วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

ไก่เนื้อขยันเดินเป็นสัญญาณสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี

 การประเมินสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มไก่เนื้อแบบอัตโนมัติยังเป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจาก มีไก่ในโรงเรือนจำนวนมาก และวิธีการวัดผลก็แตกต่างกันไป การขยันเดินอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการประเมินสวัสดิภาพสัตว์แบบอัตโนมัติได้   

สมาร์ทเทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจติดตามและจัดการสัตว์ในฟาร์ม และจะช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพการผลิตและสวัสดิภาพสัตว์ ปัจจุบันการใช้สมาร์ทเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาแล้วในภาคการผลิตโคนม สำหรับการตรวจติดตามสวัสดิภาพสัตว์แบบอัตโนมัติจนช่วยให้สัตว์ได้รับการจัดสรรอาหารแบบเฉพาะตัว และการให้ยาอีกด้วย

สัตว์รายตัว และในฝูง

               ในฟาร์มโคนม สัตว์แต่ละตัวมีความสำคัญต่อผลผลิตเชิงเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องคอยเฝ้าตรวจสอบและจัดการสม่ำเสมอ แต่เป็นสิ่งที่ค่อนข้างปฏิบัติได้ยากในภาคการผลิตสัตว์ปีก เนื่องจาก หน่วยย่อยของธุรกิจประกอบด้วยสัตว์หลายหมื่นตัว หรือเป็นล้านตัว

               ในภาคการผลิตไก่เนื้อส่วนใหญ่เลี้ยงกัน ๒๐,๐๐๐ ถึง ๕๐,๐๐๐ ตัวในโรงเรือน ฟาร์มหนึ่งก็มีหลายโรงเรือน แล้วเลี้ยงกัน ๗ รุ่นต่อปี ดังนั้น คุณค่าทางเศรษฐกิจของไก่แต่ละตัวน้อยมากเทียบกับธุรกิจทั้งหมด ดังนั้น การตัดสินใจจัดการ เช่น การให้ยา การปรับแผนการให้แสง ความสูงของอุปกรณ์ให้น้ำและอาหาร ไม่ใช่เพื่อไก่แต่ละตัว แต่เพื่อภาพรวมของฝูงโดยรวม ผู้ผลิตสัตว์ปีกให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ เช่น แผลที่ข้อเข่า และการตาย ไม่ใช่ ไก่แต่ละตัว แต่เป็นร้อยละของทั้งฝูง 

               ศาสตราจารย์มาเรียน ดอว์กินส์จากภาควิชาชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ยกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ควรมองเป็นรายตัวไม่ใช่เหมาฝูง สัตว์ไม่กี่ตัวเท่านั้นที่ทุกข์ทรมาน มีความสุขหรือรู้สึกเจ็บปวด ดังนั้น การมองระดับฝูงไม่เพียงพอที่จะประกันได้ว่าเป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ได้จริง

สมาร์ทเทค

                 ศาสตราจารย์ดอว์กินส์ เชื่อว่า สมาร์ทเทคจะช่วยปฏิวัติหลักสวัสดิภาพไก่เนื้อ ตอนนี้ พรีซิสชั่น ครอป อะกริคัลเจอร์ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เทคโนโลยีจะสร้างประโยชน์ได้ ที่ผ่านมาก็พัฒนาการผลิตปุ๋ย หรือการจัดการน้ำให้พืชเป็นรายต้นไม่ใช่ทั้งพื้นที่

               การจัดการฟาร์มสัตว์ปีกแม่นยำไม่ได้มีประโยชน์ต่อผลผลิต แต่ยังได้ประโยชน์ต่อสวัสดิภาพสัตว์ แถมในระดับรายตัวด้วย ยกตัวอย่างเช่น เตือนให้ผู้เลี้ยงทราบตำแหน่งของไก่ป่วย หรือขาพิการ หรือบริเวณพื้นที่โรงเรือนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์ เช่น มีไก่กระจุกตัวกันหนาแน่น หรือนอนหมอบอยู่

 

               โรงเรือนที่ประกอบด้วยไก่หลายพันตัวมักจัดการแบบเหมารวม แต่ความจริงแล้ว ฝูงไก่มีไก่จำนวนมาก แต่ละตัวก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป และผลลัพธ์ต่อสวัสดิภาพสัตว์ก็ไม่เหมือนกัน

               แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยียังไม่พร้อมสำหรับแก้ไขปัญหานี้ได้ เนื่องจาก การแยกไก่รายตัวออกจากทั้งฝูงหลายพันหลายหมื่นตัวที่มีสีขาวเหมือนๆกัน แตกต่างจากพืชที่เคลื่อนที่ รวมกัน แตกกระจายออกจากกันหันไปตามแสง จึงทำให้การประมวลภาพเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง ภาพอุณหภูมิและเสียงมีปัญหาคล้ายคลึงกันในการแยกแยะไก่แต่ละตัวจากพื้นหลังในแต่ละพารามิเตอร์

การประเมินสวัสดิภาพสัตว์

                 ปัญหาอันดับที่สามจากการประเมินสวัสดิภาพสัตว์ ตามหลักการอิสระ ๕ ประการ แต่ละรายการก็เป็นส่วนสำคัญต่อการกำหนดเป้าหมายด้านสวัสดิภาพสัตว์ โดยทำข้อตกลงร่วมกับผู้ผลิตสัตว์ปีก นักวิทยาศาสตร์ และความเห็นจากภายนอก แต่ยังขาดรายละเอียดคำแนะนำว่า การประเมินผลด้านสวัสดิภาพสัตว์ในทางปฏิบัติควรเป็นอย่างไร

               การใช้ในฟาร์มจริง จำเป็นต้องแปลงให้เป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้จริง ซึ่งผู้ตรวจประเมินที่เป็นมนุษย์สามารถนำไปปรับใช้ได้ หรือไม่ก็ดัดแปลงให้เป็นอัลกอริทึมสำหรับเครื่องจักร คู่มือคุณภาพด้านสวัสดิภาพสัตว์สำหรับไก่เนื้อ แบ่งได้เป็น การให้อาหารที่ดี โรงเรือนที่ดี สุขภาพที่ดี และการแสดงออกทางพฤติกรรมเหมาะสม แล้วทำเป็นรายการที่ต้องตรวจประเมินในแต่ละหัวข้อ เช่น ความสะอาดของขน และคุณภาพวัสดุรองพื้น สำหรับประกอบการให้คะแนนโรงเรือนที่ดี ตรวจไม่พบข้อเข่าเป็นแผล และอกเป็นหนอง สำหรับสุขภาพที่ดี การทำเช็กลิสต์ใช้เวลา และบางประเด็นก็ความเห็นแตกต่างกันไป

               แม้ว่า การประเมินสวัสดิภาพสัตว์ระบบอัตโนมัติสำหรับไก่เนื้อมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมกันในเชิงพาณิชย์ เนื่องจาก หลักการสวัสดิภาพสัตว์ที่ใช้กันเป็นที่ยอมรับกันดีอยู่แล้ว และยังสามารถตรวจพบปัญหาที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพสัตว์ในระดับฝูงได้เป็นอย่างดี

ไก่ขยันเดิน

               พฤติกรรมที่บ่งชี้ว่า ไก่ขยันเดิน หรือเดินได้อย่างต่อเนื่อง ยังไม่สามารถตรวจวัดได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ถือได้ว่าตอบโจทย์ในการประเมินไก่ที่มีสุขภาพดี โดยสัมพันธ์กับหลักการสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีได้ ทั้งนี้ ง่ายสำหรับเครื่องจักรที่จะสามารถตรวจจับปัญหาได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับระบบการตรวจประเมินสวัสดิภาพสัตว์แบบอัตโนมัติ เป็นพื้นฐานที่การตรวจประเมินสวัสดิภาพสัตว์จะถูกตรวจติดตามมากขึ้น และสามารถนำมาประมวลเป็นพื้นฐานความรู้ใหม่สำหรับอนาคต โดยอาศัยเทคนิคการวิเคราะห์ที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าในอดีต                                                                                                                                     

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2024. Active walking in broiler chickens – a flagship for good welfare. [Internet]. [Cited 2024 Mar 18]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/broilers/active-walking-in-broiler-chickens-a-flagship-for-good-welfare/

ภาพที่ ๑ ไก่มีจำนวนมากในโรงเรือน มูลค่าของไก่แต่ละตัวน้อยเทียบกับทั้งฝูง (แหล่งภาพ Canva)



วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2567

ถอดรหัสถนอมวิตามินดีในไข่ไก่

 บริษัทเลี้ยงไก่ไข่ปล่อยอิสระรายใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร โนเบิลฟู้ดส์ จับมือกับนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลเพื่อค้นคว้าหาทางถนอมคุณภาพวิตามินดีแล้วผลิตสินค้า ซันชายน์วิตามิน เพื่อให้คงทนในการเก็บรักษา และประกอบอาหารที่ใช้ความร้อน      

นักวิจัยพัฒนาไข่ไก่ที่อุดมไปด้วยวิตามินดีจากยี่ห้อโนเบิลฟู้ดส์ ของบริษัท แฮปปี เอ้ก โค เพื่อตรวจหาความเข้มข้นของวิตามินที่มีโอกาสถูกทำลายโดยวิธีการปรุงอาหาร และการเก็บ ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของทุนวิจัยนวัตกรรมของสหราชอาณาจักร วิตามินดีช่วยให้กระดูก ฟัน และกล้ามเนื้อแข็งแรง มีความสำคัญสำหรับระบบภูมิคุ้มกัน ผลการวิจัย ยังพบว่า คนที่มีระดับวิตามินดีต่ำมีความเสี่ยงต่อความผิดปรกติของร่างกายตามฤดูกาล หรือแซด (Seasonal affective disorder, SAD)โดยเฉพาะ ความชุกเพิ่มขึ้นในฤดูหนาว

อุณหภูมิแช่ไข่ไก่

               นักวิจัยทดลองเก็บไข่ในตู้เย็น และใช้วีการประกอบอาหารเมนูไข่ทั้งไข่คน ใส่ไมโครเวฟ ลวกไข่ ต้มไข่ และทอดไข่  ศาสตราจารย์ทอม ฮิลล์ นักวิชาการอาหารที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล หัวหน้าทีมวิจัย พบว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาวิตามินดีในไข่เป็นการเก็บไว้นอกตู้เย็นที่อุณหภูมิห้อง การประกอบอาหารเป็นไข่คน และไข่ลวก รักษาวิตามินได้ดีที่สุด ชาวสหราชอาณาจักรร้อยละ ๙๐ ได้รับวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอ เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาอาหารที่ช่วยจัดการกับปัญหานี้ได้

               ผลการวิจัยก่อนหน้านี้ ผู้วิจัยประสบความสำเร็จในการผลิตไข่ที่อุดมไปด้วยวิตามินดีโดยใช้สูตรอาหารสัตว์ที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษสำหรับแม่ไก่ไข่ ซึ่งสามารถเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่า เพื่อช่วยจัดการปัญหาการขาดวิตามินดีในประชากรสหราชอาณาจักร แต่ไม่ใช่แค่การให้อาหารสูตรพิเศษกับแม่ไก่ไข่เท่านั้นที่ช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดีในไข่ไก่ ยังมีวิธีการปรุงอาหารที่มีอิทธิพลต่อการได้รับวิตามินดีด้วย

               งานวิจัยล่าสุด ภายหลังการเก็บไข่ไก่ และวิธีการประกอบอาหาร ตัวอย่างจากการทดลองนำมาผ่านกระบวนการฟรีซ-ดรายด์ แล้ววิเคราะห์ปริมาณวิตามินดี และ ๒๕-ไฮดรอกซีวิตามินดี นักวิจัยค้นพบวิธีการตรวจวัดปริมาณวิตามินดีคงเหลือในอาหารที่ผ่านการปรุงสุกเปรียบเทียบกับวิตามินดีตั้งต้น ตามน้ำหนักอาหารก่อนการปรุงสุก พบว่าอยู่ระหว่างร้อยละ ๗๘ ถึง ๑๐๙ แสดงให้เห็นถึง การสูญเสียน้ำหนักในสัดส่วนต่างๆภายหลังการปรุงสุกที่เกิดจากการเสียน้ำ  

วิธีการปรุงสุกไข่ไก่

               ภายหลังการเก็บที่อุณหภูมิห้อง เช่น บนโต๊ะทำอาหาร วิธีการปรุงสุกไข่ไก่ที่ดีที่สุดสำหรับการถนอมวิตามินดี ได้แก่

·      การทำไข่คน ร้อยละ ๑๐๙

·      การเข้าไมโครเวฟ ร้อยละ ๑๐๙

·      การทำไข่ลวก ร้อยละ ๙๓

·      การทำไข่ต้ม ร้อยละ ๘๐

·      การทอดไข่ ร้อยละ ๗๘

เมื่อเปรียบเทียบไข่ไก่อุดมวิตามินดีกับไข่ไก่ปรกติ พบว่า สูงกว่าร้อยละ ๒๒ ถึง ๑๓๒ ขึ้นกับวิธีการประกอบอาหาร

 ศาสตราจารย์ทอม ฮิลล์ ร่วมวิจัยกับโนเบิลฟู้ดส์ และดีเอสเอ็ม เพื่อศึกษาว่า การเสริมวิตามินดีในอาหารสัตว์สามารถถ่ายทอดสู่ไข่ไก่ได้ พบว่า อาหารสูตรใหม่ที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ช่วยเพิ่มระดับวิตามินดีในไข่ไก่ได้ โดยใช้ขนาด ๗๕ ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมอาหารสัตว์เป็นเวลา ๖ สัปดาห์ ช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดีรวมในไข่ไก่ได้ร้อยละ ๔๐ ดังนั้น โนเบิลฟู้ดส์ จึงเลือกใช้สูตรอาหารนี้เลี้ยงแม่ไก่ ดังนั้น แม่ไก่จาก แฮปปี เอ้ก โค จึงมีวิตามินดีที่สูงขึ้นกว่าปรกติร้อยละ ๒๘ หากบริโภคไข่ไก่วันละ ๒ ฟองก็จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับวิตามินดีร้อยละ ๙๔ ของคำแนะนำสำหรับผู้บริโภคชาวยุโรปต่อวัน เป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับการติดฉลากอาหารในสหราชอาณาจักร นับเป็นคุณประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมในระยะยาวที่จะเป็นทางออกสำหรับอาหารในโลกยุคใหม่ที่ช่วยก้าวข้ามปัญหาการขาดสารอาหารในประชากรสหราชอาณาจักรต่อไป

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2024. Cracking the code to preserving vitamin D in eggs. [Internet]. [Cited 2024 Mar 1]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/nutrition/cracking-the-code-to-preserving-vitamin-d-in-eggs/

ภาพที่ ๑ อาหารที่อุดมด้วยวิตามินดีในไข่ไก่ (แหล่งภาพ Canva, 2024)



วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2567

บราซิลเตรียมส่งออกเนื้อไก่ไปอิยิปต์

 บราซิลและอิยิปต์ลงนามข้อตกลงเพื่อสนับสนุนการส่งออกเนื้อสัตว์ปีก เนื้อสุกร และเนื้อโคไปยังประเทศย่านทวีปแอฟริกา              

ระหว่างการเยี่ยมเยือนประเทศอิยิปต์ของประธานาธิบดีบราซิล ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา เพื่อปะประธานาธิบดี อับดุลฟัตตาห์ อัสซีซี ณ กรุงไคโร

รัฐบาลอิยิปต์รับทราบถึงระบบการตรวจสอบของบราซิลเทียบเท่ากับของประเทศตนเอง และปรับระดับรายชื่อประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์อันดับต้นๆ มาตรการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อโรงเชือดอย่างน้อย ๓๐ แห่งที่กำลังเฝ้ารอการอนุญาตให้ส่งผลิตภัณฑ์ไปยังอิยิปต์มาแล้วมากกว่า ๔ ปี

ก่อนที่จะบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ได้มีการต่ออายุใบอนุญาตของโรงงานในบราซิลสำหรับส่งออกให้กับอิยิปต์มาแล้วตามที่กำหนดไว้โดยกระทวงเกษตรและปศุสัตว์ หรือมาป้า

บราซิลต้องจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูง แต่ยังทำให้ผู้ตรวจสอบภาษีของมาป้าต้องทำงานหนักขึ้น และจำกัดจำนวนโรงเชือดที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังอิยิปต์ได้เพียงไม่กี่แห่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๒ เป็นต้นมา โรงเชือดราว ๓๐ แห่งเฝ้าคอยการอนุญาตครั้งนี้ ตอนนี้ก็จะไม่ต้องติดขัดเงื่อนไขเหล่านี้อีกต่อไป

มาตรการการควบคุมสุขภาพสัตว์

               ความสำเร็จในข้อตกลงนี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมสุขภาพสัตว์ของบราซิล อิยิปต์เป็นประเทศผู้นำเข้าที่แข็งแกร่งและเติบโต ในปีที่ผ่านมา บราซิลยึดครองตลาดใหม่ในอิยิปต์ ๔ รายการ รวมถึง สำลี ปัจจุบัน อิยิปต์เป็นผู้นำเข้าเนื้อโครายใหญ่ที่สุดจากบราซิล และยังเป็นผู้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกรายสำคัญในแอฟริกาอีกด้วย

               ในเดือนธันวาคม ประเทศในแอฟริกาเปิดตลาดนำเข้าไข่เชื้อของนกกระทาจากบราซิลแล้ว ปี พ.ศ.๒๕๖๖ บราซิลส่งออกไปยังอิยิปต์มากกว่า ๖ หมื่นล้านบาทเป็นเนื้อสัตว์ ๑.๔ หมื่นล้านบาท โดยมีปริมาณรวม ๑๓๐,๐๐๐ ตัน

เอกสารอ้างอิง

Azevedo D. 2024. Brazil prepares to export poultry meat to Egypt. [Internet]. [Cited 2024 Feb 27]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/brazil-prepares-to-export-poulty-meat-to-egypt/  

ภาพที่ ๑ ประธานาธิบดีบราซิล ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา พบปะกับประธานาธิบดี อับดุลฟัตตาห์ อัสซีซี ในกรุงไคโร (แหล่งภาพ Ricardo Stuckert, 2024)




วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ก้าวข้ามสารยับยั้งซัยลาเนสในสัตว์ปีก

 ความเข้าใจเกี่ยวกับสารยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ซัยลาเนส และผลกระทบต่อโภชนาการสัตว์กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เอนไซม์ ซัยลาเนส มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการใช้ประโยชน์สารอาหารในอาหารสัตว์ สารยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ซัยลาเนส (สารเอ็กซ์ไอ) ในวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นสิ่งท้าทายสำหรับการผลิตอาหารสัตว์         

สารยับยั้งเอนไซม์ซัยลาเนสเป็นตัวอย่างที่คลาสสิกของการพัฒนากลไกการป้องกันตัวเองของเมล็ดธัญพืช เชื้อจุลชีพ เช่น รา ทำให้สารซัยแลนเสื่อมสภาพเป็นหนึ่งในกลไกการก่อโรคของพืช

ยังมีกลไกอื่นๆที่เอนไซม์ซัยลาเนสที่ผลิตโดยเชื้อจุลชีพส่งผลต่อพืช เพื่อป้องกันตัวเอง พืชก็ได้วิวัฒนาการสารยับยั้งเอนไซม์ซัยลาเนสเพื่อป้องกันการทำงานของเอนไซม์ซัยลาเนส ซึ่งสารเอ็กซ์ไอเป็นโปรตีนที่ผนังเซลล์พืช พบได้ทั่วไปในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว โดยสารเอ็กซ์ไอแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มหลักตามโครงสร้าง และการทำหน้านี้ ได้แก่ ไตรติกัม แอสติวัม เอ็กซ์ไอ หรือแท็กซี่, โปรตีนยับยั้งเอนไซม์ซัยลาเนส หรือซิพ และสารยับยั้งเอนไซม์ซัยลาเนสที่คล้ายคลึงกับธอมาติน หรือทีแอลเอ็กซ์ไอ

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

                   ในทางโภชนาการสัตว์ เอนไซม์ซัยลาเนสเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในอาหารสัตว์ที่มีการใช้เมล็ดธัญพืช และวัตถุดิบจากพืชอื่นๆ เพื่อให้สัตว์สามารถใช้ประโยชน์จากสารอาหารได้อย่างเต็มที่ การยับยั้งการทำงานของสารเอ็กซ์ไอขัดขวางผลเชิงบวกของเอนไซม์เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ

               ผลการศึกษา พบว่า สารเอ็กซ์ไอระดับสูงส่งผลลบต่อการผลิตไก่เนื้อ เช่น การศึกษาหนึ่ง ให้อาหารไก่เนื้อด้วยวัตถุดิบที่มีฤทธิ์การยับยั้งสูงทำให้น้ำหนักลดลงร้อยละ ๗ ในวันที่ ๑๔ เทียบกับไก่เนื้อที่ให้อาหารปรกติ ผลการศึกษาอีกชุดหนึ่ง พบว่า ข้าวสาลีแป้งแข็ง ที่มีสารเอ็กซ์ไอยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ซัยลาเนสที่ผสมในอาหารไก่เนื้อ

ทนทานต่อความร้อน

                แม้ว่า สารเอ็กซ์ไอจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเอนไซม์ซัยลาเนส แต่ยังมีผู้ที่ให้ความสนใจกับการลดสารเอ็กซ์ไอค่อนข้างน้อย โดยเชื่อกันว่า สารเอ็กซ์ไอถูกทำลายระหว่างกระบวนการอัดเม็ด อย่างไรก็ตาม สมีทและคณะ พบว่า สารเอ็กซ์ไอสามารถทนทานต่ออุณหภูมิได้ดีมาก ภายหลังการอัดเม็ดที่อุณหภูมิ ๘๐ ๘๕ ๙๒ และ ๙๕ องศาเซลเซียส การออกฤทธิ์ยับยั้งการทำหน้าที่เอนไซม์ยังอยู่ที่ร้อยละ ๙๙ ๑๐๐ ๗๕ และ ๕๔ ตามลำดับ 

               ผลการศึกษาอื่นๆ ยืนยันว่า อุณหภูมิในกระบวนการคอนดิชันนิ่งอาหารที่ ๗๐ ถึง ๙๐ องศาเซลเซียสเป็นเวลา ๓๐ วินาที ติดตามด้วยการอัดเม็ดส่งผลต่อการทำหน้าที่สารเอ็กซ์ไอเพียงเล็กน้อย

สารเอ็กซ์ไอพบได้ในวัตถุดิบหลายชนิด

ภายหลังรายงานการปรากฏของสารเอ็กซ์ไอเป็นครั้งแรกโดยเดบิสเซอร์และคณะ ก็พบว่า เมล็ดธัญพืชอีกหลายชนิดที่มีสารเอ็กซ์ไอทั้งข้าวโพด ข้าว และหญ้าซอร์กัม กลไกการป้องกันตัวของพืชมีการอ้างถึงในรายงานวิจัยหลายครั้ง ในประเทศส่วนใหญ่นอกยุโรป การใช้เอนไซม์ซัยลาเนสในอาหารสัตว์ไม่ได้ใช้แค่ในข้าวสาลีเท่านั้น แต่ยังใช้ในอาหารสัตว์ที่ใช้ข้าวโพดอีกด้วย

นอกเหนือจากอาหารไก่เนื้อแล้ว อาหารไก่ไข่ หรือสุกรก็ประกอบด้วยวัตถุดิบหลากหลายชนิดรวมกัน และมีโอกาสพบสารเอ็กซ์ไอได้ ปัจจุบัน สถานการณ์กำลังเลวร้ายลงอีกจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และนักวิชาการอาหารสัตว์มีแนวโน้มที่จะใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นมากขึ้น จึงต้องใช้เอนไซม์ซัยลาเนสที่มีความทนทานต่อสารเอ็กซ์ไอ

               เพื่อป้องกันไม่ให้เอนไซม์ซัยลาเนสสูญเสียหน้าที่ เนื่องจาก การปรากฏของสารเอ็กซ์ไอ ความต้านทานของเอนไซม์ซัยลาเนสรุ่นใหม่ต่อสารเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ถูกพัฒนาขึ้นมา รวมถึง การค้นหาเอนไซม์ใหม่ และพันธุวิศวกรรม ตลอดเวลา ๒๕ ปีที่ผ่านมา นักวิจัยได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับจีนที่ควบคุมสารเอ็กซ์ไอ และการค้นคว้าวิจัยถึงวิธีการที่สารเอ็กซ์ไอสามารถยับยั้งเอนไซม์ซัยลาเนสจากจุลชีพได้อย่างไร

               นอกจากนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของปฏิสัมพันธ์ระหว่างเอนไซม์ซัยลาเนส และเอนไซม์เพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะ วิธีการที่สารเอ็กซ์ไอทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ซัยลาเนสจากราและแบคทีเรียในกลุ่มจีเอส ๑๐ หรือจีเอส ๑๑

               เอนไซม์ซัยลาเนสรุ่นใหม่ แอกเซส เอ็กซ์วาย ถูกพัฒนาขึ้นมา นอกเหนือจาก คุณลักษณะที่จำเป็นเกี่ยวกับความทนทานต่ออุณหภูมิ และต้านทานต่อสารเอ็กซ์ไอแล้ว ยังสามารถออกฤทธิ์ที่หลากหลายมากขึ้นทั้งอะราบิโนซัยแลนชนิดที่ละลายน้ำ และไม่ละลายน้ำ โดยทนทานต่อสารเอ็กซ์ไอสูง  

               ผลิตภัณฑ์ แอกเซส เอ็กซ์วาย จากอีดับบลิว นิวทริชัน ร่วมกับผู้ร่วมวิจัยสนใจเบนช์มาร์กเปรียบเทียบเอนไซม์ซัยลาเนสที่มีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์โดยผู้ผลิตทั่วโลกกับผลิตภัณฑ์ แอกเซส เอ็กซ์วาย

               จากการทดลอง สารเอ็กซ์ไอทั้งหมดจากข้าวสาลีถูกสักด ผสมสารเอ็กซ์ไอรวมเข้ากับเอนไซม์ซัยลาเนส แล้วบ่มที่ ๔๐ องศาเซลเซียส จำลองแบบอุณหภูมิร่างกายไก่ เป็นเวลา ๓๐ นาที การสูญเสียหน้าที่ของเอนไซม์ซัยลาเนสนำมาคำนวณโดยการวิเคราะห์เอนไซม์ที่เหลือภายหลังการบ่ม โดยพบว่าระดับของเอนไซม์แตกต่างกันไปในแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยบางผลิตภัณฑ์เกิดความสูญเสียสูงมาก อย่างไรก็ตาม แอกเซส เอ็กซ์วาย ไม่ได้ลดลงเลย

               สารเอ็กซ์ไอพบได้ในเมล็ดธัญพืชทุกชนิด และโชคร้ายที่สารชนิดนี้ทนร้อน ที่อุณหภูมิ ๙๐ องศาเซลเซียส ยังเหลืออยู่สูงถึงร้อยละ ๗๕ เป็นไปได้ว่า เอนไซม์ซัยลาเนสอาจพบกับสารเอ็กซ์ไอ ทำให้สูญเสียหน้าที่ สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การทำงานไม่คงเส้นคงวา เพื่อให้การใช้เอนไซม์เอ็นเอสพีเกิดความสม่ำเสมอ และให้ผลได้ดี ควรเลือกใช้เอนไซม์ซัยลาเนสที่ทนทานต่อสารเอ็กซ์ไอ 

เอกสารอ้างอิง

Awati A. 2024. Overcoming the challenges of xylanase inhibitors in poultry. [Internet]. [Cited 2024 Feb 21]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/nutrition/overcoming-the-challenges-of-xylanase-inhibitors/

ภาพที่ ๑ เอนไซม์ซัยลาเนสนิยมใช้อย่างแพร่หลายในอาหารสัตว์ที่ประกอบด้วยวัตถุดิบชนิดเมล็ดธัญพืช และวัสดุจากพืชอื่นๆ เพื่อช่วยให้การใช้ประโยชน์สารอาหารดีขึ้น (แหล่งภาพ EW Nutrition, 2024)



วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ข้อดีข้อเสีย ไก่เนื้อระบบเพนเอนริชเมนต์

 ไก่เนื้อมักถูกเลี้ยงไว้ในพื้นที่จำกัดอยู่บนวัสดุรองพื้นภายในโรงเรือนเท่านั้น มหาวิทยาลัยวาเคอนิงเงิน ทดลองใช้ระบบเพนเอนริชเมนต์ แล้วเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย แม้ว่า เอนริชเมนต์ช่วยกระตุ้นการทำกิจกรรมของสัตว์ แต่ก็ทำให้การเจริญเติบโตลดลง และการแลกเปลี่ยนอาหารแย่ลงด้วย        

ผู้ผลิตสัตว์ปีกไม่ค่อยนิยมใช้เอนริชเมนต์ โดยเฉพาะ การเลี้ยงไก่เนื้อปรกติ แม้ว่า จะส่งผลเชิงบวกต่อสวัสดิภาพสัตว์ และสุขภาพขา การเตรียมเอนริชเมนต์ภายในโรงเรือน เช่น การจัดคอน หรือก้อนฟาง เพิ่มระยะทางไลน์อาหารและน้ำ และยกพื้นขึ้นมา ช่วยกระตุ้นให้ไก่เนื้อมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นแทนที่จะเอาแต่นอนอย่างเดียว 

การเพิ่มกิจกรรมช่วยให้เกิดผลเชิงบวกต่อสุขภาพขาไก่เนื้อ ทั้งรอยโรคฝ่าเท้าอักเสบ ผิวหนังอักเสบบริเวณเข่า ขาพิการ ผลของการให้เอนริชเมนต์ต่อการกระตุ้นให้ไก่ผ่อนคลายยังให้ผลที่แปรปรวน อาจสัมพันธ์กับหลายปัจจัยตั้งแต่พันธุ์ อัตราการเจริญเติบโต และปริมาณของเอนริชเมนต์

สุขภาพขาไก่มีความสัมพันธ์กับอัตราการเจริญเติบโตของไก่เนื้อ อัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นก็เสี่ยงต่อความผิดปรกติของขาไก่ ดังนั้น เป็นไปได้ที่การจัดให้มีเอนริชเมนต์จะช่วยลดปัญหาความผิดปรกติขาได้อย่างมากในการเลี้ยงไก่เนื้อปรกติมากกว่าไก่เนื้อโตช้า สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยวาเคอนิงเงิน ทดลองศึกษาผลของการใช้เอนริชเมนต์ต่อการเจริญเติบโต และสุขภาพขาไก่ในระบบการเลี้ยงไก่เนื้อปรกติ และโตช้า

การทดลอง

               คณะผู้วิจัยแบ่งไก่ทดลองเป็นรอส ๓๐๘ จำนวน ๔๒๐ ตัว และฮับบาร์ด เจเอ ๗๕๗ จำนวน ๔๒๐ ตัว ลงในกรง จำนวน ๒๘ ชุดขนาด ๓ ตารางเมตร แต่ละกรงก็จะมีไก่เพศผู้พันธุ์รอส ๓๐ ตัว หรือฮับบาร์ด ๓๐ ตัว ทั้งสองสายพันธุ์ครึ่งหนึ่งก็จะให้เอนริชเมนต์ ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งก็จัดคอนที่ปรับไม่ได้เท่านั้น โดยกรงที่จัดเตรียมเอนริชเมนต์ไว้มี ๕ ชนิด ได้แก่

·      เพิ่มระยะห่างระหว่างรางอาหารและนิปเปิ้ลให้น้ำ ๓ เมตรแทนที่จะเป็น ๑ เมตร

·      จัดเตรียมพื้นให้อยู่ในแนวลาดเอียงทั้งสองข้ามตามแนวยาวของกรง

·      จัดเตรียมก้อนฟางไว้บริเวณกึ่งกลางกรง

·      จัดเตรียมคอนที่ปรับได้ไว้ทั้งสองข้างของบริเวณที่มีก้อนฟาง

·      ให้หนอนแมลงวันที่มีชีวิตทุกวันบริเวณที่มีกองฟาง 

ลูกไก่พันธุ์รอสถูกเลี้ยงไว้จนอายุ ๓๘ วัน และฮับบาร์ดจนกระทั่งวันที่ ๔๙ อุณหภูมิ ๓๔ องศาเซลเซียสตอนกกลูกไก่ แล้วลดลงจนเป็น ๑๘ องศาเซลเซียสตั้งแต่อายุ ๒๕ วันไปจนตลอดการเลี้ยง ในวันที่ลงลูกไก่จัดให้มีแสงสว่างตลอด ๒๔ ชั่วโมง ติดตามด้วย ๒๐ ชั่วโมงในอีก ๖ วันถัดมา แล้วปรับเป็น ๑๘ ชั่วโมงต่อวัน ลูกไก่ให้วัคซีนหลอดลมอักเสบติดต่อในวันลงลูกไก่ และนิวคาสเซิลในวันที่ ๑๑ ให้อาหารเต็มที่แบ่งเป็น ๓ ระยะ

ขณะที่ ลูกไก่ในกรงที่เอนริชเมนต์ได้รับหนอนแมลงวันทหาร ลูกไก่ในกรงที่ไม่ได้ให้เอนริชเมนต์ ชดเชยด้วยการใช้วัตถุดิบที่มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกัน โดยผสมลงในอาหารปรกติในเวลาเดียวกับการเติมหนอนแมลงวันในกรงที่เอนริชเมนต์

การประเมินผลทดลอง

               คณะผู้วิจัยชั่งน้ำหนักลูกไก่รายตัว ตั้งแต่วันลงไก่และชั่งเป็นประจำทุกวัน เก็บข้อมูลการกินอาหาร แล้วคำนวณเป็นเอฟซีอาร์ในช่วง ๐ ถึง ๑๔ วัน ๑๔ ถึง ๓๕ วัน ๓๕ ถึง ๔๙ วัน และตลอดการเลี้ยง ในวันที่ ๘ ๒๒ ๒๙ และ ๔๓ ให้คะแนนพฤติกรรมของลูกไก่ และสังเกตการใช้เอนริชเมนต์ ในวันที่ ๒๗ นักวิจัยประเมินคะแนนท่าเดินลูกไก่รอส ๔ ตัวต่อกรง เช่นเดียวกับลูกไก่ฮับบาร์ดในวันที่ ๓๕ โดยเฉลี่ยแล้ว ลูกไก่จากทั้งสองฟาร์มมีน้ำหนักใกล้เคียงกัน

               ในวันที่ ๓๘ (รอส) และ ๔๙ (ฮับบาร์ด) ลูกไก่ ๒ ตัวต่อกรงที่มีน้ำหนักเดียวกัน ฆ่าอย่างมีมนุษยธรรม แล้วประเมินความผิดปรกติของขาข้างซ้าย เช่น วารัส-วากัส เนื้อตายของกระดูกอ่อนจากเชื้อแบคทีเรีย (คอนโดรเนโครซิส) และไขสันหลังและกระดูกสันหลังอักเสบ ความผิดปรกติและความเสียหายของโกรธเพลต รวมถึง รอยโรคที่ฝ่าเท้า โดยนำกระดูกแข้งขวาออกแล้วประเมินความยาว ความหนา ปริมาตร ปริมาณและความเข้มข้นแร่ธาตุ หักกระดูกแล้วประเมินแรงที่ใช้ ยิ่งปริมาณแร่ธาตุสูงเท่าไร และแรงที่ใช้มากเท่าไรในการหักกระดูกก็บ่งชี้ถึง การพัฒนาของกระดูกที่ดี และสามารถค้ำจุนน้ำหนักลูกไก่ได้ดี

ผลการทดลอง

               ตั้งแต่วันที่ ๒๑ เป็นต้นไป ลูกไก่ในกรงที่ให้เอนริชเมนต์มีน้ำหนักต่ำกว่าลูกไก่ที่ไม่ให้เอนริชเมนต์ ในวันที่ ๓๕ น้ำหนักเฉลี่ย ระหว่างรอสและฮับบาร์ดแตกต่างกัน ๙๙ กรัม ขณะที่ ไก่ฮับบาร์ดในวันที่ ๔๙ ความแตกต่างกันเป็น ๙๓ กรัม การกินอาหารไม่แตกต่างกันระหว่างกรงที่ให้เอนริชเมนต์หรือไม่ให้ก็ตาม หมายความว่า ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารระหว่างวันที่ ๑ ถึง ๓๕ วันในกลุ่มที่ให้เอนริชเมนต์สูงขึ้น ๕ จุด (เปรียบเทียบรอสและฮับบาร์ด) และ ๖ จุด ระหว่างช่วง ๐ ถึง ๔๙ วัน สำหรับลูกไก่ฮับบาร์ดเท่านั้น เหตุผลที่กรงที่ให้เอนริชเมนต์มีการเติบโตที่ต่ำกว่า และเอฟซีอาร์สูงกว่าอาจเกิดจากความซับซ้อนของเอนริชเมนต์ เนื่องจาก ใส่ไปมากเกินไป เหตุผลอีกประการอาจเกี่ยวข้องกับการยกคอนสูงเกินไป ซึ่งลูกไก่ต้องข้ามไปกินอาหารและน้ำ กลายเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่ หรือมีจำนวนไก่จำนวนมากนั่งขวางทางผ่านข้ามไปมา  

               ทั้งไก่พันธุ์รอสและฮับบาร์ดในกรงที่ให้เอนริชเมนต์มีพฤติกรรมเล่นกองฟาง และความก้าวร้าวน้อยลงเปรียบเทียบกับกรงที่ไม่ให้เอนริชเมนต์ นอกจากนั้น ทั้งสองพันธุ์ในกรงเอนริชเมนต์ใช้เอนริชเมนต์จำนวนเท่ากัน โดยลูกไก่รอสใช้เวลาบนพื้นมากกว่า และลูกไก่ฮับบาร์ดใช้เวลามากขึ้นทั้งบนพื้นและคอนเกาะ หมายความว่า การใช้เอนริชเมนต์เกิดประโยชน์ทั้งในลูกไก่ปรกติ และลูกไก่โตช้า

               ปัญหาขาพบน้อยมากทั้งสองสายพันธุ์ และเปอร์เซ็นต์ไก่ที่เกิดปัญหาขาไม่แตกต่างกันระหว่างกรงที่ให้เอนริชเมนต์ และไม่ให้เอนริชเมนต์ หรือระหว่างทั้งสองสายพันธุ์ นักวิจัยพบว่า กระดูกแข้งแตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น แต่ลูกไก่ในกรงที่ให้เอนริชเมนต์จะมีปริมาตรกระดูกแข้งมากกว่า  ไม่พบความแตกต่างของน้ำหนัก ความหนาแน่นแร่ธาตุ หรือความแข็งของกระดูกต้นขาระหว่างกรงที่ให้และไม่ให้เอนริชเมนต์ อย่างไรก็ตาม น้ำหนักไก่เข้าเชือด กระดูกต้นขาของลูกไก่ฮับบาร์ดมีการพัฒนามากกว่าลูกไก่รอสสำหรับเกือบทุกคุณลักษณะของกระดูกแข้ง  

               การใช้เอนริชเมนต์ในรูปแบบต่างๆทั้งไก่เนื้อปรกติ และโตช้า เป็นไปตามความต้องการของลูกไก่ การให้เอนริชเมนต์ช่วยกระตุ้นทั้งสองพันธุ์ แต่ส่งผลให้โตช้าลง และเอฟซีอาร์แย่ลงไป คุณภาพกระดูกดีขึ้นในไก่โตช้าเปรียบเทียบกับไก่ปรกติ แต่ไม่พบปัญหาขาพิการทั้งไก่เนื้อปรกติและโตช้า

เอกสารอ้างอิง

van den Brand H. 2024. Pros and cons of pen enrichment for broilers. [Internet]. [Cited 2024 Feb 14]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/broilers/pros-and-cons-of-pen-enrichment-for-broilers/

ภาพที่ ๑ การใช้เอนริชเมนต์แบบต่างๆทั้งการเสริมพื้นยกระดับขึ้นมา การสร้างทางลาดให้ไก่เดิน (แหล่งภาพ Jan Willem Schouten, 2024)



วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ฟักลูกไก่ที่ฟาร์มช่วยลดการใช้ยา

 ผลการศึกษาจากฟาร์มไก่เนื้อ ๒,๔๗๑ ฟาร์ม พบว่า ฝูงไก่เนื้อที่ฟักในฟาร์ม (on-farm hatched flocks) ช่วยลดการใช้ยาต้านจุลชีพได้อย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ ๔๘ เปรียบเทียบกับฝูงไก่เนื้อปรกติ นอกจากนั้น ยังลดการรักษาได้ร้อยละ ๔๔ ฝูงไก่เนื้อที่ฟักที่โรงฟักมีโอกาสใช้ยาต้านจุลชีพมากกว่าฝูงไก่เนื้อที่ฟักในฟาร์มถึง ๕.๖ เท่า   

เทคนิคการฟักลูกไก่ในฟาร์มได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเพิ่มขึ้นในยุโรป เพื่อลดปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ เช่น ลดการใช้ยาต้านจุลชีพที่เป็นปัญหาทั่วโลก ต้องหานวัตกรรมแบบต่างๆเพื่อจัดการ

ระบบการฟักปรกติ ความหนาแน่นลูกไก่แรกเกิดในตู้ฟักสูงมากจนกระทั่งออกจากไข่ทั้งหมดตาม แฮทชิ่ง วินโดว์ (hatching window)” ไม่เกิน ๒๔ ถึง ๓๖ ชั่วโมง ตลอดช่วงเวลานี้ ลูกไก่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารและน้ำได้ ทำให้บางตัวต้องอดอาหารและน้ำนานถึง ๔๘ ชั่วโมง

ระบบการฟักในฟาร์ม ไข่ฟักจะถูกขนส่งไปที่ฟาร์มไก่เนื้อตั้งแต่อายุการฟัก ๑๘ วัน ลูกไก่สามารถเข้าถึงอาหารและน้ำได้ทันทีภายหลังออกจากไข่ ไม่ต้องทนเครียดจากกระบวนการภายหลังการฟัก เช่น การเกรดลูกไก่ นับจำนวน บรรจุใส่กล่อง และขนส่ง สิ่งแวดล้อมที่สะอาดก็เป็นประเด็นที่สำคัญเช่นกัน

สำนักความปลอดภัยอาหารยุโรป หรือเอฟซา อ้างว่า การขนส่งไข่มีเชื้อสำหรับฟักที่ฟาร์มเป็นหนทางเดียวที่จะลดปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์ระหว่างการขนส่ง และที่ฟาร์มไก่เนื้อ และย้ำว่า แนวทางปฏิบัติด้านสวัสดิภาพสัตว์ เอฟซาเน้นย้ำว่า หลักปฏิบัติสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีเป็นการช่วยให้ลูกไก่ และไก่เนื้อสุขภาพดีขึ้น

การศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกนท์ เบลเยียมจากฟาร์มไก่เชิงพาณิชย์ในเบลเยียม ๒,๔๗๑ แห่ง เพื่อตรวจประเมินผลกระทบของวิธีการฟัก โดยในการเก็บข้อมูลจากฟาร์มจำนวนมาก และเปรียบเทียบการใช้ยาต้านจุลชีพในฟาร์มที่ลูกไก่ฟักโดยใช้ระบบการฟักปรกติกับการฟักในฟาร์ม

การเก็บข้อมูล

               ข้อมูลการใช้ยาต้านจุลชีพจากฟาร์มไก่เนื้อเบลเยียม ๒๑๑ แห่ง ประกอบด้วย อุบัติการณ์การรักษา (TI) ที่ใช้สำหรับตรวจเชิงปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพแบบมาตรฐาน จากฟาร์ม ๒๑๑ แห่ง มี ๒๐๔ ฟาร์ม (๔๑๕ โรงเรือน) ที่ใช้การฟักปรกติ ขณะที่ ๒๘ ฟาร์ม (๕๔ โรงเรือน) ใช้การฟักที่ฟาร์ม จากจำนวน ๒๐๔ ฟาร์มที่ใช้การฟักเป็นปรกติตั้งแต่เริ่มต้นการเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๓ พบว่า ๒๑ ฟาร์ฒ เคลื่อนย้ายไปฟักที่ฟาร์มระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวจนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓ การใช้ยาต้านจุลชีพจาก ฝูงไก่ที่ฟักแบบปรกติจำนวน ๒,๒๔๔ ฝูง และฝูงไก่ที่ฟักที่ฟาร์มจำนวน ๒๒๗ ฝูง ขนาดฝูงราว ๓๐,๓๐๐ ตัว     

               ฟาร์มทั้งหมดมีการผลิตไก่เนื้อปรกติโดยใช้สายพันธุ์ไก่โตช้า ทุกฝูงมีการจับไก่ระหว่างการเลี้ยงหนึ่งครั้งร้อยละ ๒๕ ของจำนวนไก่ทั้งหมดที่น้ำหนักราว ๒ กิโลกรัม และที่เหลือร้อยละ ๗๕ จับที่อายุ ๔๐ ถึง ๔๒ วัน น้ำหนักสุดท้ายราว ๒.๗ กิโลกรัม การให้วัคซีนไม่แตกต่างกัน ข้อมูลไก่เนื้อทั้งหมดรวมอยู่ในชุดข้อมูลที่มาจากโรงฟักในเบลเยียม ๒ แห่งทั้งสองโรงฟักอยู่ในอินติเกรตเดียวกัน มีสุขภาพและการจัดการเดียวกันจากไก่พันธุ์เนื้อเดียวกัน

ผลการทดลอง

               การให้ยาต้านจุลชีพใน ๒,๐๙๑ ฝูง คิดเป็นร้อยละ ๘๔.๖๒ ของฝูงการผลิตทั้งหมด ๒,๔๗๑ ฝูงในชุดข้อมูล ที่เหลือ ๓๘๐ ฝูงไม่ใช้ยาต้านจุลชีพระหว่างการผลิต

               ในจำนวนฝูงที่ให้ยาต้านจุลชีพ ๒,๐๙๑ ฝูง ประกอบด้วยการฟักปรกติ ๑,๙๗๓ ฝูง และการฟักที่ฟาร์ม ๑๑๘ ฝูง เหลือเพียงร้อยละ ๑๒.๐๗ ที่ไม่ได้ให้ยาจากลูกไก่ที่ฟักปรกติ (๒๗๑ ฝูง) และร้อยละ ๔๘.๐๑ ที่ไม่ให้ยาจากลูกไก่ที่ฟักในฟาร์ม (๑๐๙ ฝูง)

               ฟาร์มที่ใช้ระบบการฟักปรกติมีโอกาสสูงที่จะใช้ยาต้านจุลชีพมากกว่าฟาร์มที่ใช้ระบบการฟักที่ฟาร์มถึง ๕.๖ เท่า ที่ความเชื่อมั่นร้อยละ ๙๕ และช่วงความเชื่อมั่นระหว่าง ๓.๖ ถึง ๘.๘ เมื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์การรักษาทั้งหมด ๒,๔๗๑ ฝูงภายหลังรอบการผลิต โดยไม่คำนึงว่าให้ยาต้านจุลชีพหรือไม่ เปรียบเทียบโดยอาศัยระบบการฟัก พบว่า การฟักที่ฟาร์มมีอุบัติการณ์การรักษาที่ต่ำกว่าร้อยละ ๔๔ อย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับความเชื่อมั่นน้อยกว่า ๐.๐๑ เปรียบเทียบกับการฟักปรกติ ฟาร์มไก่พันธุ์ และขนาดฝูงก็มีบทบาทเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ     

               เมื่อเปรียบเทียบในฝูงที่ให้การรักษา ฟาร์มที่ฟักในฟาร์มจะมีค่ากลางเอเอ็มยู หรือการใช้ยาต้านจุลชีพที่น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเปรียบเทียบกับฝูงที่ฟักปรกติ การรักษาในลูกไก่ที่ฟักปรกติ พบว่า ร้อยละ ๗๕ ของอุบัติการณ์รักษาทั้งหมดเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกเปรียบเทียบกับร้อยละ ๕๑ ในฟาร์มที่ฟักลูกไก่ในฟาร์ม นอกเหนือจากนั้น ลูกไก่ที่ฟักปรกติร้อยละ ๓๗ ของการให้ยาต้านจุลชีพเกิดขึ้นในช่วงสองวันแรกของการผลิตคิดเป็นสองเท่าเทียบกับลูกไก่ที่ฟาร์มในฟาร์มร้อยละ ๑๖ เท่านั้น  

               เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของฝูงที่ได้รับการวินิจฉัยเพื่อการใช้ยาต้านจุลชีพต่อสัปดาห์ พบว่า การใช้ยาต้านจุลชีพปรากฏเป็นร้อยละ ๙๔.๖๒ ของสัปดาห์ในฝูงที่ลูกไก่ฟักแบบปรกติ ขณะที่ การใช้ยาต้านจุลชีพเป็นร้อยละ ๖๙.๖๔ ของสัปดาห์ในฝูงที่ลูกไก่ฟักในฟาร์ม ทั้งสองระบบเห็นการเพิ่มขึ้นในการใช้ยาต้านจุลชีพในช่วงสัปดาห์ที่ ๔ โดยเป็นฟาร์มที่ให้การรักษาร้อยละ ๑๙ และไม่ให้การรักษาร้อยละ ๑๖ ตามลำดับ  

               ในทั้งสองระบบการผลิต และการฟักที่ฟาร์ม ยาลินโคสเปคติน และเตตราซัยคลิน นิยมใช้มากที่สุด โดยลินโคสเปคตินใช้สูงเป็นสามเท่าในฝูงไก่ที่ฟักปรกติเปรียบเทียบกับฝูงไก่ที่ฟักที่ฟาร์ม บ่งชี้ว่า การฟักที่ฟาร์มช่วยลดการใช้ยาต้านจุลชีพในไก่เนื้อ และจะมีบทบาทสำคัญในการผลิตไก่เนื้ออย่างยั่งยืน และตามหลักจริยธรรมสัตว์

เอกสารอ้างอิง

Maertens L. 2024. On-farm hatching leads to significantly lower antimicrobial use. [Internet]. [Cited 2024 Feb 5]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/on-farm-hatching-leads-to-significantly-less-use-of-antimicrobials/

ภาพที่ ๑ การใช้ยาต้านจุลชีพในฝูงไก่ที่ฟักในฟาร์มต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีจำนวนฝูงที่ไม่ใช้ยาต้านจุลชีพมากกว่าด้วย (แหล่งภาพ Maertens, 2024)



วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

เชลฟ์ขายเนื้อไก่และไข่ว่างเปล่าในรัสเซีย

 ในสัปดาห์แรกของปีนี้ เนื้อไก่ขาดตลาดในเมืองสำคัญของรัสเซียอย่างเยคาเตรินบุร์ก เชเลียบินสค์ อูลยานอฟสค์ และซามารา และบางส่วนของมอสโก หน่วยงานรัฐยืนยันว่า เนื้อไก่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ขณะที่ ผู้ค้าปลีกและผู้เลี้ยงสัตว์ปีกบางส่วนรับทราบปัญหาแล้ว   

ตลาดจำหน่ายไข่ไก่ และเนื้อไก่รัสเซียกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนสินค้า ร่วมกับภาวะลอยตัวของราคาสินค้าอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ.๒๕๖๖ การจัดการวิกฤติพึ่งพามาตรการพิเศษ รวมถึง การยกเว้นการนำเข้าสินค้าเนื้อไก่ปลอดภาษี ๑๖๐,๐๐๐ ตัน และนำเข้าไข่ไก่อย่างเร่งด่วนจากตุรกี และอาเซอร์ไบจัน     

   ในช่วงการประชุมของหน่วยงานรัฐเมื่อปลายเดือนธันวาคม รองนายกฯรัสเซีย วิกตอเรีย อะบรามเชนโก คาดว่า สถานการณ์ตลาดสัตว์ปีกรัสเซียจะนิ่งขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม 

ร้านค้าปลีกเดือดร้อน

            อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนสินค้าได้สร้างความวิตกในกลุ่มผู้บริโภค สำหรับสินค้าเนื้อสัตว์ปีกเชื่อว่าเป็นผลมาจากพายุหิมะและอากาศหนาวเย็นในรัสเซีย กลุ่มเอ็กซ์ ๕ ผู้ค้าปลีกรายสำคัญในรัสเซียก็ให้ข่าวไว้เช่นนี้  ความจริงแล้ว พายุหิมะพัดผ่านพื้นที่กว้างขวางในรัสเซียตั้งแต่ธันวาคม ส่งผลกระทบต่อหลายเมืองสำคัญ รวมถึง มอสโก ที่พบพายุหิมะครั้งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ ในบางพื้นที่ ระบบการขนส่งเกิดอัมพาต เนื่องจาก สภาพอากาศ

การทำธุรกิจเป็นปรกติ

               การผลิตสัตว์ปีกรัสเซียเกือบจะอยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้ว ความจริงแล้วกำลังการผลิตที่มีอยู่เพียงพอ และไม่น่าจะเกิดการขาดแคลนทั้งเนื้อสัตว์ปีกและไข่ไก่ได้

               โรคไข้หวัดนกก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอุตสาหกรรมสัตว์ปีกรัสเซีย บางฟาร์มก็ปิดกิจการไปแล้ว บางฟาร์มก็ฟื้นตัวกลับมาได้ รัสเซียเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกหลายครั้งในช่วงกลางปีที่แล้ว รายงานล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๖ ที่ฟาร์มในเมือง Bashkirskaya โดยมีไก่ถูกทำลายไปสองล้านตัว

หลายปัจจัยซ้ำเติม

               สิ่งท้าทายต่อตลาดสัตว์ปีกและไข่ไก่รัสเซียไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยเดียว แต่มีหลากหลายปัจจัยที่ซ้ำเติมพร้อมกัน โรคไข้หวัดนกเป็นอุปสรรคสำคัญ ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ผลผลิตที่ลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ยังประสบปัญหาการถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก รัสเซียไม่สามารถนำเข้าชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่ใช้ในฟาร์มได้ เกษตรกรชาวรัสเซียต้องปรับตัวอยู่หลายสัปดาห์เพื่อหาแหล่งนำเข้าทดแทน ซึ่งใช้เวลา ๒ ถึง ๓ สัปดาห์ ในบางรายก็นานไปถึงครึ่งปีเลย เนื่องจาก อุปกรณ์ที่ใช้ในฟาร์มส่วนใหญ่ในรัสเซียซื้อมาจากยุโรป โดยเฉพาะ เยอรมัน โรงงานรัสเซียผลิตได้เพียงบางชนิดเท่านั้น ดังนั้น ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกในรัสเซียจึงถูกกดดันให้ลดขนาดลง

เอกสารอ้างอิง

Vorotnikov V. 2024. Poultry disappears from the grocery shelves in Russia. [Internet]. [Cited 2024 Jan 29]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/poultry-disappears-from-the-grocery-shelves-in-russia/ 

ภาพที่ ๑ เชลฟ์ขายเนื้อไก่และไข่ว่างเปล่าในรัสเซีย หน่วยงานรัฐยืนยันว่า เนื้อไก่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค  (แหล่งภาพ Canva)



  

ไก่เนื้อขยันเดินเป็นสัญญาณสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี

  การประเมินสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มไก่เนื้อแบบอัตโนมัติยังเป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจาก มีไก่ในโรงเรือนจำนวนมาก และวิธีการวัดผลก็แตกต่างกันไป ...