วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2567

อย.สหรัฐฯ สั่งห้ามจำหน่ายนมดิบที่เสี่ยงหวัดนก

 องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ แนะนำให้รัฐ ท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่เหมาะสม เพื่อหยุดการจำหน่ายนมที่อาจมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค

เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในรัฐต่างๆควรขัดขวางการจำหน่ายน้ำนมดิบให้กับผู้บริโภค หากมีเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ แม้ว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้พยายามเตือนแล้วว่า น้ำนมดิบเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจนำเชื้อก่อโรคสู่ผู้บริโภค แต่มากกว่า ๓๐ รัฐยังอนุญาตให้จำหน่ายนมที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรส์จากฟาร์ม และร้านค้าปลีกได้

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ย้ำว่า ให้จำกัดการนำน้ำนมดิบที่อาจมีเชื้อไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ ไปให้มนุษย์ หรือสัตว์กิน ภายในภูมิภาค หรือรัฐของตน

ถึงปัจจุบัน คนงานสามคนในฟาร์มเลี้ยงโคที่มีอาการของโรคไข้หวัดเล็กน้อย โดยได้รับเชื้อจากโคนมที่ป่วย รายล่าสุดพบในรัฐมิชิแกนเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม เป็นรายแรกที่มีอาการทางระบบหายใจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังประเมินความเสี่ยงไว้ในระดับต่ำ และผู้ที่สัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ และเฟสชิลด์

คณะกรรมการสุขภาพสัตว์ในรัฐมิเนโซตา กักกันฟาร์มโคนมในเมืองเบนตันทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองมินเนียอาโพลิสเป็นเวลาอย่างน้อย ๓๐ วัน เนื่องจาก โคนมติดเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ รัฐมิเนโซตา ได้ประกาศการระบาดไว้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากรัฐเพื่อนบ้านอย่างไอโอวารายงานในฟาร์มโคนมทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐ

รัฐมิเนโซต้าเป็นรัฐที่สิบเอ็ดของสหรัฐฯที่รายงานโรคไข้หวัดนกในโคนมตั้งแต่ ๒๕ มีนาคมเป็นต้นมา ภายหลังจากถูกตรวจพบว่าก่อให้เกิดอาการป่วยแปลกๆในฝูงโคนมในรัฐเท็กซัส โคนมมากกว่า ๖๐ ฝูงติดเชื้อโรคไข้หวัดนกแล้วตามรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ โดยรัฐมิชิแกนพบมากที่สุดถึง ๒๔ ฝูง เนื่องจาก น้ำนมดิบมีโอกาสที่จะมีเชื้อไวรัสชนิดความรุนแรงสูงเอช ๕ เอ็น ๑ ที่มีชีวิต จึงเป็นความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะได้รับเชื้อไวรัสโดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานวิจัยอยู่น้อยที่ระบุว่า เชื้อไวรัสสามารถถ่ายทอดผ่านการบริโภคนม และผลิตภัณฑ์จากนมที่ผลิตจากน้ำนมดิบได้หรือไม่ ผลการทดสอบยืนยันว่า กระบวนการพาสเจอไรเซชันช่วยทำลายเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ ในน้ำนมได้ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ สั่งห้ามจำหน่ายน้ำนมดิบ และผลิตภัณฑ์ข้ามระหว่างรัฐ เวลานี้ได้เพียงรอเวลาที่จะตรวจพบผู้ติดเชื้อเท่านั้น ดังนั้น หน่วยงานรัฐจึงกระตุ้นผู้เลี้ยงโคนมให้ตรวจสอบสัตว์ของตนเองว่า ติดเชื้อไวรัสหรือไม่ หากแสดงอาการป่วยขึ้นมา

เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์กระตุ้นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และสัตว์ปีกให้เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อลดโอกาสการระบาดของเชื้อไวรัสแพร่กระจายออกไปโดยอุบัติเหตุ มาตรการต่างๆตั้งแต่ การจำกัดแขกเข้าฟาร์ฒ ฆ่าเชื้อรองเท้าบู้ทก่อนเข้าโรงเรือน และไม่ใช้อุปกรณ์การเลี้ยงร่วมกันระหว่างฟาร์ม กฏหมายควบคุมการเคลื่อนย้ายยังครอบคลุมอีก ๓ รัฐ ได้แก่ เดลาแวร์ ไอโอวา และหลุยเซียนา ไม่ให้จำหน่ายน้ำนมดิบข้ามเขตแดนรัฐดังกล่าว  

เอกสารอ้างอิง

Abbot C. 2024. Block sales of raw milk that may contain H5N1 virus, FDA asks states. [Internet]. [Cited 2024 Jun 7]. Available from: https://www.agriculture.com/block-sales-of-raw-milk-that-may-contain-h5n1-virus-fda-asks-states-8659963#:~:text=Block%20sales%20of%20raw%20milk%20that%20may%20contain,milk%20that%20may%20present%20a%20risk%20to%20consumers.

ภาพที่ ๑ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯห้ามจำหน่ายนมดิบที่เสี่ยงหวัดนก (แหล่งภาพ MasterTux | Pixabay)



วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2567

สหรัฐฯ และอียูสั่งผลิตวัคซีนไข้หวัดนกสำหรับมนุษย์

 วัคซีนไข้หวัดนกสำหรับมนุษย์ที่สั่งผลิตจะนำมาใช้สำหรับคนงานในฟาร์ม และสัตวแพทย์

สหภาพยุโรป ได้ทำสัญญากับซีเคอรัสผู้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำนวน ๖๖๕,๐๐๐ โด๊ส เพื่อป้องกันประชาชนจากโรคไข้หวัดนกที่มีสาเหตุจากสับไทป์เอช ๕ โดยชุดแรกจะส่งให้กับประเทศฟินแลนด์ เพื่อทำวัคซีนให้คนงานที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค หลังจากนั้นจึงทะยอยส่งให้กับประเทศอื่นๆต่อไป

คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปว่าด้วยความปลอดภัยอาหารและสุขภาพ ตัดสินใจครั้งนี้เพื่อป้องกันประชาชนที่มีคความเสี่ยงสูง เช่น คนงานในฟาร์มสัตว์ปีก และสัตวแพทย์ แม้ว่าในเวลานี้ โอกาสที่โรคไข้หวัดนกจะระบาดในมนุษย์จะมีโอกาสต่ำอยู่ก็ตาม ตอนนี้ สหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงที่จะจัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดนกมากกว่า ๔๐ ล้านโด๊ส และเตรียมความพร้อมตามสถานการณ์ในอนาคต

สำนักงานเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขของสหภาพยุโรป หรือเอชอีอาร์เอ ได้บรรลุข้อตกลงจากสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง ๑๕ ประเทศ และประเทศสมาชิกในพื้นที่เศรษฐกิจยุโรป หรืออีอีเอ ร่วมกับบริษัทซีเคอรัส แห่งสหราชอาณาจักร สั่งวัคซีน ๖๖๕,๐๐๐ โด๊ส เตรียมรับมือการระบาดของโรค และเตรียมสั่งผลิตเพิ่มอีก ๔๐ ล้านโด๊สตามสถานการณ์ ข้อตกลงนี้จะทำให้แต่ละประเทศสามารถสั่งวัคซีนเพิ่มขึ้นได้ภายในกรอบเวลา ๔ ปี 

วัคซีนจะใช้สำหรับกลุ่มประชากรที่มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ปีก หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น คนงานในฟาร์ม หรือสัตวแพทย์ โดยเป็นสายพันธุ์ที่ตรงกับเอช ๕ ของเชื้อไวรัสสับไทป์เอช ๕ เอ็น ๑

แผนการกักตุนวัคซีนของสหรัฐฯ

               สหรัฐฯ เตรียมจัดซื้อวัคซีนในปลายเดือนพฤษภาคมตามแผนการกักตุนวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อเตรียมรับมือการระบาดของโรคโดยเลือกของเอสคิวแอล ซีเคอรัส ตามข้อตกลงนี้ บริษัทจะส่งมอบวัคซีนทั้งหมด ๔.๘ ล้านโด๊ส นับเป็นสัญญาฉบับที่ ๔ ที่ซีเอสแอล ซีเคอรัสได้รับจากสำนักวิจัยและพัฒนาด้านชีวศาสตร์ทางการแพทย์ หรือบาร์ดา เพื่อรับมือกับโรคไข้หวัดนก  

เอกสารอ้างอิง

Clements M. 2024. EU, US ordering human avian influenza vaccines. [Internet]. [Cited 2024 Jun 11]. Available from: https://www.wattagnet.com/poultry-meat/diseases-health/avian-influenza/news/15677431/eu-us-ordering-human-avian-influenza-vaccines

ภาพที่ ๑ สหรัฐฯ และอียูสั่งผลิตวัคซีนไข้หวัดนกสำหรับมนุษย์ (แหล่งภาพ MasterTux | Pixabay)



วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2567

การใช้โฟมไนโตรเจนสำหรับทำลายสัตว์ปีก

 การใช้โฟมจากไนโตรเจนที่มีอัตราการสร้างโฟมสูงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าสัตว์ปีก และสอดคล้องกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ปีกมากกว่าวิธีการที่ใช้ในปัจจุบั คณะกรรมาธิการสวัสดิภาพสัตว์ปีกแห่งสหราชอาณาจักร แนะนำให้ใช้สำหรับการทำลายสัตว์ป่วยเพื่อควบคุมโรคระบาด

คณะกรรมการสวัสดาภาพสัตว์พิจารณาแล้วว่า การใช้โฟมจากไนโตรเจนที่มีอัตราการสร้างโฟมสูงเป็นพิเศษ ได้รับการพิจารณาว่าเทียบเท่า หรือดีกว่าการใช้ระบบอื่นๆ โดยเฉพาะ การทำลายสัตว์ปีกมีชีวิต

วิธีการฆ่าสัตว์มีหลากหลายวิธีตามที่สำนักงานสุขภาพพืชและสัตว์ หรือเอพีเอชเอ กำหนดไว้สำหรับการฆ่าสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมในฟาร์มที่เกิดโรคระบาด รวมถึง การใช้เครื่องมือกล ชุดรมแก๊ส และการรมแก๊สทั้งโรงเรือน ประสิทธิภาพสำหรับอุปกรณ์ที่อาศัยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์รมทั้งโรงเรือนใช้กันเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับฆ่าสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม และจัดการได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม พบบ่อยครั้งว่า เมื่อปฏิบัติจริง การปิดรอยรั่วไม่สมบูรณ์ หรือการจ่ายแก๊สได้ไม่ดีพอ ทำให้การทำให้สัตว์ตายอย่างสงบได้ไม่มีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น

   การใช้โฟมจากไนโตรเจนที่มีอัตราการสร้างโฟมสูงเป็นพิเศษ จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้หน่วยงานรัฐสามารถทำลายสัตว์ปีกจำนวนได้มากที่ติดเชื้อโรคไข้หวัดนก และโรคระบาดที่สำคัญอื่นๆ จึงเป็นวิธีการทำลายสัตว์ป่วยอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับโรงเรือนที่ใช้ระบบการระบายอากาศตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการควบคุมแบบโรงเรือนปิดทั่วไป

ผลการใช้งานจริง

               ผลการศึกษาในภาคสนาม ได้ข้อสรุปดังนี้

·      จำเป็นต้องมีงานวิจัยพื้นฐานที่มีค่าใช้จ่ายสูง สำหรับการใช้โฟมจากไนโตรเจนที่มีอัตราการสร้างโฟมสูงเป็นพิเศษ ในสัตว์ชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากสัตว์ปีกที่เคยศึกษามาก่อนแล้ว โดยทั่วไปแล้ว สัตว์ทุกชนิดก็จะเสียชีวิตได้เมื่อระดับออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ ๑ แต่อาจจะมีสัตว์บางชนิดที่อาจต้องใช้เวลานานขึ้น

·      การใช้โฟมไนโตรเจนเหมาะสำหรับสัตว์ปีกที่เลี้ยงบนวัสดุรองพื้น เช่น ไก่เนื้อ ไก่พันธุ์ (เนื้อ) ไก่งวง (เนื้อ) และเป็ดเนื้อ เนื่องจาก ผ่านการทดสอบระบบการนำส่งโฟมสำร็จแล้ว รวมถึง ไก่งวงพันธุ์ และเป็ดพันธุ์ที่มีระบบการเลี้ยงคล้ายคลึงกับไก่พันธุ์ (เนื้อ)

·      จำเป็นต้องทดลองในภาคสนามโดยใช้ระบบโรงเรือนอื่นๆที่นอกเหนือจากโรงเรือนที่เลี้ยงบนพื้น และใช้สัตว์ทดลองชนิดอื่นๆ ที่อายุต่างๆกัน ต้องการหลักฐานการตอบสนองทางพฤติกรรมที่แตกต่างกันต่อการใช้โฟมในสัตว์ปีกชนิดต่างๆ และอายุต่างๆกัน ควรใช้ความสว่างต่ำๆด้วยเพื่อลดการตอบสนองทางพฤติกรรม

·      เป็นการยากที่จะตรวจสอบสวัสดิภาพสัตว์โดยตรง เมื่อไก่จมอยู่ในโฟมระหว่างการทำลายสัตว์ วิธีการตรวจสอบพฤติกรรม และอาการหมดสติของไก่ในโฟม จำเป็นต้องมั่นใจว่าใช้วิธีการฆ่านั้นทั่วถึงทั้งโรงเรือนแล้ว รวมถึง การตรวจติดตามแก๊ส และใช้กล้องหลายๆตำแหน่ง ตลอดจนอินฟราเรดในที่มืด ผู้ประเมินควรทดลองและวางแผนที่จะนำตัวอย่างไก่โดยใช้เวลาสั้นๆ เพื่อดูว่าสัตว์หมดสติ และตายแล้วจริงๆ

·      การยกเลิกข้อกฏหมายบางส่วนจาก PATOK มาตราที่ ๕ เกี่ยวข้องกับการตรวจติดตาม หรือดูไก่แต่ละตัว ขณะถูกฆ่า ควรมั่นใจว่าสอดคล้องกับวิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยวิธีการฆ่าสัตว์ปีก

·      การนำเครื่องผลิตโฟมใช้ในโรงเรือนเป็นการสร้างคลื่นของโฟมจากทั้งสองฝั่งของโรงเรือนมีความสำคัญต่อการป้องกันไม่ให้ไก่ไปสุมรวมกันที่ปลายด้านใดด้านหนึ่งของโรงเรือน หรือตามมุม และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุปสรรคในการทำลายสัตว์ การตรวจติดตาม และปรับคลื่นของโฟมโดยผู้ปฏิบัติงานให้มั่นใจว่า ครอบคลุมไก่อย่างเพียงพอและทั่วถึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก

·      เมื่อทำลายสัตว์เพื่อควบคุมโรค วิธีการฆ่าสัตว์ที่อาจผิดหลักสวัสดิภาพสัตว์ควรถูกประเมินเปรียบเทียบกับปล่อยให้สัตว์เกิดการติดโรคแล้วตายเอง

·      การใช้โฟมที่ขยายตัวได้ระดับต่ำ หรือปานกลางไม่ควรใช้สำหรับการทำลายสัตว์ปีก เนื่องจาก ส่งผลต่อการอุดตันท่อทางเดินหายใจ และทำให้สัตว์ตายจากการขาดอากาศ เทียบเท่ากับการจมน้ำ หรือการขาดอากาศตาย ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมตามกฏหมายทั้งสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป แม้กระทั่ง ข้อกำหนดด้านสุขภาพสัตว์โลก พ.ศ.๒๕๖๑ ว่าด้วยการฆ่าสัตว์เพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมโรค     

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2024. High expansion nitrogen foam – an effective method of culling poultry?. [Internet]. [Cited 2024 Jun 5]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/high-expansion-nitrogen-foam-an-effective-method-of-culling/

ภาพที่ ๑ การใช้ไนโตรเจนโฟมที่ขยายตัวได้ในระดับสูงอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด (แหล่งภาพ Canva)



วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2567

บริษัทรัสเซียวางแผนขยายธุรกิจไก่เนื้อ

 เชอร์กิโซโว ผู้ผลิตเนื้อไก่รัสเซียรายใหญ่อันดับสองวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตในปี พ.ศ.๒๕๖๗

การเติบโตของบริษัทครั้งนี้เป็นผลมาจากกลุ่มธุรกิจในทางตอนกลางของรัสเซีย และการขยายการลงทุนไปในพื้นที่อูราลเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๖๕ 

ในปี พ.ศ.๖๖ เชอร์กิโซโว ผลิตเนื้อไก่ได้ ๙๘๖,๐๐๐ ตัน (น้ำหนักมีชีวิต) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๗.๘ เปรียบเทียบกับปีก่อน ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการขยายธุรกิจในรอบแรก นอกจากนั้น ฟาร์มไก่งวงยังเปลี่ยนไปเป็นฟาร์มไก่พันธุ์ (เนื้อ) กุญแจสำคัญของแนวโน้มในตลาดรัสเซียเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ผู้บริโภค กระตุ้นให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น กำลังการผลิตของบริษัทเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

อุปสรรคระหว่างทาง

               สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นสิ่งท้าทายของเชอร์กิโซโวที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่น การซื้ออุปกรณ์ เทคโนโลยี และชิ้นส่วนอะไหล่จากฝั่งตะวันตก เชอร์กิโซโวกำลังทำงานเพื่อให้มั่นใจว่า การจัดหาชิ้นส่วนอะไหล่ และอุปกรณ์ที่ใช้ในฟาร์มจะไม่ถูกขัดจังหวะ โดยเพิ่มรายชื่อของผู้จำหน่ายสินค้า และพยายามเน้นรายที่มีการผลิตในรัสเซีย นอกจากนั้น อุตสาหกรรมสัตว์ปีกรัสเซียยังประสบปัญหาการเพิ่มต้นทุนการผลิต ในปี พ.ศ.๒๕๖๖ ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ราคาบรรจุภัณฑ์ การขึ้นภาษีการขนส่ง และต้นทุนค่าจ้างแรงงาน เนื่องจาก การขาดแคลนแรงงานอย่างเฉียบพลัน  ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจรัสเซียในช่วงสองปีที่ผ่านมา รัสเซียขาดแรงงานราว ๕ ล้านคนจากข้อมูลที่เผยแพร่ไว้ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เศรษฐกิจรัสเซียเกือบไม่มีแรงงานหลงเหลือไว้ใช้ในภาคธุรกิจเลย

               เชอร์กิโซโวเน้นไปยังการป้องกันฟาร์มสัตว์ปีกจากโรคสัตว์ โดยในปี พ.ศ.๒๕๖๗ จะเพิ่มความเข้มงวดในระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อให้ผลผลิตสุดท้ายได้มากที่สุด ลงทุนขยายการผลิต และลดความเสี่ยงจากการจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ลงให้น้อยที่สุด    

เอกสารอ้างอิง

Vorotnikov V. 2024. Russia’s broiler meat giant shares expansion plans. [Internet]. [Cited 2024 May 31]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/broilers/russias-broiler-meat-giant-shares-expansion-plans/

ภาพที่ ๑ เชอร์กิโซโนยังไม่สามารถคาดการณ์การผลิตที่ชัดเจนสำหรับปี พ.ศ.๒๕๖๗ ได้ ในสถานการณ์ที่มีปัจจัยภายนอกอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา (แหล่งภาพ Canva)



วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ออสเตรเลียรายงานหวัดนกครั้งแรก

 รัฐวิกตอเรีย รายงานพบโรคไข้หวัดนกในฟาร์มไก่ไข่ และเด็กที่เดินทางกลับมาจากท่องเที่ยวในอินเดีย

โรคไข้หวัดนกเดินทางมาถึงทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรกจากการติดเชื้อทั้งฟาร์มไก่ไข่ และมนุษย์ โดยทั้งสองรายพบในรัฐวิกตอเรีย

ฟาร์มไก่ไข่

อ้างอิงจากสำนักงานการเกษตรรัฐวิกตอเรีย ผลการทดสอบเบื้องต้นยืนยันการปรากฏของโรคไข้หวัดนกที่ฟาร์มไก่ไข่ในรัฐวิกตอเรีย ตัวอย่างถูกนำส่งไปยังศูนย์เตรียมรับโรคระบาดแห่งออสเตรเลียในเมืองจีลอง เพื่อทดสอบทางห้องปฏิบัติการหาซีโรไทป์ และวิเคราะห์ว่าเป็นเชื้อรุนแรงหรือไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ประกาศของสหพันธ์เนื้อไก่ออสเตรเลีย ได้ประกาศว่า ไม่พบว่าเชื้อไวรัสที่พบเป็นสายพันธุ์รุนแรง เคลด ๒.๓.๔.๔บี ที่เกิดการระบาดไปทั่วโลกเวลานี้ ฟาร์มที่เกิดโรคได้กักกัน และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อยู่ในพื้นที่ระบาดพร้อมสำหรับการสนับสนุนผู้เลี้ยงสัตว์ และติดตามโรคต่อไป ผู้เลี้ยงสัตว์ปีก และเจ้าของสัตว์ปีกทั่วรัฐวิกตอเรียได้รับคำแนะนำให้เข้มงวดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

เด็กชาวออสเตรเลียติดเชื้อ

               สาธารณสุขรัฐวิกตอเรียรายงานว่า พบเด็กติดเชื้อเอช ๕ เอ็น ๑ ระหว่างเดินทางไปเที่ยวอินเดียในเดือนมีนาคม เด็กคนดังกล่าวแสดงอาการป่วย แต่ฟื้นกลับเป็นปรกติแล้ว ผลตรวจเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเป็นบวก สอบสวนผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยไม่พบการติดเชื้อ และโอกาสที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มเติมสำหรับโรคไข้หวัดนกต่ำมาก เนื่องจาก การแพร่กระจายระหว่างคนไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม ยืนยันได้ว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับการระบาดในฟาร์มไก่ไข่ที่รัฐวิกตอเรีย

ทำไม? ออสเตรเลียจึงปลอดโรคเป็นเวลานาน

               ขณะที่ โรคไข้หวัดนกระบาดวนเวียนในเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกา และอเมริกาใต้ และพึ่งเดินทางไปถึงทวีปแอนตาร์กติก แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีรายงานโรคไข้หวัดนกในแถบโอเชียเนีย

               ดร.เดวิด สเวยน์ อดีตผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้เคยอธิบายเหตุผลที่ทำไม เชื้อไวรัสไข้หวัดนกยังไม่สามารถแพร่ไปยังพื้นที่โอเชียเนียได้ เกิดจากการแนวความคิด การแยกจากกันด้วย อีโคโซนของโรคไข้หวัดนก (avian influenza ecozone)” นอกจากนั้น โอเชียเนีย และเอเชียยังถูกแบ่งแยกจากกันด้วยน้ำ นอกจากนั้น ภูมิภาคทั้งสองยังแบ่งจากกันด้วยแนวปราการที่มองไม่เห็นเรียกว่า เส้นวอลเลซ (Wallace line)” เป็นเส้นที่มองไม่เห็นที่เปลี่ยนรูปแบบการอพยพของนกน้ำ และด้วยเหตุผลนี้เอง เมื่อศึกษาเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเป็นปราการที่สำคัญทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอเชียจะไม่เดินทางไปถึงออสเตรเลีย   

เอกสารอ้างอิง

Graber R. 2024. Australia reports first cases of avian influenza. [Internet]. [Cited 2024 May 22]. Available from: https://www.wattagnet.com/poultry-meat/diseases-health/avian-influenza/article/15671408/australia-reports-first-cases-of-avian-influenza

ภาพที่ ๑ รัฐวิกตอเรีย รายงานพบโรคไข้หวัดนกในฟาร์มไก่ไข่ และเด็ก (แหล่งภาพ BeyhanYazar | iStock.com)



วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...