การนำเข้าเนื้อไก่จากแอฟริกาใต้ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่
ตลาดภายในประเทศได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนอาหารสัตว์สูง ขณะเดียวกัน
รัฐบาลแอฟริกาใต้ยังคงประเมินข้อเรียกร้องของสมาคมสัตว์ปีกในแอฟริกาใต้ให้ตั้งกำแพงภาษีจากร้อยละ
๑๒ ถึง ๓๗ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๘๒
ภายหลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก
ผสมกับการระบาดของโรคไข้หวัดนก สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๘
และความวิตกกังวลต่อปัญหาโรคอาหารเป็นพิษจากลิสเทอริโอซิส
อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกของประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้นในปี
พ.ศ. ๒๕๖๑ เพิ่มการผลิตขึ้นร้อยละ ๖ จนมีไก่เนื้อเข้าเชือด ๙๘๓ ล้านตัวต่อปี
ตามรายงานของ USDA-GAIN
ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในประเทศ
อุตสาหกรรมไก่เนื้อเป็นภาคเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงราว ๙ หมื่นล้านบาท
คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมดราวร้อยละ ๑๗ ของผลิตภัณฑ์การเกษตรกรรม
การผลิตไก่เนื้อเชิงพาณิชย์มีสัดส่วนร้อยละ ๙๐ของอุตสาหกรรมเนื้อไก่
ที่เหลืออีกร้อยละ ๑๐ เป็นการเลี้ยงของชาวบ้าน จากจำนวนไก่ ๙๘๓ ล้านตัว
ผลิตเป็นเนื้อไก่ได้ราว ๑.๒๗ ล้านตัน ไม่รวมเครื่องใน
หากรวมการเลี้ยงไก่ของชาวบ้านไปด้วยก็จะมีปริมาณราว ๑.๔๑ ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ
๕ จากปี พ.ศ. ๒๕๖๐ สำหรับปีนี้ การผลิตเนื้อไก่ลดลงราวร้อยละ ๑ เหลือ ๑.๔๐ ล้านตัน
ต้นทุนอาหารสัตว์ร้อยละ
๗๐ ของการผลิตไก่เนื้อ จำกัดความต้องการผู้บริโภค
และการส่งออกที่ลดลงสร้างแรงกดดันต่อราคาของผู้ผลิตเนื้อไก่
ส่งผลให้ผู้ผลิตไก่เนื้อเชื่อว่าจะลดการผลิตลงเหลือ ๙๗๐ ล้านตัวในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้
และในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ การผลิตเนื้อไก่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒ เป็น ๑.๔๒ ล้านตัน
ภายใต้สมมติฐานว่าสภาวะอากาศเป็นปรกติ
การบริโภคเนื้อไก่ในแอฟริกาใต้
แอฟริกาใต้บริโภคเนื้อสัตว์ราว
๓.๙ ล้านตันต่อปีจากเนื้อสัตว์ปีก เนื้อโค เนื้อแกะ และเนื้อสุกร ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑
แอฟริกาใต้นำเข้าเนื้อสัตว์ราว ๔.๕ แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๓๕
ของรายจ่ายอาหารทั้งหมด เนื้อสัตว์ปีกมีสัดส่วนร้อยละ ๖๐ ของเนื้อสัตว์ทั้งหมด
การบริโภคเนื้อไก่ ไม่รวมเครื่องใน มีปริมาณราว ๑.๘๘ ล้านตัน
ความต้องการเนื้อไก่
ไม่รวมเครื่องใน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ ๑ ในปีนี้เป็น ๑.๙ ล้านตัน และคาดว่า
ความต้องการจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็น ๑.๙๓ ล้านตัน
ตลาดเนื้อไก่แอฟริกาใต้
คุณลักษณะสำคัญของตลาดเนื้อไก่ในแอฟริกาใต้
๓ ประการ ที่มาจากฐานผู้บริโภครายได้น้อย ได้แก่
๑.
ความต้องการชิ้นส่วนเนื้อไก่ติดกระดูก (เนื้อสีน้ำตาล) มากกว่าเนื้ออก
โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๖๐ ของความต้องการเนื้อไก่ทั้งหมด
ส่วนใหญ่จำหน่ายเป็นชิ้นส่วนแช่แข็งแบบรวดเร็วบรรจุเป็น ๒ กิโลกรัม และ ๕ กิโลกรัม
ในราคาถูก
๒.
เนื้อไก่แช่แข็งที่ผลิตในท้องถิ่นทั้งหมด ประกอบด้วย น้ำเกลือ เพื่อถนอมอาหาร
และคุณภาพของเนื้อไก่ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง
ได้นำกฏระเบียบควบคุมปริมาณน้ำเกลือระดับสูงที่สุดไม่เกินร้อยละ ๑๕
ของน้ำหนักจำหน่าย ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๕๙ นั้น ระดับของน้ำเกลือเคยสูงถึงร้อยละ ๔๓
๓.
ความต้องการเนื้อสดค่อนข้างน้อย ไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ของเนื้อไก่ในประเทศ
การนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกเพิ่มขึ้น
ในปี พ.ศ.
๒๕๖๑ แอฟริกาใต้นำเข้าเนื้อไก่เกือบ ๕๒๐,๐๐๐ ตัน เพื่อชดเชยการผลิตภายในประเทศ
เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ ๒ จากปี พ.ศ. ๒๕๖๐ คาดว่าจะสูงขึ้นร้อยละ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒
นี้เป็น ๕๔๕,๐๐๐ ตัน เนื่องจาก
การผลิตในประเทศลดลงจากราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๕๖๓
ก็จะยิ่งสูงขึ้นอีกเล็กน้อยเป็น ๕๕๕,๐๐๐ ตัน เนื่องจาก คาดว่า
กำลังการผลิตภายในประเทศเริ่มกลับมา เนื้อไก่ในกระดูกแช่แข็ง
และเนื้อไก่ถอดกระดูกเป็นสินค้านำเข้าที่สำคัญ
บราซิลเป็นผู้จำหน่ายเนื้อไก่รายใหญ่ให้กับแอฟริกาใต้โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าร้อยละ
๖๐ ของตลาดนำเข้าเนื้อไก่ทั้งหมด ติดตามด้วยสหรัฐฯ มีสัดส่วนร้อยละ ๑๖ และอียู
ร้อยละ ๑๒
ในปี
พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศแห่งแอฟริกาใต้ (International Trade Administration Commission of South Africa,
ITAC) ประกาศรับข้อเสนอของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกภายในประเทศให้เพิ่มภาษีศุลากากรการนำเข้าเนื้อไก่แช่แข็ง
โดยข้อเสนอนี้ได้เรียกร้องให้เพิ่มภาษีนำเข้าเนื้อไก่ไม่มีกระดูก
และเนื้อไก่ติดกระดูกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากร้อยละ ๑๒ และ ๓๒ ตามลำดับเป็นร้อยละ
๘๒ โดยเป็นไปตามข้อตกลงทางการค้าขององค์การค้าโลก (WTO) ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากทั้งสื่อมวลชน และรัฐบาล
อย่างไรก็ตามยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา
ประเด็นด้านตลาดส่งออกเนื้อไก่
ตลาดสำคัญสำหรับการส่งออกเนื้อไก่จากแอฟริกาใต้เป็นประเทศเพื่อนบ้าน
ภายหลังการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ หลายประเทศ รวมถึง
บอสวานา มาลาวี โมเซมบิก นามิเบีย แซมเบีย และซิมบับเว ห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ปีก
และผลิตภัณฑ์จากแอฟริกาใต้
ผลจากการถูกห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากประเทศดังกล่าว
ทำให้การส่งออกเนื้อไก่จากแอฟริกาใต้ตกลงมากกว่าร้อยละ ๒๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑
เหลือเพียง ๕๑,๐๐๐ ตันเท่านั้น
แอฟริกาใต้ยังคงติดกับดักปัญหาไม่สามารถกลับมาเปิดตลาดใหม่ได้ส่งผลให้ยอดการส่งออกยังคงต่ำลงต่อเนื่องในปี
พ.ศ. ๒๕๖๒ เหลือเพียง ๔๕,๐๐๐ ตันเท่านั้น
เอกสารอ้างอิง
Berkhout N. 2019.
Case study: Imports dominate South African poultry
market. [Internet]. [Cited 2019 Oct 28]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2019/10/Case-study-Imports-dominate-South-African-poultry-market-491074E/
ภาพที่ ๑ การนำเข้า และตลาดภายในแอฟริกาใต้ (แหล่งภาพ: Vladislav Vorotnikov)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น