วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

คำแนะนำป้องกันโรคไข้หวัดนก H7N9 ติดต่อสู่คน

ภายหลัง เจ้าพนักงานด้านสาธารณสุขในประเทศจีนกำลังตรวจติดตามผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สับไทป์ H7N9 อย่างใกล้ชิดในจังหวัดกวางตุ้นตามแผนด้านสุขภาพ และครอบครัวของจังหวัดที่ประกาศเมื่อวันที่ ๕ มกราคมที่ผ่านมา ผู้ป่วยเพิ่มเติมในช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ Gaungzhou ๓ ราย Jianmen ๓ ราย Jieyang ๒ ราย Shenzhen ๒ ราย Zhaoqing ๒ ราย Douggan ๑ ราย และ Zhongshan ๑ ราย และได้ให้คำแนะนำสำหรับประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก หรือมูลสัตว์ รวมถึง การเที่ยวชมตลาดค้าสัตว์ปีก หรือฟาร์ม ระหว่างการท่องเที่ยวเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดตรุษจีนที่กำลังมาถึงนี้ หากรู้สึกไม่สบาย เช่น มีไข้ หรือไอ ให้สวมหน้ากาก และพบแพทย์ทันที นักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการไม่สบาย และแจ้งประวัติการเดินทางต่อแพทย์ 
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามด่านระหว่างประเทศก็ได้มีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นตามจุดควบคุมตามแนวชายแดนทั้งหมด ทั้งการเตรียมระบบการแสดงภาพอุณหภูมิร่างกายสำหรับตรวจสอบนักท่องเที่ยว ผู้ต้องสงสัยจะนำส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อติดตามโรค รวมถึง การติดประกาศ และประชาสัมพันธ์ด้านสุขภาพต่อผู้เดินทางทั้งออก และเข้า เช่น ความรู้ด้านสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับข้อมูลที่ทันเหตุการณ์อย่างสม่ำเสมอ ประชาชนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล อาหาร และสิ่งแวดล้อม และได้รับคำแนะนำสำหรับการจัดการสัตว์ปีก ดังนี้
๑. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก นก สัตว์ หรือมูลสัตว์ 
๒. เมื่อซื้อไก่มีชีวิตให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสตัว และมูลสัตว์ ระมัดระวังมิให้ฝุ่นฟุ้งกระจายจากก้นภาชนะบรรจุ ล้างไข่ด้วยน้ำยาล้าง หากมีดิน และมูลสัตว์ติดอยู่ ปรุงอาหารให้สุก และรับประทานทันที ล้างมือเสมอด้วยสบู่ และน้ำ ภายหลังการจับต้องไก่ และไข่
๓. ล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะก่อนสัมผัสปาก จมูก หรือตา ก่อนจับต้องอาหาร หรือรับประทานอาหาร และภายหลังออกจากห้องน้ำ จับต้องอุปกรณ์ หรือเครื่องมือตามสาธารณะ เช่น ราวบันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟต์ หรือลูกบิดประตู หรือเมื่อมือไปจับต้องน้ำมูก หรือเสมหะภายหลังการไอ หรือจาม 
๔. สวมหน้ากากเมื่อมีไข้ หรือแสดงอาการทางระบบหายใจ เมื่อไปโรงพยาบาล หรือคลินิก หรือขณะดูแลผู้ป่วยที่มีไข้ หรืออาการทางระบบหายใจ  
เอกสารอ้างอิง
ProMED, 2017.  AVIAN INFLUENZA, HUMAN (05): CHINA, H7N9. [Internet]. [Cited 2017 Jan 13]. Available from: http://www.promedmail.org/


วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

จีน มาเก๊า ฮ่องกง รายงานหวัดนก H7N9 ระบาดในมนุษย์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อัพเดตข่าวโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกเป็นการประลองพลังระหว่างเอเชีย H5N6 และยุโรป H5N8 สำหรับการแพทย์ ข่าวสารผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดนกก็โหมกระหน่ำรับลมหนาว ตัวเก่งกลายเป็น H7N9 ร้อนแรงมากทยอยเก็บสถิติรับปีระกาในเวลานี้
    
ไข้หวัดนกรายที่สองในจังหวัดหูหนาน
ผู้ป่วยไข้หวัดนก H7N9 เป็นรายที่สองของจังหวัดหูหนาน โดยผู้ป่วยรายล่าสุดมีรายงานในจังหวัดทางตอนกลางของประเทศ จังหวัดเดียวกับผู้ป่วยรายแรก ผู้ป่วยรายที่สองเป็นชายวัย ๕๙ ปีจากเมือง Yuanjiang ตอนนี้อยู่ในสภาวะวิกฤติภายใต้การบำบัดทางการแพทย์ มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกก่อนแสดงอาการป่วย   ก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยรายแรกเป็นชายวัย ๓๕ ปี ผลการทดสอบยืนยันเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ มกราคม ที่ผ่านมานี้เอง รายงานผู้ป่วยจากโรคไข้หวัดนก H7N9 กระจายไปทั่วไปประเทศ เชื้อไวรัสไข้หวัดนก H7N9 มักระบาดในฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิ โดยมีรายงานครั้งแรกในมนุษย์ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.๒๐๑๓ เป็นต้นมา ผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะติดเชื้อควรพบแพทย์         

มาเก๊าพบผู้ป่วย H7N9 รายแรก
               เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตรวจพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก H7N9 เป็นรายแรก และมีผู้สัมผัสใกล้ชิดกว่า ๔๐ ราย ตามรายงานตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๗ กระทรวงสาธารณสุขมาเก๊ากล่าวว่า สตรีชาวมาเก๊าวัย ๗๒ ปี ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโรคไข้หวัดนก H7N9 ภายหลังเดินทางกลับมาจากเมืองจงซาน ใกล้กับทางตอนใต้ของจังหวัดกวางตุ้งในจีน ขณะนี้ ผู้ใกล้ชิดทั้งหมด ได้แก่ ญาติผู้ป่วย ๓ ราย พนักงานรถพยาบาล ๔ ราย และเพื่อนร่วมห้องในโรงพยาบาล ๔ ราย และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด ๓๒ รายจะได้รับยาทามิฟลูเป็นเวลา ๕ วัน และเฝ้าระวังโรคอีก ๑๐ วัน     

ไข้หวัดนกรายที่สี่ในจังหวัดเจียงซี
               เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก H7N9 ในเมืองเจียงซี ๔ ราย รายที่หนึ่งเป็นสตรีสูงวัยอายุ ๗๒ ปี เดินทางไปเยี่ยมญาติในเมือง Xinyu หลังจากนั้นแสดงอาการป่วย แล้วรับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H7N9 จึงถูกย้ายไปยังโรงพยาบาล Nanchang เมืองหลวงของเจียงซี ตอนนี้อยู่ในภาวะวิกฤติ รายที่สองเป็นสตรีสูงวัย อายุ ๘๓ ปี อาศัยในเมือง Jiujiang ผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H7N9 ตอนนี้อยู่ในภาวะวิกฤติเช่นกัน รายที่สามเป็นชายอายุ ๔๘ ปี ผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H7N9 ขณะนี้อาการคงที่ รายล่าสุดเป็นสตรีวัย ๕๕ ปี ขณะนี้ อยู่ในขั้นวิกฤติเช่นกัน
               ช่วงวันที่ ๒ ถึง ๘ มกราคมที่ผ่านมาก็มีรายงานไข้หวัดนกในจังหวัดกวางตุ้ง และเจียงซี โดยเมือง Rizhou ทางตะวันออกของจังหวัด ชานดอง ผู้ป่วยวัย ๗๗ ปีเสียชีวิต และมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก H5N9 ในจังหวัดเจียงซีอีก ๓ ราย
               การเพิ่มขึ้นอย่างรดวเร็วของผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก จำเป็นต้องมีการแจ้งเตือน และประกาศให้มีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย

ไข้หวัดนก H7N9 ที่ฮ่องกง
               เมื่อวันที่ ๕ มกราคมที่ผ่านมา ศูนย์คุ้มครองสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้สอบสวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก H7N9 ในฮ่องกง และกระตุ้นให้ประชาชนมีความเข้มงวดด้านสุขศาสตร์ส่วนบุคคล อาหาร และสิ่งแวดล้อมทั้งท้องถิ่น และระหว่างการท่องเที่ยว
               ผู้ป่วยชายวัย ๖๒ ปี เดินทางออกจากฮ่องกงตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม ปีที่แล้วเดินทางไปยังกว่างโจว มีอาการไข้ ไอ และหายใจสั้นๆตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคมที่ผ่านมา เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อการรักษาระหว่างวันที่ ๒ ถึง ๓ มกราคม แต่ออกมาเมื่อวันที่ ๓ มกราคม เพื่อกลับฮ่องกง แต่ก็ต้องกลับมายังหน่วยอุบัติเหตุ และฉุกเฉินในวันที่ ๔ มกราคม เพื่อนอนโรงพยาบาลอีกครั้ง อาการแย่ลงอย่างมาก และต้องย้ายไปยังห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) ตอนนี้ ผู้ป่วยก็ยังมีอาการเข้าขั้นวิกฤติ ตัวอย่างจาก Endotracheal aspirate และ nasopharyngeal aspirate ยืนยันผลบวกต่อโรคไข้หวัดนกสับไทป์ H7N9 เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ผู้ป่วยปฏิเสธว่า มิได้สัมผัสกับสัตว์ปีก หรือตลาดสด
               ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยจนถึงเวลานี้ยังไม่แสดงอาการ และอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังทางการแทพย์ ตอนนี้ กำลังทวนสอบหาผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยในฮ่องกง รายงานโรคนี้ได้ส่งไปยังกวางตุ้ง และมาเก๊า เพื่อสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขให้ติดตามบุคคลที่สัมผัสกับผู้ป่วย และการเดินทางในประเทศจีน จากข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ เชื่อว่า ผู้ป่วยรายนี้นำเข้าโรคนี้เข้ามาสู่ฮ่องกง การสอบสวนทางระบาดวิทยายังคงดำเนินต่อไป เชื่อว่า ในช่วงฤดูหนาวนี้จะพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ขณะนี้ ได้ส่งจดหมายไปยังแพทย์ โรงพยาบาล สถานศึกษา และสถาบันต่างๆ เพื่อให้ระมัดระวังโรค และรายงานสถานการณ์ล่าสุด  

เอกสารอ้างอิง

ProMED, 2017.  AVIAN INFLUENZA, HUMAN (05): CHINA, H7N9. [Internet]. [Cited 2017 Jan 13]. Available from: http://www.promedmail.org/















ภาพที่ 1 เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำลายสัตว์ปีกในตลาดสด ภายหลังผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการยืนยันการตรวจพบเชื้อไวรัส H7N9  (แหล่งภาพ http://www.foxnews.com/health/2017/01/05/china-confirms-latest-human-death-from-h7n9-bird-flu.html) 

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560

ปรับปรุงพันธุ์สัตว์ปีกรับมือโลกเปลี่ยน

ขณะที่ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ปรับเปลี่ยนจากระบบโรงเรือนเลี้ยงกรง สมาชิกของอุตสาหกรรมกำลังก้าวข้ามอุปสรรค เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผู้ผลิตจะมีโอกาสที่ดีที่สุดรับการเปลี่ยนแปลงของระบบนี้ให้ราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ บริษัทผู้ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกก็มิได้มองข้ามความพยายามนี้ เนื่องจาก พันธุกรรมเป็นระบบทางเลือกที่มีโอกาสสร้างโอกาสให้ผู้ผลิต
               ทิศทางการปรับปรุงพันธุ์ที่ดีที่สุดคือ ความต้องการของผู้บริโภค โดยการพัฒนาพันธุกรรมสัตว์ปีกจำเป็นต้องใช้เวลานาน

วงจรการผลิตที่นานขึ้น
               วงจรการผลิตสำหรับไก่ไข่ที่ยาวนานขึ้น เพื่อให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยแม่ไก่ยังมีชีวิตที่ดีขึ้นเป็นประเด็นสำคัญสำหรับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ปัจจุบัน หน่วยพันธุกรรมไก่บริษัทเฮนดริกซ์ประเมินผลผลิตของสายพันธุ์บริสุทธิ์ไปจนถึง ๑๐๐ สัปดาห์ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๘ เป็นต้นมา การยืดวงจรการผลิตในสายบริสุทธิ์ของบริษัท และการทดสอบในภาคสนามเป็นกุญแจสำคัญของพันธกิจของบริษัทในการผลิตแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่สามารถผลิตไข่ที่มีคุณภาพ ๕๐๐ ฟองต่อรอบการผลิตเป็นครั้งแรก บริษัทเรียนรู้จากการสังเกตในอดีตว่า แม่ไก่ที่ผลิตไข่ไก่ที่ดีที่สุดจนถึง ๖๐ สัปดาห์ไม่ใช่แม่ไก่ที่สามารถผลิตไข่ไก่ที่ดีที่สุดเมื่ออายุมากขึ้นได้ การตัดสินใจฝูงที่ให้ผลผลิตสูงที่สุดในช่วงกลางของวงจรการผลิตเป็นพื้นฐานตามธรรมชาติสำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ แต่ก็มักนำไปสู่การคาดการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริงสำหรับจำนวนผลผลิตไข่ทั้งหมด เพื่อให้ได้ภาพที่แท้จริง จำเป็นต้องประเมินผลผลิตเมื่อสิ้นสุดของอายุขัยของไก่ การตั้งเป้าหมายตรงไปที่โปรแกรมการปรับปรุงพันธุ์จะช่วยให้ประสิทธิภาพดีขึ้น และเหมาะสมสอดคล้องกับทิศทางการตลาดของการผลิตไข่ในสหรัฐฯ และยุโรป
               นอกเหนือจากผลผลิตไข่ คุณภาพไข่ การอยู่รอด และการปรับตัวได้ เป็นคุณลักษณะที่สำคัญสำหรับการคัดเลือดสายพันธุ์ไก่ที่เหมาะสมสำหรับระบบโรงเรือนเลี้ยงไก่ทางเลือก เนื่องจกา ความจำเป็นสำหรับการประเมินพฤติกรรมในสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โครงการกัลลัสฟิวเจอรัส (Gallus Futurus project) จึงริเริ่มจัดตั้งขึ้นมา

โครงการกัลลัสฟิวเจอรัส
โครงการกัลลัสฟิวเจอรัส หรือสัตว์ปีกแห่งอนาคต ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำการวิจัย และพัฒนาระบบการปรับปรุงพันธุกรรมเพื่อใช้สำหรับการเก็บข้อมูลในระบบโรงเรือนทางเลือกใหม่ การทดสอบสายพันธุ์ในสิ่งแวดล้อมโลกแห่งความเป็นจริงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ เฮนดริกซ์ ใช้ฟาร์มวิจัย ๗ แห่งทั่วโลกสำหรับโครงการนี้ และทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยอีก ๒ แห่ง ได้แก่ INRA ในฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัย Wageningen ในเนเธอร์แลนด์
โครงการกัลลัสฟิวเจอรัส มุ่งเน้นผลผลิตไข่ และคุณภาพไข่ และคุณลักษณะทางพฤติกรรม โดยใช้การบันทึกวีดีโอ และการทดสอบพฤติกรรม ก้าวใหญ่สำคัญของการวิจัยนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วในฝรั่งเศสที่ใช้ระบบการเลี้ยงบนพื้น (Floor system) และเก็บข้อมูลจากการผสมพันธุ์ เพื่อเปรียบเทียบ พฤติกรรมไก่ว่า เชื่อง และก้าวร้าว เป็นอย่างไร 
คุณลักษณะด้านความทนทาน และความสามารถหลายๆด้าน ได้แก่ การผลิต การสร้างขน และอัตราการตาย ภายใต้สภาวะการทดสอบ โรงเรือนจะถูกแบ่งเป็น ๒ ห้อง ได้แก่ กลุ่มควบคุม และกลุ่มทดสอบ เพื่อตรวจวัดปฏิกิริยาต่อสภาวะการทดสอบต่างๆ เช่น อาหาร และความเครียดต่ออุณหภูมิ ผลการทดลองก็จะใช้สำหรับคัดเลือกไก่ที่มีคุณลักษณะในอุดมคติสำหรับการเจริญเติบโตภายใต้สิ่งแวดล้อมทางเลือกใหม่

การลงทุนในเทคโนโลยี
               ในระบบการเลี้ยงโดยไม่ใช้กรง (Cage free system) พฤติกรรมบางอย่างมีความสำคัญ เช่น การยอมรับรังไข่ เพื่อลดปริมาณไข่พื้น นวัตกรรมใหม่ล่าสุด รวมถึง การออกแบบระบบรังไข่อัตโนมัติสำหรับตรวจติดตาม และบันทึกการผลิตในกลุ่มต่างๆ ได้แก่ การปรากฏไข่พื้น และการตรวจประเมินว่า ไก่แต่ละตัวใช้เวลาในรังไข่นานเท่าไร การติดอุปกรณ์ RFID (Radio Frequency Identification Tags) และเสาสัญญาณก็นำมาใช้ช่วยเก็บข้อมูล ร่วมกับการวิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นใช้เอง

การคัดเลือกพันธุกรรม
               เครื่องมือที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นวิธีการที่เริ่มใช้กันตั้งแต่เริ่มแรกคือ การคัดเลือกพันธุกรรม การลงทุนเทคโนโลยีนี้ได้ส่งผลให้มีความก้าวหน้าด้านพันธุกรรมอย่างรวดเร็วมาก การคัดเลือกพันธุกรรมโดยใช้จีโนไทป์ช่วยให้ได้ค่าทางพันธุกรรมที่แม่นยำตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต เช่น พี่น้องจากพ่อแม่เดียวกันก็จะมีค่าทางพันธุกรรมเหมือนกัน การคัดเลือกพันธุกรรมโดยใช้จีโนไทป์ช่วยให้เห็นความแตกต่างของพี่น้องก่อนที่จะสังเกตเห็นข้อมูลทางฟีโนไทป์เสียอีก จึงเป็นการช่วยคัดเลือกไก่พันธุ์ที่ดีที่สุด และสามารถจำแนกระหว่างพี่น้องท้องเดียวกัน บ่งชี้ว่า เพศผู้มียีนที่ดีที่สุดสำหรับคุณลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจทุกรายการ รวมถึง คุณภาพไข่ และการให้ไข่เป็นเวลายาวนาน
                สำหรับระบบการเลี้ยงโดยไม่ใช้กรง การคัดเลือกทางพันธุกรรมสามารถช่วยตัดสินใจได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อผลิตไก่ที่จะปรับตัวได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ มีประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารที่ดี และมีโครงสร้างกระดูกแข็งแรงอีกด้วย
               การลงทุนเทคโนโลยีด้านนี้ช่วยให้นักพันธุกรรมสามารถค้นพบคุณลักษณะที่ต้องการคัดเลือกไว้ และถือว่าพึ่งจะเริ่มต้นทำความเข้าใจกันอย่างแท้จริงไม่นานนี้เอง การใช้เทคโนโลยีนี้ควรมีความระมัดระวัง เนื่องจาก ทุกความพยายามต้องดำเนินการโดยยังรักษาความหลากหลายในสายพันธุ์ให้มากที่สุด จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญที่สุดในโลกจึงมีความสำคัญมาก เพื่อให้การตัดสินใจนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง

Musselman M. 2017. Breeding for a changing environment. [Internet]. [Cited 2017 Jan 6]. Available from: http://www.worldpoultry.net/Genetics/Articles/2017/1/Breeding-for-a-changing-environment-78416E/

















ภาพที่ ๑ การทดสอบพันธุกรรมสัตว์ปีกในโลกแห่งความจริงเป็นสิ่งสำคัญต่อการได้รับข้อมูลด้านพันธุกรรมที่แม่นยำที่สุด บริษัท เฮนดริกซ์ ร่วมมือกับฟาร์มวิจัย ๗ แห่งทั่วโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ (แหล่งภาพ ISA)  

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2560

หวัดนกอาละวาดในเอเชีย และยุโรป

ในเดือนนี้ องค์กรสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เปิดเวบไซต์ใหม่เป็นช่องทางการติดตามโรคไข้หวัดนกใหม่เพื่อรับมือกับการระบาดอย่างรวดเร็วของโรค โดยเฉพาะเอเชีย และยุโรป เสมือนการประลองพลังระหว่างเอเชีย H5N6 และยุโรป H5N8 สงครามโลกเพื่อต่อสู้โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงยังดำเนินต่อไป ในเอเชีย เกาหลีใต้ดูจะเผชิญปัญหาหนักหน่วงที่สุด การควบคุมความเสียหายในภาคสัตว์ปีกต้องใช้มาตรการของรัฐบาล เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่เกิดภาวะขาดแคลนไข่ไก่ในประเทศ ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย และอิสราเอล ก็มีรายงานการระบาดใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายในยุโรป ฝรั่งเศส กำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกหลายชนิด ขณะที่ สับไทป์ H5 ตรวจพบเป็นครั้งแรกในกรีซ มอนเทเนโกร และบัลกาเรีย ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี ค.ศ.๒๐๑๔ ถึงพฤศจิกายน พ.ศ.๒๐๑๖ เพียงสองปีเท่านั้น โรคไข้หวัดนกได้ระบาดเป็นวงกว้างถึง ๗๗ ประเทศ โดยตรวจพบเชื้อไวรัสถึง ๑๓ สายพันธุ์ 
               เวบไซต์ใหม่สำหรับการติดตามโรคไข้หวัดนกของ OIE นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจต่อโรคไข้หวัดนก โดยเป็นช่องทางที่ง่ายต่อการเข้าถึงคำแนะนำของ OIE ว่าด้วย การควบคุมโรค และการระมัดระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั่วโลก เนื่องจาก ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง (Highly pathogenic avian influenza, HPAI) มีการระบาดเกือบทุกภูมิภาคของโลก สัตว์ปีกตาย หรือทำลายไปจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกัน และควบคุมโรค รวมถึง คำแนะนำ และมาตรการที่ OIE กำหนดในระดับนานาชาติ

ในภูมิภาคเอเชีย เกาหลีใต้ต้องต่อสู้กับโรคไข้หวัดนกชนิด HPAI โดยสัตว์ปีกมากกว่า ๒๒ ล้านตัวทั่วไปประเทศจำเป็นต้องทำลายทิ้ง เพื่อควบคุมโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสสับไทป์ H5N6 มาตรการควบคุมโรคโดยควบคุมการเคลื่อนย้ายยานพาหนะเป็นเวลา ๒๑ วัน เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งมีประสิทธิภาพดีสำหรับการระบาดระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๑๔ ถึง ๒๐๑๕ จากการระบาดของเชื้อไวรัสสับไทป์ H5N8 ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียสัตว์ปีกไปมากกว่า ๑๔ ล้านตัวในครั้งนั้น แต่เชื้อไวรัสสับไทป์ H5N6 ที่ระบาดทั่วประเทศเวลานี้มีที่มาจากนกอพยพ สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกทั้งประเทศรวม ๑๖๖ ล้านตัว ความเสียหายไปทั้งหมด ๒๒ ล้านตัวจาก HPAI คิดเป็นอัตราส่วนมากกว่า ๑๓ เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ปีกทั้งหมด ราคาของสินค้าสัตว์ปีกในเกาหลีใต้เวลานี้เป็นสัญญาณของความยากลำบากทางการตลาด กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท จึงได้ลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ไข่ทั้งหมด ๘ ชนิด รวมถึง ไข่แดง และไข่ผง โดยจะลดลงต่ำถึง ๐ เปอร์เซ็นต์จากเดิมที่กำหนดไว้ระหว่าง ๘ ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ในช่วง ๖ เดือนตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป
ญี่ปุ่น ก็เกิดการระบาดของ HPAI ชนิดเดียวกับเกาหลีใต้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว รายงานการระบาดโรคต่อ OIE ยืนยันการระบาดทั้งหมด ๗ ครั้ง โดยรายล่าสุดเกิดขึ้นที่จังหวัดคูมาโมโต บนเกาะคิวชู โดยไก่ไข่จำนวน ๕๐ ตัวจาก ๑๐๗,๐๐๐ ตัว ตาย และตัดสินใจทำลายไก่ที่เหลือทั้งหมด อีกหกฟาร์มที่มีไก่ทั้งสิ้น ๑๔๗,๐๐๐ ตัวภายในรัศมี ๓ กิโลเมตรรอบฟาร์มที่ติดเชื้อกำลังตรวจสอบ แม้จะสังเกตไม่พบอาการของโรค แต่ฟาร์มทั้งหมดถูกกักกันโรค ไม่อนุญาตให้นำไก่ หรือไข่เคลื่อนย้ายออกจากฟาร์ม ภายในรัศมี ๑๐ กิโลเมตรรอบฟาร์มยังมีไก่อีก ๙๖๐,๐๐๐ ตัวใน ๑๙ พื้นที่ ซึ่งสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์ไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่
               ไต้หวัน สั่งฆ่าเชื้อโรงฆ่าในกรุงไทเปภายหลังผลการทดสอบเป็นบวกต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสับไทป์ H5 รัฐบาลออกคำเตือนให้ประชาชนบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกทุกชนิดให้ปรุงสุกทั่วถึง ตามรายงานอย่างเป็นทางการต่อ OIE พบว่า ไก่มีผลบวกต่อเชื้อไวรัส H5N8 HPAI โดยทุกตัวอย่างพบได้ที่โรงฆ่า สองตัวอย่างจากกรุงไทเป และอย่างละหนึ่งตัวอย่างจากเมือง Kaohsiung และ Nantou ซากสัตว์ปีกทั้งหมด ๒,๙๒๘ ตัวอย่างถูกทำลาย เชื้อไวรัสชนิดนี้ ตรวจพบได้เป็นระยะในไต้หวันในช่วงสองปีที่ผ่านมา
               อินเดีย เชื้อไวรัสโรค HPAI สับไทป์ H5N1 คืนสู่อินเดียตามรายงานของ OIE พบอีกาตายจำนวนมาก และสัตว์ปีก ๒,๒๔๒ ตัวอย่าง ให้ผลบวกที่เมือง Keranga ในรัฐ Orissa ในทางตะวันออกของประเทศ   
                อิสราเอล พบการระบาดใหม่ของเชื้อไวรัสโรค HPAI สับไทป์ H5N8 ทั้งหมด ๑๗ ครั้ง จากการยืนยันโดยเจ้าพนักงานรัฐต่อ OIE โดย ๘ ครั้ง พบในนกป่า ส่วนที่เหลือเป็นสัตว์ปีกฟาร์มที่เลี้ยงในสี่ภูมิภาคของประเทศ สร้างความเสียหายต่อสัตว์ปีกว่า ๑๑๙,๐๐๐ ตัว จากการทำลายสัตว์ป่วยเพื่อควบคุมโรค การระบาดก่อนหน้านี้สี่ครั้ง พบว่า สัตว์ปีกเสียชีวิต หรือถูกทำลายไปกว่า ๘๐,๐๐๐ ตัว  

 ในภูมิภาคยุโรป ตรวจพบเชื้อไวรัส HPAI ครั้งแรกในหลายประเทศทั้งกรีซ บัลกาเรีย และมอนเตนีโกร
               ฝรั่งเศส กระทรวงเกษตรได้รายงานการระบาดของโรค HPAI ๖๔ ครั้งในสัตว์ปีกฟาร์ม และอีก ๕ ครั้งในนกป่า โดยการระบาดของโรค HPAI สับไทป์ H5N8 ทั้งหมด ๕๒ ครั้ง โดยมีการระบาดถึง ๑๘ ครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพียงสัปดาห์เดียว อันเป็นผลมาจากการตรวจคัดกรองที่เพิ่มขึ้นทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มเป็ดที่เลี้ยงใกล้เคียงกับฟาร์มที่มีการระบาดก่อนหน้านั้ นอกเหนือจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ยังตรวจพบเชื้อไวรัส H5N8 รายงานในนกป่า ๒ ตัวที่ตายในบริเวณนอร์มังดีในทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการพื้นที่ดังกล่าว ยังมีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสชนิดความรุนแรงต่ำ (Low pathogenic avian influenza, LPAI) สับไทป์ H5N1, H5N3 และ H5N8 ตามรายงานที่ส่งไปยัง OIE สัตว์ปีกอย่างน้อย ๓๑,๖๐๐ ตัว โดยเฉพาะ เป็ด ถูกทำลายในสัปดาห์ที่ผ่านมาภายหลังผลการทดสอบยืนยันเชื้อไวรัส LPAI
               เยอรมัน มีรายงานโรค HPAI จากเชื้อไวรัส H5N8 ทั้งหมด ๕ ครั้งในนกป่า และยังรายงานการระบาดของโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก ๖ ฟาร์มให้กับ OIE ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึง สัตว์ปีกที่เลี้ยงหลังบ้าน และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ในหลายรัฐของ Saxony และ North Rhine-Westphalia มีทั้งไก่งวง เป็ด และห่านที่เสียชีวิต หรือถูกทำลายจากการติดเชื้อ
               โปแลนด์ มีรายงานการระบาดใหม่ของโรค HPAI จากเชื้อไวรัส H5N8 จากเชื้อยืนยันแล้ว ๑๐ ครั้ง ส่งผลต่อจังหวัด Lubuskie, Lesser Poland, West Pomeranina และ Mazovia รวมถึง ฟาร์มอีก ๕ แห่ง และสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านอีก ๒ ฝูง และนกป่า โดยรวมแล้วมีสัตว์ปีกทั้งหมด ๑๑๕,๐๐๐ ตัวที่ตาย หรือถูกทำลายในการระบาดครั้งนี้
               บัลกาเรีย กรีซ และมอนเทเนโกร สามประเทศนี้มีรายงานโรค HPAI เป็นครั้งแรก จากนกป่าในอุทยานแห่งชาติ โดยบัลกาเรีย ยืนยันการตรวจพบเชื้อไวรัส สับไทป์ H5 ในฟาร์มสองแห่ง สัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านอีก ๕ ฝูง  
               สวีเดน รายงานโรค HPAI จากเชื้อไวรัสชนิด H5N8 ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกแห่งที่สอง โดยการระบาดก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในฝูงสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านในเกาะภายในเมือง Stockholm
               รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยืนยันการระบาดของโรค HPAI ครั้งใหม่อีกสองครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในเมือง Stolwijk ทางตอนใต้ของฮอลแลนด์ ถัดจากนั้นไม่กี่วันเมือง Zoetewoude ในจังหวัดเดียวกันมีรายงานยืนยันการตรวจพบโรค HPAI สับไทป์ H5 จากฟาร์มไก่แห่งหนึ่งที่เลี้ยงไก่จำนวน ๒๘,๕๐๐ ตัว และอีกฟาร์มหนึ่ง จำนวน ๓๐,๐๐๐ ตัวที่อยู่ในรัศมี ๑ กิโลเมตร รัฐบาลตัดสินใจทำลายสัตว์ป่วยทั้งหมดเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรค
               หลายประเทศในยุโรปรายงานการระบาดครั้งใหม่ของโรคไข้หวัดนกชนิด HPAI ในนกป่า ได้แก่ ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร และโรมาเนีย

เอกสารอ้างอิง
Linden J. 2016. Avian flu rampage not easing in Asia, Europe. [Internet]. [Cited 2016 Dec 29]. Available from: http://www.wattagnet.com/articles/29349-avian-flu-rampage-not-easing-in-asia-europe
OIE, 2017. New OIE web portal on avian influenza. [Internet]. [Cited 2017 Jan 10]. Available from: http://www.oie.int/en/for-the-media/press-releases/detail/article/new-oie-web-portal-on-avian-influenza/













ภาพที่ ๑ แผนที่แสดงการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง วงกลมสีแดงคือ พื้นที่ยังคงเกิดการระบาดอย่างต่อเนื่อง วงกลมสีน้ำเงินคือ พื้นที่จัดการปัญหาได้เรียบร้อยแล้ว 

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560

เทคโนโลยีวิศวพันธุกรรม: อนาคตของวัคซีนสัตว์ปีก

นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบัน Pirbright ใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมเพื่อพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้นสำหรับโรคมาเร็กซ์ นับเป็นการปูเส้นทางไปสู่วัคซีนสัตว์ปีกรุ่นใหม่
การผลิตสัตว์ปีกทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าภายในระยะยี่สิบปีที่ผ่านมา และอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ปีกในสหราชอาณาจักรมีมูลค่า ๑.๕๘ แสนล้านบาท สร้างแรงงานประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน การเติบโต และความปลอดภัยของอุตสาหกรรมมีสิ่งคุกคามจากโรคมากมาย เช่น โรคมาเร็กซ์ ที่สามารถสร้างความเสียหายได้กว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์

วัคซีนควบคุมโรคปัจจุบัน
               โรคมาเร็กซ์ถูกควบคุมได้ด้วยวัคซีน ในแต่ละปีมีการใช้วัคซีนมากกว่า ๒ หมื่นล้านโด๊สทั่วโลก โดยเฉพาะเชื้อไวรัส Turkey herpes virus (HVT) นิยมใช้กันทั่วไปสำหรับการพัฒนาวัคซีนสัตว์ปีกเป็นพาหะนำส่งเชื้อก่อโรคชนิดอื่นในสัตว์ปีก ปัจจุบัน เทคโนโลยีสำหรับการสร้างวัคซีนรีคอมบิแนนท์โดยใช้เชื้อไวรัส HVT ค่อนข้างยุ่งยาก และใช้เวลา อย่างไรก็ตาม กรณีของโรคมาเร็กซ์ วิธีการที่ใช้กันอยู่ยังขัดขวางระดับของการป้องกันโรคได้ เนื่องจาก สัตว์ปีกสามารถป้องกันโรคมาเร็กซ์ได้เพียงไม่กี่สายพันธุ์ จึงมีความอ่อนไหวต่อการเกิดโรคจากเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงได้

เทคนิคการแก้ไขยีนใหม่
               ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีได้กระตุ้นให้มีการพัฒนาวิธีการแก้ไขยีนด้วยเทคนิคใหม่เรียกว่า “CRISPR/Cas9 (Clustered Regularly Interspaced Palindromic Repeats/ associated Cas9)” ที่ช่วยให้การวิจัยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และแม่นยำในการกำหนดเป้าหมาย การตัด และการแก้ไขลำดับยีนได้
               ดร. Yongxiu Yao นักวิทยาศาสตร์อาวุโสในกลุ่ม Viral Oncogenesis ที่สถาบันได้ใช้เทคโนโลยี CRISPR/Cas9 เพื่อปรับแต่งทางพันธุกรรมเชื้อไวรัส HVT แทรกส่วนของเชื้อไวรัสมาเร็กซ์เข้าไป เพื่อสร้างเป็นวัคซีนพันธุวิศวกรรมใหม่ (Genetic modified vaccine, GM) ที่สมบูรณ์ สามารถป้องกันโรคมาเร็กซ์จากเชื้อไวรัสสายพันธุ์อันตรายที่สุดได้

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
               วัคซีนนวัตกรรมใหม่นี้ จะช่วยให้การผลิตวัคซีนง่ายขึ้น และรวดเร็วขึ้น มีศักยภาพที่จะช่วยลดต้นทุนได้หลายสิบล้านบาทสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกในสหราชอาณาจักร และโลก นับเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่จะสรรค์สร้างวัคซีนรุ่นใหม่ วัคซีนชนิด HVT มีการใช้กันอย่างกว้างขวางสำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ปีกหลายชนิด และพันธุวิศวกรรมเป็นการปลดข้อจำกัดสำหรับวัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์ให้มีประสิทธิภาพต่อต้านกับเชื้อไวรัสมาเร็กซ์ทุกสายพันธุ์ รวมถึง เชื้อไวรัสอันตรายในสัตว์ปีก เช่น โรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ด้วย
               สถาบันวิจัยกำลังปรึกษากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนสัตว์ปีกระหว่างชาติเกี่ยวกับการนำนวัตกรรมเข้าสู่การพาณิชย์ การวิจัยครั้งนี้ร่วมกับ Wellcome Trust Sanger Institute และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ International Journal of Vaccines and Technologies  
  
  
เอกสารอ้างอิง

Burgin R. 2016. Is GM technology the future of poultry vaccines?. [Internet]. [Cited 2016 Dec 27]. Available from: http://www.worldpoultry.net/Health/Articles/2016/12/Is-GM-technology-the-future-of-poultry-vaccines-74867E/



วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...