วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2567

อย.สหรัฐฯ สั่งห้ามจำหน่ายนมดิบที่เสี่ยงหวัดนก

 องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ แนะนำให้รัฐ ท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่เหมาะสม เพื่อหยุดการจำหน่ายนมที่อาจมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค

เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในรัฐต่างๆควรขัดขวางการจำหน่ายน้ำนมดิบให้กับผู้บริโภค หากมีเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ แม้ว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้พยายามเตือนแล้วว่า น้ำนมดิบเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจนำเชื้อก่อโรคสู่ผู้บริโภค แต่มากกว่า ๓๐ รัฐยังอนุญาตให้จำหน่ายนมที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรส์จากฟาร์ม และร้านค้าปลีกได้

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ย้ำว่า ให้จำกัดการนำน้ำนมดิบที่อาจมีเชื้อไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ ไปให้มนุษย์ หรือสัตว์กิน ภายในภูมิภาค หรือรัฐของตน

ถึงปัจจุบัน คนงานสามคนในฟาร์มเลี้ยงโคที่มีอาการของโรคไข้หวัดเล็กน้อย โดยได้รับเชื้อจากโคนมที่ป่วย รายล่าสุดพบในรัฐมิชิแกนเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม เป็นรายแรกที่มีอาการทางระบบหายใจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังประเมินความเสี่ยงไว้ในระดับต่ำ และผู้ที่สัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ และเฟสชิลด์

คณะกรรมการสุขภาพสัตว์ในรัฐมิเนโซตา กักกันฟาร์มโคนมในเมืองเบนตันทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองมินเนียอาโพลิสเป็นเวลาอย่างน้อย ๓๐ วัน เนื่องจาก โคนมติดเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ รัฐมิเนโซตา ได้ประกาศการระบาดไว้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากรัฐเพื่อนบ้านอย่างไอโอวารายงานในฟาร์มโคนมทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐ

รัฐมิเนโซต้าเป็นรัฐที่สิบเอ็ดของสหรัฐฯที่รายงานโรคไข้หวัดนกในโคนมตั้งแต่ ๒๕ มีนาคมเป็นต้นมา ภายหลังจากถูกตรวจพบว่าก่อให้เกิดอาการป่วยแปลกๆในฝูงโคนมในรัฐเท็กซัส โคนมมากกว่า ๖๐ ฝูงติดเชื้อโรคไข้หวัดนกแล้วตามรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ โดยรัฐมิชิแกนพบมากที่สุดถึง ๒๔ ฝูง เนื่องจาก น้ำนมดิบมีโอกาสที่จะมีเชื้อไวรัสชนิดความรุนแรงสูงเอช ๕ เอ็น ๑ ที่มีชีวิต จึงเป็นความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะได้รับเชื้อไวรัสโดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานวิจัยอยู่น้อยที่ระบุว่า เชื้อไวรัสสามารถถ่ายทอดผ่านการบริโภคนม และผลิตภัณฑ์จากนมที่ผลิตจากน้ำนมดิบได้หรือไม่ ผลการทดสอบยืนยันว่า กระบวนการพาสเจอไรเซชันช่วยทำลายเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ ในน้ำนมได้ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ สั่งห้ามจำหน่ายน้ำนมดิบ และผลิตภัณฑ์ข้ามระหว่างรัฐ เวลานี้ได้เพียงรอเวลาที่จะตรวจพบผู้ติดเชื้อเท่านั้น ดังนั้น หน่วยงานรัฐจึงกระตุ้นผู้เลี้ยงโคนมให้ตรวจสอบสัตว์ของตนเองว่า ติดเชื้อไวรัสหรือไม่ หากแสดงอาการป่วยขึ้นมา

เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์กระตุ้นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และสัตว์ปีกให้เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อลดโอกาสการระบาดของเชื้อไวรัสแพร่กระจายออกไปโดยอุบัติเหตุ มาตรการต่างๆตั้งแต่ การจำกัดแขกเข้าฟาร์ฒ ฆ่าเชื้อรองเท้าบู้ทก่อนเข้าโรงเรือน และไม่ใช้อุปกรณ์การเลี้ยงร่วมกันระหว่างฟาร์ม กฏหมายควบคุมการเคลื่อนย้ายยังครอบคลุมอีก ๓ รัฐ ได้แก่ เดลาแวร์ ไอโอวา และหลุยเซียนา ไม่ให้จำหน่ายน้ำนมดิบข้ามเขตแดนรัฐดังกล่าว  

เอกสารอ้างอิง

Abbot C. 2024. Block sales of raw milk that may contain H5N1 virus, FDA asks states. [Internet]. [Cited 2024 Jun 7]. Available from: https://www.agriculture.com/block-sales-of-raw-milk-that-may-contain-h5n1-virus-fda-asks-states-8659963#:~:text=Block%20sales%20of%20raw%20milk%20that%20may%20contain,milk%20that%20may%20present%20a%20risk%20to%20consumers.

ภาพที่ ๑ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯห้ามจำหน่ายนมดิบที่เสี่ยงหวัดนก (แหล่งภาพ MasterTux | Pixabay)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...