วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ชุดทดสอบเชื้อ เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม ในเป็ดปักกิ่ง

รายงานวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Avian Pathology ว่าด้วยการพัฒนาชุดตรวจสอบ in-house ELISA สำหรับตรวจสอบแอนติบอดีต่อเชื้อแบคทีเรีย เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม ในเป็ดปักกิ่ง โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสัตวแพทย์ฮานโนเวอร์ เยอรมัน ถึงเวลานี้เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้กลายเป็นเชื้ออุบัติใหม่ที่ได้รับความสนใจในแวดวงสัตว์ปีกเป็นอย่างมาก ทั้งในฐานะที่เป็นสาเหตุของขาพิการ ปัญหาคุณภาพซาก และการถ่ายทอดเชื้อทั้งในแนวดิ่งจากแม่สู่ลูก และแนวระนาบทางการกิน และหายใจได้อย่างรวดเร็ว 

เชื้อ เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม หรืออีซี เป็นที่กล่าวกันกันมากในช่วงไม่กี่ปีที่่ผ่านมา มีบทความวิชาการจำนวนมากทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการอ้างว่าเชื้อชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญของรอยโรคที่กระดูกในไก่เนื้อ และการติดเชื้อตามระบบในเป็ดปักกิ่ง แม้ว่านักวิชาการจะเห็นความสำคัญของเชื้อก่อโรคชนิดนี้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่มีเครื่องมือการวินิจฉัยทางซีโรโลยีสำหรับการตรวจสอบการติดเชื้ออีซีได้ ล่าสุด คณะผู้วิจัยจึงพยายามพัฒนาชุดตรวจสอบอีไลซาขึ้นใช้เองในห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Indirect ELISA สำหรับตรวจสอบแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้ออีซี แล้วลองประเมินชุดทดสอบโดยการตรวจซีรัมจำนวน ๖๗ ตัวอย่างจากเป็ดปักกิ่งที่ทดลองให้ติดเชื้อ และอีก ๗๑๐ ตัวอย่างจากฟาร์มเป็ดปักกิ่งพันธุ์ที่มีการให้วัคซีนเชื้อตาย ย้ำวัคซีนเชื้อตายป้องกันเชื้ออีซี และอีก ๘๐ ตัวอย่างจากเป็ดปักกิ่งเนื้อที่ได้จากฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่ให้วัคซีน

สัตว์ทดลองทุกกลุ่มที่ทดลองฉีดเชื้อเข้าทางถุงลมให้ผลบวกต่อชุดทดสอบอีไลซาที่พัฒนาขึ้นใหม่ โดยมีค่า S/P ratios หรือค่าเฉลี่ยตัวอย่างทดสอบต่อตัวอย่างบวกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เป็น ๐.๗๑ ถึง ๒.๗๐ ที่อายุ ๗ ๑๔ และ ๒๑ วันหลังการฉีดเชื้อ ขณะที่ เป็ดที่ให้เชื้อป้อนปาก และกลุ่มควบคุมลบ ยังคงมีผลเลือดเป็นลบ โดยมีค่า S/P ratios เฉลี่ยเป็น ๐.๐ ถึง ๐.๑๕ 

ฟาร์มเป็ดปักกิ่งพันธุ์ที่ให้วัคซีน ๔ ฝูง ก็สามารถตรวจพบแอนติบอดีได้ โดยตัวอย่างร้อยละ ๖๘ ให้ผลเลือดเป็นบวก มีอัตราส่วน S/P ratio สูงที่สุดอายุระหว่าง ๑๖ ถึง ๒๖ สัปดาห์ มีค่ามัธยฐานของ S/P ratios เป็น ๐.๑๕ ถึง ๑.๐๓ แอนติบอดียังคงตรวจพบได้จากบางตัวอย่างในช่วงสัปดาห์ที่ ๖๑ ถึง ๖๗

สำหรับเป็ดปักกิ่งเนื้อไม่สามารถตรวจสอบแอนติบอดีได้เลย การตอบสนองของแอนติบอดีในเป็ดอาจได้รับอิทธิพลมาจากองค์ประกอบของวัคซีนเชื้อตาย

ชุดตรวจสอบอีไลซาที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับตรวจสอบการติดเชื้อ และการให้วัคซีนอีซีที่น่าจะมีโอกาสวางตลาดในธุรกิจสัตว์ปีกเร็วๆนี้ 

เอกสารอ้างอิง

Arne Jung & Silke Rautenschlein (2020) Development of an in-house ELISA for detection of antibodies against Enterococcus cecorum in Pekin ducks, Avian Pathology, 49:4, 355-360, DOI: 10.1080/03079457.2020.1753653


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...