ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์เป็นไก่สายพันธุ์โตช้า ส่วนแบ่งทั้งหมดถูกชดเชยบางระดับ เนื่องจาก สัดส่วนของการผลิตไก่เนื้อในประเทศถูกส่งออก ประเทศเนเธอร์แลน์เป็นประเทศที่สามารถผลิตไก่เนื้อพึ่งพาตัวเองได้เกือบ ๒๐๐ เปอร์เซ็นต์ 

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

สหรัฐฯเร่งวิจัยยีนส์โรค Wooden breast

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์เร่งวิเคราะห์ยีนส์ที่เกี่ยวข้องโรค Wooden breast disease และวิจัยหาเครื่องหมายทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับความผิดปรกตินี้ ผลการวิจัยครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้สามารถวินิจฉัย และรักษาโรคนี้ได้
               กลุ่มอาการของโรค Wooden breast ในไก่เนื้อ ทำให้เนื้อแข็ง และเคี้ยวยาก ทำให้สินค้าเนื้อไก่ไม่สามารถวางจำหน่ายได้ ผลการวิจัยโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ Behnam Abasht ภาควิชาวิทยาศาสตร์อาหาร (Department of Animal and Food Sciecnes) กำลังวิจัยค้นหาเอกลักษณ์ทางชีวเคมีของเนื้อเยื่ออกไก่ที่มีความแข็งผิดปรกติ
               โรคนี้ก็เหมือนกันกับชื่อโรคคือ อกไก่จะแข็งอย่างสุดขั้วจนรู้สึกเหมือนไม้ โรคนี้ยังเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆ เช่น เนื้ออกลายเป็นเส้นสีขาว (White striping) โดยเห็นเป็นลายทางสีขาวตามแนวเส้นใยกล้ามเนื้อ และลดคุณค่าทางโภชนาการ ด้วยการปรับปรุงการผลิตสัตว์ปีกตลอด ๕๐ ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ปริมาณเนื้อ และอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นอย่างมากในไก่ ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มปัญหาใหม่เป็นความผิดปรกติของกล้ามเนื้อได้
               เจาะหายีนส์ (Pinpointing genes) โดยคณะผู้วิจัยของ Abasht มองที่ปัญหาโดยการศึกษายีนส์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่ออกของไก่ เพื่อทำความเข้าใจกลไกทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ โดยการสร้างฐานข้อมูลดีเอ็นเอคู่สมจากตัวอย่างกล้ามเนื้ออกไก่ที่เกิดโรค ๕ ตัวอย่าง และไม่เกิดโรค ๖ ตัวอย่างจากไก่เนื้อที่มีการเลี้ยงเชิงพาณิชย์สายพันธุ์หนึ่ง คณะผู้วิจัยเปรียบเทียบรายการยีนที่มีการตีพิมพ์ในวารสารด้านเนื้อเยื่อวิทยา เพื่อค้นหาความผิดปรกติ จากยีนส์มากกว่า ๑๑,๐๐๐ ยีนส์ที่มีการแสดงออกในระดับที่สามารถตรวจสอบได้ในเนื้อเยื่อ ผู้วิจัยพบว่า ประมาณ ๑,๕๐๐ ยีนส์มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มยีนส์ทั้งสองกลุ่มคือ เนื้อไก่ที่ปรกติ และเกิดโรค หลังจากได้รายการยีนส์ที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้วิจัยจึงวิเคราะห์การทำงาน เพื่อค้นหาว่ายีนส์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ หรือวิถีการทำงานระดับเซลล์อย่างไร   

ยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการขาดอากาศเฉพาะแห่ง (Localised hypoxia)
               ผู้วิจัยกำลังให้ความสนใจกับยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการขาดอากาศเฉพาะแห่ง ความเข้มข้นของออกซิเจนต่ำผิดปรกติในเนื้อเยื่อที่เกิดโรค นอกเหนือจากนั้น ผลการวิจัยพบว่า
๑. มีการปรากฏของ Oxidative stress
๒. เมื่อมีการสร้างอนุมูลอิสระขึ้นมา ไม่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระเพียงพอที่จะทำให้สารดังกล่าวหมดฤทธิ์ลง
๓. การเพิ่มขึ้นของแคลเซียมในเนื้อเยื่อ 

               การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การตรวจหาลำดับอาร์เอ็นเอ (RNA sequencing) ช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาคุณลักษณะทั่วไปของโรคนี้ เป็นกุญแจสำคัญในกระบวนการวิจัย

ค้นหาเครื่องหมายทางพันธุกรรม
               เมื่อข้อมูลการแสดงออกของยีนส์ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คณะผู้วิจัยก็ได้เสาะหาเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับอุบัติการณ์โรค WB และความรุนแรง โดยการใช้ชุดของยีนส์ที่พบในการศึกษษก่าอนหน้านี้ นักวิจัยได้ตรวจวัดระดับการแสดงออกของยีนส์จำนวน ๒๐๔ ยีนส์ในไก่เนื้อ ๙๖ ตัว
               จากรายการทั้งหมด ๓๐ ยีนส์ ที่มีความสำคัญที่สุดในไก่นำมาจัดกลุ่มเป็นกลุ่มที่มีเนื้ออกเป็นปรกติ ปานกลาง และรุนแรง คณะผู้วิจัย ได้ตรวจพบยีนส์ ๖ ยีนส์ที่มีการทำงานเพิ่มขึ้นในไก่ที่มีปัญหาเนื้ออกปานกลางถึงรุนแรงเปรียบเทียบกับไก่ปรกติ เครื่องหมายทางพันธุกรรมเหล่านี้ สามารถใช้ในการจัดกลุ่มไก่ที่มีการเลี้ยงเชิงพาณิชย์โดยมีหรือไม่มีโรคได้ นั่นคือ สามารถใช้พยากรณ์ความรุนแรงของโรคได้ งานนี้ พยาธิวิทยารับบทเป็นพระเอกได้ หลังจากหวั่นไหวว่าจะเป็นศาสตร์ที่สาบสูญ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ Erin Brannick ผู้อำนวยการ CANR Compartive Pathology Laboratory ในภาควิชาวิทยาศาสตร์อาหาร และยังเป็นพยาธิสัตวแพทย์ของสถาบันอีกด้วย ชื่นชมการวิจัยครั้งนี้ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อไก่เนื้อมากกว่า ๕๐๐ ล้านตัวต่อปีในเมืองเดล์มาร์วา เพื่อขับดันให้การวิจัยก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐฯได้ทุ่มทุนวิจัยกว่า ๑๗ ล้านบาทเป็นค่าขนมสำหรับนักวิจัยทั้งที่มหาวิทยาลัยเดวาแวร์ ถิ่นกำเนิดของโรคกัมโบโร มหาวิทยาลัยไอโอวา และมหาวิทยาลัยโอไฮโอ เพื่อศึกษาพื้นฐานด้านพันธุกรรมของโรค WB นี้     

แหล่งข้อมูล        Rosie Burgin August 19, 2016

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

ไข่ไก่เสริม EPA จากสาหร่ายกำลังฮอตในจีน

เมืองจีนไม่ได้มีแต่ชื่อเสียอย่างไข่ปลอมอย่างเดียว ด้านดีก็มีมากมายตอนนี้ไข่ไก่อุดมด้วย EPA (EPA, Eicosapentaenoic acid) เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชั้นสูง และชั้นกลางเป็นอย่างมากในประเทศจีนตามเมืองใหญ่ เช่น ปังกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉินเจิ้น ต่างแย่งกันวางขายไข่ไก่ที่มีราคาแพงกว่าปรกติถึง 10 เท่านี้แล้ว
               ในทางการแพทย์ แสดงให้เห็นว่า EPA สามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด และลดการสร้างลิ่มเลือด นอกเหนือจาก คุณประโยชน์ทางโภชนาการอีกมากมาย ไข่แดงคุณภาพสูงจากการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกใช้สารแนนโนคลอรอพซิส (Nannochloropsis) เสริมลงในอาหารแม่ไก่ เพื่อให้ส่ง EPA จากสาหร่ายตัวจิ๋วสู่ไข่แดง ผลการทดสอบ PONY organization test พบว่า กระบวนการนี้ช่วยเพิ่ม EPA วิตามินเอ และกรดไขมันไม่อิ่มตัวในไข่ไก่อุดมสารอาหารนี้ นอกเหนือจาก คุณประโยชน์ภายในแล้ว ยังพบว่า ไข่แดงมีคุณภาพดีขึ้นอีกด้วย   
               ไข่แดงอุดมสารอาหาร Aiyowe พัฒนาโดย ENN Science and Technology Development Co., Ltd. และนำเสนออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 โดยศูนย์ Microalgae Center ใน ENN Enery Research Institute เป็นหน่วยงานวิจัยสาหร่ายชั้นนำที่มีโรงงานแปรรูป และพัฒนาในประเทศจีน เทคโนโลยีสาหร่ายนี้ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการทั้งต้นสาย และปลายของของการผลิต รวมถึง การคัดเลือกสายพันธุ์ การออกแบบ PBR ใหม่ การเพาะเพิ่มจำนวนด้วยต้นทุนต่ำ การแปรรูป และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีสิทธิบัตรแล้วมากกว่า 100 ฉบับ การทดลองทั้งหมดในการพัฒนาไข่นวัตกรรมใหม่นี้ดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย และโรงงานสาธิต
               ภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นสำหรับสัตว์ แผนกสาหร่ายจิ๋วสายพันธุ์จีน (Sino-Microalgae) ของกลุ่ม ENN เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 และกลายเป็นผู้ผลิตชั้นนำ และทำการตลาดด้านสาหร่ายจิ๋ว และสารสกัดจากธรรมชาติ และผลิตเป็นผงแป้งของสาร Nannochlorophis ที่มีระดับ EPA แตกต่างกัน โดยผงแป้งจากสารหร่ายตามธรรมชาติของ ENN ประกอบด้วยโปรตีนมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และน้ำมันที่มีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ การให้อาหารสัตว์ที่ผสมผลิตภัณฑ์ ENN microalgae เป็นส่วนประกอบสำหรับสัตว์ปศุสัตว์ ปลา และหอย ช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต การรอดชีวิต และภูมิคุ้มกัน นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ DHA และ EPA ยังสามารถสะสมในร่างกายของสัตว์ และนำส่งไปยังผู้บริโภคบนโต๊ะอาหารได้                
               บริษัท Sino-Microalgae ได้ดำเนินธุรกิจฟาร์มเพาะสาหร่าย 3 แห่ง มีพื้นที่ประมาณ 1.2 ล้านตารางเมตร ผลผลิตต่อปีของสาหร่ายสไปรูไลนาประมาณ 1,200 ตัน ฮีมาโตคอคคัส พลูเวียลิส (Haematococcus pluvialis) 200 ตัน และคลอเรลลา (Chlorella) 600 ตัน นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เป็นผงแป้งของสาหร่ายจิ๋วตามธรรมชาติ รวมถึง สารแนนโนคลอรอพซิส (Nannochloropsis) คลอเรลลา (Chlorella) สไปรูไลนา (Spirulina) ดูนาเลียลา ซาลินา (Dunaliella salina) ฮีมาโตคอคคัส พลูเวียลิส (Haematococcus pluvialis) และชิโซชัยเทรียม (Schizochytrium) ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึง DHA, EPA, ARA, Astaxanthin, Beta-carotene, Phycocyanin, Fucoidan และ Xanthan gum
               การพัฒนาระยะแรก ไข่ EPA นับเป็นระยะแรกของกระบวนการพัฒนาสำหรับ Sino-Microalgae และ ENN เพื่อแสดงให้เห็นว่า EPA และ DHA จากสาหร่ายตามธรรมชาติสามารถนำส่งเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารอย่างปลอดภัยในรูปแง เม็ด และน้ำมัน ความสำเร็จของไข่ Aiyowe EPA egg พิสูจน์ให้เห็นถึง ความเป็นไปได้ในการผลิตไข่หลากหลายรูปแบบเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงไก่โดยใช้สาหร่ายจิ๋วที่ประกอบด้วยสารโภชนะหลายชนิด ช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของไข่  ดังนั้น นักวิจัย สามารถเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของไข่ได้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น ไข่สำหรับเด็กที่ประกอบด้วย DHA มากกว่าปรกติ เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเซลล์สมอง และเส้นประสาทตา ขณะที่ ไข่สำหรับผู้สูงวัยก็ควรประกอบด้วย EPA เพื่อช่วยลดไขมันในเลือด

 แหล่งข้อมูล       Algae Industry Magazine (Aug 23, 2016)

ลดโปรตีนให้ผลการเลี้ยงไก่ดีขึ้น

  แม้ว่าจะลดโปรตีนในอาหารสัตว์ปีก ผลการเลี้ยงก็ยังดีขึ้นได้ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระดับโปรตีนที่สูงไม่จำเป็นแล้วในอาหารสัตว...