วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สู้เว้ย!!! จีนใช้รีคอมบิแนนท์ อินเตอร์เฟอรอนปราบหวัดนกเอช ๙

วันพุธที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐
นักวิทยาศาสตร์จีนออกอาวุธใหม่ต่อสู้กับโรคไข้หวัดนก โดยใช้รีคอมบิแนนท์ อัลฟา อินเตอร์เฟอรอน ซึ่งเป็นสารไซโตไคน์ตามธรรมชาติหลังการถูกกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อการป้องกัน และรักษาโรคไข้หวัดนก
            ปัจจุบัน วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกในประเทศจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดของโรคได้ เนื่องจาก ความหลากหลายของสายพันธุ์เชื้อไวรัสในประเทศจีนมากมายเหลือเกิน นักวิจัยจึงพยายามหาวิธีการใหม่สำหรับป้องกัน รักษา และวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก

ไฟเขียวผ่านตลอดให้อัลฟา อินเตอร์เฟอรอน
          นักวิจัยจากสถาบันจุลชีววิทยาของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน ร่วมกับบริษัท Qingdao Vland Biological Product และศูนย์วิจัย Qingdao National Animal Protection Engineering Technology Reserch Center มุ่งหน้าใช้อัลฟา อินเตอร์เฟอรอน ที่มีบทบาทสำคัญในระยะแรกของการติดเชื้อไวรัสโดยการพัฒนาการทำหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อก่อโรค และเหนี่ยวนำร่างกายให้สร้างโปรตีนต่อต้านไวรัสอีกหลายชนิด โดยยีนของอัลฟา อินเตอร์เฟอรอนจะนำเข้าสู่เชื้อ อี. โคไล เพื่อให้สร้างโปรตีนของอัลฟา อินเตอร์เฟอรอนของไก่ โปรตีนเหล่านี้จะถูกเตรียมให้บริสุทธิ์แล้วผสมในน้ำให้ไก่กิน
         ผลการวิจัย พบว่า ไก่ที่ได้รับโปรตีนบริสุทธิ์ของรีคอมบิแนนท์ อัลฟา อินเตอร์เฟอรอน สามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกสับไทป์เอช ๙ บ่งชี้ว่า โปรตีนนี้ยังคงออกฤทธิ์ได้ในตัวสัตว์ โดยสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการโรคในระยะยาวต่อไป
เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2017. Fight AI: China can now use recombinant interferon. [Internet]. [Cited 2017 Nov 24]. Available from: http://www.poultryworld.net/Health/Articles/2017/11/Fight-AI-China-can-now-use-recombinant-interferon-216453E/

ภาพที่ ๑ รีคอมบิแนนท์ อัลฟา อินเตอร์เฟอรอน เป็นสารไซโตไคน์ตามธรรมชาติหลังการถูกกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อการป้องกัน และรักษาโรคไข้หวัดนก (แหล่งภาพ Ronald Hissink)

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่สนับสนุนไก่เนื้อโตช้า

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นว่าด้วยการผลิตสัตว์ปีกยุคใหม่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับสังคมอย่างมาก แต่ก็มีคำถามถึงความยั่งยืนของการผลิตไก่เนื้อโตช้า
           เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นักวิจัยเยอรมันได้ตีพิมพ์รายงานการประเมินศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตสัตว์ปีกทางเลือกใหม่ด้วยวิธีการพิเศษ หรืออินทรีย์ ทั้งในสหภาพยุโรป และเยอรมัน โดยเฉพาะ การใช้พันธุ์สัตว์ปีกโตช้าที่มีประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารที่น้อยกว่าการเลี้ยงตามปรกติ และต้องใช้พื้นที่การเลี้ยงต่อตัวมากกว่า การผลิตและติดฉลากสัตว์ปีกอินทรีย์สอดคล้องกับความต้องการขั้นต่ำของตลาดสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาโดยสภาพไก่แห่งชาติในสหรัฐฯ และบริษัทอีแลนโคเมื่อต้นปีก็ไม่ค่อยน่าพอใจเช่นกัน โดยรายงานผลการวิจัยว่า ทั้งการผลิตสัตว์ปีกด้วยวิธีการเลี้ยงสัตว์ปีกโตช้า และอินทรีย์มีประสิทธิภาพต่ำ และต้นทุนการผลิตสูง เนื้อสัตว์ที่ผลิตด้วยการผลิตวิธีการเลี้ยงสัตว์ปีกโตช้า จะมีราคาแพงกว่าเนื้อปรกติ ๒๐ ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ยิ่งเนื้อสัตว์ปีกอินทรีย์แพงกว่าถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์   
          รายได้ทางการเกษตรกรรมของสหภาพยุโรปจะลดลงราว ๓ พันล้านยูโรในกรณีการเลี้ยงสัตว์ปีกโตช้า และ ๘ พันล้านยูโรในกรณีมีการเลี้ยงสัตว์ปีกอินทรีย์ นอกจากนั้น วิธีการเลี้ยงสัตว์ปีกโตช้า และอินทรีย์ยังใช้ทรัพยากรต่างๆมากกว่าการเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงอุตสาหกรรมทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ วัสดุรองพื้น น้ำ และยังส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือแก๊สก่อปัญหากรีนเฮาส์ก็จะเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกในที่สุด ผลการวิจัยเหล่านี้อาจเป็นผลดีสำหรับอุตสาหกรรมที่เริ่มตอบสนองตามใจกลุ่มนักเคลื่อนไหวคุ้มครองสัตว์ที่พยายามกดดันผู้ประกอบการอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตไข่ในอดีตที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์ก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก
               ผู้ประกอบการ ยอมรับให้องค์กรพิทักษ์สัตว์อย่างเพื่อนสัตว์โลก (Global Animal Partnership, GAP) กำหนดเป็นมาตรฐาน และระบบสวัสดิภาพสัตว์อื่นๆโดยมิได้คำนึงถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และอาจไม่สนใจที่จะรับทราบข้อมูลด้วยซ้ำ การตัดสินใจในอดีต ผู้ที่กำหนดมาตรฐานอาศัยปัจจัยสำคัญที่สุดมุ่งเน้นไปที่ความคิดของผู้บริโภค และความรู้สึกที่ดีเพียงด้านเดียว เช่นเดียวกับผู้กำหนดมาตรฐานเลี้ยงไก่ไข่ไม่ใช้กรง หรือปลอดภัยปฏิชีวนะก็มิได้สนใจกับข้อมูลใดๆด้านวิทยาศาสตร์ แต่ใช้ความเชื่อ และความรู้สึกของผู้บริโภคเท่านั้น    
               ในอนาคตข้างหน้า เริ่มจากปี ค.ศ.๒๐๑๘ เป็นปีที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหารในการตัดสินใจว่าจะเลือกเดินบนผืนทรายด้วยการเลี้ยงสัตว์ปีกโตช้า หากผู้ประกอบการนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ให้ข้อมูลกับผู้บริโภค และผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกจะสามารถเลือกสวนทางกับกระแสการเลี้ยงสัตว์ปีกโตช้าได้
เอกสารอ้างอิง


ภาพที่ ๑ วิธีการเลี้ยงสัตว์ปีกโตช้า และอินทรีย์ยังใช้ทรัพยากรต่างๆมากกว่าการเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงอุตสาหกรรมทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ วัสดุรองพื้น น้ำ และยังส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือแก๊สก่อปัญหากรีนเฮาส์ก็จะเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกในที่สุด (แหล่งภาพ: Wabeno, Bigstock)

วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ลมหนาวหอบหวัดนกกลับเกาหลีใต้แล้ว

ยืนยันการตรวจพบเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๖ ในเป็ด ๑๒,๐๐๐ ตัว ภายหลังหายหน้าไปเพียงไม่กี่เดือน โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงได้หวนกลับสู่ภาคการผลิตสัตว์ปีกของเกาหลีใต้อีกครั้ง นอกจากนั้น ยังมีรายงานการระบาดใหม่ในแอฟริกาใต้ อิตาลี ไต้หวัน และบัลกาเรีย
               เกาหลีใต้ เชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๖ ได้รับการยืนยันที่ฟาร์มเป็ดเมืองโกชางห่างจากกรุงโซลไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๓๐๐ กิโลเมตร ตามรายงานข่าวจากยอนฮัป นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ลี นัก ยอน ได้สั่งมาตรการเร่งด่วนให้ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเป็นเวลา ๔๘ ชั่วโมง รวมถึง ยานพาหนะ และพนักงานฟาร์ม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดต่อไป โดยกฏระเบียบต่างๆจะยังคงบังคับใช้ต่อไปอีก ๗ วันในพื้นที่เมืองโกชาง เกาหลีใต้ยืนยันการระบาดของโรคครั้งสุดท้ายเมื่อกลางเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา แต่เจ้าพนักงานยังมีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสเอช ๕ จากมูลนกป่าเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง
               ญี่ปุ่น ภายหลังการยืนยันการตรวจพบเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันในประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในฤดูหนาวนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงเกษตรฯได้รายงานต่อโอไออีเรื่องการตรวจพบเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๖ ในนกป่าอีก ๓ ตัว และเป็ด ๒ ตัว โดยพบนกนางนวลตายอีก ๑ ตัว ในเมืองมัตซึเอะ จังหวัดชิมาเนะ ไม่พบความผิดปรกติในนกป่าอื่นๆในพื้นที่เดียวกัน
               ไต้หวัน กระทรวงเกษตรฯรายงานต่อโอไออีว่า ซากห่าน ๑๕๐ ตัวพบในอำเภอเจียหลี่ เมืองไถ่หนาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผลเป็นบวกต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง เอช ๕ เอ็น ๒ ฟาร์มภายในรัศมี ๓ กิโลเมตรกำลังเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด 

แอฟริกาใต้ทำเซนจูรี่เบรค
               โรคไข้หวัดนกระบาดในแอฟริกาใต้มากกว่า ๑๐๐ ครั้งแล้ว นับตั้งงแต่การตรวจพบเป็นครั้งแรกของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง เอช ๕ เอ็น ๘ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้มีการระบาดที่ไม่ได้รายงานที่ฟาร์มนกกระจอกเทศในจังหวัดเคปตะวันตกทำให้มีการระบาดรวมแล้ว ๓๙ ครั้งจากนกกระจอกเทศ ๑,๗๓๓ ตัว ในจังหวัดหวัดเดียวกันนี้ยังมีห่านนำเข้าในเคปทาวน์ และฝูงไก่สวยงาม ๓๗ ตัวในเมืองดราเคนสไตน์มีผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเป็นบวกต่อเอช ๕ เอ็น ๘ มาแล้วในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  

ยุโรป การระบาดใหม่ในอิตาลี และบัลกาเรีย
               อิตาลี การระบาดใหม่ของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงจากเอช ๕ เอ็น ๘ ยืนยันในอิตาลีในสัปดาหืที่ผ่านมา รวมแล้วอิตาลีมีการระบาดไปแล้ว ๗๙ ครั้งตามข้อมูลของ IZSVe โดยรายล่าสุดเกิดขึ้นในจังหวัดเบรสเซียในลอมบาร์ดดีในสัตว์ปีกทั้งหมด ๘๕,๐๐๐ ตัว ทั้งหมดถูกทำลายเรียบร้อยแล้ว การระบาดสองครั้งพบในฟาร์มไก่ไข่ที่อยู่ใกล้กับการระบาดครั้งก่อนหน้า แม่ไก่ ๑ ใน ๒ โรงเรือนกินอาหารลดลง และไข่ลดลง ขณะเดียวกัน ยังพบการระบาดในฟาร์มไก่เนื้อที่มีการตายอย่างรวดเร็ว
               บัลกาเรีย มีการระบาด ๒ ครั้งของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงจากเอช ๕ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน โดยมีรายงานต่อโอไออี จำนวนสัตว์ปีกทั้งหมด ๑๒,๐๐๐ ตัวที่เกิดความเสียหายจากทั้งการตาย และการทำลายสัตว์ป่วยเป็นสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านในจังหวัดสไลเวน และแจมโบล หลังจากการระบาดครั้งแรกในสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านในจังหวัดฮาสโกโวเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เอกสารอ้างอิง


ภาพที่ ๑ หลังโรคสงบไม่กี่เดือนในเกาหลีใต้ เชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๖ ได้รับการยืนยันที่ฟาร์มเป็ดเมืองโกชางห่างจากกรุงโซลไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๓๐๐ กิโลเมตร (แหล่งภาพ: Thatsaphon Saengnarongrat, Bigstock)


วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เนื้อไก่ป๊อปปูลาร์ชนะวัวแล้วในแมคโดนัลด์อังกฤษ

ร้านอาหารแมคโดนัลด์ในอังกฤษประกาศว่า คำสั่งซื้อเนื้อไก่เวลานี้มียอดซื้อสูงกว่าเนื้อโคแล้ว
ผู้อำนวยการบริหารจัดการร้านอาหารจานด่วน Cannor McVeigh บรรยายไว้ในการประชุมอุตสาหกรรมสัตว์ปีก และไข่สัปดาห์นี้ว่า ในปี ค.ศ.๒๐๒๐ ปริมาณเนื้อสัตว์ปีกจากฟาร์มในสหราชอาณาจักรจะสูงกว่าปี ค.ศ. ๒๐๑๓ เป็น ๑๐ ถึง ๑๑ เท่าตัว แต่ยังไม่สามารถทำนายเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนได้
          ผู้บริโภคได้เปลี่ยนความนิยมจากเนื้อโคเป็นเนื้อไก่มากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากร้านอาหารจานด่วนอย่างแมคโดนัลด์ เดิมธุรกิจของบริษัทมุ่งเน้นไปยังเนื้อโค แต่ถึงเวลานี้ ผลิตภัณฑ์จากไก่กลับได้รับความนิยมมากกว่าแล้ว ทัศนคติของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หันมาเปลี่ยนความคิดในการเลือกเมนูจากร้านแมคโดนัลด์ ราคาเนื้ออกไก่ในอังกฤษยังเป็นอุปสรรค ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในอังกฤษโปรดปรานแต่เนื้ออก และคาดหวังว่า อาหารบนจานจะมีแต่เนื้ออกเท่านั้น ขณะเดียวกัน เนื้ออกก็เป็นชิ้นส่วนที่มีราคาที่ค่อนข้างสูง กลายเป็นปัจจัยที่จำกัดการเติบโตของยอดการสั่งซื้อเนื้อไก่  ในปี ค.ศ.๒๐๒๐ อีกไม่ถึง ๓ ปีข้างหน้าก็จะมีไก่อังกฤษมากกว่าเดิมเป็น ๑๐ ถึง ๑๑ เท่าของปี ค.ศ.๒๐๑๓ อีกไม่กี่สัปดาห์นี้ก็จะมีการหารือร่วมกันในรายละเอียดกับคู่ค้าสำคัญที่มอย พาร์ก และคาร์กิล
               ในอดีต แมคโดนัลด์ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการจำหน่ายสินค้าประเภคเนื้อโค ไข่ นม และมันฝรั่ง ยังไม่ค่อยมีสินค้าประเภทไก่ โดยมีแหล่งวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่ ยุโรป ไทย และบราซิล รวมถึง สหราชอาณาจักร เมื่อเร็วๆนี้ แมคโดนัลด์ยังมีกิจกรรมร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ปล่อยอิสระ โดยมีการผลิตสื่อโฆษณาแสดงให้เห็นถึงการเลี้ยงแม่ไก่ปล่อยอิสระท่ามกลางต้นไม้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ

เอกสารอ้างอิง

Davies J. 2017. Chicken now more popular than beef at UK McDonalds. [Internet]. [Cited 2017 Nov 6]. Available from: http://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2017/11/Chicken-now-more-popular-than-beef-at-UK-McDonalds-207835E/

ภาพที่ ๑ พฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารในร้านอาหารแมคโดนัลด์กำลังเปลี่ยนไป พร้อมที่จะคิดต่างกับเมนูอาหารที่เคยคุ้นเคย (แหล่งภาพ: Brian Robert Marshall)

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เตรียมตั้งรับหวัดนก เมื่อถึงกาลการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว ชี้ปีนี้หนาวยาวนาน พ้องไปกับภาษิต “Winter is coming” จากมหากาพย์ละครย้อนยุค Game of Thrones ที่เพิ่งปิดฉากฤดูกาลที่ ๗ ไปด้วยฉากทัพผีดิบไวท์วอล์คเกอร์ ทุกอาณาจักรที่เคยเป็นปรปักษ์กันมาก่อนก็ต้องหันมาจับมือกันรับมือกับภัยพิบัติที่สำคัญมากกว่า สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ศัตรูร้ายที่อาจมาพร้อมกับฤดูหนาวก็คือ โรคระบาด โดยเฉพาะ ไข้หวัดนก ที่แวดล้อมหน้าล้อมหลังประเทศไทยในยามนี้
               ในสหราชอาณาจักร ความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกหวนกลับมาอีกครั้ง หลังจากฤดูหนาวปีที่แล้ว จำนวนครั้งของการระบาดโรคไข้หวัดนกมากเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลได้ยกระดับความเสี่ยงของโรคระบาดจากต่ำขึ้นเป็นปานกลาง เนื่องจาก การระบาดของโรคไข้หวัดนก สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๘ ทั่วยุโรป อิตาลีมีรายงานการระบาดล่าสุดไปแล้ว ๑๗ ครั้ง โดยเฉพาะ ฟาร์มไก่ไข่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศมีประชากรไก่ไข่มากกว่า ๘๕๐,๐๐๐ ตัวในฟาร์ม ในเยอรมันพบไวรัสในนกป่า และบัลกาเรียเกิดการระบาด ๒ ครั้ง  
               เกษตรกรสามารถเตรียมตั้งรับมือกับการเยือนของฤดูหนาวพร้อมกับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้อย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงจากโรค อันดับแรกคือ การลดแขกเยี่ยมฟาร์ม การยกระดับมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพให้เข้มงวดเป็นพิเศษ และระมัดระวังนกป่าที่โบยบินเข้าใกล้ฟาร์ม ไม่ให้มีโอกาสเข้าใกล้กับสัตว์ในฟาร์ม โรคไข้หวัดนกอาจไม่ได้เป็นปิศาจร้ายที่น่ากลัวเหมือนเช่นละครย้อนยุค Game of Thrones แต่การเตรียมรับมือเป็นอย่างดีสำหรับฤดูหนาวที่มาถึงแล้ว ก็จะช่วยให้ฟาร์มของเราแคล้วคลาดปลอดภัยจากโรคระบาดผ่านพ้นฤดูหนาวที่ยาวนานในปีนี้ไปได้
เอกสารอ้างอิง
Davies J. 2017. Preparing for winter for the best chance to prevent bird flu. [Internet]. [Cited 2017 Nov 8]. Available from: http://www.poultryworld.net/Home/General/2017/11/Preparing-for-winter-for-the-best-chance-to-prevent-bird-flu-208649E/     
ภาพที่ ๑ เกษตรกรสามารถเตรียมตั้งรับมือกับการเยือนของฤดูหนาวพร้อมกับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้ ด้วยการลดแขกเยี่ยมฟาร์ม การยกระดับมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพให้เข้มงวดเป็นพิเศษ และระมัดระวังนกป่าที่โบยบินเข้าใกล้ฟาร์ม (แหล่งภาพ: Jan Willem Schouten)

วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

แบนไก่ฮอลแลนด์ หลังเจอหวัดนกรุนแรงต่ำ

ฮ่องกงประกาศห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากดัทช์ภายหลังการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงต่ำ โดยมีการสั่งทำลายสัตว์ปีกไปแล้วมากกว่า ๔๐,๐๐๐ ตัว
               รัฐบาลฮ่องกงได้ห้ามนำเข้าเนื้อ และไข่จากสัตว์ปีกทุกชนิดจากจังหวัดซีแลนด์ ทางตะวันตกของประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ ฮ่องกงนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง ๒,๕๐๐ ตัน และไข่ ๑ ล้านฟองจากเนเธอร์แลนด์ การระบาดครั้งนี้ ประเทศเนเธอร์แลนด์รายงานต่อโอไออีตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตามรายงานการเกิดโรคแบบไม่แสดงอาการจากเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๒ ซึ่งเป็นสับไทป์ที่เคยเกิดการระบาดใหญ่มาแล้วในสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ที่ผ่านมา รัฐบาลดัทช์ได้สั่งห้ามการขนส่งสัตว์ปีก ไข่ เนื้อ และมูลสัตว์ภายในรัศมี ๑ กิโลเมตรรอบฟาร์มในหมู่บ้าน Sint Philipsland แม้ว่าจะไม่มีฟาร์มสัตว์ปีกอื่นๆในพื้นที่ การสั่งทำลายสัตว์ปีกครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดการระบาดของโรค แม้ว่า เชื้อไวรัสที่ตรวจพบจะยังเป็นเพียงเชื้อไวรัสเอช ๕ ชนิดไม่รุนแรง แต่เชื้อสามารถเกิดการกลายพันธุ์กลายเป็นเชื้อที่รุนแรง และระบาดไปยังฟาร์มไก่ ดังนั้น รัฐบาลจึงตัดสินใจทำลายสัตว์ปีกดังกล่าว     
               นับเป็นเคราะห์ซ้ำ กรรมซัดของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในเนเธอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ประสบปัญหาการตกค้างของฟิโปรนิลในไข่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ไข่ไก่หลายล้านฟองถูกทิ้งทั้งหมด และไก่มากกว่า ๓.๒ ล้านตัวก็ถูกทำลายมาแล้ว ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกมากกว่า ๒๖๐ แห่งยังคงปิด รอคอยคำสั่งอนุญาตจากรัฐบาลให้กลับมาเลี้ยงใหม่ได้
เอกสารอ้างอิง


ภาพที่ ๑ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์รายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงต่ำจากเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๒ ซึ่งเป็นสับไทป์ที่เคยเกิดการระบาดใหญ่มาแล้วในสหรัฐฯ (แหล่งภาพ: Jan Willem Schouten)


วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...