วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

ลิสเทอเรียระบาดหนักที่สุดในโลก

ไก่สุก และเนื้อสำเร็จรูป เช่น แฮม และโพโลนี เป็นรายการอาหารที่ต้องสงสัยว่าเป็นเหตุของการระบาดของโรคลิสเทอริโอซิสทำสถิติเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดในโลก
               ผู้เสียชีวิตไปแล้ว ๘๑ รายในแอฟริกาใต้ ตามรายงานของสถาบันโรคระบาดระดับชาติ หรือเอ็นไอซีดี (National Institiute of Communicable Diseases, NICD) ของประเทศ มีผู้ป่วยจำนวนมากถึง ๗๖๗ รายใน ๙ จังหวัด ทำลายสถิติการระบาดครั้งใหญ่ในลำดับรองลงมาที่สหรัฐฯ จำนวน ๑๔๗ รายในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ โรคระบาดครั้งนี้เกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษนามว่า ลิสทีเรีย โดยทั่วไป อัตราการตายอยู่ระหว่าง ๒๐ ถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เอ็นซีไอดี อ้างว่า หากวิเคราะห์จากข้อมูลผู้ป่วย ๒๓๕ ราย อัตราการตายได้สูงถึง ๓๔ เปอร์เซ็นต์แล้ว ถึงเวลานี้ ยังไม่สามารถสอบย้อนกลับไปยังแหล่งต้นตอที่แท้จริงได้

ผู้ผลิตสัตว์ปีกรายใหญ่
               ต้นเดือนที่ผ่านมา มีการสงสัยว่า ผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งของแอฟริกาใต้ โซเวอไรน์ ฟู้ด ตั้งอยู่ที่เมือง Hartbeespoort ในเคปตะวันออกอาจเกี่ยวข้องกับการระบาด เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม ได้ตรวจเยี่ยมโรงงานของบริษัทแห่งนี้ เพื่อเก็บตัวอย่างอาหาร แต่ตัวอย่างดังกล่าวไม่พบเชื้อสายพันธุ์เอสที ๖ แม้ว่า จะตรวจพบสายพันธุ์อื่นๆที่มีโอกาสก่อโรค 
               รัฐมนตรีสาธารณสุข Aaron Motsoaledi แสดงความเห็นว่า ขณะที่โรงงานพบเชื้อลิสทีเรีย ได้สั่งหยุดการผลิตอาหารเพื่อทำความสะอาดใหญ่ โดยปิดลงตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคมปีที่แล้ว แต่เปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ ๙ มกราคมที่ผ่านมา หัวหน้าการผลิตของโรงงาน Blaine van Rensberg อ้างว่า บริษัทได้เพิ่มความเข้มงวดในการเตรียมสินค้าให้ปลอดภัยกว่าที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาหาร ดร. Lucia Anelich มีความเห็นว่า ผู้ร้ายตัวจริงดูเหมือนจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการบริโภคอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ เนื้อสำเร็จรูปมีการบริโภคโดยกลุ่มประชาการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนที่ลดราคาลง หรือแพงกว่าปรกติ เหตุการณ์ยังไม่สงบยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป  
เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2018. Poultry under suspicion in worst listeriosis outbreak. [Internet]. [Cited 2018 Jan 22]. Available from: http://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2018/1/Poultry-under-suspicion-in-worst-listeriosis-outbreak-238226E/


ภาพที่ ๑ เนื้อสัตว์ปีกกลายเป็นผู้ต้องสงสัยการระบาดของเชื้อลิสทีเรียที่เลวร้ายที่สุดในโลก (แหล่งภาพ: Rob van Dijk

วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

มันมาแล้ว!!! คริสเปอร์แคส ๙ เริ่มด้วยวัคซีนมาเร็กซ์

ในที่สุด เทคโนโลยีคริสเปอร์แคส ๙ ก็ได้นำมาใช้พัฒนาวัคซีนมาเร็กซ์ให้ป้องกันโรคได้หลายๆโรคพร้อมกันเป็นเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่า เบรคทรู หรือการค้นพบที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่สถาบันวิจัยเพอร์ไบรต์ในสก๊อตแลนด์ วัคซีนใหม่นี้จะช่วยลดจำนวนการให้วัคซีนกับสัตว์ปีก ลดต้นทุนการผลิต และช่วยให้สวัสดิภาพสัตว์ดียิ่งขึ้น
               วิธีการใหม่ล่าสุดนี้เป็นการดัดแปลงพันธุกรรมของวัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์ เพื่อป้องกันโรคกัมโบโร ไข้หวัดนก หรือนิวคาสเซิล โดยใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งยีนด้วยคริสเปอร์แคส ๙ ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่ใช้งบประมาณการวิจัยไม่มากนัก เพื่อใส่เชื้อไวรัสกัมโบโรเข้าไปในวัคซีนมาเร็กซ์ เป็นการป้องกันโรคได้พร้อมกันทั้งสองโรค

วัคซีนปรับแต่งยีน
               ศาสตราจารย์ เวนูโกพัล แนร์ หัวหน้าคณะวิจัยที่เพอร์ไบรต์เชื่อว่า  คริสเปอร์แคส ๙ ช่วยเพิ่มโอกาสในการปรับแต่งยีนของวัคซีนมาเร็กซ์ เพื่อนำส่วนประกอบของเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆรวมเข้าไปด้วยกัน ถึงเวลานี้ คณะผู้วิจัยสามารถพัฒนาวัคซีนปรับแต่งยีนที่ป้องกันได้ทั้งมาเร็กซ์ และกัมโบโรพร้อมกัน และกำลังใส่ยีนของเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น นิวคาสเซิล และไข้หวัดนก การปรับแต่งวัคซีนที่รวดเร็วยังช่วยรับมือกับเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ได้อีกด้วย ถึงเวลานี้ ถนนทุกสายของงานวิจัยก็มุ่งหาเทคโนโลยีนี้ คณะผู้วิจัยนี้หวังว่าจะได้รับความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนในการยกระดับนวัตกรรมไปสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป

เทคโนโลยีคริสเปอร์แคส ๙
                  คริสเปอร์แคส ๙ (CRISPR, clustered regularly interspaced short palindromic repeat-Cas9 system) เป็นกลไกทางภูมิคุ้มกันของจุลชีพตามธรรมชาติในการต่อต้านกับเชื้อไวรัส และองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่รุกราน ระบบคริสเปอร์แคส ชนิดที่ ๒ ประกอบด้วยเอนไซม์ RNA-guided Cas9 endonuclease จากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ไพโรเจนส์ อาร์เอ็นเอนำร่องสายเดี่ยว (Single guide RNA, sgRNA) และ trans-activating crRNA (tracrRNA) สำหรับการปรับแต่งจีโนมในเซลล์ยูคาริโอต ระบบของคริสเปอร์แคส ๙ ช่วยในการสร้างเซลล์ดัดแปลงพันธุกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังช่วยจัดการจีโนมของเชื้อไวรัสชนิดดีเอ็นเอที่มีขนาดใหญ่ได้อีกหลายชนิด เช่น เฮอร์ปีสซิมเพล็กซ์ไวรัสชนิดที่ ๑ อะดีโนไวรัส เชื้อไวรัสออเจสกี แวคซิเนียไวรัส เอพสเตนบารร์ไวรัส และเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบในเป็ด เป็นต้น   

เอกสารอ้างอิง
Davies J. 2018. Modified Marek’s vaccine could protect against multiple diseases. [Internet]. [Cited 2018 Jan 23]. Available from: http://www.poultryworld.net/Health/Articles/2018/1/Modified-Mareks-vaccine-could-protect-against-multiple-diseases-239141E/


ภาพที่ ๑ โรคต่อไปที่คณะผู้วิจัยหวังว่าจะนำไปรวมเข้ากับวัคซีนมาเร็กซ์ ได้แก่ นิวคาสเซิล และไข้หวัดนก (แหล่งภาพ: สถาบันเพอร์ไบรต์) 

วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

อียูห้ามใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในอาหารสัตว์ปีก

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปตัดสินใจห้ามการใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในอาหารสัตว์ปีก โดยมีการลงคะแนนตัดสินระหว่างการประชุมของคณะกรรมการพืช สัตว์ อาหาร และอาหารสัตว์ (Standing Committee on Plants, Animals, Food and Feed, SCOPAFF) ทบทวนการอนุญาตใช้ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นวัตถุถนอมอาหารสัตว์ และปรับสภาพสุขอนามัยอาหารสัตว์
               ยี่สิบหกประเทศสมาชิกลงคะแนนห้ามใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในอาหารสัตว์ปีกอย่างเป็นเอกฉันท์ คณะกรรมาธิการอ้างว่าทั้ง ๒๖ ประเทศลงคะแนนปฏิเสธข้อเสนอ โดยมีเพียง ๑ ประเทศงดออกเสียง และอีก ๑ เสียงมีความเห็นตรงก้นข้าม โดยคำตัดสินจะเผยแพร่ในวารสารอย่างเป็นทางการของสหภาพยุโรปกำหนดกรอบเวลาถือเป็นอันสิ้นสุดความพยายามในการทบทวนมาตรการนี้ใหม่ที่ใช้เวลายาวนาน หลังจากตอนแรกคณะกรรมมาธิการแนะนำให้กลับมาอนุญาตให้มีการใช้สารเคมีได้ แต่ประเทศสมาชิกไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้เป็นเวลานานกว่า ๒ ปีแล้ว  

สเปน และโปแลนด์หยุดการใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในอาหารสัตว์แล้ว
               เมื่อปีที่แล้ว โปแลนด์ และสเปนหยุดการใช้สารดังกล่าวในอาหารสัตว์ปีกแล้ว เนื่องจาก ข้อกังวลว่าอาจก่อมะเร็ง และความปลอดภัยสำหรับพนักงาน แม้ว่า อีเอฟเอสเอ จะลงความเห็นว่า สารประกอบดังกล่าวไม่ได้ก่อมะเร็ง และสามารถอนุโลมให้ใช้เป็นสารเติมอาหารสัตว์ภายใต้มาตรการป้องกันความปลอดภัยของผู้ปฎิบัติงานอย่างเหมาะสม
               ผู้ผลิตฟอร์มัลดีไฮด์เจ้าของผลิตภัณฑ์ตัวเก่งอย่างเทอร์มิน ๘ นาม อะนิท็อกซ์ (Anitox) ผิดหวังกับการตัดสินใจครั้งนี้อย่างรุนแรงต่อว่าคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปว่า ไม่เคารพผลการประเมินทางวิทยาศาสตร์ของอีเอฟเอสเอ วิทยาศาสตร์ไม่มีอิทธิพลใดๆอีกแล้วในยุโรป คำตัดสินครั้งล่าสุดเพิ่งเปิดเผยออกมาภายหลังศูนย์ควบคุมโรคยุโรป หรือซีดีซีแห่งยุโรปเปิดเผยรายงานว่า เชื้อซัลโมเนลลาที่ลดลงหลายปีติดต่อกันเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกครั้ง นับตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๑๔ เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยด้วยเชื้อซัลโมเนลลาในมนุษย์ของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ๓ เปอร์เซ็นต์ อ้างตามศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคยุโรป (อีซีดีซี) และสำนักงานความปลอดภัยอาหารยุโรป (อีเอฟเอสเอ) โดยเฉพาะ ซ. เอนเทอไรทิดิส เป็นสาเหตุหนึ่งในหกของโรคอาหารเป็นพิษในปี ค.ศ.๒๐๑๖ แล้วทำไม สมาคมอุตสาหกรรมการอาหารสัตว์จึงต้องเป็นผู้กระตุ้นคณะกรรมาธิการยุโรปให้กลับมาอนุญาตให้ใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในอาหารสัตว์ อาจเป็นสาเหตุให้ข้อเสนอนี้ถูกตีตกไป เพราะความไม่ไว้วางใจทางการเมือง แทนที่จะเป็นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์   

ข้อเท็จจริงว่าด้วยซัลโมเนลลา
               จำนวนผู้ป่วยซัลโมเนลลาในสหภาพยุโรปไม่ได้ลดลงอีกต่อไป จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ๓ เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๑๔ อ้างตามอีซีดีซี และอีเอฟเอสเอ โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงถึง ๙๔,๕๓๐ รายจากโรคซัลโมเนลโลซิสรายงานในปี ค.ศ. ๒๐๑๖ เพียงปีเดียว ในจำนวนนี้ ๕๙ เปอร์เซ็นต์มีสาเหตุจากเชื้อ ซ. เอนเทอไรทิดิส ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการบริโภคไข่ ผลิตภัณฑ์จากไข่ และเนื้อสัตว์ปีก นักวิทยาศาสตร์อีเอฟเอสเอ ยังไม่สามารถอ้างได้ถึงสาเหตุที่ทำให้แนวโน้มของอุบัติการณ์สูงขึ้น การระบาดของ ซ. เอนเทอไรทิดิส น่าจะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทั้งในมนุษย์ และสัตว์ปีก ขณะนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพิ่มเติมโดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจด้านสาธารณสุข และความปลอดภัยอาหาร เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลของการเพิ่มขึ้นของโรค อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยซัลโมเนลลาเพิ่มขึ้นราว ๗๓ เปอร์เซ็นต์ (เพิ่มจาก ๐.๗ เปอร์เซ็นต์เป็น ๑.๒๑ เปอร์เซ็นต์) นับตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๑๔ เป็นต้นมา หลังจากการใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในอาหารสัตว์ของฟาร์มไก่ไข่หยุดใช้ไป  เช่นเดียวกันนักวิทยาศาสตร์จากอีซีดีซีแสดงความวิตกกังวลถึงการเพิ่มขึ้นนี้ การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยซัลโมเนลลาจากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคในช่วงที่ผ่านมาเป็นที่น่าวิตก และเตือนให้เราไม่ประมาท แม้กระทั่งมีการเตือนภัยระดับสูง และมีแผนการควบคุมระดับชาติสำหรับเชื้อ ซ. เอนเทอไรทิดิส แล้วก็ตาม ก็ยังจำเป็นต้องมีการจัดการควบคุมความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องในระดับของประเทศสมาชิก และยุโรป

เอกสารอ้างอิง

McDougal T. 2017. EU member states decide to ban formaldehyde in poultry feed. [Internet]. [Cited 2017 Dec 22]. Available from: http://www.poultryworld.net/Nutrition/Articles/2017/12/EU-member-states-decide-to-ban-formaldehyde-in-poultry-feed-228694E/

ภาพที่ ๑ ปีที่แล้ว โปแลนด์ และสเปนหยุดใส่ฟอร์มัลดีไฮด์ในอาหารสัตว์ปีก เนื่องจาก ข้อกังวลว่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง และความปลอดภัยสำหรับพนักงานในโรงงานอาหารสัตว์ (แหล่งภาพ Jan Willem van Vliet)



วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

เซลล์ภูมิคุ้มกันใหม่ในไก่ที่เพิ่มความไวรับต่อโรคมาเร็กซ์

ศูนย์วิจัยแห่งสหราชอาณาจักรได้พบเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมาเร็กซ์
               โรคมาเร็กซ์เป็นโรคติดต่อที่เป็นสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เรียกว่า ลิมโฟมาและภาวะการกดภูมิคุ้มกันในสัตว์ปีก ทำให้สัตว์มีความไวรับต่อการติดเชื้อแทรกซ้อน เชื้อไวรัสก่อโรคมาเร็กซ์เป็นอันตรายคุกคามการผลิตสัตว์ปีก ความเสียหายจากโรคเชื่อว่าสูงมากกว่า ๖ หมื่นล้านบาททั่วโลก งานวิจัยล่าสุดเผยให้เห็นว่า เชื้อไวรัสก่อโรคมาเร็กซ์ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดใหม่ที่เรียกว่า ซัพเพรสเซอร์ ลิมโฟไซต์ (Suppressor lymphocytes)” มีชื่อเล่นๆว่า ทีเร็ก (regulatory T)” ของไก่ ที่มีฤทธิ์กดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของไก่ 
               ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า จำนวนของเซลล์ซัพเพรสเซอร์ ลิมโฟไซต์ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ไก่มีความไวรับต่อการพัฒนาก้อนเนื้องอก เชื้อไวรัสมาเร็กซ์ฉกฉวยโอกาสจากเซลล์ภูมิคุ้มกันของตัวสัตว์ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองในการรุกรานร่างกายของสัตว์ โดยการกระตุ้นเซลล์ซัพเพรสเซอร์ ลิมโฟไซต์ จนเกิดภาวะกดภูมิคุ้มกัน และการสร้างเนื้องอกของเซลล์น้ำเหลือง โดยนักวิจัย พบว่า เซลล์น้ำเหลืองที่รวมกันเป็นเนื้องอกนี้มีคุณลักษณะคล้ายคลึงกับเซลล์ซัพเพรสเซอร์ ลิมโฟไซต์ แสดงให้เห็นว่า เซลล์เหล่านี้สามารถกดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของสัตว์ได้ นับเป็นการค้นพบวิถีการพัฒนาของโรคใหม่ เพื่อให้นักวิจัยได้ใช้ประโยชน์สำหรับการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อเชื้อไวรัสมาเร็กซ์   

เอกสารอ้างอิง
  

ภาพที่ ๑ ดร. Shahriar Behboudi หัวหน้ากลุ่มภูมิคุ้มกันวิทยาสัตว์ปีกที่สถาบันเพอร์ไบร์ตได้กล่าวไว้ว่า "เชื้อไวรัสบางชนิดสามารถฉกฉวยโอกาสจากเซลล์ภูมิคุ้มกันให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองในการรุกรานกลไกการต่อต้านเชื้อโรคของสัตว์" (แหล่งภาพ Jan Willem Schouten) 

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...