วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564

อย่ามองข้ามเชื้อไวรัสในอาหารสัตว์

อาหารสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตอาหาร และมีผลกระทบอย่างมากต่อทั้งสุขภาพ และสวัสดิภาพของสัตว์ รวมถึง ความปลอดภัยของอาหารมนุษย์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม อาหารสัตว์ก็อาจเป็นแหล่งของการแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้อีกด้วย 

อันตรายมากมายที่มีโอกาสปนเปื้อนในอาหารสัตว์ แบ่งได้เป็น อันตรายทางชีวภาพ เคมี หรือกายภาพ เชื้อแบคทีเรีย รา ไวรัส พริออน และปรสิต เป็นตัวอย่างสำคัญของอันตรายทางชีวภาพ ความจริงแล้ว อาหารสัตว์มีโอกาสเป็นแหล่งของอันตรายทางชีวภาพ ดังนั้น ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับเชื้อแบคทีเรียก่อโรค เชื้อแบคทีเรียอย่าง ซัลโมเนลลา เป็นเชื้อก่อโรคจากสัตว์สู่คนที่สำคัญในอาหารสัตว์ และอาจก่อให้เกิดโรคจากอาหาร และอาหารสัตว์ทั้งในมนุษย์ และสัตว์ ตามลำดับ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเพิ่มจำนวนได้ในอาหารสัตว์  

เชื้อไวรัสก็สามารถปรากฏในอาหารสัตว์ได้ แต่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนตัวเองได้ เชื้อไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนได้ในร่างกายของโฮสต์ที่เหมาะสม แต่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ในอาหารสัตว์ ดังนั้น หลายปีที่ผ่านมา การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสในอาหารสัตว์จึงไม่ได้รับความสนใจมากนักในด้านการจัดการคุณภาพ และความปลอดภัยของอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตาม อาหารสัตว์มีโอกาสเป็นพาหะในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสเข้าสู่มนุษย์ และสัตว์ได้ การผลิตอาหารสัตว์ในโลกมีปริมาณสูงมากกว่า ๑.๑ พันล้านตันต่อปี และบ่อยครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายจากทวีปหนึ่งสู่อีกทวีปหนึ่งโดยการขนส่งทางเรือ

ในหลายปีที่ผ่านมา เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสหลายชนิดในปศุสัตว์ และสัตว์เลี้ยงหลายชนิด เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคนิวคาสเซิล โรคไข้หวัดนก โรคลำไส้อักเสบติดต่อในสุกร และโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เพิ่งมีการระบาดในปศุสัตว์อย่างกว้างขวาง เชื้อไวรัสหลายชนิดไม่ติดต่อสู่มนุษย์ แต่อาจส่งผลต่อสุขภาพของปศุสัตว์ ห่วงโซ่การผลิตอาหาร และการค้าขายระหว่างประเทศ

วิธีการสำคัญของการแพร่กระจายเชื้อไวรัสในสัตว์ภายในพรมแดนของประเทศต่างๆคือ การเคลื่อนย้ายสัตว์มีชีวิต เมื่อเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส มาตรการกักกันสัตว์จะถูกปฏิบัติเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายสัตว์มีชีวิตเพื่อควบคุมโรคภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การควบคุมโรคจากอาหารสัตว์มักถูกมองข้ามไป เชื้อไวรัสหลายชนิดสามารถคงอยู่ในวัตถุดิบ และอาหารสัตว์ได้ แม้ว่า การขนส่งจะเป็นระยะทางไกลเท่าใดก็ตาม


ข้อแนะนำสำหรับการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสผ่านอาหารสัตว์

• กำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนระหว่างพื้นที่ติดเชื้อ และพื้นที่สะอาด

• กำหนดมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในนโยบายระดับชาติ และระหว่างชาติ รวมถึง มาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์ม และอาหารสัตว์ และการจัดการด้านคุณภาพอาหารสัตว์

• บบการแจ้งเตือนภัยสำหรับพื้นที่ติดเชื้อ และประเทศที่พบการระบาดของโรค

• สร้างความตระหนัก และใส่ใจต่อเชื้อไวรัสสำคัญที่มีโอกาสปนเปื้อนในอาหารสัตว์โดยภาครัฐ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่่มีการค้าขายระหว่างประเทศ

• ผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์ ควรพิจารณาสถานะสุขภาพของประเทศ หรือภูมิภาคต้นกำเนิด นอกเหนือจากราคา และคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น

• ผู้ผลิตอาหารสัตว์ควรซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์จากพื้นที่ปลอดโรค

• ภาครัฐพิจารณาสั่งห้ามนำเข้าวัตถุดิบ และอาหารสัตว์จากพื้นที่ และประเทศติดเชื้อ

• การใช้วิธีฆ่าเชื้อไวรัสในวัตถุดิบ และอาหารสัตว์ เช่น วิธีทางเคมี ด้วยสารเติมอาหารสัตว์ เช่น กรดอินทรีย์ กรดไขมัน และน้ำมันหอมระเหย ความร้อน และสารฆ่าเชื้อรา เพื่อลด หรือกำจัดเชื้อไวรัส

• สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ใดที่มีโอกาสติดเชื้อ หรือปนเปื้อนเชื้อไวรัส ควรกักกันก่อนเพื่อลดโอกาสที่เชื้อไวรัสจะยังคงมีชีวิตอยู่ให้น้อยที่สุด

• ระบบการจัดการความปลอดภัย ความปลอดภัยของอาหารสัตว์ และแผนความปลอดภัยทางชีวภาพของโรงงานอาหารสัตว์ และสัตว์เลี้ยงในฟาร์มควรรวมเอาแผนการลดความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสที่มีโอกาสแพร่กระจายสู่อาหารสัตว์

• ระยะเวลาที่เชื้อไวรัสสามารถรอดชีวิตได้ในวัตถุดิบ และอาหารสัตว์แต่ละชนิดก็จะมีความแตกต่างกัน บางชนิดมีความเสี่ยงสูงมาก สินค้า และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควรประเมินความเสี่ยง แล้วจัดลำดับความเสี่ยงตามความสำคัญ 

• ยานพาหนะที่ขนสงอาหารสัตว์จากโรงงานไปสู่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อไวรัส ควรได้รับการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ โดยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ

• เลือกใช้วิธีการเก็บตัวอย่าง และการตรวจสอบอย่างรวดเร็วสำหรับเชื้อไวรัสที่มีความสำคัญในการค้าขายวัตถุดิบ และอาหารสัตว์ระหว่างประเทศ 

เอกสารอ้างอิง

 Kouhkannejad M. 2021. Viruses in animal feed need more attention. [Internet]. [Cited 2021 Feb 11]. Available from: https://www.allaboutfeed.net/animal-feed/viruses-in-animal-feed-need-to-more-attention/  

ภาพที่ ๑ อาหารสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตอาหาร และมีผลต่อทั้งสุขภาพ และสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึง ความปลอดภัยของอาหารสำหรับมนุษย์ (แหล่งภาพ  Ronald Hissink)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แมคโดนัลด์ทยอยเปิดร้านใหม่ในยูเครน

  นับตั้งแต่เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นต้นไป แมคโดนัลด์เริ่มเปลี่ยนไปใช้ไก่จากบริษัทเอ็มเอชพีสำหรับร้านจำหน่ายสินค้าในยูเครน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป...