การระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิด A สับไทป์ H7N9 ในเมืองจีนจำเป็นต้องวางมาตรการป้องกันโรคทางชีวภาพอย่างเข้มงวด ไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่ชนิดอื่นๆรวมถึง ไข้หวัดนกสับไทป์ H5N1 ไวรัสชนิดนี้ตรวจสอบได้ยากในสัตว์ปีก เนื่องจาก ไม่ก่อให้เกิดอาการในสัตว์เลย
โรคไข้หวัดนกชนิดใหม่นี้ไม่เหมือนกับสับไทป์ H5N1 ที่ไก่ตายจำนวนมาก จึงไม่สามารถปักธงแดงส่งสัญญาณเตือนภัยไว้ได้ หมายความว่า เกษตรกรก็จะไม่ได้ระมัดระวังการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในฟาร์ม มาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ และสุขศาสตร์เท่านั้นที่สามารถช่วยคุ้มครองมนุษย์จากเชื้อไวรัสที่วานเวียนอยู่ในฟาร์มที่สัตว์ดูเหมือนจะยังมีสุขภาพปรกติ
องค์การอาหารแนะนำให้จีนเปิดเผยผู้ป่วย และรายละเอียดข้อมูลให้รวดเร็ว เพื่อให้ทราบถึงธรรมชาติของเชื้อไวรัส และมาตรการระวังโรค องค์การอาหาร และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระหว่างชาติจะได้นำมาวิเคราะห์ลำดับของเชื้อไวรัส เพื่อหวังว่าจะเข้าใจพฤติกรรม และความเสี่ยงของเชื้อไวรัสต่อมนุษย์ และสัตว์ต่อไป เนื่องจาก เชื้อไวรัสตรวจสอบได้ยาก ดังนั้น มาตรการป้องกันโรคที่ดีจึงมีความจำเป็นต่อการลดความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะถ่ายทอดจากมนุษย์ และสัตว์ ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ และสุขอนามัยที่ดีจากเกษตรกร ผู้ผลิตปศุสัตว์ การขนส่ง คนงานในตลาด และผู้บริโภภคเป็นหนทางแรกที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการคุ้มครองห่วงโซ่อาหาร
ขณะที่ นักวิจัยกำลังประเมินเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้ FAO ก็ยังแนะนำมาตรฐานการระมัดระวังโรค ดังต่อไปนี้
๑. เลี้ยงสัตว์ปีก และปศุสัตว์ทุกชนิดแยกจากพื้นที่อาศัยของมนุษย์ การสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับสัตว์ที่ติดเชื้อทำให้มนุษย์มีความเสี่ยง เนื่องจาก เชื้อไวรัส H7N9 แทบไม่ทำให้สัตว์ปีกแสดงอาการ ดังนั้น การแยกพื้นที่อาศัยของสัตว์ และมนุษย์เป็นกุญแจสำคัญ
๒. ป้องกันสัตว์ปีกป่าให้ห่างไกลจากสัตว์ปีก และสัตว์ชนิดอื่นๆ เลี้ยงสัตว์ปีกต่างชนิด และสัตว์ต่างชนิดกันแยกจากกัน ม่าน รั้ว หรือตาข่ายสามารถใช้แยกสัตว์ชนิดต่างๆจากกัน และช่วยป้องกันการแพร่กระจายโรค
๓. ให้รายงานสัตว์ป่วย หรือตายไปยังเจ้าพนักงานสัตวแพทย์ท้องถิ่น หรือสาธารณสุข หากไม่สามารถกระทำได้ ให้บอกเพื่อนบ้าน หรือผู้นำหมู่บ้าน สิ่งสำคัญคือ อาการป่วยทั้งหมด การตายอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ สัตว์ในฟาร์ม นกป่า หรือสัตว์ชนิดอื่นๆถูกรายงานไปยังเจ้าพนักงาน เพื่อให้วางมาตรการที่ปลอดภัย และช่วยหยุดยั้งการระบาดของโรค
๔. ล้างมือบ่อยๆเพื่อฆ่า และกำจัดไวรัส โดยเฉพาะภายหลังการจับสัตว์ปีก หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ รวมถึง การประกอบอาหาร หรือเตรียมอาหารจากเนื้อสัตว์ และก่อนการกินอาหาร
๕. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก
๖. ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ป่วย หรือตาย และไม่จำหน่ายไปยังผู้อื่น รวมถึง ไม่นำมาเป็นอาหารสัตว์อื่นๆด้วย
๗. หากแสดงอาการไข้ภายหลังสัมผัสกับสัตว์ปีก สัตว์เลี้ยง นกป่า หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ ให้รีบพบแพทย์
๘. หากยืนยันแล้วว่า สัตว์ป่วย เป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ ควรทำลายอย่างเหมาะสม และอย่างมีมนุษยธรรม รวมถึงมีการชดเชยอย่างเหมาะสมด้วย
FAO เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดผ่านเครือข่ยของประเทศ และเจ้าหน้าที่ภูมิภาค และองค์กรสำคัญ รวมถึง WHO และ OIE โดยศูนย์อ้างอิง FAO และ OIE รวมถึง สถาบันวิจัยทางสัตวแพทย์ฮาร์บิน เป็นผู้นำในการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้ FAO และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระหว่างชาติ กำลังร่วมกันวิเคราะห์วิธีการวินิจฉัยโรคที่เหมาะสมสำหรับการตรวจสอบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่นี้ให้ดีขึ้นต่อไป
แหล่งข้อมูล World Poultry (8/4/13)