วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

อิหร่านขาดแคลนอาหารสัตว์


อิหร่านประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารสัตว์ เนื่องจาก อุปสรรคการนำเข้าในประเทศตั้งแต่โรคโควิด ๑๙ ระบาด

ในอิหร่าน การระบาดของโควิด ๑๙ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารสัตว์อย่างรุนแรง ทำให้ฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์ไม่สามารถผลิตลูกไก่ได้อีกแล้ว ในประเทศอื่นๆ อย่างจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อุตสาหกรรมสัตว์ปีกประสบปัญหาผลกระทบของโรคในแบบที่ต่างกันไป ขณะนี้ ฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์ในอิหร่านได้ทำลายลูกไก่วันแรกไปแล้วหลายล้านตัว และคาดว่ายังต้องทำลายอีกจำนวนมาก

สมาคมสัตว์ปีกในเตหะราน ระบุไว้ว่า สัตว์ปีกมากกว่า ๑๕ ล้านตัวที่เกิดความเสียหาย นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด ๑๙ ในประเทศ ผู้ผลิตสัตว์ปีกซื้อลูกไก่น้อยลง

เมื่อยอดจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีกลดลง ส่งผลต่อราคาเนื้อไก่ และลูกไก่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลดจำนวนลูกไก่ในตลาด เพื่อรักษาความสมดุลของตลาด อุตสาหกรรมปศุสัตว์ และสัตว์ปีกในอิหร่านยังต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลัก นับตั้งแต่การระบาดของโรคในประเทศ ทำให้ประสบปัญหาในการนำเข้า อย่างไรก็ตาม ภายหลังสื่อโซเชียลเผยแพร่วีดีโอการทำลายลูกไก่ออกไป ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ขู่จะดำเนินคดีผู้ที่ทำลายลูกไก่

การเติบโตภาคการผลิตเนื้อสัตว์ปีกในอิหร่าน

ในอิหร่าน การผลิตเนื้อไก่เติบโตอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา อ้างอิงตามข้อมูลจาก FAOstat ที่รวบรวมสถิติจากองค์การอาหารและการเกษตรโลก หรือเอฟเอโอ ภายใต้สหประชาชาติ หรือยูเอ็น การผลิตเนื้อไก่สูงถึง ๒.๑๘๗ ล้านเมตริกตันในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ในช่วงห้าปีก่อนหน้านี้ มีการเติบโตต่อเนื่องต่อจากปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่มีการผลิต ๑.๙๖๗ เมตริกตัน

โรคไข้หวัดนกมีรายงานเป็นระยะในอิหร่าน แต่ครั้งล่าสุดก็ผ่านมาแล้วเป็นปีตั้งแต่กรกฏาคมปีที่ผ่านมา

 ผลกระทบของโควิด ๑๙ ในภาคสัตว์ปีกทั่วโลก

โรคโควิด ๑๙ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสัตว์ปีกอิหร่านเท่านั้น ผลของโรคเกิดทั้งทางตรง และทางอ้อมไปทั่วโลก

ย้อนหลังไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ เกษตกรในมณฑลหูเป่ยประเทศจีน ตกอยู่ในความกดดันอย่างมาก เนื่องจาก การจัดหากากถั่วเหลืองป่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อมีการควบคุมการขนส่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญไปยังฟาร์มอย่างเคร่งครัด สมาคมการปศุสัตว์ยื่นมือมาช่วยร้องขอให้มีการส่งข้าวโพด ๑๘,๐๐๐ เมตริกตัน และกากถั่วเหลือง ๑๒,๐๐๐ เมตริกตันเข้าไปในมณฑลเพื่อเป็นการบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าว  

ผู้บริโภคในสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเนื้อสัตว์ สถานการณ์โควิด ๑๙ ที่ตึงเครียดทั่วประเทศกำลังส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารอย่างเพียงพอ นอกเหนือจากข้อจำกัดด้านการขนส่งอาหารสัตว์แล้ว สถานการณ์โรคระบาดยังส่งผลต่อการปฏิบัติงานภายในโรงเชือดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตอาหาร ไทสันเตือนว่า เนื้อสัตว์หลายล้านปอนด์กำลังหายไปจากชั้นวางสินค้า เนื่องจาก การปิดโรงงานจำนวนมาก

ในสหภาพยุโรป สถานการณ์น่าจะน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้เน้นให้สมาชิกให้ความสำคัญกับสิ่งท้าทายจากรายงานภาพรวมการเกษตรกรรมในสหภาพยุโรปปีนี้ รวมถึง อุปสรรคการขนส่ง และการกระจายสินค้า อย่างไรก็ตาม การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ และสารเติมอาหารสัตว์ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก สำหรับตลาดเนื้อสัตว์ คณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่า ภาพรวมการผลิตอาจลดลงเนื่องจากร้านอาหารส่วนใหญ่ปิดลง ผู้บริโภคซื้อไปรับประทานที่บ้านเป็นหลัก ผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นกับเนื้อโค และเนื้อแกะมากกว่าเนื้อสุกร หรือเนื้อสัตว์ปีก เนื่องจาก การควบคุมการขนส่งสัตว์  


เอกสารอ้างอิง

Linden J. 2020. Feed shortage forces Iranian farmers to cull chickens. [Internet]. [Cited 2020 Apr 28]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/40168-feed-shortage-forces-iranian-farmers-to-cull-chickens

ภาพที่ ๑   อิหร่านทำลายไก่ (แหล่งภาพ Ehsan Graph, Freeimages.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...