วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ข่าวดีสำหรับโรงเชือด หลอดแอลอีดีลดค่าไฟดี ฆ่าแบคทีเรียได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์ศึกษาการใช้หลอด LEDs สีฟ้า (Blue light emitting diodes) มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส เอสเชอริเชีย โคไล โอ ๑๕๗ เอช ๗ และซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม โดยมีประสิทธิภาพสูงที่สุดระหว่างอุณหภูมิ ๔ ถึง ๑๕ องศาเซลเซียส และมีสภาวะเป็นกรดอ่อนๆราว ๔.๕
               การวิจัยครั้งนี้เป็นการนำหลอด LEDs สีฟ้าสำหรับใช้ในการถนอมอาหารโดยปราศจากสารเคมี อาหารที่มีความเป็นกรด เช่น ผลไม้สดตัดแต่ง และเนื้อสัตว์พร้อมบริโภคสามารถนำมาผนอมอาหารภายใต้แสงไฟจากหลอด LEDs สีฟ้านี้ได้ ร่วมกับอุณหภูมิสำหรับทำความเย็น โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีที่นิยมกันมากสำหรับการถนอมอาหาร
               ขณะที่หลอด LEDs นิยมใช้กันในปัจจุบันมาก เนื่องจาก เป็นหลอดไฟที่ช่วยประหยัดพลังงาน แต่ยังไม่เป็นที่ทราบกันดีว่า มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย เซลล์แบคทีเรียประกอบด้วย องค์ประกอบภายในเซลล์ที่มีความสามารถในการดูดซับแสงในช่วงที่มองเห็นได้ที่สเปรคตรัมระหว่าง ๔๐๐ ถึง ๔๓๐ นาโนเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแสงหลอดไฟในช่วงแสงสีฟ้า การสัมผัสแสงสีฟ้าจากหลอด LEDs สามารถหยุดกระบวนการภายในเซลล์แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เซลล์แบคทีเรียตายได้
               ผลการศึกษาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียของหลอด LED มักประเมินประสิทธิภาพในตัวอย่างอาหาร หรือโดยใช้ระยะห่างที่ใกล้มากน้อยกว่า ๒ เซนติเมตรระหว่างสารละลายแบคทีเรีย และหลอด LED สภาวะดังกล่าวนี้ไม่เหมาะสำหรับใช้ในการถนอมอาหาร
               คณะผู้วิจัยนำโดย ผศ. Yuk Hyun-Gyun จากโปรแกรมวิทยาศาสตร์อาหาร และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ NUS เป็นคนแรกที่แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อการฆ่าเชื้อแบคทีเรียของหลอด LED ได้แก่ อุณหภูมิ และระดับ pH ของอาหาร โดยในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้เชื้อแบคทีเรียก่อโรค ได้แก่ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส เอสเชอริเชีย โคไล โอ ๑๕๗ เอช ๗ และซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม ภายใต้หลอดไฟ LEDs สีฟ้า โดยมี pH ที่ระดับต่างๆตั้งแต่กรดไปจนถึงด่าง ผลการวิจัย พบว่า เชื้อแบคทีเรียถูกฆ่าที่ระดับ pH ที่เป็นกรด และด่างมากกว่ากลาง โดยเฉพาะ สภาวะกรดมีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อได้มากกว่าด่างสำหรับเชื้อ  ล. โมโนไซโตจีเนส สำหรับเชื้อ เอสเชอริเชีย โคไล โอ ๑๕๗ เอช ๗ และซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม ให้ผลกลับกัน สภาวีทีเป็นด่างให้ผลได้ดีที่สุด แม้ว่า สภาวะที่เป็นกรดจะสามารถทำให้เชื้อหมดฤทธิ์ได้เช่นกัน ขั้นถัดไปสำหรับการวิจัยคือ การนำเทคโนโลยีหลอด LED มาใช้กับตัวอย่างอาหารจริง เช่น ผลไม้สดตัดแต่ง อาหารพร้อมรับประทาน หรืออาหารทะเลดิบ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เพื่อศึกษาต่อไปว่า หลอด LED ยังสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเหล่านี้ได้หรือไม่ โดยไม่ส่งผลต่อคุณภาพของสินค้า

แหล่งที่มา:          World Poultry (24/7/15)

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เตือนภัย!!! หวัดนกใหม่ H5N1 H5N6 ขยับเข้าเวียดนามแล้ว

เวียดนามยืนยันการระบาดโรคไข้หวัดนก ทั้งสับไทป์ H5N6 และ H5N1 พร้อมกัน ตามรายงานสองฉบับซ้อนเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฏาคมต่อ OIE โดยทั้งสองสับไทป์เป็นชนิดรุนแรง
               สำหรับสับไทป์ H5N6 ตรวจพบในไก่บ้าน ๖๐๕ ตัวในจังหวัด Nghe โดยมีไก่ตาย ๒๕๖ ตัวจากการติดเชื้อไวรัส ขณะที่ทำลายทั้งหมด ๓๔๙ ตัว เชื้อไวรัสหน้าใหม่ตัวนี้พึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อชาวจีนวัย ๓๗ ปีในจังหวัดยูนาน เสียชีวิตไป ๑ ราย เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฏาคมที่ผ่านมานี้เอง ความจริงเชื้อไวรัสสับไทป์นี้ เริ่มพบครั้งแรกใกล้บ้านเรานี้เองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ หลังจากนั้น เชื้อไวรัสก็วนเวียนอยู่ในลาว และเวียดนาม โดยเฉพาะจีนช่วงเดือนเดียวกัน และเป็นเดือนที่มีผู้ป่วย และเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้เป็นรายแรก และแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในจีนช่วงปลายปี โดยมีรายงานการระบาด ๒๔ ครั้งใน ๑๒ จังหวัดของประเทศ องค์การอนามัยโลกจึงได้เตือนภัย H5N6 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้       
               สำหรับสับไทป์ H5N1 หน้าเดิมตรวจพบในไก่บ้าน ๓๐๐ ตัวในจังหวัด Vinh Long โดยมีไก่ตาย ๑๑๗ ตัว และทำลายอีก ๑๘๓ ตัว
               ทั้งสองพื้นที่ได้มีการฆ่าเชื้อ และกำหนดโซนป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม OIE อ้างว่า ยังไม่สามารถระบุต้นตอของการติดเชื้อทั้งสองฟาร์มได้ ต้องรอให้กรมปศุสัตว์เวียดนามรายงานความก้าวหน้ารายสัปดาห์อย่างใกล้ชิด

แหล่งที่มา:          WHO (2014); WATTAg.Net.com (24/7/15)

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ไก่ติดซัลโมฯหลายสายพันธุ์ได้พร้อมกัน

นักศึกษาปริญญาโทจากสหรัฐฯ วิจัยการแพร่ซัลโมเนลลาในฟาร์ม เพื่อหาวิธีการป้องกัน แม้ว่า ซัลโมเนลลาจะเป็นที่รู้จักกันมานานแสนนานในฐานะของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ แต่วิธีการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียภายในฟาร์มสัตว์ปีกยังทราบกันน้อยมาก
               Yichao Yang ภาควิชาวิทยาศาสตร์สัตว์ปีก มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ ทำการการวิจัยครั้งนี้โดยมุ่นเน้นไปที่การต่อภาพที่ชัดเจนของการแพร่กระจายเชื้อซัลโมเนลลาเข้าสู่ตัวไก่ เพื่อหยุดการแพร่กระจายเชื้อซัลโมเนลลาตั้งแต่ระยะแรก และสร้างความมั่นใจต่อการผลิตสัตว์ปีก Yang ได้ใช้แบคทีเรียที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อให้สามารถติดตามการแพร่กระจายของเชื้อจากไก่สู่ไก่ และพบสิ่งที่แตกต่างจากผลการวิจัยที่ผ่านมาคือ ไก่สามารถติดเชื้อซัลโมเนลลาหลายสายพันธุ์ได้ในเวลาเดียวกัน
               การสอบย้อนกลับเชื้อซัลโมเนลลาทั่วทั้งฟาร์ม Yang ได้สร้างเชื้อซัลโมเนลลา ๖ ตัวอย่างที่มีการติดฉลากเครื่องหมายทางพันธุกรรมแตกต่างกันโดยการแรนดอมนิวคลีโอไทด์ ๖ ชนิดลงในโครโมโซมของ ซัลโมเนลลา เอนเทอไรทิดิส ที่เป็นสายพันธุ์ที่สำคัญสำหรับการก่อโรคอาหารเป็นพิษ หลังจากนั้น การสอบย้อนกลับการแพร่กระจายเชื้อก็อาศัยนิวคลีโอไทด์ที่ใส่ไว้แต่ละตัวอย่าง
               การทดลองแรกให้เชื้อซัลโมเนลลากับลูกไก่ทางปาก การทดลองที่สองให้เชื้อซัลโมเนลลาขนาดสูงเติมลงไปในน้ำ และการทดลองที่สาม นำเชื้อซัลโมเนลลาเติมลงในอาหารสัตว์ที่ขนาดต่ำ และสูง
               การติดเชื้อผสมหลายชนิด (Mixed infection) จากการวิจัยพบเชื้อซัลโมเนลลาหลายสายพันธุ์ภายหลังให้เชื้อซัลโมเนลลาขนาดสูงกับลูกไก่ เมื่ออายุ ๑๔ วัน สามารถพบเชื้อซัลโมเนลลาในลูกไก่ได้ทุกสายพันธุ์ นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มากเหนือความคาดหมายของนักวิจัย เนื่องจาก ทฤษฏีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายเชื้อซัลโมเนลลาเรียกว่า ทฤษฏีการยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อ (Colonization inhibition theory) กล่าวว่า หากมีเชื้อซัลมเนลลาสายพันธุ์หนึ่งติดเชื้อในลูกไก่แล้ว สายพันธุ์ที่สองจะไม่สามารถติดต่อสู่ลูกไก่ต่อไปได้ แสดงว่า ยังมีกลไกที่ยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวข้องด้วย  

แหล่งที่มา:          Rosie Burgin (20/7/15)

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คานาดามุ่งมั่นวิจัยเลิกใช้ยาปฏิชีวนะเลี้ยงสัตว์ปีก

มหาวิทยาลัยในคานาดากำหนดเป้าหมายพัฒนา และวิจัยเทคโนโลยีใหม่ในการนำส่งสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันทางอากาศให้กับไก่เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ
โครงการวิจัยนี้มีงบประมาณ ๑๒ ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลคานาดา เพื่อพัฒนาทางเลือกใหม่ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกของคานาดา โดยจะเป็นการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในไก่ ช่วยให้ผู้ผลิตสัตวปีกในคานาดามีทางเลือกที่มีประสิทธิภาพต่อการจัดการสุขภาพในฟาร์ม งานวิจัยที่น่าตื่นเต้นนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการภาคอุตสาหกรรมเกษตรของคานาดาให้มีความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต

แหล่งที่มา:          Rosie Burgin (20/7/15)

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เล็งเลิกใช้วัคซีน ปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านโรค

การพัฒนาปรับปรุงพันธุกรรมสัตว์ให้มีความต้านทานต่อโรคเป็นวิธีการควบคุมปัญหาโรคในสัตว์ปีกอย่างยั่งยืน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ศูนย์วิทยาศาสตร์ชีวภาพฟื้นฟู วางแผนโครงการวิจัยใช้เวลาสี่ปีเพื่อรวบรวมข้อมูลด้านพันธุกรรมสัตว์ปีก
               คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย สตีเวน สติส และแฟรงกิน เวสต์ ในวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การเกษตร และสิ่งแวดล้อม และคลอดิโอ อาฟองโซ แห่งห้องปฏิบัติการวิจัยสัตว์ปีกภาคพื้นตะวันออกเฉียงใต้แห่ง USDA ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า shRNA (Short hairpin RNA) เป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยวที่มีการพับกลับตัวเอง เพื่อหยุดการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิกที่เป็นสาเหตุของโรค เช่น นิวคาสเซิล เนื่องจาก โรคนิวคาสเซิลเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วโลก และมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสอันตรายร้ายแรงต่อสัตว์ ปัจจุบัน โรคนิวคาสเซิลชนิดรุนแรง ได้ถูกกำจัดออกจากสหรัฐฯ และคานาดาแล้ว เหลือเพียงเชื้อไวรัสนิวคาสเซิลชนิดอ่อนแรงที่นำมาใช้เป็นวัคซีน
               วิธีการที่ดีกว่าวัคซีนในการป้องกันโรค คณะผู้วิจัยกำลังพยายามหาเครื่องมือสำหรับสร้างความต้านทานต่อโรคโดยตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the International Alliance for Biological Standardization นับได้ว่าเป็นหนทางที่มีโอกาสมากสำหรับการป้องกันโรคนอกเหนือจากการใช้วัคซีน เนื่องจาก การสร้างความต้านทางทางพันธุกรรมอย่างถาวรนี้สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ ในทางตรงกันข้าม วัคซีนส่วนใหญ่สามารถป้องกันโรคได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และจำเป็นต้องมีการกระตุ้นซ้ำอย่างต่อเนื่อง
               ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ผู้วิจัยสามารถกำหนดเป้าหมายไปยังตำแหน่งยีนส์ที่เชื้อไวรัสนิวคาสเซิลใช้สำหรับการดำรงชีวิต การป้องกันเชื้อไวรัสนี้จึงเป็นการควบคุมการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในร่างกายไก่ และลดระดับของการถ่ายทอดเชื้อไวรัสโดยภาพรวมจากไก่ตัวหนึ่งสู่อีกตัวหนึ่ง ในอนาคตข้างหน้า อาจไม่จำเป็นต้องให้วัคซีนนิวคาสเซิลอีกแล้ว  และในอนาคต ผู้วิจัยยังเล็งไว้ว่า จะนำไปใช้สำหรับโรคไข้หวัดนก และไข้หวัดสุกรต่อไปอีกด้วย  ยิ่งมองไปที่ปัญหาการเก็บรักษาวัคซีนในประเทศยากจน ผู้เลี้ยงสัตว์อาจไม่มีตู้เย็นสำหรับการเก็บวัคซีน แต่ไก่เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านสามารถใช้บริโภคเพื่อสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง ในทางตรงกันข้าม การผลิตไก่ที่มีความต้านทานโรคผลิตใน US อาจเป็นหนทางการไขปัญหาโรคระบาดในประเทศยากจนเหล่านี้ แต่การวิจัยยังต้องใช้เวลาไปอีกหลายปี

แหล่งที่มา:          World Poultry (7/7/15)

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แอโรสคาลเดอร์ ชูรางวัลสิ่งประดิษฐ์ใหม่

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นนวัตกรรมสำหรับระบบการลวก และถอนขนไก่ที่ประหยัดน้ำลง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ และพลังงาน ๕๐ เปอร์เซ็นต์พัฒนาโดย Marel Stork Poulry Processing ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ทางอาหาร “Food Valley Award” จากเนเธอร์แลนด์
                สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นนวัตกรรมสำหรับระบบการลวกขน เพื่อให้ขนของไก่นิ่มลง พร้อมสำหรับการดึงขนออก เรียกว่า แอโรสคาลเดอร์ (AeroScalder) สามารถประหยัดน้ำลงได้ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ และประหยัดพลังงานลงได้จากเดิม ๕๐ เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการใช้น้ำร้อนลวก โดยระบบใหม่นี้จะใช้ไออากาศร้อนในการทำให้ขนนิ่มลง ไก่จะถูกแขวนมาตามสายพานลำเลียง แล้วผ่านหัวฉีดที่จะปล่อยไอร้อนสู่ขนไก่ภายในตู้ปิด หลังจากนั้น ไอร้อนยังหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อีก เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเป็นระบบปิด และควบคุมแบบอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์แบบ  
               นอกเหนือจากช่วยให้มีการใช้น้ำ และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แอโรสคาลเดอร์ ยังช่วยให้สินค้าที่ได้ถูกถอนขนอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนลงได้ โดยทุกกระบวนการการยังสร้างความเชื่อมั่นว่า ไก่ทุกตัวที่ผ่านเข้าเครื่องจะเข้าสู่กระบวนการเหมือนกันอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากนั้น ยังลดกลิ่นลงได้อีกด้วย ปัจจุบัน ระบบแอโรคสคาลเดอร์ได้ติดตั้งในหลายประเทศทั่วโลก
               สำหรับรางวัล Food Valley Award เป็นรางวัลประจำปีที่จัดขึ้นโดย Food Valley NL ใน Wageningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยส่งเสริมให้มีการผลิตนวัตกรรมใหม่โดยความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ สถาบันวิจัย และรัฐบาล นอกเหนือจากรางวัลสำหรับเครื่องระบบการถอนขนไก่แล้ว ยังมีรางวัลอื่นๆ ได้แก่ กาแฟแคปซูล โดยบริษัท Peeze และเทคโนโนโลยีการสกัดเปกตินจากเมล็ดกาแฟโดยบริษัท Pectocof ตามลำดับ
แหล่งที่มา:          Emmy Koeleman (8/7/15)


วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หวัดนก H7N7 ระบาดในอังกฤษ

โรคไข้หวัดนกสับไทป์ H7N7 ระบาดใน Preston ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ นังเป็นรายแรกนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา จึงมีการทำลายสัตว์ปีกไปแล้ว ๑๒๐,๐๐๐ ตัว และไก่เลี้ยงอิสระ ๕๐,๐๐๐ ตัว นับตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงเช้าวันจันทร์
กำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง ๑๐ กิโลเมตร และพื้นที่ป้องกันโรค ๓ กิโลเมตร สัตว์ปีกทุกตัวภายในพื้นที่เฝ้าระวังโรค ๑๐ กิโลเมตรโดยรอบห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายทั้งสัตว์ปีก นก หรือไข่ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อเพิ่มเติม อัตราการตายในบางฟาร์มสูงถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ในไก่เลี้ยงอิสระ ขณะที่ สัตว์ปีกที่เลี้ยงในฟาร์มอัตราการตายไม่สูงมากเพียง ๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น   
               ก่อนหน้านี้ที่มีการระบาดใน Yorkshire และ Hampshire เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อังกฤษประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคไว้ได้ ทำให้มาตรการที่เข้มงวดถูกถอนออกในเวลาอันรวดเร็ว ถึงตอนนี้มาตรการควบคุมโรคจำเป็นต้องนำกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดนับตั้งแต่การควบคุมการเคลื่อนย้าย และการทำลายสัตว์ที่ฟาร์ม ในเวลานั้น รัฐบาลอังกฤษ Defra ได้ยืนยันว่าการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงต่ำ (LPAI) ในฟาร์มไก่พันธุ์ที่ Hampshire ขณะเดียวกัน สมาคมผู้ผลิตไก่ไข่ปล่อยอิสระในอังกฤษ (Bfrepa) ก็ได้เรียกร้องให้จำกัดการเลี้ยงสัตว์ปีกที่อยู่ภายในพื้นที่ ๕๐ กิโลเมตรรอบเขตโรคระบาดให้เก็บสัตว์ไว้ภายในโรงเรือน

แหล่งที่มา:          Ruud Peys (13/7/15)

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จีนเปิดตัวไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H5N9 แล้ว

นักวิจัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีนวิเคราะห์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เก็บจากตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต กล่าวว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ H5N9 ที่เกิดจากการผสมระหว่างเชื้อไวรัส H5N1 ในสัตว์ปีก และ H7N9 ในมนุษย์
               ศูนย์วิจัย และนโยบายโรคติดเชื้อ (CIDRAP) จากมหาวิทยาลัยมินิโซตา รายงานว่า นักวิจัยชาวจีนได้วิเคราะห์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เก็บได้จากตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ H5N9 ที่เกิดจากการผสมกันระหว่างเชื้อไวรัส H5N1 และ H7N9 โดยผู้วิจัยได้นำตัวย่างในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ จากไก่ นกกระทา และเป็ด ๗ ตัวในตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ๒ แห่งในจังหวัดเจิ้งเจียงที่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อ H7N9 อ้างตามรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Virology เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายนที่ผ่านมา ตามรายงานไม่ได้ระบุว่า มีสัตว์ปีกป่วยอยู่ด้วยหรือไม่
               นักวิจัยสามารถแยกเชื้อไวรัส ๑๓ ตัวอย่าง ได้แก่ H5N1 ๑ ตัวอย่าง H5N9 ๒ ตัวอย่าง H9N2 ๔ ตัวอย่าง และ H7N9 ๖ ตัวอย่าง โดยการวิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส H5N9 ทั้ง ๒ ตัวอย่าง พบว่า โปรตีนฮีแมกกลูตินินตรงกับ H5N1 ที่แยกได้ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ จากเวียดนาม ขณะที่โปรตีนนิวรามินิเดสพัฒนามาจาก H7N9 จากมนุษย์ที่แยกได้จากเมืองหางโจว นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังสังเกตว่า โครงสร้างบริเวณคลีเวจไซต์ของ H มีลักษณะที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงสูง ส่วนยีนส์ชนิดอื่นๆอีก ๖ ท่อนคล้ายคลึงกับ H5N1, H7N9 และ H9N2
               ความรุนแรงของเชื้อไวรัสใหม่นี้ได้ทำการทดสอบในหนูทดลองด้วยปริมาณไวรัสหลากหลายขนาด หนูทดลองบางตัวที่ได้รับเชื้อไวรัสขนาดสูงตาย แต่หากได้รับปริมาณต่ำก็จะไม่แสดงอาการป่วย แสดงว่า เชื้อไวรัสยังคงก่อโรคได้ต่ำในหนูทดลอง ผู้วิจัยยัพบว่า เชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจายจากหนูที่ติดเชื้อไปยังหนูตัวอื่นได้ เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ H5N9 ยังชอบตัวรับของเซลล์จากสัตว์ปีกที่เรียกว่า กรดซัยอะลิก อัลฟา ๒, ๓ มากกว่าตัวรับของเซลล์จากมนุษย์ที่เรียกว่า อัลฟา ๒, ๖ ซึ่งอาจเป็นคำอธิบายได้ว่า ทำไมเชื้อไวรัสจึงยังทำให้หนูทดลองมีอัตราการตายต่ำ
               ตลาดค้าขายสัตว์ปีกมีชีวิตจึงยังเป็นแหล่งสำคัญสำหรับการแพร่กระจายไปยังมนุษย์ และอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก ความจริงแล้ว เชื้อไวรัสชนิดรุนแรงสูง H5N9 เคยถูกแยกได้จากไก่งวงในออนตาริโอ และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก็เคยพบในเป็ด และนกน้ำตามธรรมชาติ โดยเคยพบบ้างเป็นบางครั้งในไก่ แต่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แยกได้ในครั้งนี้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นผลมาจากการรีแอสซอร์ทจากเชื้อไวรัสทั้ง H5N1, H7N9 และ H9N2     

แหล่งที่มา:          World Poultry (26/6/15)

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ซัลโมระบาดสหรัฐฯเหตุจุมพิตลูกไก่

ซัลโมเนลลาระบาดใน ๔๐ รัฐในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วย ๑๘๑ ราย ทุกรายมีความสัมพันธ์กับการสัมผัสลูกไก่ และลูกเป็ดมีชีวิตที่ซื้อมาจากร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ และโรงฟัก ตามรายงานของกรมควบคุมโรค
               ผู้ติดเชื้อ ๓๓ รายต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยรัฐอลาบามามีผู้ป่วยมากที่สุด ๑๗ ราย ขณะที่ รัฐอื่นๆมีน้อยกว่า ๑๐ ราย การป่วยเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๖ มกราคมถึง ๑๓ มิถุนายนที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคยังรายงานต่อไปว่า ในผู้ติดเชื้อ ๑๘๑ รายนี้ แบ่งการระบาดออกเป็น ๔ กลุ่มจากซีโรไทป์ของเชื้อซัลโมเนลลา ได้แก่ เอนเทอไรทิดิส ฮาดาร์ อินเดียนา และมึนเช่น
               ในจำนวนผู้ติดเชื้อเหล่านี้ มีการสอบประวัติที่ผ่านมา ๙๕ ราย พบว่า ๘๖ เปอร์เซ็นต์ มีประวัติการสัมผัสกับสัตว์ปีกก่อนแสดงอาการป่วย และ ๖๔ รายมีการซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ปีกจากร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ และโรงฟัก ๑๗ ร้านในรัฐต่างๆ  ผู้ป่วยรายงานว่า ได้ซื้อสัตว์ปีกมีชีวิตสำหรับเลี้ยงไว้หลังบ้าน เพื่อผลิตไข่ หรือเนื้อ หรือเป็นสัตว์เลี้ยง ผู้ป่วยหลายรายมีประวัตินำสัตว์ปีกมีชีวิตเข้ามาในบ้าน และจูบ หรือนอนกอดสัตว์ปีกมีชีวิต พฤติกรรมเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซัลโมเนลลา หากการแยกเชื้อซัลโมเนลลาจากผู้ป่วย ๗ รายที่ติดเชื้อด้วยซัลโมเนลลาที่มีรายงานการระบาด และไม่มีการดื้อยาปฏิชีวนะก้จะมีการทดสอบในขั้นตอนต่อไป กรมควบคุมโรคได้อาศัยระบบ PulseNet system เป็นเครือข่ายของห้องปฏิบัติการที่มีการรวบรวมฐานข้อมูลลายพิมพ์ดีเอ็นเอของเชื้อโรคชนิดต่างๆ เพื่อสอบกลับการระบาดของเชื้อซัลโมเนลลาทั้ง ๔ ครั้งที่ผ่านมา สรุปข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
๑.     เชื้อซัลโมเนลลา เอนเทอไรทิดิส มีผู้ป่วย จำนวน ๔๐ รายใน ๑๖ รัฐ เข้าโรงพยาบาล ๓ ราย ระยะเวลาการป่วย ๖ มกราคมถึง ๑๓ มิถุนายน
๒.     เชื้อซัลโมเนลลา ฮาดาร์ มีผู้ป่วย จำนวน ๖๙ รายใน ๓๐ รัฐ เข้าโรงพยาบาล ๑๙ ราย ระยะเวลาการป่วย ๒๔ กุมภาพันธ์ถึง ๑๑ มิถุนายน
๓.    เชื้อซัลโมเนลลา อินเดียนา มีผู้ป่วย จำนวน ๕๖ รายใน ๑๖ รัฐ เข้าโรงพยาบาล ๙ ราย ระยะเวลาการป่วย ๒๐ กุมภาพันธ์ถึง ๑๑ มิถุนายน
๔.    เชื้อซัลโมเนลลา มึนเช่น มีผู้ป่วย จำนวน ๑๖ รายใน ๘ รัฐ เข้าโรงพยาบาล ๒ ราย ระยะเวลาการป่วย ๔ เมษายนถึง ๕ มิถุนายน
ดังนั้น การจำหน่ายสัตว์ปีกมีชีวิตควรให้ข้อมูลด้านสุขภาพด้วย โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเชื้อซัลโมเนลลาให้กับผู้ซื้อก่อนที่จะขายออกไป กรมควบคุมโรคยังได้เตือนให้ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้านควรล้างมือให้ทั่วภายหลังการสัมผัสสัตว์ หรือเข้าไปในพื้นที่การเลี้ยง กรมควบคุมโรคยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อปีที่แล้วมีผู้ป่วย ๓๖๓ รายใน ๔๓ รัฐที่ติดเชื้อซัลโมเนลลาจากการซื้อสัตว์ปีกผ่านทางไปรษณีย์จากโรงฟักในโอไฮโอ


 แหล่งที่มา:         World Poultry (3/7/15)

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

USDA รับรองแอดจูแวนท์ใหม่

USDA ได้รับรองความปลอดภัยของแอดจูแวนท์ใหม่พร้อมใช้ที่ชื่อว่า ENABL เป็นครั้งแรกสำหรับใช้ในไก่ การรับรองให้ใช้ต้องมีระยะหยุดยา ๒๑ วัน กรณีที่มีการให้วัคซีนใต้ผิวหนังเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค
               การพัฒนาแอดจูแวนท์ใหม่สำหรับใช้ในสัตว์ปีกที่กำหนดให้มีระยะหยุดยาเพียง ๒๑ วันสำหรับวัคซีนที่ผลิตให้กับสัตว์ที่เลี้ยงเป็นอาหารตามข้อกำหนดของ USDA ถือว่าสั้นมาก ดังนั้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการใช้วัคซีนโดยเฉพาะการศึกษาระยะหยุดยาที่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดอย่างเข้มงวด
               การรับรองแอดจูแวนท์ชนิดใหม่ครั้งนี้มีทั้งหมด ๓ ชนิดทำให้สูตรของแอดจูแวทน์ชนิด ENABL ที่ USDA ให้การับรองรวมเป็น ๑๓ ชนิด ซึ่งรวมวัคซีนในโคอีก ๕ ชนิด และสุกรอีก ๕ ชนิด ดังนั้น นักวิจัยก็จะมีทางเลือกสำหรับการพัฒนาวัคซีนใหม่ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในไก่ได้มากกว่าเดิม การเพิ่มความหลากหลายของสูตร ENABL ที่พร้อมใช้งานก็จะทำให้บริษัทมีทางเลือกได้ดีขึ้นอีกด้วย
แหล่งที่มา:          World Poultry (2/7/15)


วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...