วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560

คานาดาวิจัยโปรไบโอติกทดแทนยาปฏิชีวนะ

งานวิจัย และนวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญสำหรับค้นหาทางเลือกทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ และยาต้านเชื้อจุลชีพ นักวิจัยที่วิทยาลัยสัตวแพทย์ออนตาริโอ มหาวิทยาลัยกวัฟล์ กำลังศึกษาการใช้โปรไบโอติกเป็นทางเลือกทดแทนการใช้ยาต้านเชื้อจุลชีพ เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคทั้ง ซัลโมเนลลา แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน และคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์
               ห้องปฏิบัติการของ ดร. Shayan Sharif วิทยาลัยสัตวแพทย์ออนตาริโอ มหาวิทยาลัยกวัฟล์ กำลังมุ่งมั่นพัฒนาสูตรโปรไบโอติกเพื่อต่อสู้กับเชื้อซัลโมเนลลา ขณะนี้ นักวิจัยได้ใช้ส่วนผสมของเชื้อแลคโตบาซิลลัส หรือเชื้อแบคทีเรียที่ผลิตกรดแลกติกหลายชนิด พบว่า สามารถลดการสร้างนิคม หรือความเสียหายจากเชื้อซัลโมเนลลาได้อย่างมีนัยสำคัญ และตอนนี้กำลังหันมาสนใจเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน เชื้อแบคทีเรียสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาลำไส้อักเสบในมนุษย์ เนื่องจาก โรคอาหารเป็นพิษ ตามรายงานของสาธารณสุขแห่งคานาดา
สิ่งคุกคามสุขภาพมนุษย์
               ไก่เป็นพาหะสำคัญของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ในลำไส้ โดยไม่แสดงอาการทางคลินิก เชื้อแอบแฝงอยู่ภายในร่างกายของไก่ไปได้ตลอดชีวิต นั่นหมายความว่า ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องใส่ใจต่อเชื้อชนิดนี้ เพราะเชื้อไม่ได้สร้างความเสียหายต่อสุขภาพไก่แต่อย่างใด แต่ข้อวิตกกังวลคือ ผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ต่างหาก เนื่องจาก เชื้อแบคทีเรียสามารถถ่ายทอดสู่มนุษย์ผ่านเนื้อไก่ที่ปรุงไม่สุก มาตรการควบคุมที่พยายามวิจัยกันมาทั้งการใช้วัคซีน ความเข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสิ้นคิด ไม่สามารถทำอะไรเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นทั้งเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน และซัลโมเนลลา ยังเก็บ และถ่ายทอดยีนดื้อยาต้านเชื้อจุลชีพได้อีกด้วย
               กลุ่มนักวิจัยได้วางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบเริ่มตั้งแต่การจำแนกเชื้อ และการทดสอบเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ไก่ที่สุขภาพดี โดยมีความสามารถต่อต้านเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถส่งเสริมการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในไก่ได้อีกด้วย เป้าหมายคือ การใช้แบคทีเรียเหล่านี้ หรือร่วมกับการให้วัคซีนเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ ห้องปฏิบัติการแห่งนี้ยังคิดถึงการฉีดโปรไบโอติกผ่านไข่ฟักตั้งแต่ตัวอ่อนที่อายุ ๑๘ วัน ผลการวิจัยนำร่องพบว่า ตัวอ่อนลูกไก่กินโปรไบโอติก และเชื้อสามารถสร้างนิคมในร่างกายของไก่ได้
ลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย
                  เป้าหมายถัดไปของนักวิจัยคือ เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ที่ทำให้เกิดปัญหาลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย โดยเฉพาะการอักเสบของลำไส้ในสัตว์ปีก ตามปรกติการเกิดลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตายมักมีเชื้อจุลชีพชนิดอื่นๆร่วมด้วยนั่นคือ บิด เชื้อทั้งสองชนิดจูงมือกันก่อโรคในสัตว์ เชื้อบิดสามารถควบคุมได้โดยใช้ยากันบิด แต่หากเกิดความผิดพลาดใดๆก็จะพัฒนาโรคกลายเป็นโรคบิด และลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย ทั้งสองโรคเหนี่ยวนำให้ผลผลิตลดลง และอัตราการตายเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน หลายแห่งอาจใช้วัคซีนควบคุมบิดได้ดี แต่ลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตายไม่มีวัคซีนใช้
               โปรไบโอติกเป็นทางเลือกทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับการลดความเสียหายจากเชื้อก่อโรคเหล่านี้ในสัตว์ปีก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาดื้อยา และยังเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์อีกด้วย คณะผู้วิจัยยังศึกษาต่อไปถึงผลการใช้โปรไบโอติกต่อสุขภาพสัตว์ ภูมิคุ้มกัน สวัสดิภาพสัตว์ และผลผลิต รวมถึง ความคุ้มทุนในทางเศรษฐกิจ งานวิจัยโปรไบโอติกที่แสนธรรมดามีเกลื่อนทั่วไปในตลาดคงไม่ธรรมดาแล้ว หากได้รับทุนวิจัยจากกระทรวงเกษตร อาหาร และชีบน สภาวิจัยสัตว์ปีกคานาดา สภาอุตสาหกรรมสัตว์ปีก และสภาวิจัยด้านวิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติของคานาดา 

เอกสารอ้างอิง
Montel K. 2017. Probiotics may offer alternative approach to antimicrobials. [Internet]. [Cited 2017 Aug 7]. Available from: http://www.poultryworld.net/Nutrition/Articles/2017/8/Probiotics-may-offer-alternative-approach-to-antimicrobials-168123E/  

ภาพที่ ๑ ดร. Shayan Sharif และหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยที่ห้องปฏิบัติการวิทยาลัยสัตวแพทย์ออนตาริโอ มหาวิทยาลัยกวัฟล์ กำลังพัฒนาสูตรโปรไบโอติก (แหล่งภาพ: University of Guelph)  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...