การจัดการฟาร์มมีบทบาทอย่างมากต่อการลดระดับการปนเปื้อนเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์
และซัลโมเนลลา ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษในมนุษย์ ฟาร์มสามารถช่วยลดซัลโมเนลลา และแคมไพโลแบคเตอร์ให้โรงเชือดได้มาก และเป็นเคล็ดลับแบบเร่งด่วนสำหรับการลดเชื้อซัลโมเนลลา และแคมไพโลแบคเตอร์
การปนเปื้อนเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในเนื้อไก่
และผลิตภัณฑ์
เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรียร่วมสองล้านรายต่อปีในสหรัฐฯ
ผลการวิจัยร่วมกับศูนย์ควบคุม และป้องกันโรค องค์การอาหารและยา
และกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า การติดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ในมนุษย์ร้อยละ ๓๕
เกิดจากเนื้อไก่ และไก่งวง การติดเชื้อซัลโมเนลลาร้อยละ ๓๖ เกิดจากเนื้อไก่ ไก่งวง
โค และสุกร
ความปลอดภัยอาหารสำหรับเนื้อสัตว์ปีกต้องเริ่มต้นตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์
เนื่องจาก เชื้อแบคทีเรียตั้งต้นจากที่นั่น แล้วเข้าสู่โรงเชือด
ผ่านสัตว์ที่ถูกผลิตเป็นอาหาร
อ้างตามรายงานในปี
พ.ศ. ๒๕๖๐ ความปลอดภัยอาหารจากฟาร์มสู่ส้อม กลยุทธของฟาร์ม และอาหารสัตว์
สามารถช่วยสนับสนุนความปลอดภัยการผลิตเนื้อสัตว์ปีกสหรัฐฯได้ โดยเสนอทางเลือก ๓
ข้อที่ช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลาในโรงเชือดได้
๑.
กลยุทธการใช้โปรไบโอติก และพรีไบโอติกในอาหารสัตว์
เพื่อแก่งแย่งการสร้างนิคมยับยั้งเชื้อก่อโรคด้วยเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์
๒.
กลยุทธการเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น การให้วัคซีน สารฆ่าเชื้อ และน้ำมันหอมระเหย
เป็นต้น
๓.
เข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพ ลดการสัมผัสเชื้อก่อโรคที่เข้าสู่
หรือแพร่กระจายภายในฝูงสัตว์ปีก หรือพนักงานเลี้ยงสัตว์ปีก
โดยให้ความสำคัญกับการกำจัดการปนเปื้อนชุดปฏิบัติงาน และเครื่องมือ
ควบคุมสัตว์พาหะ สุขอนามัยอาหารสัตว์ และน้ำ การแยกกักกันสัตว์ที่ติดเชื้อ
และการจัดการโรงเรือนอย่างเหมาะสม
ตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ
สวีเดน
ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และเดนมาร์ก
เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้แผนควบคุมความปลอดภัยอาหาร
เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลาทั้งในสัตว์ปีก และสุกร
โดยกำหนดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวด รวมถึง การทำความสะอาด
และฆ่าเชื้อโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ การทดสอบ และตรวจติดตามเชื้อซัลโมเนลลาในสัตว์
และอาหารสัตว์ การทำลายสัตว์ปีกพันธุ์ที่ติดเชื้อ หรือคัดทิ้ง
และการแยกเชือดฝูงสัตว์ปีกที่ให้ผลบวกต่อเชื้อซัลโมเนลลา
ผลความสำเร็จประจักษ์ให้เห็นว่า
ไม่พบเชื้อซัลโมเนลลาเลยจากตัวอย่างซากสัตว์ปีกในสวีเดนทั้งหมด ๔,๐๓๓ ตัวอย่างในปี
พ.ศ. ๒๕๖๐ ฝูงสัตว์ปีกในนอร์เวย์
และฟินแลนด์ปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลาน้อยกว่าร้อยละ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙
และผู้ติดเชื้อแบคทีเรียในเดนมาร์กที่เคยสูงถึง ๖๐๐,๐๐๐ รายในปี พ.ศ. ๒๕๓๗
ไม่พบปัญหาอีกเลยในปี พ.ศ. ๒๕๔๘
ในทางตรงกันข้าม
ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกดิบที่ถูกควบคุมโดย USDA ปนเปื้อนด้วยเชื้อซัลโมเนลลาราวร้อยละ ๕ ของซากไก่ทั้งตัว และร้อยละ ๑๕
ของชิ้นส่วนไก่ เช่น ขา อก และปีก และร้อยละ ๔๐ ของเนื้อไก่บด
โปรไบโอติก
ผลการศึกษา
พบว่า โปรไบโอติกสามารถให้กับสัตว์ปีกเพื่อลดความชุกของเชื้อซัลโมเนลลา
โปรไบโอติกที่ทราบชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ (Defined
probiotics) ประกอบด้วยเชื้อแลคโตบาซิลลัส
บาซิลลัสทนความร้อน สามารถใช้ผสมในอาหารสัตว์ที่ผ่านความร้อนได้
การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบจากผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์
พบว่า การใช้โปรไบโอติกที่ทราบชนิดผสมลงในอาหารสัตว์โดยตรง (Defined direct-fed probiotics) มีประสิทธิภาพในการลดเชื้อซัลโมเนลลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลดีทางเศรษฐกิจจากการใช้โปรไบโอติกในสัตว์ปีกช่วยชดเชยต้นทุนของผลิตภัณฑ์ได้สำหรับการจัดการในฟาร์มไก่เนื้อ
วัคซีน
ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนสำหรับฟาร์มไก่พันธุ์
(เนื้อ) ช่วยลดอุบัติการณ์เชื้อซัลโมเนลลา และระดับของเชื้อในลูกไก่เนื้อ
การทดลองใช้ในบริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีกรายหนึ่งในสหรัฐฯ
โดยการใช้แผนการให้วัคซีนสำหรับฟาร์มไก่พันธุ์
พบว่าช่วยลดความชุกของเชื้อซัลโมเนลลาในตัวไก่ที่เข้าสู่โรงเชือด ขณะที่
ผลการศึกษาอีกแห่งหนึ่ง พบว่า
การให้วัคซีนไก่พันธุ์มีต้นทุนต่ำกว่าการให้ในไก่เนื้อ เนื่องจาก โดยเฉลี่ยแล้ว
ไก่พันธุ์ ๑ ตัวจะให้ลูกไก่เนื้อ ๑๘๐ตัวต่อปี
การให้วัคซีนในสัตว์ปีกยังเป็นประโยชน์ทางสาธารณสุข
องค์การอนามัยโลก
พบว่าความชุกของการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลาที่ลดลงในไก่ลงครึ่งช่วยช่วยลดความเสี่ยงจากการกินไก่ลงได้มากกว่าร้อยละ
๕๐ การลดลงของผู้ป่วยจากการติดเชื้อ ซัลโมเนลลา เอนเทอไรทิดิส ในสหราชอาณาจักร และยุโรป
มีความสัมพันธ์กับการให้วัคซีนในแม่ไก่ไข่
กลยุทธอื่นๆ
การจัดการที่ฟาร์มบางอย่างใช้กันทั่วโลก
แต่ยังไม่มีการใช้งานในสหรัฐฯ เช่น โซเดียม คลอเรต สามารถช่วยลดซัลโมเนลลาในไก่
และ อี.โคไล ในโค และสุกรได้
แคมไพโลแบคเตอร์เป็นประเด็นท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในการควบคุม
ประเทศสวีเดนประสบความสำเร็จในการใช้มาตรการสุขอนามัยในฟาร์มเพื่อควบคุมเชื้อ เช่น
การสร้างระบบป้องกันหนู และนก เข้ามาในฟาร์ม การควบคุมคนงานเข้าออกโรงเรือน
ผลลัพธ์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถหยุดการปนเปื้อนจากรองเท้า
และเสื้อผ้าลงได้
ผลวิจัยบางแห่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์
และการปรากฏของเชื้อแบคทีเรียในแหล่งน้ำในฟาร์ม แต่ยังต้องการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
McDougal T. 2019. Interventions reducing the risk of
poultry meat contamination. [Internet]. [Cited 2019 May
29]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2019/5/Interventions-reducing-the-risk-of-poultry-meat-contamination-433697E/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น