วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

โรงเรือนยุคใหม่ ควบคุมการไหลอากาศได้แม่นยำ

ผู้ผลิตโครงสร้างฟาร์มประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยควบคุมสิ่งแวดล้อมในฟาร์มได้อย่างแม่นยำ และลดกลิ่นภายในโรงเรือน
               ระบบการแลกเปลี่ยนความร้อนใหม่ที่ช่วยจัดการอุณหภูมิอากาศได้อย่างแม่นยำ ขณะที่ ช่วยกำจัดทั้งแอมโมเนีย และกลิ่นเหม็นจากอากาศที่ปล่อยออกจากโรงเรือน ณ ฟาร์มทางตอนใต้ของเมือง Shropshire ใต้ เมื่อ H Timmis Farms ที่ดำเนินการโดยรอบ ทิมมิส วางแผนการขยายธุรกิจการเลี้ยงไก่เนื้อจาก 200,000 เป็น 300,000 ตัว เมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับติดตั้งระบบการให้ความร้อนจากใต้พิภพขนาด ๑.๓ เมกาวัตต์สำหรับการเลี้ยงสัตว์ปีกสี่โรงเรือนแรก ขณะที่มีการติดตั้ง ระบบพลังงานจากใต้พิภพเป็นแหล่งพลังงานชนิดที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร โดยนำความร้อนจากพื้นดินรอบฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ นำส่งไปยังระบบการทำความร้อนใต้ดิน จากเดิมที่มีระบบการระบายอากาศแบบปรกติ การขยายจำนวนโรงเรือนของฟาร์มสร้างความเปลี่ยนแปลงของจัดการระบายอากาศอย่างรุนแรง การแลกเปลี่ยนความร้อนของอากาศด้วยระบบนี้สามารถกำจัดกลิ่นแอมโมเนีย และกลิ่น รวมถึง ช่วยหมุนเวียอากาศที่อบอุ่นด้วย

การหมุนเวียนอากาศร้อน
               ในบางครั้งดูเหมือนเป็นความคิดบ้าๆในการทำความร้อนภายในโรงเรือน แล้วปล่อยอากาศที่อุตส่าห์ทำให้อุ่นแล้วทิ้งไป ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ฟาร์ม IPT Technology (Poultry Heating and Cooling) ทำความรู้จักได้ตามเวบไซต์ http://ipt-technology.co.uk/  มองไปที่การนำความร้อนกลับมาใช้ จึงร่วมกับสถาบันวิศวกรรม และเทคโนโลยี (IET) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านความร้อน การระบายอากาศ และระบบการทำอุณหภูมิอากาศ (HVAC) สำหรับอาคารพาณิชย์ และศูนย์ข้อมูลต่างๆ ภายหลังปรึกษาหารือกับวิศวกรของ IET แล้วเกี่ยวกับแนวความคิด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะ ปัญหาสำคัญของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเกี่ยวกับการจัดการอุณหภูมิ และความชื้น กลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วสำหรับวิศวกร IET ที่เคยมีประสบการณ์ในศูนย์ข้อมูล (Data centers) ที่ไม่ได้เต็มไปด้วยแฟ้มกระดาษแบบบ้านเรา แต่เป็นศูนย์ที่เต็มไปด้วยคอมพิวเตอร์ชั้นยอดสำหรับธุรกิจโทรคมนาคม และอุปกรณ์สำหรับระบบการจัดเก็บข้อมูลต่างๆที่ไม่อาจผิดพลาดได้เลย แม้แต่อุณหภูมิเพียง ๐.๑ องศาเซลเซียสก็ทำให้ระบบล่มได้แล้ว หากอุณหภูมิเหวี่ยงไป้มาถึง ๒ องศาเซลเซียสเท่านั้น ระบบทุกอย่างก็จะเข้าสู่สถานการณ์วิกฤติ ธุรกิจล่มลงได้ภายในเสี้ยววินาที

การออกแบบโครงสร้างโรงเรือนใหม่
               ระบบโรงเรือนใหม่ เวนต์แมกซ์ (VentMax) พัฒนามาแล้วเป็นเวลา ๔ ปี ออกแบบ และผลิตในบรอมส์โกรฟ (Bromsgrove) สำหรับการผลิตสัตว์ปีกเป็นพิเศษ โดยมีการดัดแปลงระบบโรงเรือนเพื่อให้เหมาะกับฟาร์มสัตว์ปีก รวมถึง วัสดุพลาสติกพิเศษที่พัฒนาให้ทนทานต่อการกัดกร่อนของแอมโมเนียโดยระบบของแฟนคอม (Fancom) ที่ออกแบบโดยวิศวกร การก่อสร้างโรงเรือนเพิ่มเติมอีก ๒ โรงเรือนจะใช้ระบบการทำความร้อนโดยใช้พลังงานใต้พิภพสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้า ๒๐๐ กิโลวัตต์ การทำความร้อนจากพลังงานใต้พิภพเป็นแหล่งพลังงานหลักในการสร้างความอบอุ่นภายในโรงเรือนโดยมีชุดอุปกรณ์เวนต์แม็กซ์ ๘ ชุดติดตั้งตามผนังในแต่ละพื้นที่ ๒๔,๐๐๐ ตารางเมตรของโรงเรือน โดยมีหน้าต่างที่สามารถเปิดแสงธรรมชาติให้เข้าสู่ภยในโรงเรือน และมีคอนให้ไก่เกาะได้ รวมถึง วัสดุให้ไก่จิกเล่น ระบบแพนให้อาหารเป็นแบบมัลติเบค (Multibeck) ที่ป้องกันมิให้ไก่ปีน และถ่ายลงไปในแพนอาหาร รวมถึง ระบบน้ำเป็นแบบฟลัชอัตโนมัติ     

ผลการเลี้ยง
               สองรุ่นแรกจากการเลี้ยงด้วยโรงเรือนระบบใหม่ ประสบความสำเร็จในการผลิตโดยมีสัมประสิทธิ์การเลี้ยงแบบยุโรป (European Production Efficiency Factor) คะแนนมากกว่า ๔๐๐ และรุ่นที่สามมีปัญหาเรื่องการส่งอาหาร และการจับไก่ คะแนนลดลงเหลือ ๓๙๐ แต่ก็ยังเป็นที่น่าพอใจ ผู้เลี้ยงค่อนข้างพอใจเช่นกัน เนื่องจาก พื้นที่นี้ตามปรกติจะให้ผลการเลี้ยงที่ไม่ดีนัก โรงเรือนสี่หลังแรกที่ยังใช้ระบบการระบายอากาศแบบเก่า การควบคุมอุณหภูมิให้คงเส้นคงวาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจาก มีทั้งลม และอากาศที่หนาวเป็นน้ำแข็ง แต่โรงเรือนใหม่อีกสองหลังสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ค่อนข้างคงที่ทั่วทั้งโรงเรือนแตกต่างกันไม่เกินครึ่งองศา ขณะที่ โรงเรือนระบบเก่าอุณหภูมิแปรปรวนได้ถึง ๕ องศาเซลเซียส บรรยากาศภายในโรงเรือนดีกว่าระบบเดิมมาก และผลผลิตก็ดีขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่จะต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นกับการทำงานของระบบใหม่นี้  

อากาศเย็นสบายภายในโรงเรือน
               อีกด้านหนึ่งของระบบทำความร้อนภายในโรงเรือนคือ ความสามารถในการทำความเย็นให้ดีอีกด้วย เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า ๒๕ องศาเซลเซียสแล้วก็เป็นสิ่งที่ท้าทายถัดมา เมื่อไก่อายุ ๑๐ วัน อุณหภูมิร่างกายของไก่เพิ่มขึ้นจนต้องการอากาศเย็นมากกว่าอากาศร้อนแล้ว ระบบเดิมจะอาศัยการหมุนเวียนอากาศผ่านการระบายอากาศ ด้วยระบบนี้ ความร้อนใต้พื้นพิภพสามารถกำจัดอากาศร้อนได้ผ่านระบบเวนต์แมกซ์ (VentMax) ที่สามารถลดอุณหภูมิอากาศที่ไหลผ่านเข้ามา แล้วทำให้อากาศเย็นสบายสำหรับไก่ อากาศที่ไหลเข้ามาจะถูกกรอง และผ่านอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน หรือผ่านคอยที่เชื่อมต่อกับระบบปั๊มความร้อนใต้พื้นพิภพหากต้องใช้ความร้อน ระบบคอยนี้ก็ยังสามารถทำให้อากาศเย็นลงได้เช่นเดียวกัน ในโรงเรือน สามารถปรับ nozzles ตามต้องการ แต่จะตั้งไว้อัตโนมัติให้อากาศที่ไหลผ่านตัวไก่ โรงเรือนจะไม่มีทางเข้าอากาศด้านข้าง แต่จะมีพัดลมที่จั่ว และหลังคา เพื่อช่วยระบายความร้อนในวันที่อากาศร้อนจัด และระบบสำรองตามความจำเป็น    
ลดกลิ่นเหม็น
               ระบบโรงเรือนใหม่นี้ยังสามารถกรอง และกำจัดแก๊สแอมโมเนีย และกลิ่นเหม็นในอากาศที่ถูกปล่อยออกนอกโรงเรือน ผู้ผลิตสัตว์ปีกทุกคนคุ้นเคยดีว่า การผลิตสัตว์ปีกทราบดีว่า กลิ่นเหม็นจากโรงเรือนรบกวนชุมชนที่อาศัยใกล้กับฟาร์ม ระบบโรงเรือนใหม่ช่วยลดการปล่อยแอมโมเนียลงได้ถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์

เอกสารอ้างอิง
Davies J. 2018. New sheds offer precise airflow control. [Internet]. [Cited 2018 May 18]. Available from: https://www.poultryworld.net/Home/General/2018/5/New-sheds-offer-precise-airflow-control-286344E/


ภาพที่ ๑ ระบบโรงเรือนใหม่ (แหล่งภาพ: Richard Stanton) 

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ผลวิจัยล่าสุด!!! การใช้ความดันต่ำสตันนิ่งไก่ที่โรงเชือด

การใช้ความดันบรรยากาศต่ำในการทำให้ไก่สลบ หรือสตันนิ่งที่โรงเชือด โดยไม่ใช้แก๊ส ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสหรัฐฯ หรือยุโรป
               ผู้ผลิตสัตว์ปีกยังคงคิดถึงการใช้วิธีการสตันนิ่งทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะ การสตันนิ่งด้วยความดันบรรยากาศต่ำ ดร. ไดแอน บัวราสซา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกมหาวิทยาลัยเออร์เบิร์น กำลังวิจัยการใช้การสตันนิ่งด้วยความดันบรรยากาศต่ำ หรือ LAPS (Low atmosphere pressure) ด้วยการค่อยๆลดความดันบรรยากาศจนกระทั่งสัตว์หมดสติ ปัจจุบัน ได้รับการรับรองแล้วในสหรัฐฯ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการรับรองในสหภาพยุโรป แต่ยังไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน                      
วิธีการทำงานของ LAPS
               คล้ายคลึงกับการใช้ระบบการสตันนิ่งด้วยวิธีควบคุมบรรยากาศ หรือ CAS (Controlled atmosphere stunning) ระบบ LAPS ช่วยให้สัตว์หมดสติโดยค่อยๆลดความดันบรรยากาศอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งสัตว์หมดสติ และหยุดรีเฟล็กซ์ของระบบหายใจ สัตว์จะถูกทำให้สตันนิ่งขณะที่อยู่ในกล่องจับไก่ที่ถูกเคลื่อนย้ายมาในโมดุลของระบบ LAPS
               ระบบหายใจของสัตว์ปีกถูกออกแบบมาให้ทำงานได้ดีในความดันบรรยากาศต่ำที่ภูมิประเทศสูง ดังนั้น สัตว์ปีกจึงไม่รู้สึกเจ็บปวด คล้ายกับระบบ CAS คือ กระบวนการนี้ใช้เวลาหลายนาที และสามารถแขวนไก่ได้ทันทีภายหลังนำออกจากโมดุลของ LAPS

ข้อดีของระบบ LAPS
               เช่นเดียวกับระบบ CAS คือ ประโยชน์พื้นฐานของระบบนี้คือ สัตว์จะไม่รู้สึกตัวตั้งแต่ตอนแขวนบนแชคเคิลแล้ว จึงทำให้พนักงานทำงานสะดวกสบายมากขึ้น และสถานที่ปฏิบัติงานก็จะน่าทำงานมากขึ้น ระบบ LAPS ช่วยให้ไก่สลบทุกตัว ไม่เหมือนกับการใช้บ่อน้ำสตันเนอร์ที่มีความผันแปรไปตามขนาดของไก่ เมื่อถูกทำให้สลบแล้วด้วยระบบ LAPS ไก่เนื้อจะสลบเหมือด ไม่มีความรู้สึกอีกต่อไป 
               ระบบยังช่วยให้พัฒนาคุณภาพเนื้อสัตว์ และลดการบาดเจ็บจากปีกหัก และขาช้ำ สิ่งที่ไม่เหมือนกับ CAS คือ ไม่จำเป็นต้องใช้แก๊ส เนื่องจาก เป็นระบบที่ไม่ใช้แก๊สใดๆในการสตันนิ่ง

ข้อเสียของระบบ LAPS
               เช่นเดียวกับระบบ CAS คือ ระบบ LAPS ก็มีราคาค่อนข้างแพงกว่าการสตันนิ่งด้วยไฟฟ้าทั่วไป จึงเป็นการลงทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพ และผู้บริโภค ประเมินค่าใช้จ่ายสำหรับการติดตั้ง LAPS ไว้ที่ราวสามสิบกว่าล้านบาทเปรียบเทียบกับระบบการสตันนิ่งด้วยไฟฟ้าเพียงสามล้านกว่าบาทเท่านั้นเรียกว่าแพงกว่ากันสิบเท่า และฮาลาลยังไม่ยอมรับระบบนี้อีกด้วย ตอนนี้จึงยังอาจจะไม่ถึงเวลาของระบบ LAPS จึงยังไม่เป็นที่นิยมใช้กันในโรงฆ่าในปัจจุบัน ขณะที่ได้รับการรับรองแล้วในสหรัฐฯ และรอการรับรองอยู่ในยุโรป ทำให้ผู้ที่มีประสบการณ์ต่อระบบนี้ยังไม่มากนักในปัจจุบัน


Alonzo A. 2018. Breaches in biosecurity: Sanderson Farms vet shares three valuable lessons. [Internet]. [Cited 2018 May 11]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/34412-low-atmospheric-pressure-stunning-pros-and-cons

แหล่งภาพ Yurii Bukhanovskyi, Bigstock




วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สรุปบทเรียน การควบคุมโรคระบาด

ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพนับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการผลิตสัตว์ปีก โดยเฉพาะ ท่ามกลางการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง ที่กำลังเกิดขึ้นในฟาร์มสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์สหรัฐฯ ต่อเนื่องอีก ๒ บทเรียนจากฟาร์มของบริษัท แซนเดอร์สัน 
   ความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นกระบวนการที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคในประชากรสัตว์ ความเสี่ยงที่สุดคือ การคิดว่าไม่มีความเสี่ยง แต่เช่นเดียวกับที่เราทราบกันมา เกือบทุกกิจกรรมที่มีการปฏิบัติในฟาร์มสัตว์ปีกก่อให้เกิดความเสี่ยงเสมอ ดังนั้น เป้าหมายของเราคือ การควบคุมความเสี่ยงอย่างชาญฉลาดให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ สิ่งนี้จำเป็นต้องทบทวนการจัดการของเราว่าดีพอแล้วหรือยังที่จะเป็นปราการที่แข็งแกร่งระหว่างสัตว์ปีกในโรงเรือน และแหล่งของเชื้อโรคระบาด
บทเรียนที่ ๒ การเคลื่อนย้ายวัสดุรองพื้นเก่าจะนำโรค
                ช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ สองปีต่อมา มีการระบาดของโรค ILT ในฟาร์มของบริษัท แซนเดอร์สัน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐมิสซิสซิปปี รายงานสัตว์ป่วยเกิดขึ้นในฟาร์มเก่าแก่ที่มีเจ้าของรายใหม่ เจ้าของรายก่อนเป็นผู้ให้บริการขนส่งวัสดุรองพื้น คอยเคลื่อนย้ายวัสดุรองพื้นจากฟาร์มไปใช้เป็นปุ๋ยให้พืชไร่ แม้ว่า เจ้าของรายเก่าจะขายฟาร์มแล้ว แต่ก็ยังเป็นเจ้าของวัสดุรองพื้นชุดเก่าอยู่ จึงจัดการเก็บวัสดุรองพื้นเก่า แล้วขับผ่านโรงเรือนที่ ๓ และ ๔ เจ้าของรายเก่าเริ่มขนย้ายวัสดุรองพื้นเก่าในเวลาเดียวกับที่เจ้าของรายใหม่กำลังต่อสู้กับปัญหาโรคผิวหนังอักเสบแบบแกรงกรีน (Gangrenous dermatitis, GD) ในโรงเรือนที่ ๓ และต้องคอยเก็บไก่ตายบ่อยๆ สิบวันหลังจากการระบาดของ GD ไก่ในโรงเรือนก็เกิดโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ รายงานสัตว์ป่วยรายนี้ ผู้เลี้ยงใหม่น่าจะได้รับเชื้อไวรัสจากเส้นทางการเคลื่อนย้ายวัสดุรองพื้นเก่านั่นเอง แล้วนำไปติดในโรงเรือนที่ฝูงสัตว์กำลังอ่อนแอจากโรค GD พอดี ต้นฤดูหนาวนั้นเอง โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อได้แพร่ไปในทางตอนเหนือของรัฐอัลบามา เจ้าของฟาร์มรายก่อนปฏิเสธที่จะเคลื่อนย้ายวัสดุรองพื้นจากรัฐอัลมาบาไปยังรัฐมิสซิสซิปปี แต่ก็พบเชื้อไวรัส ILT จากรัฐมิสซิสซิปปีที่มีลักษณะทางพันธุกรรมตรงกับรัฐอัลบามา นับตั้งแต่นั้น บริษัท แซนเดอร์สันก็ห้ามการจัดการวัสดุรองพื้นใดๆในฟาร์มที่มีการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม

บทเรียนที่ ๓ เราไม่สามารถจัดการเพื่อนบ้านได้
               ในช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. ๒๕๕๗ บริษัท แซนเดอร์สันก็ยังเกิดการระบาดของโรค ILT ในทางตอนเหนือของรัฐแคโรลินา ทางตะวันออกของพื้นที่ที่มักเกิดการระบาดของโรค ฟาร์มไก่เนื้อของบริษัท ๓ แห่งเกิดโรค รายแรกเกิดจากความบกพร่องของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ตามเส้นทางจากบ้านไปทำงาน พนักงานตรวจสอบอุปกรณ์หยุดที่โรงเรือนที่ ๒ ของฟาร์มแรกที่เกิดโรคเพื่อตรวจสอบรายงานความผิดปรกติของประตูม้วน แต่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันโรคติดมาในด้วย และเจ้าของฟาร์มก็ไม่มีอะไหล่เตรียมไว้ให้ หลังจากนั้นเพียง ๑๐ วันภายหลังจากการเข้าฟาร์มของพนักงานคนนั้น ไก่ที่เลี้ยงอยู่บริเวณใกล้เคียงกับประตูในโรงเรือนที่ ๒ ก็เริ่มแสดงอาการป่วยด้วยโรค ILT ส่วนอีกสองฟาร์มที่เกิดโรคไม่ทราบที่มาอย่างชัดเจน ทั้งสองฟาร์มมีที่ตั้งห่างกันออกไป และไกลจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกอื่นๆ ความเชื่อมโยงกับฟาร์มไก่ป่วยรายแรกคือ พนักงานตรวจสอบอุปกรณ์ แต่เส้นทางการเดินทางของเขาก็ไม่มีความสัมพันธ์กับฟาร์มอื่นๆนอกเหนือจากสองฟาร์มดังกล่าว การสอบสวนต่อไปเปิดเผยแหล่งที่มาของโรคมาจากล้อของรถนั่นเอง ฟาร์มของบริษัทเพื่อนบ้านในพื้นที่เดียวกันมีการระบาดของโรค ILT และรถจากฟาร์มไก่ประกันของบริษัทแซนเดอร์สันใช้เส้นทางการขนส่งเดียวกันกับบริษัทเพื่อนบ้านใช้ขนส่งไก่ตาย ทำให้บริษัทฟาร์มแซนเดอร์สันตระหนักได้ว่า บริษัทไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเพื่อนบ้านได้ สัตว์แพทย์ของเราต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพของตัวเอง บริษัทจึงกำหนดให้ล้อ และช่วงล่างของรถต้องถูกฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม และพนักงานสนับสนุนต้องฆ่าเชื้อที่รองเท้าก่อนขึ้นรถ โดยเฉพาะ ฟาร์มที่เกิดโรค ต้องมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ      

คำแนะนำสำหรับการควบคุมการระบาดของโรค
               ทั้งสามกรณี แสดงให้เห็นถึง ความจำเป็นของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ๖ ขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยผู้ผลิตสัตว์ปีก ร่วมกับ การสำรวจระบาดวิทยาของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกที่มีความจำเป็นเมื่อเกิดการระบาดของโรค ได้แก่
๑. มีบุคลากรที่มีความรู้ตรวจเยี่ยมฟาร์มที่เกิดโรคแต่ละแห่ง เพื่อพูดคุยกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ของเหตุการณ์การเกิดโรคระบาด
๒. พยายามเล่าเรื่องราวที่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับการนำโรคเข้าสู่ฟาร์ม
๓. ตรวจสอบรอยรั่ว หรือข้อบกพร่องในการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ
๔. อุดรอยรั่วของความปลอดภัยทางชีวภาพที่ตรวจพบ
๕. มอบหมายให้ผู้จัดการฟาร์ม และสัตวแพทย์ ตรวจสอบว่า สิ่งที่มีความจำเป็นต่อการสร้างความมั่นใจในมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่ถูกต้องยังคงมีการปฏิบัติเป็นอย่างดีหรือไม่?
๖. สุดท้าย แบ่งปันประสบการณ์ที่เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อมิให้เกิดความบกพร่องด้านความปลอดภัยทางชีวภาพอีกครั้ง
               บทเรียนเหล่านี้สามารถประยุกต์ได้ทั้งกับโรค ILT และโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคไข้หวัดนก เช่นเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง

Stayer PA. 2018. Breaches in biosecurity: Sanderson Farms vet shares three valuable lessons. Poultry Health Today. [Internet]. [Cited 2018 May 16]. Available from: https://poultryhealthtoday.com/breaches-in-biosecurity-lessons-learned/

(แหล่งภาพ https://pixabay.com/en/truck-transport-vehicle-automobile-3171662/)

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ความผิดพลาดของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพนับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการผลิตสัตว์ปีก โดยเฉพาะ ท่ามกลางการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง ที่กำลังเกิดขึ้นในฟาร์มสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์สหรัฐฯ
               ความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นกระบวนการที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคในประชากรสัตว์ ความเสี่ยงที่สุดคือ การคิดว่าไม่มีความเสี่ยง แต่เช่นเดียวกับที่เราทราบกันมา เกือบทุกกิจกรรมที่มีการปฏิบัติในฟาร์มสัตว์ปีกก่อให้เกิดความเสี่ยงเสมอ ดังนั้น เป้าหมายของเราคือ การควบคุมความเสี่ยงอย่างชาญฉลาดให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ สิ่งนี้จำเป็นต้องทบทวนการจัดการของเราว่าดีพอแล้วหรือยังที่จะเป็นปราการที่แข็งแกร่งระหว่างสัตว์ปีกในโรงเรือน และแหล่งของเชื้อโรคระบาด
               ในสถานการณ์โรคระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เราทราบดีว่า นกน้ำป่าสามารถเป็นพาหะของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง ดังนั้น จะต้องแยกโรคนี้ออกจากฟาร์มสัตว์ปีก เราต้องป้องกันมิให้มีการสัมผัสกับนกน้ำป่า และมูลสัตว์เหล่านี้ ดังนั้น เราควรห้ามมิให้บุคลากรในฟาร์มล่าสัตว์ และไปยุ่งขิงกับนกน้ำป่า เราสามารถช่วยป้องกันนกป่าได้โดยการจัดการสิ่งที่สามารถเป็นอาหารนกที่อยู่รายรอบโรงเรือน ตัดหญ้าให้สั้นเสมอ และป้องกันไม่ให้มีน้ำใกล้กับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก การฆ่าเชื้อเน้นบริเวณใต้พื้นรองเท้าก่อนเข้าสู่โรงเรือน รวมถึง อุปกรณ์ใดๆที่จะนำเข้าสู่โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีกก็ต้องผ่านการฆ่าเชื้อเป็นอย่างดี  
               บริษัท ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์รายสำคัญอย่างแซนเดอร์สัน มีแผนระบบความปลอดภัยทางชีวภาพบางข้อที่หยิบยืมมาจากคำแนะนำทั่วไป เช่น สภาไก่แห่งชาติสหรัฐฯ หรือบริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีกพันธุ์ปฐมภูมิ ที่ฟาร์มแซนเดอร์สัน ได้มีการนำกระบวนการความปลอดภัยทางชีวภาพถ่ายทอดต่อฟาร์มไก่ประกันด้วยสัญญาการเลี้ยง รวมถึง เอกสารมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ของบริษัท

บทเรียนที่ ๑ หัวเข่าแพร่โรค ILT  
               บทเรียนการระบาดโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ (Infectious laryngotracheitis, ILT) ในฟาร์มฟาร์มแซนเดอร์สันสร้างความเสียหายจนทำให้ต้องตัดสินใจทำลายไก่มากกว่าเจ็ดแสนตัวทีเดียว ดังที่เราทราบกันดีว่าโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อเป็นโรคที่สร้างความเสียหายอย่างมาก เริ่มต้นด้วยการทำลายทางเดินหายใจส่วนต้น และมักนำไปสู่การตายของไก่ที่ติดเชื้อ ตามปรกติ การเกิดโรคจะต้องรายงานไปยังภาครัฐ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงให้ความสำคัญกับโรคนี้มากกว่าโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ภายหลังการเกิดโรค ILT แต่ละราย สัตวแพทย์ของบริษัทจะเข้าสอบสวนเพื่อสืบค้นแหล่งต้นตอของเชื้อไวรัส และปรับกระบวนการความปลอดภัยทางชีวภาพ เราไม่อยากเป็นไปตามสุภาษิตเก่าที่ว่า ความโง่เขลาเกิดจากการคาดหวังผลที่แตกต่างจากพฤติกรรมเดิมๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นมา เมื่อเกิดโรคแต่ละครั้ง บุคคลากรในฟาร์มไก่เนื้อของบริษัทก็แค่สวมถุงพลาสติกครอบรองเท้าบู๊ท โดยไม่คิดปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพอื่นๆใด ในทางตรงกันข้าม ความปลอดภัยทางชีวภาพจำเป็นต้องมีความเข้มงวดสำหรับการทำงานของบุคลากรในฟาร์มเลี้ยงไก่พันธุ์ ทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงที่สุดของเรา นักวิชาการด้านสัตว์ปีกพันธุ์จำเป็นต้องสวมชุดคลุมตลอดตัวตลอดตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงนิ้วเท้าเพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่เป็นผู้นำโรคเข้าฟาร์ม
               ในฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ.๒๕๕๒ โรค ILT เกิดการระบาดในฟาร์มไก่เนื้อส่วนใหญ่ทางตะวันตกของรัฐเท็กซัส ระหว่างการสอบสวนโรค สัตวแพทย์ของบริษัทสอบสวนแล้วพบว่า การนำโรคครั้งนี้มาจากความบกพร่องอย่างรุนแรงของพื้นฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ฟาร์มไก่ป่วยรายสำคัญเกิดจากฟาร์มเลี้ยงไก่ประกันที่มีการแปรรูปสัตว์ปีกที่ไม่ใช่ของบริษัทที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ของตัวเอง โรค ILT ถูกสอบย้อนกลับไปยังเมืองแคนตัน รัฐเท็กซัส ในงานตลาดค้าสัตว์ปีก ในงานมีไก่เนื้อที่ให้วัคซีนป้องกันโรค ILT จากรัฐอาร์คันซอจำหน่ายด้วย
               ตามเส้นทางของฝูงไก่หลังบ้านที่ติดเชื้อไวรัส ILT อยู่ตามทางหลวงสายหลัง ฝูงสุดท้ายที่ทราบว่าเกิดการติดเชื้ออยู่ทางตอนเหนือของวาโค เป็นที่ชัดเจนว่า หนึ่งในฝูงไก่หลังบ้านที่ติดเชื้อเลี้ยงโดยฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อเชิงพาณิชย์เอง เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อเชิงพาณิชย์ที่เกิดโรค ILT มักเดินทางกลับบ้านอยู่กับครอบครัว และเพื่อนฝูง บางคนก็เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อประกันให้กับบริษัทแซนเดอร์สันเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นการแพร่กระจายโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อไปยังฟาร์มไก่เนื้อข้างเคียง หลังจากเกิดโรคในฟาร์มดังกล่าวแล้ว กลุ่มฟาร์มใกล้เคียงกันในรัศมี ๑.๕ ไมล์ก็เกิดโรคตามในที่สุด สิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่การเกิดโรคสองแห่งคือ นักวิชาการของบริษัทแซนเดอร์สันนั่นเอง หลังจากสอบถามนักวิชาการ และสอบสวนฟาร์มที่เกิดโรคก็ทำให้ทราบได้ว่า บุคลากรเหล่านี้เป็นผู้นำเชื้อไวรัสจากฟาร์มหนึ่งไปยังอีกฟาร์มหนึ่งจากบริเวณที่ไม่มีการป้องกันบริเวณเข่า ฟาร์มที่เกิดโรค และโรงเรือนทั้งหมดในกลุ่มฟาร์มที่เกิดโรคกลุ่มที่สองมีเครื่องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนในระดับหัวของไก่ นักวิชาการของบริษัทแซนเดอร์สันเข้าตรวจเยี่ยม และก้มลงคุกเข่าเพื่อตรวจสอบ และย้อนดูข้อมูลย้อนหลังจากเครื่องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน              
               ความเสียหายจากโรค ILT ได้สอนให้เราทราบว่า บุคลากรผู้ให้บริการด้านการเลี้ยงไก่เนื้อจำเป็นต้องสวมชุดป้องกันที่สะอาดที่ปกคลุมทั้งตัว รวมทั้งสวมหมวกตะข่ายด้วย เช่นเดียวกับบุคลากรที่เลี้ยงไก่พันธุ์เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

Stayer PA. 2018. Breaches in biosecurity: Sanderson Farms vet shares three valuable lessons. Poultry Health Today. [Internet]. [Cited 2018 May 16]. Available from: https://poultryhealthtoday.com/breaches-in-biosecurity-lessons-learned/

(แหล่งภาพ: https://pixabay.com/en/flag-blow-wind-flutter-characters-75047/)


วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...