วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

โรคกระดูกอ่อนในสัตว์ปีกต่างแดน ณ คานาดา

โรคกระดูกอ่อนเป็นปัญหาทางโภชนาการที่ส่งผลต่อความผิดปรกติของกระดูก มีโอกาสพบได้บ่อยมากในสัตว์ปีกที่เลี้ยงหลังบ้าน และสัตว์ปีกชนิดอื่นๆ สัตว์ปีกทุกชนิด โดยเฉพาะ สัตว์ปีกที่เลี้ยงให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือใช้เศษอาหารตามบ้านเลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้าน

ปัญหาโรคกระดูกอ่อนในคานาดา
               ความผิดปรกติของกระดูกจากปัญหาโภชนาการในคานาดาพบได้บ่อยในสัตว์ปีกที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป ยิ่งพบได้บ่อยมากในนกสูงยาวเข่าดีอย่างนกกระจอกเทศ และอีมู เพราะอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว และดุดันเสียเหลือเกิน รวมถึงสูตรอาหารแบบเชน เชน  
               สูตรอาหารสำเร็จรูปที่มีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์มีความสมดุลของโปรตีน พลังงาน วิตามิน และเกลือแร่ เป็นอย่างดี โดยคำนวณให้เหมาะสมตามชนิดของสัตว์ อายุ ตามความต้องการพื้นฐานสำหรับสัตว์ขณะที่มีการเจริญเติบโต และพัฒนาการ สูตรอาหารแบบบ้านๆ มักให้สัตว์กินเมล็ดธัญพืชเต็มเมล็ด หรือเศษเมล็ดธัญพืช โดยทั่วไปแล้ว ความสมดุลทางโภชนาการก็มักบกพร่องไปบ้าง โดยเฉพาะ ปริมาณแคลเซียม และวิตามิน โดยเฉพาะ วิตามิน ดี ๓ หรือวิตามินเอ การเสียสมดุลของสัดส่วนแคลเซียม และฟอสฟอรัสในอาหารยังมีผลต่อการพัฒนาความผิดปรกติของกระดูก และระดับฟอสฟอรัสที่สูงในอาหารผิดปรกติ แม้ว่าจะมีระดับแคลเซียมเป็นปรกติก็ทำให้เกิดโรคกระดูกได้เช่นเดียวกัน

ลักษณะของโรค
               กระดูกของสัตว์อายุน้อยเจริญเติบโตรวดเร็วมาก สัตว์ปีกที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เช่น ไก่เนื้อ และไก่งวง ที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ นกกระจอกเทศ และนกอีมู จะมีความไวรับต่อการเกิดโรคเป็นพิเศษ แคลเซียม และฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และความแข็งแรงของกระดูก การดูดซึมแร่ธาตุเหล่านี้ และความสามารถในการรวมเข้าสู่กระดูกที่กำลังเจริญเติบโตขึ้นกับระดับของวิตามินดี ๓ ในร่างกายสัตว์
                 หากสารอาหารเหล่านี้ไม่เพียงพอในอาหารสัตว์ กระดูกก็จะไม่สามารถสะสมแร่ธาตุได้ตามความเหมาะสม และความแข็งแรงของกระดูกก็จะเกิดความบกพร่องได้ เมื่อสัตว์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น กระดูกก็จะนิ่มเหมือนยาง เนื่องจากการสะสมแร่ธาตุบกพร่อง ดัดให้โค้ง และบิดได้อย่างง่ายดาย รอยโรคนี้สร้างความเจ็บปวดทรมานมาก และสัตว์ก็มักขาพิการ ไม่อยากเดินไปไหน เมื่อสัตว์เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส และร่างกายบิดโค้งผิดปรกติก็จะไม่อยากเดินไปกินอาหาร และน้ำ น้ำหนักก็จะลดลง และตายลงในที่สุด
               เมื่อผ่าซากชันสูตร กระดูกก็จะบิด และโค้ง เนื่องจาก เกิดการสะสมแคลเซียมของกระดูกได้ไม่ดี กระดูกจึงงอได้เหมือนยาง หากใช้มีดปาดหัวกระดูกก็จะพบว่า พื้นที่สำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกที่เรียกว่า โกรธเพลต (Growth plate) จะกว้างกว่าปรกติ ที่ซี่โครงสังเกตเห็นเป็นเม็ดโปนขึ้นมาเป็นลูกประคำที่ตรงรอยต่ำระหว่างซี่โครง และกระดูกสันหลัง จงอยปากงอได้ง่าย ลองดูต่อมพาราไทรอยด์ที่ปรกติหาดูได้ยากก็จะสังเกตง่ายขึ้น เพราะขนาดที่โตกว่าปรกติ

การรักษา
               การรักษาคือ การแก้ไขสูตรอาหารให้เร็วที่สุดก่อนที่กระดูกที่ผิดปรกติจะรุนแรงจนกลับคืนไม่ได้ การเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ให้เหมาะสมตามอายุ และชนิดของสัตว์ปีก รวมถึง การเสริมแคลเซียม เช่น ใช้ไดแคลเซียม/ฟอสเฟต หรือเปลือกหอย โรยบนอาหาร และเติมวิตามินดี ๓ ในน้ำ จดจำไว้ว่า สัตว์ปีกสามารถใช้ได้เฉพาะวิตามินดี ๓ เท่านั้น ไม่ใช่รูปแบบอื่นๆสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  โดยทั่วไป หากสัตว์ปีกเกิดโรคกระดูกอ่อนจากการเลี้ยงด้วยอาหารบ้านๆ ดังนั้น ก็เชื่อได้ว่า สัตว์น่าจะมีปัญหาขาดวิตามิน และเกลือแร่ชนิดอื่นๆด้วยเช่นกัน การเสริมด้วยวิตามิน และแร่ธาตุจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพไก่มาก
               อาหารที่เหมาะสมต่อชนิด และอายุของสัตว์ปีกมีความสำคัญต่อการเลี้ยงสัตว์ให้มีสุขภาพที่ดี หลีกเลี่ยงการซื้อเศษเมล็ดธัญพืช หรือข้าวโพด การลงทุนโดยใช้อาหารสำเร็จรูป หรือสูตรอาหารที่มีการคำนวณอย่างเหมาะสมจะสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการเจริญเติบโต และสุขภาพสัตว์ที่ดีได้
เอกสารอ้างอิง
Hunter et al. B. 2017. Metabolic bone disease in growing poultry. [Internet]. [Cited 2017 Jul 20].
Available from: https://en.engormix.com/poultry-industry/articles/rickets-metabolic-bone-disease-t40357.htm

ภาพที่ ๑ กลุ่มไก่งวงรุ่นที่เกิดโรคกระดูกอ่อน ทุกตัวยังมีชีวิตดีอยู่ แต่ไม่ยอมยืน และเดิน เนื่องจาก ความเจ็บปวดร้าวรานที่กระดูก (Hunter et al., 2017)      















ภาพที่ ๒ กระดูกซี่โครงจากเป็ดอายุน้อยที่เกิดโรคกระดูกอ่อน สังเกตการงอ และบิดของกระดูกซี่โครง และบริเวณรอยต่อระหว่างกระดูกซี่โครง และกระดูกสันหลังขยายใหญ่ขึ้นผิดปรกติ เรียกรอยโรคนี้ว่า ริคเกตติก โรซารี (Ricketic rosary)”  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แมคโดนัลด์ทยอยเปิดร้านใหม่ในยูเครน

  นับตั้งแต่เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นต้นไป แมคโดนัลด์เริ่มเปลี่ยนไปใช้ไก่จากบริษัทเอ็มเอชพีสำหรับร้านจำหน่ายสินค้าในยูเครน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป...