วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567

สหรัฐฯปูพรมตรวจหวัดนกในนมทั่วประเทศ

 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ออกคำสั่งใหม่ และกำหนดแนวทางการเก็บตัวอย่างน้ำนมดิบทั่วประเทศ

สำนักตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช หรือเอฟิส จะเริ่มกลยุทธ์การทดสอบนมทั่วประเทศ หรือเอ็นเอ็มทีเอส เพื่อวางแนวทางสำหรับกระทรวงเกษตร รัฐบาล และรัฐต่างๆ จัดการการระบาดโรคไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ ในโคนม ที่ตรวจพบตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แนวทางที่พึ่งประกาศใหม่จากกระทรวงเกษตรนี้ กำหนดให้รัฐ สัตวแพทย์ และสาธารณสุข เฝ้าระวังเชื้อเอช ๕ เอ็น ๑ จากการจำหน่ายน้ำนมและฝูงโคนมอย่างเข้มข้น

นับตั้งแต่การตรวจพบเชื้อครั้งแรกในปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรได้ร่วมกับรัฐบาล รัฐต่างๆ และพันธมิตรอุตสาหกรรมปศุสัตว์ สำรวจฝูงสัตว์ที่ติดเชื้อ และรับมือไปพร้อมกัน กลยุทธ์การทดสอบน้ำนมจะเป็นก้าวสำคัญสำหรับรัฐต่างๆเพื่อปกป้องสุขภาพของฝูงโคนมภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรและคนงานภายในฟาร์มเกิดความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยของสัตว์ของตัวเอง และสามารถป้องกันสุขภาพตัวเองได้ด้วย และจะเป็นการควบคุมและหยุดการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศ กระทรวงเกษตรยินดีที่จะร่วมกับประชาชนรับฟังข้อมูลเพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้จริง   

กลยุทธ์เอ็นเอ็มทีเอสนี้ ออกแบบเพื่อเพิ่มความเข้าใจระหว่างภาครัฐบาลและพันธมิตรด้านสาธารณสุขต่อเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายในสหรัฐฯ ผ่านระบบภาคบังคับที่จะช่วยให้สำรวจหาว่า รัฐใดบ้าง และฝูงใดบ้างที่กำลังประสบปัญหากับเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ เพื่อให้กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ เป็นการลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคต่อไป และที่สำคัญคือแจ้งข่าวสารความเสี่ยงเพื่อให้คนงานป้องกันตัวเองเป็นการลดความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากสัตว์ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เชื่อว่า จำเป็นต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับรัฐและเกษตรกรที่จะควบคุมและกำจัดการติดเชื้อเอช ๕ เอ็น ๑ จากฟาร์มตัวเอง และโรคไข้หวัดนกในฟาร์มโคนมทั่วประเทศ กลยุทธ์การปูพรมตรวจทั้งประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับความพยายามป้องกันสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์และชุมชน ภาครัฐบาลทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างสำนักบริการด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคต่างๆ เพื่อตรวจสอบโรคในน้ำนมจากร้านค้าปลีก และตัวอย่างนมจากทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้มั่นใจต่อความปลอดภัยสินค้านมพาสเจอร์ไรซ์

คำสั่งใหม่จากรัฐบาลกลาง ข้อแรกให้เรียกตัวอย่างนมดิบจากฟาร์มโคนม รถขนส่งนม สถานีขนถ่ายนม หรือโรงงานแปรรูปนมที่จำหน่ายให้กับ หรือเก็บไว้สำหรับกระบวนการพาสเจอไรเซชัน ข้อสอง เจ้าของฟาร์มที่ครอบครองโคที่มีผลบวกต้องให้ข้อมูลทางระบาดวิทยาที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถสอบย้อนกลับประวัติการสัมผัสโรค และการเฝ้าระวังโรค ข้อสุดท้าย คำสั่งจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน กำหนดให้ห้องปฏิบัติการเอกชน และสัตวแพทย์แต่ละรัฐรายงานผลการตรวจที่เป็นบวกต่อกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ผลรอบแรกจากการทดสอบไซโลภายใต้คำสั่งรัฐบาลกลาง และเอ็นเอ็มทีเอส กำหนดไว้เป็นช่วงต้นสัปดาห์ของวันที่ ๑๖ ธันวาคม แม้ว่า บางรัฐได้เริ่มต้นไปแล้ว

คำสั่งจากรัฐบาลกลางไม่ได้ยกเลิกคำสั่งก่อนหน้านี้จากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งยังต้องตรวจสอบแม่โคให้นมภาคบังคับ ก่อนการส่งนมระหว่างรัฐ และต้องให้ห้องปฏิบัติการเอกชน และเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์รัฐรายงานผลการทดสอบที่เป็นบวก คำสั่งใหม่นี้เพื่อให้การปฏิบัติงานสมบูรณ์และสนับสนุนคำสั่งก่อนหน้านี้

ยุทธศาสตร์การตรวจสอบนมทั่วประเทศ

ยุทธศาสตร์เอ็นเอ็มทีเอสนี้ เอฟิสจะทำงานร่วมกับแต่ละรัฐในสหรัฐฯ เพื่อให้การทดสอบสำเร็จลุล่วงตามวิธีการของแต่ละรัฐ และสอดคล้องกับมาตรฐานของเอ็นเอ็มทีเอส เมื่อรัฐใดเริ่มทดสอบภายใต้ยุทธศาสตร์เอ็นเอ็มทีเอส เอฟัสจะกำหนดให้รัฐดังกล่าวดำเนินตามห้าขั้นตอนโดยอาศัยความชุกของเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ ในแต่ละรัฐ เมื่อสำเร็จแต่ละขั้นตอนไปแล้ว จะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของความก้าวหน้าในการกำจัดเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ ในระดับรัฐ ภูมิภาค และประเทศ โดยมีขั้นตอนดังนี้

๑.     ปฏิบัติตามแผนการตรวจติดตามไซโลภายในประเทศของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ  ทั้งนี้กำหนดให้ตรวจสอบไซโลเก็บนมที่โรงงานแปรรูปนมทั่วประเทศ เพื่อให้กระทรวงเกษตรฐได้ทราบว่า ปรากฏโรคที่ใดบ้าง แนวโน้ม และช่วยให้ตรวจหาฝูงโคนมที่มีความเสี่ยงต่อโรค

๒.    ทราบสถานะของโรคไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ ในฝูงโคนม โดยอาศัยผลการตรวจติดตามไซโลในรัฐต่างๆ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯจะกำหนดแผนการเก็บตัวอย่างถังเก็บนำ เพื่อช่วยให้ตามหาฝูงที่ติดเชื้อเอช ๕ เอ็น ๑ ในแต่ละรัฐ  

๓.    ตรวจสอบและควบคุมโรคในรัฐที่เกิดโรค ในรัฐที่ตรวจพบเอช ๕ เอ็น ๑ เอฟิสจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อค้นหาสัตว์ป่วย และดำเนินการควบคุมอย่างรวดเร็ว รวมถึง ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยใช้แผนการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ควบคุมการเคลื่อนย้าย และสอบย้อนกลับสัตว์ที่สัมผัสโรค

๔.    แสดงสถานะปลอดจากเอช ๕ ในโคนมสำหรับรัฐที่ไม่พบโรค เมื่อฝูงโคนมในรัฐใดพิจารณาแล้วว่า ไม่พบโรค เอฟิสจะเก็บตัวอย่างจากถังนมที่ส่งจากฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าโรคจะไม่กลับมาเกิดเกิดซ้ำอีก หลังจากนั้น การเก็บตัวอย่างจะค่อยๆลดลง เมื่อผลการตรวจสอบถังไซโลเป็นลบอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส เป็นลบมาตลอด แต่เมื่อรัฐใดเกิดโรคอีก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯก็จะให้กลับมาเก็บตรวจใหม่ ย้อนไปที่ขั้นตอนที่ ๓    

๕.    ประกาศปลอดโรคไข้หวัดนกเอช ๕ ในโคนม ภายหลังจากทุกรัฐผ่านขั้นตอนที่ ๔ แล้ว เอฟิสจะร่วมกับรัฐต่างๆเริ่มเก็บตัวอย่างเป็นระยะ และตรวจสอบเพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานะที่ไม่เกิดโรคในประเทศเป็นเวลานาน แต่ขณะที่ประกาศนี้ออกมา หกรัฐยังอยู่ในแผนการตรวจสอบรอบแรก ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด มิชิแกน มิสซิซิปปี้ โอเรกอน และเพนซิลวาเนีย

               ขณะที่ รัฐต่างๆเริ่มต้นตามแผนการตรวจสอบภายใต้โครงการเอ็มเอ็มทีเอส และผ่านเข้าสู่ห้าขั้นตอนดังกล่าว ความก้าวหน้าของงานจะถูกแบ่งปันต่อไปยังผลการตรวจสอบโรคไข้หวัดนกในฟาร์มปศุสัตว์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯต่อไป ขณะที่ รัฐต่างๆส่วนใหญ่เข้าสู่โครงการเอ็นเอ็มทีเอสที่ขั้นตอนที่ ๑ รัฐต่างๆจะดำเนินการตรวสอบให้เป็นไปตามข้อกำหนดการตรวจสอบที่กำหนดไว้ในขั้นตอนที่ ๒ ถึง ๔ โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐต่างๆ เพื่อหาสถานภาพของโรคในแต่ละรัฐ   

 

เอกสารอ้างอิง

USDA. 2024. USDA Announces New Federal Order, Begins National Milk Testing Strategy to Address H5N1 in Dairy Herds. [Internet]. [Cited 2024 Dec 6]. Available from: https://www.usda.gov/

ภาพที่ ๑ สหรัฐฯปูพรมตรวจหวัดนกในนมทั่วประเทศ (แหล่งภาพ USDA)



วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2567

หวัดนกลามต่ออีกห้ารัฐในสหรัฐฯ

 รายงานล่าสุดพบโรคไข้หวัดนกในฟาร์มเป็ดและไก่งวงคานาดา และไก่งวงในเซาท์ ดาโกต้า จำนวนประชากรสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดนกในสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หรือยูเอสดีเอ สำนักตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช หรือเอฟิส รายงานการติดเชื้อในฝูงใหม่ในเซาท์ ดาโกต้า และอีกสองฝูงในแคลิฟอร์เนีย โรคไข้หวัดนกได้รับการยืนยันแล้วในทั้งห้าฟาร์ม เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม

โรคไข้หวัดนกในเซาท์ ดาโกต้า

               เอฟิส รายงานว่าเมือง บีเดิ้ล ชาร์ลส์มิกซ์ และมูดดี้ แต่ละเมืองมีฟาร์มไก่งวงเนื้อหนึ่งแห่งที่เกิดโรคไข้หวัดนก เมืองมูดดี้มีจำนวนประชากรไก่งวงมากที่สุด ๔๖,๗๐๐ ตัว บีเดิ้ลีไก่งวง ๑๕,๒๐๐ ตัว และชาร์ลส์มิกซ์มีไก่งวง ๓๒,๔๐๐ ตัว ในปีนี้ เซาท์ ดาโกต้า เกิดโรคไข้หวัดนกรวมแล้ว ๑๔ ฟาร์ม

โรคไข้หวัดนกในแคลิฟอร์เนีย

               ฟาร์มไก่เนื้อในเมืองทูแลร์ และฟาร์มเป็ดพันธุ์ในเมืองสแตนิสเลาซ์ เป็นรายล่าสุดที่พบโรคในแคลิฟอร์เนีย อ้างอิงตามรายงานจากเอฟิส เมืองทูแลร์มีไก่เนื้อมากถึง ๓๓๐,๒๐๐ ตัว อย่างไรก็ตาม เอฟิสยังไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเป็ด แคลิฟอร์เนียเกิดความสูญเสียขึ้นในฟาร์มสัตว์ปีกมากที่สุดในสหรัฐฯตลอดปีนี้ ถึงวันนี้ก็มีสถิติเพิ่มเป็น ๓๒ ฟาร์มแล้ว

โรคไข้หวัดนกในคานาดา

 สำนักตรวจสอบอาหารแห่งคานาดา หรือซีเอฟไอเอ ยืนยันโรคไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์เพิ่มอีกหนึ่งฟาร์มในบริทิช โคลัมเบีย เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับขนาดฟาร์ม และจำนวนสัตว์ปีก รายล่าสุดเป็นเมือง ชิลลี่แวค ซึ่งเกิดโรคขึ้นแล้ว ๑๔ ฟาร์มในปีนี้ บริทิช โคลัมเบียยังเป็นจังหวัดที่เกิดโรคมากที่สุด ๔๘ ฟาร์มในปีนี้ รองลงมาเป็นควีเบค ๖ ฟาร์ม   

เอกสารอ้างอิง

Graber R. 2024. Avian influenza invades 5 more US poultry flocks. [Internet]. [Cited 2024 Dec 11]. Available from: https://www.wattagnet.com/poultry-meat/diseases-health/avian-influenza/news/15710204/avian-influenza-invades-5-more-us-poultry-flocks

ภาพที่ ๑ หวัดนกลามต่ออีกห้ารัฐในสหรัฐฯ (แหล่งภาพ felipecaparros | Bigstock)



วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567

หวัดนกเปิดฉากฤดูหนาวในอเมริกาเหนือ

 ข้อมูลล่าสุดเปิดเผยว่า พบโรคไข้หวัดนกในไก่ไข่มากกว่า ๗๙๓,๐๐๐ ตัว และไก่งวงมากกว่า ๕๗,๗๐๐ ตัว

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หรือยูเอสดีเอ สำนักตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช หรือเอฟิส ยืนยันจำนวนสัตว์ปีกในสองฝูงเกิดโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง หนึ่งในฟาร์มดังกล่าวเป็นฟาร์มไก่ไข่เชิงพาณิชย์จำนวน ๗๙๓,๐๐๐ ตัวในเมืองเมอร์เซด ยืนยันโรคเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม และอีกฟาร์มหนึ่งเป็นฟาร์มไก่งวงจำนวน ๕๗,๗๐๐ ตัวในเมืองสตานิสลัส ยืนยันโรคเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ยอดรวมจำนวนประชากรสัตว์ที่เกิดโรคในเมืองสตานิสลัสเป็นไก่งวงเนื้อจำนวน ๒๓,๑๐๐ ตัว และในเมืองเมอร์เซดเป็นไก่ไข่จำนวน ๑,๗๒๓,๘๐๐ ตัว แต่ละเมืองมีหนึ่งฝูงที่ยืนยันการปรากฏโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยขนาดประชากรสัตว์ในฝูง ทั้งสองฟาร์มรวมฟาร์มไก่ไข่ด้วย

คานาดาพบไข้หวัดนกเพิ่มขึ้น

               สำนักตรวจสอบอาหารแห่งคานาดา หรือซีเอฟไอเอ รายงานฟาร์มสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์สามแห่งในบริทิชโคลัมเบียเกิดโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง

               การปรากฏของโรคไข้หวัดนกได้รับการยืนยันแล้วหนึ่งฝูงในเมือง Chilliwack เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ยังพบเพิ่มอีกหนึ่งฝูงอยู่ในแต่ละเมืองของ Abbotsford และ Langley Township ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของฟาร์ม หรือขนาดของฝูงโดยซีเอฟไอเอ

               จากการระบาดสองครั้งล่าสุดนี้ บริทิช โคลัมเบีย มียอดรวมฟาร์มเชิงพาณิชย์ที่เกิดโรครวมแล้ว ๖๓ ฝูงในปีนี้ ในจำนวนนี้ ๔๗ ฝูงอยู่ในเมือง Abbotsford และ 13 ฝูงในเมือง Chilliwack   

เอกสารอ้างอิง

Graber R. 2024. APHIS gives updates on California avian influenza cases. [Internet]. [Cited 2024 Dec 9]. Available from: https://www.wattagnet.com/poultry-meat/diseases-health/avian-influenza/news/15709987/aphis-gives-updates-on-california-avian-influenza-cases

ภาพที่ ๑ สถานการณ์หวัดนกในแคลิฟอร์เนีย (แหล่งภาพ Shon Ejai | Pixabay)



วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2567

สหกรณ์ยูเครีแบรนด์ใหม่เข้มสวัสดิภาพสัตว์

 สหกรณ์ผู้ค้าปลีกสหราชอาณาจักร ประกาศยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ใหม่ และรีแบรนด์ใหม่เป็นสแปสทูไทรฟ์ เพิ่มพื้นที่สำหรับการเลี้ยงไก่

สหกรณ์ผู้ค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร กลายเป็นผู้ค้าปลีกร้านสะดวกซื้อรายแรกที่ประกาศยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ไปยังกลุ่มอาหารที่เป็นเนื้อไก่คลุกแป้งขนมปัง และผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน ให้สมาชิกและลูกค้าสามารถเข้าถึงไก่ที่เลี้ยงให้มีพื้นที่มากขึ้น และจัดให้มีคอนและของเล่นได้ผ่อนคลาย

จากยี่สิบเอ็ดสายทั้งเนื้อไก่คลุกด้วยแป้งขนมปังแบบอังกฤษของสหกรณ์ เคียฟกระเทียมแบบอังกฤษ ปีกบนไก่ย่างแบบอังกฤษ และเนื้ออกไก่หั่นบางแบบอังกฤษ ได้ถูกรีแบรนด์ใหม่ ไก่จะถูกเลี้ยงภายใต้หลักสวัสดิภาพสัตว์ที่เหนือกว่ามาตรฐานสหราชอาณาจักร โดยลดความหนาแน่นลง และจัดพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐ ไก่ที่มาจากการเลี้ยงใกล้เคียงกับธรรมชาติ สามารถเข้าถึงวัสดุจิกเล่น และเกาะคอน แสดงออกพฤติกรรมได้อย่างอิสระ สหกรณ์ฯได้ขายเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีกและไข่ไก่ปล่อยอิสระ ที่มาจากสหราชอาณาจักรร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นหนึ่งในร้านค้าปลีกรายแรกที่ขับเคลื่อนไปยังเนื้อไก่คลุกขนมปังทั้งหมดให้ผลิตภายใต้พันธสัญญาการเลี้ยงด้วยความหนาแน่นที่ต่ำลง รวมถึง เนื้อไก่สด ด้วย โดยเริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยงบลงทุนหลายล้านบาท

ผู้อำนวยการด้านการค้าสหกรณ์ พยายามหาแหล่งผลิตวัตถุดิบจากผู้เลี้ยงสัตว์ที่มีความรับผิดชอบ สมาชิกและลูกค้าของสหกรณ์ภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนเกษตรกรชาวอังกฤษโดยใช้เนื้อสด และไข่ไก่พร้อมเปลือกจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ทั่วเกาะอังกฤษ ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์อย่างจริงจัง และรับฟังสมาชิก สหกรณ์จึงได้เริ่มลงมือทำตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และยังคงลงทุนต่อไปอย่างต่อเนื้อในห่วงโซ่การผลิตสัตว์ปีก เพื่อให้ผู้ลริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงโดยมีคุณภาพที่ดีแบบเดียวกันทั้งหมด

               เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๖ สหกรณ์ฯตัดสินใจวางแผนให้ร้านค้าปลีกสะดวกซื้อต่างๆ กำหนดความหนาแน่นการเลี้ยงไก่ที่ต่ำลงภายในสิ้นปี พ.ศ.๒๕๖๗ นี้ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์สำคัญอย่างกลุ่มซิสเตอร์ฟูด โดยสหกรณ์สามารถทำได้จริงล่วงหน้าไปมากกว่าสิบเดือน

               ปัจจุบัน เนื้อไก่สดและคลุกขนมปังทั้งหมดของสหกรณ์ฯ รวมทั้งอาหารพร้อมรับประทานอีก ๑๑ กลุ่มรายการ ใช้ไก่จากฟาร์มที่มีความหนาแน่นในการเลี้ยงไม่เกิน ๓๐ กิโลกรัมต่อตารางเมตร ลดลงจากข้อกำหนดก่อนหน้านี้ ๓๘ กิโลกรัมต่อตารางเมตร

               เนื้อไก่ทั้งหมดของสหกรณ์ฯมีมาตรฐานสูงกว่าเร้ดแทร็กเตอร์ และยังมีเนื้อไก่จากฟาร์มที่ปล่อยอิสระที่ได้รับรองอาร์เอสพีซีเอจำหน่ายในร้านเพิ่มเติมอีกด้วย ซูเปอร์มาร์เก็ตให้ความสำคัญกับเอจีเอ็มที่เป็นสมาชิกรายหนึ่งของฮิวแมนลีก เรียกร้องให้บริษัทต่างๆยุติการใช้ไก่โตเร็วที่ถูกปรับปรุงพันธุ์อย่างโหดร้าน มูลนิธิดังกล่าวยังกระตุ้นให้สหกรณ์ฯลงนามตามพันธสัญญาไก่ที่ดีกว่า   

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2024. UK’s Co-op improves welfare and rebrands ‘Space to Thrive’ poultry range. [Internet]. [Cited 2024 Dec 5]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/broilers/uks-co-op-improves-welfare-and-rebrands-space-to-thrive-poultry-range/

ภาพที่ ๑ สหกรณ์ฯรีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้การเลี้ยงไก่ภายใต้สภาวะที่สอดคล้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีและสูงกว่ามาตรฐานของสหราชอาณาจักร (แหล่งภาพ Co-op)



วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2567

พืชที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพสำหรับควบคุมแบคทีเรียในสัตว์ปีก

 การใช้สารสกัดจากพืชกำลังได้รับการศึกษาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมแบคทีเรียในไก่ 

ในเดือนกรกฏาคม พ.ศ.๒๕๖๗ กลุ่มนักวิจัยจากโปแลนด์และคานาดาเผยแพร่บทความเกี่ยวข้องกับผลของการเสริมไฟโตไบโอติกต่อระบบภูมิคุ้มกันและฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ การเจริญเติบโต และไมโครไบโอตาในลำไส้ของไก่เนื้อ พบว่า การใช้ไฟโตไบโอติกในปริมาณและอัตราส่วนที่เหมาะสมในอาหารไก่เนื้อ ช่วยให้การทำหน้าที่ของระบบทางเดินอาหาร โดยการกระตุ้นการเจริญเติบโตของไมโครไบโอตาที่เป็นประโยชน์ และการหลั่งของเอนไซม์ช่วยย่อยอาหาร นอกเหนือจากนั้น การใช้สารเติมอาหารสัตว์บางชนิดช่วยลดการอักเสบ สนับสนุนการทำหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกัน และมีอิทธิพลเชิงบวกต่อการผลิตอีกด้วย

               นักจุลชีววิทยาในอัลเบอร์ต้ากำลังศึกษาพืชสองชนิดที่พบในบริเวณตอนใต้ของจังหวัด แล้วศึกษาระดับที่มีประสิทธิภาพจากสารสกัดในการป้องกันไก่จากการติดเชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล ก่อโรคในสัตว์ปีก หรือเอเพคตามโครงการที่มีกรอบเวลา ๒.๕ ปีได้รับงบสนับสนุนจากสมาคมเกษตรกรผู้ผลิตไข่ไก่ในคานาดา ความจริงแล้ว คณะผู้วิจัยได้ทดสอบกับพืชหลายชนิดว่า มีคุณสมบัติต้านเชื้อจุลชีพมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๙ ผ่านมาแปดปีแล้วเก็บตัวอย่างได้ ๑๕๐ ชนิด แต่พบว่ามีสองชนิดที่มีโอกาสสำหรับการศึกษาต่อไปเป็นพืชในจีนัส รูเม็กซ์ และโพเทนทิลลา      

เอกสารอ้างอิง

Hein T. 2024. Canada: Antimicrobial plants studied for bacteria control in poultry. [Internet]. [Cited 2024 Nov 27]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/health/canada-antimicrobial-plants-studied-for-bacteria-control-in-poultry/

ภาพที่ ๑ นักวิจัยค้นพบพืชที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพสำหรับควบคุมแบคทีเรียในสัตว์ปีก การใช้ไฟโตไบโอติกในปริมาณและอัตราส่วนที่เหมาะสมในอาหารไก่เนื้อช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น (แหล่งภาพ Canva)



วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567

การสร้างความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถหยุดหวัดนก

นักวิจัยกำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพยากรณ์เส้นทางการอพยพของนก สำหรับการตรวจติดตามและเฝ้าระวังโรคให้ดียิ่งขึ้น

งานวิจัยใหม่ สามารถช่วยให้การเฝ้าระวังโรค และการพยากรณ์การระบาดของโรคได้ดีขึ้น เป็นการลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งชีววิทยา และการแพร่กระจายของไวรัส คาดว่าจะไม่ส่งผลที่ดีนัก โครงการวิจัยนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาประเด็นที่มีความสลับซับซ้อนหลายปัจจัยร่วมกัน

นกป่าสามารถเป็นแหล่งสำคัญของการแพร่กระจายโรคในฟาร์มสัตว์ปีก โยเฉพาะ โรคไข้หวัดนก การระบาดของโรคในปัจจุบัน ส่งผลต่อไก่ไข่ ไก่เนื้อ และไก่งวงมากกว่า ๘๐ ล้านตัว

นกป่าหลายสปีชีส์อพยพไปยังพื้นที่ใหม่ แล้วสัมผัสไวรัสมากขึ้นมากขึ้นอย่างโรคไข้หวัดนก จากนั้นยังมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ เนื่องจาก เชื้อไวรัสเกิดการวิวัฒนาการแล้วก่อโรคอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือแพร่กระจายออกไปในวงกว้างขวางขึ้น   

ระบบแมชชีน เลิร์นนิ่ง และเอไอ เพื่อให้การเฝ้าระวังโรคดีขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยสร้างเครื่องมือพยากรณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก เครื่องมือดังกล่าวจะบูรณาการข้อมูลจากโซเชียล มีเดีย บ้าง ภาพถ่ายดาวเทียมบ้าง และแหล่งอื่นๆจากระบบแมชชีน เลิร์นนิ่ง และเอไอ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกอบการตัดสินใจจัดการกับฟาร์ม และความเข้าใจด้านระบาดวิทยา เพื่อให้ใช้ข้อมูลจากการตรวจติดตามการระบาดจากข้อมูลที่ผ่านมา แล้วพยากรณ์สิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปได้    

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกลฟ์ และมหาวิทยาลัยโทรอนโต ร่วมมือกันให้ทุนโปรแกรมอะกริไซน์ เป็นโครงการนำร่องภายใต้ความร่วมมือด้านการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน หรือแคป มีกรอบเวลา ๕ เดือน เป็นความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น จังหวัด และรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรม และฟื้นฟูภาคการเกษตรกรรม การผลิตอาหาร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในประเทศคานาดา     

เอกสารอ้างอิง

WATTPoultry. 2024. Understanding climate change could stop avian flu spread. [Internet]. [Cited 2024 Nov 27]. Available from: https://www.wattagnet.com/poultry-meat/diseases-health/avian-influenza/news/15709264/understanding-climate-change-could-stop-avian-flu-spread

ภาพที่ ๑ การสร้างความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถหยุดหวัดนก (แหล่งภาพ Choat Boonyakiat | Fotolia.com)



วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ผู้ผลิตสัตว์ปีกยูเครนวางแผนลงทุนใหญ่ในสโลวาเกีย

 ผู้ประกอบการแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกในสโลวาเกีย อียู โพลทรีย์ ที่มีเจ้าของเป็นนักธุรกิจชาวยูเครนเปิดเผยแผนการลงทุนสองพันล้านบาทขยายธุรกิจในประเทศ

ร่างจดหมายที่เสนอต่อรัฐบาลสโลวาเกีย อียู โพลทรีย์ ตั้งใจสร้างโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกใหม่ในทางตะวันตกของประเทศสโลวาเกีย คำอธิบายเกี่ยวกับโครงการนี้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสถานประกอบการที่จะใช้แปรรูปเนื้อสัตว์ปีกให้เป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป แล้วนำส่งให้ศูนย์กระจายสินค้า เริ่มการก่อสร้างในไตรมาสที่สองของปี พ.ศ.๒๕๖๘ กำหนดแล้วเสร็จในไตรมาสที่ ๓ ของปี พ.ศ.๒๕๖๙

การเติบโตสม่ำเสมอ 

               บริษัท อียู โพลทรีย์ เป็นที่รู้จักกันดีในสโลวาเกียแล้ว ต้องขอบคุณโมเดลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากยูเครน แปรรูปและบรรจุในสโลวาเกีย จากนั้นส่งไปให้ประเทศต่างๆในสหภาพยุโรป ติดตราเครื่องหมายว่า ผลิตจากสโลวาเกีย จนทำให้ อียู โพลทรีย์ ขึ้นเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดด้านการผลิตอาหารแห่งหนึ่งในประเทศภายในเวลาสั้น

               อ้างอิงตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ บริษัทเปิดตัวในปี พ.ศ.๒๕๖๐ แล้วกลายเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดลำดับ ๗ ในสโลวาเกียเมื่อปีที่แล้ว รายได้ของอียู โพลทรีย์ กระโดดขึ้นสิบเท่าจาก ๕.๘ ร้อยล้านบาทเป็น ๕.๘ พันล้านบาทภายในเวลาหกปีในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นปีที่อียู โพลทรีย์ประสบความสำเร็จอย่างมากมีกำไร ๔๗๗ ล้านบาท ซึ่งมากกว่าหกปีที่ผ่านมารวมกันเสียอีก

               อียู โพลทรีย์ กำลังไปได้ดีเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในสโลวาเกีย ในช่วงต้นปีนี้ ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปการผลิตสัตว์ปีกรายสำคัญในสโลวาเกีย พบว่า ประสบปัญหาล้มละลายมีหนี้สินมูลค่าสูงกว่าแปดร้อยล้านบาท และฟาร์มอีกหลายแห่งตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

หลักปฏิบัติพื้นฐาน

               การลงทุนใหม่เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มการดำเนินธุรกิจการผลิตสัตว์ปีกยูเครน กำลังเติบโตขึ้นในยูรปในช่วงทศวรรษล่าสุด มีการลงทุนทั้งในเนเธอร์แลนด์ สโลวาเกีย และบัลข่าน เช่น  ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปการผลิตสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดอย่าง เอ็มเอชพี พึ่งประกาศแผนการสร้างฟาร์ม ๓ แห่งในโครเอเชียภายในปี พ.ศ.๒๕๗๐ เพื่อผลิตไก่เนื้อ ๖ ล้านตัวต่อปี

เอกสารอ้างอิง

Market trends/analysis. 2024. Ukrainian poultry farmer reveals plan of huge investments in Slovakia. [Internet]. [Cited 2024 Nov 21]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/ukrainian-poultry-farmer-reveals-plan-of-huge-investments-in-slovakia/




วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

 ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเชิงลบต่อความมั่นคงทางอาหารและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ความเสียหายจากโรคนิวคาสเซิลมีมูลค่าสูงราว ๒.๔ พันล้านบาทถึง ๘.๖ หมื่นล้านบาททั่วโลก จึงมีความจำเป็นต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับการให้วัคซีนอย่างมาก โรคนิวคาสเซิลชนิดความรุนแรงสูง เป็นเชื้อประจำถิ่นในพื้นที่แถบเอเชียใต้และเอเชียกลาง แพร่กระจายไปทั่วทั้งเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เกิดการระบาดเป็นครั้งคราวในยุโรป และสหรัฐฯ เชื้อไวรัสนิวคาสเซิลสายพันธุ์อ่อนแรงยังพบได้ทั่วโลกอีกด้วย มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพที่ดีขึ้นในฟาร์มส่วนใหญ่ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ที่ทันสมัยบางแห่งยังคงปลอดจากโรคนิวคาสเซิล แม้ว่า การระบาดยังคงพบในฟาร์มที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มงวดแล้วก็ตาม

โรคนิวคาสเซิลส่งผลให้ไก่ที่ไวรับต่อโรคตายภายใน ๓ ถึง ๔ วัน อัตราการตายสูงได้ถึงร้อยละ ๕๕ ถึง ๑๐๐ ซึ่งมีผลต่อการผลิตสัตว์ปีกทั่วโลก

สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

               เชื้อไวรัสนิวคาสเซิล สายพันธุ์รุนแรงต่ำ เช่น ลาโซต้า และบี ๑ เป็นเชื้อที่ก่อโรคต่ำ เชื้อนี้แพร่กระจายทั่วไป แต่ระบาดอยู่ไม่มากนัก เชื้อที่มีความรุนแรงต่ำถูกใช้เป็นวัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิลในสัตว์ปีก

               สับไทป์ที่รุนแรงปานกลางเป็นเชื้อที่ก่อโรคนิวคาสเซิลได้ระดับปานกลาง แสดงอาการทางระบบหายใจ และบางครั้งมีอาการทางประสาทด้วย แต่มีอัตราการตายต่ำ สับไทป์ที่รุนแรงเป็นเชื้อที่ก่อโรคนิวคาสเซิลรูปแบบรุนแรงสูง และต้องรายงานต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลก ประกอบด้วย ๒ รูปแบบของเชื้อไวรัสนิวคาสเซิลชนิดรุนแรง เป็นเชื้อรุนแรงต่ออวัยวะภายใน เกิดรอยโรคที่ลำไส้แบบมีเลือดออก และเชื้อรุนแรงต่อระบบประสาท แสดงอาการทั้งทางเดินหายใจและระบบประสาท 

เชื้อไวรัสนิวคาสเซิลชนิดรุนแรง จีโนไทป์ ๗ เป็นเชื้อที่พบได้บ่อยในประเทศเอเชีย และยังพบการระบาดในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและใต้ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนิวคาสเซิลให้ครอบคลุมแบบกว้างขวางเป็นสิ่งสำคัญ ในสัตว์ที่ไม่ให้วัคซีน จีโนไทป์ ๗ สามารถก่อโรคที่มีอัตราการป่วย และการตายสูงได้ถึงร้อยละ ๑๐๐ ในไก่เนื้อ ไก่ไข่ และไก่พันธุ์ นอกจากนั้น ยังแบ่งเป็นจีโนไทป์ย่อย บางชนิดก่อโรครุนแรงอย่างยิ่งยวด ทั้งก้าวร้าว และอันตราย   กลุ่มอาการและรอยโรคที่เหนี่ยวนำโดยเชื้อไวรัสนิวคาสเซิลแตกต่างกันไป แต่ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสมได้ จึงเกิดความเสียหายมากอย่างที่คาดไม่ถึง

วัคซีนเวกเตอร์

               การใช้วัคซีนเวกเตอร์ชนิดรีคอมบิแนนท์ โดยมีเชื้อไวรัสเฮอร์ปีสจากไก่งวง หรือเอชวีที เป็นพาหะ เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์มากสำหรับสัตวแพทย์ และผู้จัดการด้านการผลิต ในการควบคุมเชื้อที่มีวิวัฒนาการตลอดเวลา เนื่องจาก วัคซีนเวกเตอร์พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการเหนี่ยวนำการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง

               กุญแจสำคัญหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัคซีนเวกเตอร์ชนิดรีคอมบิแนนท์ รวมถึง ตำแหน่งที่โปรตีนชนิดเอฟใส่เข้าไปในจีโนมของเอชวีที ตำแหน่งที่ใส่โปรตีนเข้าไปส่งผลต่อความคงตัวของเชื้อไวรัส และประสิทธิภาพของวัคซีน ปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การคัดเลือกเอ็กซ์เพรสชัน แคสเซ็ต ที่ดีที่สุด รวมถึง ลำดับสารพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนชนิดเอฟ และส่วนของโปรโมเตอร์ที่เป็นส่วนหน้าของชุดลำดับสารพันธุกรรมที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเอ็กซ์เพรสชันของแอนติเจน รวมถึง โพลี เอ ที่เป็นส่วนปลายสุดของคาสเซ็ต โปรโมเตอร์ที่เข้มแข็งจะช่วยให้การเอ็กซ์เพรสชันแอนติเจนได้ดี แต่ก็ต้องไม่มากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความไม่เสถียร มีโปรโมเตอร์หลายชนิด ต้องเลือกตัวที่ดีที่สุด วัคซีนเวกเตอร์จะไม่รบกวนแอนติบอดีจากแม่ ในกรณีดังกล่าว โพลแวค โพรเซอร์ตา เอชวีที-เอ็นดี กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ตั้งแต่อายุได้ ๑๙ วัน

การป้องกันโรคจากจีโนไทป์ ๗

               เวกเตอร์วัคซีนนิวคาสเซิลตัวล่าสุดในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ได้ศึกษาความสามารถในการป้องกันโรคจากเชื้อไวรัสนิวคาสเซิลจีโนไทป์ ๗ ชนิดเดี่ยว หรือร่วมกับวัคซีนเชื้อเป็น หรือเชื้อตาย อื่นๆ พบว่า วัคซีน โพลแวค โพรเซอร์ตา เอชวีที-เอ็นดี สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การใช้วัคซีนหลายชนิดร่วมกัน เพื่อลดการสูญเสียจากการผลิต และการตายของไก่ที่ให้เชื้อพิษทับด้วยไวรัสนิวคาสเซิลที่อายุ ๒๑ และ ๒๘ วัน สามารถใช้ในแผนการป้องกันโรคโดยใช้วัคซีนโพลแวค โพรเซอร์ตา เอชวีที-เอ็นดี อย่างเดียว หรือร่วมกับแผนการใช้วัคซีนชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะฉีดไข่ หรือใต้ผิวหนัง ใช้ป้องกันโรคนิวคาสเซิลชนิดความรุนแรงสูงได้เกือบทั้งหมดจากการทดสอบด้วยการป้อนเชื้อพิษทับ ขณะที่ หากได้รับวัคศีนเชื้อตายจะเป็นประโยชน์ได้ดีขึ้นระหว่างการระบาดของเชื้อไวรัสนิวคาสเซิลที่มีความรุนแรงสูง  

               ผลการศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงลึกที่จะช่วยให้สัตวแพทย์ป้องกันจีโนไทป์ ๗ ได้ดีขึ้น ด้วยแผนการให้วัคซีนที่มีการออกแบบเป็นพิเศษตามสถานการณ์ของแต่ละภูมิภาค นอกเหนือจากการให้วัคซีน มาตรการป้องกันและควบคุมโรคเพิ่มเติมทั้งการกำจัดสัตว์ป่วย การตรวจติดตามโรค และระบบความปลอดภัยชีวภาพก็ยังจำเป็น เพื่อลดจำนวนผู้เข้าฟาร์ม และมาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดจะเป็นเครื่องมือที่ได้ผลอย่างมากนอกเหนือจากการให้วัคซีน     

เอกสารอ้างอิง

Brockotter F. 2024. Addressing evolving velogenic Newcastle disease virus strains. [Internet]. [Cited 2024 Nov 15]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/health/addressing-evolving-velogenic-newcastle-disease-virus-strains/

ภาพที่ ๑ โรคนิวคาสเซิลสามารถทำให้ไก่ที่ไวรับต่อโรคตายได้ภายใน ๓ ถึง ๔ วัน อัตราการตายสูงร้อยละ ๕๕ ถึง ๑๐๐ (แหล่งภาพ Marcel Rob Fotografie)



วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เนื้อไก่ยังป๊อปปูล่าในยุโรป

 ภาคการผลิตสัตว์ปีกยังเป็นได้ด้วยดี ผลผลิตสูง และยังเป็นที่โปรดปรานของตลาดอาหาร จากผลการศึกษาโดยคณะกรรมาธิการยุโรป และกระทรวงเกษตรอเมริกา

วิสัยทัศน์สหภาพยุโรปต่อภาคการผลิตสัตว์ปีกในรอบ ๖ เดือนทั้งการผลิตและการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกในยุโรปจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ การผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔ และการส่งออกสูงขึ้นร้อยละ ๓ เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปีหน้า

สถานการณ์โรคไข้หวัดนกที่คลี่คลายลง ต้นทุนอาหารสัตว์ต่ำลง และราคาเนื้อสัตว์ปีกที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตในการผลิตในปีนี้ ครึ่งปีแรกของปี พ.ศ.๒๕๖๗ จำนวนไก่แปรรูปในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๗ การผลิตเพิ่มขึ้นในเกือบทุกประเทศของสหภาพยุโรป ยกเว้น เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และลิธัวเนีย ในโปแลนด์ การผลิตรอบปี พ.ศ.๒๕๖๖/๒๕๖๗ เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ ๕ เทียบกับปี พ.ศ.๒๕๖๕/๒๕๖๖ ขณะที่เนเธอร์แลนด์ลดลงเกือบร้อยละ ๕ ภาคการผลิตสัตว์ปีกอิตาลีก็เติบโตมากกว่าร้อยละ ๕ ในเยอรมัน เติบโตช้าลงเพียงร้อยละ ๑ ฝรั่งเศสมีผลงานดีที่สุด เติบโตมากกว่าร้อยละ ๑๕

การบริโภคที่เพิ่มขึ้นในสหภาพยุโรป   

               ตลาดสามารถจัดการอัตราการเติบโตนี้ได้แล้ว นอกเหนือจากการส่งออก การบริโภคเนื้อสัตว์ปีกในสหภาพยุโรปก็กำลังเพิ่มขึ้น คาดว่าจะแตะ ๒๕.๒ กิโลกรัมต่อคนในปี พ.ศ.๒๕๖๘ มากกว่าศตวรรษที่ผ่านมาเกือบ ๑๐ กิโลกรัม ในคริสตศตวรรษ ๒๐ อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกของชาวยุโรป ๑๖.๔ กิโลกรัมต่อคนเท่านั้น

               การบริโภคเนื้อไก่ ใกล้แตะเนื้อสุกรแล้ว โดยเห็นภาพของการบริโภคเนื้อสุกรลดลงจาก ๓๔.๓ กิโลกรัมในคริสตศตวรรษ ๒๐ เป็น ๓๐.๙ กิโลรัมในปี พ.ศ.๒๕๖๘ การบริโภคเนื้อสัตว์ปีกในช่วงแรกของศตวรรษที่ ๒๑ นี้เป็นผลมาจากการบริโภคเนื้อโคที่ลดลงจาก ๑๒ กิโลกรัมต่อคนในศตวรรษที่ ๒๐ ที่ผ่านมาเป็น ๙.๔ กิโลกรัมต่อคนในปี พ.ศ.๒๕๖๘  

การผลิตยุโรปโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลก

               การผลิตเนื้อสัตว์ปีกยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔ ถือว่าเร็วกว่าการเติบโตโลก ที่คาดว่าจะแตะร้อยละ ๒ ในปี พ.ศ.๒๕๖๘ อ้างอิงจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ในปีหน้า การผลิตคาดว่าจะเป็น ๑๐๔.๙ เมตริกตัน

               นอกเหนือจากนั้น สหภาพยุโรป จีน สหรัฐฯ ทูร์เคีย บราซิล และเม็กซิโก ก็ผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง และการฟื้นตัวของความต้องการผู้บริโภค ที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจ

จีนและบราซิล เป็นผู้นำ      

               จีนเพิ่มการผลิตขึ้นอย่างชัดเจน และเชื่อว่าจะขยับขึ้นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกในไม่ช้า ในบราซิลก็เป็นบวกเช่นกัน ขับเคลื่อนโดยความต้องการในต่างประเทศ และต้นทุนการผลิตที่ลดลง

ตลาดส่งออกโลกทำสถิติใหม่

               ไม่ใช่เพียงการผลิตเท่านั้น แต่ยอดการส่งออกโลกก็เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒ ในปี พ.ศ.๒๕๖๘ หลังจากตลาดไม่เคลื่อนไหวมาในปี พ.ศ.๒๕๖๖ และ ๒๕๖๗ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดว่า เนื้อสัตว์ปีก ๑๓.๘ ล้านเมตริกตันจะถูกส่งออกไปทั่วโลกปีหน้า การเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยกระตุ้นการบริโภค เนื่องจาก เนื้อไก่เป็นอาหารที่จูงใจกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง ด้วยราคาที่ถูกกว่าโปรตีนจากสัตว์ชนิดอื่นๆ

การส่งออกบราซิลโดดเด่น

               ขณะที่ ผู้ส่งออกรายใหญ่ทั้งหมด สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และไทย เติบโต บราซิลเป็นประเทศที่มีการเติบโตในตลาดส่งออกมากที่สุด นอกจากนี้ ก็ยังมีเม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย สิงค์โปร์ สหรัฐอาหรับอิมิเรต และสหราชอาณาจักรก็เป็นตลาดที่เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ราคาต้นทุนการผลิตที่ถูกลง ข้อจำกัดการส่งออกที่เกี่ยวกับโรคไข้หวัดนกที่ลดลง ยิ่งช่วยกระตุ้นการส่งออกของสหภาพยุโรปให้กับตลาดต่างๆ อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรยังคงเป็นผู้ขายรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป                                                                                                            

เอกสารอ้างอิง

Keuper J. 2024. Poultry meat remains popular in Europe. [Internet]. [Cited 2024 Nov 8]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/poultry-meat-remains-popular-in-europe/

ภาพที่ ๑ การผลิตและการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกในยุโรปในปีนี้เพิ่มขึ้น (แหล่งภาพ Marcel Rob)



วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นิวคาสเซิลระบาดในโปแลนด์

 เพียงหนึ่งเดือนที่พบโรคนิวคาสเซิลครั้งแรกในโปแลนด์ ก็พบอีกเพิ่มเติมอีกมากกว่าสองฝูงไปแล้ว

               องค์กรสุขภาพสัตว์โลก หรือโวอ้า รายงานว่า ทั้งสองฝูงมีอาการคล้ายคลึงกับฝูงที่ผานมา โวอ้าให้ทั้งสองฝูงอยู่ในกลุ่มของสัตว์ปีกเลี้ยงในฟาร์ม โดยฝูงหนึ่งมีสัตว์ ๒๔,๕๖๔ ตัว ตายไป ๔๓๙ ตัว ที่เหลือกำลังทำลายทั้งหมด อีกฝูงมีสัตว์ ๓๕,๐๐๐ ตัว แม้จะยังไม่พบการตาย แต่ตัดสินใจทำลายทั้งหมดเช่นกัน

               มาตรการอื่นๆที่บังคับใช้ ได้แก่ การแบ่งโซน การเฝ้าระวังโรคในโซนจำกัดการเคลื่อนย้าย การควบคุมการเคลื่อนย้าย การฆ่าเชื้อ การสอบย้อนกลับ และการทำลายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ก่อนหน้านี้ ฝูงที่เกิดโรคในโปแลนด์ปีนี้มีสัตว์ ๕๑,๙๐๐ ตัว เมื่อเดือนที่แล้วโปแลนด์ก็พึ่งประกาศปลอดโรคนิวคาสเซิล ในปี พ.ศ.๒๕๖๖ พบสี่ฝูงที่เกิดโรคนิวคาสเซิล มีสัตว์ทั้งหมด ๗๘,๓๑๕ ตัว ภายหลังประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค จึงได้ประกาศสถานะควบคุมโรคไว้ได้แล้วเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนปีที่แล้ว 

               ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ ประเทศหนึ่งควบคุมโรคไว้ได้แล้ว แต่อีกประเทศก็ได้ประกาศปลอดโรค โวอ้ารายงานเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ฟาร์มไก่ไข่ในสวีเดน จำนวน ๑๘,๐๐๐ ตัว ก็เกิดโรคระบาด โดยทำลายสัตว์ป่วยทั้งหมด และกำหนดมาตรการควบคุมโรคอื่นๆแล้ว

               หนึ่งวันภายหลังการยืนยันโรคในสวีเดน สถานการณ์โรคนิวคาสเซิลในบราซิลก็ควบคุมไว้ได้แล้ว เมื่อมาตรการควบคุมโรคประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในการระบาดเพียงหนึ่งครั้งในประเทศ มีเพียงประเทศเดียวที่โวอ้ายังรายงานไว้คือ ที่ประเทศอิสราเอล เท่านั้น   

เอกสารอ้างอิง

Graber R. 2024. Newcastle disease hits two more poultry farms in Poland. [Internet]. [Cited 2024 Nov 5]. Available from: https://www.wattagnet.com/broilers-turkeys/diseases-health/article/15707506/newcastle-disease-hits-two-more-poultry-farms-in-poland

ภาพที่ ๑ สัตว์ปีกมากกว่าหกหมื่นตัวพบโรคนิวคาสเซิล (แหล่งภาพ Volina | Bigstock)




เปลี่ยนขี้ไก่ให้เป็นพลังงาน

 โอกาสที่จะลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก สร้างพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ผู้ผลิต

งานประชุมประจำปีคณะกรรมการไข่ระดับนานาชาติ หรือไออีซี เจมส์ คอร์เบตต์ กลุ่มบริษัทผลิตอาหารริดจ์เวย์ นำเสนอการจัดการวัสดุรองพื้นจากฟาร์มสัตว์ปีก ซึ่งผู้ผลิตบางรายมองว่าเป็นรายจ่าย ขณะที่ บางรายเล็งเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติม วัสดุรองพื้นในสหราชอาณาจักรมีมูลค่าทางการตลาดราว ๔๔๓ ถึง ๖๖๔ บาทต่อตัน ใช้ทดแทนปุ๋ยที่ให้ไนโตรเจนได้ตลอดปี ขณะที่ในประเทศอื่นๆ จะทำให้แห้งและอบขี้ไก่ให้เป็นเม็ดก่อนออกจากฟาร์ม โดยต้องเก็บไว้ก่อนที่จะนำมาใช้ หรือจำหน่าย และการเก็บก็หมายความว่าต้องใช้พื้นที่ 

กองขี้ไก่มักถูกเก็บก่อนใช้ หรือขาย การเก็บหมายความว่า จำเป็นต้องใช้พื้นที่เก็บรักษาและป้องกันไม่ให้เรี่ยราดออกไปกลายเป็นมลพิษทางน้ำกับสิ่งแวดล้อมต่อไป เกิดคำถามว่า เกษตรกรได้ใช้กองขี้ไก่ทั้งหมดหรือเปล่า บางบริษัทประสบความสำเร็จในการจัดการกองขี้ไก่ โดยมีตัวอย่างของผู้ประกอบการที่สามารถจดสิทธิบัตรการเผากองขี้ไก่จากไก่ไข่ด้วยวิธีที่เชื่อถือได้ เพื่อผลิตเป็นความร้อนและไฟฟ้าใช้ในฟาร์มตัวเอง เทคโนโลยีนี้พิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้พลังงานทดแทนได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ตอนนี้ได้ติดตั้งไปแล้ว ๑๔ แห่งในสหราชอาณาจักรสำหรับฟาร์มสัตว์ปีก และฟาร์มไก่ไข่ ข้อมูลที่ได้ถูกนำมาใช้โดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเพื่อช่วยกำหนดกฏเกณฑ์ใหม่สำหรับยุโรปในการใช้มูลสัตว์จากฟาร์มสัตว์ปีกเป็นพลังงานหมุนเวียนใช้ในฟาร์มเอง ซึ่งเป็นกฏระเบียบที่มีอยู่แล้วในฉบับที่ ๕๙๒/๒๐๑๔ และ ๑๗๖๒/๒๐๑๗ นอกจากนั้น ยังนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีฟอสฟอรัส และโปแทสเซียมสูง ตอนนี้ยังกำลังหาทางนำมาใช้เป็นเนื้อและกระดูกป่น เป็นต้น

สิ่งท้าทายในการกำจัดกองขี้ไก่

               สิ่งท้าทายหลายอย่างต่อผู้ผลิตสัตว์ปีกที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดกองขี้ไก่ โดยเฉพาะตามแม่น้ำที่อยู่ระหว่างอังกฤษและเวลส์ สิบห้าปีที่ผ่านมา การขยายฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างมากส่งผลให้คุณภาพน้ำแย่ลง รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงให้ทุนหนึ่งพันห้าร้อยล้านบาทให้กับผู้ผลิตสัตว์ปีกสำหรับการเผาทำลายกองขี้ไก่ แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา แต่อย่างน้อยก็จะช่วยให้ผู้ผลิตสัตว์ปีกมีทางเลือกต่อการจัดการกองขี้ไก่ปริมาณมหาศาล ทางออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการควบคุมมลภาวะเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็มีต้นทุนสูง รัฐบาลก็ต้องพยายามหาทางเลือกที่ดีกว่านี้ การเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า และเถ้าที่สามารถใช้สำหรับเป็นปุ๋ย น่าจะเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์มากกว่า  

               โอโวแบรนด์ในอาร์เจนตินา มีโครงการวิจัยโมโนไดเจสชั่น เป็นการใช้มูลสัตว์ปีกสด เป็นสับสเตรตของแข็งผสมกับน้ำทิ้งในฟาร์มเอง ปัจจุบันในทุกวัน มูลสัตว์ปีก ๑๗๐ ตันถูกผลิตแล้วขนส่งไปยังภาคสนาม แต่บริษัทได้พัฒนาระบบการจัดการมูลสัตว์ปีกได้มากกว่า ๖๒,๐๐๐ ตันต่อไป มูลสัตว์ปีกถูกเคลื่อนย้ายไปยังถังผสมที่โรงงานฯ เพื่อนำแคลเซียมคาร์บอเนตมาใช้  

การสร้างพลังงานผ่านการเผาภายใน

               ของเหลวที่เกิดขึ้นถูกปั๊มเข้าสู่ถังรับของเหลวสำหรับการบำบัดด้วยความร้อน และหลังจากนั้น หมัก ๒๒ วันในถังย่อยแบบไม่ใช้อากาศ ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นแก๊สมีเธน และคาร์บอนไดออกไซด์ ไบโอแกณสที่ได้จะถูกดึงความชื้นและซัลเฟอร์ออก เพื่อสร้างพลังงานโดยอาศัยการเผาไหม้ภายใน

               แร่ธาตุในรูปของเหลวจากการหมักย่อยทางชีวภาพจะถูกกรอง แล้วแยกเป็นส่วนของแข็ง จากนั้น ผ่านกระบวนการแปรรูปในตู้อบ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์จำหน่ายต่อไปได้ ส่วนของเหลวจะผ่านการบำบัดแบบใช้อากาศ และไม่ใช้อากาศ เพื่อใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับการผลิตพืชไร่ต่อไปได้

               โดยภาพรวมแล้ว การแปรรูปของเสียอินทรีย์ให้ได้พลังงานไฟฟ้า ๑.๔ เมกาวัตต์ และพลังงานความร้อน ๑.๒ เมกาวัตต์ เพียงพอที่จะใช้สำหรับบ้านเรือน ๓,๗๐๐ หลัง หรือการใช้พลังงานทั้งหมดของทั้งบริษัทโอโวแบรนด์

               การใช้เทคนิคการย่อยสลายขยะแบบเดี่ยวที่นำมาใช้กับมูลสัตว์ปีก บริษัทหลีกเลี่ยงใช้ผลิตทั้งไฟฟ้า และปุ๋ยชีวภาพ โดยได้ผลประโยชน์สามอย่างพร้อมกันทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ   

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2024. Poultry manure to energy – where there’s muck there’s brass. [Internet]. [Cited 2024 Nov 1]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/poultry-manure-to-energy-where-theres-muck-theres-brass/

ภาพที่ ๑ มูลสัตว์ปีกอาจจะเป็นภาระใหญ่สำหรรับผู้ผลิตบางราย แต่บางรายก็เป็นแหล่งรายได้เช่นกัน (แหล่งภาพ Canva)



วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

หมูในสหรัฐฯติดหวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑

 หมูหลังบ้านในรัฐโอเรกอนตรวจพบผลบวกต่อโรคไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ อ้างอิงตามกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ การค้นพบครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พบไวรัสชนิดนี้ในสุกร  

สุกรหลังบ้านที่พบโรคอยู่ในรัฐโอเรกอน ภายในฟาร์มที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์ ภายในฟาร์มมีทั้งสัตว์ปีกและปศุสัตว์อีกหลายชนิดอยู่ร่วมกันกับสุกร ขณะนี้ สำนักตรวจสอบสุขภาพพืชและสัตว์ หรือเอฟิส และเจ้าหน้าที่รัฐโอเรกอนกำลังสอบสวนโรค

ไก่เจ็ดสิบตัวติดเอช ๕ เอ็น ๑

               ไก่ทั้งหมด ๗๐ ตัวในฟาร์มให้ผลบวกต่อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม จากผลการทดสอบของห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคทางสัตวแพทย์รัฐโอเรกอน หรือโอวีดีแอล ที่มหาวิทยาลัยรัฐโอเรกอน หรือโอเอสยู ทั้งนี้ผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการบริการด้านสัตวแพทย์แห่งชาติ หรือเอ็นวีเอสแอล ก็ยืนยันผลเป็นบวกเช่นกัน ไก่ทั้งหมดถูกทำลาย

               เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สุกร ๑ ใน ๕ ตัวในฟาร์มติดเชื้อ สัตว์ที่เลี้ยงไว้หลังบ้านใช้แหล่งน้ำร่วมกัน โรงเรือน และอุปกรณ์เดียวกัน เป็นฟาร์มแบบผสมผสานในความฝันของใครหลายคน แต่ก็เป็นความฝันของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่จะมีโอกาสกระโดดแพร่กระจายไประหว่างชนิดสัตว์

ไม่พบสุกรป่วย

               สุกรที่ติดเชื้อก็ไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็น เจ้าหน้าที่วางยาให้สุกรเหล่านี้ตายอย่างสงบเพื่อชันสูตรโรคเพิ่มเติม ผลการทดสอบเป็นลบ ๒ ตัว และยังรอผลอีก ๒ ตัว จากนั้น ส่งเข้าเตาเผาทำลายซาก เจ้าหน้าที่รัฐ เน้นย้ำว่า สัตว์ในฟาร์มไม่ได้ใช้สำหรับผลิตเป็นอาหารเชิงพาณิชย์ และถูกกักกันโรคเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายต่อไป สัตว์ชนิดอื่นๆทั้งแกะและแพะในฟาร์ม ยังเฝ้าระวังโรคใกล้ชิด

ผลการตรวจสอบลำดับจีโนมไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑

                  ห้องปฏิบัติการบริการด้านสัตวแพทย์แห่งชาติสหรัฐฯ ได้ตรวจสอบลำดับจีโนมของเชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกที่ติดเชื้อในฟาร์มนี้ ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ ที่จะทำให้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และกรมควบคุมโรค กังวลต่อการติดต่อสู่มนุษย์ได้

               กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ให้การรับรองความปลอดภัยของสองชนิดสำหรับใช้กับโคนม เพื่อป้องกันเอช ๕ เอ็น ๑ และเป็นทางเลือกสำหรับสัตว์ชนิดอื่นๆต่อไปได้

เอกสารอ้างอิง

Ter Beek V. 2024. Backyard pig in US found infected with H5N1. [Internet]. [Cited 2024 Nov 1]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/health/backyard-pig-in-us-found-infected-with-h5n1/

ภาพที่ ๑ ภาพกำลังขยายสูงแสดงเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เอช ๕ เอ็น ๑ (แหล่งภาพ CDC, courtesy of Cynthia Goldsmith, Jacqueline Katz and Sherif R. Zaki.)



วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ฝรั่งเศสเรียกคืนไข่ไก่สามล้านฟอง

 รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งเรียกไข่ไก่คืนสามล้านฟอง เนื่องจาก การปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลา ขณะนี้พบผู้ป่วยแล้วแปดรายจากการปนเปื้อนครั้งนี้ แต่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล

ผู้จำหน่ายไข่ไก่ โอวาลิส ประกาศเรียกคืนไข่ไก่ชุดใหญ่ที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์ต่างๆกันจากเชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในฝรั่งเศส ทั้งคาร์ฟูร์ ออชาน และเลอเคลิร์ก ยังมีไข่ไก่ที่มาจากเชนฟู้ดแบงค์เรสทอส ดู คัวร์ ทั่วทั้งฝรั่งเศส

อ้างอิงตาม โอวาลิส การเรียกคืนสินค้าเชิงป้องกันมีความจำเป็น เนื่องจาก การปนเปื้อนเชื้อ ซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม สินค้าจำหน่ายใส่กล่องเป็นโหล ๑๐ ฟอง หรือครึ่งโหลระหว่าง ๒๙ กันยายนถึง ๑๐ ตุลาคม และใช้ไปจนถึง ๓๑ ตุลาคม จำนวนไข่ไก่ที่ปนเปื้อนมีจำนวนเล็กน้อย แต่ไปปะปนอยู่ในสถานีบรรจุสินค้าที่มีจำนวนไข่จำนวนมาก ทำให้ต้องตัดสินใจเรียกคืนไข่ไก่จำนวนมากทั้งหมด ๓ ล้านฟอง

ตราสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนครั้งนี้ ได้แก่ Poitou Oeufs, Tout Frais tout Français และ Douce France ขณะที่ แบทช์ที่เล็กลงเป็นไข่ที่จำหน่ายภายใต้ตราสินค้า Carrefour Original หรือ Leclerc Eco+ หรือในซูเปอร์มาร์เก็ต Lidl France

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่แนะนำให้บริโภค หรือใช้ไข่ไก่ชุดนี้ แต่ควรทำลายทั้งหมด หรือส่งคืนให้กับซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านค้า เพื่อขอคืนเงิน ผู้ที่รับประทานไข่ไก่ และแสดงอาการผิดปรกติ ให้ปรึกษาแพทย์ โดยได้ รัฐบาลได้เตรียมระบบสายด่วนสำหรับประชาชนที่วิตกกังวล หรือเกิดคำถามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังสอบสวนย้อนกลับไปทั้งระบบการผลิตไข่ไก่จนถึงอาหารสัตว์ที่เกษตรกรใช้เลี้ยงสัตว์ ถึงเวลานี้ ยังไม่มีการแถลงผลการสอบสวน

เอกสารอ้างอิง

Peys R. 2024. Salmonella scare – France recalls 3 million eggs. [Internet]. [Cited 2024 Oct 28]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/layers/salmonella-scare-3-million-french-eggs-recalled/

ภาพที่ ๑ ไข่ไก่กว่าสามล้านฟองถูกเรียกคืนโดยรัฐบาลฝรั่งเศส (แหล่งภาพ Canva)



FAO วอนเข้มคุมหวัดนก

  การระบาดของโรคไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ สร้างความเสียหายให้สัตว์ปีกหลายร้อนล้านตัวทั่วโลก แล้วยังแพร่ไปยังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เป็นเรื่อง...