วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

ไบโอตินสำหรับสัตว์ปีก สิ่งจำเป็นที่ราคาแพง

แม้ว่าจะใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อย ไบดอตินก็มีบทบาทสำคัญต่อเมตาโบลิซึม และเป็นปัจจัยสำคัญต่อต้นทุนของพรีมิกซ์วิตามิน
สำหรับวิตามินไบโอติน อัตราส่วนอย่างคร่าวๆประมาณ ๐.๑ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหารสัตว์ในอาหารไก่เนื้อ แต่ไบโอตินก็เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นมากในหลายด้านด้วยกัน ปริมาณอาจน้อยนิด คิดเป็นเพียง ๐.๑ กรัมต่ออาหาร ๑ ตันเท่านั้นในอาหารสำเร็จรูป ปริมาณเพียงเล็กน้อยขนาดนี้ต้องใช้เครื่องชั่งน้ำหนักที่มีความละเอียดสูง  
ทำไมต้องวิตกกังวลกับวิตามินที่ต้องใส่เป็นประจำอยู่แล้วในพรีมิกซ์วิตามิน เหตุผลก็คือ ต้นทุน ไบโอตินเป็นวิตามินที่มีราคาแพงที่สุดที่มีการใช้ในสูตรอาหารสัตว์ เมื่อพิจารณาอัตราการใช้ต่อกิโลกรัมอาหารสัตว์ ต้นทุนของวิตามินชนิดนี้จะไม่ใช่เรื่องตลกอีกต่อไปกับการเสียเวลาทำความรู้จักวิตามินชนิดนี้ให้มากขึ้น แต่เมื่อเราเริ่มต้นเตรียมพรีมิกซ์ และจำเป็นต้องซื้อไบโอตินทั้งกระสอบก็จะรู้สึกว่า มันแพงมาก ไบโอตินบริสุทธิ์ ดี-ไบโอติน (d-Biotin) เป็นรูปที่แอกทีฟของวิตามินมีต้นทุนสุงถึง ๓๑,๐๐๐ บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นกับปริมาณ แหล่งผลิต และความบริสุทธิ์ เมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินอี ซึ่งก็เป็นวิตามินราคาแพงเช่นกัน ต้นทุนของวิตามินอีแค่เพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของไบโอตินเท่านั้น ถึงเวลานี้คงต้องหันมาใส่ใจไบโอตินมากขึ้น

หลากหลายนามของไบโอติน
ไบโอตินถูกค้นพบมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่ระหว่างทศวรรษที่ ๑๙๒๐ ถึง ๑๙๔๐ โดยนักวิจัยหลายคณะจนทำให้ถูกตั้งชื่อไว้หลายชื่อเหลือเกิน เช่น วิตามิน บี ๗, โคเอนไซม์ อาร์ และวิตามิน เอช จนกระทั่ง นักวิจัยกลุ่มสุดท้าย ศึกษาโครงสร้างของวิตามินแล้ว ขนานนามใหม่เป็น ไบโอติน
ทุกวันนี้ ไบโอตินเป็นวิตามินละลายน้ำชนิดหนึ่งที่เป็นสมาชิกชนิดหนึ่งของกลุ่มวิตามินบีคอมเพล็กซ์ที่รู้จักกันดีว่าเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็น นั่นคือ สัตว์จำเป็นต้องได้รับวิตามินจากภายนอกผ่านอาหารสัตว์ ไม่ว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามธรรมชาติจะประกอบด้วยไบโอตินอย่างเพียงพอหรือไม่ก็ตาม

หน้าที่ของไบโอติน
ไบโอตินมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเมตาโบลิซึมของคาร์โบไฮเดรต ลิปิด และโปรตีน โดยเป็นวิตามินที่เป็นปัจจัยร่วมในการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายคาร์บอนไดออกไซด์จากโมเลกุลหนึ่งสู่อีกโมเลกุลหนึ่ง ว่ากันง่ายๆที่เซลล์ไหนๆก็ต้องใช้ไบโอติน โดยมีเอนไซม์ ๒ ชนิดที่สำคัญ ได้แก่ ไพรูเวต คาร์บอกไซเลส (Pyruvate carboxylase) และอะเซทิล-โคเอ-คาร์บอกไซเลส (Acetyl-CoA-carboxylase) เอนไซม์ที่สำคัญทั้งสองชนิดทำงานโดยอาศัยวิตามินที่จำเป็นต้องได้รับทุกวันในปริมาณที่ยากที่จะประเมินวัดได้

กลุ่มอาการขาดไบโอติน
เมื่ออาหารสัตว์ขาดไบโอตินจะส่งผลให้กระบวนการเมตาโบลิซึมพื้นฐานช้าลง แต่ในสัตว์ปีกมีกลุ่มอาการสำคัญ ๒ ประการที่ง่ายต่อการตรวจสอบกลุ่มอาการขาดไบโอติน
๑.  ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังหยาบ และตกสะเก็ด โดยเฉพาะรอบจอยปาก และพื้นผิวตอนบนของขา
๒. เอ็นเคลื่อน หรือเพอโรซิส (Perosis) มักเกิดร่วมกับการขาดกรดแพนโทธีนิก เอ็นเคลื่อนเป็นลักษณะภายนอกในฝ่าเท้าที่ขัดขวางการเคลื่อนที่
การทำความเข้าใจบทบาทของไบโอตินต่อสภาวะผิวหนังที่ดี อาจสังเกตได้จากสื่อโฆษณาสินค้าตามโทรทัศน์ หรืออินเตอร์เน็ต ได้แก่ สินค้าสุขภาพสำหรับบำรุงผม และเล็บ รวมถึง ฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ก็มีประสบการณ์มาแล้วสำหรับความแข็งแรงของกรงเล็บ หรือกีบ โดยเฉพาะ ปศุสัตว์ที่ต้องยืนบนพื้นเปียกบ่อยๆ

ไบโอติน และอะวิดิน ในไข่
ไบโอตินถูกค้นพบครั้งแรกในไข่ไก่ ที่อุดมไปด้วยวิตามินชนิดนี้ เนื่องจาก นักวิจัยสังเกตว่า การให้ไข่ขาวดิบกับสัตว์เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะขาดไบโอติน เรียกโรคนี้ว่า “ภัยจากไข่ขาว (White egg injury)” ขณะที่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ไข่ขาวก็ประกอบด้วย สารต่อต้านไบโอติน เรียกว่า อะวิดิน (Avidin) ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่จับกับไบโอตินในไข่แดง และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ปล่อยจากกันได้ภายใต้สภาวะปรกติ ทำไม ไข่ประกอบด้วยอะวิดินเป็นเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราพึงระลึกไว้เสมอก่อนจะให้ไข่ขาวดิบกับสัตว์ ความร้อนช่วยทำลายอะวิดิน และปลดปล่อยไบโอตินได้ ปริมาณของอะวิดินใกล้เคียงกันกับไบโอติน ดังนั้น ภาพจำลองที่เลวร้ายที่สุด อะวิดินในไข่จะไปหักล้างกับไบโอตินในไข่ โดยไม่ส่งผลต่อไบโอตินจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ หรือพรีมิกซ์

อาหารสัตว์แบบไหนที่ต้องเสริมไบโอติน
ธัญพืช เช่น ข้าวโพด และข้าวสาลี ประกอบด้วยไบโอติน ๐.๐๖ และ ๐.๑๑ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แหล่งโปรตีนที่สำคัญ เช่น กากถั่วเหลือง และเรพซีด ประกอบด้วยไบโอติน ๐.๒๖ และ ๐.๙๘ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ โดยทั่วไป ธัญพืชมีไบโอตินค่อนข้างต่ำเปรียบเทียบกับความต้องการของสัตว์ปีก แต่เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของอาหารสัตว์คิดเป็น ๖๕ เปอร์เซ็นต์ ในทางตรงกันข้าม แหล่งโปรตีนมีบทบาทน้อยกว่าโดยอัตราการเติมเพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่กลับเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินชนิดนี้ น่าเสียดายที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งหมดตามธรรมชาติมีสัดส่วนของไบโอตินค่อนข้างน้อย นั่นหมายความว่า มีเพียงครึ่งหนึ่งของไบโอตินตามธรรมชาติเท่านั้นที่สัตว์มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์
วัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วไป ได้แก่ ข้าวโพด และกากถั่วเหลือง ประกอบด้วย ไบโอตินประมาณ ๐.๐๙ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมนับว่าน้อยเปรียบเทียบกับความต้องการของสัตว์ ตามที่กำหนดไว้โดยสภาวิจัยแห่งชาติ (NRC, 1994) กำหนดไว้ระหว่าง ๐.๑๕ ถึง ๐.๓ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมสำหรับสัตว์ปีก ดังนั้น กล่าวได้ว่า วัตถุดิบอาหารสัตว์ตามธรรมชาติมีปริมาณของไบโอตินไม่เพียงพอสำหรับสัตว์ปีก ยิ่งถ้าเป็นสูตรอาหารสัตว์ที่ใช้ข้าวสาลีเป็นองค์ประกอบหลัก การขาดไบโอตินก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย
  นักวิจัยส่วนใหญ่ แนะนำให้ผสมดี-ไบโอตินที่บริสุทธิ์ในสูตรอาหารสัตว์ทุกชนิดโดยใช้ผสมในพรีมิกซ์ของวิตามินปรกติ ปริมาณของไบดอตินที่เติมเข้าไปเป็นสิ่งที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจาก ไบโอติน มีราคาแพงมาก การเติบไบโอติน ขนาด ๐.๑ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหารทั้งในสูตรอาหารที่ใช้ข้าวโพดเป็นองค์ประกอบหลักไก่เนื้อ และไก่ไข่ แต่หากใช้ข้าวสาลีก็ควรเพิ่มเป็นสองเท่า ทั้งนี้ก็เพราะว่า ปัญหาสิ่งรองพื้นเปียกเป็นปัญหาสำคัญในไก่เนื้อ และปัจจุบัน ยังเป็นปัญหาที่ใหญ่อีกประการหนึ่งของไก่ไข่ที่ไม่ได้เลี้ยงบนกรง

ไบโอตินเป็นวิตามินที่มีบทบาทสำคัญ
ไบโอตินเป็นวิตามินที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางในกระบวนการเมตาโบลิซึมของสารอาหาร แต่ความจำเป็นต้องเติมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น วัตถุดิบอาหารสัตว์ตามธรรมชาติส่วนใหญ่มีไบโอตินไม่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ โดยเฉพาะ ข้าวสาลี ดังนั้น ต้องมีการเสริมไบโอตินในพรีมิกซ์ แต่ราคาที่ค่อนข้างแพงมาก จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาให้ความเอาใจใส่อย่างรอบคอบ

เอกสารอ้างอิง
Mavromichalis I. 2017. Biotin for poultry: An essential but expensive vitamin. [Internet]. [Cited 2017 Apr 13]. Available from: http://www.wattagnet.com/articles/30419-biotin-for-poultry-an-essential-but-expensive-vitamin


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...