วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

OMG!!! หลอดลมอักเสบระบาดในอัลจีเรีย

ประเทศอัลจีเรียพบโรคหลอดลมอักเสบติดต่อครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 แล้วไม่พบอีกเลยจนกระทั่งครั้งล่าสุด สร้างความเสียหายให้ฟาร์มไก่ไข่สามแห่งไก่ตายไปกว่า 15,000 ตัว
       กรมปศุสัตว์อัลจีเรียรายงานต่อ OIE เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ตรวจพบเชื้อไวรัสใน 3 ฟาร์มทางตอนเหนือ และกลางของประเทศ เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ฟาร์มไก่ไข่แสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ และอัตราการตายสูงขึ้น เกษตรกรจึงส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการกลางทางสัตวแพทย์แห่งประเทศอัลจีเรีย และพบว่า ผลเป็นบวกต่อโรค AIB (Avian infectious bronchitis) อ้างตามข้อมูลจาก OIE นับว่า เป็นครั้งแรกที่เกิดโรค AIB ระบาดในอัลจีเรียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา
        ฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พบว่า แม่ไก่ตายไป 3,059 ตัวจากโรค AIB ที่เหลือ 2,341 ตัวจึงตัดสินใจทำลาย อีกสองฟาร์มมีแม่ไก่ตาย 1,300 และ 2,378 ตัว ที่เหลืออีก 3,500 และ 2,422 ตัวถูกทำลาย พร้อมไปกับมาตรการฆ่าเชื้อบริเวณฟาร์มทั้งสามแห่งตามสูตรสำเร็จลอกต่อกันมา จากนั้นก็แสวงหาแหล่งต้นตอของโรค เมื่อแจ้งปัญหาเรียบร้อยแล้ว OIE ก็ช่วยส่งเสริมให้ส่งรายงานประจำสัปดาห์อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ของโรคภายในประเทศจะถูกแก้ไขเรียบร้อยแล้ว     

แหล่งข้อมูล        Andrea Gantz August 12, 2016 By Roy Graber


วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สวดยวด...พลังไข่แดงผงต้านบิดในไก่

ผลงานวิจัยชิ้นนี้สามารถต่อยอดไอเดีย ดร. ไข่ผง อาทิตย์ อุไรรัตน์ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไข่ไก่ให้ติดตลาดโลกได้อีก ไข่แดงยิ่งเจ๋งสุดเป็นสินค้าส่งออกขายในประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่แม่บ้านนิยมซื้อไข่แดงผงไว้ติดครัว สำหรับผสมในการทำมายองเนสราดบนหน้าสลัดจานโปรด แต่งานวิจัยครั้งนี้ต่อยอดให้แหล่มต่อไปอีก ด้วยการแถมแอนติบอดีในไข่แดงที่เรียกว่า IgY เพื่อยับยั้งโรคบิดในไก่ ยอกย้อนเล็กน้อย แทนที่จะไปยับยั้งบิดโดยตรงเหมือนใครๆเค้าทำ แต่ไปกดไซโตไคน์ตัวเก่งที่ชื่อว่า อินเตอร์ลิวคิน 10 (IL-10)
การให้กินแอนติบอดีต่อ IL-10 ช่วยลดผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของไก่จากการติดเเชื้อบิดในไก่เนื้อ เชื้อบิดชนิด ไอเมอเรีย จำเป็นต้องมีการควบคุมในการเลี้ยงไก่ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคบิด นักวิจัยสมองเพชรช่างคิดให้ไก่กินแอนติบอดีต่อ IL-10 เพื่อป้องกันไม่ให้ไก่โตช้าเพราะติดเชื้อบิด แอนติบอดีจากไข่แดงต่อเปปไทด์ของ IL-10 ผลิตในแม่ไก่ไข่ แล้วตรวจวัดด้วย ELISA ในการทดลองแรก ไข่แดงผงที่ประกอบด้วย แอนติบอดีต่อ IL-10 ผสมในอาหารสัดส่วน 3.4 กรัมต่อกิโลกรัม แล้วประเมินอัตราการเจริญเติบโตภายหลังการป้อนเชื้อพิษทับของคอกเทลบิดหลายชนิดผสมกัน ลูกไก่ที่กินแอนติบอดีต่อ IL-10 หรือแอนติบอดีควบคุม แล้วป้อนเชื้อพิษทับจากนั้นอีก 3 วันด้วยน้ำเกลือปลอดเชื้อ หรือเชื้อบิดจากวัคซีนขนาดสิบเท่า พบว่า ไก่ที่ให้อาหารปรกติ แล้วป้อนเชื้อบิด มีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่าไก่ที่ให้น้ำเกลือ 8.8 เปอร์เศ็นต์ ขณะที่ ไก่ที่ให้อาหารผสมไข่แดง แล้วป้อนเชื้อบิด มีอัตราการเจริญเติบโตไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม
ในการทดลองครั้งที่สอง ใช้ไข่แดงผงในนขนาด 0.34 หรือ 3.4 กรัมต่อกิโลกรัมอาหารสัตว์ พบว่า กลุ่มควบคุมให้อาหารปรกติที่ให้เชื้อบิดมีการเจริญเติบโตช้ากว่าไก่ควบคุมที่ให้น้ำเกลือแล้วให้เชื้อบิดประมาณ 10.6 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ไก่ที่ให้อาหาร ไก่ที่ให้อาหารผสมไข่แดง แล้วป้อนเชื้อบิด มีอัตราการเจริญเติบโตไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมที่ให้น้ำเกลือแล้วป้อนเชื้อบิด
สุดท้าย ผลของผงไข่แดงที่มีแอนติบอดีต่อ IL-10 ต่อภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาภายหลัง พบว่า ไก่กลุ่มควบคุมที่ให้อาหารปรกติ หรือผสมผงไข่แดงที่มีแอนติบอดีต่อ IL-10 แล้วให้วัคซีนบิดขนาดหนึ่งเท่าที่อายุ 3วัน ภายหลังจากนั้นเป็นเวลา 14 วัน จึงงดให้ผงไข่แดงในอาหาร แล้วป้อนเชื้อบิดขนาดสิบเท่าถือเป็นการป้อนเชื้อพิษทับเพื่อให้ก่อโรคที่อายุ 17 วัน พบว่า  ไก่ที่ให้อาหารผสมไข่แดงไม่พบปัญหาการเจริญเติบโตลดลงหลังป้อนเชื้อบิด ดังนั้น ผงไข่แดงที่มีแอนติบอดีต่อ IL-10 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะระหว่างการกระตุ้นภูมิคุ้มกันครั้งแรกจากการให้วัคซีนหนึ่งเท่า
โดยภาพรวมของผลการทดลอง การให้แอนติบอดีต่อ IL-10 เป็นวิธีใหม่ในการป้องกันผลผลกระทบจากการติดเชื้อบิดในสัตว์ปีกได้ สำหรับ IL-10 นั้น เป็นไซโตไคน์ชนิด Anti-inflammatory cytokine มีบทบาททำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และการอักเสบ โดยกดการทำงานของไซโตไคน์จากเซลล์ Th1, MHC class II antigen และ co-stimulatory molecules บนมาโครฝาจ นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการรอดชีวิตของ B cells รวมถึง การเพิ่มจำนวน และการสร้างแอนติบอดี

เอกสารอ้างอิง

Sand et al. 2016. Oral antibody to interleukin-10 reduces growth rate depression due to Eimeria spp. infection in broiler chickens Poultry Science Volume 95, Issue 2Pp. 439-446.

























แหล่งภาพ

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สบายๆ...ตรวจหวัดนกจากไข่แดง

การทดสอบทางซีโรโลยีเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์สำหรับการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก และการตรวจติดตามการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันภายหลังการให้วัคซีน แต่การเก็บตัวอย่างซีรัม โดยเฉพาะ ไก่พันธุ์ นับเป็นภาระหนักสำหรับเจ้าพนักงานรัฐเสียเหลือเกิน อย่างน้อยเจ้าของฟาร์มก็ไม่ใคร่อยากจะให้ใครเข้ามาในฟาร์มสักเท่าไร เพราะเกรงว่า แทนที่จะสำรวจโรคให้เป็นประโยชน์ กลับจะกลายเป็นผู้นำโรคหลังจากก้าวออกจากฟาร์ม ถึงกระนั้น น้องไก่ก็คงไม่ค่อยอยากให้ใครมาเจาะเลือดฉันสักเท่าไร เจ็บสิครับ ถ้าเป็นแม่ไก่ไข่ลดด้วยนะ นักวิจัยใฝ่รู้จึงชี้ทางออกให้เจ้าพนักงานรัฐได้คิดใหม่ใช้ไข่แดงได้ หายเหนื่อยแล้วสิครับ อยากทราบว่า ฟาร์มไหนแอบทำวัคซีนหวัดนก หรือเจอแล้วสินะก็ไม่ต้องกังวลเจาะเลือดละ ไปโรงฟักแทน  
               ผลการศึกษาเปรียบเทียบแอนติบอดีที่จำเพาะต่อไข้หวัดนกในไข่ และซีรัม ที่เก็บจากฟาร์มไก่พันธุ์ที่ให้วัคซีนไข้หวัดนกเชื้อตายสับไทป์ H5N2 ที่อายุ ๖, ๑๒ และ ๑๘ สัปดาห์ แล้วใช้ ELISA สำเร็จรูปที่จำเพาะต่อโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด และตรวจ HI ต่อเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน และต่างชนิดกัน ไข่ และซีรัมถูกเก็บที่อายุ ๒๒, ๓๐, ๔๕ และ ๕๐ สัปดาห์ (ภายหลังการให้วัคซีน ๔, ๑๒, ๒๗ และ ๓๒ สัปดาห์) โดยการใช้ ELISA จำนวนของตัวอย่างไข่แดงที่ให้ผลเป็นบวกลดลงตามเวลาภายหลังให้วัคซีนจาก ๙๗ เป็น ๔๗ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราการให้ผลบวกจากตัวอย่างซีรัมระหว่าง ๙๗ ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ตลอดการศึกษา สำหรับกการทดสอบด้วยวิธี HI พบว่า ไตเตอร์ในตัวอย่างซีรัมสูงกว่าไข่แดง เมื่อเปรียบเทียบด้วยแอนติเจนของเชื้อไวรัส H5N2 ชนิดเดียวกับวัคซีนพบว่า ระดับไตเตอร์ HI ต่ำกว่าการใช้เชื้อไวรัส H5N1 เคลด 2.2.1.2 ที่เป็นคนละชนิดกับวัคซีน แต่ไม่พบไตเตอร์ในไข่แดง และ/หรือซีรัมจากการใช้แอนติจเจน Egyptian H5N1 antigenic drifet variant เคลด 2.2.1.1 การศึกษานี้ บ่งชี้ว่า ไข่แดงอาจใช้สำหรับการตรวจสอบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหลังให้วัคซีนของไก่พันธุ์ และการสำรวจโรคย้อนหลัง โดย HI ใช้แอนติเจนชนิดเดียวกับวัคซีน และ ELISA โดยเฉพาะช่วงเวลาไม่เกิน ๑๒ สัปดาห์หลังการให้วัคซีน
แหล่งข้อมูล

E. M. Abdelwhab, Christian Grund, Mona M. Aly, Martin Beer, Timm C. Harder, and Hafez M. Hafez (2016) Benefits and Limits of Egg Yolk vs. Serum Samples for Avian Influenza Virus Serosurveillance. Avian Diseases: June 2016, Vol. 60, No. 2, pp. 496-499.
















วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เคล็ดลับควบคุมซัลโมฯ/แคมไพฯในโรงงานสหรัฐฯ

ผลงานวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ในวารสาร Poultry Science สำรวจมาตรการควบคุมเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ และซัลโมเนลลาในโรงงานแปรรูปการผลิตในสหรัฐฯหลังจากการสำรวจแล้วนำข้อมูลวิเคราะห์เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลด้านอัตราความชุกของเชื้อทั้งสองชนิดว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงมาตรการควบคุม และประเมินผลการพัฒนาการควบคุมเชื้อโรค ผลการสำรวจส่งให้กับผู้จัดการประกันคุณภาพของโรงงานเพื่อหาระดับการผลิต นวัตกรรมการควบคุมเชื้อโรค และวิธีการทดสอบในที่ใช้ในปัจจุบัน
               ผลการเก็บตัวอย่างเบื้องต้นจากโรงงาน 6 แห่งที่มีปริมาณการผลิตใกล้เคียงกัน ตั้งแต่การเก็บตัวอย่างซากก่อนการล้วงเครื่องใน ภายหลังจากการเข้าเครื่องล้างภายใน และภายนอกซาก (IOBW) ภายหลังออกจากขั้นตอน Pre-chiller และเข้าเครื่อง Chiller และภายหลังออกจาก Chiller การทดสอบจำนวน และการเพิ่มจำนวนของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ และซัลโมเนลลา จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ แนะนำการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติการสำหรับแต่ละโรงงาน แล้วเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เพื่อประเมินประสิทธิภาพ ผลการทดลอง พบว่า การใช้กรดเปอร์อะซิติก (PAA) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) ที่มีการใช้กันในปัจจุบัน การใช้อ่างจุ่มยาฆ่าเชื้อหลังการชิลล์ และ/หรือการใช้ตู้สเปรย์ Cetylpyridinium chloride ก็ให้ผลในการลดระดับเชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) เมื่อขั้นตอน Prechiller ไม่เพียงพอ แนวโน้มเชื้อจุลทรีย์เพิ่มขึ้นในถัง Chiller บ่งชี้ว่า จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการทำความสะอาด สุขอนามัย และการบำรุงรักษาถัง Chiller เพื่อลดการปนเปื้อนซากสัตว์ปีกจากเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ และซัลโมเนลลา    
เอกสารอ้างอิง

Wideman et al. 2015 Evaluating best practices for Campylobacter and Salmonella reduction in poultry processing plants Poultry Science Volume 95, Issue 2Pp. 306-315



http://apps.washingtonpost.com/g/page/national/chemicals-may-be-masking-chicken-safety-test-results/342/


วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ชีวิต SLOW LIFE คุณภาพเนื้อดี มีปัญหาขาพิการน้อย

การเปรียบเทียบไก่สายพันธุ์โตเร็ว (พันธุ์ COBB) และโตช้า (พันธุ์ S&G Polutry LLC) พบว่า ไก่สายพันธุ์โตเร็วมีการเจริญเติบโต และผลผลิตกล้ามเนื้ออกที่ดีกว่ามาก ขณะที่ ไก่สายพันธุ์โตช้า มีอัตราการตายต่ำ และสุขภาพกระดูกที่ดีกว่า อิทธิพลของสูตรอาหารสัตว์สามารถลดปัญหาจากไก่สายพันธุ์โตเร็วได้ โดยพบว่า การใช้ปรับสูตรอาหารสัตว์ให้มีโภชนะต่ำลงช่วยให้คะแนนท่าเดินดีขึ้น และลดขนาดของกล้ามเนื้ออกได้ด้วย การลดขนาดของกล้ามเนื้ออกก็จะช่วยลดปัญหาคุณภาพซากทั้งพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อสันใน (DPM) และกล้ามเนื้ออกเป็นลายทางสีขาว (WS)  
      ความชุกของโรคกระดูก และข้อต่อในไก่เนื้อกำลังเป็นที่จับตามองจากนักวิชาการทั่วโลก สาเหตุมาจากทั้งโรคติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ ความผิดปรกติที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ภาวะการตายของเซลล์กระดูกอ่อนจากแบคทีเรีย (Bacterial chondronecrosis, BCO) ความผิดปรกติขากาง และขาโก่ง (Valgus-varus deformities) และ TD ความผิดปรกติดังกล่าวทำให้การเคลื่อนที่ของไก่ผิดปรกติไป โดยการเจริญเติบโตที่เร็วเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมาก โดยมีหลักฐานทางวิชาการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า
1. ไก่ที่เจริญเติบโตช้าพบอุบัติการณ์ของโรค BCO ได้ต่ำกว่า
2. การเลี้ยงไก่ให้โตช้าลงในช่วง 15-20 วันแรกของชีวิต ช่วยลดอุบัติการณ์ของความผิดปรกติขากาง และขาโก่ง และ TD ได้
3. ไก่สายพันธุ์โตช้า จะมีปัญหาความผิดปรกติขากาง และขาโก่งน้อยกว่าสายพันธุ์โตเร็ว
      การเปรียบเทียบจีโนไทป์ของไก่สายพันธุ์โตเร็วมีคะแนนท่าเดิน (Gait scores) ที่สูงกว่าสายพันธุ์โตช้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) จีโนไทป์ หรือสายพันธุ์ของไก่ มีอิทธิพลต่อคะแนนท่าเดินได้จากทั้งอัตราการเจริญเติบโต และโครงสร้างร่างกายของไก่ เนื่องจาก ขนาดกล้ามเนื้ออกที่มีขนาดใหญ่ของไก่สายพันธุ์โตเร็วทำให้ศูนย์ถ่วงเคลื่อนไปด้านหน้า ส่งผลให้รูปแบบท่าเดินไม่มีประสิทธิภาพ การเลี้ยงไก่แบบนอกโรงเรือน (Outdoor) ช่วยให้คะแนนท่าเดินดีขึ้นอย่างมาก เนื่องจาก เปิดโอกาสให้ไก่ได้ออกกำลังกาย
               นอกจากนั้น อิทธิพลของสูตรอาหารสัตว์ก็ช่วยบรรเทาปัญหาจากไก่สายพันธุ์โตเร็วได้ โดยพบว่า การใช้ปรับสูตรอาหารสัตว์ให้มีโภชนะต่ำลงช่วยให้คะแนนท่าเดินดีขึ้น และลดขนาดของกล้ามเนื้ออกได้ด้วย การลดขนาดของกล้ามเนื้ออกก็จะช่วยลดปัญหาคุณภาพซากทั้งพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อสันใน (Deep pectoral myopathy) และกล้ามเนื้อสันในเป็นลายทางสีขาว (White striping/Wooden breast meat)
เอกสารอ้างอิง
Fanatico et al. 2008. Performance, livability and carcass yield of slow and fast growing chicken genotypes fed low-nutrient or standard diets and raised indoors or with outdoor access. Poul Sci. 87: 1012-1021






















แหล่งที่มาภาพ  http://www.al.com/news/index.ssf/2015/03/post_47.html



วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559

บทเรียนเจ็บๆ...ใช้ข้าวสาลีแทนข้าวโพดในอาหารไก่

เมื่อปี ค.ศ. 2009 ผู้ประกอบการผลิตไก่เนื้อรายหนึ่งประสบปัญหาความเสียหายอย่างร้ายแรงภายหลังการเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารสัตว์จากข้าวโพดเป็นข้าวสาลี ไก่เนื้อปฏิเสธการกินอาหารไม่ยอมกินเหมือนที่ผ่านมา อัตราการเจริญเติบโต และ FCR แย่ลงอย่างมาก ตอนที่นักโภชนาการคำนวณสูตรอาหารก้อไม่เห็นอะไรผิดนี่ ค่าโภชนะทุกอย่างก็สมดุลสมบูรณ์ดีเลิศประเสริฐศรี แต่ไก่ไม่ได้สนุกไปด้วยนะครับ 
               นักโภชนาการโทรศัพท์ทางไกลด่วนจี๋สอบถามอาจารย์ที่ปรึกษา Ioannis Mavromichalis อาจารย์ที่ปรึกษาประสบการณ์สูงขอตัวอย่างข้าวสาลีให้ส่งมาทางไปรษณีย์ 2 ตัวอย่างให้ห้องปฏิบัติการเคมี เพื่อวิเคราะห์ค่าโภชนะ แถมด้วยสารพิษครบแผง และวิเคราะห์ใยอาหาร
               ขณะที่ รอผลการวิเคราะห์ อาจารย์ที่ปรึกษาสั่งให้ปรับสูตรอาหาร 3 ประการ ประการที่ 1 ให้ปรับระดับโปรตีน 2 ระดมคอคเทลเอนไซม์รวมพลังบูรณาการ ประการสุดท้าย 3 เพิ่ม Mycotoxin binder ทันที เพียงคำสั่ง 3 ข้อเท่านั้น ไก่ในฟาร์มก็มีอาการดีขึ้นทันตาเห็น แต่ผลการเลี้ยงก็ยังไม่ดีเท่าก่อนหน้านี้ ผลการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ แสดงให้เห็นว่า ว่า คุณค่าทางโภชนะของข้าวสาลีก็เป็นไปตามสูตรที่คำนวณไว้นี้ อาจารย์ก็เลยคิดว่า ไม่น่าเกี่ยวข้องกับกรดอะมิโนมากเกิน ชุดข้อมูลสารพิษจากเชื้อรา พบว่า เราเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ผิด จึงตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ Mycotoxin neutralization agent ที่เหมาะสมกว่า สุดท้ายผลการวิเคราะห์ใยอาหารอยู่ในระดับปานกลาง อาจารย์ก็เลยเปลี่ยนมาใช้เอนไซม์ที่จำเพาะให้ใช้เฉพาะต่อข้าวสาลี ทันใดนั้น ทันใดนั้น ไก่ก็แจ่มใส เจิดจ้าขึ้นมาทันใด ต้นทุนอาหารพลิกกลับไปยังระดับที่ยอมรับได้ กลายเป็นบทเรียนที่อาจารย์ต้องจดจำไปตลอดชีวิต ไม่ให้ถือโอกาสเปลี่ยนแปลงสูตรอาหารสัตว์ โดยละเลยหลงลืมสิ่งที่ไม่ใช่สารโภชนะ ใส่เครื่องหมายตกใจด้วย
หมายเหตุ            

เอกสารอ้างอิง    Ioannis Mavromichalis (21/6/16) 

















แหล่งภาพ http://prayod.com/

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เชื้อดื้อยาถ่ายจากแม่ไก่สู่ลูกไก่ได้

การใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื้อดื้อยามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในฟาร์ม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอื่นๆที่มีบทบาทสำคัญ และการแพร่กระจายเชื้อจากแม่สู่ลูกระหว่างรุ่นการเลี้ยงไก่ก็เป็นวิธีการแพร่กระจายเชื้อที่มีความสำคัญ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือ การศึกษารูปแบบการดื้อยาของเชื้อ อี. โคไล ที่แยกได้จากลูกไก่แรกเกิด และการศึกษาผลกระทบจากการใช้ยาปฏิชีวนะระหว่างการเลี้ยง
               วิธีการวิจัยครั้งนี้เก็บตัวอย่างขี้เทาจากไก่พันธุ์ Ross อายุ 1 วัน จำนวน 22 ตัว รวมถึง ระหว่างการเลี้ยงได้ให้ยาแอมมอกซิซิลลินที่อายุ 7, 21 และ 35 วัน ผลการวิจัย พบว่า จำนวนของเชื้อ อี. โคไล ที่ดื้อยาจำนวนมากจากไก่ที่ให้ยาที่อายุ 1 วัน และดื้อต่อยากลุ่มเบตาแลคแตมสูงที่สุด ติดตามด้วยควิโนโลน และเตตราไซคลิน ภายหลังการให้ยาแอมมอกซิซิลลิน พบว่า เชื้อดื้อต่อยาชนิดนี้สูงที่สุดเปรียบเทียบกับยาชนิดอื่นๆที่มีการทดลอง โดยมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนของอัตราการดื้อยาระหว่างไก่ทดลองกลุ่มที่ให้ยา และไม่ให้ยาปฏิชีวนะ โดยมีการดื้อยาปฏิชีวนะหลายกลุ่ม ได้แก่ แอมมอกซิซิลลิน เซฟาโลทิน สเตรปโตไมซิน กานาไมซิน เจนตาไมซิน คลอแรมเฟนิคอล และเตตราไซคลิน แต่การดื้อยาซิโปรฟลอกซาซิน และกรดนาลิดิซิกไม่แตกต่างกันระหว่างการให้ยา และไม่ให้ยาปฏิชีวนะ โดยไม่เกิดการดื้อยาต่ออะมิคาซิน และเซฟทริอะโซน
               ผลการวิจัยครั้งนี้บ่งชี้ว่า มีการถ่ายทอดเชื้อดื้อยาจากแม่ไก่สู่ลูกไก่แรกเกิด และการใช้ยาแอมอกซิลินส่งผลให้เชื้อ อี. โคไล ดื้อยาทั้งแอมมอกซิซิลลินเอง และดื้อข้ามไปยังยาปฏิชีวนะกลุ่มอื่นๆอีกด้วย เชื้อดื้อยาถูกคัดเลือกจากการให้ยาต่อต้านเชื้อจุลชีพ แล้วผ่านเข้าสู่มนุษย์ผ่านสัตว์ ของเสีย หรือมนุษย์คนอื่น โดยเฉพาะ เกษตรกร หรือบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงฆ่า การถ่ายทอดเชื้อดื้อยาระหว่างสัตว์ และสิ่งแวดล้อมจึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุม การถ่ายทอดเชื้อโรคติดต่อสู่คนที่เกิดภาวะดื้อยาต้านจุลชีพมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเพื่อรักษานโยบายการจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ยาปฏิชีวนะแอมมอกซิซิลลินเป็นยากลุ่มเพนิซิลลินที่ออกฤทธิ์กว้าง เริ่มนำมาใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1970 และใช้รักษาโรคติดเชื้อทั้งแบคทีเรียแรมลบ และแกรมบวก ความจริงแล้ว ในสหภาพยุโรป ได้แนะนำให้ใช้แอมมอกซิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะทางเลือกชนิดแรกสำหรับรักษาโรคติดเชื้อทั่วไป และระบบทางเดินหายใจแบบอ่อนในผู้ป่วยที่แสดงอาการไม่มาก ดังนั้น เมื่อทำการศึกษาภาวะการดื้อยาในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จึงมักเป็นยาปฏิชีวนะชนิดแรกที่นักวิจัยเลือกศึกษา    
               การเลี้ยงสัตว์ปีกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และการผลิตเนื้อสัตว์ปีกโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นจาก 69 ล้านตันในปี ค.ศ. 2000 ไปเป็น 94 ล้านตันในปี 2008 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์ การบริโภคเนื้อสัตว์ปีกคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตเนื้อสัตว์ทั่วโลก เนื้อไก่ ติดตามด้วย เนื้อไก่งวงเป็นแหล่งเนื้อสัตว์ปีกที่สำคัญคิดเป็น 87 และ 6.7 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ การเฝ้าระวังเชื้อดื้อยามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจาก ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นแหล่งสำคัญของเชื้อดื้อยา และมีทั่วไปมากกว่าเชื้อโรคด้วยซ้ำ การแลกเปลี่ยนยีนส์ดื้อยาเกิดขึ้นระหว่างเชื้อก่อโรค และเชื้อที่ไม่ก่อโรค แม้กระทั่ง ระหว่างเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบ โดยเฉพาะ ชนิดที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ เอนเทอโรคอคไค และ อี. โคไล เชื้อดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่อการถ่ายทอดยีนส์ดื้อยา เชื้อ อี. โคไล สามารถแยกเชื้อได้จากสัตว์ที่มีสุขภาพดี ซากสัตว์ หรือเนื้อสัตว์ เป็นแหล่งสำคัญสำหรับการตรวจติดตามให้เห็นถึงปรากฏการณ์ความกดดันให้เกิดการคัดเลือกเชื้อดื้อยาจากการให้ยาต่อต้านเชื้อจุลชีพในกลุ่มประชากรเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ของสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อการผลิตเป็นอาหาร และศึกษาการปรากฏของภาวะดื้อต่อยาต่อต้านเชื้อจุลชีพ เชื้อ อี. โคไล เป็นตัวแทนที่ดีของเชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอเรียซิอี เพื่อตรวจติดตามการอุบัติใหม่ และการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนของเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาพร้อมกันหลายชนิด   
แหล่งข้อมูล

Ana Jiménez-Belenguera, Eva Doménechb, Arantxa Villagrác, Alejandro Fenollard and Maria Antonia Ferrús. 2016. Antimicrobial resistance of Escherichia coli isolated in newly-hatched chickens and effect of amoxicillin treatment during their growth. Avia Path. 45(4): 501-507.




















แหล่งที่มาภาพ http://www.warrenphotographic.co.uk/15414-buff-bantam-hen-and-chicks 

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...