วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2565

แร่ธาตุในอาหารไก่พันธุ์ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และการพัฒนากระดูกไก่เนื้อ

 แหล่งของแร่ธาตุที่ใช้เติมอาหารสัตว์มีหลายแหล่งด้วยกัน อาหารสัตว์ปีกส่วนใหญ่นิยมใช้แร่ธาตุอนินทรีย์ เช่น โมโนแคลเซียม ฟอสเฟต หรือชอล์ก อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่จะใช้แร่ธาตุอินทรีย์ที่จับกับกรดอะมิโน หรือโปรตีน เพื่อเป็นการเพิ่มการดูดซึมสารอาหารในลำไส้ และช่วยให้แร่ธาตุสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นในร่างกายสัตว์

ถ้าแร่ธาตุชนิดอินทรีย์ใช้ได้ดีสำหรับไก่นี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับไก่พ่อแม่พันธุ์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีแร่ธาตุเพิ่มขึ้นสำหรับไข่ฟักที่จะให้ตัวอ่อนสามารถใช้ประโยชน์ได้ หากมีแร่ธาตุที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเพียงพอในไข่ฟัก จะช่วยให้การพัฒนากระดูกของตัวอ่อนดีขึ้น และลดปัญหาขาพิการในไก่เนื้อได้ ผลของแหล่งแร่ธาตุชนิดต่างๆในอาหารไก่พ่อแม่พันธุ์ต่อการพัฒนาของกระดูกในไก่เนื้อ ยังศึกษากันค่อนข้างน้อย และมีแต่ในไก่เนื้อสายพันธุ์ปรกติ ไม่ใช่ไก่เนื้อโตช้า นั่นจึงเป็นสาเหตุที่มหาวิทยาลัยวาเคอนิงเงิน เริ่มศึกษาผลของแหล่งแร่ธาตุทั้งชนิดอินทรีย์ หรืออนินทรีย์ในอาหารไก่พันธุ์ มีความสัมพันธ์กับการพัฒนากระดูกและการเจริญเติบโตในไก่เนื้อสายพันธุ์ปรกติ และสายพันธุ์โตช้าอย่างไรบ้าง  ลูกไก่จากไก่พ่อแม่พันธุ์ที่ให้แร่ธาตุชนิดอินทรีย์น่าจะมีกระดูกที่แข็งแรงขึ้น เนื่องจาก ความหนาแน่นของแร่ธาตุเพิ่มสูงขึ้น

การทดลอง

               ในการศึกษาครั้งนี้ ไก่แม่พันธุ์สายพันธุ์รอส ๓๐๘ และฮับบาร์ด เจเอ ๖๗ จำนวน ๑๒๐ ตัวต่อสายพันธุ์ โดยใช้ไก่พ่อพันธุ์ ๑๒ ตัวต่อสายพันธุ์ ให้อาหารไก่พันธุ์เป็นเป็นเวลา ๑๐ สัปดาห์ ที่ประกอบด้วยแร่ธาตุ แคลเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี แมงกานีส ทองแดง เหล็ก และซีลีเนียม ในรูปแบบอนินทรีย์ หรืออินทรีย์ ตามกลุ่มการทดลองที่ประกอบด้วย รอสให้แร่ธาตุอนินทรีย์ รอสให้แร่ธาตุอินทรีย์ ฮับบาร์ดให้แร่ธาตุอนินทรีย์ และฮับบาร์ดให้แร่ธาตุอินทรีย์

               ภายหลังจากให้อาหารไก่พันธุ์ตามกลุ่มต่างๆเป็นเวลา ๑๐ สัปดาห์ เก็บไข่ฟัก แล้ววิเคราะห์ความเข้มข้นของแร่ธาตุ ไข่ฟักบางส่วนนำมาฟักเป็นลูกไก่ เพื่อวิเคราะห์ความเข้มข้นของแร่ธาตุในร่างกาย  ลูกไก่เพศผู้จำนวน ๓๘๔ ตัว จัดแบ่งเลี้ยงเป็น ๓๒ กรงในพื้นที่ ๑.๒๕ × ๒.๐๐ เมตร แต่ละกรงมีลูกไก่ ๑๒ ตัว อุณหภูมิ ๓๒ องศาเซลเซียสลดลงเป็น ๒๒ องศาเซลเซียสในวันที่ ๒๕ เป็นต้นไป การใช้โปรแกรมแสง ๒๔ ชั่วโมงต่อวันสำหรับลูกไก่อายุ ๓ วันแรก หลังจากนั้น จึงปรับเป็น ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน ลูกไก่รอสถูกเลี้ยงจนถึงอายุ ๔๓ วัน และฮับบาร์ด ๔๙ วัน โดยได้รับอาหารแบบไม่จำกัดเป็น ๓ ระยะตามปตกิ ลูกไก่แรกเกิดได้รับวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ แล้วให้วัคซีนนิวคาสเซิลที่อายุ ๑๑ วัน

การประเมินผลการทดลอง

               ลูกไก่ชั่งน้ำหนักเป็นรายตัวที่อายุ ๑๐ ๑๔ ๒๑ ๒๘ ๓๕ ๔๒ และ ๔๙ วัน การกินอาหารระหว่างอายุ ๑ ถึง ๑๔ วัน ๑๔ ถึง ๓๕ วัน ๓๕ ถึง ๔๙ วัน และตลอดช่วงการเลี้ยง ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารนำมาคำนวณในระยะดังกล่าวด้วย

               เมื่อน้ำหนักได้ ๒,๖๐๐ กรัม ที่อายุ ๓๘ วันสำหรับรอส และ ๔๙ วันสำหรับฮับบาร์ด คัดไก่จำนวน ๓ ตัวต่อกรง แล้วประเมินขาข้างซ้าย ให้คะแนนโดยสัตวแพทย์สำหรับปัญหาขา แล้วดึงกระดูกแข้งข้างขวาสำหรับการตรวจประเมินต่อไป

               น้ำหนัก ความยาว ปริมาตร ปริมาณแร่ธาตุ และความหนาแน่นแร่ธาตุของกระดูกต้นขา นำมาประเมิน สุดท้าย กระดูกต้นขาเดียวกันนี้ก็นำมาหัก เพื่อประเมินความแข็งแรงของกระดูก กระดูกที่แข็งแรงที่มีแร่ธาตุสะสมมากก็จะใช้แรงหักมากกว่า จึงสามารถค้ำจุนน้ำหนักตัวไก่ได้ดีกว่า

ผลการทดลอง

               โดยเฉลี่ยแล้ว อัตราการฟักอยู่ที่ร้อยละ ๘๖ ของไข่มีเชื้อทั้งหมด พบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มการทดลองที่ให้อาหารสูตรต่างๆ ไม่มีผลกระทบของแหล่งแร่ธาตุในอาหารไก่พันธุ์ต่อคุณภาพลูกไก่แรกเกิดเช่นกัน อิทธิพลของแหล่งแร่ธาตุที่ให้กับไก่พ่อแม่พันธุ์ต่อความเข้มข้นแร่ธาตุในไข่ฟัก และในลูกไก่วันแรกมีค่อนข้างน้อย ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม แหล่งของแร่ธาตุในอาหารไก่พ่อแม่พันธุ์มีผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของไก่เนื้อสายพันธุ์ฮับบาร์ด ขณะที่ยังไม่ชัดเจนสำหรับไก่เนื้อสายพันธุ์รอส

               ในลูกไก่สายพันธุ์ฮับบาร์ด ความแตกต่างระหว่างน้ำหนักตัวที่อายุ ๔๙ วัน ระหว่างอาหารไก่พันธุ์ชนิดอินทรีย์ และอนินทรีย์เป็น ๑๓๒ กรัม การกินอาหาร และประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารไม่ได้รับอิทธิพลจากแหล่งของแร่ธาตุของไก่พันธุ์ ผลของแหล่งแร่ธาตุในอาหารไก่พันธุ์ต่อกระดูกแข็งชัดเจนมาก ลูกไก่จากอาหารไก่พันธุ์ที่ให้อาหารสัตว์ที่ใช้แร่ธาตุอินทรีย์มีการพัฒนาที่ดีกว่า สำหรับลักษณะของกระดูกแข้งพบได้ในลูกไก่ฮับบาร์ดเท่านั้น และไม่พบในลูกไก่รอส ขณะที่ ลักษณะของกระดูกแข้งอื่นๆ พบได้ทั้งฮับบาร์ด และรอส

               การพัฒนากระดูกเป็นผลดีสำหรับการรับน้ำหนักของสัตว์ และทำให้ปัญหาขาน้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ไม่พบความสัมพันธ์กับปัญหาขาที่น้อยลง สัดส่วนของลูกไก่ที่มีปัญหาขาพบน้อยมากในการทดลองนี้ และไม่พบความแตกต่างระหว่างแหล่งแร่ธาตุทั้งสองชนิดในอาหารไก่พันธุ์

ผลการทดลองที่ชัดเจน

               แร่ธาตุชนิดอินทรีย์ในอาหารไก่พันธุ์มีผลบวกต่อคุณภาพของกระดูกแข้งของไก่เนื้อ สำหรับสายพันธุ์รอส และฮับบาร์ด โดยเห็นได้ชัดเจนอย่างมากในลูกไก่สายพันธุ์โตช้า นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะ ลูกไก่ฮับบาร์ด เนื่องจาก การกินอาหารของไก่พันธุ์ที่ลดลง แต่เป็นไปได้ว่า ผู้วิจัยยังไม่ได้คิดถึงระดับที่เหมาะสมของแร่ธาตุในอาหารไก่พันธุ์สายพันธุ์โตช้า ปริมาณของแร่ธาตุทั้งในไข่ฟัก และลูกไก่วันแรกแทบไม่แตกต่างกัน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ผลของแร่ธาตุชนิดอินทรีย์ในอาหารสัตว์ส่งผลอย่างไรต่อไก่เนื้อ

เอกสารอ้างอิง

Henry van den Brand, Bahadir Can Güz, Roos Molenaar and Ingrid de Jong, 2022. Mineral source in parent feed affects broiler growth and bone development. [Internet]. [Cited 2022 Nov 4]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/nutrition/mineral-source-in-broiler-parent-feed-affects-broiler-growth-and-bone-development/

ภาพที่ ๑ แร่ธาตุในอาหารไก่พันธุ์ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และกระดูกไก่เนื้อ (แหล่งภาพ Henk Riswick)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แมคโดนัลด์ทยอยเปิดร้านใหม่ในยูเครน

  นับตั้งแต่เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นต้นไป แมคโดนัลด์เริ่มเปลี่ยนไปใช้ไก่จากบริษัทเอ็มเอชพีสำหรับร้านจำหน่ายสินค้าในยูเครน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป...