วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

โรคกระดูกอ่อนในสัตว์ปีกต่างแดน ณ คานาดา

โรคกระดูกอ่อนเป็นปัญหาทางโภชนาการที่ส่งผลต่อความผิดปรกติของกระดูก มีโอกาสพบได้บ่อยมากในสัตว์ปีกที่เลี้ยงหลังบ้าน และสัตว์ปีกชนิดอื่นๆ สัตว์ปีกทุกชนิด โดยเฉพาะ สัตว์ปีกที่เลี้ยงให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือใช้เศษอาหารตามบ้านเลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้าน

ปัญหาโรคกระดูกอ่อนในคานาดา
               ความผิดปรกติของกระดูกจากปัญหาโภชนาการในคานาดาพบได้บ่อยในสัตว์ปีกที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป ยิ่งพบได้บ่อยมากในนกสูงยาวเข่าดีอย่างนกกระจอกเทศ และอีมู เพราะอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว และดุดันเสียเหลือเกิน รวมถึงสูตรอาหารแบบเชน เชน  
               สูตรอาหารสำเร็จรูปที่มีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์มีความสมดุลของโปรตีน พลังงาน วิตามิน และเกลือแร่ เป็นอย่างดี โดยคำนวณให้เหมาะสมตามชนิดของสัตว์ อายุ ตามความต้องการพื้นฐานสำหรับสัตว์ขณะที่มีการเจริญเติบโต และพัฒนาการ สูตรอาหารแบบบ้านๆ มักให้สัตว์กินเมล็ดธัญพืชเต็มเมล็ด หรือเศษเมล็ดธัญพืช โดยทั่วไปแล้ว ความสมดุลทางโภชนาการก็มักบกพร่องไปบ้าง โดยเฉพาะ ปริมาณแคลเซียม และวิตามิน โดยเฉพาะ วิตามิน ดี ๓ หรือวิตามินเอ การเสียสมดุลของสัดส่วนแคลเซียม และฟอสฟอรัสในอาหารยังมีผลต่อการพัฒนาความผิดปรกติของกระดูก และระดับฟอสฟอรัสที่สูงในอาหารผิดปรกติ แม้ว่าจะมีระดับแคลเซียมเป็นปรกติก็ทำให้เกิดโรคกระดูกได้เช่นเดียวกัน

ลักษณะของโรค
               กระดูกของสัตว์อายุน้อยเจริญเติบโตรวดเร็วมาก สัตว์ปีกที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เช่น ไก่เนื้อ และไก่งวง ที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ นกกระจอกเทศ และนกอีมู จะมีความไวรับต่อการเกิดโรคเป็นพิเศษ แคลเซียม และฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และความแข็งแรงของกระดูก การดูดซึมแร่ธาตุเหล่านี้ และความสามารถในการรวมเข้าสู่กระดูกที่กำลังเจริญเติบโตขึ้นกับระดับของวิตามินดี ๓ ในร่างกายสัตว์
                 หากสารอาหารเหล่านี้ไม่เพียงพอในอาหารสัตว์ กระดูกก็จะไม่สามารถสะสมแร่ธาตุได้ตามความเหมาะสม และความแข็งแรงของกระดูกก็จะเกิดความบกพร่องได้ เมื่อสัตว์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น กระดูกก็จะนิ่มเหมือนยาง เนื่องจากการสะสมแร่ธาตุบกพร่อง ดัดให้โค้ง และบิดได้อย่างง่ายดาย รอยโรคนี้สร้างความเจ็บปวดทรมานมาก และสัตว์ก็มักขาพิการ ไม่อยากเดินไปไหน เมื่อสัตว์เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส และร่างกายบิดโค้งผิดปรกติก็จะไม่อยากเดินไปกินอาหาร และน้ำ น้ำหนักก็จะลดลง และตายลงในที่สุด
               เมื่อผ่าซากชันสูตร กระดูกก็จะบิด และโค้ง เนื่องจาก เกิดการสะสมแคลเซียมของกระดูกได้ไม่ดี กระดูกจึงงอได้เหมือนยาง หากใช้มีดปาดหัวกระดูกก็จะพบว่า พื้นที่สำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกที่เรียกว่า โกรธเพลต (Growth plate) จะกว้างกว่าปรกติ ที่ซี่โครงสังเกตเห็นเป็นเม็ดโปนขึ้นมาเป็นลูกประคำที่ตรงรอยต่ำระหว่างซี่โครง และกระดูกสันหลัง จงอยปากงอได้ง่าย ลองดูต่อมพาราไทรอยด์ที่ปรกติหาดูได้ยากก็จะสังเกตง่ายขึ้น เพราะขนาดที่โตกว่าปรกติ

การรักษา
               การรักษาคือ การแก้ไขสูตรอาหารให้เร็วที่สุดก่อนที่กระดูกที่ผิดปรกติจะรุนแรงจนกลับคืนไม่ได้ การเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ให้เหมาะสมตามอายุ และชนิดของสัตว์ปีก รวมถึง การเสริมแคลเซียม เช่น ใช้ไดแคลเซียม/ฟอสเฟต หรือเปลือกหอย โรยบนอาหาร และเติมวิตามินดี ๓ ในน้ำ จดจำไว้ว่า สัตว์ปีกสามารถใช้ได้เฉพาะวิตามินดี ๓ เท่านั้น ไม่ใช่รูปแบบอื่นๆสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  โดยทั่วไป หากสัตว์ปีกเกิดโรคกระดูกอ่อนจากการเลี้ยงด้วยอาหารบ้านๆ ดังนั้น ก็เชื่อได้ว่า สัตว์น่าจะมีปัญหาขาดวิตามิน และเกลือแร่ชนิดอื่นๆด้วยเช่นกัน การเสริมด้วยวิตามิน และแร่ธาตุจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพไก่มาก
               อาหารที่เหมาะสมต่อชนิด และอายุของสัตว์ปีกมีความสำคัญต่อการเลี้ยงสัตว์ให้มีสุขภาพที่ดี หลีกเลี่ยงการซื้อเศษเมล็ดธัญพืช หรือข้าวโพด การลงทุนโดยใช้อาหารสำเร็จรูป หรือสูตรอาหารที่มีการคำนวณอย่างเหมาะสมจะสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการเจริญเติบโต และสุขภาพสัตว์ที่ดีได้
เอกสารอ้างอิง
Hunter et al. B. 2017. Metabolic bone disease in growing poultry. [Internet]. [Cited 2017 Jul 20].
Available from: https://en.engormix.com/poultry-industry/articles/rickets-metabolic-bone-disease-t40357.htm

ภาพที่ ๑ กลุ่มไก่งวงรุ่นที่เกิดโรคกระดูกอ่อน ทุกตัวยังมีชีวิตดีอยู่ แต่ไม่ยอมยืน และเดิน เนื่องจาก ความเจ็บปวดร้าวรานที่กระดูก (Hunter et al., 2017)      















ภาพที่ ๒ กระดูกซี่โครงจากเป็ดอายุน้อยที่เกิดโรคกระดูกอ่อน สังเกตการงอ และบิดของกระดูกซี่โครง และบริเวณรอยต่อระหว่างกระดูกซี่โครง และกระดูกสันหลังขยายใหญ่ขึ้นผิดปรกติ เรียกรอยโรคนี้ว่า ริคเกตติก โรซารี (Ricketic rosary)”  

ออสซี่ปรับจัดหนักบริษัทใหญ่หลอกขายไข่ แม่ไก่ปล่อยอิสระ

บริษัทยักษ์ใหญ่ไข่ไก่ในออสเตรเลียถูกปรับด้วยราคาแพงหูฉี่กว่า ๑๙.๘ ล้านบาท และศาลมีคำสั่งให้จ่ายเงิน ๗.๙ ล้านบาทรวมแล้วก็เพียง ๒๗ ล้านบาทเท่านั้น แม่ไก่แค่หางกระดิก ภายหลังพบว่า บริษัทกระทำผิดโดยการโฆษณาให้เข้าใจผิดว่า ไข่ที่จำหน่ายมาจากการเลี้ยงปล่อยอิสระ
คณะกรรมด้านการแข่งขันทางการตลาดและคุ้มครองผู้บริโภค (Australian Competition and Consumer Commission (ACCC) ได้ฟ้องร้องบริษัท สโนว์เดล ในออสเตรเลียตะวันตก ภายหลังได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มสวัสดิภาพสัตว์เกี่ยวกับการฟาร์มสัตว์ปีกระหว่างเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๑๑ ถึง ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๓ จากการเลี้ยงไก่ไข่ในคาราบูดา และในสวอน วัลเลย์ เมืองเพิร์ธ เพื่อผลิตไข่พรีเมียมใช้ชื่อทางการค้าว่า ไข่จากครอบครัวเอลลาห์ (Eggs by Ellah) ที่เลี้ยงแม่ไก่ปล่อยอิสระอย่างมีความสุขสำราญในป่าห้าร้อยเอเคอร์ โดยชื่นชมภาพแม่ไก่กายสีน้ำตาลวิ่งเล่นอย่างมีความสุขบนทุ่งหญ้าเขียวขจี
      ศาลพบว่า ความจริงแล้วฟาร์มดังกล่าวกักกันแม่ไก่ไม่ให้ออกมาเที่ยววิ่งภายนอกเป็นประจำ นอกจากนั้น ความหนาแน่นในการเลี้ยงในโรงเรือนก็แออัดกันแน่น และจำนวนช่องมุดออกจากโรงเรือนก็มีไม่กี่ช่อง ศาลจึงสั่งห้ามไม่ให้บริษัทสโนว์เดลใช้คำว่า ปล่อยอิสระ ในสินค้าไข่ที่จำหน่าย จนกว่าแม่ไก่จะมีโอกาสออกมาเดินภายนอกได้อย่างสะดวกสบายตลอดเวลา  
     บริษัท สโนว์เดล เป็นผู้ค้ารายใหญ่ให้กับซูเปอร์มาร์เก๊ตรายสำคัญในออสเตรเลียได้แก่ โคลส์ และวูลเวิร์ธ ถึงเวลานี้ก็ตกที่นั่งลำบากต้องปฏิบัติตามกฏหมาย และเผยแพร่มาตรการแก้ไขปัญหา ค่าปรับขนาดนี้นับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ประเทศชาติออสเตรเลีย  คณะกรรมด้านการแข่งขันทางการตลาดและคุ้มครองผู้บริโภคมีความเห็นว่า บทลงโทษนี้สมควรต่อสิ่งที่บริษัท สโนว์เดล ได้กระทำลงไป และผู้ผลิตไข่ต้องให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงที่นำมาใช้ทางการตลาด ในเมื่อผู้บริโภคยอมจ่ายค่าไข่ราคาแพงจากการเลี้ยงแบบปล่อยอิสระแล้ว สิ่งสำคัญคือ ผู้บริโภคก็ควรได้รับไข่ไก่ที่เลี้ยงปล่อยอิสระร่าเริงแจ่มใสจิตใจดีงามด้วยเช่นกัน
       ภายใต้มาตรฐานการเลี้ยงไก่ปล่อยอิสระระดับชาติที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว ไก่ต้องมีโอกาสที่จะออกนอกโรงเรือนตลอดเวลา โดยมีความหนาแน่นไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ตัวต่อเฮคเตอร์เพื่อให้เป็นไปตามสถานภาพของไก่เลี้ยงปล่อยอิสระอย่างแท้จริง ไม่หลอกลวง เปรียบเทียบกับอังกฤษแล้วก็ยังถือว่าสูงกว่าถึง ๔ เท่า เพราะกฏหมายอังกฤษกำหนดไว้เพียง ๒,๕๐๐ ตัวต่อเฮคเตอร์เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง


ภาพที่ ๑ แม่ไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระสุขสำราญในป่าห้าร้อยเอเคอร์ ป่าอันแสนกว้างใหญ่เขียวขจี (แหล่งภาพ: Herbert Wiggerman) 
   

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การบริโภคไก่สหรัฐฯ สูงเป็นประวัติการณ์

ปริมาณการบริโภคไก่ปีนี้เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์โดย ๙ ใน ๑๐ คนซื้อเนื้อไก่ไปบริโภคเป็นประจำ
            กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐฯ อ้างว่า ชาวอเมริกันจะกินเนื้อไก่เกือบ ๔๑.๗ กิโลกรัมต่อคนทำสถิติสูงขึ้นจากปีที่แล้ว ๔๑.๓ กิโลกรัม ถึงกระนั้น ผู้บริโภคก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร ยาปฏิชีวนะ และการใช้ฮอร์โมน หรือสเตียรอยด์ สภาไก่แห่งชาติจึงสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคจากผู้ใหญ่มากกว่า ๑,๐๐๐ รายระหว่างต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ ๘๔ ของผู้ตอบแบบสอบถาม กินเนื้อไก่เป็นอาหาร หรืออาหารว่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำทุกสัปดาห์ ขณะที่ ร้อยละ ๖๗ บริโภคไก่เป็นอาหาร หรืออาหารว่างจากร้านอาหาร ผู้บริโภคร้อยละ ๒๑ รับประทานเนื้อไก่มากขึ้นจากการเข้าร้านอาหาร และร้อยละ ๑๓ เชื่อว่า พวกเข้าจะรัยประทานอาหารเนื้อไก่มากขึ้นจากร้านบริการอาหารในอีก ๑๒ เดือนข้างหน้า 
          ทอม ซูเปอร์ รองกรรมการผู้จัดการด้านการประชาสัมพันธ์ สภาไก่แห่งชาติ เชื่อว่า เนื้อไก่จะเป็นอาหารที่เป็นที่นิยมอย่างสุดๆต่อไป ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า เนื้อไก่ยังเป็นเมนูอาหารในใจลำดับหนึ่งของผู้บริโภค ผู้บริโภคชื่นชอบความสดของเนื้อสัตว์ รสชาติ และราคาเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการตัดสินใจเลือกซื้อเนื้อไก่ คนรุ่นใหม่กลับไปนิยมเนื้อไก่ที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก และรับประทานในร้าน โดยผู้บริโภค ๗ ใน ๑๐ คน มีความใส่ใจต่อความปลอดภัยอาหาร ขณะที่ร้อยละ ๕๗ ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับฮอร์โมน และสเตียรอยด์ และร้อยละ ๕๕ กังวลต่อการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ ขณะที่ ผู้บริโภคร้อยละ ๒๖ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะระยะเวลาที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินไป ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคสัดส่วน ๓ ใน ๔ รู้สึกเป็นกลาง หรือลบต่อสื่อมวลชนด้านอุตสาหกรรมสัตว์ปีก 

  เอกสารอ้างอิง


ภาพที่ ๑ เนื้อไก่ยังเป็นเมนูอาหารในใจลำดับหนึ่งของผู้บริโภค (แหล่งภาพ: Shutterstock)


วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คานาดาพบเชื้อซัลโมฯในนักเก๊ตไก่

บริษัทโลบลอว์เรียกคืนนักเก๊ตไก่แบรนด์เพรสซิเดนต์ชอยซ์ เนื่องจาก การตรวจพบเชื้อซัลโมเนลลาโดยหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยอาหารแห่งคานาดา
               บริษัท โลบลอว์ จำกัด เรียกคืนนักเก๊ตไก่สูตรพิเศษเพรสซิเดนต์ชอยซ์จากซูเปอร์มาร์เก๊ต เนื่องจาก การปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลา ตามประกาศของหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยอาหารแห่งคานาดา (Canadian Food Inspection Agency, CFIA) โดยเชื่อมโยงกับการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฏาคมที่ผ่านมา มีผู้ป่วยจากเชื้อ ซัลโมเนลลา ๑๒ รายใน ๔ จังหวัดระหว่างเดือนเมษายน ถึงมิถุนายน ๕ รายมีรายงานในอัลเบอร์ตา และอีก ๕ รายในออนตาริโอ อีกจังหวัดละ ๑ รายในบริทิช โคลัมเบีย และนิว บรันซ์วิค ในจำนวนนี้ ๒ รายต้องพักรักษาในโรงพยาบาล ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ๒ ใน ๓ รายเป็นผู้ชาย อายุเฉลี่ยของผู้ป่วย ๒๓ ปี ตัวอย่างนักเก๊ตไก่สูตรพิเศษเพรสซิเดนต์ชอยซ์น้ำหนัก ๘๐๐ กรัม ระบุวันหมดอายุเป็น ๑๕ มีนาคม ๒๐๑๘ เก็บตัวอย่างจากร้านค้าปลีก ให้ผลการทดสอบเป็นบวกต่อเชื้อ ซัลโมเนลลา เอนเทอไรทิดิส และมีลายพิมพ์ดีเอ็นเอสอดคล้องกับตัวอย่างจากผู้ป่วยที่มีรายงานการระบาด หน่วย CFIA กำลังร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการสร้างความมั่นใจว่า สินค้าเหล่านี้จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้า โดยการสอบสวนยังคงดำเนินการต่อไป และเชื่อว่าน่าจะพบความเชื่อมโยงสินค้ากับการระบาดของโรคเพิ่มขึ้น โดยสาธารณสุขจะแจ้งข้อมูลล่าสุดให้ทราบตามลำดับ   

เอกสารอ้างอิง


ภาพที่ ๑ สินค้านักเก๊ตไก่แบรนด์เพรสซิเดนต์ชอยซ์เป็นชิ้นเนื้อชุบแป้ง สังเกตเครื่องหมายเพรสซิเดนต์ชอยซ์เป็นตราสัญลักษณ์ของ บริษัท โลบลอว์ จำกัด เพื่อรับรองสินค้าพรีเมียมในร้านค้าขายของชำ และผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน รวมถึง บริการางการเงิน และโทรศัพท์มือถือ โดยให้การรับรองสินค้าขายปลีกจากบริษัทต่างๆมากมาย  


วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

วัคซีน และความปลอดภัยชีวภาพที่ดีช่วยทดแทนยาปฏิชีวนะ

การใช้วัคซีนที่เพิ่มขึ้น และยกระดับมาตรฐานสุขอนามัย และระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ๒ ประการของผู้ผลิตสุกร โค และสัตว์ปีก เพื่อชดเชยการใช้ยาปฏิชีวนะ
               กุญแจสำคัญของการศึกษาใหม่นี้เติมเต็มสุขภาพสัตว์ และโภชนาการ แม้ว่าจะมีความหลากหลายตามกลุ่มชนิดของสัตว์ แผนการให้วัคซีน และการยกระดับสุขอนามัยเป็นยุทธศาสตร์ ๒ ประการที่สำคัญที่สุดสำหรับกลุ่มผู้ผลิตปศุสัตว์ในสหรัฐฯมากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ นอกเหนือจากยุทธศาสตร์อื่นๆ ได้แก่ การลดการสัมผัสกับสัตว์ตามธรรมชาติ การเปลี่ยนวัตถุเติมอาหารสัตว์ การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การเลี้ยยง การใช้สารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม การเปลี่ยนปแลงที่สำคัญที่สุดในวัตถุเติมอาหารสัตว์คือ การใช้เชื้อจุลชีพใส่ลงในอาหารสัตว์โดยตรงเรียกว่า โปรไบโอติก ส่วนวัตถุเติมอาหารสัตว์ชนิดอื่นๆที่นิยมใช้น้อยกว่า ได้แก่ เอนไซม์ พรีไบโอติก โอลิโกแซคคาไรด์ กรดอินทรีย์ และไฟโตเจนิกส์ ผู้ผลิตสัตว์ปีกมากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ บ่งชี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุเติมอาหารสัตว์มากกว่าหนึ่งชนิดเพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ

ความวิตกกังวลต่อการเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะ
               ผู้ผลิตมากกว่าครึ่งในสหรัฐฯ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตของตัวเองแล้ว โดยเฉพาะผู้ผลิตภาคสัตว์ปีก แต่มีเพียง ๓๘ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เชื่อว่า พวกเขาจะยังสามารถรักษาผลผลิต และกำไรไว้ได้โดยปราศจากยาปฏิชีวะ แสดงให้เห็นถึง ความวิตกกังวลอย่างกว้างขวางของผู้ผลิตต่อการเลิกการใช้ยาปฏิชีวระ  
                 
ตารางที่ ๑ การเปลี่ยนแปลงการจัดการที่มีความสำคัญเรียงตามละดับ
กลยุทธ์
สัดส่วน
แผนการใช้วัคซีน
๗๔ เปอร์เซ็นต์
ความปลอดภัยทางชีวภาพ
๗๐ เปอร์เซ็นต์
การควบคุมสัตว์พาหะ
๕๓ เปอร์เซ็นต์
ความหนาแน่นการเลี้ยงสัตว์
๔๙ เปอร์เซ็นต์
สารเสริมภูมิคุ้มกัน
๓๘ เปอร์เซ็นต์
พันธุกรรม
๓๔ เปอร์เซ็นต์


เอกสารอ้างอิง


ภาพที่ ๑ ความวิตกกังวลต่อผลกระทบของการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ โดยผู้ผลิตในสหรัฐฯเพียง ๓๘ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เชื่อว่า พวกเขาจะยังสามารถรักษาผลผลิต และกำไรไว้ได้โดยปราศจากยาปฏิชีวะ (แหล่งภาพ: Shutterstock)

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...