วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

มันมาแล้ว!!! คริสเปอร์แคส ๙ เริ่มด้วยวัคซีนมาเร็กซ์

ในที่สุด เทคโนโลยีคริสเปอร์แคส ๙ ก็ได้นำมาใช้พัฒนาวัคซีนมาเร็กซ์ให้ป้องกันโรคได้หลายๆโรคพร้อมกันเป็นเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่า เบรคทรู หรือการค้นพบที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่สถาบันวิจัยเพอร์ไบรต์ในสก๊อตแลนด์ วัคซีนใหม่นี้จะช่วยลดจำนวนการให้วัคซีนกับสัตว์ปีก ลดต้นทุนการผลิต และช่วยให้สวัสดิภาพสัตว์ดียิ่งขึ้น
               วิธีการใหม่ล่าสุดนี้เป็นการดัดแปลงพันธุกรรมของวัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์ เพื่อป้องกันโรคกัมโบโร ไข้หวัดนก หรือนิวคาสเซิล โดยใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งยีนด้วยคริสเปอร์แคส ๙ ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่ใช้งบประมาณการวิจัยไม่มากนัก เพื่อใส่เชื้อไวรัสกัมโบโรเข้าไปในวัคซีนมาเร็กซ์ เป็นการป้องกันโรคได้พร้อมกันทั้งสองโรค

วัคซีนปรับแต่งยีน
               ศาสตราจารย์ เวนูโกพัล แนร์ หัวหน้าคณะวิจัยที่เพอร์ไบรต์เชื่อว่า  คริสเปอร์แคส ๙ ช่วยเพิ่มโอกาสในการปรับแต่งยีนของวัคซีนมาเร็กซ์ เพื่อนำส่วนประกอบของเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆรวมเข้าไปด้วยกัน ถึงเวลานี้ คณะผู้วิจัยสามารถพัฒนาวัคซีนปรับแต่งยีนที่ป้องกันได้ทั้งมาเร็กซ์ และกัมโบโรพร้อมกัน และกำลังใส่ยีนของเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น นิวคาสเซิล และไข้หวัดนก การปรับแต่งวัคซีนที่รวดเร็วยังช่วยรับมือกับเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ได้อีกด้วย ถึงเวลานี้ ถนนทุกสายของงานวิจัยก็มุ่งหาเทคโนโลยีนี้ คณะผู้วิจัยนี้หวังว่าจะได้รับความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนในการยกระดับนวัตกรรมไปสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป

เทคโนโลยีคริสเปอร์แคส ๙
                  คริสเปอร์แคส ๙ (CRISPR, clustered regularly interspaced short palindromic repeat-Cas9 system) เป็นกลไกทางภูมิคุ้มกันของจุลชีพตามธรรมชาติในการต่อต้านกับเชื้อไวรัส และองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่รุกราน ระบบคริสเปอร์แคส ชนิดที่ ๒ ประกอบด้วยเอนไซม์ RNA-guided Cas9 endonuclease จากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ไพโรเจนส์ อาร์เอ็นเอนำร่องสายเดี่ยว (Single guide RNA, sgRNA) และ trans-activating crRNA (tracrRNA) สำหรับการปรับแต่งจีโนมในเซลล์ยูคาริโอต ระบบของคริสเปอร์แคส ๙ ช่วยในการสร้างเซลล์ดัดแปลงพันธุกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังช่วยจัดการจีโนมของเชื้อไวรัสชนิดดีเอ็นเอที่มีขนาดใหญ่ได้อีกหลายชนิด เช่น เฮอร์ปีสซิมเพล็กซ์ไวรัสชนิดที่ ๑ อะดีโนไวรัส เชื้อไวรัสออเจสกี แวคซิเนียไวรัส เอพสเตนบารร์ไวรัส และเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบในเป็ด เป็นต้น   

เอกสารอ้างอิง
Davies J. 2018. Modified Marek’s vaccine could protect against multiple diseases. [Internet]. [Cited 2018 Jan 23]. Available from: http://www.poultryworld.net/Health/Articles/2018/1/Modified-Mareks-vaccine-could-protect-against-multiple-diseases-239141E/


ภาพที่ ๑ โรคต่อไปที่คณะผู้วิจัยหวังว่าจะนำไปรวมเข้ากับวัคซีนมาเร็กซ์ ได้แก่ นิวคาสเซิล และไข้หวัดนก (แหล่งภาพ: สถาบันเพอร์ไบรต์) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...