วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

แค่เปลี่ยนเป็นระบบเลี้ยงกรงใหญ่ ไม่ได้ช่วยสวัสดิภาพสัตว์ดีไปด้วย

 การเปลี่ยนระบบการผลิตไข่ไก่ให้มีสวัสดิภาพสัตว์ต้องทำมากกว่าการยกเลิกขังกรง และเลี้ยงแม่ไก่ในระบบการเลี้ยงแบบกรงใหญ่ (aviary system) ยังมีสิ่งสำคัญต่างๆอีกหลายประการ รวมทั้ง นักสัตวบาลมืออาชีพ และการจัดการอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันประเด็นใหม่ด้านสวัสดิภาพสัตว์

นับตั้งแต่กรงตับถูกแบนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๕ เป็นต้นมา ผ่านมาแล้วสิบเอ็ดปี ผู้เลี้ยงไก่ไข่ในเนเธอร์แลนด์มีประสบการณ์ขึ้นอย่างมากในระบบโรงเรือนทางเลือกใหม่นี้ แม้ว่าระบบกรงตับ หรือเอนริชเคจ (enriched cage) ในอีกชื่อหนึ่งยังอนุโลมให้ใช้ได้ในเวลานั้น ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ก็หันไปใช้ระบบกรงใหญ่ หรือระบบอะเวียรี กันไปแล้ว การตัดสินใจใช้ระบบโรงเรือนที่ให้ความสำคัญกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่สูงขึ้นส่งผลต่อผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วโลก ปัญหาของหลักสวัสดิภาพสัตว์ใหม่นี้รออยู่ข้างหน้า ผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องเตรียมตัวคิดรับมือกับอุปสรรคไว้ล่วงหน้า 

ระบบการเลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับยังเป็นระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับการผลิตโปรตีน แต่ไม่เป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง ในเวลานี้ภาคสังคมในประเทศต่างๆทั่วโลกไม่ยอมรับระบบการเลี้ยงเช่นนี้อีกแล้ว ระบบการเลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับถูกแบนในยุโรป และกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุโรปตะวันออก และสหรัฐฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ของโลกที่กำลังมั่งคั่งเพิ่มขึ้น เช่น ยุโรปตะวันออก เอเชีย และจีน ประชาชนเรียกร้องสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีขึ้น ประเทศสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มั่งคั่งอยู่แล้ว แต่หลักสวัสดิภาพสัตว์ยังได้รับการให้ความสำคัญในระดับรองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงไป ภายหลังการลดยาปฏิชีวนะลง หรือไม่ใช้แล้วเป็นประเด็นสำคัญในการผลิตไก่เนื้อ ภาคสังคมก็ต้องการให้ยกเลิกการเลี้ยงไก่ไข่ในระบบกรงตับได้แล้ว

ระบบการจัดการต่างๆ

               ผู้เลี้ยงไก่ไข่เปลี่ยนจากระบบกรงตับเป็นระบบกรงใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีการเลี้ยงที่ไม่เป็นผลดีต่อสวัสดิภาพสัตว์นัก หากผู้เลี้ยงยังไม่เปลี่ยนวิธีการจัดการให้เหมาะสมไปด้วย เช่น ระยะการเลี้ยงแม่ไก่ต้องไปด้วยกันกับระบบและการจัดการของผู้เลี้ยง หากไม่เหมาะสมก็อาจพบปัญหาความเสียหายต่อกระดูกอก (keel bone damage) เป็นต้น

               แต่ถึงแม้ว่า แม่ไก่จะได้รับการฝึกอย่างดีตั้งแต่ในฟาร์มไก่รุ่น ก็ยังมีโอกาสพบได้ที่ระบบการเลี้ยงกรงใหญ่ หากแม่ไก่เผชิญอุปสรรคบางอย่างจากการจัดการที่ไม่ได้ปรับไปด้วย การเลี้ยงไก่ในกรงตับ แล้วย้ายไปสู่ระบบการเลี้ยงแบบกรงใหญ่เป็นต้นตำรับสำหรับความหายนะ ระบบการเลี้ยงกรงใหญ่ต้องเพิ่มความเอาใจใส่กับพฤติกรรมแม่ไก่อย่างมาก ความเสี่ยงต่อการจิกกันเอง หรือพฤติกรรมกินกันเองมีแนวโน้มสูง การเปลี่ยนระบบการเลี้ยงเป็นระบบใหม่นี้จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะ ความแตกต่างอย่างมากระหว่างแม่ไก่ขนสีขาว และสีน้ำตาล ในตอนแรก ผู้เชี่ยวชาญก็เข้าใจไปว่า แม่ไก่สีขาวน่าจะเลี้ยงในระบบกรงใหญ่ได้ยากกว่าแม่ไก่สีน้ำตาลอย่างมาก แต่กลายเป็นตรงกันข้าม แม่ไก่ขนสีขาวปรับตัวให้เข้ากับระบบใหม่นี้ได้ง่ายกว่า พบไข่พื้นที่ฟาร์มน้อยกว่าแม่ไก่สีน้ำตาล เหตุผลมาจากแม่ไก่สีขาวเคลื่อนเข้าหารังไข่ได้ง่ายกว่า การฝึกกินน้ำระหว่างการเลี้ยงก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับไก่รุ่นสีน้ำตาล เพื่อให้มั่นใจว่า แม่ไก่ในระยะให้ผลผลิตจะสามารถปรับตัวเข้ากับระบบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และราบรื่น

ชนิดของระบบการเลี้ยง

               ระบบ นิโว วาเรีย ที่มีให้เลือกหลากหลายในตลาดเป็นระบบที่ดีที่สุดสำหรับสอนแม่ไก่ให้ปรับตัวเข้ากับระบบกรงใหญ่ได้ ด้วยระบบเหล่านี้ ผู้เลี้ยงสามารถยกทุกสิ่งขึ้นไปได้ไม่ว่าจะเป็นระบบให้น้ำ ระบบให้อาหาร และพื้นโรงเรือน  ระบบ นิโว วาเรีย ยังสามารถทำงานได้กับพื้นที่พับเก็บได้ แต่ก็อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบได้น้อยลง ในกรณีที่ต้องยกระบบให้น้ำ ระบบให้อาหาร และพื้นโรงเรือน เนื่องจากใช้การยึดตรึงกับโครงสร้างโรงเรือนมากขึ้น

               ระบบการเลี้ยงแบบกรงใหญ่เป็นแถว (row aviaries) เป็นระบบที่ผู้เลี้ยงชาวดัทช์นิยมใช้สำหรับเลี้ยงไก่รุ่น ข้อดีของระบบนี้คือ เคลื่อนย้ายได้ง่าย และต้นทุนต่อตัวสัตว์ต่ำกว่า เนื่องจาก ผู้เลี้ยงสามารถลงไก่รุ่นต่อตารางเมตรบนพื้นโรงเรือนได้เพิ่มขึ้น

               ระบบกรงใหญ่ในยุโรปเพิ่งเริ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยเฉพาะกับแม่ไก่สีน้ำตาล บางครั้งได้เพิ่มสะพานลอย เพื่อให้แม่ไก่สามารถเดินขึ้น และเคลื่อนที่ได้ง่ายกว่าเดิม มีการเพิ่มไลน์น้ำเหนือพื้นโรงเรือนที่ยกขึ้นลงได้ในพื้นที่คอกระหว่างระบบกรงใหญ่

               การติดตั้งไลน์น้ำพิเศษ เป็นการบังคับให้แม่ไก่ออกจากระบบนี้ และเดินหาที่กินน้ำแห่งอื่น ข้อด้อยคือ ส่งผลให้ความสม่ำเสมอของฝูงลดลง ระบบการเลี้ยงกรงใหญ่ล่าสุดเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับแม่ไก่มากขึ้นยังจำเป็นต้องพัฒนาต่อไป เช่น บิ๊กดัทช์แมน ได้พัฒนาระบบใหม่เป็นระบบกรงใหญ่แบบฟิเลีย ซึ่งสามารถยกขึ้นลงรางน้ำในระบบให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นได้      

               ความแตกต่างระหว่างแม่ไก่สีขาวและน้ำตาลสำหรับระบบกรงใหญ่ จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะเลือกแม่ไก่ที่เหมาะสมกับระบบ แต่ความนิยมของตลาด และวัฒนธรรมการบริโภคที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศก็มีความสำคัญ มีทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ชื่นชอบไข่สีขาวมากกว่า และชื่นชอบไข่สีน้ำตาลมากกว่า ทั้งนี้เป็นความแตกต่างในแต่ละประเทศ หรือภูมิภาค เช่น ตอนกลางของเนเธอร์แลนด์ชื่นชอบไข่สีน้ำตาล ตอนใต้ของประเทศกลับผลิตไข่สีขาวมากกว่า เช่นเดียวกับเยอรมัน บางภูมิภาคก็ชอบไข่สีขาว บางภูมิภาคก็ชอบไข่สีน้ำตาล

ความเสี่ยงต่อโรค

               ข้อด้อยของการเลี้ยงไก่ไข่ในระบบกรงใหญ่คือ สัตว์มีโอกาสสัมผัสกับขี้ไก่ นั่นคือแม่ไก่มีความเสี่ยงต่อโรคแบคทีเรีย หรือปรสิตมากขึ้นกว่าระบบกรงตับอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ระบบกรงใหญ่มีโครงเหล็กจำนวนมาก ซึ่งมีซอกมุมที่ไรแดงสามารถซ่อนตัวอยู่ได้ ดังนั้น ระบบคิว-เพิร์ช จากเวนโคมาติกจึงได้พัฒนาขึ้นใช้ในยุโรป โดยใช้คอนเกาะที่มีลวดไฟฟ้าอยู่ข้างใน หากแม่ไก่นั่งอยู่ที่ชั้นบนสุดของระบบเวลากลางคืน ก็จะมีพื้นที่อย่างเพียงพอ และมีคอนคิว-เพิร์ชใช้อย่างเพียงพอ ไรแดงไม่สามารถเข้าถึงตัวแม่ไก่ได้ เนื่องจาก มีกระแสไฟฟ้าในลวด ข้อเสียของการยกเลิกกรงตับอีกประการหนึ่งคือ โรคที่เคยไปตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ กลับมาระบาดใหม่ในยุโรป เช่น โรคแบล็คเฮด อีริซิเพลาส พาสจูเรลลา หวัดหน้าบวม และพยาธิแคพิลลาเรีย เป็นต้น

               นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการแล้ว ยุโรปบางประเทศ เช่น สแกนดิเนเวีย เยอรมัน ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ก็ออกมาตรการยกรับสวัสดิภาพไก่ไข่ เช่น ยกเลิกการตัดปาก อย่างไรก็ตาม กลับไปส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์กลายเป็นสร้างปัญหาที่เลวร้ายไปอีกจากการจิกกันเอง และพฤติกรรมการกินกันเอง ผู้ผลิตจำเป็นต้องหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เช่น เพิ่มความหนาของนิปเปิ้ล เพื่อให้มีพื้นที่กินน้ำเพิ่มขึ้น และสัดส่วนของแม่ไก่ต่อนิปเปิ้ลน้อยลง หรือเริ่มต้นด้วยการใช้พลาซอง หรือรางน้ำ หรือใช้ถ้วยน้ำไปก่อน สัดส่วนของอุปกรณ์การให้น้ำมีความสำคัญสำหรับแม่ไก่ที่ถูกตัดปากอย่างมาก โครงสร้างของอาหารสัตว์ก็สำคัญเช่นกัน ไม่ควรมีความแตกต่างระหว่างส่วนอาหารสัตว์ที่ละเอียดและหยาบมากนัก หากไม่เป็นเช่นนั้น ไก่ก็อาจจะเลือกกิน และไม่ได้รับแร่ธาตุและวิตามินบางชนิดอย่างเพียงพอ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม หรือลดการไซร้ขน ที่สำคัญควรมีวัสดุที่ช่วยล่อใจแม่ไก่ เช่น บล็อกสำหรับจิก หรือก้อนหญ้าอัลฟาลฟา

พันธะสัญญา เบทเทอร์ชิกเก้น หรือบีซีซี  

               ผู้ผลิตทั่วโลกกำลังมองหาสิ่งที่ช่วยเพิ่มสวัสดิภาพสัตว์ หลายรัฐในสหรัฐฯ และยุโรป เกิดความตื่นตัวล่วงหน้าไปแล้ว แต่สหรัฐฯยังตามสหภาพยุโรปในบางประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์ เมื่อภาคการผลิตไก่เนื้อเริ่มต้นแล้ว ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ และสหภาพยุโรปใช้ระบบบีซีซี (Better Chicken Commitment, BCC) โดยบีซีซีมีนโยบาย ๖ จุดเพื่อเพิ่มสวัสดิภาพสัตว์ของไก่เนื้อในปี พ.ศ.๒๕๖๗ นี้ ถึงมิถุนายน ๒๕๖๓ บริษัทด้านอาหาร ๑๘๐ แห่งทั่วโลก ลงนามในพันธะสัญญาบีซีซีนี้แล้ว รวมถึง เคเอฟซี เบอร์เกอร์คิง ซับเวย์ ชิโปเล่ เดนนี้ เนสเล่ และกลุ่มบริษัทคอมพาส พันธะสัญญาบีซีซีนี้จะเริ่มต้นกับภาคการผลิตไก่ไข่ต่อไป

บริษัทผู้ผลิตพันธุ์สัตว์

                ในอนาคตเชื่อว่า ผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนจากกรงตับเป็นระบบกรงใหญ่จะคลี่คลายไปในที่สุดด้วยการปรับการจัดการที่ดี และการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ผู้เล่นสำคัญ ๒ รายของโลก ได้แก่ กลุ่มเฮนดริกซ์ และอีดับบลิว เริ่มไปแล้ว ในอนาคตจะไม่ได้คัดเลือกพันธุ์สัตว์โดยใช้ข้อมูลด้านการให้ผลผลิต และแม่ไก่ที่แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังรวมเอาพฤติกรรมสัตว์ไว้ด้วย สังเกตได้ว่าแม่ไก่สีน้ำตาลจะสงบดีขึ้น ไม่ตื่นตกใจง่ายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากแม่ไก่สีน้ำตาลไม่ค่อยเคลื่อนไหว ก็จะได้ไข่พื้นเพิ่มขึ้น ทั้งการจัดการ การให้อาหารสัตว์ โครงสร้างโรงเรือน และการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ล้วนมุ่งหน้าไปสู่ระบบการจัดการสำหรับไก่ไข่ ต้องมีทั้งเงินลงทุนทั้งสูงและประหยัด เพื่อให้สวัสดิภาพสัตว์สำหรับแม่ไก่ที่ดีที่สุด           

เอกสารอ้างอิง

Global Poultry Sector Authors.  2023. Welfare doesn’t come automatically with a switch to aviary systems. [Internet]. [Cited 2023 Jul 12]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/layers/welfare-doesnt-come-automatically-with-a-switch-to-aviary-systems/

ภาพที่ ๑ แค่เปลี่ยนเป็นระบบเลี้ยงกรงใหญ่ ไม่ได้ช่วยสวัสดิภาพสัตว์ดีไปด้วย (แหล่งภาพ Global Poultry Sector Authors)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แมคโดนัลด์ทยอยเปิดร้านใหม่ในยูเครน

  นับตั้งแต่เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นต้นไป แมคโดนัลด์เริ่มเปลี่ยนไปใช้ไก่จากบริษัทเอ็มเอชพีสำหรับร้านจำหน่ายสินค้าในยูเครน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป...