วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ใช้คลื่นเสียงแปลงเพศลูกไก่ไข่

 หนึ่งในพื้นฐานที่สำคัญที่สุดด้านสวัสดิภาพสัตว์ และเศรษฐศาสตร์ที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกอาจจะแก้ไขได้แล้วโดยใช้คลื่นเสียง

               ในปัจจุบัน ลูกไก่ ๗.๕ พันล้านตัวต่อปีถูกทำลายภายหลังการฟัก สร้างความเสียหายหลายพันล้านบาท และเป็นคำถามด้านจริยธรรม หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ออสเตรีย และลักเซมเบิร์ก ได้สั่งห้ามการทำลายลูกไก่เพศผู้ไปแล้ว บางประเทศกำลังเดินทางไปในทิศทางเดียวกัน

               เทคโนโลยีหลายชนิดถูกพิจารณาอย่างพิถีพิถัน และเริ่มนำร่องใช้สำหรับการตรวจสอบเพศตัวอ่อนลูกไก่ก่อนการฟักเป็นตัว เพื่อให้การทำลายชีวิตเกิดขึ้นตั้งแต่ตัวอ่อนจะพัฒนาการเติบโตไปมากกว่านี้

               การให้แสงเพิ่มขึ้นในไก่ไข่ช่วยกระตุ้นการออกไข่ได้ แต่นักวิจัยกำลังคิดว่า คลื่นเสียงก็สามารถเพิ่มจำนวนไข่ได้เช่นกัน

การใช้คลื่นเสียงเปลี่ยนพันธุกรรมสัตว์

               นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยซิวราคิวส์ และซูเทคโนโลยี เชื่อว่า คลื่นเสียงสามารถไขปัญหาจริยธรรมการทำลายลูกไก่ไข่เพศผู้ และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการทำลายลูกไก่จำนวนมากภายในอุตสาหกรรมการผลิตไก่ไข่ได้ 

               เทคโนโลยีใหม่นี้ทำงานภายในตู้บ่มโดยใช้เครื่องมือที่นำคลื่นเสียงส่งให้กับไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิ เพื่อควบคุมการแสดงออกของจีน ผลที่ได้สามารถเปลี่ยนให้เป็นลูกไก่ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแบบเพศผู้ แต่แสดงลักษณะทางกายภาพเป็นเพศเมีย นั่นคือ ลูกไก่เหล่านี้ยังสามารถวางไข่ได้ 

               คลื่นเสียงถูกใช้นานมาแล้วในอดีตสำหรับเปลี่ยนแปลงการตอบสนองของจีนในพืช และสามารถนำมาใช้สำหรับเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของจีนในตัวอ่อนลูกไก่ได้ด้วย เทคนิคนี้ไม่สร้างความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิต และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดัดแปลงจีน หรือใช้ฮอร์โมนไปกระตุ้นแต่อย่างใด

               นักวิจัยควบคุมสภาวะแวดล้อมในตู้ฟักระหว่างการพัฒนาตัวอ่อนโดยใช้พลังงานเสียงจากการสั่นสะเทือน โดยการเปลี่ยนความถี่และความดังของเสียง ร่วมกับอุณหภูมิและความชื้น นักวิจัยสามารถเพิ่มโอกาสในการฟักเป็นลูกไก่เพศเมียได้ร้อยละ ๕๐ ถึง ๘๐ ทั้งนี้ ซูเทคโนโลยีได้รับรางวัลร่วม ๔๐ ล้านบาทจากการแข่งขัน และจับมือกับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกในนิวยอร์กใกล้กับมหาวิทยาลัยซิวราคิวส์

เปลี่ยนเป็นจีนเพศเมีย

               ศาสตราจารย์ เจมส์ คริลล์ ในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิวราคิวส์ ใช้ห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่สำหรับการศึกษาการแสดงออกทางจีโนมิก และอาร์เอ็นเอ เพื่อตรวจสอบสิ่งที่อยู่ภายในตัวไก่ระหว่างการพัฒนาตัวอ่อนว่าเป็นเพศเมีย แต่ยังมีพันธุกรรมของเพศผู้ทั้งหมดอยู่ และศึกษาคลื่นเสียงที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงจีนเพศเมียที่มีการแสดงออกแทนจีนเพศผู้

               ราวร้อยละ ๖๑ ของลูกไก่ที่ฟักเป็นตัวจากการทดลองเป็นเพศเมียแล้ว

               อีแฟรต พีเทล ผู้จัดการทั่วไปของซูเทคโนโลยี อ้างว่านี่เป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดจากการใช้คลื่นเสียงที่ความถี่และความเข้มหนึ่ง ส่งผลต่อการแปลงเพศได้ โดยเฉพาะ ในช่วงอายุตัวอ่อน ๐ ถึง ๑๖ วัน การทดลองครั้งหนึ่งพบว่าได้ลูกไก่เพศเมียสูงถึงร้อยละ ๖๙ เห็นได้ชัดว่า เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยให้ตัวอ่อนลูกไก่พัฒนาเป็นเพศเมียได้ และยังสามารถออกไข่ได้จริงๆด้วย   

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2023 Can sound alter layer gene expression?. [Internet]. [Cited 2023 Sep 27]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/genetics/can-sound-alter-layer-gene-expression/

ภาพที่ ๑ นักวิจัยกำลังค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างคลื่นเสียงและการแสดงออกของจีนในไก่ไข่ เพื่อให้ได้ลูกไก่เพศเมียแทนที่จะเป็นเพศผู้ (แหล่งภาพ Canva)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แมคโดนัลด์ทยอยเปิดร้านใหม่ในยูเครน

  นับตั้งแต่เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นต้นไป แมคโดนัลด์เริ่มเปลี่ยนไปใช้ไก่จากบริษัทเอ็มเอชพีสำหรับร้านจำหน่ายสินค้าในยูเครน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป...