วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562

วัคซีนจากพืชป้องกันโรคนิวคาสเซิล


การพัฒนานวัตกรรมวัคซีนจากพืช เพื่อป้องกันโรคนิวคาสเซิลใกล้ความเป็นจริงจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยในสหราชอาณาจักร
               โครงการวิจัยกรอบเวลาสี่ปีจากการจับมือกันระหว่างวิทยาลัยสัตวแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม และสถาบันวิจัย Rothamsted เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิลโดยใช้พืช
               โรคนิวคาสเซิลเป็นโรคระบาดร้ายแรงในสัตว์ปีกเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ สายลบ กลุ่มพารามิกโซไวรัสชนิดที่ ๑ อัตราการตายสูง และเป็นโรคระบาดที่ต้องรายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์โลก หรือโอไออี การระบาดของโรคยังเกิดขึ้นได้เป็นประจำ แม้ว่าจะมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย ส่งผลกระทบต่อการผลิตสัตว์ปีกทั่วโลก การป้องกันโรคจึงยังเป็นสิ่งท้าทายผู้ผลิต เนื่องจาก โรคนี้มีนกตามธรรมชาติเป็นพาหะนำโรค และสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสให้กลายพันธุ์ และหลบหลีกการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของสัตว์ภายหลังการให้วัคซีน
               นักวิจัยอ้างว่า การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้วัคซีนมีประสิทธิภาพดีขึ้น วัคซีนในอุดมคติควารช่วยป้องกันโรคได้กว้างขวางหลายสายพันธุ์ หรือเลือกใช้แอนติเจนที่ตรงกับสายพันธุ์ที่เกิดการระบาดให้ได้รวดเร็วที่สุด ต้นทุนต่ำ และให้กับสัตว์ได้ง่ายๆในอาหาร หรือน้ำ วัคซีนจากพืชน่าจะตอบโจทย์ได้ครบที่สุดแล้ว โครงการวิจัยนี้นำโดย Associate professor Stephen Dunham ที่มหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม และ Dr. Kostya Kanyuba จากสถาบันวิจัย Rothamsted
Ø  การพัฒนาโครงสร้างของเวกเตอร์สำหรับผลิตโปรตีนของเชื้อไวรัส เริ่มจากการเลือกสรรสายนิวคลีโอไทด์ และโปรตีนที่พื้นผิวไวรัสนิวคาสเซิล สำหรับให้พืชผลิต แล้วโคลนเข้าสู่เวกเตอร์ผลิตโปรตีนจากพืช
Ø  ปรับการทำงานให้เวกเตอร์จากพืชผลิตโปรตีนในใบยาสูบ (Nicotiana benthamiana) ภายหลังการใช้เทคนิค agroinfiltration ด้วยเชื้อแบคทีเรีย Agrobacterium tumefaciens แล้วนำโปรตีนที่ได้นำมาเตรียมให้บริสุทธิ์ และตรวจสอบคุณลักษณะก่อนการวิเคราะห์แอนติเจน แล้วนำมาให้กับไก่ต่อไป
Ø การตรวจสอบคุณลักษณะทางแอนติเจนของโปรตีนรีคอมบิแนนท์ อาศัยเทคนิคอีไลซา เพื่อทดสอบการจับกับแอนติบอดีโดยใช้ชุดของซีรัมจากไก่ที่ติดเชื้อ หรือให้วัตซีน
Ø การทดลองกระตุ้นภูมิคุ้มกันไก่ด้วยโปรตีนรีคอมบิแนนท์ ปฏิกิริยาของแอนติบอดีจากซีรัมกับชุดของเชื้อไวรัสอาศัยเทคนิคฮีแมกกลูติเนชัน อินฮิบิชัน หรือเอชไอ และการทดสอบนิวทรัลไลเซชัน หรือวีเอ็น เพื่อยืนยันความสามารถในการป้องกันโรค ก่อนการพัฒนาเป็นวัคซีนสัตว์ปีกต่อไป

เอกสารอ้างอิง

ภาพที่ ๑ หยิบภาพมาจากเวบไซต์หนึ่งที่อ้างว่า มาเลเซียกำลังพัฒนาวัคซีนจากพืช เมื่อเร็วๆนี้เช่นกัน (แหล่งภาพ https://today.mims.com/malaysia-to-attempt-creating-plant-based-vaccines-to-address-the--halal-vaccine--problem



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มิชิแกนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหวัดนก

  โรคไข้หวัดนกยังคงระบาดในสหรัฐฯ สองปีที่ผ่านมา สหรัฐฯมีไก่มากกว่า ๙๐ ล้านตัว และนกป่า ๙,๐๐๐ ตัวที่ติดเชื้อด้วยเอช ๕ เอ็น ๑    ในรอบเดือนท...