วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

อาหารเพื่อศตวรรษที่ ๒๑: ความท้าทายของผู้นำด้านการผลิตอาหาร


ผู้นำด้านการผลิตอาหารในอนาคตต้องมองเห็นภาพของธุรกิจแบบองค์รวมเป็นชนิด และสิ่งท้าทายที่ต้องเผชิญหน้า เพื่อกำหนดทิศทางปรับตัวการผลิตอาหารให้มีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยอาหาร และการผลิตอย่างยั่งยืน เข้าใจความซับซ้อนของสังคมที่มีจำนวนประชากรโลกเติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ๗.๗ พันล้านคนทยานขึ้นเป็นหมื่นล้านคนในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ นี้ ขณะที่ การผลิตอาหารยังคงต้องเพิ่มขึ้น สร้างเป็นเครือข่ายการกระจายสินค้าไปให้ตลอดได้ทั่วโลก 

อุปสรรคในการผลิตอาหารที่สำคัญสำหรับอนาคตจากห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยมินเนโซตาว่าด้วยระบบการผลิตอาหารเชิงบูรณากรได้ข้อสรุปบางประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่

๑. สิ่งแวดล้อม ถึงปัจจุบันทรัพยากรโลกกำลังร่อยหรอลงทุกที การผลิตอาหารให้กับพลเมืองโลกให้เพียงพออย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกที่สุดสำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคต ขณะเดียวกัน ประเทศผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก และพื้นที่การเลี้ยงสัตว์ และเพาะปลูกกำลังหายไปทุกปีจากการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การเสื่อมคุณภาพของดิน การขยายตัวของเมือง และความแห้งแล้ง ในสหรัฐฯแห่งเดียว พื้นที่การเกษตรกรรมกว่า ๗๘ ล้านไร่หายไปในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาตามรายงานข้อมูลจาก American Farmland Trust   

๒. ความปลอดภัยอาหาร เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ระบบการจัดการความปลอดภัยอาหารโลกยังเป็นเพียงระบบเอกสาร และปฏิบัติการเชิงรับ อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ กำลังขับเคลื่อนกฏหมายใหม่ที่ทำให้ระบบการจัดการความปลอดภัยอาหารมีความทันสมัยมากกว่าเดิม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการปฏิบัติงานสอดคล้องกับข้อกำหนด จึงได้อำนวยความสะดวกโดยใช้ระบบดิจิตอล และนำเครื่องมือช่วยป้องกันปัญหาด้านความปลอดภัยอาหารก่อนที่จะเกิดขึ้นโดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้แก่ อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่งเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Internet of Things) บล็อกเชน และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้ระบบดิจิตอลมากขึ้นก็มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยแบบไซเบอร์สูงขึ้นเช่นกัน

๓. การจัดการแรงงาน การบังคับควบคุมกฏหมายด้านแรงงานชาวต่างด้าวอย่างเข้มงวดในสถานประกอบการอาหารสหรัฐฯ กลายเป็นสิ่งท้าทาย และสั่นคลอนอุตสาหกรรมการผลิตอาหารอย่างมาก ระบบการผลิตอาหารปัจจุบันนิยมใช้แรงงานต่างด้าว ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์จนถึงฟาร์ม เพื่อแปรรูปเป็นอาหารบรรจุเสร็จในโรงงาน อย่างไรก็ตาม คนงานในห่วงโซ่การผลิตอาหารทั่วโลกมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และความเจ็บป่วยจากการทำงาน ผู้ประกอบการถูกกระตุ้นให้เพิ่มความเอาใจใส่รับผิดชอบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นไม่ใช่เพียงความปลอดภัยต่อพนักงาน แต่ยังรวมถึงความปลอดภัยต่อตัวพนักงานของผู้จัดจำหน่าย และลูกค้าอีกด้วย

๔. ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคในวันนี้ต้องการสินค้าที่แตกต่างจากผู้บริโภครุ่นก่อนอย่างมาก เพื่อให้ยังคงยืนหยัดอยู่ในตลาด และดำรงความสามารถแข่งขันไว้ได้ ผู้ประกอบการอาหารต้องนำรสชาติ และชนิดของผลิตภัณฑ์แปลกใหม่เพิ่มขึ้น ความพยายามวิจัยอาหารใหม่จะช่วยต่อลมหายใจของผู้ประกอบการ และการเสาะหาแหล่งวัตถุปรุงอาหาร ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการเมืองอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้กดดันให้ผู้ประกอบการต้องสามารถปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม

เนื่องจาก เรากำลังเผชิญหน้ากับการเพิ่มประชากรโลก แต่พื้นที่การเกษตรกรรมสำหรับผลิตอาหารกลับน้อยลง การผลิตอาหารให้เพียงพอต่อประชากรโลกในอนาคตจำเป็นต้องใช้ทุกนวัตกรรมที่มีอยู่ในมือ และต้องแสวงหาใหม่เพิ่มขึ้นอีก การผลิตสินค้าเกษตรกรรม และอาหารต้องมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม โดยให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด เกิดของเสียน้องลง จึงจะเพียงพอตอบสนองต่อจำนวนประชากรโลกในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ 

การลงทุนด้านการจัดการเพาะปลูก วิถีใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปอาหาร และการเพิ่มศักยภาพการจัดส่ง และกระจายสินค้าจำเป็นต้องเตรียมการให้พร้อม มิฉะนั้น ความมั่นคงทางอาหารจะเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงไปทั่วโลก ราคาต้นทุนอาหารจะเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นวิกฤติใหม่

ขณะที่ การจัดจำหน่ายสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นทั่วโลก ประเด็นด้านแรงงานก็จะเป็นต้องให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ การใช้แรงงานด้วยจริยธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร โดยเฉพาะ ประเทศกำลังพัฒนา ต้องสร้างความเชื่อมั่น และตรวจสอบได้ นอกจากนั้น แรงงานทั่วโลกต้องทำงานอย่างปลอดภัยขณะผลิตอาหาร โดยสร้างความเชื่อมั่นว่า พนักงานเหล่านั้นจะต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะ การปฏิบัติงานกับเครื่องจักรที่เป็นอันตราย หรือปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยจากการทำงาน

ความท้าทายของผู้ผลิตอาหารแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ใหญ่หลวง และสลับซับซ้อน ต้องอาศัยความรู้ และความเข้าใจของผู้นำรุ่นใหม่ที่มองรอบด้านตั้งแต่ฟาร์มไปจนถึงส้อมผู้บริโภค โดยต้องคิดอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงทุกขั้นตอนของการผลิตอาหาร เพื่อผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ การมุ่งเน้นเพียงจิ๊กซอว์แค่ชิ้นเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาที่เรากำลังเผชิญหน้าในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ต้องพิจารณาไตร่ตรองไปทุกส่วน รวมถึง ความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละส่วนจนค้นพบโอกาสของอนาคตได้
เอกสารอ้างอิง
Van de Light J. 2019. Food in the 21st Century: Challenges in the Food System.  [Internet]. [Cited 2019 Oct 1]. Available from: https://www.foodsafetymagazine.com/enewsletter/food-in-the-21st-century-challenges-in-the-food-system/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...