วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ผู้ผลิตไก่สหรัฐฯ หวังโอกาสจากโรค ASF ในจีน


อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกคอยรับประโยชน์จากเคราะห์ร้ายของจีนที่โรคระบาดได้กวาดล้างประชากรสุกรในประเทศอย่างหนัก ผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีกสหรัฐฯ ตั้งหน้าตั้งตาคอยความหวังส้มหล่นจากสถานการณ์นี้ว่า จีนจะกลับมาอนุญาตนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกสหรัฐฯอีกครั้ง

              ขณะนี้ โรคอหิวาต์สุกรแอฟริกันได้ทำลายประชากรสุกรในจีน และประเทศใกล้เคียงบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรปตะวันออก นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญครั้งหนึ่งของเศรษฐศาสตร์โปรตีนโลก ผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีกสหรัฐฯ กำลังจับตาคอยประโยชน์จากวิกฤติการณ์อันเลวร้ายของประเทศจีน แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่า โอกาสนี้จะเปิดกว้างไปได้อีกนานสักเท่าไร



สถานการณ์ปัจจุบันของโรคไข้หวัดแอฟริกา

              โรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน(African swine fever, ASF) เป็นโรคระบาดร้ายแรงที่ทำให้สุกรตายเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่มีวัคซีน หรือยารักษาได้ในปัจจุบัน ขณะนี้ได้แพร่ระบาดในประเทศจีน และทำลายสุกรไปแล้วหลายล้านตัว การระบาดเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ปีที่แล้วมานี้เอง แต่สถานการณ์ยังคงแย่เหมือนเดิม แม้ว่า รัฐบาลจีนจะอ้างว่า สถานการณ์ควบคุมไว้ได้แล้ว แต่รายงานที่เปิดเผยออกมาดูจะขัดแย้งกันมาก ยิ่งในเวลานี้ โรคได้แพร่ไปยังประเทศไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา แล้ว

              จีนเป็นผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ของโลก นักวิเคราะห์สถานการณ์โปรตีนโลกจากโรโบแบงค์ อ้างว่า ยอดการผลิตสุกรในจีนสูงถึง ๗๐๐ ล้านตัวต่อปี จากสถานการณ์ของโรคระบาดครั้งนี้ คาดว่า ยอดการผลิตจะหายไปราวร้อยละ ๓๐ หรือสุกรหายไป ๑๕๐ ถึง ๒๐๐ ล้านตัวจนถึงสิ้นปีนี้

              สถานการณ์ของโรค ASF สามารถฟื้นฟูเป็นปรกติได้ บทเรียนในอดีตแสดงให้เห็นว่า หากประเทศผู้ผลิตสุกรตั้งใจทำลายสัตว์ป่วยทิ้งจริงๆ สามารถกำจัดโรคได้ แต่อาจใช้เวลาหลายปีสักหน่อย เนื่องจาก เชื้อไวรัสสามารถรอดชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานานมากในเนื้อสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ทนทานเป็นเวลาหลายสัปดาห์ในมูลสัตว์ และเป็นเวลานับเดือนในโรงเรือนเลี้ยงสุกร หรือรถขนส่ง ถึงเวลานี้ก็ยังไม่ทราบว่าโรคจะสงบลงเมื่อไรในจีน และคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่การเลี้ยงสุกรในประเทศจะฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิมได้ เปรียบเทียบกับในสเปน และโปรตุเกสที่มีขนาดประเทศเล็กกว่า และมีการพัฒนาการเลี้ยงก้าวหน้ากว่ามากก็ยังต้องใช้เวลานานกว่า ๓๐ ปี โรโบแบงค์คาดว่า โรค ASF จะทำให้ปริมาณอาหารประเภทโปรตีนลดลงร้อยละ ๕ ถึง ๗ หรือราว ๑๐ ล้านตันในปีนี้ การขาดแคลนอาหารประเภทโปรตีนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก



ผู้ผลิตสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบอย่างไร

              ความมืดมนของวิกฤตการณ์ในเมองจีนเป็นแสงตะวันฉายโอกาสให้ผู้ผลิคโปรตีนทั่วโลก ชาวจีนนิยมบริโภคเนื้อสุกร และเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาสู่ชนชั้นกลางผู้ชื่นชอบเนื้อมากที่สุดในโลก นักเศรษฐศาสตร์ด้านสัตว์ปีก กล่าวถึงราคาโปรตีนทั่วโลกกำลังแพงขึ้นหลังจากวิกฤติการณ์โรค ASF ในจีน นอกจากนั้น ความเสียหายของสุกรในจีนทำให้ความต้องการถั่วเหลืองโลกกำลังลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม ราคาวัตถุดิบที่ต่ำลง ร่วมกับราคาโปรตีนที่แพงขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตอาหารประเภทโปรตีน โดยเฉพาะผู้ประกอบการผลิตเนื้อไก่ สถานการณ์นับว่าดีมาก หากสหรัฐฯจะไม่ถูกระงับการส่งออกไปยังจีน ผู้ประกอบการสหรัฐฯมีจังหวะที่ดีที่กำลังเปิดโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกใหม่ และกำลังปรับปรุงโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ขณะที่โรค ASF กำลังทำลายแหล่งอาหารประเภทโปรตีน แทนที่จะเกรงกลัวกันว่าจะเกิดการผลิตเกินความต้องการ โรงงานผลิตเนื้อสัตว์ปีกกำลังเปิดในช่วงเวลาที่เป็นโอกาสดีสอดคล้องกับความต้องการที่กำลังทวีเพิ่มมากขึ้น และจะได้ราคาจำหน่ายที่ดีมากด้วย  

              มุมมองด้านผู้ประกอบการอาหาร และธุรกิจการเกษตร เชื่อว่า ผลกระทบระยะสั้นจะเกิดขึ้นชั่วขณะ ราคาเนื้อไก่ และโปรตีนประเภทอื่นๆจะขยับขั้นอย่างช้าๆเทียบกับราคาเนื้อสุกร มุมมองจากตลาดหลักทรัพย์ โรค ASF เพิ่งเปิดฉากไม่กี่เดือนมานี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่ อย่างไทสัน พิลกริมส์ ไพรด์ และแซนเดอร์สัน ฟาร์ม ราคาขยับขึ้นแล้วตามข่าวความรุนแรงของการระบาดโรค ASF และความต้องการตามฤดูกาลสำหรับเนื้อไก่ก็เริ่มสูงขึ้นแล้วในเวลาเดียวกัน



ผลกระทบระยะยาว

              เมื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่า อุตสาหกรรมการผลิตไก่ และไก่งวงในสหรัฐฯจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค ASF ในปัจจุบันอย่างไร โดยทั่วไป เมื่อเกิดการขาดแคลนโปรตีนในจีน หมายความว่า โอกาสน่าจะเปิดกว้างขึ้นสำหรับประเทศต่างๆที่จะผลิตอาหารประเภทโปรตีนนี้เพื่อขายให้กับจีนแทน เชื่อได้ว่า โรค ASF จะต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการฟื้นฟู แม้ว่า โรคจะถูกกำจัดออกไปได้ทั้งหมดในช่วงข้ามคืน แต่ก็ต้องใช้เวลามากกว่า ๒๐ เดือนสำหรับจีนที่จะหวนกลับมาผลิตสุกรให้เพียงพอเท่ากับระดับก่อนการเกิดโรค ดังนั้น เชื่อได้ว่า เนื้อไก่จะได้รับอานิสงค์จากราคาเนื้อไก่ที่สูงขึ้นไปอีกหลายปีต่อจากนี้ 

              ไก่งวงยังได้รับอานิสงค์ไปด้วย เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนจากเนื้อสุกรไปเป็นเนื้อไก่งวง เป็นอาหารจานพิเศษในวันหยุด เมื่อไรก็ตามที่ขาดแคลนแฮมในตลาด เนื้อไก่งวงจะถูกใช้ทดแทนเสมอ เมื่อปริมาณแหล่งอาหารประเภทโปรตีนชนิดหนึ่งถูกลงในตลาดท้องถิ่นควรช่วยให้บรรเทาปัญหาปริมาณเนื้อไก่งวงที่ผลิตออกมามากเกินความต้องการลงได้ แต่ก็อาจไม่ได้ให้ผลประโยชน์โดยตรงได้จากตลาดจีน อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่า โรค ASF จะช่วยขับเคลื่อนในทางบวกสำหรับผลิตภัณฑ์อย่างเนื้อไก่งวงบด และเนื้อไก่งวง ไปทดแทนแฮม



โรค ASF จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และจีน

              คำถามที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรค ASF ต่ออุตสาหกรรมสัตว์ปีกสหรัฐฯ คือ สหรัฐฯจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังจีนได้อีกครั้งหรือไม่ ขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาเจรจาต่อรองระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพื่อสร้างข้อตกลงใหม่ระหว่างประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดสองประเทศ ในเวลานี้ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่า สถานการณ์โรค ASF ในจีนจะสามารถกดดันให้เกิดข้อตกลงนี้ได้อย่างไร ถึงกระนั้น พื้นฐานของการผลิต และความต้องการ บ่งชี้ว่า สหรัฐฯมีโอกาสจำหน่ายเนื้อสัตว์ให้จีนได้เป็นครั้งแรกในรอบสี่ปี

              สภาการส่งออกเนื้อสัตว์ปีก และไข่สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า จีนไม่ได้นำเข้าสินค้าแช่แข็ง หรือสัตว์ปีกพันธุ์จากสหรัฐฯ แต่อุตสาหกรรมการผลิตไก่ของจีน และความต้องการอาหารประเภทโปรตีนของประเทศกำลังเพิ่มขึ้น เชื่อได้ว่า สหรัฐฯจะสามารถกลับเข้าสู่ตลาดจีนได้อีกครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป และสถานการณ์ตลาดเนื้อสัตว์ในจีนรุนแรงขึ้น จีนจะถูกกดดันให้ต้องทำบางสิ่งเพื่อชดเชยความต้องการของประชาชน การเจรจาต่อรองระหว่างสหรัฐฯ และจีน และเนื้อไก่ และเนื้อไก่งวงจะเป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุดของภาคการเกษตรกรรมเหนือกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ ยิ่งกว่านั้น



ความเป็นไปได้สำหรับตลาดในจีน

              หากสหรัฐฯ สามารถค้าขายกับจีนได้อีกครั้ง จะเป็นประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกสหรัฐฯอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จีนจะยังนำเข้าไก่เพิ่มขึ้น หากจีนไม่หยุดห้ามการนำเข้าจากสหรัฐฯ แล้ว ก็จะนำเข้าจากบราซิล และผู้ส่งออกรายอื่นๆแทน ตลาดสัตว์ปีกในสหรัฐฯก็ยังจะคงได้ประโยชน์ เนื่องจาก ราคาเนื้อไก่ที่เพิ่มสูงขึ้น ในอดีต จีนเคยนำเข้าชิ้นส่วนเท้าไก่ และปลายปี รวมถึง ขา อีกด้วย ก่อนหน้าที่จีนจะห้ามการนำเข้าไก่จากสหรัฐฯ ด้วยการออกภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (anti-dumping duties) เมื่อแปดปีที่แล้วในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ส่งผลต่อยอดจำหน่ายเนื้อไก่ราว ๑.๑ พันล้านสหรัฐฯ แล้วต่อด้วยการห้ามนำเข้าอ้างเหตุโรคไข้หวัดนกในอีกห้าปีต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ สหรัฐฯ เคยส่งออกเนื้อไก่ให้จีนได้สูงถึง ๓๐,๐๐๐ เมตริกตัน หรือราวร้อยละ ๒ ของกำลังการผลิต หากการค้าสามารถกลับคืนมาได้ก็น่าจะพลิกฟื้นการยอดการส่งออกกลับคืนมาได้เหมือนเดิมเป็นอย่างน้อย

              ผู้ส่งออกสามารถหวังตั้งร้านค้าขายกันยาวๆในจีน เป็นตลาดช่องทางใหม่ในวิกฤติการณ์โรค ASF นี้ได้ จีนอยู่ภายใต้แรงกดดันสูงที่จะมีโอกาสผ่อนปรนการนำเข้าเนื้อไก่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก ราคาเนื้อสัตว์ที่ทะยานสูงขึ้นอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ความต้องการเนื้อไก่สหรัฐฯสูงมาก ท่ามกลางสถานการณ์ความขาดแคลนเนื้อสัตว์โลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาหารประเภทโปรตีนทุกชนิดก็อาจต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายด้านการโลจิสติก เวลานี้ โครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นตั้งแต่ห้องแช่แข็ง ห้องเย็น และตู้คอนเทนเนอร์ ยังเป็นคอขวดที่เป็นข้อจำกัดต่อการส่งออก สิ่งนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนมาก และใช้เวลาไม่น้อยเช่นกัน

              ขณะที่มีโอกาสงดงามสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ สหรัฐฯ จีนเองก็มุ่งหวังจะเลี้ยงตัวเอง คาดว่า จีนจะมีการขยายกำลังการผลิตสัตว์ปีก สัตว์ทะเล และไข่อย่างรวดเร็ว แต่ก็เชื่อได้ว่า ไม่ง่าย และไม่ทันการณ์ เนื่องจาก อายุไก่พันธุ์ที่แก่ลง และโรคระบาดในสัตว์ปีก การเพิ่มกำลังการผลิตสัตว์ปีกในจีนจะต้องใช้เวลาอีกนาน และยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ขาดแคลนเนื้อสุกรให้เลวร้ายลงไปอีก



เอกสารอ้างอิง

Alonzo A. 2019. What the US poultry industry needs to know about ASF. [Internet]. [Cited 2019 May 10]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/37636-what-the-us-poultry-industry-needs-to-know-about-asf



ภาพที่ ๑ ราคาเนื้อไก่ และเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆจะแพงขึ้น เนื่องจาก การระบาดของโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกา (แหล่งภาพ BigStockPhoto.com)    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มิชิแกนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหวัดนก

  โรคไข้หวัดนกยังคงระบาดในสหรัฐฯ สองปีที่ผ่านมา สหรัฐฯมีไก่มากกว่า ๙๐ ล้านตัว และนกป่า ๙,๐๐๐ ตัวที่ติดเชื้อด้วยเอช ๕ เอ็น ๑    ในรอบเดือนท...