วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ห้างเวทโทรสคุมแคมไพฯอยู่หมัด

ห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างเวทโทรสรับสินค้าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากยักษ์ใหญ่อันดับ ๑ ด้านการผลิตเนื้อสัตว์ปีกบริษัทมอยพาร์ก ผลการสำรวจเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ แสดงให้เห็นว่า เวทโทรส มีการปนเปื้อนเชื้อต่ำที่สุด เวทโทรสเป็นห้างซูเปอร์มาร์เก็ตของอังกฤษ มีสำนักงานใหญ่ตั้งในเมืองเบิร์กเชียร์ อังกฤษเป็นร้านค้าปลีกใหญ่ที่สุดลำดับที่ ๖ ในสหราชอาณาจักร โดยมีสาขา ๓๕๐ แห่ง รวมถึง ร้านสะดวกซื้ออีก ๓๐ แห่ง
เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ยังคงเป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในมนุษย์อย่างต่อเนื่องในสหภาพยุโรป นับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๕ เป็นต้นมา ขณะที่ ซัลโมเนลลา ที่เราควบคุมกันนักหนาอยู่ลำดับที่สอง ในปี ค.ศ. ๒๐๑๔ จำนวนของผู้ป่วยยืนยันการเกิดโรคแคมไพโลแบคเทอริโอซิสในสหภาพยุโรปสูงถึง ๒๓๖,๘๕๐ ราย คิดเป็นอัตราการเกิดโรค ๗๑.๐ รายต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน เพิ่มขึ้น ๙.๖ เปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบกับในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ โดยเฉพาะ สัตว์ปีก ในสหภาพยุโรป อีเอฟเอสเอ กำหนดระดับของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ไว้ที่ ๑,๐๐๐ ซีเอฟยูต่อกรัม เป็นระดับที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดต่อผู้บริโภค 
สหราชอาณาจักรได้สำรวจการปนเปื้อนเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ในร้านค้าปลีกจำหน่ายไก่สดจากเดือนกรกฏาคม ถึงกันยายน ค.ศ. ๒๐๑๕ แนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นโดยอ้างถึงผลของการใช้เทคโนโลยีโซโนสตีมจากผลการศึกษามากมาย และโซโนสตีมมีศักยภาพในการลดเชื้อลงได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม การฆ่าเชื้อที่ผิวของผลิตภัณฑ์อาหารยังคงต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างความสำเร็จในการลดปริมาณเชื้อลงอย่างมากโดยมิให้เกิดการทำลายผิวหนัง อย่างไรก็ตาม เครื่องมือใหม่อีกชนิดหนึ่งคือ IA Poultry เป็นอุปกรณ์สำหรับกำจัดการปนเปื้อนที่มีประสิทธิภาพ ติดตั้งได้ง่าย   ประหยัด และง่ายต่อการกำจัดเชื้อปนเปื้อนตามซากไก่เนื้อสด เครื่องมือนี้ช่วยปรับสมดุลจุดเหมาะสมเพื่อนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การลดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ต่อผู้บริโภค ผลการสำรวจแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการลดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ที่ต่อเนื่องจากการยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ เทคโนโลยีโซโนสตีม การเลาะผิวหนังที่คอ และผู้ค้าปลีกที่ให้ความร่วมมือลดระดับของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์จนผลการสำรวจดีขึ้นอย่างชัดเจน   

เอกสารอ้างอิง
Sonosteam, 2015. UK Survey of Campylobacter contamination in fresh retail chicken from Jul – Sept 2015. [Internet]. [Cited 2017 May 29]. Available from: https://sonosteam.com/continuous-sonosteam-application/


ภาพที่ ๑ อัตราของไก่ที่มีระดับของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์สูงกว่า ๑๐๐๐ ซีเอฟยูต่อกรัม ตามรายชื่อผู้ค้าปลีก ตั้งแต่เดือนกรกฏาคมถึงกันยายน ค.ศ. ๒๐๑๕ 

เลิกเก็บบู๊ทสวอบได้ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ในโรงเชือด

เบื้องหลังเทคโนโลยีโซโนสตีมสำหรับการฆ่าเชื้อโรคคือ การใช้ไอน้ำอุณหภูมิ ๙๐ องศาเซลเซียส ร่วมกับคลื่นอัลตราซาวด์ ๑๖๐ เดซิเบล ผ่านหัวฉีดสเปรย์ภายในห้องล้วงเครื่องในสำหรับโรงงานแปรรูปการผลิตเนื้อไก่ โดยสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียภายในเวลาไม่ถึง ๒ วินาที อัลตราซาวด์ เป็นคลื่นความถี่สูง เป็นที่รู้จักกันมานานในทางการแพทย์ เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ระหว่างการตั้งครรภ์ เมื่อสามปีที่แล้ว สถาบันวิจัยจอร์เจียเทค สร้างความหวังต่อการควบคุมเชื้อซัลโมเนลลาในถังชิลเลอร์มาแล้ว
แม้ว่าอัตราความเร็วราวที่สูงมาก การฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำ และอัลตราซาวด์ร่วมกันสามารถลดเชื้อลงได้ ๗ ถึง ๘ ล็อกในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร และ ๒ ถึง ๔ ล็อกในผลิตภัณฑ์อาหาร การกระตุ้นด้วยอัลตราซาวด์เร่งให้ความร้อนจากไอน้ำไปสู่พื้นผิวของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้นทันที การกำจัดการปนเปื้อน หรือการฆ่าเชื้อถูกหยุดก่อนที่ความร้อนจะแทรกเข้าสู่ผลิตภัณฑ์จนเกิดความเสียหายจากความร้อน การกระตุ้นด้วยอัลตราซาวด์ทำลายชั้นอากาศที่เป็นข้อจำกัดของการทำลายเชื้อด้วยความร้อน เนื่องจาก ชั้นอากาศปกป้องแบคทีเรียบนพื้นผิวเอาไว้ บริเวณอากาศที่อยู่ใกล้กับพื้นผิวผลิตภัณฑ์เป็นเสมือนเกราะป้องกัน มิให้เกิดการระเหย และความร้อนผ่านเข้าออกพื้นผิว ชั้นอากาศดังกล่าวนิยมเรียกว่า ชั้นย่อยลามินา (Laminar sublayer)”  

ภาพที่ ๑ พื้นผิวผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากการกระตุ้นด้วยอัลตราซาวด์














อัลตราซาวด์ ทำให้อากาศของชั้นลามินาร์เกิดการสั่นของโมเลกุล และทำลายชั้นย่อยลามินานี้ลง ความร้อนก็จะสามารถเข้าถึงโครงสร้างขนาดจิ๋ว และหลุมตามพื้นผิวของผลิตภัณฑ์ไปได้ จนเกิดการถ่ายเทความร้อนเข้าไปอย่างรวดเร็ว การสูบฉีดไอน้ำใหม่เข้าไปอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการไหลของความร้อนเข้าไปแทนอย่างรวดเร็วไปยังโครงสร้างส่วนพื้นผิวผลิตภัณฑ์อย่างทั่วถึง
 ภาพที่ ๒ พื้นผิวผลิตภัณฑ์ที่ถูกกระตุ้นด้วยอัลตราซาวด์













เชื้อโรคถูกฆ่าอย่างรวดเร็วด้วยพลังไอน้ำผสมผสานคลื่นอัลตราซาวด์
ขนาดของเชื้อโรคที่มีขนาดเล็ก เช่น เชื้อซัลโมเนลลา และแคมไพโลแบคเตอร์ จึงมีความไวรับต่อการบำบัดด้วยไอน้ำ การทำลายเชื้อโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยความร้อนแทรกซึมเข้าสู่พื้นผิวของผลิตภัณฑ์น้อยที่สุด ความร้อนหยุดลงที่พื้นผิวเท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อผลิตภัณฑ์ ระยะเวลาสำหรับการทำงานสั้นมากไม่ถึงวินาทีในบางผลิตภัณฑ์ วิธีการนี้เป็นการทำลายเชื้อปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ที่มีความไวรับต่อความร้อน เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารสด และผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
SonoSteam, 2017. Combination of steam and ultrasound kills bacteria within just 1-2 seconds. [Internet]. [Cited 2017 May 18]. Available from: https://sonosteam.com/working-principles/

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เทคโนโลยีโซโนสตีมสยบแคมไพฯได้แล้วในอังกฤษ

ยักษ์ใหญ่วงการไก่ในอังกฤษ แฟคเซนดาฟู้ด เลือกใช้เทคโนโลยีโซโนสตีม เพื่อต่อสู้กับเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ในโรงฆ่า เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์เป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยที่สุด
               แฟคเซนดาฟู้ดส์ เป็นโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกในสหราชอาณาจักรที่นำเทคโนโลยีโซโนสตีมมาใช้เพื่อต่อสู้กับเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ระหว่างการฆ่า เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์เป็นโรคอาหารเป็นพิษที่พบได้มากที่สุด โดยมากกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์มาจากเนื้อสัตว์ปีก เชื้อแบคทีเรียสร้างนิคมในลำไส้ของสัตว์ปีก แล้วขับออกมาทางมูลสัตว์ ในสหราชอาณาจักร พบว่า มากกว่า ๖๕ เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ปีกทั้งหมดมีการปนเปื้อนด้วยเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ แฟคเซนดาฟู้ดส์ กำหนดเป้าหมายลดปริมาณเชื้อโดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ การใช้ไอน้ำร่วมกับอัลตราซาวด์ โดยวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๑๕ แฟคเซนดาฟู้ดส์ ได้ตัดสินใจใช้เทคโนโลยีโซโฟสตีม

ไม่มีกระสุนเงินสำหรับเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์
               กระสุนเงินปลุกเสกที่เคยใช้ได้กับแวมไพร์ แดรกคูลาร์ อาจใช้ไม่ได้กับเชื้อแคมไพร์เช่นเดียวกัน แฟคเซนดาฟู้ดส์ และโซโนสตีม ก็เห็นสอดคล้องกันว่า การใช้กลยุทธ์เพียงอย่างเดียวไม่มีทางควบคุมเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่...การทดลองครั้งแรกก็สร้างความตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เมื่อผลการวิจัยในไลน์การผลิตหนึ่ง พบว่า โซโนสตีมใช้งานได้จริงๆ โดยลดระดับของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

โซโนสตีมลดเชื้อแคมไพฯได้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์
               ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า โซโนสตีม ประสบความสำเร็จในการลดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ได้มากกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์จากตัวอย่างผิวหนังอก และคอ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดบนซากไก่ รองประธานบริษัทโซโนสตีม Niels Krebs มีความเห็นว่า ไม่ควรประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป ตอนนี้ แฟคเซนดาฟู้ดส์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การใช้เทคโนโลยีนี้ประสบความสำเร็จเกิดความคาดหมาย คุ้มค่ากับการลงทุน แฟคเซนดาฟู้ดส์พร้อมที่จะขยายการใช้งานกับไก่ทุกตัวบนไลน์ การทดลองจริงในไลน์พิสูจน์แล้วว่า โซโนสตีมเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้อุตสาหกรรมสัตว์ปีกลดความเสี่ยงจากเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์   

บูรณาการกลยุทธ์เพื่อแก้ปัญหาแคมไพฯ
               แฟคเซนดาฟู้ดส์ ยังยกระดับความปลอดภัยอาหารในครัวไปอีกระดับโดยการใช้นวัตกรรมสินค้าที่ได้รับรางวัลมาแล้วคือ ผลิตภัณฑ์ย่างไก่ได้ในถุง (Roast in a Bag) เป็นนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถย่างเนื้อไก่โดยตรงในเตาอบทั้งถุง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อปนเปื้อนระหว่างการจับเนื้อไก่ และการเตรียมอาหารจากเนื้อไก่  แฟคเซนดาฟู้ดส์ ยังขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่นคือ ไก่งวง อีกด้วย ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ค.ศ.๒๐๑๔ แฟคเซนดาฟู้ดส์ นำนวัตกรรมย่างไก่ได้ในถุง เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ตามแผนการจัดการความเสี่ยง และเป้าหมายลดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ ๒๐๑๕ ตามมาตรฐานขององค์กรมาตรฐานอาหาร หรือเอฟเอสเอ ในสหราชอาณาจักร เป็นเป้าหมายใหม่ที่กำหนดให้อัตราการพบเชื้อลดลงจาก ๒๗ เป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์  
เอกสารอ้างอิง
Sonosteam, 2015. English slaughter plant fights Campylobacter with SonoSteam Technology. [Internet]. [Cited 2017 May 18]. Available from: https://sonosteam.com/continuous-sonosteam-application/


ภาพที่ ๑ เทคโนโลยีโซโนสตีม ติดตั้งในห้องล้วงเครื่องใน (Evisceration room) หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของแฟคเซนดาฟู้ดส์ในการควบคุมเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ได้ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ 

วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

อังกฤษควบคุมแคมไพฯได้อย่างไร

เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์เป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยในยุโรป โดยมีผู้ป่วยราว ๙ ล้านรายต่อปี ตามรายงานของอีเอฟเอสเอ สัตว์ปีกที่ปนเปื้อนเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของการติดเชื้อในมนุษย์ และอุตสาหกรรม ล่าสุดผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีกในอังกฤษสามารถควบคุมการปนเปื้อนเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ให้ลดลงในระดับต่ำได้  
  สัตว์ปีกที่ปนเปื้อนเป็นแหล่งสำคัญที่สุดของการติดเชื้อในมนุษย์ และอุตสาหกรรมสัตว์ปีกยุโรปได้พยายามใช้กลยุทธ์มากมาย เพื่อลดระดับการปนเปื้อน บริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร ๒ ราย ได้แก่ มอยพาร์ก และแฟคเซนดา นำเสนอขั้นตอนการลดการปนเปื้อนที่บริษัทประสบความสำเร็จมาแล้ว
บริษัท มอยพาร์ก ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดด้านสินค้าเนื้อไก่
       บริษัท มอยพาร์ก ผลิตไก่ราว ๕.๕ ล้านตัวต่อสัปดาห์ ไก่งวง ๑.๓๒ ล้านตัวต่อปี และสินค้าเพิ่มมูลค่า ๒๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี โดยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดด้านสินค้าเนื้อไก่ และเนื้อไก่งวงแบบอินทรีย์ในสหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ สินค้าแบรนด์มอยพาร์กส่งให้กับห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างเวทโทรส (Waitrose) และผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วเกาะอังกฤษ ไอร์แลนด์ และยุโรป กลยุทธ์สำคัญคือ การจัดการแบบองค์รวมโดยใช้หลากหลายวิธีร่วมกันในการลดระดับแคมไพโลแบคเตอร์ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ฟาร์มถึงโรงงานถึงผลิตภัณฑ์สุดท้าย โดยทุกขั้นตอนมีความสำคัญเท่าเทียมกันในการนำส่งสินค้าที่มีระดับของเชื้อลดลงเรื่อยๆ แผนการปฏิบัติงานมุ่งเน้นเสาหลัก ๗ ประการ ได้แก่
๑.การวิจัย และวิเคราะห์ โดยคณะทำงานด้านเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์โดยเฉพาะ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ และสถาบันการศึกษาในสหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ เพื่อจำลองภาพแนวโน้มของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ตามฤดูกาล และวัดรอยเท้าช้างเปรียบเทียบกับผู้ผลิตชั้นนำทั่วโลก
๒.ฟาร์มที่สร้างขึ้นใหม่ออกแบบโรงเรือนให้เป็นระบบที่มุ่งเน้นควบคุมเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์โดยเฉพาะ
๓.ยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ ตั้งแต่ ด่านกักกันเชื้อสองชั้น เพื่อควบคุมการแพร่กระจาย และสุขอนามัย มีการติดตั้งเครื่องทำความร้อนมากกว่า ๘๕ เปอร์เซ็นต์ของฟาร์มทั้งหมด เพื่อให้สิ่งแวดล้อมภายในโรงเรือนแห้งตลอดเวลา
๔.ใช้หลักปฏิบัติสำหรับการเลี้ยงสัตว์ที่ดี ครอบคลุมทั้งสวัสดิภาพสัตว์ และความปลอดภัยทางชีวภาพ
๕. แผนการจับไก่ระบาย และการจับไก่ทั้งโรงเรือน
๖. กระบวนการแปรรูปการผลิตที่ดี ทั้งขั้นตอนภายในโรงงาน และการบรรจุสินค้า
๗. มอยพาร์กเป็นบริษัทแรกที่มีการติดฉลาก ไม่ต้องล้างผลิตภัณฑ์ไก่บนสินค้าไก่เนื้อทั้งตัว และให้คำแนะนำผู้บริโภคในการจัดการ และปรุงสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์อย่างปลอดภัย โดยมีการปิดผนึกสินค้า และป้องกันการฉีกขาดของบรรจุภัณฑ์ และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ปรุงเสร็จในถุง (Cook-in-the bag product) ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ
 ความสำเร็จของมอยพาร์กเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๐๙ เริ่มจากการทำความเข้าใจให้ดีขึ้นกับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ จนกระทั่งปี ค.ศ. ๒๐๑๕ พบว่า จากการทดลองควบคุมการจัดส่งสินค้าภายใต้ความร่วมมือเวทโทรส และมอยพาร์กตามแผนปฏิบัติงานควบคุมเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์จากฟาร์มถึงส้อม สัดส่วนของไก่สดทั้งตัวที่มีเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ที่ระดับสูงที่สุดมากกว่า ๑,๐๐๐ ซีเอฟยูต่อกรัม ที่ปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๕ ลดลงสองในสาม   
 อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกปฏิบัติงานร่วมกันแบ่งปันความคิดจากการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มในโครงการความร่วมมือควบคุมเชื้อแคมไพโลแลคเตอร์ที่ชื่อว่า เอฟเอสเอ ปฏิบัติการควบคุมเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ร่วมกัน (FSA Acting on Campylobacter Together woring group, ACT) อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับความสำเร็จคือ การจัดการแบบองค์รวม และเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเอง และจดสิทธิบัตรไว้แล้ว โดยการใช้กระบวนการให้ความร้อนเข้าสู่ไลน์การผลิต สิ่งเหล่านี้สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ 
 กลยุทธ์ถัดไปของบริษัทคือ การพิจารณาธรรมชาติของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์มีความสัมพันธ์กับไก่ และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนาเป็นกุญแจสำคัญ และลงทุนแผนการวิจัยระดับปริญญาเอกด้วยการส่งพนักงานของบริษัท ๒ คนไปเรียนต่อด้านนี้ นอกเหนือจาก ความปลอดภัยทางชีวภาพ การจัดการในฟาร์ม และการตรวจสอบลำดับสารพันธุกรรมของเชื้อ บริษัท มีความภาคภูมิใจในความก้าวหน้าเหล่านี้ และยิ่งภาคภูมิใจขึ้นไปอีกเมื่อได้รับรางวัลนวัตกรรมความปลอดภัยที่ดีเลิศจากการประกวดอาหาร และเครื่องดื่มในไอร์แลนด์เหนือ  

บริษัท แฟคเซนดา ผู้นำด้านการแปรรูปเนื้อไก่ลำดับสองของเกาะอังกฤษ
            บริษัท แฟคเซนดา ผลิตไก่เนื้อราว ๒ ล้านตัว และไก่งวง ๗๐,๐๐๐ ตัวต่อสัปดาห์ จัดจำหน่ายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตรายสำคัญของสหราชอาณาจักร และห่วงโซ่บริการร้านอาหารที่เป็นที่รู้จักกันดี แผนการลดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ที่เป็นหัวใจของบริษัท ครอบคลุมการจัดการสินค้าตลอดห่วงโซ่จากฟาร์มถึงการบรรจุภัณฑ์คือ โซโนสตีม (SonoSteam) ที่ช่วยลดระดับเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์โดยการใช้ไอน้ำร้อน และอัลตราซาวด์ไปยังซากไก่แต่ละตัวขณะผ่านเครื่องจักร
          บริษัทได้ใช้กระบวนการความปลอดภัยทางชีวภาพใหม่ในฟาร์ม ตั้งแต่ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล การทำความสะอาด และสุขอนามัย และการใช้ระบบเครื่องกีดขวางสองชั้น และตอนนี้กำลังสนใจการจัดการสุขภาพทางเดินอาหารของไก่ โดยเฉพาะ ช่วงลูกไก่ ที่ส่งผลกระทบต่อระดับของเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์
         พื้นที่ภายในไลน์บรรจุมีการแยกพนักงานระหว่างสินค้าดิบ สินค้าที่บรรจุแล้ว และสินค้าไก่ การบรรจุสินค้ามีบทบาทอย่างมากต่อความปลอดภัยอาหาร ดังนั้น บริษัทจะใช้ฟิลม์เคลือบป้องกันการปริแตก และใช้เทคนิคการบรรจุสินค้าโดยอาศัยบรรยากาศเพื่อรักษาสินค้าให้สดเสมอ บริษัท เป็นผู้ผลิตรายแรกที่ใช้วิธีการบรรจุแบบย่างในถุง (Roast-in-the-bag packaging) ในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ เพื่อป้องกันมิให้ผู้บริโภคสัมผัสไก่ดิบ นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงานอย่างเหมาะสมอีกด้วย
               โรงงานเริ่มทดลองใช้โซโนสตีมในปี ค.ศ. ๒๐๑๔ พบว่า เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์จากผิวหนังคอ และอกลดลง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ จากนั้นจึงเริ่มใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพในปี ค.ศ.๒๐๑๕ และปัจจุบันมีการใช้ในไลน์การแปรรูปปฐมภูมิทั้งสองไลน์การผลิตเรียบร้อยแล้ว จากการสำรวจร้านค้าปลีกโดยเอฟเอสเอ (Food Standards Agency, FSA) ก็พบว่า มีการลดลงของระดับเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจเชื้อในสินค้าของบริษัทเองต่ำกว่าเป้าหมายที่เอฟเอสเอกำหนดไว้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์  
               บริษัทมีการจัดการร่วมกันหลากหลายวิธี เริ่มตั้งแต่การผลิตขั้นปฐมภูมิไปจนถึงโรงงานฯที่มีการทำความเย็นอย่างรวดเร็ว และการลวกน้ำร้อนในโรงงาน โดยภาพรวมจากประสบการณ์พบว่า วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดควรดำเนินการไปพร้อมกันตลอดห่วงโซ่การผลิต การสอบย้อนกลับเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ และผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยร่วมมือกันทั้งผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค ให้ความรู้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ สุขอนามัยในครัว และสิ่งสำคัญคือ อย่าล้างไก่ดิบ เป็นคำเตือนที่มีความจำเป็นมาก  

เอกสารอ้างอิง


ภาพที่ ๑ เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์เป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยในยุโรป โดยมีผู้ป่วยราว ๙ ล้านรายต่อปี (แหล่งภาพ: decade3d, Bigstockphoto.com)




วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ไก่หลังบ้านอังกฤษติดหวัดนก

ก่อนหน้านี้ กว่าสหราชอาณาจักรจะสามารถยกเลิกมาตรการควบคุมโรคก็หืดจับทีเดียว แต่ก็ยังไม่วายมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในฝูงไก่หลังบ้าน ขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสได้ลดสถานะความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนก นอกจากอังกฤษแล้วก็ยังมีรัสเซียที่ประสบชะตากรรมเดียวกันพบโรคไข้หวัดนกใหม่อีก เช่นเดียวกับเดนมาร์ก และอิตาลี การเฝ้าระวังโรคจากนกป่าพบจนได้

ไข้หวัดนกระบาดใหม่ในอังกฤษ
               เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงเกษตร หรือดีฟรา (Defra) ประกาศให้โลกทราบว่า ได้พบโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง เอช ๕ เอ็น ๘ ในฝูงไก่หลังบ้าน ๒ แห่งใกล้กับเมืองแลงคาสเชอร์ทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ความจริงแล้ว เมืองนี้เกิดการระบาดมาก่อนแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยฝูงแรกมีไก่ ๓๐ ตัว พออีก ๒ วันต่อมาพบในกลุ่มสัตว์ปีกผสมผสานเป็นไก่และเป็ดรวมกัน ๙ ตัว ทั้งสองฝูง พบว่าสัตว์บางตัวตาย ส่วนที่เหลือก็ถูกการุณยฆาตเสียให้ตายตกไปตามกัน
               เจ้าพนักงานรัฐฯกำลังสอบสวนการระบาด โดยกำหนดมาตรการควบคุม รวมถึง พื้นที่ป้องกันโรครัศมี ๓ กิโลเมตร และพื้นที่เฝ้าระวังโรครัศมี ๑๐ กิโลเมตรรอบพื้นที่การระบาด และยกเลิกกิจกรรมที่มีการนำสัตว์ปีกมารวมกันจำนวนมาก

รัสเซียรายงานโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในสัตว์ปีกบ้าง
               กรมปศุสัตว์รัสเซีย รายงานการระบาดครั้งใหม่ของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๘ ต่อโอไออีแล้ว โดยมีสัตว์ปีกตายมากกว่า ๘,๐๐๐ ตัวในฟาร์มสองแห่งเมือง Rostov oblast ที่เหลือมีแผนการทำลายสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมทำให้ความเสียหายประชากรสัตว์ปีกโดยรวมแล้วเป็นจำนวนมากกว่า ๓๓๙,๐๐๐ ตัว 

ฝรั่งเศสลดความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนกลง
               กระทรวงเกษตรแห่งฝรั่งเศสลดระดับความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนกลงจากปานกลางเป็นเล็กน้อย มาตรการควบคุมที่ได้ดำเนินการไปตั้งแต่กลางเดือนเมษายน รวมถึง การควบคุมพื้นที่การเลี้ยงสัตว์ปีกปล่อยอิสระ และยกเลิกงานประกวด และการประชุมด้านสัตว์ปีก นกเกมส์กีฬา และนกพิราบ ครอบคลุมทั้งประเทศ ยกเว้น พื้นที่ความเสี่ยงสูง เช่น พื้นที่ชุ่มชื้นในป่า   
               เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกถูกกระตุ้นให้ยังคงเฝ้าติดตามอาการของสัตว์ในฟาร์มอย่างระมัดระวัง ในทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ที่มีการระบาดของโรค HPAI รุนแรง ฟาร์มเป็ด และห่านต้องพักโรงเรือนต่อไปจนกระทั่งวันที่ ๒๙ พฤษภาคม  กระทรวงเกษตรฯ สรุปจำนวนครั้งของการระบาดโรคไข้หวัดนกสับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๘ รวมทั้งสิ้น ๔๘๕ ครั้ง เป็นนกป่า ๕๕ ครั้ง

เชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๘ พบในนกป่า
               องค์กรสุขภาพสัตว์เดนมาร์ก รายงานต่อโอไออี ว่ามีการตรวจพบนกป่า ๑๖ ตัว ตายระหว่างต้นเดือนมกราคมถึงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาก โดยมีผลเป็นบวกต่อเอช ๕ เอ็น ๘ ในอิตาลี พบห่านป่าตายใกล้กับสวนสาธารณะในจังหวัดตูรินในแถบ Piedmont ปลายเดือนเมษายนโดยผลการทดสอบเป็นบวกต่อเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน
 เอกสารอ้างอิง
Linden J. 2017. Avian influenza returns to the UK. [Internet]. [Cited 2017 May 8]. Available from: http://www.wattagnet.com/articles/30681-avian-influenza-returns-to-the-uk?v=preview


ภาพที่ ๑ โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง เอช ๕ เอ็น ๘ พบในฝูงไก่หลังบ้าน ๒ แห่งใกล้กับเมืองแลงคาสเชอร์ทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ (Bugdog, Freeimages.com, 2017)

วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ก้าวสู่ยุคโรบอตในโรงเชือดไก่

บริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีกในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่กำลังติดกับดักเทคโนโลยีชั่วขณะ ก่อนที่จะก้าวไปสู่ยุคโรบอตในการผลิต และแปรรูปสัตว์ปีก   
การใช้หุ่นยนต์โรบอตในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกสหรัฐฯ ยังไม่สามารถเติบโตได้เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำไม ผู้ผลิตสัตว์ปีกในสหรัฐฯ ยังคงยืนรออยู่ข้างสนาม เมื่อหลายอุตสาหกรรมได้โดดเข้ามาเล่นเต็มตัวแล้ว  ซีอีโอจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ทั่วโลก มองหาเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ โดยมีผลการสำรวจเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๕ พบว่า หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพสูง มากกว่า ๙๔ เปอร์เซ็นต์ได้นำหุ่นยนต์มาใช้เรียบร้อยแล้ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ห้าปีถัดจากนี้ เชื่อว่า หนึ่งในห้าของการผลิตจะใช้หุ่นยนต์ และคาดว่าจะมีการลดลูกจ้างลง ๕๘ เปอร์เซ็นต์ ความจริงแล้ว การใช้หุ่นยนต์ได้มีการนำร่องใช้มาก่อนแล้วในอุตสาหกรรมรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่วิทยาศาสตร์อาหาร และชีวิตกำลังเริ่มต้นรับเทคโนโลยีหุ่นใหญ่เพิ่มขึ้น  
ผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกาเหนือ มีคำสั่งหุ่นยนต์มาใช้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ในปี ค.ศ. ๒๐๐๕ แต่สัดส่วนคำสั่งซื้อนี้ลดลง ๒๗ เปอร์เซ็นต์ในปี ค.ศ. ๒๐๑๔ เนื่องจาก สินค้าบริโภค และอุปโภคมีการแบ่งสัดส่วนคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจาก ๓ เป็น ๗ เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับบริษัทวิทยาศาสตร์ชีวภาพก็สามารถสังเกตเห็นการสั่งซื้อหุ่นยนต์เพิ่มจาก ๒ เป็น ๖ เปอร์เซ็นต์

ผู้ประกอบการสัตว์ปีกในสหรัฐฯ ยังลังเลที่จะลงทุนกับโรบอต
อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกในสหรัฐฯ ยังไม่ตัดสินใจลงทุนกับโรบอต และยังลังเลที่จะนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตไก่ และการแปรรูปเนื้อไก่ ขณะที่ อุตสาหกรรมอื่นๆกำลังเริ่มต้นเพิ่มการใช้หุ่นยนต์แล้ว ในโรงฟักบางแห่ง อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกสหรัฐฯ ใช้หุ่นยนต์จัดเรียงกล่องลูกไก่ และในโรงงานแปรรูปบางแห่ง ใช้ในการจัดวางกล่องจับไก่  
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ผลิตสัตว์ปีกยังคงปฏิเสธการใช้หุ่นยนต์ในภาคธุรกิจของตัวเอง ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ได้แก่ การคืนทุนไม่เร็วเพียงพอ ส่วนใหญ่แล้ว บริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีกในสหรัฐฯ ต้องการการคืนทุนภายใน ๑ ปี แต่การลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ต้องใช้เวลา ๑.๕ ถึง ๒ ปี พื้นที่ในโรงงานแปรรูปฯ ประเด็นด้านวัฒนธรรมก็เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ พนักงานไม่ค่อยเต็มใจทำงานกับหุ่นยนต์ รวมถึง วิตกกังวลว่า โรงงานฯอาจต้องปิดหากเทคโนโลยีหุ่นยนต์ล้มเหลว

โรบอตช่วยอะไรโรงงานฯได้บ้าง
เมื่อเทคโนโลยีโรบอตนำมาใช้แล้วในปัจจุบัน โดยนำมาประยุกต์ใช้ในการแปรรูปสัตว์ปีก ได้แก่ โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป เช่น การถอดกระดูก การบรรจุ และการจัดวางชั้นสินค้า แต่การนำมาใช้งานจริงยังไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไร เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในสหรัฐฯมีพัฒนาการค่อนข้างช้า แม้ว่า อุตสาหกรรมข้างเคียง เช่น รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการนำมาใช้เป็นเวลานานมากแล้ว การปรับแก้ไขหุ่นยนต์ให้เหมาะกับอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์ปีกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยังสามารถทำได้
ภารกิจหลักที่หุ่นยนต์สามารถนำมาใช้ในโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกได้คือ การแขวนสัตว์ปีกมีชีวิตบนแชคเกิลตามไลน์การเชือด และการขึ้นแขวนซากสัตว์ปีกบนไลน์การผลิต เป็นต้น 

ระบบการถอดกระดูกอัจฉริยะ
ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องถอดกระดูกด้วยหุ่นยนต์ ๓ บริษัท ได้แก่ Brenett ยังไม่สามารถตอบโจทย์โรงงานแปรรูปสัตว์ปีกในสหรัฐฯได้  โดยเทคโนโลยีการถอดกระดูกจากเนื้อสัตว์ปีกพัฒนาโดยสถาบัน Geogia Tech Research Institiute (GTRI) สามารถถอดกระดูกแบบอัตโนมัติ หรือใช้ระบบถอดกระดูกอัจฉริยะมีการใช้งานมาเป็นเวลา ๒ ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตสัตว์ปีกในสหรัฐฯ ยังไม่สามารถซื้อระบบใหม่นี้ได้ เนื่องจาก การลงทุนที่ค่อนข้างสูงมาก นักวิจัยที่ GTRI กำลังสนใจกล้องสามมิติ เพื่อตรวจสอบโครงสร้างภายนอกของซากไก่ และกำหนดโครงสร้างของกระดูกภายในซากไก่ นักวิจัยพยายามใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ และใบมีด เพื่อเก็บผลผลิตเนื้อไก่ให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้แรงงานคน 
ขณะที่ การใช้ระบบถอดกระดูกอัตโนมัติเป็นที่นิยมมากในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกยุโรป แต่เครื่องมือที่มีอยู่ก็ยังไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดสหรัฐฯ ตอนนี้ ยุโรปได้นำหน้าสหรัฐฯไปแล้วสำหรับการนำหุ่นยนต์ไปใช้ทั่วไปในอุตสาหกรรม สาเหตุที่พัฒนาการเทคโนโลยีนี้ในยุโรปไปเร็วกว่าคือ ความเร็วไลน์ที่เร็วกว่า ช่วยชดเชยต้นทุนของเทคโนโนโลยีได้เนื้อแปรรูปปริมาณมากขึ้น 
  ยุโรปก้าวไปไกลมากสำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรมหุ่นยนต์ เป็นผลมาจากการสนับสนุนเงินวิจัยของรัฐบาลทั้งในเดนมาร์ก สวีเดน ฮอลแลนด์ และเยอรมัน มีการระดมงบประมาณหลายล้านเหรียญในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ขณะที่ ในสหรัฐฯ งานวิจัยอยู่ในมหาวิทยาลัย และอุตสาหกรรมไม่กี่แห่งเท่านั้น ถึงกระนั้น ก็ยังมีความหวังสำหรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในสหรัฐฯ โดยเชื่อว่า จะมีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ใหม่ๆทดสอบในภาคธุรกิจ เช่น วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และชีวการแพทย์ อันเป็นธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูงกว่า เมื่อขอบเขตของงานวิจัยในภาคการแพทย์ก้าวไปข้างหน้า ก็จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารให้คล้อยตามได้ง่ายขึ้น อุตสาหกรรมการแพทย์มีกำลังทรัพย์เพื่อจ่ายให้กับการวิจัย และระบบหุ่นยนต์ ที่พร้อมสำหรับถ่ายทอดไปยังอุตสาหกรรมสัตว์ปีก เช่น กิจกรรมที่คล้ายคลึงกันระหว่างหุ่นยนต์ที่ใช้ทางการแพทย์ และการแปรรูปสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นการตัดเนื้อเยื่อ เส้นเอ็น และกระดูก เป็นต้น
  ขณะที่ การศึกษาเทคโนโลยีหุ่นยนต์พัฒนา และมีความสามารถมากขึ้น เทคโนโลยีจะพัฒนาจนทำให้ผู้ปฏิบัติงานถอดกระดูกสัตว์ปีกสามารถฝึกหุ่นยนต์ทำงานแทนได้ แตกต่างกันอย่างมากกับการพัฒนาโปรแกรมให้ทำงาน

ระบบการแขวนไก่มีชีวิต
เทคโนโลยีภาพ และเซนเซอร์ กำลังเจริญเติบโตทั้งความสามารถ และต้นทุนที่ต่ำลง หุ่นยนต์สามารถแขวนไก่มีชีวิตขึ้นบนไลน์เชือด หรือเก็บชิ้นส่วนสัตว์ปีก มีการพัฒนาใกล้จะนำไปใช้เชิงพาณิชน์แล้ว เวลานี้ ระบบเซนเซอร์ด้วยหุ่นยนต์เป็นสิ่งท้าทายที่จะหยิบปีกไก่จากตัว หรือการจับไก่มีชีวิตที่ผ่านลงมาตามสายพาน แล้วแขวนขึ้นบนแชกเกิล แต่นักวิจัยกำลังทำงานในมิติใหม่ที่จะทำให้ภารกิจเหล่านี้มีความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์จริง สิ่งนี้จะเป็นไปได้ในวันหนึ่งโดยใช้ โคบอต (Cobots) คือ หุ่นยนต์ที่ทำงานเคียงข้างกับมนุษย์ พนักงานอาจเป็นผู้ควบคุมไก่มีชีวิตบนสายพานให้เป็นระเบียบก่อนที่จะให้โคบอตจับ แล้วแขวนไก่ขั้นบนราวแขวนไก่  

โรบอตพร้อมแล้วสำหรับโรงงานแปรรูปการผลิต
ปัจจุบัน การนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงานแปรรูปใกล้เคียงความจริงมากขึ้น เช่น การบรรจุผลิตภัณฑ์ลงในกล่อง และการปิดผนึกกล่อง ลำเลียงขึ้นบนชั้นพาเลต ถึงกระนั้น ก็ยังเป็นไปค่อนข้างช้าเป็นผลมาจากราคาที่ยังแพง และระยะเวลาการคืนทุน หุ่นยนต์สำหรับการลำเลียงสินค้าบนชั้นพาเลตต้องใช้เวลา ๒ ปี แต่ยังมีมูลค่าที่ยากต่อการประเมินเป็นตัวเงิน เช่น การใช้หุ่นยนต์ลำเลียงสินค้าบนชั้นพาเลตช่วยลดปัญหาปวดหลัง หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆของพนักงาน ตลอดจนลดเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการทำงาน หุ่นยนต์ไม่ต้องพัก หรือมีวันหยุด   
ประตูได้เปิดกว้างแล้วสำหรับการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก อุปสรรคบางประการเกี่ยวกับราคา และพื้นที่ภายในโรงงาน รวมทั้งปัจจัยด้านวัฒนธรรมเกี่ยวกับมุมมองของมนุษย์ต่อหุ่นยนต์ การเปลี่ยนไปใช้หุ่นยนต์คงไม่เกิดขึ้นทันทีทันใดในวันพรุ่งนี้ คงต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากร ความสามารถ และเทคโนโลยีในเวลา และสถานที่อันเหมาะสมต่อไป

เอกสารอ้างอิง
Thornton G. 2015. Robotics in poultry processing-a growing role?. [Internet]. [Cited 2015 Apr 11]. Available from: http://www.wattagnet.com/articles/24517-robotics-in-poultry-processing-a-growing-role  

ภาพที่ ๑ โรบอตก้าวเข้าสู่ภารกิจใหม่ในโรงงานแปรรูปการผลิตสหรัฐฯ (Bigstock, 2015) 


วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...