วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หกวิธีต่อสู้ปัญหาเซลลูไลติส

เซลลูไลติสเป็นสาเหตุสำคัญของการปลดซากไก่เนื้อ และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อผู้ผลิต ๖ วิธีต่อสู้กับปัญหาเซลลูไลติสตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาขนปกคลุมร่างกาย การตรวจติดตามความหนาแน่นของการเลี้ยง ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวด ปรับเวลาการให้วัคซีน ปรับปรุงการจัดการให้ทันต่อเหตุการณ์ และสร้างเสริมสุขภาพที่ดีของลำไส้
๑.     การส่งเสริมการเจริญเติบโตของขน การนำสายพันธุ์ที่ขนขึ้นช้า (Slow-feathering genetic line) ได้เพิ่มปัญหาเซลลูไลติสขึ้นอย่างมาก การเลี้ยงไก่เนื้อสมัยใหม่ได้เปิดโอกาสให้ผิวหนังบริเวณท้องมีโอกาสเกิดรอยขีดข่วนขึ้นกว่าเดิม มีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ขนของไก่ที่อายุ ๒๘ วันเป็นปัจจัยโน้มนำที่สำคัญที่สุดของการเกิดปัญหาเซลลูไลติส ดังนั้น การจัดการไก่เนื้อที่ดีส่งเสริมให้มีการเจริญงอกขึ้นของขนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก รวมถึง หลีกเลี่ยงการจัดการอากาศที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะที่อายุ ๒ ถึง ๔ สัปดาห์ ช่วยกระตุ้นการเจริญงอกขึ้นของขน และลดปัญหาเซลลูไลติสได้
๒.    การตรวจติดตามความหนาแน่นของไก่ หากจำนวนไก่มีความหนาแน่นสูงเกินไปจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดรอยขีดข่วนที่ส่งผลให้อัตราการเกิดเซลลูไลติสสูงขึ้น ความสัมพันธ์อย่างง่ายๆดังนี้ ไก่มาก = รอยข่วนมาก = เซลลูไลติสสูง มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะ ในฟาร์มที่ความหนาแน่นของไก่เพิ่มขึ้น โดยไม่มีการเพิ่มอุปกรณ์การให้อาหาร และน้ำ จนทำให้ไก่ต้องแก่งแย่งกันกินอาหาร และน้ำ
๓.     เข้มงวดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ คุณภาพวัสดุรองพื้นที่แย่ก็มีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ปัญหาเซลลูไลติสที่สูงขึ้น วัสดุรองพื้นที่เปียกเป็นสิ่งแวดล้อมในอุดมคติสำหรับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เมื่อท้องของไก่สัมผัสกับวัสดุรองพื้นที่เปียกตลอดเวลาก็จะเพิ่มการปนเปื้อนของแบคทีเรียผ่านรอยขีดข่วน การถ่ายทอดเชื้อโรคจากวัสดุรองพื้นเข้าสู่ร่างกายไก่โดยตรง สภาพวัสดุรองพื้นที่เปียกยังส่งผลให้เล็บไก่สกปรกเต็มไปด้วยแบคทีเรียภายใน และสงผ่านเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่รอยแผลได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรงเรือนระหว่างพักโรงเรือนจึงมีความสำคัญมาก ระยะพักโรงเรือนมากกว่า ๑๕ วันสามารถช่วยลดอุบัติการณ์เซลลูไลติสได้
๔.    ปรับเวลาการให้วัคซีน โปรแกรมวัคซีนที่โรงฟักสามารถลดปัญหาการคัดซากไก่เนื้อทิ้ง เนื่องจาก ปัญหาเซลลูไลติสที่โรงเชือดได้ ผลการศึกษาทางตอนใต้ของประเทศบราซิล แสดงให้เห้นว่า การให้วัคซีนกัมโบโรที่โรงฟักแทนที่จะให้ที่ฟาร์ม ช่วยลดปัญหาการปลดซากทิ้งจากปัญหาเซลลูไลติสได้อย่างมาก
๕.    ปรับแผนการจัดการให้ทันสมัยตลอดเวลา เพื่อให้มั่นใจว่า มีการทบทวนการจัดการที่ฟาร์ม อุปกรณ์ และผังฟาร์มที่เหมาะกับไก่สายพันธุ์ใหม่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ การระบายอากาศ การให้อาหาร และน้ำเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก
๖.      การสร้างเสริมสุขภาพลำไส้ที่ดี เชื้อ อี. โคลัย เป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาเซลลูไลติส และเป็นเชื้อโรคฉวยโอกาสที่อาศัยในลำไส้ไก่แพร่กระจายผ่านมูลไก่ที่ถ่ายลงสู่วัสดุรองพื้น โปรไบโอติก เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์สามารถปรับจุลินทรีย์ในลำไส้ และลดการแพร่กระจายเชื้อ อี. โคลัย สู่สิ่งแวดล้อม การใช้จุลินทรีย์แข่งขัน ก็สามารถป้องกันเชื้อโรคมิให้เกาะยึดเซลล์ลำไส้ หรือเซลล์ที่มีหน้าที่ดูดซึมอาหารในลำไส้ และสร้างสารต่อต้านจุลชีพตามธรรมชาติ เช่น กรดอินทรีย์ และแบคเทอริโอซิน จุลชีพเหล่านี้ทำให้เชื้อ อี. โคลัย แบ่งเซลล์ และเพิ่มจำนวนได้ลำบาก เป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อ อี. โคลัย เข้าสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงลดโอกาสการติดเชื้อ อี. โคลัย ผ่านรอยขีดข่วน และแผลที่ผิวหนัง การศึกษาโดย Estrada และคณะ (2001) แสดงให้เห็นว่า การให้เชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ ไบฟิโดแบคทีเรียให้ไก่เนื้อช่วยลดอุบัติการณ์เซลลูไลติสในซากที่โรงฆ่า เชื้อแบคทีเรียกลุ่ม บ. ไบฟิเดียม มีอัตราการปนเปื้อนซากทั้งตัวต่ำลงกว่ากลุ่มควบคุม (๒.๘ และ ๔.๔ เปอร์เซ็นต์) และลดอุบัติการณ์ของปัญหาเซลลูไลติสลงกว่ากลุ่มควบคุม (๓๒.๑ และ ๕๕.๔ เปอร์เซ็นต์)

แหล่งที่มา:          Luca Vandi (28/10/15)

2 ความคิดเห็น:

  1. ปัญหาเซลลูไลติส เป็นโรคชนิดหนึี่งหรือกลุ่มอาการที่เกิดในไก่เนื้อคะ

    ตอบลบ
  2. เป็นกลุ่มอาการที่พบได้ในไก่เนื้อที่โรงฆ่า ซึ่งจะมีการเปิดซากตามกระบวนการเพื่อตรวจความผิดปรกติของซากไก่ครับ โดยสามารถสังเกตเห็นการอักเสบคล้ายหนองเกิดขึ้นที่ชั้นใต้ผิวหนัง

    ตอบลบ

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...