วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

หลอดคอเผยให้เห็นว่าเชื้อซัลโมเนลลาแพร่ทางอากาศได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ กำลังสนใจความเป็นไปได้ที่เชื้อซัลโมเนลลาจะแพร่กระจายทางอากาศ และประยุกต์ใช้เทคนิคในการตรวจติดตามจากตัวอย่างหลอดคอของสัตว์ปีก
                นักวิจัยนามว่า Guillermo Tellez กำลังทำการวิจัยร่วมกับคณะผู้วิจัยนำเสนอข้อมูลผลการวิจัยใน International Scientific Forum ว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเชื้อซัลโมเนลลาสามารถแพร่กระจายทางอากาศเป็นที่มาของการติดเชื้อข้ามกันในสัตว์ปีก
                การทดลอง 2 ชุด สำหรับการประเมินวิธีการตรวจสอบเชื้อซัลโมเนลลาในหลอดคอ ในการทดลองที่ ๑ ลูกไก่เนื้ออายุ ๗ วัน ให้เชื้อ SE ทางหลอดคอขนาด 10E5 cfu พบว่า สามารถพบเชื้อได้จากตัวอย่างทอนซิลไส้ตัน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ หลอดคอ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ และตับม้าม ๕๐ เปอร์เซ็นต์
                ในการทดลองที่ ๒ หลอดคอ และไส้ตัน ถูกตัดออกจากไก่งวงอายุ ๑๖ สัปดาห์เพื่อประเมินความชุกของเชื้อ จากตัวอย่างเหล่านี้ พบว่า หลอดคอ ๙๗ เปอร์เซ็นต์ให้ผลเป็นบวกต่อเชื้อ อี. โคลัย และ ๓๔ เปอร์เซ็นต์ให้ผลเป็นบวกต่อเชื้อซัลโมเนลลา
                นักวิจัยสรุปว่า การตรวจพบเชื้อซัลโมเนลลาที่หลอดคอที่เป็นอวัยวะสำหรับการตรวจสอบขณะมีชีวิต และการเคลื่อนที่ไปตามอากาศของเชื้อซัลโมเนลลาในโรงเรือนสัตว์ปีก สามารถจัเป็นจุดควบคุมสำหรับการแพร่กระจายของเชื้อภายในฝูงได้
                ใครอยากฟังรายละเอียดเชิญไปร่วมงาน IPPE2013 ที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกาครับ

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

นักวิชาการยังขาดองค์ความรู้เรื่องกรดอะมิโนสำหรับเป็ด

การผลิตเป็ดทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นอน่างต่อเนื่อง ตอกย้ำความจำเป็นสำหรับการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับความต้องการด้านโภชนะสำหรับสูตรอาหารเป็ด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเนื้อเป็ด ข้อมูลจากการวิจัยสำหรับไก่เนื้อไม่สามารถนำมาใช้สำหรับการปรับปรุงสูตรอาหารสัตว์สำหรับเป็ดได้
                เช่นเดียวกับการผลิตเนื้อสัตว์ปีกทุกชนิด ความต้องการ และการผลิตเนื้อเป็ดโลก ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี ค.ศ.๒๐๐๙ มีการผลิตเนื้อเป็ด ๓.๘ ล้านตัน สูงกว่าปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ถึงหนึ่งล้านตัน ตลาดหลักสำหรับเนื้อเป็ดยังคงเป็นเอเชียมีสัดส่วน ๘๔ เปอร์เซ็นต์ของการผลิตทั่วโลก แม้ว่า ปริมาณการผลิตเนื้อเป็ดทั่วโลกจะใกล้เคียงกับเนื้อไก่งวง แต่ความรู้เกี่ยวกับความต้องการด้านโภชนะ และความสามารถในการย่อยอาหารสัตว์ยังมีน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น ความต้องการกรดอะมิโนของเป็ด โดย NRC (1994) แนะนำให้มีสัดส่วนของ crude protein และกรดอะมิโนสำหรับไก่งวงไว้ ๓๘ เปอร์เซ็นต์ แต่เพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์สำหรับเป็ดเท่านั้น
ความแตกต่างระหว่างสัตว์ปีก
                สัตว์ปีกแต่ละชนิดมีความแตกต่างด้านกายวิภาค สรีรวิทยา และเมตาโบลิซึมภายในลำไส้ ยกตัวอย่างเช่น น้ำหนักของลำไส้เล็กเปรียบเทียบกับน้ำหนักร่างกายของเป็ดจะต่ำกว่าไก่เนื้อ แต่สูงกว่าไก่งวง
                นักวิจัยชาวเยอรมัน ศึกษาองค์ประกอบร่างกายของเป็ดปักกิ่ง เป็ดมัสโควี มูลาร์ด และห่านด้วยเทคนิค Non-invasive magnet resonance tomography (MRT) พบว่า สายพันธุ์ และเพศ ของสัตว์ปีกเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อองค์ประกอบร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังค้นพบความแตกต่างในการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ และอวัยวะ ระหว่างสายพันธุ์เป็ด
ความสามารถในการย่อยกรดอะมิโน
                ความแตกต่างในระบบทางเดินอาหาร และการเจริญเติบโต ส่งผลต่อความสามารถในการย่อยได้ของสารอาหารอีกด้วย เมื่อเปรียบเทียบความสามารถในการย่อยกรดอะมิโนได้ของลำไส้เล็กส่วนปลาย แสดงให้เห็นว่า มีค่าเฉลี่ยเป็น ๗๖, ๖๙ และ ๕๖ เปอร์เซ็นต์ในไก่ เป็ด และห่าน ตามลำดับ โดยความสามารถในการย่อยเมไธโอนีน (Met) และไลซีน (Lys) เป็น ๗๐, ๗๒, ๔๔ เปอร์เซ็นต์ และ ๕๗, ๕๒, ๔๑ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ สรุปว่า ความสามารถในการย่อยกรดอะมิโนได้ในสัตว์ปีกน้ำต่ำกว่าสัตว์ปีกที่เลี้ยงบนบก
                การทดลองที่สอง แสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการย่อยกรดอะมิโนของไก่ เป็ด และห่านเป็น ๗๒, ๕๕ และ ๖๓ เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยความสามารถในการย่อยเมไธโอนีน และไลซีน เป็น ๗๔, ๖๒, ๕๕ เปอร์เซ็นต์ และ ๔๑, ๖๐, ๔๑ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งวว่า ความสามารถในการย่อยได้ของกรดอะมิโนในสัตว์ปีกบนบกมากกว่าสัตว์ปีกน้ำ เพื่อศึกษาความสามารถในการย่อยกรดอะมิโนได้ที่แท้จริง การสูญเสียที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะถูกลบหักออกจากผลการทดสอบ ซึ่งเป็นผลมาจากอายุ และส่วนประกอบของอาหารในไก่เนื้อ ผลการศึกษาอีกชุดหนึ่งในเป็ดปักกิ่ง แสดงให้เห็นว่า การสูญเสียไนโตรเจนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมถึง ความต้องการโปรตีนสำหรับการดำรงชีวิตสอดคล้องกับในไก่เนื้อ เนื่องจาก ประสิทธิภาพการย่อยอาหารมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเป็ด และไก่เนื้อ ดังนั้น ผลการศึกษาในไก่เนื้อไม่สามารถนำมาใช้ในเป็ดได้ ค่าความสามารถในการย่อยกรดอะมิโนได้จากอาหารเป็ดยังมีองค์ความรู้น้อย โดยเฉพาะ ความต้องการกรดอะมิโนที่ย่ยอได้ ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับการเสริมกรดอะมิโนของเป็ดยังคงอาศัยปริมาณทั้งหมดของกรดอะมิโนทั้งหมด
การปรับปรุงพันธุกรรม
                     ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือ การปรับปรุงพันธุกรรมของเป็ดสมัยใหม่ ทำให้ในปี ค.ศ. ๑๙๖๙ น้ำหนักเป็ดปักกิ่งส่งตลาดที่ ๒๔๐๐ กรัมที่อายุ ๕๖ วัน โดยมีน้ำหนักเนื้ออก ๙ เปอร์เซ็นต์ แต่ในอีก ๓๐ ปีต่อมา เป็ดปักกิ่งสามารถเติบโตถึงน้ำหนัก ๓๘๒๐ กรัมได้ภายใน๔๙ วัน โดยมีน้ำหนักเนื้ออก ๑๖.๖ เปอร์เซ็นต์ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการพัฒนาการเจริญเติบโต และการสะสมโปรตีนเป็นหลักฐานประการหนึ่งของความต้องการกรดอะมิโนของสัตว์ปีกน้ำสมัยใหม่
ความต้องการกรดอะมิโนของเป็ด
                ศาสตราจารย์ Hou จาก Chinese Academy of Agricultural Science ในปักกิ่ง ศึกษาความต้องการกรดอะมิโนของเป็ดเปรียบเทียบระหว่าง NRC (1994), Hou (2007) และ Evonik พบว่า เป็ดปักกิ่ง และเป็ดมัสโควี โดยแบ่งการเลี้ยงออกเป็น ๒ ระยะ ได้แก่ ระยะเติบโต และระยะสุดท้าย พบว่า มีการเพิ่มระดับคำแนะนำให้มีการเสริม sulphur amino acids และ ไลซีน ส่วนกรดอะมิโนชนิดอื่นใกล้เคียงกัน โดยมีความแตกต่างเล็กน้อยของทริปโตฟาน อาร์จินีน และวาลีน 
                สำหรับ Sulphur amino acids ไลซีน ทรีโอนีน และทริปโตฟาน มีข้อมูลผลการวิจัยล่าสุดอยู่แล้ว ใน ปี ค.ศ. ๒๐๐๐ พบว่า มีความจำเป็นสูงสำหรับ เมธัยโอนีนผสมซิสตีน (M+C) ไลซีน และทรีโอนีน เพื่อให้เป็ดปักกิ่งสมัยใหม่สามารถเจริญเติบโตได้สูงที่สุดสำหรับช่วงอายุ ๑ ถึง ๒๑ วัน และ ๒๑ ถึง ๔๙ วัน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย exponential regression level เป็น ๑.๑๖ และ ๑.๐๓ เปอร์เซ็นต์ ไลซีน, ๐.๗๖ และ > ๐.๘๗ เปอร์เซ็นต์ M+C, >๐.๙๙ และ ๐.๙๘ เปอร์เซ็นต์ ทรีโอนีน และ ๐.๒๑ และ ๐.๑๘ เปอร์เซ็นต์ ทริปโตฟาน เป็นระดับที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มน้ำหนักตัว และประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารที่อายุระหว่าง ๑ ถึง ๒๑ วัน
               สำหรับช่วงอายุระหว่าง ๒๑ ถึง ๔๙ วัน ระดับเป็น ๐.๘๓ และ ๐.๗๓ เปอร์เซ็นต์ ไลซีน, ๐.๗๓ และ > ๐.๘๔ เปอร์เซ็นต์ M+C, ๐.๖๒ และ ๐.๖๒ เปอร์เซ็นต์ ทรีโอนีน และ ๐.๒๓ และ ๐.๒๗ เปอร์เซ็นต์ ทริปโตฟาน เป็นระดับที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มน้ำหนักตัว และประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหาร นอกจากนั้น ระดับที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเนื้อหน้าอกคือ ไลซีน ๐.๙๐ เปอร์เซ็นต์ M+C ๐.๖๖ เปอร์เซ็นต์ ทรีโอนีน ๐.๖๖ เปอร์เซ็นต์ และทริปโตฟาน ๐.๒๘ เปอร์เซ็นต์
               ระดับความต้องการไลซีนสำหรับเป็ดปักกิ่งสีขาวเพศผู้ อายุระหว่าง ๗ ถึง ๒๑ วันเป็น ๐.๙๗ เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มน้ำหนักตัว ๑.๐๘ เปอร์เซ็นต์สำหรับประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหาร ๑.๓๙ เปอร์เซ็นต์ สำหรับน้ำหนักเนื้ออก และ ๑.๕๓ เปอร์เซ็นต์สำหรับยิลด์ของเนื้ออก
ความแตกต่างของสูตรอาหารสัตว์ระยะต่างๆ
                การศึกษาความต้องการเมธัยโอนีน และ M+C แบบ dose-response trial โดย Evonik และศาสตราจารย์ Hou ใช้สัตว์ปีกจำนวน ๑,๖๘๐ ตัว ที่ได้รับอาหารสัตว์เชิงพาณิชย์ตั้งแต่เริ่มเลี้ยง และสูตรอาหารทดลองเมธัยโอนีนทั้งหมด ๙ สูตรที่ใช้ข้าวโพด และถั่วลิสงเป็นส่วนประกอบหลัก และให้กรดอะมิโนสูงกว่าที่ Evonik แนะนำไว้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ระหว่างระยะเริ่มต้น และระยะเจริญเติบโต ระดับพลังงาน และโปรตีนเป็นไปตามคำแนะนำของศาสตราจารย์ Hou กลุ่มที่ทดลองให้ขาดเมธัยโอนีน และ M+C ในระยะเริ่มต้น และระยะเจริญเติบโตจะเป็น ๐.๒๘ กับ ๐.๒๗ เปอร์เซ็นต์ และ ๐.๕๙ กับ ๐.๕๕ เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ระดับดังกล่าวจะค่อยๆปรับขึ้นในอีก ๘ กลุ่มทีละ ๐.๐๔ เปอร์เซ็นต์
                ผลการทดลอง พบว่า ระดับเมธัยโอนีน และ M+C สูงกว่า NRC (1994) ฉบับที่ใช้ในปัจจุบันกำหนดไว้ แต่ใกล้เคียงกับ Evonik (2010) แนะนำสำหรับระยะเริ่มต้น และระยะเจริญเติบโต แต่ระยะสุดท้ายของการผลิตเนื้อเป็ด บ่งชี้ให้มีการปรับ sulphur amino acids ที่มีระดับต่ำกว่าที่เคยคิดไว้มาก่อน เพื่อให้การเจริญเติบโตได้ดีที่สุด และใกล้เคียงกับที่ NRC แนะนำไว้
การเสริมกรดอะมิโน
                บทสรุปเพิ่มเติมคือ อาจใช้ครูดโปรตีนต่ำลงได้ในอาหารเป็ดปักกิ่งระยะสุดท้าย ในฝรั่งเศส ผู้วิจัยทดลองให้อาหารสูตรครูดโปรตีนต่ำ และปรับสมดุลให้กับกรดอะมิโน ๔ ชนิดแรกที่สำคัญโดยการเติม L-Lysine HCl, DL-Methionine, L-Threonine และ L-Tryptophan ผู้วิจัย พบว่า ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโต คุณภาพซาก เมื่อระดับของครูดโปรตีนสูงกว่า ๑๒.๔ เปอร์เซ็นต์ในสูตรอาหารที่เสริมด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นทั้งสี่ชนิดแล้ว
               นักวิจัยกลุ่มต่อมา ตั้งสมมติฐานว่า การเสริมกรดอะมิโนให้ผลบวกต่อการเจริญเติบโต นักวิจัยชาวจีน Wu ตั้งสมมติฐานว่า L-arginine อาจช่วยควบคุมการสะสมของไขมันในร่างกายเป็ด ระหว่างอายุ ๒๑ ถึง ๔๒ วัน โดยไม่ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว ผลการทดลอง บ่งชี้ว่า อาหารที่มีการเสริม L-arginine 1.00 เปอร์เซ็นต์ สามารถลดการสะสมไขมันของซาก และขนาดเซลล์ไขมันที่ช่องท้อง (เส้นผ่านศูนย์กลาง และปริมาตร) ส่งเสริมให้มีการสร้างไขมันภายในกล้ามเนื้ออก และเพิ่มกล้ามเนื้อ และโปรตีนได้
                เมื่อพิจารณา การวิจัยโดยภาพรวมทั้งหมด นักวิชาการยังขาดองค์ความรู้ที่ดีที่สุดสำหรับการให้อาหารเป็ดในระยะต่างๆ ตั้งแต่อายุมากกว่า ๑๔ วัน เรามีความรู้เกี่ยวกับความต้องการของลูกเป็ดระยะแรกใกล้เคียงกับความต้องการสำหรับการเจริญเติบโตที่สูงที่สุดแล้ว แต่สำหรับระยะเจริญเติบโต และระยะสุดท้าย ยังมีความต้องการต้องศึกษาความต้องการด้านโภชนะต่อไป
แหล่งข้อมูล          World Poultry (23 Jan 2013)


วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

CFP วางแผนการลงทุนในปี ค.ศ. ๒๐๑๓



เจริญโภคภัณฑ์ (CPF) วางแผนการลงทุนมูงค่าหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาทสำหรับปี ค.ศ. ๒๐๑๓ และมีเป้าหมายให้มียอดจำหน่ายรวมทั้งหมดสี่แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น ๑๔ เปอร์เซ็นต์จากยอดจำหน่ายปีที่ผ่านมาที่คาดว่าจะสูงถึงสามแสนห้าหมื่นล้านบาท
                นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กล่าวว่า สัดส่วน ๕๕ เปอร์เซ็นต์ของยอดจำหน่ายทั้งหมดมาจากการลงทุนภายในประเทศ และอีก ๗ ถึง ๘ เปอร์เซ็นต์มาจากการตลาดส่งออก ถือเป็นแผนธุรกิจเพื่อการส่งเสริมยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็นหกแสนล้านบาทในปี ค.ศ. ๒๐๑๕   
                การลงทุนของบริษัทสำหรับปี ค.ศ.๒๐๑๓ สัดส่วน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ จะขยายต่อไปใน ๑๒ ประเทศที่เป็นฐานการลงทุนเดิมของบริษัท และอีก ๔๐ เปอร์เซ็นต์สำหรับตลาดภายในประเทศ การลงทุนส่วนใหญ่ในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ จะเน้นโครงการที่มีอยู่แล้วทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นอกจากนั้น บริษัทวางแผนกำลังเจรจากับอีกสองธุรกิจ หากบรรลุข้อตกลงแล้ว ยอดจำหน่ายรวมของบริษัทจะสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้อีก อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่เปิดเผยชื่อธุรกิจดังกล่าว  
แหล่งข้อมูล          AllAboutFeed (4 Jan 2013)

อบขี้ไก่ให้แห้งเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม



เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกกำลังมองหาวิธีการลดแก๊สแอมโมเนีย และแมลงวัน โดยเฉพาะ ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ บางรายกำลังมองหาวิธีทำเงินจากวัสดุรองพื้นโดยจำหน่ายเป็นปุ๋ย แต่ทุกคนสามารถแสวงหาประโยชน์จากระบบการทำให้ขี้ไก่แห้งโดย VDL Agrotech จากประเทศเนเธอร์แลนด์
                การขนย้ายมูลไก่จากฟาร์มสัตว์ปีกทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของมูลไก่แห้งที่ชั้นบน วัสดุรองพื้นในฟาร์มสัตว์ปีกก่อให้เกิดมลภาวะ หากไม่ผ่านการบำบัดเป็นอย่างดีเสียก่อน และทิ้งไว้ให้เป็นกองเปียกภายใน หรือภายนอกโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก เนื่องจาก มีการปลดปล่อยแก๊สแอมโมเนียระดับสูงเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภายในฟาร์ม และเพื่อนบ้านใกล้เคียง นอกจากนั้น แอมโมเนียถือว่าเป็นแก๊สที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามลดแก๊สที่เป็นอันตรายมิให้ปลดปล่อยสู่บรรยากาศ
                แมลงวันชอบวัสดุรองพื้นที่เปียก และเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการเพิ่มจำนวน และไม่เป็นที่พึงปรารถนาของคนงานในฟาร์ม และชุมชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้น ฟาร์มขนาดกลาง และขนาดใหญ่จึงให้ความสนใจเพิ่มขึ้นกับการทำให้มูลไก่ตั้งแต่สายพานรองรับมูลไก่ภายในโรงเรือน อย่างไรก็ตาม ระบบเหล่านี้ ยังมีประสิทธิภาพไม่มาก และทำให้เกิดฝุ่น ระบบนี้จะขนถ่ายมูลไก่ทุกหนึ่งหรือสองวันจากภายในโรงเรือน เพื่อลดการปลดปล่อยแก๊สแอมโมเนีย ฝุ่น และความชื้นในโรงเรือนสัตว์ปีก การทำให้มูลไก่แห้งในสภาวะแวดล้อมที่กำหนดไว้ จะช่วยดักจับแก๊สแอมโมเนีย และฝุ่น โดยใช้พลังงานไม่มาก
การทำให้มูลไก่แห้งบนแผ่นเหล็กชุบ
                ปัจจุบัน ระบบการทำให้มูลสัตว์ปีกแห้งภายนอกโรงเรือนไก่ไข่หลายระบบจำหน่ายในตลาด แต่ละระบบก็มีข้อดี และข้อเสีย บริษัท VDL Agrotech ผู้ติดตั้งโครงการสัตว์ปีกทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กมากมาย ได้นำระบบการทำให้มูลไก่แห้งในนาม “PoulDry” poultry manure drying system โดยความร่วมมือกับวิศวกรผู้มีประสบการณ์มากมาย โดยระบบนี้จะทำให้มูลสัตว์ปีกแห้งจากพื้นที่แยกต่างหากใกล้กับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก ระบบนี้ประกอบด้วยชั้นเดียวหรือหลายชั้นที่มีการส่งสายพานโดยตรง กระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนกระตุ้นด้วยไฟฟ้า และเคลือบแป้งบนแผ่นเหล็กชุบ แผ่นเหล็กเป็นรูพรุนประมาณ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้อากาศสามารถผ่านได้อย่างรวดเร็ว และทำให้มูลไก่แห้งได้ดีขึ้น โซ่จะวิ่งไปคล้ายกับรางรถไฟ และเคลื่อนที่แผ่นเหล็กชุบต่อไปในเส้นทางที่จะควบคุมมิให้มูลไก่สามารถสัมผัส และเป็นอันตรายกับการชิ้นส่วนของเครื่องจักร ระบบการนำทางที่เป็นเอกลักษณ์ ร่วมกับการขับเคลื่อนโซ่โดยตรงช่วยให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการสะดุดของเครื่องจักร
การบังคับให้เอียง
                มูลไก่ที่เคลื่อนที่มาจากสายพานในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีกจะกระจายอยู่ที่ชั้นบนของมูลไก่แห้งที่ผ่านเข้าไปในอุโมงค์ เมื่อระดับชั้นของมูลไก่สูงขึ้นไปถึงระดับหนึ่ง แผ่นเหล็กก็จะเอียง เพื่อทิ้งมูลไก่ลงอย่างอัตโนมัติ เพื่อหมุนไปรับมูลไก่ใหม่ การบังคับแผ่นเหล็กที่มีรูพรุนให้เอียงในแต่ละระดับก็เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการอุดตัน และไม่มีมูลไก่ติดค้างบนเพลต การระบายอากาศที่ความดันสูงผ่านระบบก็เพื่อให้ความชื้นที่สูงถึง ๘๐ ถึง ๘๕ เปอร์เซ็นต์ลดลงอย่างรวดเร็วภายใน ๗๒ ชั่วโมง ขึ้นกับความชื้นบรรยากาศ โดยใช้พลังงานไม่สูงมาก ใช้ง่าย และควบคุมระบบโดยใช้จอสัมผัส การติดตั้งระบบง่าย ความยาวสูงที่สุด ๔๐ เมตร เทียบเท่ากับประสิทธิภาพสำหรับการทำให้มูลไก่แห้งได้ ๒๐๐,๐๐๐ ชั้น มูลแห้งยังลดกลิ่นเหม็น แอมโมเนีย และปัญหาแมลงวันให้ลดลงน้อยที่สุด เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายได้ง่ายในถุงบรรจุเป็นปุ๋ยสำหรับใช้ในการเพาะปลูกพืชไร่ นอกจากนั้น ยังสามารถผลิตเป็นเม็ดสะดวกสำหรับใช้ในการทำสวน       
 แหล่งข้อมูล         World Poultry (8 Nov 2011)

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

สหรัฐฯแบนการใช้อาร์เซนิกในอาหารสัตว์

รัฐแมรีแลนด์กลายเป็นรัฐแรกในสหรัฐฯที่สั่งแบนการผสมอาร์เซนิกในอาหารสัตว์ปีก โดยกฏหมายนี้จะแบนการใช้ร๊อกซาร์โซน (Roxarsone) บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ.๒๐๑๓ เป็นต้นไป
                บริษัท ไฟเซอร์ เป็นผู้แทนจำหน่ายร๊อกซาร์โซน สำหรับช่วยให้ไก่เจริญเติบโต และต่อสู้กับปรสิต ได้หยุดขายเคมีภัณฑ์ดังกล่าวในเดือนกรกฏาคม ภายหลังจาก USDA ศึกษาพบว่า มีอนินทรีย์ชนิดอาร์เซนิกในระดับสูงในไก่ที่ให้สารเสริมชนิดนี้มากกว่าไก่ที่มิได้ให้ เนื่องจาก อาร์เซนิกเป็นสารก่อมะเร็ง อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่านก็เห็นว่า มาตรการดังกล่าวไม่มีความจำเป็น เพราะบริษัทได้สมัครใจที่จะหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้ไปแล้ว รวมถึง ฟาร์มเปอร์ดู ผู้นำด้านการผลิตสัตว์ปีกก็ได้หยุดใช้ร๊อกซาร์โซนไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๗  
แหล่งข้อมูล          World Poultry (3 Jan 2012)

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

สาหร่ายทะเลใต้มหาสมุทรหยุดไวรัสนิวคาสเซิล

รายงานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งเน้นเสาะแสวงหาสารประกอบยับยั้งเชื้อไวรัสจากแหล่งธรรมชาติ สารสกัดจากสิ่งมีชีวิตใต้มหาสมุทรลึกมากมายที่แยกออกมาได้ และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา รวมถึง การต่อต้านเชื้อไวรัส ผ่านการพิสูจน์แล้วทั้งในห้องทดลอง และสัตว์ทดลอง
                ฟูคอยแดน (Fucoidan) เป็นสารประกอบ Sulfated polysaccharide ได้จากผนังเซลล์ของสาหร่ายสีน้ำตาล มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสชนิดที่มีเปลือกหุ้ม โดยมีความเป็นพิษต่อสัตว์ต่ำ การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัส และกลไกการทำหน้าที่ของฟูคอยแดนที่สกัดมาจากสาหร่ายทะเลชื่อว่า Cladosiphon okamuranus ต่อเชื้อไวรัสนิวคาสเซิลในเซลล์เพาะเลี้ยงชนิดต่อเนื่องมีนามว่า เวโร่
                ความเป็นพิษต่อเซลล์ทดสอบโดยเทคนิค MTT assay และการทดสอบฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสด้วยเทคนิค fusion and plaque-forming unit (PFU) inhibition assays โดยใช้เกณฑ์การประเมินได้แก่ ระยะเวลาการผสม การยับยั้งกระบวนการฟิวชัน และการทดสอบการแทรกผ่าน
                เชื้อไวรัสที่ใช้ในการทดสอบ Fusion inhibition assays คือ สายเชื้อลาโซต้า ส่วนการทดลอง PFU และ Western blot ใช้เชื้อไวรัสนิวคาสเซิลชนิดอ่อนจากท้องถิ่น พบว่า ฟูคอยแดน มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสสายเชื้อลาโซต้าได้ โดยมีค่า IS50 > 2000
                 การศึกษาระยะเวลาผสม พบว่า สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้ในระยะแรกของการติดเชื้อตั้งแต่ ๐ ถึง ๖๐ นาทีภายหลังการติดเชื้อ การยับยั้งการแทรกผ่านของเชื้อไวรัสนิวคาสเซิลชนิดอ่อน พบว่า การติดเชื้อไวรัสลดลง ๔๘ เปอร์เซ็นต์ และลดการแสดงออกของโปรตีน HN ลงได้
                ยาไรบาวิริน (Ribavirin) ใช้เป็นยาต่อต้านเชื้อไวรัสควบคุม พบว่า ยังมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสได้ต่ำกว่าฟูคอยแดน ในการทดสอบการยับยั้งกระบวนการฟิวชัน พบว่า จำนวนของเซลล์ซินซัยเทีย (synsytia) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเติมฟูคอยแดนก่อนกระบวนการคลีเวจ (cleavage) ของโปรตีนฟิวชัน บ่งชี้ถึง ปฏิสัมพันธ์ที่จำเพาะระหว่างฟูคอยแดน และโปรตีน F0  
                ผลการวิจัยครั้งนี้ บ่งชี้ว่า ฟูคอยแดน จากสาหร่ายทะเล C. okamuranus เป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสที่มีความเป็นพิษต่ำ สามารถนำมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมสัตว์ปีก และช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อกลไกของสารประกอบ sulfated polysaccharides ได้ดียิ่งขึ้น
แหล่งข้อมูล          World Poultry (17 Dec 2012)

สายลมส่งแรงให้หวัดนกระบาดลุกลาม

ผลการวิจัยของเนเธอร์แลนด์ พบว่า ลมเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของไข้หวัดนกราว ๑๘ เปอร์เซ็นต์
                การระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงสูงในสัตว์ปีก สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงทางเศรษฐกิจ และเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุข การพัฒนามาตรการควบคุมโรคจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจธรรมชาติของเชื้อไวรัสเหล่านี้ในการแพร่กระจายจากฟาร์มสู่ฟาร์ม อย่างไรก็ตาม กลไกที่แท้จริงของการแพร่กระจายเชื้อระหว่างฟาร์มยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
                ตำนานเรื่อง การกระจายของสิ่งติดเชื้อทางลมเป็นที่เชื่อถือกันมาเป็นเวลานาน แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด การศึกษาครั้งนี้ใช้หลักฐานทางสถิติในการศึกษา พบว่า ทิศทางการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สับไทป์ H7N7 มีความสัมพันธ์กับทิศทางของลมในวันที่ติดเชื้อ นักวิจัยได้ทดลองสร้างแผนภูมิการระบาดของเชื้อจากข้อมูลการระบาดครั้งใหญ่ทั้งทางพันธุกรรม และระบาดวิทยา ในเนเธอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๓ พบว่า การระบาดจากลมเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อประมาณ ๑๘ เปอร์เซ็นต์
                ฟาร์มปลดปล่อยอณูฝุ่นละอองต่างๆจำนวนมากที่สามารถเป็นพาหะของเชื้อไวรัสที่มีชีวิต การใช้ระบบการป้องกันบางชนิด เช่น ระบบกรองอากาศ การพ่นละอองน้ำ หรือน้ำมัน การปรับอัตราการระบายอากาศ และการใช้ระบบไอออนไนเซชัน ที่ช่วยลดความเข้มข้นของฝ่าน เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการหยุดการแพร่กระจายของอนุภาคที่ติดเชื้อลงได้ทั้งที่เข้ามาภายใน และออกสู่ภายนอก นอกจากนั้น กลไกอื่นๆที่สัมพันธ์กับลม ก็ไม่ควรมองข้าม เช่น นกป่า หรือแมลงที่เป็นพาหะสำคัญของโรคก็ชอบที่จะบินไปตามทิศทางของลม และจำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์ในการควบคุมแตกต่างกันไป
                นอกเหนือจากนั้น ยุทธศาสตร์การฆ่าทำลายสัตว์ป่วยเองก็อาจมีบทบาทสำคัญต่อการระบาดทางลมได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ประการแรก ควรตระหนัก และให้ความสำคัญกับการป้องกันมิให้สิ่งปนเปื้อนแพร่กระจายไปตามสิ่งแวดล้อม ระหว่างการทำลายสัตว์ป่วย ประการต่อมาให้ใส่ใจกับทิศทางลม เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายไปยังฟาร์มข้างเคียง รวมถึง การให้ความรู้ และการพยากรณ์สถานการณ์ปัจจุบัน และอนาคตโดยคำนึงถึงทิศทางลม จะช่วยให้มาตรการควบคุมโรคโดยการกำจัดสัตว์ป่วยมีประสิทธิภาพดีขึ้น  
แหล่งข้อมูล          World Poultry (17 Dec 2012)

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...