งานวิจัยใหม่พบว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของไก่เนื้อเร็วไม่เพียงพอต่อการต่อสู้กับเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ในลำไส้
ผลการศึกษาการทำหน้าที่ของภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ในไก่ นักวิจัยพบว่า แอนติบอดีมีปัจจัยสำคัญต่อการกำจัดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ แต่กลับพบว่าการสร้างแอนติบอดีในไก่เนื้อไม่ทันเวลาในช่วงอายุขัยของสัตว์ จึงไม่เพียงพอต่อการกำจัดเชื้อจากลำไส้ได้ทั้งหมด แต่ยังสามารถป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพสัตว์เองได้ การใช้วัคซีนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไม่ทันจับไก่
นักวิทยาศาสตร์ทดลองเหนี่ยวนำไม่ให้มีการสร้างเม็ดเลือดในลูกไก่เนื้อ ก่อนที่จะป้อนเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน ที่อายุ ๓ สัปดาห์ จากนั้นเฝ้าติดตามระดับของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้เป็นเวลา ๙ สัปดาห์ พบว่า ระดับของเชื้อแบคทีเรียถูกยับยั้งโดยแอนติบอดีที่พบได้ตั้งแต่อายุ ๗ สัปดาห์เป็นต้นไป แสดงว่า การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์ที่อายุประมาณ ๖ สัปดาห์ สายเกินไปสำหรับการผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลโดย Paul Wigley ปฏิบัติงานในสถาบันโรคติดเชื้อ และสุขภาพ พบว่า เป็นสิ่งท้าทายสำหรับการสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในไก่เนื้อก่อนเข้าโรงฆ่าที่อายุ ๖ สัปดาห์ วัคซีนที่มุ่งกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบพึ่งพาเซลล์ หรือทางเลือกอื่นๆน่าจะช่วยเร่งการสร้างแอนติบอดีในไก่เนื้อได้ และเป็นหนทางที่มีความเป็นไปได้มากกว่าสำหรับควบคุมเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ และลดปริมาณเนื้อไก่ที่ปนเปื้อนเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ในซูเปอร์มาร์เกต
ไก่ที่ปลอดแคมไพโลแบคเตอร์ไม่น่าจะเป็นไปได้
ศาสตราจารย์ Wigley เล่าว่า มีวัคซีนหลายชนิดกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาระยะสุดท้าย และบางชนิดมีการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่า ผลิตภัณฑ์จะมีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายใน ๕ ปีนี้ แม้ว่า วัคซีนเหล่านี้จะไม่ได้มีประสิทธิภาพเต็มที่ เพียงลดระดับการสร้างนิคมของเชื้อแบคทีเรียที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหาร ศาสตราจารย์ Wigley มีความเห็นว่า ไก่ปลอดแคมไพโลแบคเตอร์ไม่น่าจะเป็นไปได้ นั่นคือ การกำจัดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่สามารถลดการปนเปื้อนเชื้อให้ต่ำกว่าแหล่งของการติดเชื้อสู่มนุษย์อื่นๆ เช่น เนื้อแดง สัตว์เลี้ยง หรือสิ่งแวดล้อม
การวิจัยครั้งนี้ได้รับทุนจากสภาเทคโนโลยีชีวภาพ และการวิจัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (BBSRC) โดยมีผลงานวิจัยชื่อว่า ลิมโฟไซต์ชนิดบีมีบทบาทที่จำกัดในการกำจัดเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน จากลำไส้ของไก่ ในวารสารวิจัยตีพิมพ์
เอกสารอ้างอิง
Davies J. 2017. Research reveals key challenge for Campylobacter vaccine. [Internet]. [Cited 2017 Apr 31]. Available from: http://www.poultryworld.net/Health/Articles/2017/3/Research-reveals-key-challenge-for-Campylobacter-vaccine-114004E/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น