วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ปฏิวัติสู่ยุคหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ปีก


โลกสมัยใหม่ หรือแม้แต่ในเมืองไทย การแสวงหาแรงงานท้องถิ่นที่อยากจะทำงานหนักในภาคเกษตรกรรมอย่างฟาร์มเลี้ยงไก่ช่างยากเย็นเหลือเกิน กลุ่มนักวิชาการด้านแรงงานอาจเถียงว่า ทางออกที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการก็ควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานในฟาร์มให้ดีขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการมีทางเลือกใหม่ในการใช้หุ่นยนต์เข้าแทนที่แรงงาน

              หุ่นยนต์ (Robotics) สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการหมดกังวลเรื่องปัญหาแรงงาน และเพิกเฉยต่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานได้ เพราะโรงเรือนเลี้ยงไก่ไม่ได้ตั้งใจสร้างขึ้นให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของไก่เป็นเป้าหมายหลัก อุปกรณ์อัตโนมัติที่ช่วยตรวจตราพฤติกรรมไก่ แล้วบันทึกข้อมูลเข้าถึงในระดับตัวไก่ได้มากขึ้นตลอดเวลา กำลังกลายเป็นเรื่องปรกติในฟาร์มเลี้ยงไก่ ตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ โรโบชิก (RoboChick) เป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย และอุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักร โครงการนี้กำลังอยู่ในขั้นทดลองในฟาร์มเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนากระบวนการเดินตรวจตราพฤติกรรมไก่ให้สอดคล้องกับราชวิทยาลัยสัตวแพทย์ (Royal Veterinary College, RVC) สำหรับโครงการวิจัยนี้จุดประกายมาจากวิธีการตรวจตราพฤติกรรมไก่ตามปรกติไม่สามารถมองเห็นไก่เป็นรายตัวได้ นอกจากนั้น ฟาร์มสมัยใหม่เพิ่งเริ่มใช้ระบบเซนเซอร์เล็กๆเพื่อตรวจตราไก่ หากเป็นยี่สิบปีที่แล้วก็นับได้ว่าทันสมัยมากแล้ว แต่วันนี้ ฟาร์มเลี้ยงไก่มีจำนวนไก่มากกว่าเดิมเยอะ การใช้เซนเซอร์คอยวัดอุณหภูมิสัก ๓ หรือ ๔ ตำแหน่งเป็นอย่างมาก อาจมีเพิ่มวัดความชื้นขึ้นได้อีกสัก ๒ ตำแหน่ง แต่ก็ยังไม่อาจวัดได้ถึงระดับตัวไก่ ความรู้สึกจริงๆที่ไก่รู้สึกได้



เริ่มจากทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ

                  แล้วทฤษฎีก็นำไปสู่การปฏิบัติจากโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบได้ที่ระดับตัวไก่จริง แถมตรวจสอบตลอดเวลาไม่มีการพักผ่อน และไม่ต้องรบกวนให้ไก่ต้องตื่นตกใจกลายเป็นความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต โครงการวิจัยนี้เริ่มจากความร่วมมือหลายภาคส่วนทั้งราชวิทยาลัยสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์เปอร์ อดัมส์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ และผู้ผลิตหุ่นยนต์จากบริษัท รอส โรโบติก (Ross Robotics) จนได้ผลการวิจัยได้เป็นนวัตกรรมใหม่ โรโบชิก ภายหลังการทดลองในฟาร์มขนาดเล็กเป็นการออกแบบอุปกรณ์พื้นฐานที่สามารถตรวจติดตามพฤติกรรมไก่ และสิ่งแวดล้อมโดยไม่ส่งผลรบกวนความเป็นอยู่ตามปรกติ  

              การทดสอบแรกเริ่มจากฟาร์มเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์โดยใช้เครื่องมือง่ายๆที่ใช้เป็นแผ่นการ์ดบอร์ดจะได้ปรับแต่งได้ง่าย สิ่งแรกที่ได้คือ ไก่แสดงอาการตื่นตกใจเมื่อเห็นหุ่นยนต์ผ่านไปมา แต่ผ่านเพียงหนึ่งวัน เมื่อหุ่นยนต์ทำงานตลอดเวลาภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่ ไก่ก็จะเริ่มคุ้นเคยเสมือนเป็นสมาชิกตัวหนึ่งในฝูง ไม่มีอาการตื่นตกใจอีกต่อไป ผู้วิวัยยังเพิ่มตัวอย่างซ้ำอีกเป็นการสร้างความมั่นใจ แล้วก็ได้สังเกตเห็นว่า ไก่แสดงอาการอยากรู้อยากเห็นสนใจหุ่นยนต์ แล้วยังชอบเหยียบย่ำปรากฏเป็นรอยเท้าบนหุ่ยนต์ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงต้องปรับการออกแบบเพิ่มเติมป้องกันไม่ให้ไก่กระโดดขึ้นลงเล่นบนหุ่นยนต์ แถมบางตัวยังชอบไปนั่งคร่อมอีกด้วย



การทดลองในฟาร์ม

              หลังจากผ่านรุ่นแรกของการเลี้ยงภายในฟาร์มทดลองของมหาวิทยาลัยแล้ว นักวิจัยก็เริ่มสนใจทดลองในฟาร์มเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์จริงๆบ้าง บริษัทฟาร์ม Applied Poultry อาสาให้ทดลองในฟาร์มตนเอง ๒ โรงเรือน โรงเรือนหนึ่งทดลองใช้หุ่นยนต์รุ่นล่าสุด จากโรโบชิกเปรียบเทียบกับอีกโรงเรือนเป็นกลุ่มควบคุม ตลอดการเลี้ยง โรโบชิก เดินสำรวจทั่วโรงเรือนวันละ ๒ รอบ เป็นเส้นทางวนไปวนมาเดินไปบนวัสดุรองพื้นใช้เวลา ๒ ชั่วโมงต่อรอบ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่า เมื่อสิ้นสุดการเลี้ยง ในโรงเรือนที่ใช้หุ่นยนต์ ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารดีขึ้นร้อยละ ๒.๙ และคัดไก่น้อยลงร้อยละ ๑๘.๗ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม นักวิจัยเชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่หุ่นยนต์ไปกระตุ้นให้ไก่มีการเคลื่อนไหว การที่ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารดีขึ้นเกิดจากควมสม่ำเสมอของตัวไก่ที่ดีขึ้น หุ่นยนต์กำลังสลายภาวะผู้นำฝูงที่เกเรข่มเพื่อนไก่ตัวอื่นๆ เพื่อนๆไก่ส่วนใหญ่จึงสามารถเข้าหาอาหาร และน้ำดีขึ้น ก่อนหน้านี้ อาจเชื่อกันว่า การกระตุ้นให้ไก่มีกิจกรรม และเคลื่อนที่มากขึ้นจะไม่เป็นผลดีต่อการแลกเปลี่ยนอาหาร แต่การทดลองครั้งนี้ใช้หุ่นยนต์ไปคอยกระตุ้นให้ไก่ตัวน้อยเดินไปกินอาหาร และน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนั้น ยังสังเกตเห็นว่า ฝูงไก่มีพฤติกรรมก้าวร้าวลดลง เมื่อปราศจากหัวหน้าแก๊งค์อันธพาล เพื่อนไก่ปรับตัวให้คุ้นเคยกับหุ่นยนต์ ปัจจุบัน โรโบชิกกำลังมองหาฟาร์มที่จะร่วมทดลองต่อไป เพื่อปรับปรุงออกแบบให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคตก่อนที่จะเปิดตัวจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป

  

บริษัทหุ่นยนต์

๑.     หมึกยนต์ (Octupus Robotics) ผลิตขึ้นโดยโรงงานผลิตหุ่นยนต์สัญญาติฝรั่งเศส Octupus Scarifier เป็นเครื่องยนต์อัตโนมัติที่ออกแบบให้สามารถระบายของเสียออกจากวัสดุรองพื้น และตรวจสอบสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรือนได้ตั้งแต่อุณหภูมิ ความชื้น ระดับแอมโมเนีย และความเข้มแสง บริษัทผู้ผลิตอ้างว่า การพรวนวัสดุรองพื้น หรือแกลบ ซึ่งความจริงในแถบตะวันตกใช้เป็นขี้กบนั้น สามารถลดปัญหาโรคสำคัญ เช่น โรคแอสเปอร์จิลโลซิส ฝ่าเท้าอักเสบ ข้าเข่าอักเสบ และอกเป็นหนอง เป็นต้น หมึกยนต์สามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุม และวิ่งทำงานได้เป็น ๒๔/๗ หรือยี่สิบสี่ชั่วโมง ตลอด ๗ วัน ไม่มีวันหยุด ไม่เรียกร้องความยุติธรรม แต่ต้องมีหน่วยชาร์จพลังงานไว้ในโรงเรือนสักหน่อย แต่หมึกยนต์จะเดินไปได้เอง ไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุมอีกแล้ว

๒.    สปุตนิค (Spoutnic) เป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กลงมาหน่อย เล็กกว่าตัวอื่นๆที่มีวางขายในตลาด และออกแบบไว้เพื่อกระตุ้นให้ไก่ตื่นตัวตลอดเวลาในโรงเรือนเลี้ยงไก่พันธุ์ (เนื้อ) เพื่อกระตุ้นหรือสอนให้แม่ไก่ขึ้นรังไข่ บริษัทผู้ผลิตอ้างว่า ขนาดตัวที่เล็กกะทัดรัดทำให้เคลื่อนตัวได้ง่ายไปทั่วโรงเรือน และยังสามารถเคลื่อนไปได้บนวัสดุรองพื้นที่ขรุขระไม่ได้เรียบอะไรเหมือนพื้นบ้าน นอกจากนั้น ยังสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่างๆได้อัตโนมัติ น้ำหนักอยู่ที่ ๑๐ กิโลกรัม มีแบตเตอรีใช้ได้นาน ๘ ชั่วโมง ปรับตั้งความเร็วได้เป็น ๖ ระดับจากช้าไปเร็ว เลือกใช้งานได้ตามความฉลาดของแม่ไก่ ผลิตโดยโรงงานฝรั่งเศสอีกราย Tibot

๓.    หุ่นเด็กเลี้ยงไก่ (ChickenBoy) คู่แข่งสำคัญมาแล้วจากสเปนบ้าง บริษัทผู้ผลิต Faromatics SL หุ่นเด็กเลี้ยงไก่อาจแตกต่างจากระบบอัตโนมัติเล็กน้อย เพราะเพิ่งยกเลิกระบบเดิมที่แขวนไว้บนเพดานโรงเรือน แล้วตรวจติดตามพฤติกรรมไก่จากข้างบน โดยใช้กล้องถ่ายภาพ และเซนเซอร์ เพื่อวิเคราะห์ภาพปรากฏ เช่น ไก่ตาย หรือวัสดุรองพื้นเสื่อมคุณภาพ ระดับเสียง และสิ่งแวดล้อม โดยการวัดอุณหภูมิ ความเร็วลม หรือคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น       



เอกสารอ้างอิง

Davies J. 2019. Robotics revolution happening now. [Internet]. [Cited 2019 May 8]. Available from: https://www.poultryworld.net/Home/General/2019/5/Robotics-revolution-happening-now-425378E/
              


ภาพที่ ๑ นอกเหนือจากตรวจตราไก่ในฟาร์ม หุ่นยนต์ยังช่วยกระตุ้นให้ไก่เล็กแกรนลุกขึ้นไปกินน้ำกินอาหาร ช่วยให้ความสม่ำเสมอของไก่ในฝูงดีขึ้นได้อีกด้วย (แหล่งภาพ Poultry World)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มิชิแกนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหวัดนก

  โรคไข้หวัดนกยังคงระบาดในสหรัฐฯ สองปีที่ผ่านมา สหรัฐฯมีไก่มากกว่า ๙๐ ล้านตัว และนกป่า ๙,๐๐๐ ตัวที่ติดเชื้อด้วยเอช ๕ เอ็น ๑    ในรอบเดือนท...